อรรถกถา_สติปัฏฐานสูตร_ฉบับปรับสำนวน

อ.เหตุเกิดพระสูตร

อรรถกถาสติปัฏฐานสูตร

[131] สติปัฏฐานสูตร มีคำเริ่มต้นว่า ข้าพเจ้าสดับมาแล้วอย่างนี้.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า กุรูสุ วิหรติ ความว่า ชนบทแม้แห่งหนึ่ง เป็นที่อยู่ของราชกุมารผู้อยู่ในชนบทชื่อว่า กุรุ

เขาเรียกว่ากุรู ด้วยรุฬหิศัพท์ (คำที่งอกไปจากคำเดิม) (พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จประทับ) ที่กุรุชนบทนั้น.

แต่พระอรรถกถาจารย์ทั้งหลายกล่าวไว้ว่า ในรัชสมัยของพระเจ้ามันธาตุราช

มนุษย์ใน 3 ทวีปได้ยิน (คำเล่าลือ) ว่า ขึ้นชื่อว่าทวีปชมพู เป็นดินแดนที่อุบัติของยอดคน (อุดมบุรุษ) จำเดิมแต่พระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า และพระเจ้าจักรพรรดิทั้งหลาย เป็นถิ่นอภิรมย์อุดมทวีป จึงได้พากันมาพร้อมด้วยพระเจ้าจักรพรรดิมันธาตุราชผู้ทรงส่งจักรแก้วออกหน้าแล้วเสด็จติดตามมายังทวีปทั้ง 4.

จากนั้นมา พระราชาได้ตรัสถามปริณายกแก้วว่า ยังมีหรือไม่ สถานที่ๆ เป็นรมณียสถานยิ่งกว่ามนุษยโลก?

ปริณายกแก้วได้กราบทูลว่า ขอเดชะ พระอาชญาไม่พ้นเกล้า ไฉนใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทจึงตรัสอย่างนี้ ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทมิได้ทอดพระเนตรอานุภาพของดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์หรือ? สถานที่ดวงจันทร์และดวงอาทิตย์เหล่านี้ เป็นรมณียสถานยิ่งกว่ามนุษยโลกนี้แน่.

พระราชาจึงทรงส่งจักรแก้วไปก่อนแล้ว ได้เสด็จไป ณ ที่นั้น.

ท้าวจาตุมมหาราชได้ทราบว่า พระเจ้ามันธาตุราชเสด็จมาแล้ว ทรงดำริว่า พระราชาผู้ทรงฤทธิ์มาก (เสด็จมาแล้ว) เราไม่อาจจะต่อต้านได้ด้วยการรบ จึงได้มอบราชสมบัติของตนถวาย.

พระองค์ทรงรับราชสมบัตินั้นแล้ว ได้ตรัสถามอีกว่า ยังมีอยู่หรือไม่ สถานที่ที่เป็นรมณียสถานยิ่งกว่านี้?

ท้าวจาตุมมหาราชได้กราบทูลถึงดาวดึงสภพแด่พระองค์ว่า พระพุทธเจ้าข้า ดาวดึงสภพเป็นรมณียสถานยิ่งกว่า (นี้). บนดาวดึงสภพนั้น มหาราชทั้ง 4 เหล่านี้เป็นผู้รักษาการ (ปริจาริกา) ของท้าวสักกเทวราชนั้น จะประทับยืนที่พระทวาร ท้าวสักกเทวราชทรงมีฤทธิ์มาก ทรงมีอานุภาพมาก และพระองค์ทรงมีเทวสถานสำหรับใช้เหล่านี้คือ เวชยันตปราสาทสูง 1 โยชน์ สุธรรมาเทวสภาสูง 500 โยชน์ เวชยันตรถสูง 150 โยชน์ ช้างเอราวัณก็สูงเท่านั้น สวนนันทวัน สวนจิตรลดาวัน สวนปารุสกวัน สวนมิสกวัน ประดับประดาด้วยทิพยพฤกษาจำนวนพันต้น ต้นไม้สวรรค์ชื่อปาริฉัตตกะสูง 100 โยชน์ ภายใต้ต้นปาริฉัตตกะนั้นมีพระที่นั่งบัณฑุกัมพลศิลาอาสน์มีสีเหมือนดอกหงอนไก่ ยาว 60 โยชน์ กว้าง 50 โยชน์ สูง 15 โยชน์ ซึ่งอ่อนนุ่ม เมื่อท้าวสักกเทวราชทรงประทับนั่ง พระวรกายจะจมลงครึ่งพระองค์.

ครั้นทรงสดับคำกราบบังคมทูลนั้นแล้ว พระราชามีพระราชประสงค์จะเสด็จไป ณ ดาวดึงสภพนั้น จึงทรงโยนจักรแก้วขึ้นไป. จักรแก้วนั้นประดิษฐานอยู่บนอากาศ1- พร้อมด้วยจตุรงคเสนา.

____________________________

1- ปาฐะเป็น อากาเสน อุฏฺฐหิ ฉบับพม่าเป็น อากาเส ปติฏฺฐาสิ แปลตามพม่า.

ต่อมาจักรแก้วก็ร่อนลงจากท่ามกลางเทวโลกทั้ง 2 ประดิษฐานอยู่ที่พื้นดิน พร้อมด้วยจตุรงคเสนามีปริณายกแก้วเป็นประมุข. พระราชาได้เสด็จไปยังดาวดึงสภพลำพังพระองค์เดียวเท่านั้น.

ท้าวสักกะพอได้ทรงทราบว่า พระเจ้ามันธาตุเสด็จมาเท่านั้น ก็เสด็จต้อนรับพระองค์กราบบังคมทูลว่า ขอเดชะฝ่าละอองธุลีพระบาทปกเกล้าปกกระหม่อม

พระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้าล้นกระหม่อมที่ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทเสด็จมา (นี้เป็น) ราชสมบัติของใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทเอง ขอทูลเชิญปกครองเถิด พระพุทธเจ้าข้า ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อมขอเดชะ

แล้วได้ทรงแบ่งเทวราชสมบัติออกเป็น 2 ส่วน พร้อมด้วยเทพธิดาฟ้อนรำ ได้น้อมถวาย 1 ส่วน.

พระราชาเพียงแต่เสด็จประทับที่ดาวดึงสภพเท่านั้น ความเป็นมนุษย์2- ก็หายไป ความเป็นเทวดาก็ปรากฏขึ้นแทนที่.

____________________________

2- ปาฐะว่า มนุสฺสตฺตภาโว เทวตฺตภาโว ฉบับพม่าเป็น มนุสฺสภาโว เทวภาโว แปลตามพม่า

ได้ทราบว่า พระองค์ประทับนั่งบนพระที่นั่งบัณฑุกัมพลศิลาอาสน์ร่วมกับท้าวสักกะ ด้วยเหตุเพียงลืมพระเนตรขึ้นจึงจะปรากฏแตกต่างกัน. ทวยเทพเมื่อไปสังเกตพระองค์ ก็จะลืมไปในความแตกต่างระหว่างท้าวสักกะกับพระองค์. พระองค์เมื่อทรงเสวยทิพยสมบัติในดาวดึงสภพนั้น ทรงครองเทวราชสมบัติอยู่ จนท้าวสักกะเสด็จอุบัติแล้วจุติไปถึง 36 พระองค์ ก็ไม่ทรงอิ่มด้วยกามคุณเลย ครั้นทรงจุติจากเทวโลกนั้นแล้ว ก็ทรงดำรง3- อยู่ที่พระราชอุทยานของพระองค์ มีพระวรกายถูกลมและแดดกระทบ4- จึงได้สวรรคต.

____________________________

3- ปาฐะว่า ปติโต ฉบับพม่าเป็น ปติฏฺฐิโต จึงแปลตามพม่า.

4- ปาฐะว่า ผุฏฺฐิตคฺคตฺโต พม่าเป็น ผุฏฺฐคตฺโต จึงแปลตามพม่า.

ก็เมื่อจักรแก้วประดิษฐานที่พื้นดิน ปริณายกแก้วก็ประทับฉลองพระบาทของพระเจ้ามันธาตุ ลงในพระสุพรรณบัฏ แล้วมอบถวายราชสมบัติว่า นี้เป็นราชสมบัติของพระเจ้ามันธาตุ. มนุษย์ที่มาจากทวีปทั้ง 3 แม้เหล่านั้นไม่อาจจะไปได้อีก ได้พากันเข้าไปหาปริณายกแก้ว แล้วร้องเรียนว่า ใต้เท้าขอรับ เหล่ากระผมมาด้วยพระบรมราชานุภาพ บัดนี้จึงไม่อาจจะไปได้ ขอใต้เท้าได้กรุณาให้ที่อยู่แก่เหล่ากระผมเถิด.

ปริณายกแก้วได้มอบชนบทให้แก่เขาเหล่านั้น เพื่อประโยชน์แก่การอยู่คนละแห่ง.

ในจำนวนชนบทเหล่านั้น ถิ่นที่มีคนมาจากบุพพวิเทหทวีปอาศัยอยู่ได้นามว่า วิเทหรัฐ ตามชื่อเก่านั้นเอง. ถิ่นที่มีคนมาจากอมรโคยานทวีปอาศัยอยู่ได้นามว่า อปรันตชนบท. ถิ่นที่มีคนมาจากอุดรกุรุทวีปอาศัยอยู่ได้นามว่า กุรุรัฐ. แต่คนทั้งหลายเรียกด้วยพหูพจน์ โดยหมายถึงบ้านและนิคมจำนวนมาก เพราะเหตุดังที่กล่าวมาแล้วนี้ ท่านพระอานนท์จึงกล่าวว่าประทับอยู่ที่หมู่บ้านกุรุทั้งหลาย (เป็นพหูพจน์) ดังนี้.

ในบทว่า กมฺมาสธมฺมํ ในบรรดาคำว่า กมฺมาสธมฺมํ นาม กุรูนํ นิคโม นี้

อาจารย์บางพวกกล่าวอรรถาธิบายความ โดย (แปลง) ธ อักษร เป็น ท อักษร. สถานที่ชื่อว่า กัมมาสธัมมะ เพราะเป็นที่ถูกทรมานของคนเท้าด่าง. พระเจ้าโปริสาทผู้มีพระบาทด่าง เขาเรียกว่า กัมมาสะ (เจ้าองค์ด่าง).

เล่ากันมาว่า แผลเป็นที่พระบาทในที่ที่ถูกตอตำ งอกขึ้นคล้ายไม้มีลาย เพราะฉะนั้น จึงปรากฏว่ามีพระบาทด่าง. และในโอกาสนั้น พระองค์ถูกทรมานแล้วถูกห้ามจากความเป็นมนุษย์กินคน.

ใครทรมาน? พระมหาสัตว์.

ถามว่า ในชาดกอะไร?

แก้ว่า พระเถระพวกหนึ่ง (อ้างว่ามา) ในสุตตโสมชาดก.

แต่พระเถระเหล่านี้บอกว่า มาในชยทิสชาดก.

จริงอย่างนั้น พระมหาสัตว์เจ้าได้ทรงทรมานพระเจ้าโปริสาทผู้มีพระบาทด่าง.

ดังที่ท่านกล่าวไว้ว่า :-

ปางเมื่อเราเป็นพระบรมโอรสาธิราชของพระเจ้าชยทิสผู้ทรง

เป็นราชาธิบดีแห่งปัญจาลรัฐได้สละชีวิต ปลดเปลื้องพระราช

บิดาแล้ว อีกอย่างหนึ่ง เราได้ให้พระเจ้าโปริสาทผู้มีพระบาท

ด่างเลื่อมใสแล้ว ดังนี้.

แต่บางอาจารย์อรรถาธิบายด้วย ธ อักษรอย่างเดียว.

ดังที่เล่ากันมาว่า ชาวกุรุรัฐมีขนบธรรมเนียมประจำกุรุรัฐ แต่เกิดความด่างพร้อยขึ้นในขนบธรรมเนียมนั้น เพราะฉะนั้น ที่ที่ด่างพร้อยนั้นจึงถูกเรียกว่า กัมมาสธัมมะ เพราะมีธรรมคือความด่างพร้อยเกิดขึ้น.

ถามว่า เหตุไฉนท่านจึงไม่กล่าวชื่อนิคมที่อยู่อาศัยกันแห่งนี้เท่านั้นไว้ด้วยสัตตมีวิภัตติ ในคำว่า กัมมาสธัมมะ นั้น?

แก้ว่า เพราะ (พระผู้มีพระภาคเจ้า) ไม่มีโอกาสที่จะประทับ.

ได้ทราบว่า ไม่มีวิหารอะไรที่เป็นโอกาสให้พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับในนิคมนั้นเลย. แต่ห่างออกจากนิคมไป ได้มีไพรสณฑ์ใหญ่ในภูมิภาคแห่งหนึ่ง สมบูรณ์ด้วยน้ำเป็นรมณียสถาน.

พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จประดับที่มหาไพรสณฑ์นั้น ทรงเอานิคมนั้นเป็นโคจรคาม (บ้านรับบิณฑบาต). เพราะฉะนั้น ควรเข้าใจความหมายในเรื่องนี้ว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จประทับที่หมู่บ้านกุรุ ทรงเอานิคมของชาวกุรุที่ชื่อว่ากัมมาสธัมมะ เป็นโคจรคาม.

[132] พึงทราบวินิจฉัยในคำว่า

เอกายโน อยํ ภิกฺขเว มคฺโค ดังต่อไปนี้ :-

ถามว่า เหตุไฉน พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงได้ตรัสพระสูตรนี้ในแคว้นกุรุรัฐนั้น?

ตอบว่า เพราะชาวกุรุสามารถจะรับเอาพระธรรมเทศนาที่ลึกซึ้งได้.

ได้ทราบว่า ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสกและอุบาสิกาทั้งหลายชาวกุรุรัฐ เป็นผู้มีร่างกายและจิตใจเหมาะสมเป็นนิจ ด้วยสามารถแห่งปัจจัยคือฤดูเป็นที่สบาย เพราะรัฐนั้นสมบูรณ์ด้วยปัจจัยคือฤดู.

คนเหล่านั้นมีกำลังปัญญา อันความเหมาะสมแห่งจิตใจและร่างกายอนุเคราะห์แล้ว จะเป็นผู้สามารถรับ (ฟัง) ถ้อยคำที่ลึกซึ้งได้.

เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อทรงเล็งเห็นว่าคนเหล่านั้นสามารถจะรับ (ฟัง) พระธรรมเทศนาอันลึกซึ้งนี้ได้ จึงได้ตรัสสติปัฏฐานสูตรที่มีอรรถลึกล้ำนี้ โดยเพิ่มพระกรรมฐานเข้าในพระอรหัตในฐานะ 19 อย่าง.

อุปมาเหมือนบุรุษได้ผอบทองคำแล้ว บรรจุดอกไม้นานาชนิดไว้ในนั้น หรือได้หีบทองคำแล้ว เก็บรัตนะทั้ง 7 ไว้ (ในนั้น) ฉันใด. พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ฉันนั้น ครั้นทรงได้ชาวกุรุรัฐบริษัท1- จึงได้ทรงแสดงพระธรรมเทศนาที่ลึกซึ้ง.

____________________________

1- ปาฐะว่า กุรุรฏวาสีนํ ฉบับพม่าเป็น กุรุรฏฺฐวาสีปริสํ แปลตามพม่า.

ด้วยเหตุนั้นนั่นแหละ ในมัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์นี้ จึงได้ทรงแสดงพระสูตรที่มีเนื้อความลึกซึ้งไว้อย่างหนึ่ง

ในทีฆนิกาย ได้ทรงแสดงไว้อีกอย่างหนึ่งคือ มหานิทานสูตร 1 มหาสติปัฏฐานสูตร 1 (และ) ในมัชฌิมนิกายนี้ ได้ทรงแสดงพระสูตรไว้ อีกอย่างหนึ่ง คือ สาโรปมสูตร 1 รุกขูปมสูตร 1

รัฏฐปาลสูตร 1 มาคัณฑิยสูตร 1 อานัญชสัปปายสูตร 1.

อีกอย่างหนึ่ง ในชนบทนั้นตามปกติแล้ว บริษัททั้ง 4 พากันประกอบความเพียรเนืองๆ ในสติปัฏฐานภาวนาอยู่

โดยที่สุดแม้พวกทาส, กรรมกร และบริวารชน ก็พูดจากันเกี่ยวกับสติปัฏฐานนั้น. แม้แต่ที่ท่าน้ำและสถานที่ปั่นด้ายกันเป็นต้น ขึ้นชื่อว่าการพูดกันในเรื่องไร้ประโยชน์จะเป็นไปไม่ได้เลย.

ถ้าหญิงคนใดคนหนึ่งถูกถามว่า คุณแม่จ๋า คุณแม่มนสิการสติปัฏฐานภาวนาข้อไหน? แล้วตอบว่า ไม่ได้มนสิการข้อไหนเลย.

คนทั้งหลายจะตำหนิเธอว่า ชีวิตของเธอไร้ประโยชน์ เธอถึงจะมีชีวิตอยู่ก็เช่นกับคนตายแล้ว. จึงได้ให้โอวาทเธอว่า ทีนี้อย่าได้ทำอย่างนี้ แล้วให้เรียนเอาสติปัฏฐานอย่างใดอย่างหนึ่ง. แต่ (ถ้า) หญิงใดพูดว่า ฉันมนสิการสติปัฏฐานชื่อโน้น.

คนทั้งหลายจะพากันให้สาธุการว่า สาธุ สาธุ แล้วสรรเสริญด้วยถ้อยคำทั้งหลายมีอาทิว่า ชีวิตของเธอเป็นชีวิตที่ดีแล้ว เธอชื่อว่าเป็นมนุษย์สมบูรณ์แล้ว พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จอุบัติขึ้นมาเพื่อประโยชน์แก่เธอ.

ก็ในเรื่องนี้ไม่เฉพาะแต่มนุษย์ชาติอย่างเดียวเท่านั้นที่พากันประกอบมนสิการสติปัฏฐาน แม้แต่พวกสัตว์เดียรัจฉานที่อาศัยเขาอยู่ (ก็มนสิการสติปัฏฐาน)

ในการทำมนสิการสติปัฏฐานของสัตว์นั้น มีเรื่องเล่าดังต่อไปนี้ :-

เล่ากันมาว่า นักฟ้อนรำคนหนึ่งเที่ยวจับลูกนกแขกเต้ามาฝึก. นางอาศัยสำนักภิกษุณีอยู่ เวลาไปก็ไป (แต่ตัว) ลืมลูกนกแขกเต้า เหล่าสามเณรีจึงจับมันมาเลี้ยงไว้. ตั้งชื่อให้มันว่า พุทธรักขิต (พุทธรักษา).

อยู่มาวันหนึ่ง พระเถรีเห็นมันเจ่าอยู่ข้างหน้า จึงเรียกว่า พุทธรักษา.

มันขานรับว่า อะไรคะ คุณแม่.

มีมนสิการภาวนา อะไรบ้างไหม? พระเถรีถาม.

ไม่มีคะ คุณแม่ นกตอบ.

พระเถรีพูดว่า แกเอ๋ย ธรรมดาผู้อยู่ในสำนักบรรพชิต ไม่ควรจะเป็นอยู่โดยปล่อยอัตภาพเสีย

(ปล่อยตัว) ควรปรารถนามนสิการอะไรบางอย่างนะ แล้วได้บอกว่า แต่อย่างอื่นเจ้าไม่สามารถ (ทำได้) จงสาธยาย (บริกรรม) ว่า อฏฺฐิ อฏฺฐิ (กระดูก กระดูก).

มันตั้งอยู่ในโอวาทของพระเถรี เที่ยวสาธยายว่า อฏฺฐิ อฏฺฐิ (กระดูก กระดูก).

อยู่มาวันหนึ่ง ตอนเช้ามันเกาะปลายเสาผึ่งแดดอ่อนอยู่ นกตัวหนึ่งได้เอากรงเล็บเฉี่ยวเอาไป. มันส่งเสียงร้อง แจ๊ด แจ๊ด.

สามเณรีทั้งหลายได้ยินเสียงร้อง จึงพูดว่า คุณแม่ขา พุทธรักษาถูกนกเฉี่ยวไป หนูจะไปช่วยให้มันปล่อย แล้วพากันถือเอาก้อนดินเป็นต้นติดตามไป ให้มันปล่อยจนได้.

พระเถรีถามมันผู้ที่เขาช่วยนำมา เกาะอยู่ข้างหน้าว่า พุทธรักษาเวลานกเฉี่ยวเอาไป แกคิดอะไร?

มันตอบว่า คุณแม่เจ้าขา ดิฉันไม่ได้คิดอย่างอื่น คุณแม่ ดิฉันคิดถึงกองกระดูกเท่านั้นอย่างนี้ว่า

กองกระดูกนั้นแหละเฉี่ยวเอากองกระดูกไป กองกระดูกจะเกลื่อนกลาดไป ไม่ว่าแม้ในที่ไหน?

ดีแล้ว ดีแล้ว พุทธรักษา (การมนสิการอย่างนั้น) จักเป็นปัจจัยของความสิ้นไปแห่งภพของเธอในอนาคต พระเถรีกล่าว.

แม้สัตว์เดียรัจฉานในชนบทนั้นก็ประกอบมนสิการในสติปัฏฐานดังที่กล่าวมาแล้วนี้

เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจะทรงยังความเจริญในสติปัฏฐานนั้นเองให้เกิดแก่เขาเหล่านั้น จึงได้ตรัสพระสูตรนี้ไว้.

อ.คำบริกรรมกรรมฐาน

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า เอกายโน แปลว่า ทางเอก.

เพราะว่าทางมีชื่อมากอย่าง คือ มรรคา, ปันถะ, ปถะ,

ปัชชะ, อัญชสะ, วฏุมะ, อายตนะ, นาวา, อุตตรเสตู,

กุลละ, ภิสิ, และสังกมะ.

ในสติปัฏฐานสูตรนี้ พระองค์ตรัสทางนี้นั้นไว้โดยชื่อว่า อยนะ. เพราะฉะนั้น ในคำว่า เอกายโน อยํ ภิกฺขเว มคฺโค (ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ทางนี้เป็นทางเอก) นี้ควรเข้าใจความหมายอย่างนี้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ทางนี้เป็นทางสายเดียว ไม่ใช่เป็นทาง 2 สาย.

อีกอย่างหนึ่ง ทางชื่อว่า เอกายนะ เพราะคนคนเดียวเท่านั้นพึงไป. คำว่า คนเดียว คือควรละการคลุกคลีด้วยหมู่ ปลีกตัวออก เงียบสงัด ดำเนินไป คือปฏิบัติ (คนเดียว) หรือชื่อว่าอยนะ เพราะเป็นเหตุดำเนินไป คือไปจากสงสาร ถึงพระนิพพาน.

ทางดำเนินของผู้เป็นเอก ชื่อว่า เอกายนะ คำว่า ผู้เป็นเอก ได้แก่ ผู้ประเสริฐที่สุด.

และผู้ประเสริฐที่สุดกว่าสรรพสัตว์ คือพระผู้มีพระภาคเจ้า เพราะฉะนั้น จึงมีอธิบายว่า ได้แก่ (ทางดำเนิน) ของพระผู้มีพระภาคเจ้า.

อันที่จริง ถึงคนอื่นก็ดำเนินไปตามทางนั้นได้ แต่ถึงอย่างนั้น ทางนั้นก็ชื่อว่าเป็นทางเสด็จดำเนินของพระผู้มีพระภาคเจ้า เพราะพระองค์ทรงสร้างขึ้น.

ดังที่ท่านได้กล่าวไว้ว่า ดูก่อนพราหมณ์ ความจริง พระผู้มีพระภาคเจ้านั้นทรงยังทางที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้นแล้ว ดังนี้เป็นต้น.

อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่า อยนะ เพราะไป คือดำเนินไป. อธิบายว่า เป็นไป. มีอธิบายว่า ไปในที่เดียวกัน คือเป็นไปในธรรมวินัย (ศาสนา) นี้เท่านั้น ไม่ใช่ไปที่อื่น.

ดังที่ตรัสไว้ว่า ดูก่อนสุภัททะ อริยมรรคมีองค์ 8 หาได้ในพระธรรมวินัย (ศาสนา) นี้เอง.

ความจริง เนื้อความทั้ง 2 นี้ต่างกันเพียงเทศนา (โวหาร) เท่านั้น แต่ก็มีเนื้อความเป็นอันเดียวกัน.

อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่า เอกายนะ เพราะไปสู่จุดหมายเดียวกัน มีอธิบายว่า ในตอนต้นถึงแม้จะเป็นไปโดยนัยแห่งภาวนาที่เป็นหลักแตกต่างกัน แต่ตอนหลัง ก็จะไปถึงนิพพานแห่งเดียวกันนั้นแหละ.

ดังที่ท้าวสหัมบดีพรหมได้กล่าวไว้ว่า :-

พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้ทรงเห็นที่สุดแห่งการสิ้นความเกิด

ทรงอนุเคราะห์เกื้อกูล (ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณ) ทรง

ทราบทางไปสู่ที่แห่งเดียว (พระนิพพาน) ด้วยทางสายนี้

ที่คนทั้งหลายได้เคยข้ามโอฆะห้วงน้ำมาแล้ว กำลังข้าม

อยู่ และจักข้ามต่อไป.

แต่อาจารย์บางเหล่ากล่าวว่า ชื่อว่า เอกายนะ เพราะไปถึงนิพพานครั้งเดียว ตามนัยแห่งความว่า ไม่ไปถึงฝั่ง (คือพระนิพพาน) ถึง 2 ครั้ง.

คำนั้นไม่ถูก เพราะว่า อรรถะ (ความหมาย) อย่างนี้ พยัญชนะควรจะเป็นอย่างนี้ว่า สกึ อยโน (ไม่ใช่เอกายโน).

