เนตติปกรณ์_02_หาระที่_01-08

อยู่ในระหว่างปรับสำนวน

นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส

ตำราพุทธมีลำดับการศึกษาให้เข้าใจทะลุทะลวงดังนี้: ขอเป็นศิษย์ผู้มีฌานวสีทรงจำพระไตรปิฎกบาลี > ท่องจำบาลีตามลำดับซ้ำๆ ไม่ลืมทบทวนแม้จำได้แล้ว > สอบถามบาลี > ฟังคำอธิบายบาลี > ทรงจำทั้งหมด > ในระหว่างท่องจำก็พยายามปฏิบัติตามไปด้วยจนแตกฉาน. ผู้ที่ข้ามขั้นตอนเหล่านี้ยิ่งมากเท่าไหร่ ยิ่งเป็นไปได้ยากที่จะบรรลุอัปปนาทั้งโลกิยะและโลกุตตระในศาสนาพุทธได้ พระพุทธเจ้าตรัสเรียกว่า "โมฆบุรุษ" เพราะว่างเปล่าจากอัปปนา (เรียบเรียงจากกีฏาคิริสูตร; ธัมมัญญูสูตร; สัจจบรรพะ อรรถกถามัคคนิทเทส; วิสุทธิมรรค กัมมัฏฐานคหณนิทเทส)

[ 5 ] ในบรรดาหาระ 16 เหล่านั้น เทสนาหาระเป็นไฉน ? คาถาที่ข้าพเจ้ากล่าวไว้ว่า "อสฺสาเททีนวตา (อัสสาทะ อาทีนวะ)" เป็นต้นนั้น ชื่อว่า เทสนาหาระ. เทศนาแสดงอะไร ? แสดงอัสสาทะ (สุขโสมมนัสอิฏฐารมณ์ที่น่ายินดี และตัณหา อันเป็นเหตุยินดี), อาทีนวะ (โทษ มี ทุกข์ โทมนัส เป็นต้น), นิสสรณะ (อริยมรรคและนิพพานที่ออกจากวัฏฏะ), ผล (ผลแห่งเทศนา), อุบาย (ปุพพภาคปฏิปทา อันเป็นข้อปฏิบัติเบื้องต้นแห่งอริยมรรค) และ อาณัตติ (การแนะนำหรือตักเตือนเวไนยบุคคล) ดังที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้ว่า "ภิกษุทั้งหลาย เราจะแสดงธรรมอันงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด จะประกาศพรหมจรรย์ พร้อมด้วยอรรถะและพยัญชนะ อันบริสุทธิ์ บริบูรณ์สิ้นเชิง แก่เธอทั้งหลาย"

<sub> หาระ คือ วิธีที่ช่วยขจัดความหลง ความสงสัย ความเข้าใจผิดในพระพุทธพจน์. เทสนาหาระ คือ วิธีอธิบายพระพุทธพจน์โดยจำแนกเป็นอรรถ 6 มี อัสสาทะ เป็นต้น แล้วนำไปสงเคราะห์ลงในสัจจะ 4 วิภังค์ คือ การจำแนกแจกแจงให้เข้าใจอย่างละเอียด ดังนั้น หารวิภังค์จึงหมายถึงการอธิบายหาระแต่ละอย่างโดยละเอียด ได้แก่การแสดงหาระเดียว โดยยกสูตรมาเป็นตัวอย่างหลาย ๆ สูตร <sub>

ในคาถาว่า "อสฺสาเททีนวตา (อัสสาทะ อาทีนวะ)" เป็นต้นนั้น อัสสาทะเป็นไฉน ? คาถาว่า

สัตว์โลกย่อมปรารถนาสิ่งใด ถ้าสิ่งนั้นสำเร็จแก่เขาผู้ต้องการวัตถุกาม (สิ่งที่น่าใคร่) เขาย่อมมีใจยินดีแน่แท้ เพราะได้วัตถุกามนั้น

นี้ชื่อว่า อัสสาทะ

ในคาถาว่า "อสฺสาทาทีนวตา (อัสสาทะ อาทีนวะ)" เป็นต้นนั้น อาทีนวะเป็นไฉน ? คาถาว่า

หากว่ากามเหล่านั้นของสัตว์ผู้ต้องการวัตถุกาม และเกิดความพอใจแล้วนั้น เสื่อมไป เขาย่อมถึงความวิปริต เหมือนถูกยิงด้วยลูกศร

นี้ชื่อว่า อาทีนวะ

ในคาถาว่า "อสฺสาทาทีนวตา (อัสสาทะ อาทีนวะ)" เป็นต้นนั้น นิสสรณะเป็นไฉน ? คาถาว่า

บุคคลใดหลีกเว้นกามทั้งหลาย เหมือนทำเท้าของตนหลีกศีรษะงู (ที่พบในทาง) ฉะนั้น บุคคลนั้นเป็นผู้มีสติ ย่อมล่วงพ้นตัณหานี้ได้ในโลก

นี้ชื่อว่า นิสสรณะ

ในคาถาว่า "อสฺสาทาทีนวตา (อัสสาทะ อาทีนวะ)" เป็นต้นนั้น อัสสาทะเป็นไฉน ? คาถาว่า

ความปรารถนาเนือง ๆ ซึ่งนา ไร่ เงินทอง วัว ม้า บรุษทาส (คนรับใช้) สตรี พวกพ้อง หรือกามคุณอีกหลายอย่าง

นี้ชื่อว่า อัสสาทะ

ในคาถาว่า "อสฺสาทาทีนวตา (อัสสาทะ อาทีนวะ)" เป็นต้นนั้น อาทีนวะเป็นไฉน ? คาถาว่า

กิเลสทั้งหลาย (ที่ชื่อว่า อพละ) ย่อมครอบงำบุคคลผู้ปรารถนาเนือง ๆ ซึ่งกามนั้น อันตรายทั้งหลาย (ที่ปรากฎและไม่ปรากฎ) ย่อมเบียดเบียนบุคคลผู้แสวงหากามนั้น. ทุกข์ (มีชาติทุกข์ เป็นต้น) ย่อมติดตามบุคคลผู้ถูกอันตรายเหล่านั้นครอบงำไป เหมือนน้ำไหลเข้าไปสู่เรือที่แตก ฉะนั้น

นี้ชื่อว่า อาทีนวะ

ในคาถาว่า "อสฺสาทาทีนวตา (อัสสาทะ อาทีนวะ)" เป็นต้นนั้น นิสสรณะเป็นไฉน ? คาถาว่า

เพราะฉะนั้นบุคคลเป็นผู้มีสติทุกเมื่อ พึงหลีกเว้นกามทั้งหลาย. เมื่อละกามเหล่านั้นแล้วพึงข้ามโอฆะทั้ง 4 ได้ เหมือนบุคคลวิดน้ำออกจากเรือ (ที่หนักด้วยน้ำ) แล้วไปถึงฝั่ง (โดยไม่ยาก) ฉะนั้น

นี้ชื่อว่า นิสสรณะ

ในคาถาว่า "อสฺสาทาทีนวตา (อัสสาทะ อาทีนวะ)" เป็นต้นนั้น ผลเป็นไฉน ? คาถาว่า

กุศลธรรมย่อมรักษาผู้มีปกติประพฤติธรรม ดุจร่มใหญ่ที่ช่วยกันฝนในเวลาฝนตก ฉะนั้น นี้เป็นอานิสงส์ในธรรมที่บุคคลประพฤติดีแล้ว ผู้มีปกติประพฤติธรรมย่อมไม่ไปสู่ทุคติ

นี้ชื่อว่า ผล

ในคาถาว่า "อสฺสาทาทีนวตา (อัสสาทะ อาทีนวะ)" เป็นต้นนั้น อุบายเป็นไฉน ? คาถาว่า

เมื่อบุคคลพิจารณาเห็นด้วยปัญญาว่า "สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์ ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา เมื่อนั้นย่อมเบื่อหน่ายในวัฏทุกข์ การเบื่อหน่ายในวัฏทุกข์นี้ เป็นเหตุให้ถึงพระนิพพาน

นี้ชื่อว่า อุบาย

ในคาถาว่า "อสฺสาทาทีนวตา (อัสสาทะ อาทีนวะ)" เป็นต้นนั้น อาณัตติเป็นไฉน ? คาถาว่า

บัณฑิตผู้มีปัญญาในสัตว์โลก พึงเว้นจากบาป (ทุจริต 3) ดุจบุคคลผู้มีตาดี เมื่อมีความบากบั่นเดินทางอยู่ พึงเว้นทางที่ขรุขระ ฉะนั้น

นี้ชื่อว่า อาณัตติ

เทศนา "ดูก่อนโมฆราช เธอจงพิจารณาดูโลกโดยความเป็นของว่างเปล่า" ชื่อว่า อาณัตติ

เทศนาว่า "สทา สโต (เป็นผู้มีสติเจริญกรรมฐานทุกเมื่อ)" ชื่อว่า อุบายเทศนา

บุคคลถอนแล้ว (ตัดขาดแล้ว) ซึ่งสักกายทิฏฐิ (ด้วยมรรคญาณ) พึงเป็นผู้ข้ามพ้นวิสัยแห่งมัจจุราชได้ด้วยวิธีอย่างนี้

นี้ชื่อว่า ผล

[ 6 ] ในคาถาว่า "อสฺสาทาทีนวตา (อัสสาทะ อาทีนวะ)" เป็นต้นนั้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงนิสสรณะ แก่อุคฆฏิตัญญูบุคคล, ทรงแสดงอาทีนวะ และ นิสสรณะ แก่วิปัญจิตัญญูบุคคล, ทรงแสดง อัสสาทะ อาทีนวะ และ นิสสรณะ แก่เนยยบุคคล

ในเทศนา มี นิสสรณะ เป็นต้นนั้น ปฏิปทา (ข้อปฏิบัติ) มี 4, บุคคลมี 4 ดังนี้ บุคคลผู้เป็นตัณหาจริต มีปัญญาน้อย ย่อมออกจากวัฏฏะ (ด้วยอริยมรรค) ด้วยธรรมที่อาศัยทั้งหลาย กล่าวคือ สติปัฏฐาน ด้วยสตินทรีย์ ปฏิปทาอันลำบาก และการรู้ช้า.

บุคคลผู้เป็นตัณหาจริต มีปัญญามาก ย่อมออกจากวัฏฏะ (ด้วยอริยมรรค) ด้วยธรรมที่อาศัยทั้งหลาย กล่าวคือ ฌาณ ด้วยสมาธินทรีย์ ปฏิปทาอันลำบาก และการรู้เร็ว.

บุคคลผู้เป็นทิฏฐิจริต มีปัญญาน้อย ย่อมออกจากวัฏฏะ (ด้วยอริยมรรค) ด้วยธรรมที่อาศัยทั้งหลาย กล่าวคือ สัมมัปปธาน ด้วยวิริยินทรีย์ ปฏิปทาอันสบาย และการรู้ช้า.

บุคคลผู้เป็นทิฏฐิจริต มีปัญญามาก ย่อมออกจากวัฏฏะ (ด้วยอริยมรรค) ด้วยธรรมที่อาศัยทั้งหลาย กล่าวคือ สัจจะ ด้วยปัญญินทรีย์ ปฏิปทาอันสบาย และการรู้เร็ว

ตัณหาจริตบุคคลทั้งสอง ย่อมออกจากวัฏฏะด้วยเจโตวิมุติ (อนาคามิผลสมาธิ) อันเป็นเหตุสำรอกราคะ ด้วยวิปัสสนาอันมีสมาธิเป็นประธาน (นำหน้า)

ทิฏฐิจริตบุคคลทั้งสอง ย่อมออกจากวัฏฏะด้วยปัญญาวิมุติ (อรหัตตผลปัญญา) ด้วยสมาธิอันมีวิปัสสนาเป็นประธาน (นำหน้า)

ในบรรดาบุคคลเหล่านั้น ตัณหาบุคคลจริตทั้งสองเหล่าใด ย่อมออกจากวัฏฏะด้วยปฏิปทาทั้งหลาย อันมีสมาธิเป็นประธาน บุคคลเหล่านั้นพึงแนะนำด้วย นันทิยาวัฏฏนัย. ทิฏฐิจริตบุคคลทั้งสองเหล่าใด ย่อมออกจากวัฏฏะด้วยปฏิปทาทั้งหลายอันมีวิปัสสนาเป็นประธาน (นำหน้า) บุคคลเหล่านั้นพึงแนะนำด้วยสีหวิกกีฬิตนัย

[ 7 ] เทสนาหาระนั้นเกิดในบุคคลไหน ? พระพุทธเจ้าก็ดี เพื่อนพรหมจารีผู้น่าเคารพคนใดคนหนึ่งก็ดี ย่อมแสดงธรรมแก่บุคคลใด บุคคลนั้นฟังธรรมนั้นแล้วได้ศรัทธา (เทสนาหาระย่อมเกิดในบุคคลนั้น).

การพิจารณา อุตสาหะ ใคร่ครวญ ไตร่ตรอง ในธรรมที่ตนได้ฟังนั้น ชื่อว่า สุตมยปัญญา

การพิจารณา ใคร่ครวญ ไตร่ตรอง เพ่งด้วยใจ โดยอาศัยการฟังธรรมนั้น ชื่อว่า จินตมยปัญญา

อริยมรรคญาณใดย่อมเกิดในทัสสนภูมิ (กล่าวคือโสดาปัตติมรรคผล) ก็ดี ในภาวนาภูมิ (กล่าวคือเสกขะและอเสกขะที่เหลือ) ก็ดี แก่บุคคลผู้เพียรพยายามกระทำไว้ในใจด้วยปัญญา 2 อย่างเหล่านี้ ปัญญานี้ชื่อว่า ภาวนามยปัญญา

[ 8 ] ปัญญาที่เกิดจากปรโตโฆสปัจจัย (เสียงธรรมเทศนาจากพระพุทธเจ้า) ชื่อว่า สุตมยปัญญา ปัญญาที่เกิดจากการทำไว้ในใจโดยอุบายอันแยบคาย ซึ่งเกิดภายในตน ชื่อว่า จินตมยปัญญา ปัญญาที่เกิดจากปรโตโฆสปัจจัย และการทำไว้ในใจโดยอุบายอันแยบคาย ซึ่งเกิดภายในตน ชื่อว่า ภาวนามยปัญญา.

บุคคลที่มีปัญญา 2 อย่างนี้ คือ สุตมยปัญญา และจินตมยปัญญา ชื่อว่า อุตฆฏิตัญญู บุคคลที่มีสุตมยปัญญา แต่ไม่มีจินตมยปัญญา ชื่อว่า วิปัญจิตัญญู บุคคลที่ไม่มีทั้งสุตมยปัญญา และจินตมยปัญญา ชื่อว่า เนยยะ

[ 9 ] ธรรมเทศนานั้น ย่อมแสดงอะไร ? แสดงสัจจะทั้ง 4 คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค. อาทีนวะ และ ผล ชื่อว่า ทุกขสัจจะ, อัสสาทะ ชื่อว่า สมุทัยสัจจะ, นิสสรณะ ชื่อว่า นิโรธสัจจะ, อุบาย และ อาณัตติ ชื่อว่า มรรคสัจจะ ย่อมแสดงสัจจะทั้ง 4 เหล่านี้ เทศนานี้ชื่อว่า ธรรมจักรสูตร

ดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า "ภิกษุทั้งหลาย เราได้แสดงธรรมจักรอันยอดเยี่ยม ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ใกล้เมืองพาราณสี ว่า "หมู่เตภูมกธรรม นี้ ชื่อว่า ทุกขสัจจะ" ซึ่งสมณะ (ภิกษุ) ก็ดี พราหมณ์ก็ดี เทวดาก็ดี มารก็ดี พรหมก็ดี บุคคลใดบุคคลหนึ่งก็ดีในโลก ไม่สามารถแสดงได้" ดังนี้เป็นต้น ทั้งหมดนี้ชื่อว่า ธรรมจักร.1

1. วิ. มหา. 4/13–17/13–16, สํ. มหา. 19/1081/367–370, ขุ. ปฏิ. 31/30/358–361

ในเทศนานั้น บทไม่มีประมาณ, อักษรไม่มีประมาณ, วากยะ (พฺยญฺชน) ไม่มีประมาณ, ส่วนแห่งวากยะที่จำแนกแล้ว (นิทเทส) ไม่มีประมาณ. การแสดงโดยสังเขป การแสดงในเบื้องต้น การขยายความ การจำแนก การทำให้เข้าใจง่าย การให้รู้โดยประเภทแห่งอรรถ กล่าวคือสัจจะ 4 นั้นแล ไม่มีประมาณ. พึงทราบทุกขอริยสัจนี้ด้วยประการฉะนี้

ภิกษุทั้งหลาย เราได้แสดงธรรมจักรอันยอดเยี่ยม ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ใกล้เมืองพาราณสีว่า "ตัณหานี้ชื่อว่า สมุทัยสัจจะ อันเป็นเหตุให้เกิดทุกข์, นิพพานนี้ชื่อ ทุกขนิโรธสัจจะ อันเป็นที่ดับทุกข์, มรรค อันมีองค์ 8 นี้ชื่อว่า มรรคสัจจะ ซึ่งเป็นข้อปฏิบัติให้ถึงนิพพานอันเป็นที่ดับทุกข์" ซึ่งสมณะก็ดี พราหมณ์ก็ดี เทวดาก็ดี มารก็ดี พรหมก็ดี บุคคลใดบุคคลหนึ่งก็ดีในโลก ไม่สามารถแสดงได้

ในเทศนานั้น บทไม่มีประมาณ อักษรไม่มีประมาณ วากยะ (พฺยญฺชน) ไม่มีประมาณ, ส่วนแห่งวากยะที่จำแนกแล้ว (อาการ), วิเคราะห์ (เนรุตฺต), คำขยายความวิเคราะห์ (นิทเทส) ไม่มีประมาณ. การแสดงโดยสังเขป, การแสดงในเบื้องต้น, การขยายความ, การจำแนก, การทำให้เข้าใจง่าย, การให้รู้โดยประเภทแห่งอรรถ กล่าวคือสัจจะ 4 นั้นแล ไม่มีประมาณ พึงทราบทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจนี้ ด้วยประการฉะนี้.

ในบรรดาพยัญชนบท 6 เหล่านั้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงอรรถโดยสังเขป ด้วยอักษรทั้งหลาย ทรงแสดงอรรถในเบื้องต้นด้วยบททั้งหลาย ทรงขยายความด้วยวากยะทั้งหลาย ทรงจำแนกอรรถด้วยส่วนแห่งวากยะทั้งหลาย ทรงทำความเข้าใจง่ายด้วยวิเคราะห์ทั้งหลาย ทรงให้รู้อรรถโดยประเภทด้วยคำขยายความวิเคราะห์ทั้งหลาย

ในบรรดาพยัญชนบท 6 เหล่านั้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงอรรถที่ประสงค์โดยสังเขป ด้วยอักษรและบททั้งหลาย ทรงแสดงโดยไม่สังเขปไม่พิสดาร ด้วยวากยะและส่วนแห่งวากยะทั้งหลาย ทรงกระทำให้พิสดาร ด้วยวิเคราะห์ และขยายความวิเคราะห์ทั้งหลาย

ในบรรดาเทศนาทั้งหลาย มี อุคฺฆฏน (การยกหัวข้อ) เป็นต้นเหล่านั้น การแสดงโดยสังเขป เป็นเบื้องต้นแห่งเทศนา, การแสดงโดยไม่สังเขปไม่พิสดาร เป็นท่ามกลางแห่งเทศนา, การแสดงโดยพิสดารเป็นที่สุดแห่งเทศนา. พระสูตร พระอภิธรรม และพระวินัยนั้น เมื่อพระองค์ทรงแสดงโดยสังเขป ย่อมแนะนำอุคฆฏิตัญญูบุคคล เพราะฉะนั้นท่านจึงเรียกพระสูตร พระอภิธรรม และพระวินัยนั้นว่า "อาทิกลฺยาณ (มีความงามในเบื้องต้น)" เมื่อทรงแสดงโดยไม่สังเขปไม่พิสดาร ย่อมแนะนำวิปัญจิตัญญูบุคคล เพราะฉะนั้นท่านจึงเรียกพระสูตร พระอภิธรรม และพระวินัยนั้นว่า "มชฺเฌกลฺยาณ (มีความงามในท่ามกลาง)". เมื่อทรงแสดงโดยพิสดาร ย่อมแนะนำเนยยบุคคล เพราะฉะนั้นท่านจึงเรียกพระสูตร พระอภิธรรม และพระวินัยนั้นว่า "ปริโยสานกลฺยาณ (มีความงามในที่สุด)

[ 10 ] ในเทศนาว่า "ธมฺมํ โว ภิกฺขเว เทเสสฺสามิ (ภิกษุทั้งหลาย เราจะแสดงธรรมแก่เธอทั้งหลาย)" นั้น บท 6 ทั้งหลาย ชื่อว่าอรรถแห่งพระบาลี. บท 6 เหล่านั้นเป็นไฉน ? คือ เนื้อความโดยสังเขป, เนื้อความที่แสดงในเบื้องต้น, เนื้อความที่ขยายความ, เนื้อความที่จำแนก, เนื้อความที่ทำให้ปรากฏชัด (หรือทำให้เข้าใจง่าย), เนื้อความที่ให้รู้โดยประการต่าง ๆ . บท 6 เหล่านี้ ชื่อว่า อรรถแห่งพระบาลี.

บท 6 ชื่อว่า ศัพท์. บท 6 เหล่านั้นเป็นไฉน ? คือ อักษร, บท, วากยะ(ประโยค), ส่วนแห่งวากยะ, วิเคราะห์, คำขยายความวิเคราะห์. บท 6 เหล่านี้ ชื่อว่า ศัพท์. เพราะเหตุนั้น (เพราะความบริบูรณ์ด้วยอรรถบทและพยัญชนบทเหล่านั้น) พระผู้มีพระภาคทรงตรัสว่า "ภิกษุทั้งหลาย เราจะแสดงธรรมอันงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด พร้อมด้วยอรรถะและพยัญชนะแก่เธอทั้งหลาย".