แต่ถ้าจะกล่าวประกอบความอย่างนี้ว่า ทางนั้นมีทางไปอย่างเดียว คือมีคติ ได้แก่มีความเป็นไปอย่างเดียว ดังนี้ พยัญชนะก็ใช้ได้. แต่อรรถใช้ไม่ได้ทั้ง 2 อย่าง.

เพราะเหตุไร ?

เพราะในที่นี้ทรงประสงค์เอามรรคที่เป็นบุพพภาค.

อธิบายว่า ในที่นี้พระองค์ทรงประสงค์เอามรรคเป็นที่ตั้งสติ (สติปัฏฐาน) อันเป็นส่วนเบื้องต้น เป็นไปในอารมณ์ทั้ง 4 มีกายเป็นต้น ไม่ใช่มรรคที่เป็นโลกุตตระ และมรรคที่เป็นส่วนเบื้องต้นนั้นก็ไปได้ไม่ใช่ครั้งเดียวด้วย ทั้งมีการไปไม่ใช่อย่างเดียว.

อนึ่ง แม้เมื่อก่อน ในบทนี้ พระมหาเถระทั้งหลายก็ได้มีการสนทนากันมาแล้วเหมือนกัน. (คือ) พระตรีปิฎกจุลลนาคเถระได้กล่าวไว้ว่า เป็นทางสติปัฏฐานที่เป็นบุพพภาค. แต่อาจารย์ของท่าน คือพระตรีปิฎกจุลลสุมนเถระได้กล่าวไว้ว่า เป็นทางปนกันไป (ทั้งโลกิยะและโลกุตตระ).

เป็นทางเบื้องต้น ครับ ใต้เท้า ท่านตรีปิฎกจุลลนาคเถระกล่าว

เป็นทางปนกันไป คุณ ท่านตรีปิฎกจุลลสุมนเถระค้าน.

เมื่ออาจารย์กล่าวย้ำแล้วย้ำอีก ศิษย์ก็นิ่งไม่คัดค้าน. (ทั้ง 2 ท่าน) ก็ลุกขึ้นโดยไม่วินิจฉัย (ชี้ขาด) ปัญหาเลย.

ภายหลังพระเถระผู้เป็นอาจารย์ไปที่ห้องอาบน้ำ คิดว่า เราพูดว่า เป็นทางปนกันไป แต่คุณจุลลนาคอ้างเอาว่า เป็นทางเบื้องต้น ในปัญหานี้จะมีวินิจฉัยกันอย่างไร จึงร่ายพระสูตรตั้งแต่ต้นไป

กำหนด (ยุติ) ลงตรงนี้ว่า โย หิ โกจิ ภิกฺขเว อิเม จตฺตาโร สติปฏฺฐาเน เอวํ ภาเวยฺย สตฺต วสฺสานิ (ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ผู้ใดผู้หนึ่งก็ตาม เจริญสติปัฏฐานทั้ง 4 เหล่านี้อย่างนี้ ตลอด 7 ปี) ดังนี้

ท่านก็รู้ว่า ธรรมดาโลกุตตรมรรค ครั้นเกิดขึ้นแล้วจะหยุดชะงักอยู่ตลอด 7 ปีไม่มี มรรคที่ปนกันไปที่เรากล่าวแล้วนั้นมีไม่ได้ ส่วนมรรคที่เป็นบุพพภาคที่คุณจุลลนาคแสดงแล้วมีได้ จึงได้ไป ณ ที่ที่สำหรับประกาศในวันธัมมัสสวนะ 8 ค่ำ.

ได้ทราบว่า พระเถระในปางก่อนชอบฟังธรรม. พอได้ยินเสียงเท่านั้น ก็คิดว่า เรา (จะฟัง) ก่อน เรา (จะฟัง) ก่อนแล้ว ลงฟังกันอย่างพร้อมพรั่งทีเดียว. และวันนั้นก็เป็นวาระของท่านจุลลนาคเถระ.

เมื่อท่านนั่งบนธรรมาสน์ จับพัดแล้วกล่าวอารัมภบท (บุพพกถา) พระเถระที่ยืนอยู่หลังอาสนะได้มีความคิดว่า เราจะนั่งในที่ลับ ไม่พูด (อะไร).

เพราะว่า พระเถระในปางก่อนเป็นนักฟัง จะไม่เที่ยวยกความพอใจของตนขึ้นเป็นใหญ่อย่างเดียว เหมือนคนแบกมัดอ้อยไว้ฉะนั้น ถือเหตุผลอย่างเดียว สลัดสิ่งที่ไม่มีเหตุผลทิ้ง เพราะฉะนั้น พระเถระจึงพูดว่า คุณ จุลลนาค.

ท่าน (จุลลนาค) สงสัยว่า ดูเหมือนเสียงท่านอาจารย์ได้หยุดแสดงธรรมแล้ว เรียนว่า อะไรครับ ใต้เท้า?

คุณจุลลนาค มรรคปนกันไปที่ฉันว่านั้น ไม่มี แต่มรรคคือสติปัฏฐานที่เป็นบุพพภาค ที่คุณว่านั้น มี พระเถระพูดตอบ.

พระเถระ (จุลลนาค) คิดว่า อาจารย์ของเราเรียนปริยัติทั่วถึง ทรงจำไตรปิฎกไว้ได้เป็นสุตพุทธ ปัญหานี้ยังมัวสำหรับพระภิกษุถึงขนาดนี้ (ชั้นอาจารย์)

พระภิกษุที่เป็นรุ่นน้องในอนาคตจักพิศวงปัญหานี้ (แน่นอน) เราจักเอาพระสูตรมาแก้ปัญหานี้ไม่ให้ดิ้นได้.

จากคัมภีร์ปฏิสัมภิทามรรค บุพพภาคสติปัฏฐานมรรค ท่านเรียกว่า เอกายนมรรค.

พระเถระได้นำเอาพระสูตรมาตั้งว่า

บรรดาทางทั้งหลาย ทางมีองค์ 8 ประเสริฐที่สุด

บรรดาสัจจะทั้งหลาย บท (สัจจะ) ทั้ง 4 ประเสริฐที่สุด

บรรดาธรรมทั้งหลาย วิราคธรรมประเสริฐที่สุด และ

บรรดาสัตว์ 2 เท้าทั้งหลาย พระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ผู้ทรงมีปัญญาจักษุ ประเสริฐที่สุด

ทางสายนี้เท่านั้นไม่มีทางสายอื่นที่เป็นไป เพื่อความ

บริสุทธิ์แห่งทัสสนะ. เธอทั้งหลายจงเดินทางสายนั้นเถิด

ที่ให้มารและเสนามารหลง เพราะว่าเธอทั้งหลายเดินทาง

สายนั้นแล้ว จักทำที่สุดแห่งทุกข์ได้.

ทางชื่อว่า มรรค เพราะหมายความว่า อย่างไร?

เพราะหมายความว่า เป็นเหตุให้ถึงพระนิพพาน และเพราะหมายความว่า ผู้มีความต้องการพระนิพพานจะต้องดำเนินไป.

บทว่า สตฺตานํ วิสุทฺธิยา (เพื่อความบริสุทธิ์ของสัตว์ทั้งหลาย) ความว่า เพื่อประโยชน์แก่ความบริสุทธิ์ของสัตว์ทั้งหลาย ผู้มีจิตเศร้าหมองแล้ว เพราะมลทินทั้งหลายมีราคะเป็นต้น และเพราะอุปกิเลสทั้งหลายมีอภิชฌาวิสมโลภเป็นต้น.

จริงอย่างนั้น ก็สัตว์เหล่านี้ คือพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจำนวนมากพระองค์ ตั้งต้นแต่พระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า ตัณหังกร, เมธังกร, สรณังกร, ทีปังกรที่ได้เสด็จอุบัติแล้วในกัปกัปเดียวกันนั้นแหละ

ก่อนแต่กัปนี้ไป 4 อสงไขยเศษแสนกัป จนถึงพระศากยมุนีเป็นที่สุดก็ดี พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าหลายร้อยพระองค์ก็ดี พระอริยสาวกเหลือที่จะคณานับก็ดี ได้ทรงลอยและลอยมลทินของจิตทั้งมวลแล้ว ทรงบรรลุและบรรลุความบริสุทธิ์อย่างยอดเยี่ยม ก็ด้วยทางสายนี้.

แต่ด้วยสามารถแห่งมลทินของรูปจะไม่มีการบัญญัติความเศร้าหมองและความผ่องแผ้วเลย.

จริงอย่างนั้น

พระมหาฤาษี (พระพุทธเจ้า) ไม่ได้ตรัสไว้ว่า

มาณพ (คน) ทั้งหลายเศร้าหมอง เพราะรูป

เศร้าหมอง บริสุทธิ์ในเพราะรูปบริสุทธิ์

แต่พระมหาฤาษีได้ตรัสไว้อย่างนี้ว่า มาณพ

(คน) ทั้งหลายเศร้าหมอง เพราะจิตเศร้าหมอง

บริสุทธิ์ ในเพราะจิตบริสุทธิ์.

ดังที่พระองค์ได้ตรัสไว้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลายเศร้าหมอง เพราะจิตเศร้าหมอง ผ่องแผ้ว เพราะจิตผ่องแผ้ว.

และความผ่องแผ้วของจิตนั้นมีได้ เพราะทางคือสติปัฏฐานนี้. เพราะเหตุนั้น พระองค์จึงตรัสไว้ว่า เพื่อความบริสุทธิ์แห่งสัตว์ทั้งหลาย

บทว่า โสกปริเทวนํ สมติกฺกมาย (เพื่อระงับโสกปริเทวะทั้งหลาย) ความว่า เพื่อระงับ. อธิบายว่า เพื่อละความโศกเศร้า และการคร่ำครวญทั้งหลาย.

เพราะว่า มรรคนี้ บุคคลอบรมแล้ว เป็นไปเพื่อระงับความโศกเศร้า (ของคนทั้งหลายได้) เหมือนสันตติมหาอำมาตย์เป็นต้น และระงับการคร่ำครวญ (ของคนทั้งหลาย) ได้ เหมือนปฏาจาราเถรีเป็นต้น.

เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสไว้ว่า โสกปริเทวานํ สมติกฺกมาย เพื่อก้าวล่วงโสกะและปริเทวะทั้งหลาย.

ความจริง สันตติมหาอำมาตย์ ถึงจะได้สดับพระคาถาบทนี้ว่า

สิ่งใดจะมีข้างหน้า เธอจงละมันเสีย เธออย่าได้มี

ความกังวลอะไรในภายหลัง ถ้าเธอจักไม่ยึดอะไร

ในท่ามกลาง เธอจักเป็นผู้สงบ เที่ยวไป ดังนี้.

แล้วได้บรรลุอรหัตพร้อมด้วยปฏิสัมภิทาทั้งหลาย.

พระปฏาจาราเถรี ได้สดับพระคาถาบทนี้ว่า

บุตรไม่มีเพื่อการต้านทาน แม้บิดาและพวกพ้องก็

ไม่มีเพื่อการต้านทาน เมื่อหมู่สัตว์ถูกมัจจุครอบงำ

ย่อมไม่มีการต้านทานในหมู่ญาติทั้งหลาย.

แล้วได้ดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล ก็จริงแล แต่ว่า เพราะขึ้นชื่อว่าภาวนาแล้ว จะไม่เกี่ยวกับธรรมะข้อไหนในกาย เวทนา จิต ธรรม เป็นไม่มี

เพราะฉะนั้น แม้ทั้ง 2 ท่านนั้น ก็ต้องทราบไว้ด้วยว่า ก้าวล่วงโสกปริเทวะไปได้ เพราะทางสายนี้เหมือนกัน.

บทว่า ทุกฺขโทมนสฺสานํ อตฺถงฺคมาย (เพื่อระงับทุกข์โทมนัสทั้งหลาย) หมายความว่า เพื่อระงับ.

อธิบายว่า เพื่อดับทุกข์ทั้ง 2 อย่างนี้ คือ ทุกข์ทางกาย 1 โทมนัสทางใจ 1. ด้วยว่า มรรคนี้ คนอบรมแล้ว จะเป็นไปเพื่อดับทุกข์ของคนทั้งหลาย เหมือนของพระติสสเถระเป็นต้น และเพื่อดับโทมนัสของคนทั้งหลาย เหมือนของท้าวสักกะเป็นต้น.

ในเรื่องนั้น มีการแสดงเนื้อความดังต่อไปนี้:-

เล่ากันมาว่า ในนครสาวัตถี บุตรชาวกุฎุมพี ชื่อว่า ติสสะ ละทิ้งเงิน 40 โกฏิ ออกบวชแล้วอยู่ในป่า ที่ไม่มีบ้าน. ภรรยาน้องชายคนสุดท้องของเขา ส่งโจร 500 คนไปโดยสั่งว่า ไปเถอะ พวกเจ้าจงปลงชีวิตพระรูปนั้น พวกเขาพากันไปนั่งล้อมพระเถระไว้.

พระเถระพูดว่า พากันมาทำไม อุบาสก?

พวกผมจักปลงชีวิตท่าน โจรบอก.

อุบาสก ท่านทั้งหลาย จงยึดเอาตัวอาตมาไว้เป็นประกันแล้วให้ ชีวิตอาตมาไว้คืนวันนี้คืนเดียวเถิด พระเถระขอร้อง.

ท่านสมณะ ใครจักเป็นผู้ค้ำประกันให้ท่านในที่นี้? โจรถาม.

พระเถระหยิบหินก้อนใหญ่มาทุบกระดูกขาทั้ง 2 ข้างให้หักแล้ว บอกว่า อุบาสกเอ๋ย ตัวประกัน (คนนี้) สมควร (ไหม?)

พวกเขาพากันหลีกไปก่อไฟนอนที่ต้นทางเดินจงกรม (ของท่าน). เมื่อพระเถระข่มเวทนาไว้แล้ว พิจารณาศีล เพราะอาศัยศีลบริสุทธิ์ ปีติปราโมทย์จึงเกิดขึ้น.

ลำดับต่อจากนั้น ท่านก็เจริญวิปัสสนา บำเพ็ญสมณธรรมตลอดราตรีทั้ง 3 ยาม เวลารุ่งอรุณ ได้บรรลุพระอรหัตแล้วได้เปล่งอุทานบทนี้ว่า

เราทุบเท้าทั้ง 2 ข้าง สัญญากะท่านทั้งหลายไว้

เราเอือมระอาความตายทั้งๆ ที่ยังมีราคะ ครั้น

คิดอย่างนี้แล้ว เราก็เห็นแจ้งตามความจริง เมื่อ

ถึงเวลาอรุณขึ้น จึงได้บรรลุพระอรหัต.

ภิกษุแม้เหล่าอื่นอีก 30 รูปเรียนเอากรรมฐานในสำนักของพระผู้มีพระภาคเจ้า แล้วจำพรรษาที่อรัญวิหาร พูด (ตกลงกันไว้) ว่า คุณ เราทั้งหลายต้องบำเพ็ญสมณธรรมกันตลอดราตรีทั้ง 3 ยาม และไม่ควรไปมาหาสู่กัน ดังนี้แล้ว จึงพากันอยู่.

เมื่อท่านเหล่านั้นบำเพ็ญสมณธรรมแล้ว เวลาเช้าออกไป (จากวัด) เสือโคร่งตัวหนึ่งมาคาบเอาพระไปคราวละ 1 รูป ไม่มีใครส่งเสียงเลยว่า เสือโคร่งตะครุบผม.

เมื่อภิกษุถูกเสือคาบไปกินถึง 15 รูปอย่างนี้ ในวันอุโบสถ จึงถามกันว่า พระนอกนี้ไปไหนกันคุณ? พอรู้เรื่องแล้วก็พูด (ตกลงกันใหม่) ว่า ต่อไปนี้ ใครถูกเสือโคร่งตะครุบควรบอกกันว่า เสือโคร่งตะครุบผมดังนี้แล้ว อยู่กันต่อไป.

ภายหลัง เสือโคร่งได้ตะครุบภิกษุหนุ่มรูปหนึ่งแบบครั้งก่อนนั้นแหละ. เธอได้บอกว่า ท่านครับ เสือโคร่ง. ภิกษุทั้งหลายพากันถือไม้เท้าและคบเพลิงติดตามไปด้วยหมายใจว่า จะให้มันปล่อย.

เสือโคร่งได้ขึ้นไปที่ช่องเขาขาดที่พระขึ้นไปไม่ได้ เริ่มจะกินพระนั้น ตั้งแต่นิ้วเท้าขึ้นไป. พระภิกษุนอกจากนี้ได้พากันกล่าวว่า ท่านผู้เป็นสัตบุรุษเอ๋ย บัดนี้ พวกผมช่วยอะไรคุณไม่ได้แล้ว ธรรมดาคุณวิเศษของภิกษุทั้งหลายจะปรากฏ (ให้เห็น) ก็ในสถานการณ์เช่นนี้แหละ.

ท่านนอนอยู่ใกล้ปากเสือโคร่งนั้นแหละ ข่มเวทนานั้นไว้ เจริญวิปัสสนาในเวลาเสือโคร่งกินไปจนถึงข้อเท้า

เป็นพระโสดาบัน เวลากินถึงเข่า เป็นพระสกทาคามี เวลากินถึงท้องเป็นพระอนาคามี

ขณะกินยังไม่ถึงหัวใจนั่นแหละ ก็บรรลุพระอรหัต พร้อมด้วยปฏิสัมภิทา ได้เปล่งอุทานบทนี้ว่า :-

เรามีศีล สมบูรณ์ด้วยวัตร มีสมาธิ มีปัญญา เผลอ

ตัวไปชั่วครู่ ไม่ได้ระมัดระวังเสือโคร่ง เสือโคร่ง

ตะครุบเราไว้ในกรงเล็บ นำเข้ามาที่ภูเขา จะกินเรา

แน่ กาย (ของเรา) ที่ไม่มีจิตใจจะเป็นอาหาร (มัน)

เมื่อ (เรา) กลับได้กรรมฐาน มรณสติจะเจริญ.

อีกรูปหนึ่งชื่อว่าทีปมัลลเถระ เวลาเป็นคฤหัสถ์ ถือเอาผ้าที่กองขยะ 3 กองมายังตัมพปัณณิทวีป เฝ้าพระราชา แล้วได้รับราชานุเคราะห์. วันหนึ่งเดินไปทางประตูศาลากิลัญชกาสนะ ได้ฟังนตุมหากวัตรว่า

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย รูปไม่ใช่ของพวกเธอ เธอทั้งหลายจงละทิ้งมันไป รูปนั้นที่เธอทั้งหลายละได้แล้ว จักมีประโยชน์เกื้อกูลและความสุขตลอดกาลนาน แล้วคิดว่า นัยว่า รูปไม่ใช่ของตนเลย เวทนาก็ไม่ใช่ของตน.

เขาทำนตุมหากวัตรนั้นให้เป็นเหมือนขอช้าง ออกไปยังมหาวิหาร ขอบรรพชา บรรพชาอุปสมบท เล่าท่องมาติกาทั้ง 2 ได้คล่องแคล่ว แล้วพาภิกษุ 30 รูปไปยังเนิน ชื่อว่า ครวาลิยะ บำเพ็ญสมณธรรม. เมื่อเท้าบวมก็เดินจงกรมด้วยเข่า.

ในคืนวันนั้น พรานเนื้อคนหนึ่งเข้าใจว่า ท่านเป็นเนื้อ จึงแทงท่าน. หอกทะลุเข้าไป ท่านให้เขาเอาหอกออก แล้วเอาม้วนหญ้าอุดปากแผลไว้ให้เต็ม

พยุงตนนั่งเหนือลานหิน ถือโอกาสเจริญวิปัสสนา บรรลุพระอรหัตพร้อมด้วยปฏิสัมภิทา. พยากรณ์แก่ภิกษุผู้มาเพราะเสียงไอ (ของท่าน) แล้วได้เปล่งอุทานนี้ว่า :-

พระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุด (ผู้มีปกติตรัสธรรมอัน

เลิศแก่สรรพสัตว์) ตรัสไว้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย

รูปนี้ไม่ใช่ของพวกเธอ เธอทั้งหลายจงละทิ้งมันไป

สังขารทั้งหลายไม่เที่ยงหนอ มีความเกิดขึ้น และ

เสื่อมไปเป็นธรรมดา ครั้นเกิดขึ้นแล้ว ก็ดับไป

ความระงับแห่งสังขารเหล่านั้น เป็นสุข.

ครั้งนั้น ภิกษุทั้งหลายได้พูดกะท่านว่า ท่านผู้เจริญ ถ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ทรงประชวรแล้วไซร้ พระองค์จะต้องทรงเหยียดพระหัตถ์ (ข้ามสมุทร) มาลูบศีรษะท่านเป็นแน่.

ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ ทางสายนี้ย่อมเป็นไปเพื่อความดับทุกข์ของสัตว์ทั้งหลาย เหมือนของพระติสสเถระเป็นต้น.

ก็ท้าวสักกะจอมเทพ ครั้นทรงเห็นบุพพนิมิต 5 อย่างของพระองค์แล้ว ทรงถูกมรณภัยคุกคาม เกิดเสียพระทัย จึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงถามปัญหา. ในอวสานแห่งการวิสัชนาปัญหา ท้าวเธอได้บรรลุโสดาปัตติผล พร้อมด้วยเทวดา 8 หมื่นตน ท้าวเธอ (จุติแล้ว) ได้เสด็จอุบัติขึ้นใหม่เป็นปกติดังเดิมอีก.

แม้สุพรหมเทพบุตรมีเทพอัปสรพันหนึ่งเป็นบริวาร เสวยสวรรค์สมบัติ

บรรดาเทพอัปสรสาวสวรรค์พันหนึ่งนั้น เทพอัปสร 500 ตนกำลังเก็บดอกไม้จากต้นอยู่หลัดๆ ก็จุติ1- แล้วเกิดในนรก.

____________________________

1- ปาฐะเป็น จริตฺวา ฉบับพม่าเป็น จวิตฺวา จึงแปลตามฉบับพม่า

ท้าวเธอทรงใคร่ครวญดูว่า สาวอัปสรเหล่านี้ เหตุใดจึงช้าอยู่? ได้ทรงเห็นว่า เขาเหล่านั้นเกิดในนรกแล้ว ทรงตรวจดูว่า อายุของเราจะเท่าไรหนอ?

พอทรงทราบพระชนมายุของพระองค์ก็จักสิ้นไปเหมือนกัน ก็ทรงเห็นว่า พระองค์จะทรงเกิดในนรกนั้นแหละ จึงตกพระทัย ทรงโทมนัสเหลือเกิน ทรงดำริว่า พระศาสดาจักขจัดโทมนัสของเรานี้ได้ ผู้อื่นขจัดไม่ได้

แล้วได้ทรงพาเทพอัปสรสาวสวรรค์ 500 ที่ยังเหลือไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าทูลถามปัญหาว่า :-

จิตนี้สะดุ้งอยู่เนืองนิตย์ จิตคือใจนี้หวาดผวาเป็นประจำ

เมื่อกิจ (เหตุ) เกิดขึ้นแล้วและยังไม่เกิดขึ้น ถ้าหาก

ความไม่สะดุ้งกลัวมีอยู่ ขอพระองค์ผู้อันข้าพระองค์ทูล

ถามแล้ว จงตรัสบอกความไม่สะดุ้งนั้นแก่ข้าพระองค์

ด้วยเถิด.

ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสกะท้าวเธอว่า :-

เรามองไม่เห็นความสวัสดีอย่างอื่นของสัตว์ทั้งหลาย

นอกจากการบำเพ็ญเพียร อันเป็นองค์แห่งการตรัสรู้

นอกจากการสำรวมอินทรีย์ (และ) นอกจากการความ

สละวางทั้งหมด.

ในเวลาจบพระธรรมเทศนา ท้าวเธอดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล

พร้อมด้วยเทพอัปสร 500 ทรงทำทิพยสมบัตินั้นให้มีเสถียรภาพแล้ว ได้เสด็จไปยังเทวโลกตามเดิม.

ทางนี้บุคคลผู้เจริญแล้ว พึงเข้าใจว่า เป็นไปเพื่อดับโทมนัสของสัตว์ทั้งหลาย เหมือนของท้าวสักกะเป็นต้น ดังที่พรรณนามานี้.

อริยมรรคมีองค์ 8 นั้น ท่านเรียกว่า ญายะ ในคำว่า ญายสฺส อธิคมาย เพื่อบรรลุ.

อธิบายว่า เพื่อถึงอริยมรรคนั้น เพราะว่ามรรค สติปัฏฐานอันเป็นโลกิยะในส่วนเบื้องต้นนี้อันบุคคลเจริญแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อบรรลุโลกุตตรมรรค. ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า ญายสฺส อธิคมาย.

บทว่า นิพฺพานสฺส สจฺฉิกิริยาย (เพื่อกระทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน) ความว่า เพื่อกระทำให้แจ้ง ท่านกล่าวอธิบายไว้ว่า เพื่อประจักษ์ด้วยตนเอง ซึ่งอมตธรรมที่ได้นามว่าพระนิพพาน เพราะเว้นจากตัณหาเครื่องร้อยรัด.

เพราะว่ามรรคนี้ที่บุคคลอบรมแล้ว ให้สำเร็จการทำให้แจ้งพระนิพพาน ตามลำดับ. ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า นิพฺพานสฺส สจฺฉิกิริยาย.

บรรดาคำเหล่านั้น เมื่อพระองค์ตรัสว่า เพื่อความบริสุทธิ์ของสัตว์ทั้งหลาย คำว่า ก้าวล่วงความโศกเป็นต้น ก็เป็นอันสำเร็จความหมายไปด้วย ก็จริง แต่ก็ยังไม่ปรากฏแก่ผู้อื่น นอกจากผู้ฉลาดในข้อยุติของศาสนา และพระผู้มีพระภาคเจ้ามิได้ทรงทำให้คนเป็นผู้ฉลาดในข้อยุติของศาสนาก่อนแล้ว จึงทรงแสดงธรรมภายหลัง แต่ทรงให้เข้าใจผลที่ต้องการนั้นๆ ด้วยสูตรนั้นๆ เท่านั้น เพราะฉะนั้น ในสติปัฏฐานสูตรนี้ เมื่อพระองค์จะทรงแสดงผลที่ต้องการซึ่งเอกายนมรรคจะให้สำเร็จได้ให้ปรากฏ จึงได้ตรัสไว้ว่า โสกปริเทวานํ สมติกฺกมาย เพื่อก้าวล่วงโสกะและปริเทวะทั้งหลาย ดังนี้เป็นต้น.

อีกอย่างหนึ่ง เพราะความบริสุทธิ์ของสัตว์ทั้งหลายจะเป็นไปพร้อมก็ด้วยเอกายนมรรค ความบริสุทธิ์จะมีได้เพราะก้าวล่วงโสกปริเทวะ การก้าวล่วงโสกปริเทวะจะมีได้เพราะทุกข์โทมนัสดับไป การดับทุกข์โทมนัสจะมีได้เพราะได้บรรลุญายธรรม

การบรรลุญายธรรมจะมีได้เพราะการทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน ฉะนั้น

พระองค์เพื่อทรงแสดงลำดับนี้แล้ว จึงตรัสว่า สตฺตานํ วิสุทฺธิยา

เพื่อความบริสุทธิ์ของสัตว์ทั้งหลาย แล้วได้ตรัสคำมีอาทินี้ไว้ว่า โสกปริเทวานํ สมติกฺกมาย เพื่อระงับโสกะและปริเทวะ.

อีกอย่างหนึ่ง คำว่า สตฺตานํ วิสุทฺธิยา เป็นต้นนี้ เป็นคำกล่าวสรรเสริญเอกายนมรรค เหมือนอย่างว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสสรรเสริญเทศนา 6 หมวด หมวดละ 6 ข้อ ด้วยบท 8.

บทว่า ภิกษุทั้งหลาย เราตถาคตจักแสดงธรรมงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด จักประกาศพรหมจรรย์ (ศาสนา) ที่บริสุทธิ์ บริบูรณ์สิ้นเชิง พร้อมทั้งอรรถะ พร้อมทั้งพยัญชนะ

คือพรหมจรรย์ 6 หมวด หมวดละ 6 ข้อแก่เธอทั้งหลาย และได้ตรัสสรรเสริญอริยวงศ์เทศนาไว้ด้วยบท 9 บทว่า

ภิกษุทั้งหลาย อริยวงศ์ 4 อย่างเหล่านี้ เป็นของที่ผู้รู้รู้กันว่าเลิศ รู้กันมานาน รู้กันว่าเป็นวงศ์ (ของพระอริยเจ้า)

เป็นของเก่าไม่เกลื่อนกลาด ไม่เคยเกลื่อนกลาด ไม่ถูกระแวง ไม่ถูกสมณพราหมณ์ผู้รู้คัดค้านฉันใด.

พระองค์ก็ได้ตรัสสรรเสริญเอกายนมรรค แม้นี้ไว้ด้วยบท 7 บทมีบทว่า เพื่อความบริสุทธิ์แห่งสัตว์ทั้งหลายเป็นต้นฉันนั้น.

หากจะถามว่า เพราะเหตุไร?

แก้ว่า เพื่อจะให้เกิดอุตสาหะแก่ภิกษุเหล่านั้น.

ด้วยว่า ภิกษุเหล่านั้น ครั้นได้สดับการตรัสสรรเสริญแล้วจักเกิดอุตสาหะขึ้นว่า ทางสายนี้จะนำอุปัทวะทั้ง 4 ออกไป คือ ความโศกที่เป็นสิ่งแผดเผาใจ 1 ความคร่ำครวญที่เป็นการรำพันทางวาจา 1 ความทุกข์ที่เป็นความไม่สำราญทางกาย 1 ความเสียใจซึ่งเป็นความไม่แช่มชื่นทางใจ 1 (และ) นำคุณวิเศษ 3 อย่างมาให้ คือ วิสุทธิความหมดจด 1 ญายธรรมที่ควรรู้ 1 นิพพานความดับ (กิเลส) 1 ดังนี้แล้ว จักสำคัญพระธรรมเทศนานี้ว่า ต้องเรียน ต้องท่อง ต้องจำทรงต้องบอกสอน และจักสำคัญทางสายนี้ว่าต้องเจริญ (ดำเนิน).

พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสสรรเสริญ (เอกายนมรรค) เพื่อให้ภิกษุเหล่านั้นเกิดอุตสาหะ ด้วยประการดังที่พรรณนามานี้ เหมือนกับพ่อค้าผ้าขนสัตว์เป็นต้น กล่าวสรรเสริญคุณภาพผ้าขนสัตว์เป็นต้นฉะนั้น.

ความพิสดารว่า เมื่อพ่อค้าผ้าขนสัตว์สีเหลือง (บัณฑุกัมพล) ราคาแสน โฆษณาว่า เชิญรับผ้าขนสัตว์ครับ คนทั้งหลายยังไม่ทราบก่อนว่า เป็นผ้ากัมพลชนิดโน้น. เพราะว่า แม้ผ้าเกสกัมพลและผ้าพาลกัมพลเป็นต้น ที่มีกลิ่นเหม็น เนื้อหยาบ (ห่มสาก) เขาก็เรียกว่าผ้ากัมพลเหมือนกัน. แต่เมื่อใดเขาโฆษณาว่า ผ้ากัมพลแดงจากคันธารราฐ เนื้อละเอียด มันเป็นเงา ห่มนุ่มนวล.

เมื่อนั้น คนที่มีทรัพย์พอก็จะรับ (ซื้อ) ส่วนคนที่มีไม่พอก็อยากชมฉันใด. แม้เมื่อพระองค์ตรัสว่าทางสายนี้เป็นทางสายเอก ก็ยังไม่ชัดแจ้งว่าเป็นทางสายโน้นฉันนั้นเหมือนกัน.

เพราะว่า ทางที่ไม่นำออกจากทุกข์นานัปการ เขาก็เรียกว่าทางเหมือนกัน. แต่เมื่อตรัสคำมีอาทิว่า สตฺตานํ วิสุทฺธิยา เพื่อความหมดจดของสัตว์ทั้งหลาย

ภิกษุทั้งหลายก็จะเกิดอุตสาหะว่า ได้ทราบว่า ทางสายนี้นำอุปัทวะทั้ง 4 ออกไป นำคุณวิเศษ 3 ประการมาให้ จักสำคัญพระธรรมเทศนานี้ว่า ต้องเรียน ต้องท่อง ต้องทรงจำ ต้องบอกสอน จักสำคัญทางนี้ว่าต้องเจริญ (ดำเนินตาม) ฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจะตรัสสรรเสริญ (เอกายนมรรค) จึงได้ตรัสไว้ว่า สตฺตานํ วิสุทฺธิยา.

และในเรื่องนี้ ควรนำข้อเปรียบเทียบกับพ่อค้าทองชมพูนุทสีแดง พ่อค้าแก้วมณี น้ำใสสะอาด พ่อค้าแก้วมุกดาหาร ใสสะอาด และพ่อค้าแก้วประพาฬ ที่เจียระไนแล้วเป็นต้นมา เหมือนข้อเปรียบเทียบกับพ่อค้าบัณฑุกัมพลราคาแสนฉะนั้น.

ศัพท์ว่า ยทิทํ เป็นนิบาต มีเนื้อความเท่ากับ เย อิเม. ศัพท์ว่า จตฺตาโร เป็นการกำหนดนับ (จำนวนนับ). ด้วยศัพท์นั้น พระองค์ทรงแสดงถึงการกำหนด (จำนวน) สติปัฏฐานว่า มีไม่ต่ำไม่สูงไปกว่าจำนวนนั้น.

บทว่า สติปัฏฐาน ได้แก่ สติปัฏฐาน 3 อย่าง คือ อารมณ์แห่งสติ 1 การที่พระศาสดาไม่ทรงดีพระทัย และเสียพระทัย ในเมื่อสาวกทั้งหลายปฏิบัติในสติปัฏฐาน 3 อย่าง 1 สติ 1.

อธิบายว่า อารมณ์แห่งสติท่านเรียกว่า สติปัฏฐาน (เช่น) ในพระพุทธพจน์ทั้งหลาย มีอาทิว่า

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราตถาคตจักแสดงการเกิด และการดับของสติปัฏฐาน 4 อย่าง เธอทั้งหลายจงฟังเทศนานั้น ฯลฯ

ภิกษุทั้งหลาย ก็ความเกิดขึ้นแห่งกาย คืออะไร? การเกิดขึ้นแห่งอาหาร คือการเกิดขึ้นแห่งกาย.

อีกอย่างหนึ่ง อารมณ์ของสติ ท่านเรียกว่าสติปัฏฐาน (เช่น) ในคำทั้งหลายมีอาทิว่า กายเป็นที่เข้าไปตั้ง (ของสติ) ไม่ใช่ตัวสติ สติเป็นที่ตั้งด้วย เป็นตัวสติด้วย (ชื่อว่าสติปัฏฐาน) ดังนี้บ้าง.

สติปัฏฐานนั้นมีอรรถว่า ชื่อว่าปัฏฐาน เพราะเป็นที่ตั้ง.

อะไรตั้ง? สติตั้ง. ที่ตั้งของสติ ชื่อว่า สติปัฏฐาน.

อีกอย่างหนึ่ง สถานที่เป็นที่จอด (ประธาน) ฉะนั้น จึงชื่อว่าปัฏฐาน. สถานที่เป็นที่จอดของสตินั้น ชื่อว่าสติปัฏฐาน เหมือนกับสถานที่ยืนของช้างและสถานที่ยืนของม้าเป็นต้นฉะนั้น.

สติปัฏฐาน 3 อย่าง คือการที่พระศาสดาไม่ทรงดีพระทัยและเสียพระทัย ในเพราะสาวกทั้งหลายผู้ปฏิบัติในสติปัฏฐาน 3 อย่าง ท่านเรียกว่า สติปัฏฐาน (เช่น) ในพระพุทธพจน์แม้นี้ว่า พระศาสดาผู้ทรงเป็นพระอริยเจ้า เมื่อทรงซ่องเสพสิ่งที่พระอริยเจ้าซ่องเสพกัน ควรตามสอนหมู่คณะ ดังนี้.

ข้อนั้นมีเนื้อความว่า ชื่อว่าปัฏฐานะ เพราะควรให้เริ่มตั้งไว้. อธิบายว่า เพราะควรให้เป็นไป (ประพฤติ).

เพราะควรให้อะไรตั้ง?

ควรให้สติตั้ง การตั้งสติ ชื่อว่าสติปัฏฐาน ดังนี้.

ก็สตินั้นเอง ท่านเรียกว่า สติปัฏฐาน ในคำทั้งหลายมีอาทิว่า สติปัฏฐานที่อบรมแล้ว ทำให้มากแล้ว ให้โพชฌงค์ 7 ประการบริบูรณ์ได้. ในข้อนั้นมีเนื้อความว่า ชื่อว่าปัฏฐาน เพราะตั้งไว้. อธิบายว่า เข้าไปตั้งไว้ คือก้าวลง แล่นไป เป็นไป. ปัฏฐาน คือสตินั้นเอง จึงชื่อว่า สติปัฏฐาน.

อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่าสติ เพราะอรรถว่าระลึก ชื่อว่าปัฏฐาน เพราะอรรถว่าเข้าไปตั้งไว้. สตินั้นด้วย การตั้งไว้ด้วย ฉะนั้น จึงชื่อว่าสติปัฏฐาน ด้วยประการดังนี้บ้าง. ในสติปัฏฐานสูตรนี้ ท่านประสงค์สติปัฏฐานข้อนี้.

ถามว่า ถ้าเป็นอย่างนั้น เหตุไฉน คำว่า สติปัฏฐาน จึงเป็นพหูพจน์?

เพราะสติมีมาก.

ความจริง ว่าโดยประเภทแห่งอารมณ์ สตินั้นมีมาก.

เมื่อเป็นเช่นนั้น เหตุไร คำว่า มรรค (ซึ่งมีมากเหมือนเกิน) จึงเป็นเอกพจน์.

เพราะมีอย่างเดียว โดยอรรถว่า จะต้องดำเนินไป.

จริงอยู่ สติเหล่านั้นแม้จะมี 4 อย่าง แต่ก็ถึงความเป็นอย่างเดียวกัน ด้วยอรรถว่าต้องดำเนินไป. สมจริงดังที่ท่านกล่าวไว้ว่า ทางชื่อว่ามรรค เพราะหมายความว่าอะไร?

เพราะหมายความว่า เป็นเครื่องไปสู่นิพพาน และเพราะหมายความว่า ผู้มีความต้องการนิพพานจะต้องดำเนินไป.

ก็สติแม้ทั้ง 4 อย่างเหล่านั้น เมื่อยังกิจให้สำเร็จในอารมณ์ทั้งหลายมีกายเป็นต้น (จน) ถึงนิพพานในกาลภายหลัง และผู้มุ่งนิพพานก็ดำเนินไปตั้งแต่นั้น เพราะเหตุดังที่กล่าวมาแล้วนั้น ท่านจึงกล่าวไว้ว่า สติแม้ทั้ง 4 อย่างเป็นทางสายเอก.

เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงมีเทศนาที่มีการสืบต่อกันมาตามลำดับทีเดียว ด้วยการสืบต่อถ้อยคำกันมา เหมือนในพระพุทธพจน์ทั้งหลายมีอาทิว่า

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราตถาคตจักแสดงทางสำหรับย่ำยีมารและเสนามาร เธอทั้งหลายจงฟัง ฯลฯ

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ทางสำหรับย่ำยีมารและเสนามารคืออะไร? คือโพชฌงค์ 7 (องค์แห่งธรรมเป็นเหตุตรัสรู้)

ทั้งทางสำหรับย่ำยีมาร และโพชฌงค์ 7 โดยอรรถก็เป็นอันเดียว แต่พยัญชนะเท่านั้นต่างกันฉันใด เอกายนมรรคกับสติปัฏฐานสูตร 4 ก็ฉันนั้น โดยอรรถเป็นอันเดียวกัน ในที่นี้ต่างกันแต่พยัญชนะเท่านั้น เพราะฉะนั้น ควรเข้าใจว่า (มรรค) เป็นเอกพจน์ เพราะเป็นอย่างเดียวกัน โดยอรรถว่าจะต้องดำเนินไป (และ) ควรเข้าใจ (สติปัฏฐาน) ว่าเป็นพหูพจน์ เพราะสติมีมากโดยประเภทแห่งอารมณ์.

แต่เหตุไฉน พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสสติปัฏฐานไว้ 4 อย่างเท่านั้น ไม่ยิ่งไปหย่อน (ไปกว่านั้น)?

เพราะทรงเกื้อกูลแก่เวไนยสัตว์.

อธิบายว่า บรรดาเวไนยสัตว์ทั้งหลาย พวกตัณหาจริต พวกทิฏฐิจริต พวกสมถยานิกะ และวิปัสสนายานิกะ (แยก) เป็นพวกละ 2 ตามอ่อนและแก่กล้า.

ผู้มีตัณหาจริตอย่างอ่อน มีกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน มีอารมณ์หยาบเป็นทางแห่งความบริสุทธิ์. แต่ผู้มีตัณหาจริตแก่กล้า มีเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐานที่ละเอียด เป็นทางแห่งความบริสุทธิ์.

แม้ผู้มีทิฏฐิจริตอย่างอ่อน มีจิตตานุปัสนาสติปัฏฐาน ที่มีอารมณ์แยกออกไม่มากนักเป็นทางแห่งความบริสุทธิ์. แต่ผู้มีทิฏฐิจริตแก่กล้า มีธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ที่มีอารมณ์แยกประเภทออกไปมาก เป็นทางแห่งวิสุทธิ.

และสติปัฏฐานข้อแรกที่มีนิมิตจะที่พึงประสบได้ไม่ยาก เป็นทางแห่งความบริสุทธิ์ของสมถยานิกบุคคลประเภทยังอ่อน.

ข้อที่ 2 เป็นทางแห่งวิสุทธิสมถยานิกบุคคลประเภทแก่กล้า. เพราะท่านดำรงอยู่ได้ ไม่มั่นคงในอารมณ์ที่หยาบ.

ข้อที่ 3 ที่มีอารมณ์แยกประเภทออกไปไม่มากนัก เป็นทางแห่งความบริสุทธิ์แม้ของวิปัสสนายานิกบุคคลประเภทยังอ่อน.

ข้อที่ 4 ที่มีอารมณ์แยกประเภทออกไปมาก เป็นทางแห่งความบริสุทธิ์ของวิปัสสนายานิกบุคคลประเภทแก่กล้า.

สติปัฏฐานจึงตรัสไว้ 4 อย่างเท่านั้นไม่ยิ่งไม่หย่อนด้วยประการดังที่พรรณนามานี้ ดังนี้.

อีกอย่างหนึ่ง (ที่ทรงแสดงไว้ 4 อย่างเท่านั้น) เพื่อละวิปลาสคือความงาม ความสุข ความเที่ยงและความเป็นตน.

ความจริง กายเป็นของไม่งาม แต่สัตว์ทั้งหลายดำรงอยู่อย่างวิปริต สำคัญผิดในกายนั้นว่างาม สติปัฏฐานข้อที่ 1 ตรัสไว้สำหรับสัตว์เหล่านั้น เพื่อให้ละสุภวิปลาสนั้น ด้วยการเห็นว่าไม่งามในกายนั้น.

และในเวทนาเป็นต้น แม้ที่สัตว์ทั้งหลายยึดถือว่า เป็นสุข เที่ยง เป็นอัตตา (ก็มีนัยนี้คือ) เวทนาเป็นทุกข์ จิตไม่เที่ยง ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา แต่สัตว์เหล่านั้นดำรงอยู่อย่างวิปริต สำคัญผิดในเวทนา จิตและธรรมเหล่านั้นว่า เป็นสุข เที่ยงและเป็นอัตตา ตรัส 3 อย่างที่เหลือไว้สำหรับสัตว์เหล่านั้น เพื่อให้ละวิปลาสที่เหลือเหล่านั้น ด้วยการเห็นเวทนาเป็นต้นเหล่านั้นว่า เป็นทุกข์เป็นต้น ดังนี้.

เมื่อเป็นเช่นนี้ สติปัฏฐานก็ควรเข้าใจไว้ว่า พระองค์ตรัสไว้ 4 อย่างเท่านั้นไม่ยิ่งไม่หย่อน (ไปกว่านี้) ก็เพื่อให้ละสุภวิปลาส สุขวิปลาส นิจจวิปลาสและอัตตวิปลาส. และไม่ใช่เพียงตรัสไว้เพื่อให้ละวิปลาสอย่างเดียวเท่านั้น แต่ควรเข้าใจว่า ตรัสไว้ 4 อย่างเท่านั้น ก็เพื่อให้ละโอฆะ 4 โยคะ 4 อาสวะ 4 คันถะ 4 และอุปทานทั้ง 4 และอคติ 4 ด้วย เพื่อให้กำหนดรู้อาหารทั้ง 4 ด้วย.

นี้เป็นนัยตามปกรณ์ก่อน.

ส่วนในอรรถกถา ท่านกล่าวไว้เท่านี้เท่านั้นแหละว่า โดยระลึกและโดยการประมวลลงสู่จุดเดียวกันแล้ว สติปัฏฐานก็มีอย่างเดียวเท่านั้น แต่โดยอารมณ์มี 4 อย่าง.

อุปมาเสมือนหนึ่งว่าในพระนครที่มีประตู 4 ประตู คนมาจากทิศตะวันออก ถือเอาสิ่งของที่มีขึ้นทางทิศตะวันออก แล้วเข้าพระนครนั้นเอง ทางประตูด้านตะวันออก. คนมาจากทิศใต้ ทิศตะวันตก ทิศอุดร ถือเอาสิ่งของที่มีขึ้นทางทิศอุดรแล้ว เข้าสู่พระนครนั้นเอง ทางทิศอุดรฉันใด ข้ออุปไมยที่ให้อุปมาถึงพร้อมนี้ ก็ควรทราบฉันนั้น.

ความจริง พระนิพพาน เหมือนพระนคร.

โลกุตตรมรรคประกอบด้วยองค์ 8 เหมือนประตูพระนครหลวง.

กายเป็นต้น เหมือนทิศตะวันออก เป็นต้น.

และพระโยคาวจรทั้งหลาย เมื่อมาด้วยอำนาจกายานุปัสสนา เจริญกายานุปัสสนาสติปัฏฐานโดยวิธี 14 อย่างแล้ว จะไปรวมลงสู่ที่เดียวกัน คือพระนิพพานนั่นเอง ด้วยอริยมรรคที่เกิดขึ้นด้วยอานุภาพของกายานุปัสสนา

เหมือนคนทั้งหลายที่มาจากทิศตะวันออก ถือเอาสิ่งของที่มีขึ้นทางทิศตะวันออกแล้ว ก็เข้าถึงพระนครได้เหมือนกันทางประตูทิศตะวันออกได้ฉะนั้น.

พระโยคาวจร เมื่อดำเนินมาทางประตูเวทนานุปัสสนา เจริญเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน โดยวิธี 9 อย่าง ก็ไปรวมลงสู่ที่เดียวกัน

คือพระนิพพานนั่นเอง ด้วยอริยมรรคที่เกิดขึ้นด้วยอานุภาพของเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน เหมือนผู้มาจากทิศใต้ ถือเอาสิ่งของที่มีขึ้นจากทิศใต้ ก็เข้าถึงพระนครเหมือนกันทางประตูทิศใต้ฉะนั้น.

พระโยคาวจรทั้งหลาย เมื่อดำเนินมาทางประตูจิตตานุปัสสนา เจริญจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน โดยวิธี 16 อย่าง จะไปรวมที่เดียวกัน คือพระนิพพานนั่นเอง ด้วยอริยมรรคที่เกิดขึ้นด้วยอานุภาพของจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน เหมือนผู้มาจากทิศตะวันตก ถือเอาสิ่งของที่มีขึ้นจากทิศตะวันตก ก็เข้าถึงพระนครเหมือนกันทางทิศตะวันตกฉะนั้น.

และพระโยคาวจรทั้งหลาย เมื่อดำเนินมาทางประตูธัมมานุปัสสนา เจริญธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน โดยวิธี 5 อย่างแล้ว จะไปรวมที่เดียวกัน

คือพระนิพพานนั่นเอง ด้วยอริยมรรคที่เกิดขึ้นด้วยอานุภาพของธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน

เหมือนกับผู้มาจากทิศเหนือ ถือเอาสิ่งของที่มีขึ้นจากทิศเหนือ ก็เข้าถึงพระนครเหมือนกันทางประตูทิศเหนือได้ฉะนั้น.

สติปัฏฐาน พึงทราบว่า ตรัสไว้อย่างเดียวเท่านั้น โดยการระลึกและโดยการรวมลงสู่จุดเดียวกัน พึงทราบว่า ตรัสไว้ 4 อย่างนั้นแหละโดยอารมณ์ด้วยประการฉะนี้.

บทว่า กตเม จตฺตาโร (4 อย่าง คืออะไร) เป็น กเถตุกมฺมยตาปุจฺฉา (คำถามเพื่อจะตอบเอง).

บทว่า อิธ ได้แก่ อิมสฺมึ โยก สาสเน แปลว่า ในศาสนานี้.

คำว่า ภิกฺขเว นี้เป็นคำเรียกบุคคลผู้จะรับธรรมะ.

คำว่า ภิกฺขุ เป็นคำแสดงถึงบุคคล ผู้จะยังข้อปฏิบัติให้ถึงพร้อม.

อีกอย่างหนึ่ง เทวดาและมนุษย์แม้เหล่าอื่น ก็ยังข้อปฏิบัติให้ถึงพร้อมได้เหมือนกัน.

แต่พระองค์ตรัสเรียกว่า ภิกษุ เพราะเป็นผู้ประเสริฐ และเพราะทรงแสดงถึงภิกขุภาวะด้วยข้อปฏิบัติ.

เพราะว่า เมื่อภิกษุทั้งหลายปฏิบัติตามอนุศาสนีของพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว ภิกษุทั้งหลายก็จะเป็นผู้ประเสริฐที่สุด เพราะเป็น (เสมือน) ภาชนะ (รองรับ) อนุศาสนีทุกประการ. เพราะฉะนั้น พระองค์จึงตรัสว่า ภิกษุ เพราะเป็นผู้ประเสริฐที่สุด.

ก็ทรงระบุถึงภิกษุนั้นแล้ว เทวดาและมนุษย์ที่เหลือก็เป็นอันทรงระบุถึงด้วยเหมือนกัน เหมือนบริษัทที่เหลือถูกระบุถึงด้วยราชศัพท์ในกิจทั้งหลายมีการเสด็จพระราชดำเนินเป็นต้น.

และผู้ใดปฏิบัติข้อปฏิบัตินี้ ผู้นั้นก็ชื่อว่าภิกษุ เพราะฉะนั้น พระองค์จึงตรัสว่า ภิกษุ เพราะทรงแสดงถึงภิกขุภาวะด้วยข้อปฏิบัติบ้าง. ผู้ปฏิบัติจะเป็นเทวดาหรือมนุษย์ก็ตาม เข้าถึงการนับว่าเป็นภิกษุทั้งนั้น.

สมดังที่ตรัสไว้ว่า

ถึงผู้ที่ประดับประดาแล้ว หากประพฤติธรรมสม่ำเสมอ

สงบแล้ว ฝึกแล้ว มีคติที่แน่นอน ประพฤติพรหมจรรย์

เขาเว้นอาชญาในสัตว์ทั้งมวลเสียแล้ว ย่อมชื่อว่าเป็น

พราหมณ์ เป็นสมณะ เป็นภิกษุ.