บทว่า "เกวลํ" หมายความว่า เป็นโลกุตรธรรมล้วน ๆ ไม่ระคนด้วยโลกิยธรรม. บทว่า "ปริปุณฺณํ" หมายความว่า บริบูรณ์ ไม่หย่อนไม่ยิ่ง. บทว่า "ปริสุทฺธํ" คือ ไม่มีมลทิน ปราศจากมลทินทั้งปวง สะอาดหมดจด เป็นที่ตั้งแห่งคุณวิเศษทั้งปวง. ข้อปฏิบัตินี้เรียกว่า "ตถาคตบท (หนทางเป็นที่เสด็จไปของพระพุทธเจ้า)" บ้าง, เรียกว่า "ตถาคตนิเสวิต (สิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงเสพ)" บ้าง, เรียกว่า "ตถาคตรญฺชิต (ที่เจาะด้วยพระเขี้ยว กล่าวคือสัพพัญญุตญาณของพระพุทธเจ้า)" บ้าง ด้วยเหตุนั้นพระองค์จึงบัญญัติศาสนานี้ว่า พรหมจรรย์ (ความประพฤติอันประเสริฐ) เพราะฉะนั้นพระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า "เราจะประกาศพรหมจรรย์อันบริสุทธิ์ บริบูรณ์สิ้นเชิง"

ธรรมเทศนานี้ แสดงเพื่อประโยชน์แก่ใคร ? เพื่อประโยชน์แก่โยคีบุคคล (ผู้ปฏิบัติ) ทั้งหลาย. เพราะฉะนั้น ท่านมหากัจจายนเถระจึงกล่าวว่า

อัสสาทะ, อาทีนวะ, นิสสรณะ, ผล, อุบาย และอาณัตติ (การแนะนำตักเตือน) ของพระผู้มีพระภาค เพื่อประโยชน์แก่โยคีบุคคลทั้งหลาย เป็นสังวรรณนาพิเศษ ชื่อว่า เทสนาหาระ

เทสนาหาระ ท่านยกจากพระบาลีมาประกอบแล้ว

[ 11 ] ในบรรดาหาระเหล่านั้น วิจยหาระเป็นไฉน ? คาถาที่ข้าพเจ้ากล่าวไว้ว่า "ยํปุจฺฉิตญฺจ วิสฺสชฺชิตญฺจ (การพิจารณาคำถามก็ดี การพิจารณาคำตอบก็ดี)" เป็นต้นนั้น ชื่อว่า วิจยหาระ

วิจยหาระ พิจารณาอะไร ? พิจารณา บท, คำถาม, คำตอบ, คำหน้ากับคำหลัง, อัสสาทะ, อาทีนวะ, นิสสรณะ, ผลแห่งเทศนา, อุบาย, อาณัตติ, อนุคีติ (การกล่าวโดยสมควร) และ พระสูตร 9 ประการ มี สุตตะ เคยยะ เป็นต้นทั้งปวง. เหมือนอะไร? เหมือนที่ท่านพระอชิตะทูลถามปัญหาพระผู้มีพระภาคในปารายนสูตร

พระอชิตะทูลถามว่า

สัตว์โลกถูกอะไรห่อหุ้มไว้, สัตว์โลกย่อมไม่ปรากฎ เพราะธรรมอะไร, พระองค์กล่าวอะไรว่าเป็นเครื่องฉาบทาสัตว์โลกนั้น, อะไรเป็นภัยใหญ่ของสัตว์โลกนั้น1

1. ขุ. สุ. 25/1039/531, ขุ. จูฬ. 30/1/25

4 ประโยคเหล่านี้เป็นคำถาม. อรรถที่ถูกถามด้วย 4 ประโยคนั้นเป็นปัญหาอันหนึ่ง. เพราะเหตไร ? เพราะกำหนดเอาวัตถุที่ตั้งคือโลกอันหนึ่ง สมจริงดังที่ท่านกล่าวไว้อย่างนี้ว่า พระอชิตะถามถึงที่ตั้งคือโลกด้วยประโยคว่า "เกนสฺสุ นิวุโตโลโก (สัตว์โลกถูกอะไรห่อหุ้มไว้)" ถามถึงการไม่ปรากฏแห่งโลกด้วยประโยคว่า "เกนสฺสุ นปฺปกาสติ (สัตว์โลกย่อมไม่ปรากฏเพราะธรรมอะไร)" ถามถึงการฉาบทาโลกด้วยประโยคว่า "กิสฺสาภิเลปนํ พฺรูสิ (พระองค์กล่าวอะไรว่าเป็นเครื่องฉาบทาสัตว์โลก)" ถามถึงภัยใหญ่ของโลกนั้นด้วยประโยคว่า "กึ สุ ตสฺส มหพฺภยํ (อะไรเป็นภัยใหญ่ของสัตว์โลกนั้น)" โลก มี 3 คือ กิเลสโลก (กล่าวคืออบายสัตว์) ภวโลก (กล่าวคือสัตว์ที่นอกจากอบายสัตว์) และ อินทรียโลก (กล่าวคือสัตว์ที่สมบูรณ์ด้วยอินทรีย์ มี สัทธา เป็นต้น ที่สามารถทำให้ถึงวิมุติ)

ในคำปุจฉานั้น มีวิสัชนา ดังนี้ :-

พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า

สัตว์โลกถูกอวิชชาห่อหุ้มไว้, สัตว์โลกย่อมไม่ปรากฏ

เพราะความสงสัย เพราะความประมาท, เรากล่าวตัณหาว่า

เป็นเครื่องฉาบทาสัตว์โลก, ทุกข์เป็นภัยใหญ่ของโลกนั้น 1

1. ขุ. สุ. 25/1040/531, ขุ. จูฬ. 30/2/26

4 ประโยคเหล่านี้ ( ที่กล่าวไว้ในคาถาปุจฉา) ท่านวิสัชนาแล้วด้วย 4 ประโยคเหล่านี้ (ที่กล่าวไว้ในคาถาวิสัชนา) ประโยคที่ 1 (ที่กล่าวไว้ในคาถาปุจฉา) ท่านวิสัชนาด้วยประโยคที่ 1 (ที่กล่าวไว้ในคาถาวิสัชนา) ประโยคที่ 2 ท่านวิสัชนาด้วยประโยคที่ 2, ประโยคที่ 3 ท่านวิสัชนาด้วยประโยคที่ 3, ประโยคที่ 4 ท่านวิสัชนาด้วยประโยคที่ 4

ในปัญหาว่า "เกนสฺสุ นิวุโต โลโก (สัตว์โลกถูกอะไรห่อหุ้มไว้)" มีคำวิสัชนาว่า "อวิชฺชา นิวุโต โลโก (สัตว์โลกถูกอวิชชาห่อหุ้มไว้)", สัตว์โลกถูกนิวรณ์ทั้งหลายห่อหุ้มไว้ จริงอย่างนั้น สัตว์ทั้งปวงมีอวิชชาห่อหุ้ม สมดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า "เรากล่าวธรรมอย่างหนึ่ง คือ อวิชชา ว่าเป็นเครื่องห่อหุ้มสัตว์ที่ติดอยู่ในอารมณ์ทั้งปวง สัตว์ผู้มีลมปราณทั้งปวง สัตว์ผู้เติบโตทั้งปวง เพราะเป็นเหตุแห่งกามฉันทนิวรณ์เป็นต้น. แท้จริงสัตว์ทั้งปวงมีอวิชชาเป็นเครื่องห่อหุ้ม ภิกษุทั้งหลายเรากล่าวว่า นิวรณ์ย่อมไม่มีแก่สัตว์ทั้งหลายเพราะการดับ เพราะการสละ เพราะการสลัดอวิชชา โดยประการทั้งปวง". เพราะเหตุนั้นแล คำวิสัชนา (ว่า อวิชฺชาย นิวุโต โลโก) แห่งประโยคที่ 1 (ว่า เกนสฺสุ นิวุโต โลโก) อันท่านประกอบแล้ว

ในปัญหา (ข้อที่ 2) ว่า "เกนสฺสุ นปฺปกาสติ (สัตว์โลกย่อมไม่ปรากฏเพราะธรรมอะไร)" มีคำวิสัชนาว่า "วิจิจฺฉา ปมาทา นปฺปกาสติ (สัตว์โลกย่อมไม่ปรากฏเพราะความสงสัย เพราะความประมาณ)". บุคคลที่ถูกนิวรณ์ณ์ทั้งหลายห่อหุ้มย่อมสงสัย ท่านเรียกว่า วิวิจฺฉา. บุคคลที่สงสัยย่อมไม่เชื่อ (ผลแห่งกรรม) เมื่อไม่เชื่อ (ผลแห่งกรรม) ย่อมไม่เพียรพยายามเพื่อละอกุศลธรรมทั้งหลาย และเพื่อกระทำให้ประจักษ์กุศลธรรมทั้งหลาย. บุคคลนั้นประกอบความประมาทเนือง ๆ เป็นผู้ประมาทอยู่ในศาสนานี้ ไม่ยังกุศลธรรมที่สะอาดหมดจดให้เกิดขึ้น. กุศลธรรม มี ศีล สมาธิ เป็นต้น เหล่านั้นที่ตนไม่ทำให้เกิดขึ้น ย่อมไม่ปรากฏแก่บุคคลผู้ประมาทนั้น สมดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า

สัตบุรุษทั้งหลายแม้อยู่ไกลก็ย่อมปรากฏ (แก่บัณฑิตทั้งหลาย) เหมือนภูเขา หิมวันต์ แม้อยู่ไกลก็เห็นได้ฉะนั้น อสัตบุรุษทั้งหลาย (แม้อยู่ใกล้) ย่อมไม่ปรากฏ (แก่บัณฑิตทั้งหลาย) ในศาสนานี้ เหมือนลูกศรที่เขายิงไปในเวลากลางคืน ฉะนั้น สัตบุรุษเหล่านั้น ย่อมปรากฏด้วยคุณ ชื่อเสียง และบริวาร1

1. ขุ. ธ. 25/304/69

เพราะเหตุนั้นแล คำวิสัชนาแห่งประโยคที่ 2 อันท่านประกอบแล้ว (เช่นนั้น)

ในปัญหา (ข้อที่ 3) ว่า "กิสฺสาภิเลปนํ พฺรูสิ (พระองค์กล่าวอะไรว่าเป็นเครื่องฉาบทาสัตว์โลก)" มีคำว่าวิสัชนาว่า "ชปฺปาภิเลปนํ พฺรูมิ (เรากล่าวตัณหาว่าเป็นเครื่องฉาบทาสัตว์โลก)" ตัณหา ท่านเรียกว่า ชัปปา. ตัณหานั้นฉาบทาด้วยอาการอย่างไร ? ด้วยอาการดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

สัตว์โลกผู้มีราคะย่อมไม่รู้อรรถที่เป็นผล ย่อมไม่เห็นเหตุ. ราคะย่อมเบียด เบียนบุคคลใด ความมืดอย่างยิ่งย่อมมีแก่บุคคลนั้นในกาลนั้น2

2. ขุ. อิติ. 25/88/305, ขุ. มหา. 29/5,156,195/12,302,399, ขุ. จูฬ. 30/128/263

สัตว์โลกชื่อว่าถูกตัณหาฉาบทา เพราะเหตุว่า ตัณหานั้นทำบุคคผู้ติดอยู่ในอารมณ์ให้ติดในอารมณ์ยิ่งขึ้นแล้วเบียดเบียนด้วยอาการดังกล่าวนั้น

เพราะเหตุนั้นแล คำวิสัชนาแห่งประโยคที่ 3 อันท่านประกอบแล้ว (เช่นนั้น)

ในปัญหา (ข้อที่ 4) ว่า "กึสุ ตสฺส มหพฺภยํ (อะไรเป็นภัยใหญ่ของสัตว์โลกนั้น)"

มีคำวิสัชนาว่า "ทุกขมสฺส มหพฺภยํ (ทุกข์เป็นภัยใหญ่ของสัตว์โลกนั้น)" ทุกข์มี 2 อย่าง คือ กายิกทุกข์ (ทุกข์ทางกาย) และ เจตสิกทุกข์ (ทุกข์ทางใจ). ทุกข์ที่เกิดขึ้นในกายวิญญาณจัดเป็นทุกข์, ทุกข์ที่เกิดในโทสมูลจิตจัดเป็นโทมนัส. เพราะเหตุที่สัตว์ทั้งปวงหวาดกลัวทุกข์ ฉะนั้นภัยที่เสมอเหมือนกับทุกข์ย่อมไม่มี. ทุกขตา (ความเป็นทุกข์) มี 3 อย่าง คือ ความเป็นทุกขทุกข์ กล่าวคือทุกขเวทนา, ความเป็นทุกข์แห่งสังขารธรรม, ความเป็นวิปริณามทุกข์อันเกิดจากการเปลี่ยนแปลง.

ในบรรดาทุกข์ 3 ประการเหล่านั้น สัตว์โลกย่อมพ้นจากทุกขทุกข์ โดยบางส่วนในบางครั้งบางคราว บางสัมปัตติภพ, ย่อมพ้นจากวิปริณามทุกข์แบบนั้นเหมือนกัน, การพ้นจากทุกข์เช่นนั้นเกิดจากเหตุอะไร ? เพราะเหตุที่สัตว์ทั้งหลายในโลกเป็นผู้มีโรคน้อยและมีอายุยืน ฉะนั้นจึงพ้นจากทุกข์เช่นนั้นได้, แต่สัตว์โลกพ้นจากสังขารทุกข์ได้ด้วยนิพพานธาตุอันไม่มีวิบากนามขันธ์กฏัตตารูป เหลืออยู่. เพราะฉะนั้น (พระผู้มีพระภาคจึงตรัสคำนี้) ว่า "ทุกฺขมสฺส มหพฺภยํ (ทุกข์เป็นภัยใหญ่ของสัตว์โลกนั้น)" คำวิสัชนาแห่งประโยคที่ 4 อันท่านประกอบแล้ว ฉะนั้นพระผู้มีพระภาคจึงตรัสคำวิสัชนาว่า "อวิชฺชาย นิวุโต โลโก (สัตว์โลกถูกอวิชชาห่อหุ้มไว้)"

พระอชิตะทูลถามว่า

กระแส (คือ ตัณหา) ทั้งหลายย่อมไหลไปในอายตนะทั้งปวง

(มี รูป เป็นต้น) อะไรเป็นเครื่องกั้นกระแสทั้งหลาย ขอพระองค์จงทรงบอกการสังวรกล่าวคือการป้องกันกระแสทั้งหลาย บุคคลย่อมปิดกั้นกระแสทั้งหลายได้ด้วยธรรมอะไร1

1. ขุ. สุ. 25/1041/531, ขุ. จูฬ. 30/3/30

4 ประโยคเหล่านี้เป็นคำถาม อรรถที่ถูกกล่าวด้วยคาถาเหล่านั้นเป็นปัญหา 2 ข้อ เพราะเหตุไร ? เพราะเหตุที่อรรถอันถูกกล่าวด้วยคาถาเหล่านี้ ถูกถามแล้วด้วยศัพท์ที่อาศัยหลายอย่าง ฉะนั้นจึงมีปัญหา 2 ข้อ

พระอชิตะประสงค์จะถามว่า สัตว์โลกที่ถูกภัยต่าง ๆ (มีการสูญเสียญาติเป็นต้นเบียดเบียนเช่นนั้น) และมีความเศร้าหมองเร่าร้อนเช่นนั้น จะหมดจดและพ้นจากสังสารวัฏได้อย่างไร ดังคำที่ท่านกล่าวไว้อย่างนั้น

คำว่า "สวนฺติ สพฺพธิ โสตา (กระแส คือ ตัณหา ทั้งหลายย่อมไหลไปในอายตนะทั้งปวง)" หมายความว่า กระแส (คือ ตัณหา) ของบุคคลผู้มีจิตไม่ตั้งมั่น มี อภิชฌา พยาบาท และความประมาทมากย่อมไหลไป. ในบรรดาธรรม (มี อภิชฌา เป็นต้น) เหล่านั้น ธรรมชาตินี้ (คือ ตัณหา) ถูกกล่าวว่าเป็น โลภะ เป็นอกุศลมูล. ธรรมชาติใดชื่อว่า พยาบาท ธรรมชาตินี้ถูกกล่าวว่าเป็น โทสะ เป็นอกุศลมูล. ธรรมชาติใดชื่อว่า ปมาท ธรรมชาตินี้ถูกกล่าวว่าเป็น โมหะ เป็นอกุศลมูล. ตัณหาทั้งหลาย คือ รูปตัณหา สัททตัณหา คันธตัณหา รสตัณหา โผฏฐัพพตัณหา ธัมมตัณหา ของบุคคลผู้มีจิตไม่ตั้งมั่น ย่อมไหลไปในอายตนะภายนอก 6 ด้วยธรรม 3 ประการ ดังกล่าวนั้น

สมดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า

ภิกษุทั้งหลาย คำว่า "สวติ (ไหลไป)" นี้แลเป็นชื่อของอายตนะภายใน 6. จักษุ (ตา) ย่อมไหลไปในรูปารมณ์ที่น่าพอใจ ย่อมขัดเคืองในรูปารมณ์ที่ตนไม่ชอบใจ. โสตะ (หู) ย่อมไหลไปในสัททารมณ์ที่น่าพอใจ ย่อมขัดเคืองในสัททารมณ์ที่ตนไม่ชอบใจ. ฆานะ (จมูก) ย่อมไหลไปในคันธารมณ์ที่น่าพอใจ ย่อมขัดเคืองในคันธารมณ์ที่ตนไม่ชอบใจ. ชิวหา (ลิ้น) ย่อมไหลไปในรสารมณ์ที่น่าพอใจ ย่อมขัดเคืองในรสารมณ์ที่ตนไม่ชอบใจ. กายย่อมไหลไปในโผฏฐัพพารมณ์ที่น่าพอใจ ย่อมขัดเคืองในโผฏฐัพพารมณ์ที่ตนไม่ชอบใจ. ใจย่อมไหลไปในธัมมารมณ์ที่น่าพอใจ ย่อมขัดเคืองในธัมมารมณ์ที่ตนไม่ชอบใจ. ย่อมไหลไปโดยอาการทั้งปวงอย่างนี้. เพราะฉะนั้นท่านจึงกล่าวว่า "สวนฺติ สพฺพธิ โสตา (กระแส คือ ตัณหา ทั้งหลายย่อมไหลไปในอายตนะทั้งปวง)"

พระอชิตะถามถึงวิธีละปริยุฏฐานกิเลสด้วยคำว่า "โสตานํ กึ นิวารณํ (อะไรเป็นเครื่องกั้นกระแสทั้งหลาย)" การละปริยุฏฐานกิเลสนี้เป็นความหมดจด ถามถึงวิธีตัดอนุสัยกิเลสอย่างเด็ดขาดด้วยคำว่า "โสตานํ สํวรํ พฺรูหิ, เกน โสตา ปิธียเร (ขอพระองค์จงทรงบอกการสังวรกล่าวคือการป้องกันกระแสทั้งหลาย บุคคลย่อมปิดกั้นกระแสทั้งหลายได้ด้วยธรรมอะไร)" การตัดอนุสัยกิเลสอย่างเด็ดขาดนี้เป็นเหตุออกจากวัฏสงสาร

คำวิสัชนาในปัญหา 2 ข้อนี้ พึงทราบดังนี้ :-

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

(ดูก่อนอชิตะ) กระแส (คือ ตัณหา) เหล่าใดย่อมไหลไปในโลก สติเป็นเครื่องกั้นกระแส (คือ ตัณหา) เหล่านั้น เรากล่าว (สตินั้นแหละ) ว่าเป็นเครื่องป้องกันกระแสทั้งหลาย (ในขณะแห่งมรรค) กระแสเหล่านั้นพึงถูกปิดกั้นด้วยมรรค ปัญญา1

1. ขุ. สุ. 25/1042/532, ขุ. จูฬ. 30/4/31

เมื่อบุคคลเจริญกายคตาสติ กระทำให้มากแล้ว จักขุ (ตา) ย่อมไม่ดึงไปในรูปารมณ์ที่น่าพอใจ ย่อมไม่ขัดเคืองในรูปารมณ์ที่ตนไม่ชอบใจ. โสตะ (หู) ย่อมไม่ดึงไปในสัททารมณ์ที่น่าพอใจ ย่อมไม่ขัดเคืองในสัททารมณ์ที่ตนไม่ชอบใจ. ฆานะ (จมูก) ย่อมไม่ดึงไปในคันธารมณ์ที่น่าพอใจ ย่อมไม่ขัดเคืองในคันธารมณ์ที่ตนไม่ชอบใจ. ชิวหา (ลิ้น) ย่อมไม่ดึงไปในรสารมณ์ที่น่าพอใจ ย่อมไม่ขัดเคืองในรสารมณ์ที่ตนไม่ชอบใจ. กาย ย่อมไม่ดึงไปในโผฏฐัพพารมณ์ที่น่าพอใจ ย่อมไม่ขัดเคืองในโผฏฐัพพารมณ์ที่ตนไม่ชอบใจ. ใจ ย่อมไม่ดึงไปในธัมมารมณ์ที่น่าพอใจ ย่อมไม่ขัดเคืองในธัมมารมณ์ที่ตนไม่ชอบใจ เพราะเหตุไร ? เพราะป้องกันรักษาอินทรีย์ทั้งหลาย (มี จักขุ เป็นต้น) ไว้ดีแล้ว กระแสทั้งหลาย มีตัณหาเป็นต้นเหล่านั้น บุคคลจะป้องกันได้ดี ด้วยธรรมอะไร ? ด้วยการรักษาคือสติ เพราะฉะนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า "สติ เตสํ นิวารณํ (สติเป็นเครื่องกั้นกระแส คือ ตัณหา เหล่านั้น)"

บุคคลย่อมละอนุสัยทั้งหลายได้ด้วยปัญญา เมื่อละอนุสัยแล้วก็เป็นอันละปริยุฏฐานกิเลสด้วย. เพราะเหตุไร ? เพราะอนุสัยถูกละแล้ว เปรียบเหมือน เมื่อถอนรากถอนโคนต้นไม้ที่มีลำต้นจนหมดสิ้นไป ฉันใด เมื่ออนุสัยถูกละแล้ว ความสืบต่อแห่งปริยุฏฐานกิเลสก็เป็นอันขาดสิ้นถูกปิดกั้น ฉันนั้นเหมือนกัน. ถูกปิดกั้นด้วยอะไร ? ด้วยปัญญา. เพราะฉะนั้นพระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า "ปญฺญาเยเต ปิธียเร (กระแสเหล่านั้นพึงถูกปิดกั้นด้วยมรรคปัญญา)"

พระอชิตะทูลถามว่า

ข้าแต่พระผู้นิรทุกข์ ปัญญาและสติ (ที่พระองค์ตรัสแล้ว) ก็ดี นามรูป (ที่นอก จาก 2 อย่างนั้น) ก็ดี ทั้งหมดนี้ย่อมดับสนิทในที่ไหน. พระองค์อันข้าพเจ้าถามแล้ว ขอจงตรัสบอกที่ดับนี้ (แก่ข้าพระองค์)1

1. ขุ. สุ. 25/1043/532, ขุ. จูฬ. 30/5/34

พระผู้มีพระภาคบอกว่า

ดูก่อนอชิตะ เราจะตอบปัญหาที่ถามนั้นแก่เธอ. นามและรูปย่อมดับสนิทอย่างไม่เหลือในที่ใด หมู่นามรูปทั้งปวงนี้ย่อมดับสนิทด้วยการดับแห่งวิญญาณในที่นั้น2

2. ขุ. สุ. 25/1044/532, ขุ. จูฬ. 30/6/35

พระอชิตะนี้ย่อมถามถึงอนุสนธิ (การสืบต่อ) ในปัญหา. เมื่อถามอนุสนธิ ชื่อว่า ถามอะไร ? ถามถึงอนุปาทิเลสนิพพานธาตุ (นิพพานที่ไม่มีวิบากนามขันธ์กฎัตตารูปเหลืออยู่) อนึ่งสัจจะ 3 คือ ทุกขสัจจะ, สมุทัยสัจจะ, มรรคสัจจะ เป็นสังขตะ (ถูกปัจจัยปรุงแต่ง) มีความดับเป็นธรรมดา ส่วนนิโรธสัจจะ ชื่อว่า อสังขตะ (ไม่ถูกปัจจัยปรุงแต่ง) ในบรรดาสัจจะเหล่านั้น สมุทัยสัจจะถูกละในภูมิ 2 คือ ทัสสนภูมิ และภาวนาภูมิ. โสดาปัตติมรรคละ สังโยชน์ 3 คือ สักกายทิฏฐิ, วิจิกิจฉา, สีลัพพตปรามาส. มรรคเบื้องบน 3 ละสังโยชน์ 7 คือ กามฉันท์, พยาบาท, รูปราคะ, อรูปราคะ, มานะ, อุทธัจจะ, และ อวิชชา อย่างไม่มีเหลือ. ในธาตุ 3 (กามภูมิ, รูปภูมิ, อรูปภูมิ) มีสังโยชน์ 10 คือ สังโยชน์เบื้องต่ำ (โอรัมภาคิยะ) 5, สังโยชน์เบื้องสูง (อุทธัมภาคิยะ) 5

[12] ในบรรดาโอรัมภาคิยสังโยชน์ 5 และ อุทธัมภาคิยสังโยชน์เหล่านั้น สังโยชน์ 3 คือ สักกายทิฏฐิ, วิจิกิจฉา, สีลัพพตปรามาส ถึงอนัญญาตัญญัสสามีตินทรีย์แล้วย่อมดับ. สังโยชน์ 7 คือ กามฉันท์, พยาบาท, รูปราคะ, อรูปราคะ, มานะ, อุทธัจจะ และอวิชชา ถึงอัญญินทรีย์แล้วย่อมไม่มีเหลือ. อนึ่ง อรหัตตผลญาณ อันเป็นเหตุ (ของปัจจเวกขณญาณ) ให้รู้อย่างนี้ว่า "เราสิ้นการเกิดแล้ว" ชื่อว่า ขยญาณ. อรหัตตผลญาณ อันเป็นเหตุให้รู้โดยประกาศอย่างนี้ว่า "กิจคือการเจริญมรรคอย่างอื่นเพื่อประโยชน์แก่มรรคกิจ 16 ประการอย่างนี้ ย่อมไม่มีเหลือแก่เรา" ชื่อว่า อนุปปาทญาณ. ญาณทั้ง 2 เหล่านี้ ชื่อว่า อัญญาตาวินทรีย์ ในบรรดาอินทรีย์เหล่านั้น อินทรีย์เหล่านี้ คือ อนัญญาตัญญัสสามีตินทรีย์ และ อัญญินทรีย์ ย่อมดับแก่บุคคลผู้บรรลุอรหัตตผลซึ่งเป็นผลอันเลิศ ในบรรดาญาณเหล่านั้น ญาณทั้ง 2 เหล่านี้ คือ ขยญาณ และปนุปปาทญาณ เป็นอรหัตตผลปัญญาอันเดียวกัน