บทว่า กาเย ได้แก่ ในรูปกาย.

ความจริง รูปกายพระองค์ทรงประสงค์ว่า กายในพระสูตรนี้ เหมือนกายช้างและกายม้าเป็นต้น. เพราะอรรถว่าเป็นที่รวมของอวัยวะน้อยใหญ่ และของรูปธรรมทั้งหลายมีผมเป็นต้น.

ก็ (รูปกาย) ชื่อว่ากาย เพราะอรรถว่าเป็นที่ชุมนุม (แห่งอวัยวะน้อยใหญ่ทั้งหลาย) ฉันใด ชื่อว่ากาย เพราะอรรถว่าเป็นที่มาถึงแห่งสิ่งที่น่าเกลียดทั้งหลายฉันนั้น.

เพราะว่า รูปกายนั้น เป็นที่มาถึง แห่งสิ่งที่น่าเกลียดทั้งหลาย คือสิ่งที่น่าขยะแขยงอย่างยิ่ง เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่ากายบ้าง.

บทว่า อาโย ได้แก่ แดนเกิด (ของสิ่งน่าเกลียด) ในบทว่า กาโย นั้นมีอรรถพจน์ดังต่อไปนี้ :-

ชื่อว่า อายะ เพราะเป็นแดนเกิด.

อะไรเกิด?

อวัยวะทั้งหลายมีผมเป็นต้นที่น่าเกลียดเกิด ชื่อว่ากาย เพราะเป็นแดนเกิดแห่งสิ่งที่น่าเกลียดทั้งหลายด้วยประการอย่างนี้.

บทว่า กายานุปสฺสี ได้แก่ผู้พิจารณาเห็นกายเนืองๆ เป็นปกติ หรือผู้พิจารณาเห็นอยู่เนืองๆ ซึ่งกาย.

แลควรทราบไว้ว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าถึงแม้ตรัสไว้แล้วว่า กาเย

แต่ก็ทรงทำ (ตรัส) กายศัพท์ไว้เป็นครั้งที่ 2 อีกว่า กายานุปสฺสี เพื่อจะทรงแสดงถึงการแยกก้อน (ฆนสัญญา) ออกไปด้วยการกำหนดด้วยจตุธาตุววัตถานกรรมฐานโดยไม่ให้ปะปนกัน พระโยคาวจรไม่ใช่เป็นผู้พิจารณาเห็นเวทนาในกาย หรือพิจารณาเห็นจิตและธรรมในกาย. โดยที่แท้แล้ว เป็นผู้พิจารณาเห็นกาย (ในกาย) นั้นเอง.

เพราะฉะนั้น ด้วยบทว่า กายานุปสฺสี นั้น จึงเป็นอันพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงถึงการกำหนดโดยมิให้ปนกัน ด้วยการทรงแสดงเฉพาะอาการ คือการพิจารณาเห็นกายในวัตถุกล่าวคือกายนั้นเอง.

อนึ่ง ไม่ใช่เป็นผู้พิจารณาเห็นธรรมอย่างเอก นอกเหนือไปจากอวัยวะน้อยใหญ่ในกาย ทั้งไม่ใช่เป็นผู้พิจารณาเห็นหญิงหรือบุรุษนอกเหนือไปจากผม ขนเป็นต้นในกาย.

และในคำว่า กาเย กายานุปสฺสี นี้ ไม่ใช่พิจารณาเห็นธรรมอย่างเอกนอกเหนือจาก (มหา) ภูตรูปและอุปาทายรูป แม้ในกายกล่าวคือชุมนุม (มหา) ภูตรูปและอุปาทายรูป มีผม ขนเป็นต้น.

โดยที่แท้แล้ว ก็เป็นผู้พิจารณาเห็นชุมนุมแห่งองคาพยพ เหมือนผู้มองเห็นเครื่องประกอบของรถฉะนั้น

เป็นผู้พิจารณาเห็นชุมนุมแห่งผม ขนเป็นต้น เหมือนผู้เห็นส่วนต่างๆ ของตัวเมืองฉะนั้น และเป็นผู้พิจารณาเห็นชุมนุมแห่ง (มหา) ภูตรูปและอุปาทายรูปนั้นแหละ เหมือนคนลอกกาบกล้วยออกจากต้นกล้วยฉะนั้น และเหมือนคนแบกำมือเปล่าออกอย่างนั้นแหละ

เพราะฉะนั้น โดยการทรงแสดงวัตถุกล่าวคือกายด้วยอำนาจแห่งชุมนุมโดยประการต่างๆ นั้นเอง เป็นอันพระองค์ทรงแสดงกายแยกฆนสัญญาออกไปแล้ว.

เพราะว่า ในคำว่า กาเย กายานุปสฺสี นี้ จะไม่เห็นเป็นกาย เป็นหญิง เป็นชาย หรือเป็นธรรมอะไรอื่น นอกเหนือไปจากชุมนุมแห่งธรรมตามที่กล่าวแล้ว.

แต่สัตว์ทั้งหลายทำความเชื่อมั่นผิดๆ อย่างนั้นอย่างนั้น ในสภาวะเพียงการชุมนุมธรรมตามที่กล่าวแล้วเท่านั้น.

เพราะฉะนั้น พระโบราณาจารย์จึงได้กล่าวไว้ว่า :-

สิ่งใดที่บุคคลเห็นอยู่ สิ่งนั้นไม่ใช่สิ่งที่เขาเห็นแล้ว

สิ่งใดที่บุคคลเห็นแล้ว สิ่งนั้นไม่ใช่สิ่งที่เขาเห็นอยู่

เมื่อไม่เห็น (ตามความเป็นจริง) จึงหลงติดอยู่

เมื่อ (หลง) ติดอยู่ ย่อมไม่หลุดพ้น.

มีอธิบายว่า เพื่อแสดงถึงการแยกความเป็นก้อน (ฆนสัญญา) ออกไปเป็นต้น.

และด้วยอาทิศัพท์ ในคำว่า ฆนวินิพฺโภคาทิทสฺสนตฺถํ นี้ ก็ควรทราบอรรถาธิบายดังต่อไปนี้ :-

ความจริง พระโยคาวจรนี้พิจารณาเห็นกายอย่างเดียวเท่านั้น ไม่ใช่พิจารณาเห็นธรรมอย่างอื่น.

มีอธิบายไว้อย่างไร?

มีอธิบายไว้ว่า คน (ทั่วไป) มองเห็นพยับแดดที่ไม่ใช่น้ำเลย ว่าเป็นน้ำฉันใด พระโยคาวจรไม่ใช่เหมือนอย่างนั้น คือไม่เห็นกายนี้ที่เป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาและไม่งามเลยว่า เป็นของเที่ยง เป็นสุข เป็นอัตตาและเป็นของงามไป โดยที่แท้แล้ว พิจารณาเห็นเป็น (แต่สักว่า) กาย คือพิจารณาเห็นว่าเป็นที่ประชุมของกายที่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาและเป็นของไม่งามเท่านั้น.

อีกอย่างหนึ่ง ควรทราบเนื้อความแม้อย่างนี้ว่า

กายนี้ใดมีลมหายใจออกหายใจเข้าเป็นเบื้องต้น มีกระดูกที่กลายเป็นผุยผงไปเป็นที่สุด

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ก่อนแล้ว โดยนัยมีอาทิว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนี้ในศาสนานี้ไปสู่ป่าหรือ ฯลฯ ภิกษุนั้นมีสติ หายใจออก และกายใดที่พระสารีบุตรกล่าวไว้ในปฏิสัมภิทามรรค ว่า พระโยคาวจรบางรูปในศาสนานี้ พิจารณาเห็นกายคือดิน กายคือน้ำ กายคือไฟ กายคือลม กายคือผม กายคือขน กายคือผิว กายคือหนัง กายคือเนื้อ กายคือเลือด กายคือเอ็น กายคือกระดูก และกายคือเยื่อในกระดูก โดยเป็นของไม่เที่ยง เพราะพิจารณาเห็นกายนั้นทั้งหมดในกายนี้นั่นแล พระโยคาวจรจึงชื่อว่า พิจารณาเห็นกายในกาย.

อีกอย่างหนึ่ง ควรทราบเนื้อความอย่างนี้ว่า พิจารณาเห็นกายกล่าวคือที่ประชุมรูปธรรมมีผมเป็นต้นในกายต่างๆ เพราะไม่เห็นสิ่งใดสิ่งหนึ่งในกายที่จะต้องยึดถืออย่างนี้ว่า เราหรือของเรา แต่เพราะพิจารณาเห็นชุมนุมของรูปธรรมต่างๆ นั้นๆ เอง มีผมและขนเป็นต้น.

อีกอย่างหนึ่งควรเข้าใจเนื้อความอย่างนี้ว่า เป็นผู้พิจารณาเห็นกายในกาย แม้เพราะพิจารณาเห็นกาย กล่าวคือชุมนุมอาการมีอนิจจลักษณะเป็นต้น ทั่วทุกอย่างในกายนี้ มีนัยดังที่มาแล้วในปฏิสัมภิทามรรค โดยนัยมีอาทิว่าพิจารณาเห็นโดยความเป็นของไม่เที่ยง ไม่ใช่เห็นโดยความเป็นของเที่ยง.

จริงอย่างนั้น ภิกษุผู้ปฏิบัติ กาเย กายานุปัสสนาปฏิปทา (ข้อปฏิบัติว่าด้วยการพิจารณากายในกาย) นี้

พึงทราบว่า จะพิจารณาเห็นกายนี้ ด้วยอำนาจของอนุปัสสนา 7 ประการมีอนิจจานุปัสสนาเป็นต้น คือจะพิจารณาเห็นโดยความเป็นของไม่เที่ยง ไม่ใช่จะพิจารณาเห็นโดยความเป็นของเที่ยง จะพิจารณาเห็นโดยเป็นทุกข์ไม่ใช่จะพิจารณาเห็นโดยเป็นสุข จะพิจารณาเห็นโดยเป็นอนัตตา ไม่ใช่จะพิจารณาเห็นโดยเป็นอัตตา จะเบื่อหน่าย ไม่ใช่จะเพลิดเพลิน จะคลายความกำหนัดยินดี ไม่ใช่จะกำหนัดยินดี จะดับ (ตัณหา) ไม่ใช่จะให้เกิด (ตัณหา) จะสลัดออกไป ไม่ใช่จะยึดมั่นไว้.

เธอเมื่อพิจารณาเห็นกายนั้นโดยความไม่เที่ยงก็จะละนิจจสัญญาได้ เมื่อพิจารณาเห็นโดยความเป็นทุกข์ก็จะละสุขสัญญาได้ เมื่อพิจารณาเห็นโดยความเป็นอนัตตา ก็จะละอัตตสัญญาได้ เมื่อเบื่อหน่ายก็จะละนันทิธรรม ความเพลิดเพลินได้ เมื่อคลายกำหนัดก็จะละราคะได้

เมื่อดับ (ตัณหา) ก็จะละสมุทัยได้ เมื่อสลัดออกได้ ก็จะละการยึดมั่นได้.

บทว่า วิหรติ ได้แก่ ดำเนินไป.

ในบทว่า อาตาปี พึงทราบวิเคราะห์ดังนี้ ชื่อว่าอาตาปะ เพราะอรรถว่าย่อมเผาผลาญกิเลสในภพ 3.

คำว่าอาตาปะนี้เป็นชื่อของวิริยะ. อาตาปะของภิกษุนั้นมีอยู่ เหตุนั้น ภิกษุนั้นจึงชื่อว่า อาตาปี.

บทว่า สมฺปชาโน ได้แก่ประกอบด้วยญาณ กล่าวคือสัมปชัญญะ.

บทว่า สติมา คือประกอบด้วยสติที่ใช้กำหนดกาย.

ก็ธรรมดาว่า อนุปัสสนา นี้ จะไม่มีแก่ผู้ปราศจากสติเลย เพราะพระโยคาวจรใช้สติกำหนดอารมณ์แล้ว

จึงพิจารณาเห็น (กายเป็นตน) ด้วยปัญญา เพราะเหตุนั้นแหละ พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า ก็แลภิกษุทั้งหลาย เราตถาคตพูดถึงสติว่ามีประโยชน์ในธรรมทั้งปวง

เพราะฉะนั้น ในพระสูตรนี้ พระองค์จึงตรัสไว้ว่า กาเย กายานุปสฺสี วิหรติ (พิจารณาเห็นกายในกายอยู่).

ด้วยคำเพียงเท่านี้ เป็นอันพระองค์ตรัสกายานุปัสสนาสติปัฏฐานกรรมฐาน.

อีกอย่างหนึ่ง เพราะเหตุที่ผู้ที่ไม่มีความเพียร ความหดหู่ภายใน ย่อมทำอันตรายให้ได้ ผู้ที่ไม่มีสัมปชัญญะ ย่อมเป็นผู้หลงลืมสติ ในการกำหนดอุบายและในการเว้นสิ่งที่ไม่ใช่อุบาย คือเป็นผู้ไม่สามารถในการกำหนดอุบาย และในการสลัดทิ้งสิ่งที่ไม่ใช่อุบาย (และ) กรรมฐานนั้น จะไม่สำเร็จแก่เธอด้วยวิธีนั้น ฉะนั้น พึงทราบว่า เพื่อจะทรงแสดงธรรมทั้งหลายที่มีอานุภาพเป็นเหตุสำเร็จแห่งกรรมฐานนั้น พระองค์จึงตรัสคำนี้ไว้ว่า อาตาปี มีความเพียร สมฺปชาโน มีสัมปชัญญะ สติมา มีสติ.

พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นทรงแสดงกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน และวิธีประกอบกายานุปัสสนาสติปัฏฐานนั้น ด้วยประการอย่างนี้แล้ว บัดนี้ เพื่อจะทรงแสดงองค์แห่งการละกิเลส จึงได้ตรัสว่า วิเนยฺย โลเก อภิชฺฌาโทมนสฺสํ พึงขจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกออกได้.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า วิเนยฺย ได้แก่ พรากออกไปด้วยการพรากออกไปด้วยองค์นั้น หรือด้วยการพรากออกไปด้วยการข่มไว้.

บทว่า โลเก ได้แก่ ในกายนั้นเอง.

ความจริง กาย พระองค์ทรงประสงค์เอาว่าโลกในที่นี้ เพราะอรรถว่าแตกสลาย. แต่เพราะเหตุที่เธอไม่ใช่จะละอภิชฌาและโทมนัสได้เฉพาะเพียงแต่ในกายเท่านั้น.

แม้ในเวทนาเป็นต้นก็ละได้เหมือนกัน ฉะนั้น ท่านจึงกล่าวไว้ในคัมภีร์วิภังค์ว่า โลก คือ อุปาทานขันธ์ทั้ง 5.

อีกอย่างหนึ่ง เพราะธรรมเหล่านั้นถูกนับว่าเป็นโลก คำว่า โลก นั้น ท่านจึงกล่าวไว้โดยอัตถุทธารนัย (โดยการขยายความ). ส่วนคำใดที่ท่านกล่าวไว้ว่า ในธรรมเหล่านั้น อันไหนเป็นโลก กายนั้นแหละเป็นโลก.

นี้แหละเป็นอรรถาธิบายในคำนี้. พึงเห็นการสัมพันธ์ความอย่างนี้ว่า กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกนั้นออกไปได้.

ก็เพราะเหตุที่ในสูตรนี้ กามฉันทะสงเคราะห์เข้ากับศัพท์ว่าอภิชฌา พยาบาทสงเคราะห์เข้ากับศัพท์ว่าโทมนัส ฉะนั้น

พึงทราบว่า การละนิวรณ์เป็นอันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้แล้ว ด้วยการแสดงธรรมสองอย่างที่มีกำลังอันนับเนื่อง (กับการละ) นิวรณ์

แต่โดยพิเศษแล้ว ในสูตรนี้พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสการละ ความยินดีที่มีกายสมบัติเป็นมูล ด้วยการขจัดอภิชฌา (และ) ความยินร้ายที่มีกายวิบัติเป็นมูลอีกด้วยการกำจัดโทมนัส

อนึ่ง ตรัสการละความยินดีในกาย ด้วยการกำจัดอภิชฌา (และ) ความไม่ยินดีในการเจริญกายภาวนา ด้วยการกำจัดโทมนัส

ตรัสการละการเพิ่มความสวยงาม และความสุขเป็นต้น ที่ไม่มีอยู่จริงในกายด้วยการกำจัดอภิชฌา และการนำออกซึ่งความไม่สวยงาม และความเป็นทุกข์ที่มีอยู่จริงในกาย ด้วยการกำจัดโทมนัส.

ด้วยคำว่า วิเนยฺย โลเก อภิชฺฌา โทมนสฺสํ นั้น เป็นอันพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงอานุภาพแห่งการบำเพ็ญเพียร และความเป็นผู้สามารถในการบำเพ็ญเพียรของพระโยคาวจรไว้แล้ว.

ความจริง อานุภาพของความเพียรนั้น ได้แก่การที่พระโยคาวจรเป็นผู้ปลอดพ้นไปจากความยินดีและความยินร้าย เป็นผู้ข่มความยินดีและความยินร้ายเสียได้ และเป็นผู้เว้นจากการเพิ่มสิ่งที่ไม่เป็นจริงเข้าไป และนำสิ่งที่เป็นจริงออกมา.

ก็พระโยคาวจรนี้ เมื่อปลอดพ้นจากความยินดีและความยินร้าย ข่มเสียได้ซึ่งความยินดีและไม่ยินดี ไม่เพิ่มสิ่งที่ไม่เป็นจริงเข้าไป และไม่นำสิ่งที่เป็นจริงออกมา ย่อมชื่อว่าเป็นผู้สามารถในการบำเพ็ญเพียรแล.

อีกนัยหนึ่ง พึงทราบว่า พระองค์ตรัสกรรมฐานไว้ด้วยอนุปัสสนา (การพิจารณาเนืองๆ) ในบทว่า กาเย กายานุปสฺสี นี้. ตรัสการบริหารกายไว้ สำหรับผู้บำเพ็ญกรรมฐาน ด้วยการพักผ่อนดังที่กล่าวไว้แล้วในบทว่า วิหรติ.

ในบทว่า อาตาปี เป็นต้น พระองค์ตรัส สัมมัปปธาน (ความเพียรชอบ) ไว้ด้วยอาตาปะ

(ความเพียรเป็นเหตุให้กิเลสเร่าร้อน) ตรัสกรรมฐานที่ให้สำเร็จประโยชน์ทุกอย่าง หรืออุบายสำหรับบริหารกรรมฐานไว้ด้วยสติสัมปชัญญะ.

อีกอย่างหนึ่ง ตรัสสมถะที่ได้มาแล้วด้วยอำนาจกายานุปัสสนาไว้ด้วยสติ. ตรัสวิปัสสนาด้วยสัมปชัญญะ. ตรัสพลังแห่งภาวนาไว้ด้วยการขจัดอภิชฌาและโทมนัสออกไป.

แต่ในคัมภีร์วิภังค์ พระองค์ตรัสไว้ว่า บทว่า อนุปสฺสี ความว่า บรรดาธรรมเหล่านั้น อนุปัสสนาคืออะไร?

คือปัญญา การรู้ทั่วถึง ฯลฯ สัมมาทิฏฐิ นี้เรียกว่า อนุปัสสนา. ภิกษุเข้าถึง เข้าถึงเรียบร้อยแล้ว เข้ามาถึงแล้ว เข้ามาถึงเรียบร้อยแล้ว เข้าไปถึงแล้ว ถึงพร้อมแล้ว ประกอบแล้วด้วยอนุปัสสนานี้ เพราะเหตุนั้น จึงตรัสเรียกว่า อนุปสฺสี ผู้พิจารณาเห็นเนืองๆ.

บทว่า วิหรติ ความว่า ย่อมผลัดเปลี่ยน เป็นไป รักษาไว้ดำเนินไปเอง ให้ (ร่างกาย) ดำเนินไป นำไป พักผ่อน ด้วยเหตุนั้น จึงตรัสเรียกว่า วิหรติ.

บทว่า อาตาปี ความว่า บรรดาธรรมเหล่านั้น อาตาปะ (ความเพียร) คืออะไร?

คือ การปรารภความเพียรทางใจ ฯลฯ ความพยายามชอบ นี้เรียกว่าอาตาปะ. ภิกษุเป็นผู้เข้าถึงแล้ว ฯลฯ ประกอบพร้อมแล้วด้วยอาตาปะนี้ ด้วยเหตุนั้น จึงตรัสเรียกว่า อาตาปี.

บทว่า สมฺปชาโน ความว่า บรรดาธรรมเหล่านั้น สัมปชัญญะคืออะไร?

คือ ปัญญา ความรู้ทั่วถึง ฯลฯ สัมมาทิฏฐิ นี้เรียกว่าสัมปชัญญะ. ภิกษุเป็นผู้เข้าถึงแล้ว ฯลฯ ประกอบพร้อมแล้วด้วยสัมปชัญญะนี้ ด้วยเหตุนั้น จึงตรัสเรียกว่า สมฺปชาโน.

บทว่า สติมา ความว่า บรรดาธรรมเหล่านั้น สติคืออะไร?

คือ สติ ความระลึกได้ อนุสสติ ความระลึกถึงเนืองๆ ฯลฯ สัมมาสติ ความระลึกชอบ นี้เรียกว่าสติ. ภิกษุเป็นผู้เข้าถึงแล้ว ฯลฯ ประกอบพร้อมแล้วด้วยสตินี้ ด้วยเหตุนั้น จึงตรัสเรียกว่าผู้มีสติ.

บทว่า วิเนยฺย โลเก อภิชฺฌาโทมนสฺสํ ความว่า บรรดาธรรมเหล่านั้น โลกคืออะไร?

กายนั้นเอง ชื่อว่าโลก โลกคืออุปาทานขันธ์ทั้ง 5 นี้เรียกว่าโลก.

บรรดาธรรมเหล่านั้น อภิชฌาคืออะไร?

คือ ความกำหนัด ความกำหนัดแรงกล้า ความยินดี ความคล้อยตาม ความเพลิดเพลิน ความกำหนัดด้วยอำนาจความเพลิดเพลิน ความกำหนัดแรงกล้าแห่งจิต นี้เรียกว่าอภิชฌา.

บรรดาธรรมเหล่านั้น โทมนัสคืออะไร?

คือ ความไม่ยินดีทางใจ ความทุกข์ทางใจ ความไม่ยินดี ทุกขเวทนา เกิดแต่สัมผัสทางใจ นี้เรียกว่าโทมนัส.

ทั้งอภิชฌา ทั้งโทมนัสในโลก คือ กายนี้ เป็นอันถูกขจัดแล้ว ถูกกำจัดออกไปแล้ว สงบแล้ว เงียบแล้ว ระงับแล้ว ถึงการดับแล้ว

ถึงการตั้งอยู่ไม่ได้แล้ว ถึงการดับสูญไป ไม่อิ่มเอิบแล้ว สิ้นปรีดาแล้ว ซูบซีดแล้ว เหี่ยวแห้งแล้ว ทำให้เสื่อมสิ้นแล้ว ด้วยเหตุนั้น พระองค์จึงตรัสว่า ขจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลก คือกายได้.

เนื้อความของบทเหล่านั้น ข้าพเจ้าได้กล่าวไว้แล้วอย่างที่พรรณนามานี้ นักศึกษาพึงทราบนัยแห่งอรรถกถานี้ พร้อมด้วยเนื้อความนั้นโดยการเทียบเคียงกันเถิด.

นี้เป็นกถาพรรณนาความแห่งอุเทศแห่งกายานุปัสสนาสติปัฏฐานก่อน.

บัดนี้ ผู้ศึกษาพึงทราบประโยชน์ในการกล่าวซ้ำเวทนาเป็นต้น ในคำมีอาทิอย่างนี้ว่า เวทนาสุ เวทนานุปสฺสี วิหรติ (ซึ่งมีรวมอยู่ในคำนี้ว่า เวทนาสุ…จิตเต…ธมฺเมสุ ธมฺมานุปสฺสี วิหรติ ฯลฯ วิเนยฺย โลเก อภิชฺฌาโทมนสฺสํ โดยนัยดังที่ได้กล่าวไว้แล้วในกายานุปัสสนา.

ก็ในคำว่า เวทนาสุ เวทนานุปสฺสี วิหรติ จิตฺเต จิตตานุปสฺสี ธมฺเมสุ ธมฺมานุปสฺสี นี้ คำว่า เวทนา ได้ แก่เวทนา 3 และเวทนานั้นเป็นโลกิยะอย่างเดียว ถึงแม้จิตก็เหมือนกัน เป็นโลกิยะ. ธรรมก็เช่นนั้นเหมือนกัน (เป็นโลกิยะ). การจำแนกเวทนาเป็นต้นเหล่านั้น จักปรากฏในนิทเทสวาร. แต่ในที่นี้ พึงทราบการจำแนกเวทนาล้วนๆ ไว้ว่า เวทนาต้องพิจารณาเห็นอย่างใด พระโยคาวจร เมื่อพิจารณาเห็นอย่างนั้น ก็ชื่อว่าพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนา.

ในจิตตานุปัสสนาและธรรมานุปัสสนา ก็นัยนี้เหมือนกัน.

ถามว่า ก็เวทนาควรพิจารณาเห็นอย่างไร?

ตอบว่า ก่อนอื่น สุขเวทนาควรพิจารณาให้เห็นโดยเป็นทุกข์ ทุกขเวทนาควรพิจารณาให้เห็นโดยเป็นเสมือนลูกศร อทุกขมสุขเวทนา (เวทนาไม่ทุกข์ ไม่สุข) ควรพิจารณาให้เห็นโดยเป็นของไม่เที่ยง.

ดังที่ตรัสไว้ว่า :-

ภิกษุรูปใดได้เห็นความสุขโดยเป็นความทุกข์ ได้เห็น

ความทุกข์โดยเป็นลูกศร ได้เห็นความไม่ทุกข์ไม่สุข

ที่มีอยู่ โดยเป็นสิ่งไม่เที่ยง แน่นอนแล้ว ภิกษุรูปนั้น

เป็นผู้เห็นชอบ จักเป็นผู้สงบ เที่ยวไป.

ก็เวทนาหมดทุกอย่างนี้ ควรพิจารณาให้เห็นว่าเป็นทุกข์.

สมจริงตามที่พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสไว้ว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งที่ได้เสวยแล้ว เราตถาคตกล่าวสิ่งนั้นทั้งหมดว่า (รวมลงใน) ทุกข์.

อีกอย่างหนึ่ง สุขเวทนาก็ควรพิจารณาให้เห็นโดยเป็นทุกข์. ดังที่ตรัสไว้ว่า เวทนานี้เป็นสุข ความสุขที่ดำรงอยู่ เป็นวิปริณามทุกข์ เพราะฉะนั้น ควรขยายให้พิสดารทุกข้อ.

อีกอย่างหนึ่ง เวทนาก็ควรพิจารณาให้เห็น แม้โดยอนุปัสสนาทั้ง 7 มีอนิจจานุปัสสนาเป็นต้น.

คำที่เหลือจักมีปรากฏในนิทเทสวารนั้นแหละ.

แม้บรรดาจิตและธรรม จิตก็ควรพิจารณาให้เห็นโดยการแยกออกไปเป็นจิตมีราคะเป็นต้นที่มาแล้วในนิทเทสวารแห่งอนิจจานุปัสสนาเป็นต้นที่จำแนกออกเป็นต่างๆ กัน มีอารมณ์ อธิบดี สหชาตธรรม ภูมิ กรรม วิบากและกิริยาเป็นต้น.

(ธรรม) ก็ควรพิจารณาให้เห็นโดยลักษณะของตน และลักษณะที่เสมอกันของธรรม โดยสุญญตธรรม, โดยอนุปัสสนาทั้ง 7 มีอนิจจานุปัสสนาเป็นต้น

และโดยจำแนกออกเป็นสันตธรรม (ธรรมที่สงบ) และ อสันตธรรม (ธรรมที่ไม่สงบ) เป็นต้นที่มาแล้วในนิทเทสวาร.

คำที่เหลือมีนัยดุจที่กล่าวมาแล้วนั่นแหละ.

ก็ในการละอภิชฌาและโทมนัสเป็นต้นนี้ ผู้ใดละอภิชฌาและโทมนัสในโลก กล่าวคือกายได้แล้ว ผู้นั้นก็ละอภิชฌาและโทมนัสแม้ในโลก คือเวทนาเป็นต้นได้อยู่นั่นเอง ก็จริง แต่ถึงกระนั้นพระองค์ก็ได้ตรัสทุกๆ นิทเทสวาร โดยบุคคลแตกต่างกัน และโดยสติปัฏฐานภาวนา ที่ปรากฏขึ้นในขณะจิตแตกต่างกัน.

อีกอย่างหนึ่ง พึงทราบว่า โดยเหตุที่อภิชฌาและโทมนัสที่ละได้ในวาระหนึ่งแล้ว ก็เป็นอันละได้

แม้ในวาระที่เหลือนั่นแหละ แม้เพื่อทรงแสดงการละอภิชฌาและโทมนัสไว้ในวาระนั้น จึงได้ตรัสไว้อย่างนี้ ดังนี้แล.

จบอรรถกถาว่าด้วยอุเทศวาร

อ.คำอธิบายคำบริกรรมกรรมฐาน

[133] บัดนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงมีพุทธประสงค์จะให้สัตว์ทั้งหลายบรรลุคุณวิเศษมากประการด้วยพระธรรมเทศนาว่าด้วยสติปัฏฐาน จึงทรงจำแนกสัมมาสมาธิข้อเดียวนั่นแหละออกเป็น 4 ข้อตามอารมณ์ โดยนัยมีอาทิว่า สติปัฏฐานมี 4 อย่าง 4 อย่างคืออะไร? คือ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ พิจารณาเห็นกายในกาย ดังนี้แล้ว

ต่อไป เมื่อจะทรงเอาสติปัฏฐานแต่ละข้อมาจำแนกออกไป (อีก) จึงได้ทรงปรารภเพื่อตรัสนิทเทสวารไว้โดยนัยมีอาทิว่า กถญฺจ ภิกฺขเว (ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็เป็นไฉน?) อุปมาเหมือนกับช่างจักสานผู้ฉลาด ประสงค์จะทำเครื่องใช้สอยมีเสื่อลำแพนหยาบ เสื่อลำแพนละเอียด ผอบ หีบและลุ้ง เป็นต้น ได้ไม้ไผ่ใหญ่มา 1 ลำ ผ่าออกเป็น 4 ซีก เอาแต่ละซีกมาจัก (ให้เป็นตอก) แล้วสานเครื่องใช้สอยฉะนั้น.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า กถญฺจ เป็นต้น เป็นคำถามโดยทรงมุ่งหมายจะตรัสตอบให้พิสดารด้วยพระองค์เอง.

ก็ในบทนี้ มีอรรถาธิบายโดยสังเขปดังต่อไปนี้

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย โดยประการอย่างไร? ภิกษุจึงเป็นผู้พิจารณาเห็นกายในกายอยู่.

นัยนี้จะมีในทุกวาระแห่งคำถาม.

บทว่า อิธ ภิกฺขเว ภิกฺขุ ความว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในศาสนานี้. เพราะว่า อิธ ศัพท์นี้ ในคำว่า อิธ ภิกฺขเว ภิกฺขุ นี้บ่งชัดถึงศาสนาอันเป็นที่พำนักอาศัยของบุคคลผู้ให้เกิดกายานุปัสสนาทุกประการ และปฏิเสธศาสนาอื่นว่าไม่เป็นอย่างนั้น.

สมจริงตามที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในศาสนานี้เท่านั้นมีสมณะ ศาสนาอื่น (ปรัปปวาท ลัทธิที่โจมตีลัทธิอื่น) ว่างจากสมณะเหล่าอื่น. ด้วยเหตุนั้น พระองค์จึงได้ตรัสไว้ว่า ภิกษุในศาสนานี้.

คำว่า อรญฺญคโต วา ฯเปฯ สุญฺญาคารคโต วา (ไปสู่ป่า ฯลฯ หรือไปสู่เรือนร้าง)

นี้เป็นคำแสดงถึงการทรงกำหนดเสนาสนะที่เหมาะสมแก่การบำเพ็ญสติปัฏฐานไว้.

อุปมาจิตเหมือนลูกวัว

เพราะว่า จิตของภิกษุนี้ที่ซ่านไปในรูปารมณ์เป็นต้นมานานแล้ว ไม่ประสงค์จะเข้าร่องรอยกรรมฐานได้ วิ่งออกนอกทางถ่ายเดียว

เหมือนรถที่เทียมด้วยวัวพยศก็ปานกัน เพราะฉะนั้น จึงอุปมาเสมือนหนึ่งว่า คนเลี้ยงวัว (เจ้าของ) เมื่อประสงค์จะฝึกลูกวัวพยศที่ดื่มนมทุกหยดจากแม่วัวพยศ เติบโตขึ้นมา ต้องพราก (มัน) ออกจากแม่ ตอกหลักใหญ่หลักหนึ่งไว้ในที่เหมาะสม แล้วเอาเชือกผูก (มัน) ไว้ที่หลักนั้น.

ครั้นลูกวัวของเขาตัวนั้นทะยานไปทางโน้นทางนี้ ก็ไม่อาจหนีไปได้ จะต้องยืนชิด หรือนอนชิดหลักนั่นเองฉันใด.

ภิกษุรูปนี้เองก็ฉันนั้นเหมือนกัน เมื่อประสงค์จะฝึกจิตร้ายของตน ที่เจริญขึ้นจากการดื่มรสรูปารมณ์เป็นต้นมานานแล้ว ต้องพราก (มัน) จากรูปารมณ์เป็นต้น เข้าไปสู่ป่า หรือรุกขมูล หรือเรือนร้าง เอาเชือกคือสติผูกมันไว้ที่หลัก คืออารมณ์ของสติปัฏฐานนั้น. จิตของเธอนั้นถึงจะดิ้นรนไปทางโน้นทางนี้อย่างนี้ เมื่อไม่ได้อารมณ์ที่เคยชินมาก่อน ไม่อาจจะทำลายเชือกคือสติ (ให้ขาด) แล้วหนีไป ก็จะซบเซา และเงื่องหงอย อยู่กะอารมณ์นั่นเองด้วยอุปจารสมาธิ.

ด้วยเหตุนั้น พระโบราณาจารย์จึงได้กล่าวไว้ว่า :-

พระโยคาวจร (ผู้บำเพ็ญเพียร) ต้องเอาสติผูกจิต

ของตนไว้ที่อารมณ์ (กรรมฐาน) ให้มั่น เหมือน

กับคนในโลกนี้ เมื่อจะฝึกวัว1- ต้องผูกวัวที่จะต้อง

ฝึกไว้ที่หลักฉะนั้น.

____________________________

1- ปาฐะว่า ทมฺมํ แต่ฉบับพม่าเป็น ทมํ แปลตามฉบับพม่า.

เสนาสนะนั้นเป็นเสนาสนะเหมาะสมที่จะบำเพ็ญ (กรรมฐาน) สำหรับเธอ ด้วยประการดังที่พรรณนามานี้. ด้วยเหตุนั้น พระองค์จึงได้ตรัสไว้ว่า

อรญฺญคโต วา ฯเปฯ สุญฺญาคารคโต วา นี้บ่งชัดถึงการกำหนดเสนาสนะที่เหมาะสมกับการบำเพ็ญสติปัฏฐาน.

เสียงเป็นข้าศึกต่อฌาน

ก็อีกอย่างหนึ่ง เพราะเหตุที่พระโยคาวจรยังสละเสนาสนะท้ายบ้านที่อึกทึกด้วยเสียงสตรี เสียงบุรุษ เสียงช้างและเสียงม้าเป็นต้นไม่ได้ จะยังอานาปานสติกรรมฐาน อันเป็นยอดแห่งกายานุปัสสนา เป็นเหตุใกล้เคียงแห่งการบรรลุคุณพิเศษและทิฏฐธรรมสุขวิหารธรรมของพระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า และพระสาวกทุกๆ พระองค์นี้ให้สมบูรณ์ ไม่ใช่ของที่จะทำได้ง่าย เพราะฌานมีเสียงเป็นเสี้ยนหนาม (อุปสรรค).

แต่ในป่าที่ไม่มีหมู่บ้าน การกำหนดเอาพระกรรมฐานนี้ แล้วยังฌานที่ 4 มีอานาปานสติเป็นอารมณ์ ทำฌานนั่นเองให้เป็นเบื้องบาท (ของวิปัสสนา) พิจารณาสังขารแล้วได้บรรลุพระอรหัตอันเป็นผลชั้นยอด เป็นสิ่งที่พระโยคาวจรทำได้ง่าย ฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจะทรงแสดงเสนาสนะอันสมควรแก่พระโยคาวจรนั้น จึงตรัสว่า อรญฺญคโต วา ดังนี้เป็นต้น.

ด้วยว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเป็นเหมือนอาจารย์ผู้รู้พื้นที่ (นักดูที่ หรือนักธรณีวิทยา). พระองค์ ครั้นทรงใคร่ครวญเห็นเสนาสนะที่สมควรแก่พระโยคาวจรอย่างนี้แล้ว จึงทรงชี้ว่า ควรบำเพ็ญพระกรรมฐาน ณ ที่นี้.

ต่อนั้นไป พระโยคี (ภิกษุผู้บำเพ็ญเพียร) บำเพ็ญกรรมฐานอยู่ เมื่อได้บรรลุพระอรหัตตามลำดับแล้ว

พระองค์ทรงได้รับสักการะอย่างมากมายด้วยคำสรรเสริญว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นทรงเป็นผู้ตรัสรู้ด้วยพระองค์เองโดยชอบ (จริงๆ) หนอ เหมือนกับอาจารย์ผู้รู้พื้นที่ดูพื้นที่ที่จะตั้งพระนครแล้ว พิจารณาดูถี่ถ้วนแล้ว ชี้บอกว่า ท่านทั้งหลายจงสร้างพระนคร ณ ที่นี้ และเมื่อพระนครสร้างสำเร็จโดยสวัสดี (เรียบร้อย) แล้ว จะได้รับพระราชทานสักการะมากมายจากราชตระกูลฉะนั้น.

ทรงเปรียบพระเหมือนเสือเหลือง

แต่ภิกษุรูปนี้ ท่านกล่าวว่า เป็นเช่นกับเสือเหลือง.

อธิบายว่า พญาเสือเหลืองใหญ่อาศัยพงหญ้าหรือพงป่า พงเขาในป่า ซุ่มจับหมู่มฤคมีควายป่า เนื้อสมัน และหมูป่าเป็นต้น (กิน) ฉันใด ภิกษุนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน บำเพ็ญพระกรรมฐานบ่อยๆ ในป่าเป็นต้น จะบรรลุอริยมรรค 4 และอริยผล 4 ตามลำดับ.

เพราะฉะนั้น พระโบราณาจารย์จึงได้กล่าวไว้ว่า :-

ภิกษุผู้เป็นพุทธบุตร บำเพ็ญวิปัสสนา ประกอบ

ความเพียรนี้ เข้าไปสู่ป่า แล้วบรรลุอรหัตตผล

เหมือนเสือเหลือง ซุ่มจับเนื้อกินฉะนั้น.

ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจะทรงแสดงเสนาสนะป่าอันเป็นพื้นที่ซึ่งเหมาะสมแก่การรีบเร่งในการประกอบความเพียรแก่ภิกษุนั้น จึงได้ตรัสไว้ว่า อรญฺญคโต วา ดังนี้เป็นต้น.

ต่อแต่นี้ไป คำใดที่ข้าพเจ้าจะต้องกล่าว (อธิบาย) ในอานาปานบรรพนี้ก่อน คำนั้นข้าพเจ้าได้กล่าวไว้ในคัมภีร์วิสุทธิมรรคนั้นแล้ว.

เจริญอานาปานสติ

ก็เมื่อพระโยคาวจรนั้น ศึกษาอยู่ด้วยอำนาจแห่งลมหายใจเข้าและลมหายใจออกเหล่านี้ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสไว้อย่างนี้ว่า

ภิกษุสำเหนียกว่า เมื่อหายใจออกยาว ก็รู้ชัดว่า เราหายใจออกยาว ฌานทั้ง 4 จะเกิดขึ้นในเพราะนิมิต คืออัสสาสะและปัสสาสะ.

เธอออกจากฌานแล้ว กำหนดลมหายใจออกลมหายใจเข้า หรือกำหนดองค์ฌาน, ในจำนวนอัสสาสะปัสสาสะ และองค์ฌานทั้ง 2 อย่างนั้น. (ถ้า) เป็นผู้กำหนดอัสสาสะปัสสาสะเป็นอารมณ์ ก็กำหนดรูปอย่างนี้ว่า อัสสาสะปัสสาสะอาศัยอยู่กับอะไร? อาศัยอยู่กับวัตถุกรชกาย ชื่อว่าวัตถุ. มหาภูตรูป 4 และอุปาทายรูป (24) ชื่อว่ากรชกาย.

ต่อมา กำหนดนามรูปอย่างนี้ว่า นามมีอยู่ ในอารมณ์นั้น มีผัสสะเป็นที่ 5 เมื่อแสวงหาปัจจัยของนามรูปนั้นจะเห็นปฏิจจสมุปบาทมีอวิชชาเป็นต้น ข้ามความสงสัยได้ว่า นี้เป็นเพียงปัจจัยและธรรมที่อาศัยปัจจัยเกิดขึ้นเท่านั้น

ไม่มีสัตว์หรือบุคคล อื่นต่างหาก (จากอัสสาสปัสสาสะนั้น) ยกนามรูปพร้อมทั้งปัจจัยขึ้นสู่ไตรลักษณ์ เจริญวิปัสสนา บรรลุพระอรหัตตามลำดับ.

นี้เป็นช่องทางแห่งการออกไป (จากทุกข์) จนถึงอรหัตของภิกษุรูปหนึ่ง.

ส่วนผู้กำหนดฌานเป็นอารมณ์ จะกำหนดนามรูปว่า องค์ฌานทั้งหลายเหล่านี้1- อาศัยอยู่กับอะไร?

____________________________

1- ปาฐะว่า อิทานิ พม่าเป็น อิมานิ แปลตามฉบับพม่า.

อาศัยอยู่กับวัตถุ กรชกาย ชื่อว่าวัตถุ องค์ฌานเป็นนาม กรชกายเป็นรูป เมื่อแสวงหาปัจจัยของนามรูปนั้น จะเห็นปัจจยาการมีอวิชชาเป็นต้น ข้ามความสงสัยเสียได้ว่า นี้เป็นเพียงปัจจัยและธรรมที่อาศัยปัจจัยเกิดขึ้นเท่านั้น ไม่มีสัตว์หรือบุคคลอื่นต่างหาก (จากนามรูปนั้น) ยกนามรูปพร้อมทั้งปัจจัยขึ้นสู่ไตรลักษณ์เจริญวิปัสสนา บรรลุอรหัตตามลำดับ.

นี้เป็นช่องทางแห่งการออกไป (จากทุกข์) จนถึงพระอรหัตของภิกษุรูปหนึ่ง.

บทว่า อิติ อชฺฌตฺตํ วา ความว่า ภิกษุพิจารณาเห็นกายในกาย คือลมหายใจออกหายใจเข้าของตนอยู่อย่างนี้หรือ.

บทว่า พหิทฺธา วา ความว่า หรือ (พิจารณาเห็นกาย) ในกาย คือลมหายใจออกหายใจเข้าของคนอื่น.

บทว่า อชฺฌตฺตพหิทฺธา วา ความว่า ในกายคือลมหายใจออกหายใจเข้าของตน (และ) ของผู้อื่น ตามกาลเวลาอย่างนี้.

ด้วยบทว่า อชฺฌตฺตพหิทฺธา วา นี้ พระองค์ตรัสถึงกาลเวลาที่ลมหายใจนั้นออกๆ เข้าๆ โดยไม่พักกรรมฐานที่ช่ำชองไว้. แต่ทั้ง 2 อย่างนี้ จะมีในเวลาเดียวกันไม่ได้.

บทว่า สมุทยธมฺมานุปสฺสี วา ความว่า อุปมาเสมือนหนึ่งว่า อาศัยทั้งสูบของช่างทองทั้งก้านสูบและความพยายามอันเกิดจากทั้ง 2 อย่างนั้น

(สูบและก้านสูบ) ลมจึงเดินไปมาได้ฉันใด. กายคืออัสสาสะปัสสาสะของภิกษุก็ฉันนั้น อาศัยกรชกาย โครงจมูกและจิต

จึงสัญจรไปมาได้. ธรรมทั้งหลายมีกายเป็นต้น เป็นสมุทัย ภิกษุเมื่อพิจารณาธรรมเหล่านั้น เรียกว่าพิจารณาเห็นธรรม คือความเกิดขึ้นในกายอยู่.

บทว่า วยธมฺมานุปสฺสี วา ความว่า เมื่อกายแตกดับ โครงจมูกโหว่ และเมื่อจิตดับ ขึ้นชื่อว่ากายคืออัสสาสะและปัสสาสะจะสัญจรไม่ได้ เหมือนกับเมื่อสูบถูกนำออกไปแล้ว เมื่อก้านสูบหัก และเมื่อไม่มีความพยายามอันเกิดแต่สูบและก้านสูบนั้น ลมนั้นจะไม่เดินฉะนั้น เพราะฉะนั้น ลมหายใจออกและหายใจเข้าดับไป เพราะกายเป็นต้นแตกดับไป ภิกษุเมื่อพิจารณาเห็นอยู่อย่างนี้ พระองค์จึงตรัสเรียกว่าพิจารณาเห็นธรรมคือความดับไปในกายอยู่.

บทว่า สมุทยวยธมฺมานุปสฺสี ความว่า พิจารณาเห็นความเกิดตามกาลเวลา ความดับไปตามกาลเวลา.

บทว่า อตฺถิ กาโย วา ปนสฺส ความว่า สติ เป็นอันเธอเข้าไปตั้งไว้อย่างนี้ว่า กายมีอยู่ แต่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล. ไม่ใช่หญิง ไม่ใช่ชาย ไม่ใช่อัตตา ไม่ใช่สิ่งที่เนื่องด้วยอัตตา ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่ใคร ไม่ใช่ของใคร.

คำว่า ยาวเทว นี้ เป็นคำกำหนดการชี้ขาดประโยชน์.

มีคำอธิบายว่า สติที่เข้าไปตั้งไว้นั้น ไม่ใช่เพื่อประโยชน์อย่างอื่น.

โดยที่แท้แล้ว เพียงเพื่อความรู้เท่านั้น คือเพื่อประโยชน์แก่ญาณที่ยิ่งขึ้นไปเป็นประมาณต่อๆ ไป และเพื่อต้องการสติเป็นประมาณ

อธิบายว่า เพื่อต้องการให้สติและสัมปชัญญะเจริญขึ้น.

บทว่า อนิสฺสิโต จ วิหรติ ความว่า เป็นผู้ไม่อาศัย (อะไร) ด้วยอำนาจแห่งตัณหานิสัยและทิฏฐินิสัย.

ข้อว่า น จ กิญฺจิ โลเก อุปาทิยติ (และเธอจะไม่ยึดมั่นอะไรในโลก)

ความว่า เธอจะไม่ยึดถืออะไร คือ รูป ฯลฯ หรือวิญญาณในโลกว่า นี้เป็นอัตตาหรือสิ่งที่เนื่องด้วยอัตตาของเรา.

ปิ อักษร ในคำว่า เอวํปิ ใช้ในความหมายว่า รวมเอาเนื้อความข้างหน้ามาไว้. อนึ่ง ด้วยบทนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงพระธรรมเทศนาว่าด้วยอานาปานบรรพ มอบให้ (สาวกทั้งหลาย) ดังนี้แล.

อริยสัจ 4 ในอานาปานะ

บรรดาสัจจะเหล่านั้น สติที่กำหนดอัสสาสะและปัสสาสะ เป็นทุกขสัจ. ตัณหาที่มีแต่ก่อนที่เป็นสมุฏฐานของสตินั้น เป็นทุกขสมุทัย. ความไม่เป็นไปแห่งสติ และตัณหาทั้ง 2 อย่างนั้น เป็นนิโรธ. อริยมรรคที่มีการกำหนดรู้ทุกข์ มีการละสมุทัย มีนิโรธเป็นอารมณ์ เป็นมรรคสัจ.

เธอขวนขวายด้วยอำนาจสัจจะทั้ง 4 อย่างนี้แล้ว จะบรรลุความดับ (นิพพาน) ฉะนั้น ข้อนี้จึงเป็นช่องทางแห่งการออกไปจาก (ทุกข์) จนถึงอรหัตของภิกษุผู้ไม่ยึดมั่นด้วยอำนาจอัสสาสะและปัสสาสะ รูปหนึ่ง.

จบอานาปานบรรพ

[134] พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นทรงจำแนกการพิจารณาดูกายโดยอัสสาสะและปัสสาสะอย่างนี้แล้ว บัดนี้ เพื่อจะทรงจำแนกโดยอิริยาบถ จึงได้ตรัสคำมีอาทิไว้ว่า ปุน จ ปรํ.

จะวินิจฉัยในบทเหล่านั้นต่อไป :-

ความรู้ที่เป็นสติปัฏฐานภาวนา

ถึงสุนัขบ้านและสุนัขจิ้งจอก เมื่อเดินไปก็รู้โดยแท้ว่า เรากำลังเดิน. แต่การรู้นั่น พระองค์มิได้ตรัสหมายเอาการรู้แบบนี้.

เพราะว่าการรู้แบบนี้ ละสัตตูปลัทธิ (การยึดถือว่าเป็นสัตว์) ไม่ได้. ถอนอัตตสัญญา (ความสำคัญว่าเป็นอัตตา) ไม่ออก. ไม่เป็นกรรมฐาน หรือสติปัฏฐานภาวนา.

แต่การรู้ของภิกษุนี้ ละสัตตูปลัทธิได้ ถอนอัตตสัญญาได้ เป็นกรรมฐาน หรือเป็นสติปัฏฐานภาวนา.

ความจริง การรู้นี้ พระองค์ตรัสหมายเอาการรู้สึกตัวอย่างนี้ว่า

ใครเดิน? การเดินของใคร? เดินเพราะเหตุอะไร? ถึงในการยืนก็นัยนี้เหมือนกัน.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ใครเดิน ความว่า ไม่ใช่สัตว์ตัวไหนหรือคนคนไหนเดิน.

บทว่า การเดินของใคร ความว่า ไม่มีการเดินของสัตว์ตัวไหน

บทว่า เดินเพราะเหตุอะไร ความว่า เดินไป โดยการแผ่ขยายของวาโยธาตุที่เกิดจากกิริยาของจิต.

วาโยธาตุเกิดจากจิต

เพราะฉะนั้น ภิกษุนี้จะรู้ชัด (อิริยาบถ) อย่างนี้ว่า จิต (ความคิด) เกิดขึ้นว่า เราจักเดิน จิตนั้นจะให้วาโยเกิด จะให้การไหววาโยเกิด. การเคลื่อนไหวกายทั้งหมดไปข้างหน้า โดยการแผ่ขยายของวาโยธาตุอันเกิดจากกิริยาของจิต เรียกว่าการเดิน.

แม้ในการยืนเป็นต้น ก็มีนัยนี้เหมือนกัน.

แม้ในบรรดาการยืนเป็นต้นนั้น พึงทราบวินิจฉัยต่อไป

จิต (ความคิด) เกิดขึ้นว่า เราจะยืน จิตนั้นจะให้วาโยเกิด จะให้การไหววาโยเกิด.