ถึงแม้จะเป็นอรหัตตผลปัญญาอันเดียวกันก็ได้ชื่อ 2 อย่าง โดยชื่ออารมณ์ คือ ขยะ และ อนุปปาทะ. อรหัตตผลปัญญาของบุคคลผู้รู้ว่า "เราสิ้นการเกิดแล้ว" ได้ชื่อว่า ขยญาณ. ส่วนอรหัตตผลปัญญาของบุคคลผู้รู้ว่า "กิจคือการเจริญมรรคอื่นเพื่อประโยชน์แก่มรรคกิจ 16 ประการอย่างนี้ ย่อมไม่มีแก่เรา" ได้ชื่อว่า อนุปปาทญาณ. ปัญญาที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ด้วยกิจคือการปิดกั้นกระแสทั้งหลายนั้น ชื่อว่า ปัญญา ด้วยสภาพที่รู้โดยประการต่าง ๆ. สติที่พระองค์ตรัสไว้ด้วยกิจ คือการป้องกันกระแสทั้งหลายนั้น ชื่อว่า สติ ด้วยสภาพที่ไม่เลื่อนลอยหลงลืมอารมณ์ที่รับแล้วนั้น ๆ

[13] ในบรรดาธรรมเหล่านั้น อุปาทานขันธ์ 5 ชื่อว่า นามรูป. ในบรรดาอุปาทานขันธ์ 5 เหล่านั้น หมู่ธรรมอันมีผัสสะเป็นที่ 5 ชื่อว่า นาม. อินทรีย์ 5 ที่เป็นรูป ชื่อว่า รูป. นามรูปทั้ง 2 นั้น สัมปยุตกับวิญญาณ. พระอชิตะเมื่อจะถามพระผู้มีพระภาคถึงการดับวิญญาณและนามรูปนั้น ได้กล่าวคาถาในปารายนสูตร อย่างนี้ว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ ปัญญาและสติ (ที่พระองค์ตรัสแล้ว)

ก็ดี นามรูป (ที่นอกจาก 2 อย่างนั้น) ก็ดี ทั้งหมดนี้ย่อมดับสนิทในที่ไหน พระองค์อันข้าพระองค์ถามแล้ว ขอจงทรงตรัสบอกที่ดับนี้ (แก่ข้าพระองค์)1

1. ขุ. สุ. 25/1043/532, ขุ. จูฬ. 30/5/34

ในบรรดาธรรมที่กล่าวไว้ในคาถาปุจฉานั้น สติ และ ปัญญา จัดเป็นอินทรีย์ 4 สติ เป็นอินทรีย์ 2 คือ สตินทรีย์ และ สมาธินทรีย์. ปัญญา เป็นอินทรีย์ 2 คือ ปัญญินทรีย์ และ วิริยินทรีย์. ในบรรดาอินทรีย์ 4 เหล่านี้ การเชื่อผลของกรรม และความเชื่อที่หยั่งลงในพระรัตนตรัย ชื่อว่า สัทธินทรีย์ จิตเตกัคคตาที่มีศรัทธาเป็นใหญ่ ซึ่งเป็นไปในอินทรีย์เหล่านั้น ชื่อว่า ฉันทสมาธิ (สมาธิที่ทำฉันทะให้เป็นใหญ่) ฉันทสมาธินี้ ชื่อว่า วิกขัมภนปหาน เพราะเมื่อจิตตั้งมั่นแล้วก็ทำลายกิเลสทั้งหลาย โดยการข่มไว้ด้วยอำนาจการพิจารณาเนือง ๆ และด้วยอำนาจการเจริญกรรมฐาน. ในธรรมเหล่านั้น ลมหายใจออก หายใจเข้าก็ดี วิตกและวิจารก็ดี สัญญาและเวทนาก็ดี ธรรมที่โยคีบุคคลระลึกนึกถึง (โดยความเป็นกิจอย่างหนึ่ง) ก็ดี ชื่อว่า สังขาร. ฉันทสมาธิที่เรียกว่า วิกขัมภปหาน เพราะการข่มกิเลส ซึ่งกล่าวไว้ข้างต้นเช่นนั้นก็ดี วิริยสังขารเหล่านี้ก็ดี ทั้ง 2 อย่างนั้น ย่อมอบรมอิทธิบาทที่ประกอบด้วยฉันทสมาธิ และวิริยสังขาร ย่อมอบรมอิทธิบาทที่อาศัยวิเวก, อาศัยวิราคะ, อาศัยนิโรธ และแก่กล้าเพื่อประโยชน์แก่ปริจจาคโวสสัคคะและปักขันทนโวสสัคคะ.1 ในบรรดาธรรมเหล่านั้น จิตเตกัคคตา ที่มีวิริยะเป็นใหญ่ ชื่อว่า วิริยสมาธิ (สมาธิที่ทำวิริยะให้เป็นใหญ่) … ในบรรดาธรรมเหล่านั้น จิตเตกัคตาที่มีจิตเป็นใหญ่ ชื่อว่า จิตตสมาธิ (สมาธิที่ทำจิตให้เป็นใหญ่). ในบรรดาธรรมเหล่านั้น จิตเตกัคคตาที่มีวิมังสาเป็นใหญ่ ชื่อว่า วีมังสาสมาธิ (สมาธิที่ทำวิมังสาให้เป็นใหญ่) วีมังสาสมาธินี้ ชื่อว่า วิกขัมภนปหาน เพราะเมื่อจิตตั้งมั่นแล้วก็ทำลายกิเลสทั้งหลาย โดยการข่มไว้ด้วยอำนาจการพิจารณาเนือง ๆ และด้วยอำนาจการเจริญกรรมฐาน ในธรรมเหล่านั้น ลมหายใจออก ลมหายใจเข้าก็ดี วิตกและวิจารก็ดี สัญญาและเวทนาก็ดี ธรรมที่ใยดีบุคคลระลึกนึกถึง (โดยความเป็นกิจอย่างหนึ่ง) ก็ดี ชื่อว่า สังขาร. วีมังสาสมาธิที่เรียกว่า วิกขัมภนปหาน เพราะข่มกิเลสที่กล่าวไว้ข้างต้นเช่นนั้นก็ดี สังขารเหล่านี้ก็ดี ทั้ง 2 อย่างนั้น ย่อมอบรมอิทธิบาทที่ประกอบวีมังสาสมาธิและวิริยสังขาร ย่อมอบรมอิทธิบาทที่อาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ, อาศัยนิโรธ และแก่กล้าเพื่อประโยชน์แก่ปริจาคโวสสัคคะ และปักขันทนโวสสัคคะ

1 ในที่นี้ วิเวก มี 3 คือ ตทังควิเวก (สงบกิเลสชั่วขณะ) สมุจเฉทวิเวก (สงบกิเลสเด็ดขาด) และนิสสรณวิเวก (สงบกิเลสโดยการพ้นออกไป). วิราคะ มี 3 คือ ตทังควิราคะ (สำรอกกิเลสชั่วขณะ) สมุจเฉทวิราคะ (สำรอกกิเลสเด็ดขาด) และนิสสรณวิราคะ (สำรอกกิเลสโดยการพ้นออกไป). นิโรธมี 3 คือ ตทังคนิโรธ (ดับกิเลาชั่วขณะ) สมุจเฉนิโรธ (ดับกิเลสเด็ดขาด) และนิสสรณนิโรธ (ดับกิเลสโดยการพ้นออกไป). ปริจจาคโวสสัคคะ คือ การละกิเลสด้วย ตทังคปหานในขณะวิปัสสนา ละสมุจเฉทปหานในขณะแห่งมรรค. ปักขันทนโวสสัคคะ คือ การแล่นไปสู่นิพพานโดยการน้อมไปนิพพานในขณะวิปัสสนา และโดยการทำให้เป็นอารมณ์ในขณะแห่งมรรค

[ 14 ] อิทธิบาทสมาธิทั้งปวง มีญาณเป็นมูล มีญาณนำหน้า คล้อยตามญาณ.

(อิทธิบาทสมาธิ) คล้อยตามญาณในภพก่อนฉันใด ย่อมคล้อยตามญาณในภพหลัง (ภพที่เป็นอนาคต) ฉันนั้น. คล้อยตามญาณใน 7 วันหลัง (ที่เป็นอนาคต) ฉันใด ย่อมคล้อยตามญาณใน 7 วันก่อน (ที่เป็นอดีต) ฉันนั้น. คล้อยตามญาณในกลางวันฉันใด ย่อมคล้อยตามทิพพจักขุญาณในกลางคืนฉันนั้น. คล้อยตามทิพพจักขุญาณในกลางคืนฉันใด ย่อมคล้อยตามทิพพจักขุญาณในกลางวัน ฉันนั้น1e1. ขุ. เณร. 26/397/331

ย่อมอบรมจิตที่มีความสว่างด้วยจิตอันเปิดออก ไม่ถูกกิเลสพัวพ้นอย่างนี้. เมื่อจิตที่เกิดขึ้น อินทรีย์ 5 ที่เป็นกุศล เป็นไปร่วมกับจิตที่เกิดขึ้น. เมื่อจิตดับก็ดับด้วย แม้นามรูปที่มีวิญญาณเป็นเหตุ ก็เกิดเพราะวิญญาณเป็นปัจจัย เหตุ (มี ตัณหา อวิชชา เป็นต้น) ของวิญญาณนั้นย่อมขาดไปด้วยมรรค วิญญาณที่ไม่มีเหตุ (ขาดเหตุ) ไม่มีความยินดีในอารมณ์ก็ทำให้ปฏิสนธิเกิดไม่ได้ จึงดับไปแม้นามรูปที่ไม่มีเหตุ (คือ วิญญาณ) ไม่มีปัจจัย (คือ วิญญาณ) ก็ไม่ทำให้ภพใหม่เกิดขึ้น ปัญญา สติ และ นามรูป ย่อมดับไปเพราะวิญญาณดับโดยนัยที่กล่าวมาฉะนี้ เพราะฉะนั้นพระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า

(ดูก่อนอชิตะ) เราจะตอบปัญหาที่ถามนั้นแก่เธอ นาม และรูปย่อมดับสนิทอย่างไม่เหลือในที่ใด หมู่นามรูปทั้งปวง ย่อมดับสนิทด้วยการดับแห่งวิญญาณในที่นั้น2

2. ขุ. สุ. 25/1044/532, ขุ. จูฬ. 30/6/35

พระอชิตะทูลถามว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ บุคคลที่มีธรรมอันพิจารณาแล้วโดยความไม่เที่ยงเป็นต้น และบุคคลที่ยังต้องศึกษาศีลสิกขาเป็นต้น มีอยู่มากในโลกนี้ พระองค์ผู้เป็นบัณฑิตอันข้าพระองค์ถามแล้ว ขอจงตรัสบอกข้อปฏิบัติของบุคคลเหล่านั้น แกข้าพระองค์ 1

1 ขุ. สุ. 25/1045/532

[ 15 ] ประโยชน์เหล่านั้นมีปัญหา 3 ข้อ. เพราะเหตุไรจึงมีปัญหา 3 ข้อ ? เพราะประกอบคำถาม (ตั้งคำถาม) เกี่ยวกับเสกขบุคคล อเสกขบุคคล และการละกิเลสที่มีวิปัสสนานำหน้า ดังคำที่พระอชิตะกล่าวไว้เช่นนั้น ท่านถามถึงความเป็นอรหันตบุคคลด้วยคำว่า "เย จ สงฺขาตธมฺมา เส (บุคคลที่มีธรรมอันพิจารณาแล้วโดยความไม่เที่ยงเป็นต้น)". ถามถึงเสกขบุคคลด้วยคำว่า "เย จ เสกฺขา ปุถู อิธ (และบุคคลที่ยังต้องศึกษาศีลสิกขาเป็นต้น)". ถามถึงการละกิเลสที่มีวิปัสสนานำหน้าด้วยคำว่า "เตสํ เม นิปโก อิริยํ, ปุฏฺโฐ ปพฺรูหิ มาริส (พระองค์ผู้เป็นบัณฑิตอันข้าพระองค์ถามแล้ว ขอจงตรัสบอกข้อปฏิบัติของบุคคลเหล่านั้นแก่ข้าพระองค์)".

คำวิสัชนาในปัญหา 3 ข้อนั้น พึงทราบดังนี้ :-

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

(ดูก่อนอชิตะ) เสกขบุคคลไม่พึงติดในวัตถุกามทั้งหลาย, พึงเป็นผู้มีใจไม่มัวหมอง (ด้วยกิเลส), อเสกขบุคคลผู้ฉลาดในธรรมทั้งปวง มีสติสมบูรณ์ พึงเป็นผู้ถึงภาวะอันประเสริฐดำรงอยู่ 2

2 ขุ. สุ. 25/1046/532, ขุ. จูฬ. 30/8/38

กายกรรมทั้งปวง, วจีกรรมทั้งปวง, มโนกรรมทั้งปวงของพระผู้มีพระภาค มีญาณนำหน้า คล้อยตามญาณ ทรงมีญาณทัสสนะ (การเห็นด้วยญาณ) ที่ไม่ติดขัดในส่วนอดีต อนาคต และ ปัจจุบัน

ก็ความขัดข้องแห่งญาณทัสสนะจะมีในอารมณ์ไรเล่า ? ความไม่รู้ไม่เห็นในอนิจจัง ทุกขัง และ อนัตตา เป็นความขัดข้องแห่งญาณทัสสนะ เปรียบเหมือนคนในโลกนี้ เห็นดวงดาวทั้งหลายได้ แต่ไม่สามารถนับดวงดาวเหล่านั้นได้. นี้เป็นความขัดข้องแห่งญาณทัสสนะ.

ส่วนพระผู้มีพระภาคทรงมีญาณทัสสนะอันไม่ติดขัด. แท้จริงพระพุทธเจ้าผู้มีบุญญาธิการทั้งหลาย ทรงมีญาณทัสสนะอันไม่ขัดข้อง. ในบรรดาเสกบุคคล และอเสกขบุคคลเหล่านั้น เสกขบุคคลพึงรักษาจิตในธรรม 2 อย่าง คือ รักษาจิตไม่ให้ติดในอารมณ์ที่น่ายินดี และไม่ให้ขัดเคืองในอาฆาตวัตถุที่ชวนประทุษร้าย. ในบรรดาความยินดีและความขัดเคืองเหล่านั้น พระผู้มีพระภาคเมื่อจะทรงห้ามความอยากได้ ความลุ่มหลง ความปรารถนา ความรักใคร่ ความสนุกสนาน จึงตรัสอย่างนี้ว่า "กาเมสุนาภิคิชเฌยฺย (ไม่พึงติดในวัตถุกามทั้งหลาย)".

พระองค์ตรัสการทำลายปริยุฏฐานกิเลสด้วยคำว่า "มนสานาวิโล สิยา (พึงเป็นผู้มีใจไม่มัวหมอง)". จริงอย่างนั้น เสกขบุคคลเมื่อติด (ในอารมณ์ที่น่ายินดี) ย่อมก่อกิเลสที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น และทำกิเลสที่เกิดแล้วให้เจริญขึ้น. ส่วนเสกขบุคคลใดมีความดำริที่สะอาดหมดจด ไม่ติด (ในอารมณ์ที่น่ายินดี) ย่อมขวนขวาย. (ขวนขวายอย่างไร ? ). เสกขบุคคลนั้นยังกุศลฉันทะให้เกิดขึ้น ขวนขวาย เพียรพยายาม ประคองจิต รักษาจิต เพื่อไม้ให้บาปอกุศลธรรมที่ยังไม่เกิดนั้นเกิดขึ้น. เสกขบุคคลนั้นยังกุศลฉันทะให้เกิด ขวนขวาย เพียรพยายาม ประคองจิต รักษาจิต เพื่อให้กุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้วตั้งมั่น ไม่เสื่อมสูญ เพิ่มพูน แผ่ขยาย เจริญงอกงาม บริบูรณ์

[ 16 ] บาปอกุศลธรรมที่ยังไม่เกิด เป็นไฉน ? คือ กามวิตก, พยาบาทวิตก, วิหิงสาวิตก. เหล่านี้ชื่อว่าบาปอกุศลที่ยังไม่เกิด. บาปอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้วเป็นไฉน ? คือ อกุศลมูลทั้งหลายที่เป็นอนุสัย. เหล่านี้ชื่อว่าบาปอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว. กุศลธรรมที่ยังไม่เกิด เป็นไฉน ? คือ อินทรีย์ทั้งหลายมีสัทธาเป็นต้น ของโสดาบันบุคคล. เหล่านี้ชื่อว่ากุศลธรรมที่ยังไม่เกิด. กุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว เป็นไฉน ? คือ มรรคอินทรีย์ทั้งหลายของบุคคลผู้ตั้งอยู่ในโสดาปัตติมรรค ที่ปฏิบัติเพื่อให้แจ้งประจักษ์โสดาปัตติผล. เหล่านี้ชื่อว่ากุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว.

ในบรรดาอินทรีย์ที่ป้องกันกามวิตก ชื่อว่าสตินทรีย์. อินทรีย์ที่ป้องกันพยาบาทวิตก ชื่อว่า สมาธินทรีย์. อินทรีย์ที่ป้องกันวิหิงสาวิตก ชื่อว่า วิริยินทรีย์. อินทรีย์ที่ละทำให้หาย ทำให้สิ้น ทำให้ไม่เกิดอีก ทำให้ตั้งอยู่ไม่ได้ ซึ่งบาปอกุศลธรรมทั้งหลาย ชื่อว่า ปัญญินทรีย์. ความเชื่อ ความเลื่อมใส ในอินทรีย์ทั้ง 4 เหล่านี้ ชื่อว่า สัทธินทรีย์

ในบรรดาอินทรีย์เหล่านนั้น พึงทราบ (จดจำ) สัทธินทรีย์ได้ในที่ไหน ? ในเหตุแห่งการถึงกระแส คือ กุศล. พึงทราบวิริยินทรีย์ได้ในที่ไหน ? ในสัมมัปปธาน 4. พึงทราบสตินทรีย์ได้ในที่ไหน ? ในสติปัฏฐาน 4. พึงทราบสมาธินทรีย์ได้ในที่ไหน ? ในฌาน 4. พึงทราบปัญญินทรีย์ได้ในที่ไหน ? ในอริยสัจ 4. เสกขบุคคลผู้ไม่ประมาทในกุศลธรรมทั้งปวงอย่างนี้ อันพระผู้พระภาคตรัสแล้ว โดยความเป็นผู้ไม่มีใจมัวมอง เพราะฉะนั้นพระองค์จึงตรัสว่า "มนสา นาวิโล สิยา (พึงเป็นผู้มีใจไม่มัวหมอง)"

[ 17 ] ในคำว่า "กุสโล สพฺพธมฺมานํ (อเสกขบุคคลเป็นผู้ฉลาดในธรรมทั้งปวง)" นี้ชื่อว่า โลก มี 3 อย่าง คือ กิเลสโลก, ภวโลก และ อินทรีย์โลก. ในบรรดาโลก 3 อย่างนั้น ภวโลกเกิดขึ้นมาด้วยกิเลสโลก. บุคคลผู้ตั้งอยู่ในมหัคคตธรรมนั้นย่อมยังอินทรีย์ มีสัทธา เป็นต้นให้เกิดขึ้น. เมื่อผู้นั้นเจริญอินทรีย์ มี สัทธา เป็นต้นแล้ว ย่อมมีการกำหนดรู้ธรรมที่ควรรู้. ปริญญา (การกำหนดรู้) นั้น ควรพิจารณาโดย 2 ประการ คือ ทัสสนปริญญา (ญาตปริญญา) และ ภาวนาปริญญา (ตีรณปริญญา). ขยายความว่าในเวลาที่เสกขบุคคลกำหนดธรรมที่ควรรู้นั้น ธรรมที่ควรรู้ก็เป็นอันกำหนดรู้แล้วด้วยสัญญามนสิการ อันเป็นไปพร้อมด้วยความเบื่อหน่าย. เสกขบุคคลนั้นย่อมได้รับวิปัสสนาธรรม 2 อย่าง ที่ถึงความฉลาด ซึ่งเป็นทัสสนโกสัลละ กล่าวคือ ปฐมมรรคญาณ และเป็นภาวนาโกสัลละ กล่าวคือ มรรคญาณเบื้องบน.

พึงทราบว่าญาณนั้นมี 5 ประการ คือ อภิญญา ปริญญา ปหาน ภาวนา และ สัจฉิกิริยา. ในบรรดาญาณเหล่านั้น อภิญญาเป็นไฉน ? ญาณในการกำหนดรู้ลักษณะของธรรมทั้งหลาย คือ ธรรมปฏิสัมภิทา และ อรรถปฏิสัมภิทา ชื่อว่า อภิญญา.

ในบรรดาญาณเหล่านั้น ปริญญาเป็นไฉน ? การกำหนดรู้ว่า "นี้เป็นกุศล, นี้เป็นอกุศล, นี้เป็นโทษ, นี้ไม่มีโทษ, นี้เป็นธรรมดำที่เศร้าหมอง, นี้เป็นธรรมขาวสะอาดหมดจด, สิ่งนี้ควรเสพ, สิ่งนี้ไม่ควรเสพ, ธรรมเหล่านี้ที่บุคคลถือเอาโดยลักษณะอย่างนี้ (มี อนิจจะ เป็นต้น) แล้วทำให้เกิดผล (มี อุทยัพพยะ เป็นต้น) นี้การรู้สัจจะทั้งหลายนี้ แห่งอุทยัพพยะเป็นต้นเหล่านั้น ซึ่งบุคคลถือเอาอย่างนี้เป็นผล" แห่งบุคคลผู้รู้อย่างนี้แล้วดำรงอยู่ นี้ชื่อว่า ปริญญา.

ธรรม 3 อย่าง คือ ธรรมอันควรละ ธรรมอันควรเจริญ และ ธรรมอันควรทำให้แจ้งประจักษ์ ย่อมเหลือแก่บุคคลที่กำหนดรู้อย่างนี้แล้วดำรงอยู่. ในบรรดาธรรม 3 ประการเหล่านั้น ธรรมที่ควรละเป็นไฉน ? คือ อกุศล. ในบรรดาธรรม 3 ประการเหล่านั้น ธรรมที่ควรเจริญเป็นไฉน ? คือ กุศล. ในบรรดาธรรม 3 ประการเหล่านั้น ธรรมอันควรทำให้แจ้งประจักษ์เป็นไฉน ? คือ นิพพานอันเป็นอสังขตธรรม. บุคคลที่รู้อย่างนี้ ท่านเรียกว่า ผู้ฉลาดในอรรถ ผู้ฉลาดในบาลี ผู้ฉลาดในความเป็นคนดี ผู้ฉลาดในความเป็นอรหัตตผล ผู้ฉลาดในความเจริญ ผู้ฉลาดในความเสื่อม ผู้ฉลาดในฐานุปปัตติเหตุ (เหตุที่เกิดขึ้นโดยฐานะอันสมควร) ผู้สมบูรณ์ด้วยความเป็นผู้ฉลาดอันประเสริฐ เพราะฉะนั้นพระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า "กุสโล สพฺพธมฺมานํ (อเสกขบุคคลเป็นผู้ฉลาดในธรรมทั้งปวง)" เป็นต้น

ส่วนคำว่า "สโต ภิกฺขุ ปริพฺพเช (มีสติสมบูรณ์ พึงเป็นผู้ถึงภาวะอันประเสริฐดำรงอยู่)" ภิกษุนั้นพึงเป็นผู้มีสติสัมปชัญญะอยู่ ในเวลาก้าวไปข้างหน้า ถอยกลับข้างหลัง แลดู เหลียวดู คู้ เหยียด ครองสังฆาฏิบาตรและจีวร ฉัน ดื่ม ขบเคี้ยว ลิ้มรส ถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ เดิน ยืน นอน ตื่น พูด อยู่นิ่ง ๆ. พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตข้อปฏิบัติ 2 อย่างนี้ คือ ข้อปฏิบัติอันหนึ่ง สำหรับบุคคลผู้หมดจดแล้ว ข้อปฏิบัติสำหรับบุคคลที่กำหลังหมดจดอยู่. บุคคลเหล่าไหนชื่อว่าหมดจดแล้ว คือ พระอรหันต์ทั้งหลาย. บุคคลเหล่าไหนชื่อว่ากำลังหมดจด คือ พระเสกขะทั้งหลาย. แท้จริงอินทรีย์ทั้งหลายของพระอรหันต์กระทำกิจเสร็จแล้ว. ธรรมที่ควรรู้มี 4 ประการ โดยอภิสมัย คือ การกำหนดรู้ทุกขสัจจะ อภิสมัย คือ การละสมุทัยสัจจะ อภิสมัย คือ การเจริญมรรคสัจจะ และ อภิสมัย คือ การทำให้แจ้งประจักษ์นิโรธสัจจะ บุคคลที่รู้สัจจะที่ควรรู้ 4 อย่างเช่นนี้ ท่านเรียกว่าเป็นผู้มีสติก้าวไปข้างหน้า เป็นผู้มีสติถอยกลับหลัง เพราะสิ้นราคะ สิ้นโทสะ สิ้นโมหะ เพราะฉะนั้นพระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า "สโต ภิกฺขุ ปริพฺพเช (มีสติสมบูรณ์ พึงเป็นผู้ถึงภาวะอันประเสริฐดำรงอยู่)". เพราะฉะนั้นพระผู้มีพระภาคจึงตรัสตอบว่า

(ดูก่อนอชิตะ) เสกขบุคคลไม่ควรติดในวัตถุกามทั้งหลาย, ควรเป็นผู้มีใจไม่มัวหมอง, อเสกขบุคคลฉลาดในธรรมทั้งปวง มีสติสมบูรณ์ พึงเป็นผู้ถึงภาวะอันประเสริฐดำรงอยู่ 1

พึงปุจฉาอย่างนี้ พึงวิสัชนาอย่างนี้ พึงนำมาซึ่งสุตตันตเทศนาอื่นอันสมควร แก่สังวัณเณตัพพสูตร โดยอรรถและศัพท์. จริงอย่างนั้นศัพท์ที่ปราศจากอรรถ เป็นถ้อยคำที่ไม่มีประโยชน์ แม้อรรถของบทวากยะที่ตั้งไว้ไม่ดีก็รู้ได้ยาก2

1. ขุ. สุ. 25/1046/532, ขุ. จูฬ. 30/8/38 2. องฺ. ทุก 20/20/58

เพราะฉะนั้นพุทธบริษัทจะต้องสาธยายสูตรให้สมบูรณ์ด้วยอรรถะ ด้วยคำที่ตรงกับสภาวะ และควรวิจัยแยกแยะสูตร. สูตรนี้คือสูตรอะไร ? ควรแยกแยะอย่างนี้ คือ สูตรที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้เอง, สูตรที่สาวกทั้งหลายกล่าวไว้, สูตรที่มีอรรถอันรู้ได้โดยตรง, สูตรที่มีอรรถอันนำคำอื่นมาอธิบายแล้วจึงรู้ได้, สูตรที่เป็นส่วนสังกิเลส, สูตรที่เป็นส่วนวาสนา, สูตรที่เป็นส่วนนิพเพธะ, สูตรที่เป็นส่วนอเสกขะ. พึงตรวจดูสัจจะทั้งหลายของสูตรนี้ในที่ไหน ? พึงตรวจดูในเบื้องต้น ท่ามกลาง และที่สุด 1). พึงแยกแยะวิจัยสูตรดังกล่าวมานั้นแหละ เพราะฉะนั้น พระมหากัจจายนเถระจึงกล่าวว่า “ยํ ปุจฺฉิตญฺจ วิสฺสชฺชิตญฺจ, สุตฺตสฺส ยา จ อนุคีติ (การวิจัยคำถามก็ดี การวิจัยคำตอบก็ดี การวิจัยการกล่าวโดยสมควรกับคำถามของสูตรก็ดี)”

วิจยหาระ ท่านยกจากพระบาลีมาประกอบแล้ว 2)

[ 18 ] ในบรรดาหาระเหล่านั้น ยุตติหาระเป็นไฉน ? คาถาว่า "สพฺเพสํ หารานํ (หาระทั้งปวง)" เป็นต้นนั้น ชื่อว่า ยุตติหาระ. ในยุตติหาระนี้ท่านประกอบอะไร ? ประกอบดังนี้ คือ มหาปเทส (หลักการกล่าวอ้างใหญ่ของธรรม) มี 4 คือ พุทธาปเทส (กล่าวอ้างพระพุทธเจ้า) สังฆปเทส (กล่าวอ้างพระสงฆ์) สัมพหุลัตเถราปเทป (กล่าวอ้างพระเถระจำนวนมาก) เอกัตเถราปเทป (กล่าวอ้างพระเถระรูปเดียว).3 4 อย่างเหล่านี้ ชื่อว่า มหาปเทส. อรรถบทและพยัญชนะบทเหล่านั้น ท่านจัดเข้าในสูตรแสดงไว้ในวินัย ใส่ไว้ในธรรมดา

3 ที. มหา. 10/187/109, องฺ. จตุกฺก. 21/108/191

จัดลงในสูตรไหน ? ในอริยสัจ 4. แสดงในวินัยไหน ? ในราควินัย (วินัยเป็นเหตุกำจัดราคะ) โทสวินัย (วินัยเป็นเหตุกำจัดโทสะ) โมหวินัย (วินัยเป็นเหตุกำจัดโมหะ). ใส่ไว้ในธรรมดาไหน ? ในปฏิจจสมุปบาท. ท่านจัดลงในอริยสัจ 4 ย่อมแสดงในกิเลสวินัย (วินัยเป็นเหตุกำจัดกิเลส มีราคะเป็นต้น) ย่อมไม่ทำให้ขัดแย้งกับธรรมดา เมื่อเป็นเช่นนี้ ย่อมไม่ทำให้อาสวะ (มีกามาสวะเป็นต้นเกิดขึ้น) อรรถใด ๆ บาลีใด ๆ ย่อมควรกับมหาปเทส 4 ย่อมควรด้วยเหตุใด ๆ ย่อมควรด้วยประการใด ๆ ควรถือเอาอรรถและบาลีนั้น ๆ

[ 19 ] ผู้ถูกกามปัญหาควรประมวล ควรเลือกเฟ้นโดยบทว่า ที่เป็นปัญหามีกี่บท. ถ้าบททั้งปวงกล่าวอรรถ (ที่ประสงค์) อันเดียวก็เป็นปัญหาข้อเดียว ถ้า 4 บท กล่าวอรรถ (ที่ประสงค์) อันเดียวก็เป็นปัญหาข้อเดียว ถ้า 3 บทหลัง กล่าวอรรถ (ที่ประสงค์) อันเดียวก็เป็นปัญหาข้อเดียว ถ้า 2 บท กล่าวอรรถ (ที่ประสงค์) อันเดียวก็เป็นปัญหาข้อเดียว. ถ้าบทเดียวกล่าวอรรถ (ที่ประสงค์) อันเดียวก็เป็นปัญหาข้อเดียว. (เมื่อเป็นเช่นนี้ บทนั้นก็เป็นปัญหาข้อเดียว) ผู้พิจารณาปัญหานั้นควรทราบว่า "ธรรมเหล่านี้มรอรรถต่างกัน มีศัพท์ต่างกัน หรือ อรรถอันเดียวของธรรมเหล่านี้มีศัพท์ต่างกันเท่านั้น" เหมือนอะไร ? เหมือนที่เทวดานั้นทูลถามปัญหาพระผู้มีพระภาคว่า

สัตว์โลกถูกอะไรกำจัด ถูกอะไรแวดล้อม ถูกลูกศรอะไรเสียบแทง ถูกอะไรทำให้เร่าร้อนทุกเมื่อ 1

4 บทเหล่านี้เป็นคำถาม อรรถที่ถูกถามด้วย 4 ประโยคเหล่านั้น เป็นปัญหา 3 ข้อ. รู้ได้อย่างไร ? รู้ได้เพราะพระผู้มีพระภาคตรัสตอบเทวดาว่า

สัตว์โลกถูกความตายกำจัด ถูกชราแวดล้อม ถูกลูกศร คือตัณหาเสียบแทง ถูกตัณหาทำให้เร่าร้อนทุกเมื่อ2

1 สํ. ส. 15/66/45 2. สํ. ส. 15/66/45, ขุ. เถร. 26/448/337

[ 20 ] ในคาถาวิสัชนานั้น 2 อย่างเหล่านี้คือ ชราและมรณะ มีลักษณะเป็นสังขตะแห่งปัญจขันธ์ที่ถูกปรุงแต่ง. ชรานี้ได้แก่ความเป็นอย่างอื่น (ความเปลี่ยนแปลง) แห่งการตั้งอยู่. มรณะ ได้แก่ความเสื่อมสิ้น. ในคำข้างต้นนั้น ชรากับมรณะมีความแตกต่างกันโดยอรรถ. เพราะเหตุไร ? เพราะแม้สัตว์ทั้งหลายที่อยู่ในครรภ์ก็ย่อมตายได้ ซึ่งสัตว์เหล่านั้นยังไม่ทันแก่. เทวดาทั้งหลายก็ยังมีความตาย ซึ่งสรีระของเทวดาเหล่านั้นย่อมไม่แก่. บุคคลอาจจะป้องกันความแก่ได้แต่ไม่สามารถป้องกันความตาย ยกเว้นผู้มีฤทธิ์ทั้งหลาย สามารถป้องกันความตายด้วยฤทธิ์ได้. ส่วนตัณหาที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ในคำว่า "ตณฺหาสลฺเลน โอติณฺโณ (ถูกลูกศร คือตัณหาเสียบแทง)" นั้น พระอรหันต์ทั้งหลายผู้ปราศจากตัณหาแม้จะแก่แม้จะตายก็ย่อมปรากฏ. ถ้าว่าตัณหาเหมือนกับชราและมรณะไซร้ เมื่อเป็นเช่นนี้สัตว์ทั้งปวงที่ตั้งอยู่ในความเป็นหนุ่มก็พึงปราศจากตัณหา. ตัณหาเป็นเหตุแห่งทุกข์ ฉันใด แม้ชราและมรณะก็เป็นเหตุแห่งทุกข์ ฉันนั้น. ตัณหาไม่เป็นเหตุแห่งทุกข์ ชราและมรณะก็ไม่เป็นเหตุแห่งทุกข์เหมือนกัน. (ความจริง) ตัณหาเป็นเหตุแห่งทุกข์เท่านั้น. ตัณหาพึงทำลายด้วยมรรค ฉันใด แม้ชราและมรณะก็พึงทำลายด้วยมรรค ฉันนั้น. ควรหาความเป็นอย่างอื่นด้วยเหตุอันสมควรอื่น ๆ โดยยุตติความสมควร (ดังที่กล่าวแล้ว) นี้. ถ้าว่าเมื่อยกขึ้นสู่ยุตติ ย่อมแสดงความเป็นอย่างอื่นโดยอรรถ. ควรหาความเป็นอย่างอื่นโดยศัพท์. ธรรมเหล่านี้ที่กล่าวไว้ว่า "สลฺโล" ก็ดี "ธูปายนํ" ก็ดี มีความเป็นอันเดียวกันโดยอรรถ. แท้จริงไม่สมควรที่อิจฉากับตัณหาจะต่างกันโดยอรรถ. เมื่อความประสงค์ด้วยตัณหาไม่เต็มอยู่ ความโกรธและความผูกโกรธย่อมเกิดขึ้นในอาฆาตวัตถุ 9 อย่าง. ความต่างกันโดยอรรถแห่ง ชรา มรณะ และ ตัณหา ย่อมควรด้วยยุตติความสมควรเช่นนี้.

พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกคำนี้ด้วยชื่อ 2 อย่าง ว่า "อิจฉา" บ้าง "ตัณหา" บ้าง ด้วยอำนาจแห่งอารมณ์ของวัตถุ มี รูปารมณ์เป็นต้นภายนอก. แท้จริงตัณหาทั้งปวงมีลักษณะเหมือนกันด้วยลักษณะการเหนี่ยวอารมณ์มายึดไว้ เปรียบเหมือนไฟทั้งปวงมีลักษณะเหมือนกันด้วยลักษณะคือความร้อน แม้จะเหมือนกันเช่นนั้นก็ยังได้ชื่ออื่น ๆ ว่า ไฟไหม้ บ้าง ไฟหญ้า บ้าง ไฟสะเก็ดไม้ บ้าง ไฟโคมัย บ้าง ไฟแกลบ บ้าง ไฟขยะ บ้าง ด้วยอำนาจแห่งเชื้อ. แท้จริงไฟทั้งปวงมีลักษณะเป็นความร้อนเท่านั้น ตัณหาทั้งปวงก็เช่นเดียวกัน มีลักษณะเหมือนกันด้วยลักษณะคือการเหนี่ยวอารมณ์มายึดไว้ แต่ท่านเรียกด้วยชื่ออื่น ๆ ว่า อิจฉา (ธรรมชาติที่ต้องการอารมณ์) บ้าง ตัณหา (ธรรมชาติที่ติดอยู่ในอารมณ์) บ้าง สัลละ (สิ่งที่เสียบแทง) บ้าง ธูปยาน (สิ่งที่ทำให้เร่าร้อน) บ้าง สริตา (สิ่งที่ทำให้แล่นไป) บ้าง วิสัตติกา (สิ่งที่ซ่านไป) บ้าง สิเนหะ (ความรัก) บ้าง กิลมถะ (สิ่งที่ทำให้ลำบาก) บ้าง ลตา (สิ่งที่รัดรึงเหมือนเถาวัลย์) บ้าง มัญญนา (ธรรมชาติที่นึกว่าสมบัติของเรา) บ้าง พันธะ (สิ่งที่ผูกไว้) บ้าง อาสา (ธรรมชาติที่ปรารถนา) บ้าง ปิปาสา (ธรรมชาติที่ต้องการดื่มรสในอารมณ์) บ้าง. ตัณหาทั้งปวงมีลักษณะเหมือนกันด้วยลักษณะเหนี่ยวอารมณ์มายึดไว้อย่างนี้ สมดังคำที่ท่านกล่าวไว้ในเววจนหารวิภังค์ว่า

ความหวัง ความปรารถนา ความยินดียิ่งย่อมมี ธรรมชาติที่ไหลไปดุจแม่น้ำ ธรรมชาติที่เป็นที่ตั้งแห่งธาตุเป็นอันมากก็ดี สิ่งที่เป็นที่เกิดคือโมหมูลก็ดี สิ่งที่กระซิบก็ดี ย่อมมี เราทำตัณหาทั้งปวงพร้อมทั้งรากเหง้าให้สิ้นสุดแล้ว 1

คำว่า "อาสา ปิหา (ความหวัง ความปรารถนา)" เป็นต้นนี้ เป็นคำไวพจน์ของตัณหา สมดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า 2 ดูก่อนติสสะ สำหรับผู้ที่ยังไม่ปราศจากราคะ ยังไม่ปราศจากฉันทะ ยังไม่ปราศจากความรัก ยังไม่ปราศจากความกระหาย ยังไม่ปราศจากความเร่าร้อน ในรูปขันธ์ (ใช้ชื่อเหล่านี้) เหมือนเช่นนั้น สำหรับผู้ที่ยังไม่ปราศจากราคะ ยังไม่ปราศจากฉันทะ ยังไม่ปราศจากความรัก ยังไม่ปราศจากความกระหาย ยังไม่ปราศจากความเร่าร้อน ในเวทนาขันธ์ ในสัญญาขันธ์ ในสังขารขันธ์ ในวิญญาณขันธ์ (ใช้ชื่อเหล่านี้). สูตรทั้งปวงควรขยายความ คำทั้งปวงที่กล่าวไว้ในสูตรนี้เป็นคำไวพจน์ของตัณหา. คำอันเรากล่าวไว้เช่นนี้ ย่อมสมควร

[ 21 ] ความเกิดขึ้นแห่งทุกข์ทั้งปวง มีกามตัณหาเป็นปัจจัยและมีสังขารเป็นเหตุ ความเป็นอย่างนี้ย่อมควร. ส่วนความเกิดขึ้นแห่งนิพพานทั้งปวง มีวัตถุกามที่แวดล้อมด้วยกามตัณหาเป็นเหตุ ย่อมไม่สมควร ควรหาด้วยเหตุอื่น ๆ ด้วยยุตติดังที่กล่าวไว้แล้วอย่างนี้

สมดังที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงอสุภะแก่บุคคลผู้เป็นราคจริต เทศนานั้นย่อมสมควร. ทรงแสดงเมตตาแก่บุคคลผู้เป็นโทสะจริต ทรงแสดงปฏิจจสมุปบาทแก่บุคคลผู้เป็นโมหะจริต. ถ้าพระผู้มีพระภาคพึงแสดงเมตตาเจโตวิมุติ แก่บุคคลผู้เป็นราคะจริตหรือพึงแสดงสุขาปฏิปทา ทันธาภิญญา หรือ สุขาปฏิปทา ขิปปาภิญญา หรือ ปหาน ที่มีวิปัสสนานำหน้า เทศนานั้นย่อมไม่สมควร (เพราะไม่เป็นสัปปายะ) การคล้อยตามแห่งการละราคะ การคล้อยตามแห่งการละโทสะ การคล้อยตามแห่งการละโมละ ทั้งสิ้นย่อมมีโดยนัยดังกล่าวมานี้. ควรพิจารณาคำทั้งปวงนั้น ด้วยวิจยหาระแล้วประกอบด้วยยุตติหาระ. ยุตติหาระย่อมมีประมาณเท่ากับอารมณ์ของปัญญา

เทศนาว่า "พยายาทครอบงำจิตแล้วจะตั้งอยู่แก่ผู้มีปกติอยู่ด้วยเมตตา" ย่อมไม่สมควร. เทศนาว่า "พยาบาทย่อมถึงซึ่งการหายไป ซึ่งการตั้งอยู่ไม่ได้" ย่อมสมควร. เทศนาว่า "การเบียดเบียนครอบงำจิตแล้วจักตั้งอยู่แก่ผู้มีปกติอยู่ด้วยกรุณา" ย่อมไม่สมควร. เทศนาว่า "การเบียดเบียนย่อมถึงซึ่งการหายไป ซึ่งการตั้งอยู่ไม่ได้" ย่อมสมควร. เทศนาว่า "ความไม่ยินดีครอบงำจิตแล้วจักตั้งอยู่แก่ผู้มีปกติอยู่ด้วยมุทิตา" ย่อมไม่สมควร. เทศนาว่า "ความไม่ยินดีย่อมถึงซึ่งการหายไป ซึ่งการตั้งอยู่ไม่ได้" ย่อมสมควร. เทศนาว่า "ราคะครอบงำจิตแล้วจักตั้งอยู่แก่ผู้มีปกติอยู่ด้วยอุเบกขา" ย่อมไม่สมควร. เทศนาว่า "ราคะย่อมถึงซึ่งการหายไป ซึ่งการตั้งอยู่ไม่ได้" ย่อมสมควร. เทศนาว่า "วิญญาณอันมีการเป็นไปตามซึ่งสังขารนิมิต ย่อมเป็นไปด้วยอนิจจนิมิตเป็นต้นนั้น ๆ แก่ผู้มีปกติอยู่ด้วยสมาบัติที่ได้ด้วยการเจริญอนิจจานุปัสสนา" ย่อมไม่สมควร. เทศนาว่า "สังขารมีนิจจนิมิตเป็นต้น ย่อมถึงซึ่งการหายไป ย่อมถึงซึ่งการตั้งอยู่ไม่ได้" ย่อมสมควร. เราย่อมปราศจากการกำหนดว่า "เป็นเรา", เราไม่แลดูว่า "อุปาทานขันธ์นี้เป็นเรา" (เมื่อไม่แลดูอย่างนั้น) เทศนาว่า "ลูกศรคือความสงสัยกล่าวคือวิจิกิจฉาว่า "เราเป็นอะไร เราเป็นอย่างไร" ครอบงำจิตแล้วจักตั้งอยู่แก่เรา" ย่อมไม่สมควร.

เทศนาอื่นเป็นไฉน ? เทศนาว่า "กามราคะและพยาบาทย่อมเป็นไปเพื่อทุติยฌานอันพิเศษ แก่ผู้เข้าปฐมฌาน" ย่อมไม่สมควร. เทศนาว่า "ย่อมเป็นไปเพื่อความเสื่อม" ย่อมสมควร. อีกอย่างหนึ่ง เทศนาว่า "สัญญามนสิการอันเป็นไปพร้อมด้วยวิตกย่อมเป็นไปเพื่อความเสื่อม" ย่อมไม่สมควร. เทศนาว่า "ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์แก่ทุติยฌานอันพิเศษ" ย่อมสมควร. เทศนาว่า "สัญญามนสิการอันเป็นไปพร้อมด้วยวิตกและวิจารย่อมเป็นไป เพื่อตติยฌานอันพิเศษ แก่ผู้เข้าทุติยฌาน" ย่อมไม่สมควร. เทศนาว่า "ย่อมเป็นไปเพื่อความเสื่อม" ย่อมสมควร. อีกอย่างหนึ่งเทศนาว่า "สัญญามนสิการอันเป็นไปพร้อมด้วยอุเบกขาและสุข ย่อมเป็นไปได้เพื่อความเสื่อม" ย่อมสมควร. เทศนาว่า "ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์แก่ตติยฌานอันพิเศษ" ย่อมสมควร เทศนาว่า "สัญญามนสิกาการอันเป็นไปพร้อมด้วยปิติและสุข ย่อมเป็นไปเพื่อจตุตถฌานอันพิเศษ แก่ผู้เข้าตติฌาน" ย่อมไม่สมควร. เทศนาว่า "ย่อมเป็นไปเพื่อความเสื่อม" ย่อมสมควร. อีกอย่างหนึ่ง เทศนาว่า "สัญญามนิการอันเป็นไป พร้อมความหมดจดแห่งสติ อันอุเบกขาทำให้เกิดขึ้น ย่อมเป็นไปเพื่อความเสื่อม" ย่อมไม่สมควร. เทศนาว่า "ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์แก่จตุตถฌานอันพิเศษ" ย่อมสมควร เทศนาว่า "สัญญามนสิการอันเป็นไปพร้อมด้วยอุเบกขา ย่อมเป็นไปเพื่ออากาสานัฐจายตนฌานอันพิเศษ แก่ผู้เข้าจตุตถฌาน" ย่อมไม่สมควร. เทศนาว่า " ย่อมเป็นไปเพื่อความเสื่อม" ย่อมสมควร อีกอย่างหนึ่ง เทศนาว่า "สัญญามนสิการอันเป็นไปพร้อมด้วยอากาสานัญจายตนฌาน" ย่อมสมควร

เทศนาว่า "สัญญามนสิการอันเป็นไปพร้อมด้วยรูปฌาน ย่อมเป็นไปเพื่อวิญญานัญจายตนฌานอันพิเศษ แก่ผู้เข้าอากาสานัญจายตนฌาน" ย่อมไม่สมควร. เทศนาว่า "ย่อมเป็นไปเพื่อความเสื่อม ย่อมสมควร. อีกอย่างหนึ่ง เทศนาว่า "สัญญามนสิการอันเป็นไปพร้อมด้วยวิญญานัญจายตนฌานย่อมเป็นไปเพื่อความเสื่อม" ย่อมไม่สมควร. เทศนาว่า "ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์แก่ทุติยอรูปฌานอันพิเศษ" ย่อมสมควร. เทศนาว่า "สัญญามนสิการอันเป็นไปพร้อมด้วย อากาสานัญจายตนฌานย่อมไปเพื่ออากิญจัญญายตนฌานอันพิเศษ แก่ผู้เข้าวิญญานัญจายตนฌาน ย่อมไม่สมควร เทศนาว่า "ย่อมเป็นไปเพื่อความเสื่อม" ย่อมสมควร. อีกอย่างหนึ่ง เทศนาว่า "สัญญามนสิการอันเป็นไปพร้อมด้วย อากิญจัญญายตนฌาน ย่อมเป็นไปเพื่อความเสื่อม" ย่อมไม่สมควร. เทศนา "ย่อมไปเพื่อประโยชน์แก่ตติยอรูปฌานอันพิเศษ" ย่อมสมควร เทศนาว่า "สัญญามนสิการอันเป็นพร้อมด้วยวิญญานัญจายตนฌาน ย่อมเป็นไปเพื่อจตุตถอรูปฌานเป็นพิเศษ แก่ผู้เข้าอากิญจัญญายตนฌาน" ย่อมไม่สมควร. เทศนาว่า "ย่อมเป็นไปเพื่อความเสื่อม" ย่อมสมควร. อีกอย่างหนึ่ง เทศนาว่า "สัญญามนสิการอันเป็นไปพร้อมด้วยเนวสัญญานาสัญญายตนฌาน ย่อมเป็นไปเพื่อความเสื่อม" ย่อมไม่สมควาร. เทศนาว่า "ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์แก่จตุตถอรูปฌานอันพิเศษ" ย่อมสมควร. เทศนาว่า "จิตตุปบาทอันไม่ได้กำหนดสิ่งที่ทำสัญญากิจที่ปรากฏ ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์แก่สัญญาเวทยิตนิโรธอันพิเศษ แก่ผู้เข้าเนวสัญญานาสัญญายตนฌาน" ย่อมไม่สมควร. เทศนาว่า "ย่อมเป็นไปเพื่อความเสื่อม" ย่อมสมควร. อีกอย่างหนึ่ง เทศนาว่า "สัญญามนสิการอันเป็นไปพร้อมด้วยสัญญาเวทยิตนิโรธ ย่อมเป็นไปเพื่อความเสื่อม" ย่อมไม่สมควร. เทศนาว่า "ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์แก่สัญญาเวทยิตนิโรธ" ย่อมสมควร เทศนาว่า "จิตที่อบรมในสมาบัติที่กล่าวแล้วด้วยความเป็นวสี ย่อมไม่อดกลั้นซึ่งอภิญญาภินิหาร" ย่อมไม่สมควร. เทศนาว่า "จิตที่อบรมในสมาบัติที่กล่าวแล้วด้วยความเป็นวสี ย่อมอดกลั้นซึ่งอภิญญาภินิหาร" ย่อมสมควร