ภาวะที่กายทั้งหมดตั้งแต่ที่สุด (คือศีรษะถึงปลายเท้า) ยืดขึ้น โดยกายแผ่ขยายของวาโยธาตุที่เกิดจากกิริยาของจิต เรียกว่า การยืน.

จิตเกิดขึ้นว่า เราจะนั่ง จิตนั้นจะให้วาโยเกิด จะให้การไหว วาโยเกิด การย่อกายตอนล่างลง การยืดกายตอนบนขึ้น โดยการแผ่ขยายของวาโยธาตุที่เกิดจากกิริยาของจิต เรียกว่าการนั่ง.

จิตเกิดขึ้นว่า เราจะนอน จิตจะให้วาโยนั้นเกิด จะให้การเคลื่อน ไหววาโยเกิด. การเหยียดร่างกายทั้งหมดออกไปตามทางขวาง โดยการแผ่ขยายของวาโยธาตุที่เกิดจากกิริยาของจิต เรียกว่าการนอน อาการของเขาผู้รู้เห็นอยู่อย่างนี้ เรียกว่า สัตว์เดิน สัตว์ยืน.

ถามว่า มีสัตว์อะไรเดินหรือยืนหรือ?

ตอบว่า ไม่มี.

แต่เหมือนคำที่เรียกว่า เกวียนไป เกวียนหยุด. ก็ไม่มีอะไรที่ชื่อว่าเกวียนจะไปหรือจะหยุด. แต่เมื่อสารถีผู้ฉลาด เทียมโค 4 ตัวขับไป จะมีก็แต่เพียงการเรียกขานกันว่า เกวียนไป เกวียนหยุด ฉันใด. กายเหมือนเกวียน เพราะอรรถว่าไม่รู้ ลมที่เกิดจากจิตเหมือนโค จิตเหมือนสารถี เมื่อจิตเกิดขึ้นว่า เราจะเดิน วาโยธาตุที่จะให้เกิดวิญญัติ ก็จะเกิดขึ้น การเดินเป็นต้นจะเป็นไปโดยการแผ่ขยายของวาโยธาตุที่เกิดจากกิริยาของจิต จะมีแต่เพียงการเรียกขานกันว่าสัตว์เดิน สัตว์ยืน ฉันไป ฉันยืน ฉันนั้นเหมือนกัน.

เรือวิ่งไปได้ เพราะกำลังของลม ลูกศรวิ่งไปได้

เพราะกำลังของสาย ฉันใด ร่างกายนี้ก็ฉันนั้น

เดินไปได้ เพราะลม (ภายใน) พัดผัน. แม้กาย

ยนต์นี้ ที่ (นายช่างคือตัณหาประกอบไว้) เดิน

ยืน นั่งได้ด้วยอำนาจของสายชักคือจิต เหมือน

หุ่นยนต์ เคลื่อนไหวได้ ด้วยอำนาจของสายชัก.

ในเรื่องนี้ จะมีสัตว์อะไร นอกจากเหตุปัจจัยที่

ยืนหรือเดินไป ด้วยอานุภาพของตน.

เพราะฉะนั้น พระโยคาวจรนั้นกำหนดอยู่ซึ่งอิริยาบถเดินเป็นต้นที่เป็นไปโดยเหตุและปัจจัยเท่านั้นอย่างนี้ พึงทราบเถิดว่า บุคคลนั้นเมื่อเดินก็รู้ชัดว่า เราเดิน (เมื่อยืน นั่งหรือนอน) ก็รู้ชัดว่า เรายืน นั่งหรือนอน.

คำว่า ยถา ยถา วา ปนสฺส กาโย ปณิหิโต โหติ ตถา ตถา นํ ปชานาติ (ก็หรือว่า เธอย่อมรู้ชัดกายนั้นตามที่ตนดำรงอยู่แล้ว) นี้เป็นคำที่ประมวลอิริยาบถทุกอย่างไว้.

มีคำอธิบายไว้ดังต่อไปนี้ว่า

กายของเธอสถิตอยู่แล้วโดยอาการใดๆ เธอก็รู้ชัดกายนั้น โดยอาการนั้นๆ คือ รู้ชัดกายที่สถิตอยู่โดยอาการที่เดินว่ากำลังเดิน รู้ชัดกายที่ดำรงอยู่โดยอาการที่ยืน นั่งหรือนอน ว่า (กำลัง) นอนเป็นต้น.

บทว่า อิติ อชฺฌตฺตํ วา ความว่า หรือเธอพิจารณาเห็นกายในกาย โดยการพิจารณาอิริยาบถ 4 ของตนอย่างนี้อยู่.

บทว่า พหิทฺธา วา ความว่า หรือโดยการกำหนดอิริยาบถ 4 ของผู้อื่น.

บทว่า อชฺฌตฺตพหิทฺธา วา ความว่า พิจารณาเห็นกายในกายโดยการกำหนดอิริยาบถ 4 ของตน (หรือ) ของผู้อื่นตามกาลเวลา.

ส่วนในบทว่า สมุทยธมฺมานุปสฺสี วา เป็นต้น ผู้ศึกษาควรนำเอาความเกิดขึ้นและความเสื่อมไปแห่งรูปขันธ์ด้วยอาการ 5 อย่างมาโดยนัยมีอาทิว่า เพราะอวิชชาเกิด รูปขันธ์จึงเกิด.

ความจริง คำว่า สมุทยธมฺมานุปสฺสี วา นี้ ในอิริยาปถบรรพนี้ พระองค์ตรัสหมายเอาคำนั้น.

คำว่า อตฺถิ กาโยติ วา ปนสฺส เป็นต้น ก็เช่นเดียวกันกับที่กล่าวมาแล้วนั่นแหละ.

อริยสัจในอิริยาบถ

แต่ในอิริยาปถบรรพนี้ สติที่กำหนดอิริยาบถทั้ง 4 เป็นทุกขสัจ ตัณหาเก่าที่เป็นสมุฏฐานของสติ เป็นสมุทัยสัจ การไม่เป็นไปแห่งสติ กับตัณหาทั้ง 2 อย่างนั้น เป็นนิโรธสัจ อริยมรรคที่กำหนดรู้ทุกข์ ที่ละสมุทัย ที่มีนิโรธเป็นอารมณ์ เป็นมรรคสัจ.

พระโยคาวจรขวนขวายด้วยอำนาจสัจจะทั้ง 4 อย่างนี้แล้ว จะบรรลุความดับ (นิพพาน). ถ้อยคำดังที่พรรณนามานี้เป็นช่องทางการนำออก (จากทุกข์) จนถึงพระอรหัตของภิกษุผู้กำหนดอิริยาบถ 4 รูปหนึ่งดังนี้แล.

จบอิริยาปถบรรพ

[135] พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นทรงจำแนกการพิจารณาเห็นกายในกายโดยอิริยาบถอย่างนี้แล้ว บัดนี้ เพื่อจะทรงจำแนกโดยสัมปชัญญะ 4 จึงตรัสคำมีอาทิว่า ปุน จปรํ ไว้.

ก่อนอื่น บรรดาคำเหล่านั้นในคำว่า อภิกฺกนฺเต ปฏิกฺกนฺเต นี้ การเดินไป พระองค์ตรัสเรียกว่าอภิกกันตะ การเดินกลับตรัสเรียกว่าปฏิกกันตะ. แม้ทั้ง 2 อย่างนั้นได้ในอิริยาบถทั้ง 4.

(จะว่า) ในการเดินก่อน เมื่อโยกกายไปข้างหน้า ก็ชื่อว่าก้าวไป. เมื่อเอนกลับก็ชื่อว่าถอยกลับ. แม้ในการยืน ผู้ยืนนั้นแหละ เมื่อโยกกายไปข้างหน้า ก็ชื่อว่าก้าวไป. เมื่อเอนตัวมาข้างหลัง ก็ชื่อว่าถอยกลับ. ในการนั่ง ผู้นั่งนั่นเอง เมื่อโน้มตัวด้านหน้าไป เฉพาะหน้าอาสนะ ชื่อว่าก้าวไป. เมื่อโยกร่างกายด้านหลังไปทางหลัง ชื่อว่าถอยกลับ.

แม้ในการนอนก็มีนัยนี้เหมือนกัน.

บทว่า สมฺปชานการี โหติ ความว่า เป็นผู้ประกอบกิจทุกอย่างด้วยสัมปชัญญะ (ความรู้ตัว) เป็นปกติ

หรือเป็นผู้ทำความรู้สึกตัวนั่นแหละเป็นปกติ เพราะว่า เธอทำความรู้สึกตัวอยู่ทีเดียวในการก้าวไปข้างหน้าเป็นต้น ไม่ว่าในอิริยาบถไหนๆ ก็ไม่เว้นสัมปชัญญะ.

สัมปชัญญะ 4

สัมปชัญญะ ในคำว่า สมฺปชานการี นั้นมี 4 อย่างคือ สาตถกสัมปชัญญะ 1 สัปปายสัมปชัญญะ 1 โคจรสัมปชัญญะ 1 อสัมโมหสัมปชัญญะ 1.

1. สาตถกสัมปชัญญะ

บรรดาสัมปชัญญะทั้ง 4 อย่างนั้น การไม่ไปตามอำนาจความคิดที่เกิดขึ้นทีเดียว ในเมื่อคิดจะก้าวไป กำหนดผลได้ผลเสีย (ก่อน) ว่าการไปที่นี้จะมีประโยชน์แก่เรา หรือไม่มี แล้วถือเอาแต่ประโยชน์ ชื่อว่าสาตถกสัมปชัญญะ.

ก็บรรดาอัตถะและอนัตถะ (ผลได้ผลเสีย) ทั้ง 2 อย่างนั้น ความเจริญทางธรรมด้วยได้เห็นพระเจดีย์ ได้เห็นต้นโพธิ์ ได้เห็นพระสงฆ์ ได้เห็นพระเถระและได้เห็นอสุภารมณ์เป็นต้น ชื่อว่าอัตถะ. เพราะว่า แม้ได้เห็นพระเจดีย์แล้วยังปีติให้เกิดมีพระพุทธเจ้าเป็นอารมณ์ขึ้นได้ (และ) เพราะได้เห็นพระสงฆ์ก็ให้เกิดปีติมีพระสงฆ์เป็นอารมณ์ขึ้นได้แล้ว เมื่อพิจารณาอารมณ์นั่นแหละโดยความสิ้นไปและความเสื่อมไป ก็จะบรรลุพระอรหัต.

ได้เห็นพระเถระทั้งหลายแล้ว ตั้งอยู่ในโอวาทของท่าน ได้เห็นอสุภารมณ์แล้ว ยังปฐมฌานให้เกิดในอสุภารมณ์นั้นขึ้นได้ เมื่อพิจารณาอสุภารมณ์นั่นแหละไปโดยความสิ้นไปและความเสื่อมไป ก็จะบรรลุพระอรหัต.

เพราะฉะนั้น การเห็นสิ่งเหล่านั้นจึงชื่อว่ามีประโยชน์.

แต่อาจารย์บางพวกกล่าวว่า ความเจริญด้านอามิสเอง ก็ชื่อว่าเป็นประโยชน์ (ผล) ได้เหมือนกัน เพราะอาศัยประโยชน์นั้นแล้ว ได้ปฏิบัติ (ธรรม) เพื่ออนุเคราะห์พรหมจรรย์.

2. สัปปายสัมปชัญญะ

ส่วนการกำหนดสัปปายะและอสัปปายะ (ความสบายหรือไม่สบาย) ในการเดินนั้นแล้วกำหนดเอาสัปปายะ ชื่อว่า สัปปายสัมปชัญญะ.

ได้แก่อะไร?

ได้แก่ การเห็นพระเจดีย์ ชื่อว่ามีประโยชน์ก่อน ก็ถ้าบริษัทประชุมกันระยะ 10 หรือ 12 โยชน์ เพื่อบูชามหาเจดีย์เป็นการใหญ่ ผู้หญิงบ้าง ผู้ชายบ้าง แต่งตัวด้วยเครื่องประดับตามควรแก่สมบัติของตน (ตามฐานานุรูป) เดินเที่ยวกันไปเหมือนกับภาพจิตรกรรม (รูปเขียน) ไซร้

เธอก็จะเกิดความอยากได้ (โลภ) ในอิฏฐารมณ์นั้น จะเกิดความขัดเคืองในเพราะอนิฏฐารมณ์ และจะเกิดความหลงใหลขึ้นในเพราะการมองไม่เหมาะสม. จะต้องอาบัติกายสังสัคคะ (จับต้องกายหญิง) หรือจะมีอันตรายแก่ชีวิตและพรหมจรรย์. สถานที่ดังที่พรรณนามานี้นั้น ชื่อว่าเป็นอสัปปายะ.

แม้การเห็นพระสงฆ์ที่เป็นสัปปายะ ชื่อว่ามีประโยชน์ในเพราะไม่มีอันตราย มีประการดังที่กล่าวมาแล้ว.

แต่ถ้าเมื่อมนุษย์พากันสร้างปะรำใหญ่ไว้ภายในหมู่บ้านแล้วฟังธรรมเทศนากันตลอดทั้งคืน การชุมนุมของประชาชนและอันตรายก็จะมีโดยประการดังที่กล่าวแล้วนั่นแหละ. สถานที่ดังกล่าวมาแล้วนี้นั้นเป็นอสัปปายะ (แต่) เป็นสัปปายะได้ เพราะไม่มีอันตราย.

แม้ในการเห็นพระเถระทั้งหลายผู้มีบริษัทบริวารมาก ก็มีนัยนี้เหมือนกัน.

ถึงการเห็นอสุภารมณ์ ก็ชื่อว่ามีประโยชน์.

และมีเรื่องดังต่อไปนี้เป็นการแสดงเนื้อความนั้น (ตัวอย่าง) :-

เรื่องภิกษุหนุ่ม

เล่ากันมาว่า ภิกษุหนุ่มรูปหนึ่งพาสามเณรไปหาไม้ชำระฟัน. สามเณรแวะออกนอกทางเดินล่วงหน้าไป เห็นอสุภารมณ์ แล้วยังปฐมฌานให้เกิดขึ้น ทำปฐมฌานนั่นแหละให้เป็นเบื้องบาทพิจารณาสังขาร ทำผลทั้ง 3 ให้แจ้งชัดแล้ว ได้ยืนกำหนดกรรมฐาน เพื่อผลประโยชน์แก่มรรคเบื้องสูง (อรหัตตมรรค).

ภิกษุหนุ่มเมื่อไม่เห็นสามเณรนั้น จึงร้องเรียกว่าสามเณร.

สามเณรนั้นคิดว่า ตั้งแต่บวชแล้ว เราไม่เคยให้พระเรียกถึง 2 ครั้งเลย เราจักให้คุณวิเศษเบื้องสูงเกิดขึ้นในวันอื่นเถอะ ดังนี้แล้วจึงให้คำตอบว่า อะไรครับท่าน? และสามเณรนั้นที่ภิกษุหนุ่มบอกว่า มาเถิดสามเณร เพียงคำเดียวเท่านั้นก็มาแล้วได้พูดว่า

ท่านครับ ขอได้โปรดเดินไปตามทางนี้ก่อน แล้วยืนหันหน้ามองไปทางทิศตะวันออกสักครู่หนึ่ง ณ โอกาสที่ผมยืน. เธอได้ทำตามนั้นแล้ว ได้บรรลุคุณวิเศษที่สามเณรนั้นได้แล้วบรรลุแล้ว.

อสุภารมณ์เดียวได้เกิดประโยชน์แก่คน 2 คน ดังที่พรรณนามานี้.

ก็อสุภารมณ์นี้ แม้จะมีประโยชน์ดังที่พรรณนามานี้ (แต่) อสุภารมณ์คือหญิง ก็เป็นอสัปปายะของชาย และอสุภารมณ์คือชาย ก็เป็นอสัปปายะของหญิง. อสุภารมณ์ที่เป็นสภาคกันเท่านั้น จึงจะเป็นสัปปายะ เพราะฉะนั้น การกำหนดสัปปายะอย่างนั้น ชื่อว่าสัปปายะสัมปชัญญะ.

3. โคจรสัมปชัญญะ

แต่การเรียนเอาโคจระ กล่าวคือกรรมฐานซึ่งเป็นที่ชอบใจของตนในจำนวนกรรมฐาน 38 ประการ แล้วรับเอากรรมฐานนั้น เดินไปในที่โคจรเพื่อภิกขาจาร ชื่อว่าโคจรสัมปชัญญะ สำหรับผู้มีสัปปายะที่มีประโยชน์ที่กำหนดแล้วอย่างนี้.

เพื่อความแจ่มชัดแห่งโคจรสัมปชัญญะนั้น ผู้ศึกษาควรทราบสัมปชัญญะ 4 หมวดดังต่อไปนี้ คือ ภิกษุบางรูปในศาสนานี้นำไปไม่นำกลับ บางรูปไม่นำไป ไม่นำกลับ บางรูปทั้งนำไปทั้งนำกลับ.

ภิกษุนำไป ไม่นำกลับ

บรรดาภิกษุทั้ง 4 รูปนั้น ภิกษุรูปใดชำระจิตให้ผ่องใสจากนิวรณธรรม ด้วยการจงกรม ด้วยการนั่งตลอดทั้งวัน

ตลอดปฐมยามแห่งราตรีก็เช่นนั้น ในมัชฌิมยามจำวัด แม้ในปัจฉิมยามก็ให้เวลาผ่านไปด้วยการนั่ง การจงกรม

จะป่วยกล่าวไปไยถึงจะทำวัตรที่ลานพระเจดีย์ ลานโพธิ์พฤกษ์ จะรดน้ำต้นโพธิ์ จะตั้งน้ำดื่มน้ำใช้ไว้ สมาทาน

ปฏิบัติวัตรในคัมภีร์ขันธกะ1- ทุกอย่างมีอาจริยวัตรและอุปัชฌายวัตรเป็นต้น

____________________________

1- ปาฐะเป็น ขนฺธกวตฺตาทีนิ แต่ฉบับพม่าเป็น ขนฺธกวตฺตานิ จึงแปลตามฉบับพม่า.

เธอทำธุระเกี่ยวกับร่างกายแล้ว เข้าไปยังที่นั่งที่นอน และนั่งขัดสมาธิ 2-3 ท่าพอให้อบอุ่นแล้วปฏิบัติกรรมฐาน

ลุกขึ้นในเวลาภิกขาจาร ถือเอาบาตรและจีวรออกไปจากเสนาสนะ มนสิการกรรมฐานอยู่ด้วยหัวข้อกรรมฐานนั่นเอง

เดินไปสู่ลานเจดีย์แล้ว ถ้ามีกรรมฐานมีพุทธานุสสติเป็นอารมณ์ไซร้ ก็อย่าทิ้งกรรมฐานนั้นเสีย เข้าไปยังลานพระเจดีย์.

ถ้ามีกรรมฐานอย่างอื่นไซร้ ควรพักกรรมฐานนั้นไว้ เหมือนกับเอามือจับสิ่งของวางไว้ที่เชิงบันได แล้วกำหนดเอาปีติมีพระพุทธเจ้าเป็นอารมณ์ขึ้น

ไปยังลานพระเจดีย์ (ถ้า) เป็นเจดีย์องค์ใหญ่ ควรทำประทักษิณ 3 ครั้งแล้วไหว้ทั้ง 4 ด้าน

(ถ้า) เป็นเจดีย์องค์เล็ก ควรทำปทักษิณาอย่างนั้นเหมือนกัน แล้วไหว้ทั้ง 8 ด้าน.

ครั้นไหว้พระเจดีย์เสร็จ ไปถึงลานโพธิ์แล้ว ควรวันทาต้นโพธิ์แสดงความยำเกรง เหมือนอยู่ต่อพระพักตร์พระผู้มีพระภาคเจ้า.

เธอไหว้พระเจดีย์และต้นโพธิ์อย่างนี้แล้ว ไปยังที่ที่ตนพักกรรมฐานไว้ รับเอากรรมฐานที่พักไว้ (เก็บไว้ชั่วคราว)

เหมือนกับเอามือจับเอาสิ่งของที่ตนเก็บไว้ฉะนั้น แล้วห่มจีวรในที่ใกล้บ้าน โดยมีกรรมฐานเป็นสำคัญนั้นเอง เข้าบ้านไปเพื่อบิณฑบาต.

ครั้นคนทั้งหลายเห็นท่านแล้ว บอกกันว่า พระคุณเจ้าของเรามาแล้ว พากันต้อนรับท่าน รับเอาบาตรแล้วให้นั่งบนศาลาโรงฉันหรือบนเรือน ถวายข้าวยาคู ล้างเท้าทาด้วยน้ำมันให้จนกว่าจะเสร็จภัตตกิจ พากันนั่งข้างหน้า บ้างก็ถามปัญหา บ้างก็ต้องการจะฟังธรรม. แต่ถ้าเขาจะให้กล่าว (ธรรมกถา) พระอรรถกถาจารย์กล่าวไว้ว่า ขึ้นชื่อว่าธรรมกถา ควรแสดงทีเดียว เพื่อสงเคราะห์ประชาชน. เพราะขึ้นชื่อว่าธรรมกถา จะเหนือไปจากกรรมฐานไม่มี เพราะฉะนั้น ครั้นท่านแสดงธรรมโดยมีกรรมฐานเป็นสำคัญนั่นเอง ฉันอาหารโดยมีกรรมฐานเป็นสำคัญนั่นเอง ทำอนุโมทนาแล้ว เมื่อเขาให้กลับ ก็ให้ตามคนเขาไปแล้ว กลับ ณ ที่นั้นนั่นเอง แล้วจึงเดินทางต่อไป.

ครั้นสามเณรและภิกษุหนุ่มผู้ออกไปก่อน ฉันเสร็จแล้ว เห็นท่านจึงพากันไปต้อนรับ รับบาตรและจีวรของท่าน.

ได้ทราบว่าภิกษุรุ่นเก่าดูหน้าเห็นว่า ไม่ใช่อุปัชฌาจารย์ของตนแล้ว ทำ (อาคันตุกะ) วัตรอยู่ แต่ทำตามกำหนดที่มาเผชิญเข้าเท่านั้น. ภิกษุเหล่านั้นจะถามท่านว่า คนเหล่านั้นเป็นอะไรกับท่าน2- เกี่ยวข้องกันทางโยมผู้หญิงหรือทางฝ่ายโยมผู้ชาย?

ท่านจะตอบว่า พวกคุณเห็นอะไรจึงถาม?

สามเณรและภิกษุหนุ่มเหล่านั้นเรียนว่า คนเหล่านี้มีความรักความนับถือมาก3- ในเพราะใต้เท้า.

____________________________

2- ฉบับพม่ามี ตุมฺหากํ แปลตามฉบับพม่า

3- ในระหว่างนี้ ฉบับพม่ามีศัพท์ว่า เปมํ จึงแปลตามฉบับพม่า.

คุณครับ สิ่งใดที่แม้แต่โยมผู้หญิง โยมผู้ชาย (ของผม) ก็ทำได้ยาก คนเหล่านั้นทำสิ่งนั้นให้ผม แม้บาตรและจีวรของผม ก็เป็นของคนเหล่านั้นเหมือนกัน (ถวาย) ด้วยอานุภาพของคนเหล่านั้น เมื่อมีภัย ผมก็ไม่รู้จักภัยเลย เมื่อมีความหิว ผมก็ไม่รู้จักหิว ขึ้นชื่อว่าเหล่าชนผู้มีอุปการะแก่ผมเช่นนี้จะไม่มี เธอพูดถึงคุณของคนเหล่านั้นอยู่อย่างนี้ เดินไป. ภิกษุนี้ท่านเรียกว่า ชื่อว่านำไป ไม่นำกลับ.

ภิกษุไม่นำไป แต่นำกลับ

แต่ว่า จะป่วยกล่าวไปไย เมื่อภิกษุใดทำวัตรปฏิบัติมีประการดังที่กล่าวมาแล้ว เดชที่เกิดแต่กรรมจะสำแดงออก จะปล่อยวางอนุปาทินนกสังขาร ยึดอุปาทินนกสังขาร เหงื่อจะไหลออกจากร่างกาย จะไม่ขึ้นสู่วิถีทางของกรรมฐาน.

จะป่วยกล่าวไปไย ถึงภิกษุนั้นจะถือเอาบาตรและจีวร จะรีบไปไหว้พระเจดีย์ เข้าบ้านเพื่อข้าวยาคูและภิกษา ในเวลาที่โคทั้งหลายออกไป (หากิน) นั่นเอง ได้ข้าวยาคูแล้ว ไปยังอาสนศาลา (หอฉัน) แล้วดื่ม.

ภายหลังด้วยเหตุเพียงการดื่มข้าวยาคู 2-3 อึกของท่านเท่านั้น เดช (ความร้อน) ที่เกิดแต่กรรมจะปล่อยวางอุปาทินนกสังขาร ยึดอนุปาทินนกสังขาร. เธอจะดับความกระวนกระวายที่เกิดแต่เตโชธาตุ เหมือนอาบน้ำร้อยหม้อ ฉันข้าวยาคูโดยมีกรรมฐานเป็นสำคัญ ล้างบาตรและบ้วนปากแล้ว มนสิการกรรมฐานในระหว่างภัต เที่ยวไปบิณฑบาตในที่ที่เหลือ ฉันอาหารโดยมีกรรมฐานเป็นสำคัญ ตั้งแต่นั้นไปจะรับเอากรรมฐานที่ปรากฏขึ้นติดต่อกันไป แล้วเดินไป. ภิกษุนี้เรียกว่าไม่นำไป แต่นำกลับ.