ควรเลือกเฟ้นพระสูตร กล่าวคือพระไตรปิฏกอันมีองค์ 9 ด้วยวิจยหาระ โดยประการทั้งปวงตามธรรมตามวินัย ตามคำสั่งสอนของพระศาสดาอย่างนี้ แล้วพึงประกอบด้วยยุตติหาระ. เพราะฉะนั้นพระมหากัจจายนเถระจึงกล่าวว่า "สพฺเพสํ หารานํ, ยา ภูมิ โย จ โคจโร เตสํ (ศัพท์อันเป็นภูมิ และโคจรกล่าวคืออรรถของสูตรอันใดแห่งหาระทั้งปวง)" เป็นต้น

ยุตติหาระ ท่านยกจากพระบาลีมาประกอบแล้ว

[ 22 ] ในบรรดาหาระเหล่านั้น ปทัฏฐานหาระเป็นไฉน ? คาถาว่า "ธมฺมํ เทเสติ ชิโน (การพิจารณาเหตุใกล้ของธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง)" เป็นต้นนั้น ชื่อว่า ปทัฏฐานหาระ. ปทัฏฐานหาระแสดงอะไร ? แสดงเนื้อความเหล่านี้ คือ อวิชชา มีลักษณะการไม่แทงตลอดสภาพที่แท้จริงของธรรมทั้งปวง. วิปัลลาส 4 เป็นปทัฏฐาน (เหตุใกล้) ของอวิชชานั้น. ตัณหา มีลักษณะการเหนี่ยวอารมณ์มายึดไว้. สภาพที่น่ารัก สภาพที่น่ายินดี เป็นปทัฏฐาน (เหตุใกล้) ของตัณหานั้น. โลภะ มีลักษณะปรารถนาอารมณ์. อทินนาทานเจตนา เป็นปทัฏฐานของโลภะนั้น. สุภสัญญา (สัญญาวิปัลลาสที่กำหนดว่างาม ในสิ่งที่ไม่งาม) มีลักษณะการถือเอา สี สัณฐาน และ อิตถีนิมิต ปุริสนิมิต. การไม่สำรวมอินทรีย์เป็นปทัฏฐานของสุภสัญญานั้น. สุขสัญญา (สัญญาวิปัลลาสที่กำหนดว่า สุขในสื่งที่เป็นทุกข์) มีลักษณะการติดอารมณ์ด้วยผัสสะอันเป็นอารมณ์ของอาสวะ. อัสสาทะ (ตัณหาอันเป็นเหตุยินดี) เป็นปทัฏฐานของสุขสัญญานั้น. นิจจสัญญา (สัญญาวิปัลลาสที่กำหนดว่าเที่ยง ในสิ่งที่ไม่เที่ยง) มีลักษณะการไม่เห็นธรรมทั้งหลาย ที่มีสังขตลักษณะ. วิญญาณ เป็นปทัฏฐานของอนิจจสัญญานั้น. อัตตสัญญา (สัญญาวิปัลลาสที่กำหนดว่าเป็นอัตตา ในสิ่งที่เป็นอนัตตา) มีลักษณะการไม่เห็นอนิจจสัญญา และ ทุกขสัญญา. นามกาย เป็นปทัฏฐานของอัตตสัญญานั้น. วิชชา มีลักษณะการแทงตลอดธรรมทั้งปวง. ธรรมที่ควรรู้ทั้งปวงเป็นปทัฏฐานของวิชชานั้น. สมถะ (สมาธิ) มีลักษณะทำลายอุจธัจจะที่ทำให้จิตฟุ้งซ่าน. อสุภอารมณ์ เป็นปทัฏฐานของสมถะนั้น. อโลภะ มีลักษณะการกำจัดความอยากได้. เจตนาที่เป็นเหตุงดเว้นจากอทินนาทาน เป็นปทัฏฐานของอโลภะนั้น. อโทสะ มีลักษณะการไม่เบียดเบียน. เจตนาที่เป็นเหตุงดเว้นจากปาณาติบาต เป็นปทัฏฐานของอโทสะนั้น. อโมหะ มีลักษณะการแทงตลอดสภาพของอารมณ์. สัมมาปฏิบัติ เป็นปทัฏฐานของอโมหะนั้น อสุภสัญญา มีลักษณะการถือเอาวินีลกะ วิปุพพกะ อสุภะ. นิพพิทา (ปัญญาที่เกิดขึ้นเพราะความเบื่อหน่าย) เป็นปทัฏฐานของอสุภสัญญานั้น. ทุกขสัญญา มีลักษณะการกำหนดรู้ผัสสะ อันเป็นอารมณ์ของอาสวะ. เวททนา เป็นปทัฏฐานของทุกขสัญญานั้น. อนิจจสัญญา มีลักษณะการเห็นธรรมทั้งหลาย อันมีสังขตลักษณะ. ความเกิดและความดับของสังขตธรรมทั้งหลาย เป็นปทัฏฐานของอนิจจสัญญานั้น. อนัตตสัญญา มีลักษณะการใส่ใจสภาพธรรมทั้งปวง. การจำหมายว่า เป็นเพียงสภาวธรรมเท่านั้น เป็นปทัฏฐานของอนัตตสัญญานั้น

กามคุณ 5 เป็นปทัฏฐานของกามราคะ. รูปอินทรีย์ 5 เป็นปทัฏฐานของรูปราคะ. อายตนะที่ 6 (มนายตนะ) เป็นปทัฏฐานของภวราคะ (ราคะที่ติดอยู่ในภพ) ความยินดีภพที่ตนเกิด เป็นปทัฏฐานของอุปาทานขันธ์ 5. ปุพเพนิวาสานุสสติ เป็นปทัฏฐานของญาณทัสสนะ. สัทธา มีลักษณะความเสื่อมใส และ เป็นปัจจุปัฏฐาน (อาการที่ปรากฏ) ของความผ่องใส. สัทธา มีลักษณะความเชื่อ. ความเลื่อมใสอย่างยิ่ง เป็นปทัฏฐานของความเชื่อนั้น. ปสาทะ มีลักษณะความไม่ขุ่นมัว. สัทธา เป็นปทัฏฐานของปสาทะนั้น. วิริยะ มีลักษณะความพยายาม. สัมมัปปธาน เป็นปทัฏฐานของวิริยะนั้น. สติ มีลักษณะสนใจในอารมณ์. สติปัฏฐาน มีกายเป็นต้น เป็นปทัฏฐานของสตินั้น. สมาธิ มีลักษณะการถือเอาอารมณ์อันเดียวแล้วไม่ซัดส่าย. ฌานทั้งหลาย เป็นปทัฏฐานของสมาธินั้น. ปัญญา มีลักษณะการรู้โดยประการต่าง ๆ. สัจจะทั้งหลาย เป็นปทัฏฐานของปัญญานั้น

อีกนัยหนึ่ง อโยนิโสมนสิการ มีลักษณะการทำใจยินดี (ในธรรมที่เป็นสังโยชน์). อวิชชา เป็นปทัฏฐานของ อโยนิโสมนสิการนั้น. อวิชชา มีลักษณะหลงในสัจจะ 4. อวิชชานั้น เป็นปทัฏฐานของสังขารทั้งหลาย. สังขารทั้งหลาย มีลักษณะการทำให้ถึงภพใหม่ สังขารเหล่านั้น เป็นปทัฏฐานของวิญญาณ. วิญญาณ มีลักษณะการเกิดขึ้นโดยความเป็นมูลของ อุปปัตติภพ. นามรูป มีลักษณะการรวมนามกายและรูปกาย. นามรูปนั้นเป็นปทัฏฐานของ สฬายตนะ (อายตนะ 6). วิญญาณนั้น เป็นปทัฏฐานของ นามรูป. สฬายตนะ (อายตนะ 6) มีลักษณะเป็นสิ่งที่ถูกกำหนดของอินทรีย์ทั้งหลาย มีจักขุเป็นต้น. สฬายตนะนั้น เป็นปทัฏฐานของ ผัสสะ. ผัสสะ มีลักษณะเป็นที่ประชุมของ จักขุปสาท รูปารมณ์ และ จักขุวิญญาณ. ผัสสะนั้น เป็นปทัฏฐานของเวทนา. เวทนา มีลักษณะการเสวยอิฏฐารมณ์และอนิฏฐารมณ์. เวทนานั้น เป็นปทัฏฐานของตัณหา. ตัณหา มีลักษณะการเหนี่ยวอารมณ์มายึดไว้. ตัณหานั้น เป็นปทัฏฐานของ อุปาทาน. อุปาทาน ทำให้เกิด อุปปัตติขันธ์. อุปาทานนั้น เป็นปทัฏฐานของ ภพ. ภพ มีลักษณะการทำให้เกิดนามกายและรูปกาย. ภพนั้น เป็นปทัฏฐานของ ชาติ. ชาติ มีลักษณะความปรากฏแห่งขันธ์ในเบื้องแรก. ชาตินั้น เป็นปทัฏฐานของ ชรา. ชรา มีลักษณะความแก่แห่งอุปธิ คือ ขันธ์. ชรานั้น เป็นปทัฏฐานของมรณะ. มรณะ มีลักษณะการตัดชีวิตินทรีย์. มรณะนั้น เป็นปทัฏฐานของ โสกะ. โสกะ กระทำความเร่าร้อนเศร้าโศก. โสกะนั้น เป็นปทัฏฐานของ ปริเทวะ. ปริเทวะ กระทำความบ่นเพ้อคร่ำครวญ. ปริเทวะนั้น เป็นปทัฏฐานของ ทุกข์. ทุกข์ คือความบีบคั้นเบียดเบียนทางกาย. ทุกข์นั้น เป็นปทัฏฐานของ โทมนัส. โทมนัส คือความบีดคั้นเบียดเบียนทางใจ. โทสมัสนั้น เป็นปทัฏฐานของ อุปายาส. อุปายาส กระทำความเผาลน. อุปายาสนั้น เป็นปทัฏฐานของ ภพ. ภพนั้น เป็นปทัฏฐานของ วัฏสงสาร. มรรค มีลักษณะการนำออกจากวัฏสงสาร. มรรคนั้น เป็นปทัฏฐานของ นิพพาน

ความเป็นผู้รู้จักคบกัลยาณมิตร เป็นปทัฏฐานของงความเป็นผู้รู้จักเจริญภาวนา ที่ทำให้เกิดปิติในธรรม. ความเป็นผู้รู้จักเจริญภาวนาที่ทำให้ปิติในธรรม เป็นปทัฏฐานของความเป็นผู้รู้ประมาณแห่งกรรมฐาน. ความเป็นผู้รู้ประมาณแห่งกรรมฐาน เป็นปทัฏฐานของ ปุพเพกตปุญญตา (ความเป็นผู้มีบุญที่เคยทำไว้ในกาลก่อน). ปุพเพกตปุญญตา เป็นปทัฏฐานของ ปฏิรูปเทสวาสะ (การอยู่ในประเทศอันสมควร). ปฏิรูปเทสวาสะ เป็นปทัฏฐานของ สัปปุริสูปนิสสยะ (การคบสัตบุรุษ). สัปปุริสูปนิสสยะ เป็นปทัฏฐานของ อัตตสัมมาปณิธิ (การประพฤติตนด้วยดี). อัตตสัมมาปณิธิ เป็นปทัฏฐานของ ศีล. ศีล เป็นปทัฏฐานของ อวิปปฏิสาร (ความไม่ร้อนใจ). อวิปปฏิสาร เป็นปทัฏฐานของ ปาโมช. ปาโมช เป็นปทัฏฐานของ ปีติ. ปีติ เป็นปทัฏฐานของ ปัสสัทธิ (ความสงบกายและใจ). ปัสสัทธิ เป็นปทัฏฐานของ สุข. สุข เป็นปทัฏฐานของ สมาธิ. สมาธิ เป็นปทัฏฐานของ ยถาภูตญาณทัสสนะ. ยถาภูตญาณทัสสนะ เป็นปทัฏฐานของ นิพพิทา (ความเบื่อหน่าย). นิพพิทา เป็นปทัฏฐานของ วิราคะ (มรรค). วิราคะ เป็นปทัฏฐานของ วิมุตติ (ผล). วิมุตติ เป็นปทัฏฐานของ วิมุตติญาณทัสสนะ (ปัจจเวกขญญาณ). อุปนิสัย (เหตุที่มีกำลัง) ทั้งสิ้น ปัจจัย (เหตุที่เหลือ) ทั้งสิ้น ย่อมมีอย่างนี้. ทั้งหมดนั้นจัดเป็นปทัฏฐาน. เพราะฉะนั้นพระมหากัจจายนเถระ จึงกล่าวว่า "ธมฺมํ เทเสติ ชิโน (การพิจารณาเหตุใกล้ของธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง)" เป็นต้น

ปทัฏฐานหาระ ท่านยกจากพระบาลีมาประกอบแล้ว

[ 23 ] ในบรรดาหาระเหล่านั้น ลักขณหาระเป็นไฉน ? คาถาว่า "วุตฺตมฺหิ เอกธมฺเม (เมื่อท่านกล่าวธรรมอย่างหนึ่ง)" เป็นต้นนั้น ชื่อว่า ลักขณหาระ. ลักขณหาระกำหนดอะไร ? กำหนดดังนี้ คือ ธรรมเหล่าใดมีลักษณะเหมือนกัน เมื่อท่านกล่าวธรรมอย่างหนึ่งแห่งธรรมเหล่านั้น ธรรมที่เหลือก็เป็นอันท่านกล่าวแล้ว. สมดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า

ภิกษุทั้งหลาย จักษุเป็นสิ่งที่ไม่ตั้งมั่น มีขณะสั้น มีขณะน้อย มักเสื่อมเสีย เป็นศัตรู เป็นทุกข์ มีการเสียไป หวั่นไหว เหมือนผู้แสดง มีการปรุงแต่ง เป็นผู้ฆ่า อยู่ท่ามกลางศัตรู. เมื่อท่านกล่าวจักษุในสูตรนี้แล้ว ก็เป็นอันกล่าวอายตนะภายในที่เหลือด้วย. เพราะเหตุไร ? เพราะว่า อายตนะภายใน 6 ทั้งปวงมีลักษณะเหมือนกันโดยสภาพเป็นผู้ฆ่า. และสมดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า

ดูก่อนราธะ เธอจงเป็นผู้เพ่งเล็งในรูปขันธ์ที่เป็นอดีต. อย่ายินดีรูปขันธ์ที่เป็นอนาคต. จงปฏิบัติเพื่อความเบื่อหน่าย เพื่อความคลายกำหนัด เพื่อความดับ เพื่อการสละ เพื่อการพ้นรูปขันธ์ที่เป็นปัจจุบัน.1 เมื่อท่านกล่าวรูปขันธ์ในสูตรนี้แล้ว ก็เป็นอันกล่าวขันธ์ที่เหลือด้วย. เพราะเหตุไร ? เพราะว่าปัญจขันธ์ทั้งปวงท่านกล่าวว่า มีลักษณะเหมือนกันโดยสภาพความเป็นผู้ฆ่า ในยมโกวาทสูตร.2 และสมดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า

กายคตาสติ (สติที่ประกอบด้วยวิปัสสนาญาณ อันมีรูปกายเป็นอารมณ์) อันชนเหล่าใดเพียรพยายามดีแล้วเป็นนิจ ชนเหล่านั้นย่อมไม่เสพกิจที่ไม่ควรทำ เป็นผู้มีปกติกระทำอย่างต่อเนื่องในกิจที่ควรทำ (คือ การเจริญกรรมฐาน)3

1. สํ. ข. 17/9,79/16,71, สํ. สฬา. 18/10–12/5 2. สํ. ข. 17/85/87,92

3. ขุ. ธ. 25/293/67

เมื่อท่านกล่าว กายคตาสติ (สติที่ประกอบด้วยวิปัสสนาญาณ อันมีรูปกายเป็นอารมณ์) ในคาถานี้แล้ว เวทนาคตาสติ (สติที่ประกอบด้วยวิปัสสนาญาณ อันมีเวทนาเป็นอารมณ์) จิตตคตาสติ (สติที่ประกอบด้วยวิปัสสนาญาณ อันมีจิตเป็นอารมณ์) และ ธัมมคตาสติ (สติที่ประกอบด้วยวิปัสสนาญาณ อันมีธรรมเป็นอารมณ์) ก็เป็นอันท่านกล่าวแล้ว. เหมือนเช่นนั้น เมื่อท่านกล่าว "เห็นรูปายตนะอย่างใดอย่างหนึ่งก็ดี" ดังนี้แล้วรูปที่เหลือซึ่งจัดอยู่ในธัมมารมณ์ที่รู้ได้ด้วย มโนวิญญาณ ก็เป็นอันท่านกล่าวแล้ว. และสมดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า 4 ดูก่อนภิกษุ เพราะเหตุนั้นเธอจงเป็นผู้พิจารณาดูกายในรูปกาย มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติกำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลก อยู่ในศาสดานี้. ท่านกล่าววิริยินทรีย์ด้วยคำว่า "อาตาปี" กล่าวปัญญินทรีย์ด้วยคำว่า "สมฺปชาโน" กล่าวสตินทรีย์ด้วยคำว่า "สติมา" กล่าวสมาธินทรีย์ด้วยคำว่า "วิเนยฺยโลเก อภิชฺฌาโทมนสฺสํ". สติปัฏฐาน 4 ย่อมถึงความบริบูรณ์แห่งภาวนา แก่บุคคลผู้พิจารณาดูกายในรูปกายอย่างนี้อยู่. เพราะเหตุไร ? เพราะอินทรีย์ทั้ง 4 มีลักษณะเหมือนกัน

4 สํ. มหา. 19/369,413/125,164

[ 24 ] เมื่อเจริญสติปัฏฐาน 4 แล้ว สัมมัปปธาน 4 ย่อมถึงความบริบูรณ์แห่งภาวนา. เมื่อเจริญสัมมัปปธาน 4 แล้ว อิทธิบาท 4 ย่อมถึงความบริบูรณ์แห่งภาวนา. เมื่อเจริญอิทธิบาท 4 แล้ว อินทรีย์ 5 ย่อมถึงความบริบูรณ์แห่งภาวนา. เมื่อเจริญอินทรีย์ 5 แล้ว พละ 5 ย่อมถึงความบริบูรณ์แห่งภาวนา. เมื่อเจริญ พละ 5 แล้ว โพชฌงค์ 7 ย่อมถึงความบริบูรณ์แห่งภาวนา. เมื่อเจริญโพชฌงค์ 7 แล้ว อริยมรรคอันมีองค์ 8 ย่อมถึงความบริบูรณ์แห่งภาวนา. โพธิปักขิยธรรมทั้งปวง อันเป็นธรรมที่ตรัสรู้ (อริยสัจ 4) มีลักษณะเหมือนกัน โดยลัฏษณะที่ออกจากวัฏฏะ. โพธิปักขิยธรรม 37 ประการเหล่านั้น ย่อมถึงความบริบูรณ์แห่งภาวนา ฉันใด).

แม้อกุศลธรรมทั้งหลาย ก็ถึงซึ่งการหายไป การตั้งอยู่ไม่ได้ เพราะมีลักษณะเหมือนกัน ฉันนั้น. เมื่อเจริญสติปัฏฐาน 4 แล้ว วิปัลลาส 4 ย่อมหายไป. แม้อาการ 4 ของวิปัลลาสนั้น ย่อมถึงการกำหนดรู้ เป็นผู้ไม่มีความยึดมั่นด้วยอุปาทาน 4 เป็นผู้ปราศจากการประกอบด้วยโยคะทั้งหลาย เป็นผู้ไม่ประกอบกับคันถะทั้งหลาย เป็นผู้ไม่มีอาสวะด้วยอาสวะทั้งหลาย เป็นผู้ข้ามพ้นโอฆะทั้งหลาย และ เป็นผู้ที่ปราศจากลูกศรด้วยลูกศรทั้งหลาย มีตัณหาเป็นต้น. แม้วิญญาณฐิติทั้งหลาย ก็ย่อมถึงการกำหนดรู้แก่บุคคลนั้น ย่อมไม่ถึงซึ่งอคติ ด้วยการถึงสิ่งที่ไม่ควรถึง. แม้อกุศลธรรมทั้งหลายก็ย่อมถึงซึ่งการหายไป การตั้งอยู่ไม่ได้ เพราะมีลักษณะเหมือนกันอย่างนี้.

ท่านแสดงรูปอินทรีย์ในเทศนาใด ก็เป็นอันแสดง รูปธาตุ รูปขันธ์ และ รูปายตนะ ในเทศนานั้นเอง.

อีกอย่างหนึ่ง รูปอินทรีย์ (มีความแปรผันเป็นลักษณะ) พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงไว้ในเทศนาใดรูปธาตุ รูปขันธ์ รูปายตนะ ก็เป็นอันว่าแสดงไว้ในเทศนานั้น เพราะมีลักษณะอย่างเดียวกัน ฯ

ก็หรือว่า สุขเวทนาที่ทรงแสดงไว้ในเทศนาใด สุขินทรีย์ โสมนัสสินทรีย์และทุกขสมุทยสัจจะ ก็ทรงแสดงไว้ในเทศนานั้น ฯ หรือว่า ทุกขเวทนาที่่ทรงแสดงไว้ในเทศนาใด ทุกขินทรีย์ โทมนัสสินทรีย์ และทุกขอริยสัจจะ ก็ทรงแสดงไว้ในเทศนานั้นฯ หรือว่า อทุกขมสุขเวทนาที่ทรงแสดงไว้ในเทศนาใดอุเบกขินทรีย์ และปฏิจจสมุปบาททั้งปวง ก็เป็นอันว่าทรงแสดงไว้ในเทศนานั้น ฯ

ก็อทุกขมสุขเวทนากับอุเบกขินทรีย์ มีลักษณะเสมอกันก็ควร แต่ปฏิจจสมุปบาทนั้นทรงแสดงไว้ เพราะเหตุไร เพราะอวิชชานอนเนื่องอยู่ในอทุกขมสุขเวทนา ฯ

ปฏิจจสมุปบาททั้งปวง ซึ่งมีอวิชชาเป็นมูล คือ เพราะอวิชชาเป็นปัจจัยจึงมีสังขารทั้งหลาย เพราะสังขารเป็นปัจจัย จึงมีวิญญาณ เพราะวิญญาณเป็นปัจจัย จึงมีนามรูป เพราะนามรูปเป็นปัจจัย จึงมีสฬายตนะ เพราะสฬายตนะเป็นปัจจัย จึงมีผัสสะ เพราะผัสสะเป็นปัจจัย จึงมีเวทนา เพราะเวทนาเป็นปัจจัย จึงมีตัณหา เพราะตัณหาเป็นปัจจัย จึงมีอุปาทาน เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย จึงมีภพ เพราะภพเป็นปัจจัย จึงมีชาติ เพราะชาติเป็นปัจจัย จึงมีชรามรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัสและอุปายาส การเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งปวงนั้น ย่อมมีด้วยประการฉะนี้ ฯ การเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งปวงนั้นอันบุคคลพึงละ เพราะเป็นฝ่ายสังกิเลส คือ เป็นไปกับราคะ เป็นไปกับโทสะเป็นไปกับโมหะ (ฝ่ายอนุโลม) และการเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งปวงนั้น อันอริยธรรม คือ ผู้มีราคะไปปราศแล้ว ผู้มีโทสะไปปราศแล้ว ผู้มีโมหะไปปราศแล้วพึงละ (ฝ่ายปฏิโลม) ฯ

บัดนี้ เพื่อแสดงนัยแห่งการประกอบลักขณหาระ ด้วยการชี้แจงความที่ธรรมมีลักษณะอย่างเดียวกัน จึงกล่าวว่า ธรรมเหล่าใดมีลักษณะอย่างเดียวกันโดยกิจ มีกิจแห่งปฐวีธาตุเป็นต้น และแห่งนามมีผัสสะเป็นต้น โดยลักษณะมีความกระทบกับความแข็งเป็นต้น เป็นลักษณะ โดยสามัญญะ มีการน้อมไปในรุปปนะเป็นต้น และโดยอนิจจตาเป็นต้น และโดยจุตูปปาตะ คือ โดยภังคะและอุปบัติ ได้แก่ ดับพร้อมกัน เกิดพร้อมกัน เมื่อธรรมเหล่านั้นธรรมอย่างหนึ่ง ท่านแสดงไว้แล้ว ธรรมที่เหลือ ก็ชื่อว่าท่านแสดงแล้ว ด้วยเหตุนั้น ท่านพระมหากัจจายนะ จึงกล่าวว่า "เมื่อธรรมอย่างหนึ่ง ท่านกล่าวไว้แล้ว" ดังนี้ ฯ

จบ ลักขณหารวิภังค์

[25] บรรดาหาระ 16 นั้น หาระคือ จตุพยูหะ เป็นไฉน

หาระที่กล่าวว่า "เนรุตตะ อธิปปายะ นิทานะ สนธิเบื้องต้นเบื้องปลาย 4 พวก" นี้ ชื่อว่า จตุพยูหะ ฯ ว่าโดยสังเขป ท่านแสดงจตุพยูหะว่า "เนรุตตะ อธิปปายะ นิทานะ และสนธิเบื้องต้นเบื้องปลายของพระสูตรอันบุคคลพึงแสวงหาโดยพยัญชนะ" ดังนี้ ก่อน ฯ

บรรดาบท 4 เหล่านั้น เนรุตตะเป็นไฉน

ภาษาใด ประกอบด้วยบทแห่งนิรุตติ ญาณใดเป็นไปโดยชื่อแห่งธรรมทั้งหลาย นิรุตตินั้นเป็นไฉน ญาณนั้นเป็นไฉน จริงอยู่ เมื่อใด ภิกษุย่อมรู้ชื่อของอรรถะ และย่อมรู้ชื่อของธรรม เมื่อนั้น เธอย่อมตั้งไว้ซึ่งโวหารแห่งอรรถะและแห่งธรรมได้โดยประการนั้น ๆ ก็ภิกษุนี้ ท่านเรียกว่า ผู้ฉลาดในอรรถะผู้ฉลาดในธรรม ผู้ฉลาดในพยัญชนะ (คือในอักขระและพากย์) ผู้ฉลาดในนิรุตติ(คือวิเคราะห์ศัพท์) ผู้ฉลาดในเบื้องต้นเบื้องปลายแห่งเทศนา ผู้ฉลาดในธรรมเทศนา ผู้ฉลาดในบัญญัติ คือ คำพูดที่เป็นอดีต ผู้ฉลาดในคำพูดที่เป็นอนาคตผู้ฉลาดในคำพูดที่เป็นปัจจุบัน ผู้ฉลาดในถ้อยคำของหญิง ผู้ฉลาดในถ้อยคำของชาย ฉลาดในถ้อยคำของผู้มิใช่เพศชายและหญิง ผู้ฉลาดในถ้อยคำมีความหมายอย่างเดียว และผู้ฉลาดในถ้อยคำมีความหมายหลายอย่าง นิรุตติคือ บทโวหารของสัตว์ทั้งปวง บัณฑิตพึงวิเคราะห์อย่างนี้ และโลกสมัญญาทั้งปวง พึงกระทำตามควร นี้ชื่อว่าประกอบด้วยบทนิรุตติ หรือเรียกว่า เนรุตตะ ฯ

[26] บรรดาบท 4 เหล่านั้น อธิปปายะเป็นไฉน

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า "ธรรมแล ย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม เหมือนร่มคันใหญ่มีประโยชน์ในฤดูฝน นี้เป็นอานิสงส์ในธรรม อันบุคคลประพฤติดีแล้วเพราะผู้มีปกติประพฤติธรรม ย่อมไม่ไปสู่ทุคติ" ดังนี้ ฯ

ในคาถานี้ อะไรเป็นอธิปปายะ (คือ ความประสงค์ ) ของพระผู้มีพระภาคเจ้า ความประสงค์นี้ว่า "สัตว์เหล่าใด ปรารถนาจักพ้นจากอบายทั้งหลาย สัตว์เหล่านั้นจักประพฤติธรรม" ดังนี้ อธิปปายะ ของพระผู้มีพระภาคเจ้าในคาถานี้ ฯ

พระสูตรว่า "โจรผู้มีธรรมอันชั่วช้า ถูกเขาจับได้พร้อมทั้งของกลาง ย่อมเดือดร้อน และถูกจับเพราะกรรมของตน ฉันใด หมู่สัตว์ ผู้มีธรรมอันชั่วช้านี้ละไปแล้ว ย่อมเดือดร้อน และถูกจับไปในปรโลกเพราะกรรมของตนฉันนั้น" ดังนี้ ฯ

ในคาถานี้ คำอธิบายของพระผู้มีพระภาคเจ้าอย่างไร โวหารว่า "สัตว์จักเสวยวิบากอันไม่น่าปรารถนา ไม่น่ายินดี ของกรรมทั้งหลายอันประกอบด้วยเจตนาอันตนกระทำแล้ว สั่งสมไว้แล้วให้เสวยทุกข์" ดังนี้เป็นความประสงค์อธิบายในอธิการนี้ ฯ

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า "ผู้ใดแสวงหาความสุขเพื่อตน ย่อมเบียดเบียนสัตว์ทั้งหลายผู้ใคร่ความสุขด้วยอาชญา ผู้นั้นย่อมไม่ได้ความสุขในโลกหน้า" ดังนี้ ฯ

ในคาถานี้ คำอธิบายของพระผู้มีพระภาคเจ้าอย่างไร โวหารนี้ว่า "สัตว์เหล่าใด มีความปรารถนาสุข สัตว์เหล่านั้น จักไม่กระทำกรรมอันลามก" ดังนี้เป็นความประสงค์ของพระผู้มีพระภาคเจ้า ในอธิการนี้ ฯ

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า "เมื่อใด บุคคลเป็นผู้บริโภคมาก มักง่วงซึม นอนหลับ พลิกกลับไปมา ดุจสุกรใหญ่อันบุคคลปรนปรือด้วยเหยื่อ เมื่อนั้น บุคคลนั้นเป็นคนเขลา ย่อมเข้าห้อง (นอน) บ่อย ๆ" ดังนี้ในคาถานี้ คำอธิบายของพระผู้มีพระภาคเจ้าอย่างไร ในอธิการนี้พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประสงค์อธิบายว่า "สัตว์เหล่าใด ปรารถนาเพื่อยับยั้งชราและมรณะ สัตว์เหล่านั้น จักเป็นผู้รู้จักประมาณในโภชนะ จักเป็นผู้มีทวารอันคุ้มครองแล้วในอินทรีย์ทั้งหลาย จักเป็นผู้ประกอบเนือง ๆ ในความเพียรเป็นเครื่องตื่นอยู่ตลอดราตรีเบื้องต้นและตลอดราตรีเบื้องปลาย จักเป็นผู้รู้แจ้งในกุศลธรรมทั้งหลาย และจักเป็นผู้มีความเคารพในเพื่อนพรหมจารีทั้งหลายคือ ในพระเถระทั้งหลาย พระนวกะทั้งหลาย และพระมัชฌิมะทั้งหลาย" ดังนี้ ฯ

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า "ความไม่ประมาทเป็นทางเครื่องถึงอมตนิพพาน ความประมาทเป็นทางแห่งมัจจุ ชนผู้ไม่ประมาทแล้วย่อมไม่ตาย ชนเหล่าใดประมาทแล้ว ชนเหล่านั้นเหมือนคนตายแล้ว"3 ดังนี้ ฯ

ในคาถานี้ มีอธิปปายะของพระผู้มีพระภาคเจ้าอย่างไร ในอธิการนี้มีอธิปปายะของพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า "สัตว์เหล่าใดผู้ปรารถนาเพื่อแสวงหาอมตนิพพานจักมี สัตว์เหล่านั้นจักเป็นผู้ไม่ประมาทอยู่" ดังนี้ ฯ เทศนานี้ชื่อว่า อธิปปายะ ฯ

[27] บรรดาบท 4 นั้น นิทานะเป็นไฉน

นายธนิยะคนเลี้ยงโค กล่าวกะพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า "คนย่อมเพลิดเพลิน เพราะอุปธิทั้งหลาย เปรียบเหมือนคนมีบุตรย่อมเพลิดเพลินเพราะบุตร คนมีโคย่อมเพลิดเพลินเพราะโค ฉะนั้นคนใดไม่มีอุปธิ คนนั้นย่อมไม่เพลิดเพลินเลย"พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า "คนย่อมเศร้าโศกเพราะอุปธิทั้งหลาย เปรียบเหมือนคนมีบุตรย่อมเศร้าโศกเพราะบุตร คนมีโคย่อมเศร้าโศกเพราะโค ฉะนั้น คนใดไม่มีอุปธิ คนนั้นย่อมไม่เศร้าโศกเลย" ดังนี้บัณฑิตย่อมทราบด้วยนิทานะ (การณะ) นี้ ด้วยวัตถุ (อุปธิ) นี้ว่า ในที่นี้พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถึงอุปธิที่บุคคลถือเอาในภายนอก ฉะนั้น ฯ อุปธิภายในเหมือนอย่างมารผู้มีบาป ยังศิลาใหญ่ให้ตกไปจากภูเขาคิชฌกูฏ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า "แม้ถึงว่าท่านจะพึงกลิ้งภูเขาคิชฌกูฏหมดทั้งสิ้น ความหวั่นไหวก็จะไม่พึงมีแก่พระพุทธเจ้าทั้งหลาย ผู้หลุดพ้นแล้วโดยชอบแน่แท้" ฯ

"ถึงแม้ท้องฟ้าจะพึงแตก แผ่นดินพึงแยก สัตว์ทั้งหลายพึงสะดุ้งกลัวกันหมดก็ตามที แม้ถึงว่าหอกหรือหลาวจะจ่ออยู่ที่อกก็ตามเถิดพระพุทธเจ้าทั้งหลายย่อมไม่ทรงทำการป้องกัน ในเพราะอุปธิทั้งหลาย"ดังนี้ ฯ

บัณฑิตย่อมทราบด้วยนิทานะนี้ ด้วยวัตถุนี้ว่า ในที่นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัส อุปธิ คือ กาย ดังนี้พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสว่า "นักปราชญ์ทั้งหลาย ไม่กล่าวเครื่องผูกซึ่งเกิดแต่เหล็ก เกิดแต่ไม้และเกิดแต่หญ้าปล้องว่ามั่นคง แต่สัตว์ผู้หลงแล้ว กำหนัดแล้วในแก้วมณีและกุณฑล และความเยื่อใยในบุตรและภรรยาเหล่าใด" ดังนี้ ฯ

บัณฑิตย่อมทราบด้วยนิทานะนี้ ด้วยวัตถุนี้ว่า ในที่นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสการละตัณหาในวัตถุทั้งหลายอันเป็นภายนอก ฯ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสต่อไปว่า "นักปราชญ์ทั้งหลาย กล่าวเครื่องผูก อันถ่วงลง อันหย่อนอันเปลื้องได้โดยยากนั้นว่ามั่นคง นักปราชญ์ทั้งหลาย ตัดเครื่องผูกแม้นั้นแล้ว เป็นผู้ไม่มีความห่วงใย ละกามสุขแล้ว ย่อมเว้นรอบ" ดังนี้ ฯ

บัณฑิตย่อมทราบด้วยนิทานะนี้ ด้วยวัตถุนี้ว่า ในที่นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสการละตัณหา อันเป็นวัตถุอันเป็นไปในภายนอก ฯ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า "จงพิจารณาดูอัตภาพนี้ อันกระสับกระส่าย ไม่สะอาด เป็นของเน่าเปื่อย มีกลิ่นเหม็นซึ่งอาศัยกาย มีสิ่งปฏิกูลไหลออกอยู่ทั้งกลางวันทั้งกลางคืน อันชนพาลทั้งหลายปรารถนายิ่งนัก" ดังนี้ ฯ

บัณฑิตย่อมทราบด้วยนิทานะนี้ ด้วยวัตถุนี้ว่า ในที่นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสการละตัณหา ด้วยสามารถแห่งความสิเนหาในวัตถุอันเป็นไปในภายในดังนี้ ฯ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า "พวกเธอ จงตัดความเยื่อใยในตนเสีย เหมือนบุคคลถอนดอกโกมุทที่เกิดในสารทกาล (ฤดูใบไม้ร่วง) ด้วยมือ จงพอกพูนทางแห่งสันติทีเดียวเพราะพระนิพพานอันพระสุคตแสดงแล้ว" ดังนี้ ฯ

บัณฑิตย่อมทราบด้วยนิทานะนี้ ด้วยวัตถุนี้ว่า ในที่นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสการละตัณหา ด้วยสามารถแห่งความสิเนหาในวัตถุอันเป็นไปในภายใน ฯ

บทนี้ ชื่อว่า นิทานะ ฯ

บรรดาบท 4 นั้น สนธิเบื้องต้นและเบื้องปลาย เป็นไฉน

พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเปล่งอุทานว่า "สัตว์ทั้งหลายผู้มืดมนเพราะกาม ถูกตัณหาซึ่งเป็นดุจข่ายปกคลุมไว้แล้ว ถูกเครื่องมุง คือตัณหาปกปิดไว้แล้ว ถูกเครื่องผูก คือกามคุณผูกไว้แล้วด้วยความประมาท ย่อมไปสู่ชรา และมรณะเหมือนปลาที่ปากไซ เหมือนลูกโคที่ยังดื่มนมไปตามแม่โค ฉะนั้น" ดังนี้ ฯ

สนธินี้ท่านกล่าวว่า กามตัณหา กามตัณหานั้นย่อมประกอบไว้โดยเบื้องต้นและเบื้องปลาย เป็นไฉน เหมือนอย่างที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า "บุคคล ผู้อันราคะย้อมแล้วย่อมไม่รู้อรรถะ บุคคลผู้อันราคะย้อมแล้วย่อมไม่เห็นธรรม ราคะย่อมครอบงำนรชนเมื่อใด เมื่อนั้นความมืดตื้อย่อมมี" ดังนี้ ฯ

ตัณหานั้นนั่นเอง ตรัสเรียกว่า ปุพพาปรสนธิ เพราะกระทำความมืดและกระทำการปกคลุมสัตว์ไว้ คือ ตัณหานั้นนั่นแหละ ท่านกล่าวไว้โดยปริยุฏฐาน ด้วยบททั้ง 2 นี้ว่า "สัตว์ทั้งหลายผู้มืดมนเพราะกาม ถูกตัณหาซึ่งเป็นดุจข่ายปกคลุมแล้ว ถูกเครื่องมุงคือตัณหาปกปิดแล้ว" และคำว่า "บุคคลผู้อันราคะย้อมแล้วย่อมไม่รู้อรรถะ ผู้อันราคะย้อมแล้วย่อมไม่เห็นธรรม" ดังนี้ ฯ

ความไม่รู้อันใด อันกระทำซึ่งความมืด นี้พึงเป็นสมุทัย และตัณหาใดท่านกล่าวว่านำไปเกิดในภพใหม่ ตัณหานี้ก็พึงเป็นสมุทัย ฯ ก็บทใด ที่ตรัสว่า กามบทเหล่านี้ เป็นกิเลสกาม ฯ บทใด ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า "ถูกตัณหาซึ่งเป็นดุจข่ายปกคลุมไว้" ดังนี้ ด้วยบทนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าย่อมทรงแสดงการกลุ้มรุมจิตแห่งกามเหล่านั้นนั่นแหละด้วยการประกอบเพราะฉะนั้นจึงกล่าวว่า เครื่องผูกคือตัณหา ด้วยสามารถแห่งกิเลส และด้วยสามารถแห่งการกลุ้มรุมจิต ฯ คนใด เช่นกับคนที่เป็นไปกับตัณหามีประการตามที่กล่าวแล้ว คนเช่นนั้น ย่อมไปสู่ชราและมรณะ นี้เป็นคำอธิบายการสืบต่อเบื้องต้นและเบื้องปลาย ในคำที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า "ตัณหา ย่อมนำไปสู่ชราและมรณะ" ตามคาถาที่ตั้งไว้ ฉะนี้ ฯ

พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเปล่งอุทานนี้ว่า "ผู้ใด ไม่มีกิเลสเครื่องให้เนิ่นช้า และตัณหานอนเนื่องอยู่ ก้าวล่วงแล้วซึ่งที่ต่อ คือตัณหา และลิ่ม คืออวิชชาได้ สัตวโลกแม้ทั้งเทวโลกผู้เป็นไปกับตัณหา ย่อมไม่รู้ซึ่งมุนีผู้ไม่มีตัณหานั้น ผู้เที่ยวไปอยู่ในโลก"ดังนี้ ฯ

ตัณหา ทิฏฐิ และมานะ ชื่อว่า ปปัญจะ (คือ ธรรมให้เนิ่นช้า) สังขารทั้งหลาย ที่ชื่อว่า ปปัญจะ เพราะอันตัณหา ทิฏฐิและมานะนั้นปรุงแต่งแล้วตัณหาที่นอนเนื่องอยู่ในสันดาน ด้วยอรรถะว่าละไม่ได้ และได้ชื่อว่า ฐิติเพราะเป็นเหตุให้สัตว์ตั้งอยู่ ปริยุฏฐานแห่งตัณหา และตัณหาที่ท่านกล่าวว่า ท่องเที่ยวไป 36 ที่เป็นดุจข่าย ชื่อว่า สันตานะ (การสืบต่อ) โมหะ ชื่อว่า ลิ่ม ฯ

บุคคลใดก้าวล่วงอกุศลทั้งปวงนี้ คือ ปปัญจธรรม สังขารอันปปัญจธรรมนั้นปรุงแต่งแล้ว ฐิติคือการนอนเนื่องอยู่แห่งตัณหา สันตานะแห่งตัณหา และลิ่ม คือโมหะ บุคคลนี้ บัณฑิตเรียกว่า ผู้ไม่มีตัณหา ฉะนี้แล ฯ

[28] ในปปัญจธรรมเป็นต้นเหล่านั้น อกุศลเจตนาซึ่งกลุ้มรุมจิตด้วยอำนาจแห่งวีติกกมะ พึงให้ทิฏฐธัมมเวทนียะ หรืออุปปัชชเวทนียะ หรืออปราปริยเวทนียะฉันใด ตัณหาก็ให้ผล 3 อย่าง ฉันนั้น คือ ให้ทิฏฐธัมมเวทนียะ หรืออุปปัชชเวทนียะ หรือ อปราปริยเวทนียะ ฯ สมดังพระดำรัสที่ตรัสว่า "บุคคลใด ย่อมทำกรรมใด ที่ทำด้วยความโลภ ด้วยกาย หรือ ด้วยวาจา หรือด้วยใจ บุคคลนั้น ย่อมเสวยวิบากของกรรมนั้น ในทิฏฐธัมมเวทนียะนี้ หรือในอุปปัชชเวทนียะนี้ หรือในอปราปริยเวทนียะนี้" ดังนี้ ฯ

พระพุทธพจน์นี้ ย่อมสมควรโดยการสืบต่อเบื้องต้นและเบื้องปลาย ฯ

ในการสืบต่อนั้น ปริยุฏฐานแห่งตัณหา เป็นกรรมอันบุคคลพึงเสวยผลในอัตภาพปัจจุบัน หรือในอัตภาพที่จะเกิดขึ้น หรือว่าในภพต่อ ๆ ไป ฉันใดกรรมก็ย่อมให้ผล 3 อย่าง ฉันนั้นเหมือนกัน ฯ

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า "หากว่า คนพาลมีปกติฆ่าสัตว์ ฯลฯ เป็นมิจฉาทิฏฐิ กระทำกรรมใดเขาย่อมเสวยวิบากแห่งกรรมนั้น ในอัตภาพปัจจุบันนี้ หรือในภพที่จะเกิดขึ้น หรือในภพต่อ ๆ ไป" ดังนี้ พระพุทธพจน์นี้ก็ประกอบในการสืบต่อเบื้องต้นและเบื้องปลาย ฯ

ในการสืบต่อนั้น ปริยุฏฐานแห่งตัณหาอันบุคคลพึงละได้ด้วยกำลังแห่งการพิจารณา มีอสุภะและอนิจจะเป็นต้น (ตทังคปหานะ) สังขารที่ปรุงแต่งด้วยปปัญจธรรมนั้น พึงละได้ด้วยทัสสนะ (ปฐมมรรค) ตัณหาวิจริต 36 พึงละได้ด้วยกำลังแห่งการเจริญมรรคในเบื้องบน ตัณหาแม้ทั้ง 3 อันบุคคลย่อมละได้ด้วยประการฉะนี้ ฯ ความไม่มีแห่งตัณหาใด ความไม่มีนี้ บัณฑิตกล่าวว่า เป็นสอุปาทิเสสนิพพานธาตุ (นิพพานธาตุที่มีวิบากขันธ์เหลืออยู่) และความไม่มีแห่งตัณหานี้ ชื่อว่า อนุปาทิเสสนิพพานธาตุ เพราะการแตกแห่งกาย ฯ

สภาวะเครื่องผูกพัน ท่านเรียกว่า เป็นเครื่องเนิ่นช้า (ปปัญจะ) เหมือนอย่างที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า "เพราะดำริถึงรูปที่พึงรู้ได้ด้วยจักษุ อันเป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน จึงทำให้เนิ่นช้า" ดังนี้ และเหมือนอย่างที่ตรัสว่า "ดูกร ราธะ เธอจงเป็นผู้ไม่อาลัยในรูปที่เป็นไปล่วงแล้ว อย่ายินดีรูปที่ยังไม่มาถึง จงปฏิบัติเพื่อความหน่าย เพื่อคลายกำหนัด เพื่อความดับเพื่อสละ เพื่อสละคืน ซึ่งรูปที่เป็นปัจจุบัน" ดังนี้ ฯ พระพุทธพจน์นี้ย่อมประกอบด้วยความสืบต่อทั้งเบื้องต้นและเบื้องปลาย ฯ

อนึ่ง ธรรมเครื่องเนิ่นช้าใด สังขารทั้งหลายเหล่าใด และความยินดียิ่งซึ่งรูปอันเป็นอดีต อนาคต และปัจจุบันใด สภาวะนี้ทั้งหมด มีเนื้อความเป็นอย่างเดียวกัน ฯ อีกอย่างหนึ่ง พระธรรมเทศนาอันหาประมาณมิได้ ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ด้วยบททั้งหลายอันประกอบกันและกัน บัณฑิต เทียบเคียงพระสูตรกับพระสูตรอย่างนี้แล้ว ประกอบสนธิโดยเบื้องต้นและเบื้องปลายแล้วอธิบายพระสูตรเถิด ฯ

อนึ่ง สนธิเบื้องต้นและเบื้องปลายนี้ มี 4 อย่าง คือ อัตถสนธิ 1พยัญชนสนธิ 1 เทสนาสนธิ 1 และนิทเทสสนธิ 1 ฯ

บรรดาสนธิ 4 เหล่านั้น อัตถสนธิ (การต่ออรรถะ) ได้แก่ บท 6 คือ

1. สังกาสนา การบอก,

2. ปกาสนา การประกาศ,

3. วิวรณา การเปิดเผย,

4. วิภชนา การจำแนก,

5. อุตตานีกัมมตา การทำให้ตื้น,

6. ปัญญัตติ บัญญัติ ฯ

พยัญชนสนธิ (การต่อพยัญชนะ) ได้แก่ บท 6 คือ

1. อักขระ ตัวอักษร,

2. บท ส่วน พากย์,

3. พยัญชนะ ทำอรรถะให้ปรากฏ,

4. อาการ การจำแนก,

5. นิรุตติ ภาษา,

6. นิทเทส การอธิบาย ฯ

เทสนาสนธิ (แสดงลักษณะนิพพานธาตุ) ว่า บุคคลผู้ได้ฌานอาศัยปฐวีเป็นอารมณ์เพ่งอยู่ ก็ย่อมไม่รู้ อาศัยอาโปเป็นอารมณ์เพ่งอยู่ ก็ย่อมไม่รู้อาศัยเตโชเป็นอารมณ์เพ่งอยู่ ก็ย่อมไม่รู้ อาศัยวาโยเป็นอารมณ์เพ่งอยู่ ก็ย่อมไม่รู้ ฯลฯ บุคคลได้อรูปฌาน อาศัยอากาสานัญจายตนะ … อาศัยวิญญาณัญจายตนะ … อาศัยอากิญจัญญายตนะ … อาศัยเนวสัญญานาสัญญายตนะเพ่งอยู่ก็ย่อมไม่รู้ บุคคลอาศัยสันดานแห่งสัตว์ในโลกนี้ … อาศัยสันดานแห่งสัตว์ในปรโลกเพ่งอยู่ ก็ย่อมไม่รู้ บุคคลเว้นสันดานทั้ง 2 แล้ว วัตถุใด อันตนเห็นแล้ว(ทิฏฺฐํ) อันตนได้ยินแล้ว (สุตํ) อันตนทราบแล้ว (มุตํ) และธัมมารมณ์มีอาโปเป็นต้น อันตนรู้แจ้งแล้ว (วิญฺญาตํ) ที่บุคคลถึงแล้ว อันแสวงหาแล้ว ไม่แสวงหาแล้ว หรือ วัตถุใด อันเป็นอารมณ์ของวิตก ของวิจาร หรืออันบุคคลคิดด้วยใจอันใด บุคคลอาศัยวัตถุแม้นั้นเพ่งอยู่ ก็ย่อมไม่รู้ ฯ แต่พระขีณาสพนี้ เพ่งอยู่ด้วยฌานในผลสมบัติ ย่อมรู้เพราะความที่ตัณหาทิฏฐิ และมานะท่านละได้แล้ว ชื่อว่า ย่อมรู้ด้วยจิตที่ไม่อาศัยตัณหา ทิฏฐิและมานะนั้น ที่ใคร ๆ ในโลกพร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณะพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์รู้ไม่ได้เพ่งอยู่ ฯ