ก็ขึ้นชื่อว่า ภิกษุทั้งหลายผู้ดื่มข้าวยาคู ปรารภวิปัสสนาแล้วบรรลุพระอรหัตในพระพุทธศาสนา เช่นนี้นับจำนวนไม่ถ้วน. ในเกาะสีหลนั่นเอง บนอาสนศาลา อาสนะสำหรับนั่งดื่มข้าวยาคูก็ไม่มีภิกษุที่ดื่มข้าวยาคูแล้วบรรลุอรหัต ก็ไม่มี.

ภิกษุไม่นำไป ไม่นำกลับ

แต่ภิกษุใดเป็นผู้อยู่อย่างประมาทเป็นปกติ ทอดทิ้งธุระ ทำลายวัตรทุกอย่าง มีจิตผูกพันอยู่กับเจโตขีลธรรม 5 ประการ ไม่ทำสัญญาไว้บ้างว่า ขึ้นชื่อว่ากรรมฐานมีอยู่ เข้าไปบ้านเพื่อบิณฑบาตเที่ยวคลุกคลีด้วยการคลุกคลีกับคฤหัสถ์ที่ไม่เหมาะสม และฉันแล้ว (มีบาตร) เปล่าออกไป ภิกษุนี้เรียกว่าไม่นำไป และไม่นำกลับ.

ภิกษุทั้งนำไปนำกลับ

ส่วนภิกษุนี้ใดที่ท่านกล่าวว่า นำไปด้วย นำกลับด้วย ภิกษุนั้นพึงทราบได้ด้วยคตปัจจาคติวัตรของผู้เดินกลับไปกลับมา. เพราะว่า กุลบุตรทั้งหลายผู้มุ่งประโยชน์ บวชในศาสนาแล้ว เมื่อจะอยู่โดยลำพัง 10 ปีบ้าง 20 ปีบ้าง 50 ปีบ้าง 100 ปีบ้าง อยู่โดยทำกติกาวัตรกันไว้ว่า ท่านครับ ท่านทั้งหลายไม่ใช่บวชหลบหนี้ ไม่ใช่บวชหลบภัย ไม่ใช่บวชเลี้ยงชีพ แต่ประสงค์จะพ้นจากทุกข์ จึงได้บวชในพระศาสนานี้ เพราะฉะนั้น ในขณะเดินนั่นแหละ ท่านทั้งหลายจงข่มกิเลสที่เกิดขึ้นในเวลาเดิน ในขณะยืน ก็ข่มกิเลสที่เกิดขึ้นในเวลายืน ในขณะนั่ง ก็จงข่มกิเลสที่เกิดขึ้นในเวลานั่ง ในขณะนอนนั่นแหละ ก็จงข่มกิเลสที่เกิดขึ้นในเวลานอน.

ภิกษุเหล่านั้น ครั้นทำกติกาวัตรกันไว้อย่างนี้แล้ว เมื่อไปภิกขาจารก็เดินไปมนสิการกรรมฐานไปตามสัญญานั้น ถ้าหากกิเลสเกิดขึ้นแก่ใครในขณะเดิน ในระหว่างครึ่งอุสุภะ หนึ่งอุสุภะ ครึ่งคาวุตหรือหนึ่งคาวุต มีก้อนหินอยู่ ภิกษุนั้นจะข่มกิเลสนั้นในที่นั้นเอง เมื่อไม่อาจ (ข่มได้) อย่างนั้น ก็จะหยุดยืน.

ถัดนั้นภิกษุ (รูปอื่น) แม้ตามหลังเธอมาก็จะหยุดยืนตาม เธอจะเตือนตนเองว่า ภิกษุนี้รู้วิตกที่เกิดแก่เจ้าแล้ว ข้อนี้ไม่สมควรแก่เจ้า แล้วเจริญวิปัสสนาก้าวลงสู่อริยภูมิ ณ ที่นั้นนั่นเอง ในคำว่า เมื่อไม่อาจอย่างนั้น เธอก็จะนั่ง.

ถัดนั้น แม้ภิกษุผู้มาข้างหลัง เธอก็จะนั่งตาม ก็มีนัยนั้นเหมือนกัน.

ถึงไม่สามารถก้าวลงสู่อริยภูมิได้ ก็จะข่มกิเลสนั้นไว้ เดินมนสิการกรรมฐานไปทีเดียว ไม่ยกเท้าขึ้นทั้งที่มีจิตพรากจากกรรมฐาน ถ้ายก (โดยที่มีจิตพรากจากกรรมฐาน) ก็จะกลับไปยังที่เดิมนั้นเอง เหมือนมหาปุสสเทวเถระ ชาวอาลินทกะ.

เรื่องพระมหาปุสสเทวเถระ

เล่ากันมาว่า ท่านได้บำเพ็ญคตปัจจาคติกวัตร1-

(วัตรของผู้เดินกลับไปกลับมา) อยู่ที่เดียวเป็นเวลา 19 พรรษา.

____________________________

1- ปาฐะว่า คตปจฺจาคตวตฺตํ ฉบับพม่าเป็น คตปจฺจาคติกวตฺตํ แปลตามฉบับพม่า.

ได้ยินว่า แม้คนทั้งหลายกำลังไถ กำลังหว่าน กำลังนวด ทำงานกันอยู่ เห็นพระเถระเดินอย่างนั้น จึงสนทนากันว่า พระเถระรูปนี้เดินกลับไปกลับมา คงจะหลงทางหรือไม่ก็คงลืมอะไรกระมัง? ท่านไม่คำนึงถึงคำพูดนั้น ทำสมณธรรมด้วยทั้งจิตที่ประกอบด้วยกรรมฐานนั่นแหละ ได้บรรลุอรหัตภายใน 20 พรรษา. ในวันที่ท่านได้บรรลุพระอรหัตนั่นเอง เทวดาที่สิงอยู่ที่ปลายทางจงกรมของท่าน ได้ยืนชูนิ้วแทนประทีป2- ถึงท้าวมหาราชทั้ง 4 ท้าวสักกะจอมเทพและสหัมบดีพรหม ก็ได้พากันมายังที่ทำนุบำรุง (ท่าน).

____________________________

2- ปาฐะว่า กตฺวา พม่าเป็น อุชฺชาเลตฺวา แปลตามฉบับพม่า.

และท่านวนวาสีติสสมหาเถระเห็นแสงสว่างนั้นแล้วในวันที่ 2 จึงได้ถามท่านมหาปุสสเถระ ชาวอาลินทกะว่า เวลากลางคืนที่สำนักของท่าน ได้มีแสงสว่าง แสงสว่างนั้นเป็นแสงสว่างอะไร? พระเถระเมื่อจะทำการกลบเกลื่อน จึงได้พูดคำมีอาทิอย่างนี้ว่า ธรรมดาแสงสว่าง ก็คงเป็นแสงสว่างของประทีปบ้าง เป็นแสงสว่างของแก้วมณีบ้าง. ต่อมาท่านกำชับท่านวนวาสีติสสเถระไว้ว่า ท่านจงปกปิดไว้ รู้ว่าท่านรับคำแล้ว จึงบอก.

และเหมือนกับท่านมหานาคเถระ ชาวกาลวัลลิมณฑป.

เรื่องพระมหานาคเถระ

ได้ทราบว่า แม้พระเถระรูปนั้น เมื่อบำเพ็ญคตปัจจาคติกวัตร ได้อธิษฐานจงกรมอย่างเดียวสิ้นเวลา 7 ปี ว่าเราจักบูชาความเพียรอันยิ่งใหญ่ของพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นปฐมก่อน ได้บำเพ็ญคตปัจจาคติกวัตรอีก 16 ปี จึงได้บรรลุพระอรหัต ท่านมีจิตประกอบด้วยพระกรรมฐานนั่นเอง ยกเท้าขึ้น ถอยกลับในขณะยก (เท้า) ขึ้นโดยจิตปราศจาก (กรรมฐาน) เดินไปใกล้บ้าน ยืนห่มผ้า ณ ที่ที่ชวนให้คนสงสัยว่า แม่วัวหรือพระกันแน่? ใช้น้ำจากที่ระหว่างต้นไทรล้างบาตรแล้วก็อมน้ำไว้.

เพราะเหตุไร?

เพราะท่านคิดว่า ขอเราอย่าได้ทอดทิ้งกรรมฐาน แม้ด้วยเหตุที่พูดกะคนที่มาถวายภิกษาหรือมนสิการว่า ขอจงมีอายุยืนเถิด. แต่ (ถ้า) ถูกถามถึงวันว่า วันนี้เป็นวันอะไรครับ หรือถามจำนวนภิกษุถามปัญหา ก็จะกลืนน้ำแล้วจึงบอก ถึงหากไม่มีผู้ถามถึงวันเป็นต้น เวลาออกไปก็จะบ้วนน้ำออก (จากปาก) ที่ประตูบ้านแล้วจึงไป เหมือนภิกษุ 50 รูปที่จำพรรษาที่กลัมพติตถวิหาร.

เรื่องพระ 50 รูป

ได้ทราบว่า ในวันอาสาฬหปุณณมี (กลางเดือน 8) ท่านเหล่านั้นได้ทำกติกาวัตรกันไว้ว่า ถ้าพวกเรายังไม่บรรลุอรหัตแล้ว จะไม่พูดคุยกัน. และเมื่อจะเข้าบ้านบิณฑบาต (แต่ละรูป) ก็อมน้ำแล้วจึงเข้าไป เมื่อถูกถามถึงวันเป็นต้น ก็ปฏิบัติดังที่กล่าวมาแล้วนั้นแหละ.

คนทั้งหลายเห็นรอยบ้วนน้ำ ณ ที่นั้นแล้ว ก็รู้ว่า วันนี้พระมารูปเดียว วันนี้มา 2 รูป จึงคิดกันอย่างนี้ว่า ท่านเหล่านี้ไม่พูดเฉพาะกับพวกเราหรืออย่างไร? หรือแม้แต่พวกกันเองก็ไม่พูด? ถ้าหากท่านไม่พูดกัน ท่านจักวิวาทกันเป็นแน่ มาเถิด เราทั้งหลายจักให้ท่านขอขมากัน ทุกคนจึงพากันไปวัด ไม่ได้เห็นพระภิกษุในที่แห่งเดียวกันถึง 2 รูป ในจำนวนพระ 50 รูป.

ต่อมาบรรดาคนทั้งหลายเหล่านั้น ผู้มีตาดีก็จะพูดว่า พ่อคุณเอ๋ย คนทะเลาะกันจะไม่มีโอกาสเช่นนี้ ลานเจดีย์ ลานโพธิ์ก็กวาดเรียบร้อย ไม้กวาดก็เก็บไว้ดี น้ำฉันน้ำใช้ก็จัดไว้เรียบร้อย. ต่อจากนั้น เขาเหล่านั้นก็พากันกลับ.

ในภายในพรรษานั้นเอง พระภิกษุแม้เหล่านั้นก็บรรลุอรหัต ในวันมหาปวารณา จึงปวารณากันด้วยวิสุทธิปวารณา.

ภิกษุมีจิตประกอบด้วยกรรมฐานนั้นเอง ยกเท้าขึ้น (เดินไป) ถึงใกล้บ้านแล้วอมน้ำไว้ พิจารณาดูทางหลายสาย ที่ไม่มีผู้คนทะเลาะกัน ไม่มีนักเลงสุราและนักเลงการพนันเป็นต้น หรือไม่มีช้างดุ ม้าดุเป็นต้นแล้วเดินไปทางนั้น เหมือนท่านมหานาคเถระ ชาวกาลวัลลิมณฑป และเหมือนกับภิกษุผู้จำพรรษาในกลัมพติตถวิหารดังที่พรรณนามานี้.

เธอเมื่อจะไปบิณฑบาตในบ้านนั้น ก็จะไม่เดินเร็ว เหมือนคนรีบร้อน เพราะว่าไม่มีธุดงค์อะไร ที่มีชื่อว่าเป็นธุดงค์สำหรับผู้เดินบิณฑบาตเร็ว. แต่ว่าเดินไม่โคลงกายเหมือนเกวียนบรรทุกน้ำเต็ม (ไป) ถึงพื้นที่ราบเรียบ. และเข้าไปตามลำดับเรือน (ยืน) คอยเวลาพอสมควร เพื่อสังเกตดูว่าเขาประสงค์จะถวาย (ตักบาตร) หรือไม่ประสงค์จะถวาย รับภิกษาแล้ว (อยู่) ในบ้านหรือนอกบ้าน หรือมายังวิหารนั่นเอง นั่งในโอกาสที่สมควรตามสบายแล้ว มนสิการกรรมฐานกำหนดปฏิกูลสัญญาในอาหาร พิจารณาโดยเปรียบเทียบกับน้ำมันหยอดเพลา ผ้าพันแผลและเนื้อบุตร นำอาหารที่ประกอบด้วยองค์ 8 มา ไม่ใช่ฉันเพื่อจะเล่น ไม่ใช่ฉันเพื่อจะตกแต่ง ไม่ใช่ฉันเพื่อจะประดับประดา และฉันแล้ว จัดเรื่องเกี่ยวกับน้ำ (ดื่ม, ล้าง) เสร็จแล้ว ระงับความลำบากที่เกิดจากอาหาร (เมาข้าวสุก) สักครู่หนึ่งแล้ว จึงมนสิการกรรมฐานนั่นแหละ ในเวลาหลังฉันเหมือนกับเวลาเวลาก่อนฉัน และในเวลาปัจฉิมยามเหมือนกับเวลาปฐมยาม. ภิกษุรูปนี้ เรียกได้ว่าทั้งนำไปและนำกลับ.

ก็เธอเมื่อบำเพ็ญคตปัจจาคติกวัตร กล่าวคือการนำไปและนำกลับนี้ ถ้าหากมีอุปนิสัยสมบูรณ์ไซร้ ก็จะบรรลุอรหัตในปฐมวัยนั่นเอง ถ้าหากไม่บรรลุในปฐมวัย ต่อไปก็จะบรรลุในมัชฌิมวัย ถ้าหากในมัชฌิมวัยไม่บรรลุไซร้ ต่อไปก็จะบรรลุในปัจฉิมวัย ถ้าหากในปัจฉิมวัยไม่บรรลุ

ต่อไปก็จะบรรลุในมรณสมัย ถ้าหากในมรณสมัยไม่บรรลุไซร้ ต่อไปก็จะเป็นเทพบุตรแล้วบรรลุ ถ้าหากเป็นเทพบุตร แล้วก็ยังไม่บรรลุไซร้ เมื่อพระพุทธเจ้ายังไม่เสด็จอุบัติ จะเกิดขึ้นแล้ว ทำให้แจ้งปัจเจกโพธิญาณ ถ้าไม่ทำให้แจ้งปัจเจกโพธิญาณไซร้

ต่อไปจะเป็นผู้รู้โดยเร็ว (ขิปปาภิญญาบุคคล) ต่อพระพักตร์ของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย เหมือนพระพาหิยทารุจีริยเถระ

จะมีปัญญามากเหมือนพระสารีบุตรเถระ

จะมีฤทธิ์มากเหมือนพระโมคคัลลานเถระ จะเป็นผู้บอกธุดงค์เหมือนพระมหากัสสปเถระ

จะเป็นผู้มีทิพยจักษุเหมือนพระอนุรุทธเถระ จะเป็นพระวินัยธรเหมือนพระอุบาลีเถระ

จะเป็นพระธรรมกถึกเหมือนพระปุณณมันตานีบุตรเถระ จะเป็นผู้อยู่ป่าเป็นประจำเหมือนพระเรวตเถระ จะเป็นพหูสูตเหมือนพระอานนทเถระ หรือจะเป็นผู้ใคร่ต่อการศึกษาเหมือนพระราหุลเถระพุทธบุตร ดังนี้.

ภิกษุผู้นำไปและนำกลับใน 4 วาระนี้ จะมีโคจรสัมปชัญญะ ถึงยอด (วิปัสสนา) ด้วยประการดังที่พรรณนามานี้.

4. อสัมโมหสัมปชัญญะ

ส่วนการไม่หลงลืมในการก้าวไปข้างหน้าเป็นต้น ชื่อว่าอสัมโมหสัมปชัญญะ

อสัมโมหสัมปชัญญะนั้น พึงทราบอย่างนี้.

ภิกษุในพระศาสนานี้ เมื่อก้าวไปข้างหน้าหรือถอยกลับ จะไม่ลืมเหมือนอันธปุถุชน (หลง) ไปว่า อัตตาก้าวไปข้างหน้า อัตตาให้เกิดการก้าวไปข้างหน้า หรือว่าเราก้าวไปข้างหน้า เราให้เกิดการก้าวไปข้างหน้า ในการก้าวไปข้างหน้าเป็นต้น เมื่อเกิดความคิด (จิต) ขึ้นว่าเราจะไม่หลงลืมก้าวไปข้างหน้า วาโยธาตุที่มีจิตเป็นสมุฏฐาน เมื่อให้เกิดวิญญัติขึ้น จะเกิดขึ้นพร้อมกับจิตดวงนั้นนั่นเอง. โครงกระดูกที่สมมติว่ากายนี้จะก้าวไปข้างหน้าตามอำนาจของการแผ่ขยายแห่งวาโยธาตุที่เกิดแต่กิริยาจิตด้วยประการอย่างนี้

เมื่อโครงกระดูกนั้นนั่นแหละก้าวไปข้างหน้า ในการยกเท้าแต่ละข้างขึ้น ธาตุ 2 ชนิด คือปฐวีธาตุและอาโปธาตุจะหย่อนจะอ่อนลง. ธาตุอีก 2 อย่างนอกจากนี้ (เตโชธาตุ) จะมี่กำลังมากยิ่งขึ้น. ในการย่างเท้าไปและการสืบเท้าไป เตโชธาตุ วาโยธาตุ (ที่เป็นไปแล้ว) ในการเหวี่ยง (เท้า) ออกไปจะหย่อนจะอ่อนลง. ธาตุอีก 2 อย่างนอกจากนี้ (ปฐวี, อาโป) จะมีกำลังมากยิ่งขึ้น.

ในการเหยียบและการยัน รูปธรรมและอรูปธรรมที่ใช้ในการยก (เท้า) ขึ้นนั้นก็เป็นเช่นนั้น ไม่ถึงการย่างเท้าไปที่ที่ใช้ในการย่างเท้าไปก็ทำนองเดียวกัน ไม่ถึงการสืบเท้าไปที่ใช้ในการสืบเท้าไปก็ไม่ถึงการเหวี่ยง (เท้า) ออกไป ที่ใช้ในการเหวี่ยง (เท้า) ออกไปก็ไม่ถึงการเหยียบ ที่ใช้ในการเหยียบก็ไม่ถึงการยัน. ข้อทุกข้อ (และ) ที่ต่อทุกแห่งเป็นไปตามระบบในที่นั้นๆ นั่นแหละ จะลั่นเปาะแปะๆ เหมือนเมล็ดงาที่โยนลงในกะทะที่ร้อน.

ในเรื่องนั้นจะมีใครคนหนึ่งก้าวไป หรือจะมีการก้าวไปของใครคนหนึ่งเล่า.

ความจริง (ว่า) โดยปรมัตถ์แล้ว คือ การเดินของธาตุเท่านั้น การยืน การนั่ง การนอน ก็ของธาตุ (ไม่ใช่ของใคร).

เพราะว่าในส่วนนั้นๆ จิตดวงอื่นเกิด ดวงอื่นดับ

พร้อมกับรูป (เป็นคนละดวง ไม่ใช่ดวงเดียวกัน)

เหมือนกระแสน้ำที่ไหลติดต่อไป เป็นระลอกฉะนั้น

ดังนี้แล.

ความไม่หลงในการก้าวไปข้างหน้าเป็นต้นดังที่พรรณนามานี้ ชื่อว่าอสัมโมหสัมปชัญญะ ดังนี้แล. เป็นอันจบอรรถาธิบายว่า เป็นผู้ทำความรู้ตัวในการก้าวไปข้างหน้าและการถอยกลับ.

ก็การมองไปข้างหน้า ชื่อว่าอาโลกิตะ (การแลตรง) ในคำว่า อาโลกิเต วิโลกิเต นี้ การมองไปตามอนุทิศ (ทิศเฉียง) ชื่อว่าวิโลกิตะ (การแลซ้ายแลขวา). มีอิริยาบถแม้อย่างอื่นอีก ชื่อว่าการก้มลง, การเงยขึ้นและการหันไปมา โดยการมองข้างล่าง มองข้างบน มองข้างๆ อิริยาบถเหล่านี้ ไม่ทรงถือเอาในที่นี้. แต่โดยความเหมาะสม ทรงถือเอา 2 อย่างนี้เท่านั้น หรือโดยความสำคัญ (มุข) นี้ ทรงถือเอาแม้ทั้งหมดนั้นนั่นแหละ ดังนี้.

บรรดาสัมปชัญญะเหล่านั้น การคำนึงถึงประโยชน์โดยไม่มองดูด้วยอำนาจจิตเท่านั้น ในเมื่อเกิดความคิดขึ้นว่า เราจะมองดู ชื่อว่าสาตถกสัมปชัญญะ. สาตถกสัมปชัญญะนั้น ควรทราบโดยยกเอาท่านพระนันทะผู้มีกายเป็นพยาน (มาเป็นตัวอย่าง).

สมจริงตามที่พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสไว้ว่า

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ถ้าหากพระนันทะจำต้องมองดูทิศตะวันออกไซร้ พระนันทะก็จะประมวลเอาทุกสิ่งทุกอย่างโดยจิตแล้วจึงมองดูทิศตะวันออก ด้วยคิดว่า เมื่อเรามองดูทิศตะวันออกอย่างนี้แล้ว อภิชฌาโทมนัสคืออกุศลกรรมที่ลามก จักไม่ท่วมทับเรา. ด้วยประการดังนี้ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ จะเป็นผู้มีความรู้ตัวในสาตถกสัมปชัญญะนั้น.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ถ้าหากพระนันทะจะต้องมองดูทิศตะวันตก ทิศเหนือ ทิศใต้ ทิศเบื้องบน ทิศเบื้องต่ำและทิศเฉียงทั้งหลายไซร้ พระนันทะก็จะประมวลเอาทุกสิ่งทุกอย่างโดยจิต แล้วจึงจะมองดูทิศเฉียงทั้งหลาย ด้วยคิดว่า เมื่อเรามองทิศเฉียงทั้งหลายอยู่อย่างนี้ ฯลฯ จะเป็นผู้มีความรู้ตัวในสาตถกสัมปชัญญะนั้น.

ก็อีกอย่างหนึ่ง แม้ในสัมปชัญญบรรพนี้ ควรจะทราบสาตถกสัมปชัญญะและสัปปายสัมปชัญญะโดยการเห็นพระเจดีย์ที่ได้กล่าวมาแล้วในตอนต้นเป็นต้นเถิด.

ส่วนการไม่ละกรรมฐานนั้นแหละ ชื่อว่าโคจรสัมปชัญญะ เพราะฉะนั้น ผู้เจริญกรรมฐานมีขันธ์ธาตุและอายตนะเป็นอารมณ์ ควรทำการแลตรงและการแลซ้ายแลขวาด้วยอำนาจกรรมฐานของตนเท่านั้น หรือว่า ผู้เจริญกรรมฐานมีกสิณเป็นต้น (เป็นอารมณ์) ควรทำการแลตรงและการแลซ้ายแลขวา ด้วยอาการมีกรรมฐานเป็นสำคัญเหมือนกัน.

ธรรมดาอัตตาในภายในชื่อว่าเป็นผู้แลตรงและแลซ้ายแลขวา ไม่มี แต่เมื่อเกิดความคิดขึ้นว่า เราจักแลตรง วาโยธาตุที่เกิดแต่จิต เมื่อจะให้วิญญัติเกิด ก็จะเกิดขึ้นพร้อมกับจิตดวงนั้นนั่นเอง.

ด้วยประการดังนี้ เปลือกตา (หนังตา) ข้างล่างก็จะร่นลงเบื้องล่าง เปลือกตา (หนังตา) ข้างบนก็จะเลิกขึ้นข้างบน โดยอำนาจการแผ่ขยายของวาโยธาตุที่เกิดแต่กิริยาของจิต. ไม่มีใครที่ชื่อว่าเปิด (เปลือกตา) ด้วยเครื่องยนต์กลไก.

ต่อจากนั้นไป จักขุวิญญาณจะเกิดขึ้นให้สำเร็จทัสสนกิจ (การเห็น) ก็ความรู้ตัว ดังที่พรรณนามานี้ ชื่อว่าอสัมโมหสัมปชัญญะ ในอธิการแห่งสัมปชัญญะนี้.

อีกอย่างหนึ่ง ในเรื่องสัมปชัญญะนี้ พึงทราบอสัมโมหสัมปชัญญะ แม้ด้วยอำนาจเป็นมูลปริญญา (การกำหนดรู้ขั้นต้น) เป็นอาคันตุกะ (เป็นแขก) และเป็นตาวกาลิก (เป็นไปชั่วคราว).

ก่อนอื่นควรทราบอสัมโมหสัมปชัญญะ ด้วยอำนาจมูลปริญญา (ดังต่อไปนี้) :-

ภวังค์ (จิตอยู่ในภวังค์) 1 อาวัชชนะ (การระลึกถึง

อารมณ์) 1 ทัสสนะ (การเห็นอารมณ์) 1 สัมปฏิจฉนะ

(การรับเอาอารมณ์) 1 สันตีรณะ (การพิจารณาอารมณ์) 1

โวฏฐัพพะ (การตัดสินอารมณ์) 1 ที่ 7 คือ ชวนะ 1.