เหมือนมารผู้มีบาป แสวงหาอยู่ซึ่งวิญญาณของกุลบุตรชื่อโคธิกะย่อมไม่รู้ ย่อมไม่เห็น เพราะกุลบุตรนั้นมีธรรมเครื่องเนิ่นช้าอันตนก้าวล่วงแล้วเพราะละตัณหา แม้ที่อาศัยของทิฏฐิก็ไม่มี ก็วิญญาณของกุลบุตรโคธิกะฉันใดวิญญาณของท่านพระวักกลิก็ฉันนั้น อันใคร ๆ ในโลก ทั้งเทวโลก มารโลกพรหมโลก ในหมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณะพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ ย่อมไม่รู้เพราะความที่จิตอันกิเลสไม่อาศัยแล้ว การเทียบเคียงอรรถะแห่งพระสูตรทั้ง 2 นี้ ชื่อว่า เทสนาสนธิ ฯ

บรรดาสนธิเหล่านั้น นิทเทสสนธิ เป็นไฉน

บุคคลผู้มีจิตอาศัย พึงแสดงโดยฝ่ายอกุศล บุคคลผู้มีจิตไม่อาศัยพึงแสดงโดยฝ่ายกุศล บุคคลมีจิตอาศัย พึงแสดงโดยกิเลส บุคคลผู้มีจิตไม่อาศัยพึงแสดงโดยโวทานะ บุคคลผู้มีจิตอาศัย พึงแสดงโดยความเป็นไปในสังสารบุคคลมีจิตไม่อาศัย พึงแสดงโดยความไม่เป็นไปแห่งสังสาร ฯ บุคคลผู้มีจิตอาศัย พึงแสดงโดยตัณหาและอวิชชา บุคคลผู้มีจิตไม่อาศัย พึงแสดงโดยสมถะและวิปัสสนา บุคคลผู้มีจิตอาศัย พึงแสดงโดยอหิริกะและอโนตตัปปะบุคคลผู้มีจิตไม่อาศัย พึงแสดงโดยหิริและโอตตัปปะ บุคคลผู้มีจิตอาศัย พึงแสดงโดยความไม่มีสติและสัมปชัญญะ บุคคลผู้มีจิตไม่อาศัย พึงแสดงโดยสติและสัมปชัญญะ บุคคลผู้มีจิตอาศัย พึงแสดงโดยอโยนิโส (ความไม่รู้) และอโยนิโสมนสิการ บุคคลผู้มีจิตไม่อาศัย พึงแสดงโดยความรู้และโยนิโสมนสิการบุคคลผู้มีจิตอาศัย พึงแสดงโดยความเกียจคร้านและความเป็นคนว่ายากบุคคลผู้มีจิตไม่อาศัย พึงแสดงโดยวิริยารัมภะและความเป็นคนว่าง่าย บุคคลผู้มีจิตอาศัย พึงแสดงโดยความไม่มีศรัทธาและความประมาท บุคคลผู้มีจิตไม่อาศัย พึงแสดงโดยศรัทธาและความไม่ประมาท ฯ บุคคลผู้มีจิตอาศัย พึงแสดงโดยความไม่ฟังพระสัทธรรมและความไม่สังวร บุคคลผู้มีจิตไม่อาศัย พึงแสดงโดยการฟังพระสัทธรรมและสังวร ฯ บุคคลผู้มีจิตอาศัย พึงแสดงโดยอภิชฌาและพยาบาท บุคคลผู้มีจิตไม่อาศัย พึงแสดงโดยความไม่มีอภิชฌาและความไม่พยาบาท ฯ บุคคลผู้มีิจิตอาศัย พึงแสดงโดยนิวรณ์ทั้งหลายและสังโยชน์ทั้งหลาย บุคคลผู้มีจิตไม่อาศัย พึงแสดงโดยเจโตวิมุตติอันสำรอกราคะและปัญญาวิมุตติอันสำรอกอวิชชา ฯ บุคคลผู้มีจิตอาศัย พึงแสดงโดยอุทเฉททิฏฐิและสัสสตทิฏฐิ บุคคลผู้มีจิตไม่อาศัย พึงแสดงโดยนิพพานธาตุที่เป็นสอุปาทิเสสะและอนุปาทิเสสะ ฯ

การเทียบเคียงต่อนิทเทสกับนิทเทส ด้วยสามารถแห่งจิตอาศัย แห่งนิทเทสแรกมีอกุศลเป็นต้นกับนิทเทสหลังมีสังกิเลสเป็นต้น และด้วยสามารถแห่งจิตไม่อาศัย แห่งนิทเทสแรกมีกุศลเป็นต้นกับนิทเทสหลังมีโวทานะเป็นต้นนี้ ชื่อ ว่า นิทเทสสนธิ ฯ เพราะเหตุนั้น ท่านพระมหากัจจายนะ จึงกล่าว จตุพยูหะว่า "เนรุตตะ อธิปปายะ นิทานะ และสนธิ" ดังนี้ ฯ

จบ จตุพยูหหารวิภังค์

[29] บรรดาหาระ 16 นั้น หาระคือ อาวัฏฏะ เป็นไฉน

เทศนาว่า "ท่านทั้งหลาย จงริเริ่ม จงก้าวหน้าจงประกอบความเพียรในพระพุทธศาสนาจงกำจัดเสนาแห่งมัจจุ เหมือนช้างพลายกำจัดเรือนไม้อ้อ ฉะนั้น" เป็นต้นในนิทเทสว่า "เอกมฺหิ ปทฏฺฐาเน" เป็นต้น นี้ชื่อว่า หาระ คือ อาวัฏฏะ ฯ

คำว่า "ท่านทั้งหลาย จงริเริ่ม จงก้าวหน้า" นี้ เป็นปทัฏฐาน (เหตุให้เกิดขึ้น) แห่งวิริยะ ฯ คำว่า "จงประกอบความเพียรในพระพุทธศาสนา"นี้ เป็นปทัฏฐานแห่งความเพียร อันเป็นไปกับสมาธิ ฯ คำว่า "จงกำจัดเสนาแห่งมัจจุ เหมือนช้างพลายกำจัดเรือนไม้อ้อ ฉะนั้น" นี้ เป็นปทัฏฐานแห่งปัญญา ฯ

คำว่า "ท่านทั้งหลาย จงริเริ่ม จงก้าวหน้า" ดังนี้ เป็นปทัฏฐานของวิริยินทรีย์ คำว่า "จงประกอบความเพียรในพระพุทธศาสนา" ดังนี้ เป็นปทัฏฐานของสมาธินทรีย์ คำว่า "จงกำจัดเสนาแห่งมัจจุ เหมือนช้างกำจัดเรือนไม้อ้อฉะนั้น" ดังนี้ เป็นปทัฏฐานของปัญญินทรีย์ ฯ ปทัฏฐานเหล่านี้ เป็นเทศนา ฯ

เหตุในการประกอบ (ความเพียร) ของสัตว์ทั้งหลายผู้ไม่ประกอบ(คือผู้มีญาณไม่แก่กล้า) และความริเริ่มของสัตว์ทั้งหลายผู้ประกอบอยู่(ผู้มีญาณแก่กล้า) ฯ

ในการไม่ประกอบและการประกอบทั้ง 2 นั้น สัตว์เหล่าใด มีญาณไม่แก่กล้า ย่อมไม่ประกอบ สัตว์ผู้ไม่ประกอบนั้น เป็นผู้มีความประมาทเป็นมูลย่อมไม่ประกอบเพราะความประมาทใด ความประมาทนั้น มี 2 อย่าง คือ มีตัณหาเป็นมูล และมีอวิชชาเป็นมูล ฯ ในความประมาททั้ง 2 นั้น สัตว์ผู้มีอวิชชาเป็นมูล บุคคลผู้ประมาทใด อันความไม่รู้หุ้มห่อแล้ว ย่อมไม่รู้ฐานะที่ควรรู้ว่า "ขันธ์ 5 เหล่านี้ มีความเกิดขึ้นและมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา" ความประมาทอันมีความไม่รู้นี้ ชื่อว่า ความประมาทมีอวิชชาเป็นมูล ฯ ความประมาทใดมีตัณหาเป็นมูล ความประมาทนั้นมี 3 อย่าง คือ สัตว์ผู้มีความอยาก(ผู้ดิ้นรน) แสวงหาอยู่เพื่อโภคะทั้งหลายที่ยังไม่เกิดขึ้นเพื่อให้เกิดขึ้น ย่อมถึงความประมาทใด ความประมาทนี้ 1 สัตว์ผู้มีความอยากรักษาอยู่ เพื่อให้โภคะทั้งหลายที่เกิดขึ้นแล้ว ตั้งอยู่ ย่อมถึงความประมาทใด อันมีการรักษาเป็นนิมิต ความประมาทนี้ 1 สัตว์ผู้มีความอยากบริโภคอยู่ซึ่งโภคะที่มีอยู่ย่อมถึงความประมาทใดอันมีการบริโภคเป็นนิมิต ความประมาทนี้ 1 เพราะฉะนั้นความประมาทที่มีตัณหาเป็นมูลจึงมี 3 อย่าง ความประมาท 4 อย่างนี้ คือ ความประมาทด้วยอวิชชาอย่าง 1 ด้วยตัณหา 3 อย่าง มีอยู่ในโลก ฯ

ในอวิชชาและตัณหานั้น นามกาย (คือการประชุมแห่งนามมีผัสสะเป็นต้น)เป็นปทัฏฐานแห่งอวิชชา ฯ รูปกาย (คือ การประชุมแห่งรูปมีปฐวีเป็นต้น)เป็นปทัฏฐานแห่งตัณหา ฯ ข้อนั้น เพราะเหตุไร เพราะความยึดมั่นของตัณหาตั้งอยู่แล้วในสัตว์ทั้งหลาย ด้วยสามารถแห่งการยึดถือว่า เป็นเรา เป็นของเราในรูปธรรมทั้งหลาย เพราะฉะนั้น รูปกายจึงเป็นปทัฏฐาน (เหตุให้เกิดขึ้น)แห่งตัณหา ความหลงใหลในอรูปธรรมทั้งหลาย ตั้งอยู่แล้วในหมู่สัตว์ เพราะความที่ธรรมทั้งหลายมีผัสสะเป็นต้น มีภาวะของตนละเอียดยิ่ง และเพราะการแยกฆนะแห่งอารมณ์ โดยกิจที่สืบต่อและการประชุมกันกระทำได้โดยยากเพราะฉะนั้น อรูปกายจึงเป็นปทัฏฐานแห่งอวิชชา ฯ

ในรูปกายและนามกายเหล่านั้น รูปขันธ์ ชื่อว่า รูปกาย (การประชุมแห่งรูป) อรูปขันธ์ 4 ชื่อว่า นามกาย (การประชุมแห่งนาม) ฯ ขันธ์ 5 เหล่านี้

ชื่อว่า มีอุปาทาน ด้วยอุปาทาน เป็นไฉน

ขันธ์ 5 นี้ ชื่อว่า มีอุปาทาน ด้วยตัณหาที่เป็นอุปาทาน และอวิชชาที่เป็นอุปาทาน ฯ ในตัณหาและอวิชชานั้น ตัณหาเป็นอุปาทาน 2 อย่าง คือ กามุปาทานและสีลัพพตุปาทาน ฯ อวิชชาเป็นอุปาทาน 2 อย่าง คือ ทิฏฐุปาทานและอัตตวาทุปาทาน ฯ โลกียขันธ์ เป็นขันธ์ที่มีอุปาทาน 4 เหล่านี้ ขันธปัญจกะที่มีอุปาทานนี้ ชื่อว่า ทุกขสัจจะ ฯ อุปาทาน 4 เหล่าใด เป็นเหตุแห่งทุกข์หมวด 4 แห่งอุปาทานนี้ ชื่อว่า สมุทัยสัจจะ ฯ ขันธ์ 5 ที่มีอุปาทานเป็นทุกข์เพราะเป็นวัตถุแห่งทุกข์ ฯ พระผู้มีพระภาคเจ้า ย่อมทรงแสดงธรรมอันสมควรแก่เวไนยสัตว์ มีคำว่า "ท่านทั้งหลาย จงริเริ่ม" เป็นต้น เพื่อการกำหนดรู้และเพื่อการละขันธ์ 5 ที่มีอุปาทานเหล่านั้น คือ เพื่อการกำหนดรู้ทุกข์ เพื่อการละสมุทัย ฯ

[30] ในความประมาท 4 ที่มีตัณหาเป็นมูล 3 และ ที่มีอวิชชาเป็นมูล 1 ที่กล่าวมานั้น, ความประมาทที่มีตัณหาเป็นมูล 3 คือ ยึดติดโภคะที่ยังไม่มี แล้วหาทางมีไว้ 1, ยึดติดโภคะที่มีอยู่ แล้วเก็บเอาไว้บ้าง 1, หรือ ยึดติดโภคะที่มีอยู่ แล้วใช้สอยไปบ้าง 1, การรักษาจิต ด้วยการเข้าใจแทงตลอดความประมาทที่มีตัณหาเป็นมูล 3 นั้น ซึ่งก็คือ การหลีกออกจากความประมาท, นี้คือ สมถะฯ

สมถะที่ว่านี้ เกิดอย่างไร? สมถะเกิดในขณะที่บุคคลรู้อัสสาทะแห่งกามโดยความอัสสาทะ, รู้อาทีนวะแห่งกามโดยความอาทีนวะ, รู้นิสสรณะแห่งกามโดยความนิสสรณะ, รู้โอการะ, รู้สังกิเลส, รู้โวทาน, และรู้อานิสงส์ของเนกขัมมะ.

การวีมังสา (ทุพพละ) และ การอุปปริกขา (พลวะ) ที่เกิดขึ้นเมื่อมีสมถะดังกล่าวเกิด (เป็นปาทกฌาน) นี้คือ วิปัสสนา. เพราะการเห็นโดยสภาวะอันวิเศษ ธรรมทั้ง 2 เหล่านี้ คือสมถะและวิปัสสนา ย่อมถึงการบริบูรณ์ด้วยภาวนา เมื่อสมถะและวิปัสสนาทั้ง 2 เจริญอยู่ ธรรมทั้ง 2 คือ ตัณหาและอวิชชา ย่อมถูกทำลาย เมื่อตัณหาและอวิชชาทั้ง 2 ถูกทำลายแล้ว อุปาทาน 4 ย่อมดับ ฯ เพราะความดับแห่งอุปาทาน ความดับแห่งภพย่อมมี เพราะความดับแห่งภพ ความดับแห่งชาติย่อมมี เพราะความดับแห่งชาติ ชรา มรณะ โสกะปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส ย่อมดับ ฯ ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งหมดนั้นย่อมมีอย่างนี้ ฯ

เพราะฉะนั้น สัจจะ 2 นัยแรก เป็นทุกข์และเป็นสมุทัย สมถะและวิปัสสนาเป็นมรรค การดับภพเป็นพระนิพพาน ฯ สัจจะ 4 เหล่านี้ท่านยกขึ้นแสดงด้วยสามารถแห่งอาวัฏฏนะ (การหมุนไป) แห่งธรรมที่เป็นวิสภาคะและสภาคะ ด้วยประการฉะนี้ เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสไว้ว่า "อารมฺภถ นิกฺกมถ" เป็นต้น ฯ

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า "ต้นไม้ เมื่อรากหาอันตรายมิได้ มั่นคงอยู่ แม้ถูกตัดแล้ว ก็กลับงอกขึ้นได้ ฉันใด ทุกข์นี้ เมื่อบุคคลยังถอนเชื้อ (อนุสัย) ตัณหาขึ้นไม่ได้แล้วย่อมเกิดขึ้นบ่อย ๆ แม้ฉันนั้น" ฯ

ถามว่า ตัณหานี้ ตัณหา (ที่เป็นเชื้อ) นั้น เป็นไฉน

ตอบว่า ภวตัณหา (เพราะยินดีในการเกิด) ฯ

อนุสัยใด เป็นปัจจัยแก่ธรรม คือ ภวตัณหานั้น อนุสัยนี้ คือ อวิชชาเพราะภวตัณหา มีอวิชชาเป็นปัจจัย ฯ กิเลสทั้ง 2 คือ ตัณหาและอวิชชานี้เป็นอุปาทาน 4 ขันธ์เหล่าใด มีอุปาทานด้วยอุปาทาน 4 เหล่านั้น ขันธ์นี้เป็นทุกขสัจจะ อุปาทาน 4 เป็นสมุทยสัจจะ ปัญจขันธ์เป็นที่ตั้งแห่งทุกข์ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงแสดงธรรม เพื่อการกำหนดรู้ทุกข์และเพื่อการละสมุทัยแห่งอุปาทานขันธ์ 5 นั้น ฯ

บุคคลย่อมถอนขึ้นซึ่งตัณหานุสัยได้ด้วยธรรมใด ธรรมนั้น เป็นสมถะฯ

บุคคลย่อมกั้นเสียซึ่งอวิชชาอันเป็นปัจจัยแก่ตัณหานุสัยได้ด้วยธรรมใด ธรรมนั้นเป็นวิปัสสนา ฯ ธรรมทั้ง 2 คือ สมถะและวิปัสสนาเหล่านี้ ย่อมถึงการบริบูรณ์ด้วยภาวนา ฯ ในธรรมทั้ง 2 นั้น ชื่อว่าเจโตวิมุตติ (การหลุดพ้นทางใจ) เพราะสำรอกราคะเป็นผลของสมถะ ชื่อว่าปัญญาวิมุตติ (การหลุดพ้นทางปัญญา)เพราะสำรอกอวิชชาเป็นผลของวิปัสสนา ฯ ด้วยประการฉะนี้ สัจจะ 2 เบื้องต้นเป็นทุกขสัจจะและสมุทยสัจจะ สมถะและวิปัสสนา เป็นมัคคสัจจะ การหลุดพ้นทั้ง 2 เป็นนิโรธสัจจะ ฯ พึงทราบสัจจะ 4 เหล่านี้ โดยทำนองที่กล่าวแล้ว ฯ

เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า "ต้นไม้ เมื่อรากหาอันตรายมิได้"เป็นต้น ฯ

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า "การไม่ทำบาปทั้งปวง การยังกุศลให้ถึงพร้อม การชำระจิตให้ผ่องแผ้ว นี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย" ดังนี้ ฯ

ทุจริต 3 คือ กายทุจริต 1 วจีทุจริต 1 และมโนทุจริต 1 ชื่อว่า บาปทั้งปวง อกุศลกรรมบถ 10 คือ ปาณาติบาต 1 อทินนาทาน 1 กาเมสุมิจฉาจาร 1 มุสาวาท 1 ปิสุณาวาจา 1 ผรุสวาจา 1 สัมผัปปลาปะ 1 อภิชฌา 1พยาบาท 1 และมิจฉาทิฏฐิ 1 ชื่อว่า บาปทั้งปวง ฯ กรรม คือการกระทำบาปทั้งปวงนั้น มี 2 อย่างคือ เจตนากรรมและเจตสิกกรรม ฯ

บรรดากรรมทั้ง 2 นั้น ปาณาติบาต 1 ปิสุณาวาจา 1 ผรุสวาจา 1ทั้ง 3 นี้ มีโทสะเป็นสมุฏฐาน ฯ อทินนาทาน 1 กาเมสุมิจฉาจาร 1 มุสาวาท 1ทั้ง 3 นี้ มีโลภะเป็นสมุฏฐาน ฯ สัมผัปปลาปะนี้ มีโมหะเป็นสมุฏฐาน เหตุ 7ประการ เหล่านี้ เป็นเจตนากรรม ฯ อกุศลมูล คือ อภิชฌาและโลภะ อกุศลมูลคือ พยาบาทและโทสะ มิจฉามรรค คือ มิจฉาทิฏฐิ เหตุ 3 เหล่านี้ เป็นเจตสิกกรรม ฯ ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า "เจตนากมฺมํเจตสิกกมฺมํ" ดังนี้ ฯ

อกุศลมูล (มีโลภะเป็นต้น) เมื่อถึงปโยคะ ย่อมถึงอคติ 4 อย่าง คือฉันทาคติ โทสาคติ ภยาคติ และโมหาคติ ฯ ในอคติ 4 นั้น บุคคลย่อมถึงอคติใดเพราะฉันทะ อคตินี้ มีโลภะเป็นสมุฏฐาน ฯ บุคคลย่อมถึงอคติใดเพราะโทสะอคตินี้ มีโทสะเป็นสมุฏฐาน ฯ บุคคลย่อมถึงอคติใดเพราะความกลัว และเพราะความหลง อคตินี้ มีโมหะเป็นสมุฏฐาน ฯ ในอกุศลมูลเหล่านั้น โลภะอันบุคคลย่อมละด้วยอสุภภาวนา โทสะอันบุคคลย่อมละด้วยเมตตาและกรุณา ฯ โมหะย่อมละได้ด้วยปัญญา ฯ อนึ่ง โลภะอันบุคคลย่อมละได้ด้วยอุเบกขา โทสะอันบุคคลละได้ด้วยเมตตาและกรุณา โมหะ (โมหาคติ) ย่อมถึงการละ คือการตั้งอยู่ไม่ได้ด้วยมุทิตา ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า "การไม่ทำบาปทั้งปวง" ดังนี้ ฯ

[31] มิจฉัตตะ 8 คือ มิจฉาทิฏฐิ 1 มิจฉาสังกัปปะ 1 มิจฉาวาจา 1 มิจฉากัมมันตะ 1 มิจฉาอาชีวะ 1 มิจฉาวายามะ 1 มิจฉาสติ 1 และมิจฉาสมาธิ 1ชื่อว่า บาปทั้งปวง ฯ มิจฉัตตะนี้ ท่านเรียกว่า บาปทั้งปวง ฯ กิริยาที่ไม่กระทำการไม่กระทำ การไม่ประพฤติตามซึ่งมิจฉัตตะ 8 เหล่านี้ กิริยาที่ไม่กระทำเป็นต้นนี้ ท่านเรียกว่า การไม่ทำบาปทั้งปวง ฯ

เมื่อมิจฉัตตะ 8 อันบุคคลละได้แล้ว สัมมัตตะ 8 ย่อมถึงพร้อม ฯ กิริยาที่กระทำ การกระทำ การประพฤติตามสัมมัตตะ 8 การถึงพร้อมด้วยบททั้ง 3 นี้ ท่านเรียกว่า การยังกุศลให้ถึงพร้อม ฯ คำว่า "การชำระจิตให้ผ่องแผ้ว"ดังนี้ ได้แก่ ย่อมแสดงถึงการกระทำ คือ การเจริญมรรคที่เป็นอดีต เมื่อจิตผ่องแผ้ว ย่อมยังขันธ์ 5 ให้ผ่องแผ้ว สมดังพระดำรัส ที่ตรัสไว้ว่า "ดูกรภิกษุทั้งหลาย สัตว์จักอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ เพื่อความหมดจดแห่งจิต" ดังนี้จริงอยู่ การยังจิตให้ผ่องแผ้วมี 2 อย่าง ได้แก่ การละนิวรณ์และการถอนขึ้นซึ่งอนุสัยฯ ภูมิที่ยังจิตให้ผ่องแผ้วก็มี 2 คือ ทัสสนภูมิและภาวนาภูมิ ฯ

บรรดาธรรมทั้งหลายที่พระองค์ทรงแสดงแล้ว ในคาถานั้น ขันธปัญจกะใดยังจิตให้ผ่องใสโดยการแทงตลอดด้วยปริญญา ขันธปัญจกะนี้ เป็นทุกขสัจจะขันธปัญจกะที่ยังจิตให้ผ่องใสจากตัณหาและสังกิเลสใด ตัณหาและสังกิเลสนี้เป็นสมุทยสัจจะ ขันธปัญจกะที่ยังจิตให้ผ่องใสด้วยองค์แห่งอริยมรรคใดมรรคนี้เป็นมัคคสัจจะ ขันธปัญจกะใดผ่องแผ้วแล้วโดยบรรลุถึงอสังขตธาตุอสังขตธาตุธรรมนี้ เป็นนิโรธ คือ เป็นนิโรธสัจจะ ฯ สัจจะ 4 เหล่านี้ พระองค์ทรงยกขึ้นแสดงด้วยอำนาจแห่งความหมุนไปแห่งสภาคะและวิสภาคะ ด้วยเหตุนั้น จึงตรัสว่า "การไม่ทำบาปทั้งปวง" ดังนี้ ฯ

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า "ธรรมแล ย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม เหมือนร่มคันใหญ่มีประโยชน์ในฤดูฝนนี้ นี้เป็นอานิสงส์ในธรรมอันบุคคลประพฤติดีแล้วเพราะผู้มีปกติประพฤติธรรมย่อมไม่ไปสู่ทุคติ" ดังนี้ ฯ

ชื่อว่า ธรรมมี 2 อย่าง คือ อินทริยสังวรและมรรค ชื่อว่า ทุคติ ก็มี 2 อย่าง คือ อบายภูมิทั้งหลาย ชื่อว่าทุคติ เพราะการเปรียบเทียบกับเทวดาหรือมนุษย์ และการเกิดทั้งปวง ชื่อว่า ทุคติ เพราะเปรียบกับพระนิพพาน ฯ

ในบาทแรกแห่งคาถานั้น การที่บุคคลไม่ยังศีลสังวรให้ขาด อันใด นี้ชื่อว่า ธรรมที่บุคคลประพฤติดีแล้ว ย่อมรักษาตนจากอบายทั้งหลาย ฯ โดยประการตามที่กล่าวนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า "ดูกรภิกษุทั้งหลาย คติของบุคคลผู้มีศีลมี 2 อย่าง คือ เทวดาและมนุษย์" ฯ

เรื่องนายคามณีนายคามณีชื่อว่า อสิพันธกบุตร ในนิคมชื่อว่านาลันทา ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พวกพราหมณ์ชาวปัจฉาภูมิ มีคณโฑน้ำติดตัว ประดับพวงมาลัยสาหร่าย อาบน้ำทุกเช้าเย็น บำเรอไฟ พราหมณ์เหล่านั้น ชื่อว่ายังสัตว์ที่ตายแล้ว ทำกาละแล้วให้เป็นขึ้น ให้รู้ชอบชวนให้เข้าสวรรค์ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า สามารถกระทำให้สัตว์โลกทั้งหมด เมื่อตายไป พึงเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ได้หรือ"พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า "ดูกรนายคามณี ถ้าอย่างนั้น เราจักย้อนถามท่านในข้อนี้ ปัญหาควรแก่ท่านโดยประการใด ท่านพึงพยากรณ์ปัญหาข้อนั้นโดยประการนั้นท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน บุรุษในโลกนี้ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม พูดเท็จ พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อ มากไปด้วยอภิชฌา มีจิตพยาบาท มีความเห็นผิด หมู่มหาชนมาประชุมกันแล้วพึงสวดวิงวอน สรรเสริญ ประนมมือเดินเวียนรอบผู้นั้นว่า ขอบุรุษนี้ เมื่อตายไปจงเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน บุรุษนั้นเมื่อตายไป พึงเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์เพราะเหตุแห่งการสวดวิงวอน เพราะเหตุแห่งการสรรเสริญ หรือเพราะเหตุแห่งการประนมมือเดินเวียนรอบ ดังนี้หรือ"นายคามณี กราบทูลว่า "ไม่ใช่อย่างนั้น พระเจ้าข้า ฯ"พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า "ดูกรนายคามณี เปรียบเหมือนบุรุษโยนหินก้อนหนาใหญ่ลงในห้วงน้ำลึก หมู่มหาชนพึงมาประชุมกันแล้วสวดวิงวอน สรรเสริญ ประนมมือเดินเวียนรอบหินนั้นว่า ขอจงโผล่ขึ้นเถิดท่านก้อนหิน ขอจงลอยขึ้นเถิดท่านก้อนหิน ขอจงขึ้นบกเถิดท่านก้อนหิน ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ก้อนหินนั้นพึงโผล่ขึ้น พึงลอยขึ้น หรือพึงขึ้นบก เพราะเหตุแห่งการสวดวิงวอน สรรเสริญ ประนมมือเดินเวียนรอบของหมู่มหาชนบ้างหรือ"นายคามณีทูลว่า "ไม่ใช่อย่างนั้น พระเจ้าข้า ฯ"พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า "ดูกรนายคามณี ฉันนั้นเหมือนกัน บุรุษคนใดฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ประพฤติผิดในกาม พูดเท็จ พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อ มากไปด้วยอภิชฌา มีจิตพยาบาท มีความเห็นผิด หมู่มหาชนพึงมาประชุมกันแล้วสวดวิงวอน สรรเสริญ ประนมมือเดินเวียนรอบบุรุษนั้นว่า ขอบุรุษนี้เมื่อตายไป จงเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ก็จริง ถึงอย่างนั้น บุรุษนั้น เมื่อตายไป พึงเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ฯ"ว่าด้วยสัตว์ผู้เข้าถึงสวรรค์"ดูกรนายคามณี ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน บุรุษในโลกนี้เว้นปาณาติบาต อทินนาทาน กาเมสุมิจฉาจาร มุสาวาท ปิสุณาวาจาผรุสวาจา สัมผัปปลาปะ ไม่มากไปด้วยอภิชฌา มีจิตไม่พยาบาท มีความเห็นชอบ หมู่มหาชนพึงมาประชุมกันแล้วสวดวิงวอน สรรเสริญ ประนมมือ เดินเวียนรอบบุรุษนั้นว่า ขอบุรุษนี้ เมื่อตายไป จงเข้าถึงอบาย ทุคติวินิบาต นรก ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน บุรุษนั้นเมื่อตายไป พึงเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก เพราะเหตุแห่งการสวดวิงวอน สรรเสริญหรือเพราะเหตุแห่งการประนมมือเดินเวียนรอบของหมู่มหาชนบ้างหรือ "นายคามณีทูลว่า "ไม่ใช่อย่างนั้น พระเจ้าข้า ฯ"พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า "ดูกรนายคามณี เปรียบเหมือนบุรุษลงยังห้วงน้ำลึกแล้ว พึงทุบหม้อเนยใส หรือหม้อน้ำมัน ก้อนกรวดหรือก้อนหินที่มีอยู่ในหม้อนั้น พึงจมลง เนยใสหรือน้ำมันที่มีอยู่ในหม้อนั้นพึงลอยขึ้น หมู่มหาชนพึงมาประชุมกันแล้วสวดวิงวอน สรรเสริญ ประนมมือเดินเวียนรอบเนยใสหรือน้ำมันนั้นว่า ขอจงจมลงเถิดท่านเนยใสและท่านน้ำมัน ขอจงดำลงเถิดท่านเนยใสและท่านน้ำมัน ขอจงลงภายใต้เถิดท่านเนยใสและท่านน้ำมันท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน เนยใสและน้ำมันนั้น พึงจมลง พึงดำลง พึงลงภายใต้ เพราะเหตุแห่งการสวดวิงวอน สรรเสริญ หรือเพราะเหตุแห่งการประนมมือเดินเวียนรอบ ของหมู่มหาชนบ้างหรือ"นายคามณีทูลว่า "ไม่ใช่อย่างนั้น พระเจ้าข้า ฯ"พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า "ดูกรนายคามณี ฉันนั้นเหมือนกัน บุรุษใดเว้นจากปาณาติบาตอทินนาทาน กาเมสุมิจฉาจาร มุสาวาท ปิสุณาวาจา ผรุสวาท สัมผัปปลาปะ ไม่มากไปด้วยอภิชฌา มีจิตไม่พยาบาท มีความเห็นชอบหมู่มหาชนจะมาประชุมแล้วสวดวิงวอน สรรเสริญ ประนมมือเดินเวียนรอบบุรุษนั้นว่า ขอบุรุษนี้ เมื่อตายไป จงเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาตนรก ก็จริง ถึงอย่างนั้น บุรุษนั้นเมื่อตายไป พึงเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ฯ

ด้วยคำตามที่กล่าวนี้ ธรรมที่่บุคคลประพฤติดีแล้ว ย่อมรักษาให้พ้นจากอบายทั้งหลาย ฯ"ในคาถานั้น ความคมกล้า คือ ความที่อริยมรรคเป็นธรรมมีประมาณยิ่งอันใด ธรรมนี้ประพฤติดีแล้ว ย่อมรักษาให้พ้นจากการเกิดทั้งหลายทั้งปวง ฯ

ด้วยเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า "เพราะเหตุนั้น ภิกษุมีความดำริชอบเป็นโคจร มุ่งสัมมาทิฏฐิเป็นเบื้องหน้า รู้ความเกิดขึ้นและความเสื่อมไปแล้ว ครอบงำถีนมิทธะพึงละทุคติทั้งปวงได้" ดังนี้ ฯ

[32] ในคาถานั้น ตัณหาและอวิชชาเป็นเหตุแห่งทุคติทั้งหลาย และธรรมทั้ง 2นั้นเป็นอุปาทาน 4 ฯ ขันธ์เหล่าใดที่มีอุปาทาน 4 เหล่านั้น ขันธปัญจกะนี้เป็นทุกขสัจจะ อุปาทาน 4 เหล่านี้เป็นสมุทยสัจจะ ขันธ์ 5 เหล่าใด เป็นที่ตั้งแห่งทุกข์ พระผู้มีพระภาคเจ้าย่อมทรงแสดงธรรมเพื่อการรู้ทุกข์ เพื่อการละสมุทัยแห่งขันธ์เหล่านั้น ฯ

บรรดาสัจจะทั้ง 2 นั้น อินทรีย์ 5 ที่เป็นรูปเป็นปทัฏฐาน (เหตุเกิด) แห่งตัณหา มนินทรีย์เป็นปทัฏฐานแห่งอวิชชา ฯ บุคคลเมื่อรักษาอินทรีย์ 5 ที่เป็นรูป ยังสมาธิให้เจริญอยู่ ย่อมข่มซึ่งตัณหา เมื่อรักษาซึ่งมนินทรีย์ ยังวิปัสสนาให้เจริญอยู่ ย่อมข่มซึ่งอวิชชา ฯ อุปาทาน 2 คือ กามุปาทานและสีลัพพตุปาทาน อันบุคคลย่อมละได้ ด้วยการข่มตัณหา ฯ อุปาทาน 2 คือทิฏฐุปาทานและอัตตวาทุปาทาน อันบุคคลย่อมละได้ด้วยการข่มอวิชชา ฯ

อุปาทาน 4 อันบุคคลละได้แล้ว ธรรมทั้ง 2 คือ สมถะและวิปัสสนาย่อมถึงการบริบูรณ์ด้วยภาวนา หมวด 2 อันประเสริฐ กล่าวคือ สมถะและวิปัสสนานี้ท่านเรียกว่า การประพฤติพรหมจรรย์ ฉะนี้แล ฯ

ในการประพฤติพรหมจรรย์นั้น สามัญญผล 4 คือ โสตาปัตติผล 1สกทาคามิผล 1 อนาคามิผล 1 และอรหัตตผลอันเลิศ 1 ทั้ง 4 นี้เป็นผลของการประพฤติพรหมจรรย์ ฯ สัจจะ 2 ในเบื้องต้น เป็นทุกขสัจจะและเป็นสมุทยสัจจะ ฯ สมถะและวิปัสสนาเป็นการประพฤติพรหมจรรย์และเป็นมัคคสัจจะ ฯ

ผลแห่งการประพฤติพรหมจรรย์และอสังขตธาตุที่เป็นอารมณ์ของพรหมจรรย์นั้นเป็นนิโรธสัจจะ ฯ สัจจะ 4 เหล่านี้แล ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า จึงตรัสว่า "ธรรมแล ย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม" เป็นต้น เพื่อรู้สัจจะ 4 เหล่านั้น ฯ

ในคาถาที่พระผู้มีพระภาคเจ้าแสดงแล้วนั้น ขันธปัญจกะใด ย่อมรักษาโดยการแทงตลอดด้วยปริญญา ขันธปัญจกะนี้เป็นทุกขสัจจะ ขันธปัญจกะใดย่อมรักษาให้พ้นจากตัณหาและสังกิเลสใด ตัณหาและสังกิเลสนี้เป็นสมุทยสัจจะขันธปัญจกะที่ผ่องแผ้ว ย่อมรักษาโดยธรรมใด ธรรมนี้เป็นมัคคสัจจะขันธปัญจกะใด อันบุคคลบรรลุอสังขตธาตุ เป็นจิตผ่องใส ธรรมที่เป็นอสังขตธาตุนี้เป็นนิโรธสัจจะ ฯ

อาวัฏฏหาระ ท่านประกอบไว้ด้วยสามารถแห่งปทัฏฐาน (เหตุ) ตามที่ได้เพราะเหตุนั้น ท่านพระมหากัจจายนะ จึงกล่าวว่า "บุคคลแสวงหาในปทัฏฐานหนึ่ง หมุนไปสู่ปทัฏฐานที่เหลือ" เป็นต้นฉะนี้ แล ฯ

จบ อาวัฏฏหารวิภังค์

[33] บรรดาหาระ 16 เหล่านั้น หาระคือ วิภัตติ เป็นไฉน

นิทเทสว่า "ธมฺมญฺจ ปทฏฺฐานํ ภูมิญฺจ" เป็นต้นเป็นหาระ คือ วิภัตติ ฯ

พระสูตรทั้ง 2 คือ วาสนาภาคิยสูตรและนิพเพธภาคิยสูตร ปฏิปทา 2 คือปุญญภาคิยปฏิปทาและผลภาคิยปฏิปทา ศีล 2 คือ สังวรศีลและปหานศีล ฯ ในพระสูตรทั้ง 2 นั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงวาสนาภาคิยสูตร ด้วยปฏิปทาอันเป็นส่วนแห่งบุญแก่บุคคลใด บุคคลนั้น ตั้งอยู่ในสังวรศีลแล้ว ย่อมประพฤติพรหมจรรย์ด้วยพรหมจรรย์นั้น และทรงแสดงนิพเพธภาคิยสูตร ด้วยปฏิปทาที่เป็นส่วนแห่งผลแก่บุคคลใด บุคคลนั้นตั้งอยู่ในปหานศีลแล้ว ย่อมเป็นผู้ประพฤติพรหมจรรย์ด้วยพรหมจรรย์นั้น ฯ

ในพระสูตรทั้ง 2 นั้น วาสนาภาคิยสูตร เป็นไฉน

เทศนาว่า ทานกถา สีลกถา สัคคกถา กามาทีนวกถา เนกขัมมนิสังสกถาชื่อว่า วาสนาภาคิยสูตร ฯ

ในพระสูตรเหล่านั้น นิพเพธภาคิยสูุตร เป็นไฉน

เทศนาใด ประกาศสัจจะ เทศนานั้น ชื่อว่า นิพเพธภาคิยสูตร ฯ ในวาสนาภาคิยสูตร ไม่มีวุฏฐานคามินีวิปัสสนา (อันเป็นปทัฏฐานแห่งอริยมรรค)ไม่มีอริยมรรค ไม่มีอริยผล แต่ในนิพเพธภาคิยสูตร มีวุฏฐานคามินีวิปัสสนามีอริยมรรค มีอริยผล ฯ

พระสูตรทั้ง 4 เหล่านี้ คือ วาสนาภาคิยะ นิพเพธภาคิยะ สังกิเลสภาคิยะและอเสกขภาคิยะ ภูมิแห่งญาณ (ในพระสูตรนั้น) มีประมาณเพียงไร บัณฑิตพึงวิจัยเทศนาแห่งพระสูตรทั้ง 4 เหล่านี้ โดยผล โดยศีล โดยพรหมจรรย์ด้วยวิจยหาระโดยประการทั้งปวง แล้วพึงประกอบด้วยยุตติหาระ มีประมาณเพียงนั้น (จากนั้นพึงทราบธรรมที่เป็นสาธารณะและอสาธารณะในพระสูตรต่อไป) ฯ

[34] บรรดาพระสูตรเหล่านั้น ธรรมที่ทั่วไป (สาธารณะ) เป็นไฉน

ธรรมที่ทั่วไปมี 2 อย่างคือ ทั่วไปโดยชื่อ (นามสาธารณะ) และทั่วไปโดยวัตถุที่อาศัย (วัตถุสาธารณะ) ก็หรือว่า ธรรมชาติแม้อื่นที่มีลักษณะอย่างนี้คือ เสมอกันโดยกิจและโดยปัจจัย เป็นต้นกิเลสอันบุคคลพึงละด้วยทัสสนะ ทั่วไปแก่มิจฉัตตนิยตบุคคล 6 จำพวกมีผู้ฆ่ามารดาเป็นต้น และอนิยตบุคคล 4 จำพวก มีทุคติอเหตุกบุคคลเป็นต้นกามราคะและพยาบาท ทั่วไปแก่ปุถุชนและพระโสดาบัน อุทธัมภาคิยสังโยชน์ทั่วไปแก่ปุถุชนและพระอนาคามี โลกิยสมาบัติทั้งปวง (รูปาวจรสมาบัติ อรูปาวจรสมาบัติ ทิพพวิหารสมาบัติ พรหมวิหารสมาบัติ เป็นต้น) ที่พระอริยสาวกเข้าถึงได้ทั่วไปกับผู้ที่ยังไม่ปราศจากราคะ จริงอยู่ โลกิยสมาบัติเป็นธรรมทั่วไป ย่อมไม่ล่วงอารมณ์ของตน (อันเกิดมาก่อน) ไปสู่อารมณ์อื่น ๆ (อันเกิดในภายหลัง) แม้บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรมอันเป็นอวีตราคะนี้ ย่อมเป็นไปล่วงซึ่งธรรมนั้น เหล่านี้ เป็นธรรมทั่วไป

ในพระสูตรนั้น ธรรมที่ไม่ทั่วไป (อสาธารณะ) เป็นไฉน

บุคคลพึงแสวงหาเสกขธรรมและอเสกขธรรม ด้วยอำนาจแห่งธรรมที่ควรละและไม่ควรละ โดยการเทียบเคียงกับเทศนาต่อไป กามราคะและพยาบาทเป็นสาธารณะแก่บุคคลผู้ตั้งอยู่ในปฐมมรรคและโสดาปัตติผล แต่สภาพธรรมคือมรรคกับผลเป็นอสาธารณะ 2. อุทธัมภาคิยสังโยชน์เป็นสาธารณะแก่ผู้ตั้งอยู่ในปฐมมรรคและอนาคามิผล แต่สภาพธรรมคือมรรคกับผลเป็นอสาธารณะกัน ชื่อของพระเสกขะทั้งปวงเป็นสาธารณะ สภาพธรรมเป็นอสาธารณะ ชื่อของผู้ดำเนินไปถึงอริยมรรคแล้วเป็นสาธารณะ สภาพธรรมเป็นอสาธารณะ เสกขศีลของพระเสกขะทั้งปวงเป็นสาธารณะ สภาพธรรมเป็นอสาธารณะ บัณฑิตพึงแสวงหาเทศนาโดยเทียบเคียงกับธรรมที่เลวปานกลางและอุกฤษฎ ์ ด้วยการพิจารณาความแตกต่างกัน ด้วยประการฉะนี้ ฯ

การจำแนกปทัฏฐานทัสสนภูมิ (ปฐมมรรค) เป็นปทัฏฐาน แห่งการก้าวลงสู่สัมมัตตนิยาม ฯ

ภาวนาภูมิ (การเจริญมรรคเบื้องบน) เป็นปทัฏฐาน แห่งการบรรลุผลเบื้องบน ฯ

ทุกขาปฏิปทาทันธาภิญญาเป็นปทัฏฐานแห่งสมถะ ฯ สุขาปฏิปทาขิปปาภิญญาเป็นปทัฏฐานแห่งวิปัสสนา ฯ

บุญญกิริยาวัตถุ คือ ทานมัย เป็นปทัฏฐานสาธารณะแห่งเสียงชักชวนจากคนอื่น ฯ บุญญกิริยาวัตถุ คือ ศีลมัย เป็นปทัฏฐานสาธารณะแห่งจินตามยปัญญาบุญญกิริยาวัตถุ คือ ภาวนามัย เป็นปทัฏฐานสาธารณะแห่งภาวนามยปัญญา ฯ

บุญญกิริยาวัตถุ คือ ทานมัย เป็นปทัฏฐานสาธารณะแห่งเสียงชักชวนจากคนอื่นและสุตมยปัญญา ฯ บุญญกิริยาวัตถุ คือ ศีลมัย เป็นปทัฏฐานสาธารณะแห่งจินตามยปัญญาและโยนิโสมนสิการ ฯ บุญญกิริยาวัตถุ คือภาวนามัย เป็นปทัฏฐานสาธารณะแห่งภาวนามยปัญญาและสัมมาทิฏฐิ ฯ

ปฏิรูปเทสวาสะ เป็นปทัฏฐานสาธารณะแห่งวิเวกและสมาธิ ฯ สัปปุริสูปนิสสยะ เป็นปทัฏฐานสาธารณะแห่งความเลื่อมใสอันมั่นคงในพระรัตนตรัยและสมถะ ฯ อัตตสัมมาปณิธิ เป็นปทัฏฐานสาธารณะแห่งหิริและวิปัสสนา ฯ

การสละอกุศล (ด้วยอำนาจตทังคะเป็นต้น) เป็นปทัฏฐานสาธารณะแห่งการพิจารณากุศล (ปฏิสังขานุปัสสนาปัญญา) และสมาธินทรีย์ (คืออริยมัคคสมาธินทรีย์) ฯ ความที่ธรรมอันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ดีแล้ว (ธมฺมสฺวากฺขาตตา)เป็นปทัฏฐานสาธารณะแห่งการปลูกกุศลมูลและผลสมาบัติ ฯ ความที่พระสงฆ์เป็นผู้ปฏิบัติดีแล้ว (สํฆสุปฏิปนฺนตา) เป็นปทัฏฐานสาธารณะแห่งพระสงฆ์ผู้ดำรงอยู่ดี ฯ สัตถุสัมปทา เป็นปทัฏฐานสาธารณะ (ทั่วไป) แห่งความเลื่อมใสของบุคคลผู้ยังไม่เลื่อมใส และเพื่อความเจริญยิ่งของบุคคลผู้เลื่อมใสแล้ว ฯ ความเป็นผู้มีปาติโมกขสังวรศีลอันไม่กำจัดแล้ว เป็นปทัฏฐานสาธารณะแห่งการข่มบุคคลผู้เก้อยาก และการอยู่ผาสุกแห่งบุคคลผู้มีศีลเป็นที่รัก ฯ

เพราะเหตุนั้น ท่านพระมหากัจจายนะ จึงกล่าวว่า "การจำแนกธรรม และการจำแนกปทัฏฐาน" ดังนี้ ฯ

จบ วิภัตติหารวิภังค์

  1. เนตติปกรณ์ แปลโดยพระคันธสาราภิวังสะ

1)
ในขณะที่ทำการสวดสาธยายอนุคีตินั่นแหละ จะมีความเชื่อมโยงปุพพาปรสนธิอยู่ ให้หาสนธิเหล่านั้นในระหว่างสาธยาย เช่น เบื้องต้นเชื่อมโยงกับท่ามกลางอย่างไร ท่ามกลางเชื่อมโยงกับพี่สุดอย่างไร โดยอรรถะ โดยคำ เป็นต้น
2)
วิจยหาระนี้ พบอย่างย่อในพระไตรปิฎกและอรรถกถาหลาบแห่ง เช่น เรื่องของการเรียนกรรมฐานในวิสุทธิมรรคที่ว่า วิสุทธิมรรค บทที่ 3 กัมมัฏฐานัคคหณนิทเทส (บทที่ว่าด้วย "วิธีเรียนกัมมัฏฐานจากพระอาจารย์กัมมัฏฐาน") ก็แหละ เมื่ออาจารย์สอนกัมมัฏฐานให้อยู่ด้วยอาการอย่างนี้ โยคีบุคคลนั้นพึงตั้งใจฟัง เพื่อท่องจำเอานิมิตนั้นให้ได้ คือ เอาอาการ 9 อย่างนั้นแต่ละอย่างๆ มาผูกไว้ในใจอย่างนี้ว่า "1.คำนี้เป็นบทหลัง, คำนี้เป็นบทหน้า, 2. ความหมายของบทนั้นๆ เป็นอย่างนี้, 3.จุดมุ่งหมายของบทนั้นเป็นอย่างนี้, 4. และบทนี้เป็นคำอุปมาอุปไมย" (จดจำได้ชำนาญนึกหัวถึงท้าย นึกท้ายถึงหัว เหมือนในบทธรรมคุณข้อว่า ความงาม ๓ ของปริยัติธรรม ได้แสดงไว้)