หน้าที่ของจิตแต่ละขณะ

บรรดาจิตทั้ง 7 นั้น ภวังค์ให้กิจคือเป็นเหตุแห่งอุปปัตติภพสำเร็จเป็นไป. กิริยามโนธาตุ ครั้นยังภวังค์นั้นให้หมุนกลับ แล้วจะให้อาวัชชนกิจสำเร็จอยู่ เพราะอาวัชชนกิจนั้นดับไป จักขุวิญญาณจะให้ทัสสนกิจสำเร็จเป็นไป เพราะทัสสนกิจนั้นดับไป วิปากมโนธาตุจะให้สัมปฏิจฉนกิจสำเร็จเป็นไป เพราะสัมปฏิจฉนกิจนั้นดับไป มโนวิญญาณธาตุที่เป็นวิบาก จะให้สันตีรณกิจสำเร็จเป็นไป เพราะสันตีรณกิจนั้นดับไป มโนวิญญาณธาตุที่เป็นกิริยาจะให้โวฏฐัพพนกิจสำเร็จเป็นไป เพราะโวฏฐัพพนกิจนั้นดับไป ชวนะจะแล่นไป 7 ครั้ง.

บรรดาชวนะทั้ง 7 นั้น ถึงในชวนะแรก การแลตรงและการแลซ้ายแลขวาด้วยอำนาจความกำหนัด ความขัดเคืองและความหลงว่า นี้เป็นหญิง นี้เป็นชาย จะไม่มี. ในชวนะที่ 2 ก็ดี ฯลฯ ในชวนะที่ 7 ก็ดี (ก็จะไม่มี). แต่เมื่อวิถีจิตเหล่านี้แตกดับเป็นไปแล้ว ด้วยอำนาจจิตดวงแรกจนถึงจิตดวงสุดท้าย เหมือนทหารในสนามรบ การแลตรงและการแลซ้ายแลขวาด้วยอำนาจความกำหนัดเป็นต้นว่า นี้เป็นหญิง นี้เป็นชาย ก็จะมี.

พึงทราบอสัมโมหสัมปชัญญะด้วยอำนาจเป็นมูลปริญญา ในอิริยาบถบรรพนี้ ดังที่พรรณนามานี้ก่อน.

ก็เมื่อรูปปรากฏในจักษุทวารแล้ว ต่อจากภวังคจลนะ (ภวังค์ไหว) ไป เมื่อวิถีจิตมีอาวัชชนะเป็นต้นเกิดขึ้นแล้วดับไปด้วยอำนาจทำกิจของตนให้สำเร็จ ในที่สุด ชวนะก็จะเกิดขึ้น ชวนะนั้นจะเป็นเหมือนชายที่เป็นแขกของวิถีจิตมีอาวัชชนะเป็นต้นที่เกิดขึ้นก่อน (มาเยี่ยมถึง) ประตูคือตา (จักขุทวาร) ที่เท่ากับเป็นเรือน แม้เมื่อวิถีจิตมีอาวัชชนะเป็นต้นไม่กำหนัด ไม่ขัดเคือง ไม่ลุ่มหลงในจักขุทวาร

ที่เท่ากับเป็นเรือนของอาวัชชนะเป็นต้น ชวนะนั้นจะกำหนัด จะขัดเคือง จะลุ่มหลง ก็ไม่ถูก เหมือนกับชายที่เป็นแขก เข้าไปขออะไรบางอย่างที่เรือนคนอื่น เมื่อเจ้าของบ้านนั่งนิ่ง จะทำการบังคับ ก็ไม่ถูกฉะนั้น

พึงทราบอสัมโมหสัมปชัญญะโดยเป็นเสมือนแขก ดังที่พรรณนามานี้.

อนึ่ง จิตมีโวฏฐัพพนะเป็นที่สุด ที่เกิดขึ้นในจักขุทวารเหล่านี้จะแตกดับไปในที่นั้นๆ นั่นแหละพร้อมกับสัมปยุตตธรรม จะไม่ประจวบกันเลย เพราะฉะนั้น จิตนอกนี้จึงเป็นไปชั่วคราวเท่านั้น.

ในข้อนั้น ผู้ศึกษาควรทราบอสัมโมหสัมปชัญญะโดยความเป็นไปชั่วคราวอย่างนี้ว่า ในเรือนหลังเดียวกัน เมื่อคนตายกันหมดแล้ว คนคนเดียวที่ยังเหลืออยู่ ซึ่งธรรมดาก็จะตายไปอีกในไม่ช้าเหมือนกัน ชื่อว่าจะยังมีความร่าเริงในการฟ้อนและการร้องรำเป็นต้น ไม่ถูก ฉันใด

เมื่ออาวัชชนจิตเป็นต้นที่สัมปยุตแล้วในทวารเดียวกัน แตกดับไปในที่นั้นๆ นั่นเอง. แม้ชวนจิตที่ยังเหลืออยู่ ซึ่งก็จะมีการแตกดับไปเป็นธรรมดา ภายในไม่ช้าเหมือนกัน ชื่อว่าจะยังมีความร่าเริงอยู่ด้วยอำนาจความกำหนัด ความขัดเคือง และความลุ่มหลง ไม่ถูกแล้ว ฉันนั้นเหมือนกัน.

เออก็ อีกอย่างหนึ่ง พึงทราบอสัมโมหสัมปชัญญะนี้ โดยการพิจารณาขันธ์ อายตนะ ธาตุ และปัจจัย (ดังต่อไปนี้) :-

อธิบายว่า ในคำว่าขันธ์เป็นต้นนี้ ทั้งจักษุทั้งรูป ชื่อว่ารูปขันธ์. การเห็น ชื่อว่าวิญญาณขันธ์. การเสวยอารมณ์ที่สัมปยุตด้วยวิญญาณขันธ์นั้น ชื่อว่าเวทนาขันธ์. ความจำได้หมายรู้ ชื่อว่าสัญญาขันธ์ ธรรมมีผัสสะเป็นต้น ชื่อว่าสังขารขันธ์.

ในเพราะขันธ์เหล่านี้มาประจวบกันเข้าการแลตรง และการแลซ้ายแลขวาจึงปรากฏ. เมื่อการแลตรงและการแลซ้ายแลขวาปรากฏอยู่ด้วยอำนาจเบญจขันธ์นั้น (แล้วจะมี) ใครสักคนมาแลตรง จะมีใครสักคนมาแลขวาเล่า.

อีกประการหนึ่ง จักษุชื่อว่าจักขวายตนะ รูปชื่อว่ารูปายตนะ การเห็นชื่อว่ามนายตนะ สัมปยุตตธรรมทั้งหลายมีเวทนาเป็นต้น ชื่อว่าธรรมายตนะ ในเพราะอายตนะ 4 เหล่านั้นมาประจวบกันอย่างนี้นั่นแหละ การแลตรงและการแลซ้ายแลขวาจึงปรากฏ.

เมื่อการแลตรงและการแลซ้ายแลขวาปรากฏด้วยอำนาจอายตนะ 4 อยู่นั้นแล้วจะมีใครสักคนมาแลตรง จะมีใครสักคนมาแลซ้ายแลขวาเล่า.

อีกประการหนึ่ง จักษุชื่อว่าจักขุธาตุ รูปชื่อว่ารูปธาตุ การเห็นชื่อว่าจักขุวิญญาณธาตุ เวทนาเป็นต้นที่สัมปยุตด้วยจักษุวิญญาณธาตุนั้นชื่อว่าธรรมธาตุ ในเพราะธาตุ 4 เหล่านี้มาประจวบกันอย่างนี้ การแลตรงและการแลซ้ายแลขวาจึงปรากฏ เมื่อการแลตรงและการแลซ้ายแลขวาปรากฏด้วยอำนาจธาตุ 4 อยู่นั้น แล้วจะมีใครสักคนมาแลตรง จะมีใครสักคนมาแลซ้ายแลขวา.

อีกประการหนึ่ง จักษุเป็นนิสสยปัจจัย รูปเป็นอารัมมณปัจจัย อาวัชชนะเป็นอนันตรปัจจัย สมนันตรปัจจัย อุปนิสสยปัจจัย นัตถิปัจจัยและวิคตปัจจัย อาโลกะ (แสงสว่าง) เป็นอุปนิสสยปัจจัย เวทนาเป็นต้นเป็นสหชาตปัจจัย.

ในเพราะปัจจัยเหล่านั้นประจวบกันอย่างนั้น การแลตรงและการแลซ้ายแลขวาจึงปรากฏ เมื่อการแลตรงและการแลซ้ายแลขวาปรากฏด้วยอำนาจปัจจัยอยู่นั้น แล้วจะมีใครสักคนมาแลตรง จะมีใครสักคนมาแลซ้ายแลขวาเล่า.

พึงทราบอสัมโมหสัมปชัญญะ แม้โดยการพิจารณาขันธ์ อายตนะ ธาตุและปัจจัย ในการแลตรงและแลซ้ายแลขวานี้ ดังที่พรรณนามานี้แล.

บทว่า สมฺมิญฺชิเต ปสาริเต ได้แก่ ในการคู้เข้าและเหยียดข้อพับ (ศอก, เข่า) ออกไป.

บรรดาสัมปชัญญะทั้ง 4 นั้น การไม่ทำการคู้เข้าและการเหยียดออกไปด้วยอำนาจจิต (ความคิด) อย่างเดียว แต่พิเคราะห์ดูผลได้ผลเสีย เพราะมีการคู้เข้าและเหยียดมือหรือเท้าออกไปเป็นปัจจัยแล้ว เลือกเอาแต่ประโยชน์ ชื่อว่าสาตถกสัมปชัญญะในการคู้เข้าและเหยียดออกไปนั้น

พึงทราบการพิเคราะห์ถึงผลเสียอย่างนี้ว่า เมื่อเธอคู้มือหรือเท้าเข้ามาวางไว้นานๆ หรือเหยียดมือหรือเท้าออกไปวางไว้นานๆ

เวทนาจะเกิดขึ้นทุกๆ ครั้ง. จิตก็จะไม่ได้อารมณ์เลิศอันเดียว (ไม่เป็นสมาธิ) กรรมฐานก็จะล้มเหลว เธอจะไม่ได้บรรลุคุณวิเศษ. แต่เมื่อคู้เข้าพอเหมาะ เหยียดออกไปพอดี เวทนาจะไม่เกิดขึ้น (เลย) จิตจะเป็นเอกัคคตา กรรมฐานก็จะถึงความเจริญ เธอจะได้บรรลุคุณวิเศษ.

ส่วนการที่เมื่อปัจจัยแม้มีอยู่ พระโยคาวจรยังพิเคราะห์สถานที่ๆ เป็นสัปปายะและไม่เป็นสัปปายะ แล้วเลือกเอาสถานที่ๆ เป็นสัปปายะ ชื่อว่าสัปปายสัมปชัญญะ.

ในสัปปายสัมปชัญญะ มีนัยดังต่อไปนี้ :-

ทราบมาว่า ภิกษุหนุ่มๆ พากันสวดมนต์ที่ลานพระเจดีย์ใหญ่ เบื้องหลังของภิกษุเหล่านั้น ภิกษุณีสาวๆ กำลังฟังธรรมกัน.

ในจำนวนภิกษุเหล่านั้น ภิกษุหนุ่มรูปหนึ่งเหยียดมือออกไปถูกกายภิกษุณี แล้วได้กลายเป็นคฤหัสถ์ไปเพราะเหตุนั้นนั่นเอง. ภิกษุอีกรูปหนึ่งเมื่อเหยียดเท้าออกไป ได้เหยียดไปที่ไฟ ไฟไหม้เท้าถึงกระดูก. อีกรูปหนึ่ง เหยียดไปที่จอมปลวก ท่านถูกงูพิษกัด. อีกรูปหนึ่งเหยียดไปที่ด้ามกลด งูเห่าปี่แก้วกัดท่าน. เพราะฉะนั้น (เมื่อจะเหยียดเท้า)

ก็อย่าเหยียดไปในที่ที่ไม่เป็นสัปปายะเช่นนี้ ควรเหยียดไปในที่ที่เป็นสัปปายะ.

นี้เป็นสัปปายสัมปชัญญะ ในอิริยาปถบรรพนี้.

ส่วนโคจรสัมปชัญญะ ควรแสดงด้วยเรื่องพระมหาเถระ.

เรื่องพระมหาเถระ

เล่ากันมาว่า พระมหาเถระนั่งในที่พักกลางวัน เมื่อจะสนทนากับเหล่าอันเตวาสิก ได้กำมือเข้าแล้วแบออกอย่างเดิม (จากนั้น) จึงค่อยๆ กำเข้าอีก. เหล่าอันเตวาสิกได้เรียนถามท่านว่า ใต้เท้าขอรับ เหตุไฉน ใต้เท้าจึงกำมือเข้าอย่างเร็วแล้วกลับแบไว้อย่างเดิม จากนั้นจึงค่อยๆ กำเข้าอีก.

พระมหาเถระตอบว่า คุณ ตั้งแต่ผมเริ่มใส่ใจกรรมฐาน ผมไม่เคยละกรรมฐานแล้วกำมือเลย แต่บัดนี้ผมจะพูดกับพวกคุณ ได้ละ

กรรมฐานแล้วจึงกำมือ เพราะฉะนั้น ผมจึงได้แบมือออกไปตามเดิมแล้ว ค่อยๆ กำเข้าอีก.

อันเตวาสิกทั้งหลายกราบเรียนว่า ดีแล้ว ขอรับใต้เท้า ธรรมดาภิกษุควรจะเป็นแบบนี้.

แม้ในอิริยาปถบรรพนี้ การไม่ละกรรมฐาน พึงทราบว่า ชื่อว่าโคจรสัมปชัญญะด้วยประการฉะนี้.

ไม่มีอะไรในภายในที่ชื่อว่าอัตตา คู้เข้ามาหรือเหยียดออกไปอยู่. แต่การคู้เข้าและเหยียดออก มีได้โดยการแผ่ขยายของวาโยธาตุที่เกิดแต่กิริยาจิตมีประการดังที่กล่าวมาแล้ว เหมือนการเคลื่อนไหวมือและเท้าของหุ่นโดยการชักด้วยเชือก เพราะฉะนั้น ก็การกำหนดรู้ (ดังที่กล่าวมานี้) พึงทราบเถิดว่า ชื่อว่ามีอสัมโมหสัมปชัญญะในอิริยาปถบรรพนี้.

การใช้ผ้าสังฆาฏิและผ้าจีวรโดยการนุ่งการห่ม1- การใช้บาตรโดยการรักษาเป็นต้น ชื่อว่าธารณะ

ในคำว่า สงฺฆาฏิปตฺตจีวรธารเณ นี้.

การได้อามิสของภิกษุผู้นุ่งและห่มแล้ว เที่ยวไปบิณฑบาต และประโยชน์มีประการดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้นั้นแหละโดยนัยมีอาทิว่า สีตสฺส ปฏิฆาตาย (เพื่อบำบัดหนาว) ชื่อว่าประโยชน์ในการครองผ้าสังฆาฏิและผ้าจีวรนั้น ผู้ศึกษาควรเข้าใจสาตถกสัมปชัญญะด้วยสามารถแห่งประโยชน์นั้นก่อน.

____________________________

1- ปาฐะว่า นิวาสนปารุปนวเสน น่าจะเป็น ปารุปนวเสน

ซึ่งแปลว่า ห่ม เพราะเป็นผ้าห่ม ไม่ใช่ผ้านุ่ง, -ผู้แปล-.

ส่วนจีวรเนื้อละเอียดเป็นสัปปายะของผู้มีปกติร้อน (ขี้ร้อน) และผู้มีกำลังน้อย (แต่) จีวรเนื้อหยาบหนาเป็นสัปปายะของผู้มีปกติหนาวมาก (ขี้หนาว) ผิดไปจากนี้ก็ไม่เป็นสัปปายะ. จีวรเก่าไม่เป็นสัปปายะของใครๆ เลย เพราะมันทำความกังวลใจให้ท่านโดยให้ความข้องใจเป็นต้น. ผ้าจีวรชนิดชิ้นเดียว (ไม่ได้ตัดให้เป็นขัณฑ์) และผ้าเปลือกไม้เป็นต้นที่เป็นที่ตั้งแห่งความโลภก็อย่างนั้น เพราะผ้าเช่นนั้นทำอันตรายแก่การอยู่โดดเดี่ยวในป่า หรือทำอันตรายถึงแก่ชีวิตก็มี และโดยตรงแล้วผ้าจีวรผืนใดที่เกิดขึ้น (ได้มา) ด้วยอำนาจมิจฉาชีพมีการทำนิมิตเป็นต้น

และจีวรใดเมื่อท่านใช้อยู่ อกุศลธรรมเจริญขึ้น กุศลธรรมเสื่อมลง จีวรนั้นเป็นอสัปปายะ แต่จีวรที่ผิดแผกไปจากนี้เป็นสัปปายะ.

ในสัมปชัญญบรรพนี้ ผู้ศึกษาพึงเข้าใจสัปปายสัมปชัญญะด้วยอำนาจของจีวรนั้น และโคจรสัมปชัญญะด้วยอำนาจการไม่ละทิ้งกรรมฐานเลย.

ไม่มีอะไรที่ชื่อว่าอัตตาในภายในของภิกษุผู้ห่มจีวรอยู่ มีแต่การห่มจีวร โดยการแผ่ขยายของวาโยธาตุที่เกิดแต่กิริยาของจิตมีประการดังที่กล่าวแล้วเท่านั้น.

บรรดาจีวรและกายทั้ง 2 อย่างนั้น ถึงจีวรก็ไม่มีความตั้งใจ ถึงกายก็ไม่มีความตั้งใจ จีวรก็ไม่รู้ว่าเราห่มกาย. ถึงกายก็ไม่รู้ว่าจีวรห่มเรา. ธาตุทั้งหลายเท่านั้นปกคลุมกลุ่มธาตุไว้ เหมือนเอาผ้าเก่าห่อรูปคือคัมภีร์ เพราะฉะนั้น ได้จีวรที่ดีแล้วก็ไม่ควรทำความดีใจเลย ได้ไม่ดีก็ไม่ควรเสียใจ.

อธิบายว่า คนบางพวกพากันสักการะ นาค จอมปลวกเจดีย์และต้นไม้เป็นต้น2- ด้วยดอกไม้ของหอมและผ้าเป็นต้น.

____________________________

2- ปาฐะว่า นานาวมฺมิกเจติยรุกฺขาทีสุ ฉบับพม่าเป็น นาควมฺมิกเจติยรุกฺขาทีสุ แปลตามฉบับพม่า.

แต่คนบางเหล่าทำสิ่งที่ไม่ใช่สักการะ เช่นถ่ายอุจจาระปัสสาวะรดเอาโคลนทา เอาท่อนไม้ตีและศัสตราประหารเป็นต้น นาค จอมปลวกและต้นไม้เป็นต้นจะไม่ทำความยินดียินร้ายด้วยสักการะหรืออสักการะนั้น (ฉันใด) ภิกษุก็เช่นนั้นเหมือนกัน ได้จีวรดีแล้วก็ไม่ควรทำความดีใจ ได้ไม่ดีก็ไม่ควรเสียใจ.

ในสัมปชัญญบรรพนี้ ผู้ศึกษาควรเข้าใจอสัมโมหสัมปชัญญะ ด้วยอำนาจการพิจารณาที่เป็นไปแล้วดังที่พรรณนามานี้เทอญ.

แม้ในการอุ้มบาตร ก็ควรทราบอสัมโมหสัมปชัญญะ ด้วยอำนาจประโยชน์ที่จะพึงได้3-

เพราะมีการถือบาตรเป็นปัจจัยอย่างนี้ว่า เราจักไม่รีบร้อนถือบาตร แต่จะถือเอาบาตร (โดยมีกรรมฐานเป็นสำคัญ)

เที่ยวไปบิณฑบาต ก็จักได้ภิกษา.

____________________________

3- ปาฐะว่า ปฏิลภิตพฺพํ อตฺตวเสน พม่าเป็น ปฏิลภิตพฺพอตฺถวเสน แปลตามฉบับพม่า.

ส่วนบาตรหนักไม่เป็นสัปปายะ สำหรับภิกษุผู้มีร่างกายผอมและแรงน้อย และบาตรที่เชื่อม (เหล็ก)

เข้ากัน 4-5 แผ่น ตะไบไม่เรียบร้อย ไม่เป็นสัปปายะแก่คนใดคนหนึ่งเลย4-

เพราะว่า บาตรที่ล้างยาก ไม่เหมาะ ก็เมื่อล้างบาตรนั่นแหละ เธอจะมีความกังวล.

ส่วนบาตรที่มีสีเหมือนแก้วมณีเป็นที่ตั้งแห่งความโลภ ไม่เป็นสัปปายะโดยนัยที่ได้กล่าวไว้แล้วในจีวรนั่นแหละ

แต่บาตรที่ได้มาโดยการทำนิมิตเป็นต้น ซึ่งเมื่อภิกษุนั้นใช้ อกุศลธรรมจะเจริญขึ้น

กุศลธรรมจะเสื่อมลง บาตรนี้เป็นอสัปปายะโดยส่วนเดียวเท่านั้น บาตรที่ผิดแผกไป (จากนี้) เป็นสัปปายะ.

พึงทราบสัปปายสัมปชัญญะด้วยสามารถแห่งบาตรนั้น พึงทราบโคจรสัมปชัญญะโดยไม่ละกรรมฐาน.

____________________________

4- ปาฐะว่า อสปฺปาโย จ พม่าเป็น อสปฺปาโยว แปลตามพม่า.

ไม่มีอะไรที่ชื่อว่าเป็นอัตตาในภายในแก่ภิกษุอุ้มบาตรอยู่

ธรรมดาการอุ้มบาตรจะมีได้ก็โดยการแผ่ขยายของวาโยธาตุที่เกิดขึ้น เพราะกิริยาของจิตมีประการดังที่กล่าวมาแล้ว

บรรดามือและบาตรทั้ง 2 อย่างนั้น ทั้งบาตรก็ไม่มีความตั้งใจ

ทั้งมือก็ไม่มีความตั้งใจ บาตรก็ไม่รู้ว่ามืออุ้มเรา ถึงมือก็ไม่รู้ว่าเราอุ้มบาตร

ธาตุทั้งหลายเท่านั้นอุ้มกลุ่มธาตุ เหมือนกับในเวลาเอาคีมคีบบาตรที่สุมไฟ

เพราะฉะนั้น ในสัมปชัญญบรรพนี้ พึงทราบอสัมโมหสัมปชัญญะโดยการพิจารณาที่เป็นไปแล้ว ดังที่พรรณนามานี้.

อีกอย่างหนึ่ง ภิกษุใดพิจารณาเห็นจีวรเหมือนผ้าพันแผล บาตรเหมือนกระเบื้องใส่ยา

และภิกษาที่ได้มาในบาตรเหมือนยาในกระเบื้อง

ภิกษุนี้พึงทราบเถิดว่า เป็นผู้มีปกติทำความรู้ตัวสูงสุดเป็นปกติด้วยอสัมโมหสัมปชัญญะในการพาดสังฆาฏิ อุ้มบาตรและห่มจีวร

เหมือนกับชายที่มีความเอ็นดู เห็นคนอนาถา5- นอนอยู่ที่ศาลาสำหรับคนอนาถามีมือเท้าด้วน มีน้ำเหลืองและเลือดทั้งหมู่หนอนไหลออกจากปากแผล

มีแมลงวันหัวเขียวตอมหึ่ง จึงได้หาผ้าพันแผลและยา พร้อมทั้งกระเบื้องใส่ยาไปมอบให้เขาเหล่านั้น ในจำนวนสิ่งของเหล่านั้น

แม้ผ้าที่เนื้อละเอียดก็ตกแก่บางพวก ที่เนื้อหยาบก็ตกแก่บางพวก

ถึงกะลาใส่ยาที่ทรวดทรงงามก็ตกแก่บางพวก ที่ทรวดทรงไม่งามก็ตกแก่บางพวก

พวกเขาจะไม่ดีใจหรือเสียใจในสิ่งของเหล่านั้น เพราะพวกเขามีความต้องการผ้าเพียงแต่ใช้ปิดแผลเท่านั้น

และกะลาเพียงแต่ใช้รับยาเท่านั้นฉะนั้น.

____________________________

5- ปาฐะว่า พม่ามีศัพท์ นิปนฺเน ในระหว่างนี้ จึงแปลตามพม่า.

พึงทราบวินิจฉัย ในการฉันเป็นต้น (ดังต่อไปนี้) :-

บทว่า อสิเต ความว่า ในการฉันบิณฑบาต.

บทว่า ปิเต ความว่า ในการดื่มข้าวยาคูเป็นต้น.

บทว่า ขาทิเต ความว่า ในการเคี้ยวของเคี้ยวที่ทำด้วยแป้งเป็นต้น.

บทว่า สายิเต ความว่า ในการดื่มของดื่มมีน้ำอ้อยเป็นต้น.

ในการฉันเป็นต้นนั้น ประโยชน์ทั้ง 8 อย่างที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้โดยนัยมีอาทิว่า เนว ทวาย (ไม่ใช่เพื่อเล่น) ชื่อว่าประโยชน์ ผู้ศึกษาพึงทราบสาตถกสัมปชัญญะด้วยสามารถแห่งประโยชน์นั้น.

ก็ผู้ใดมีความไม่สบาย เพราะโภชนะใด โภชนะนั้นเป็นอสัปปายะสำหรับผู้นั้น. ส่วนโภชนะใดได้มาโดยการทำนิมิตเป็นต้น และเมื่อเธอฉันโภชนะใด อกุศลธรรมทั้งหลายเจริญขึ้น กุศลธรรมทั้งหลายเสื่อมสิ้นไป. โภชนะนั้นเป็นอสัปปายะโดยถ่ายเดียวเท่านั้น. แต่ที่ผิดเพี้ยนไป (จากนี้) เป็นสัปปายะ.

ผู้ศึกษาควรเข้าใจสัปปายสัมปชัญญะ ด้วยอำนาจแห่งโภชนะที่เป็นสัปปายะนั้น และพึงทราบโคจรสัมปชัญญะ โดยไม่ละทิ้งกรรมฐานเลย.

ไม่มีใคร ชื่อว่าอัตตาในภายในเป็นผู้กิน มีแต่การรับบาตรธรรมดา โดยการแผ่ขยายแห่งวาโยธาตุที่เกิดแต่กิริยาของจิตมีประการดังที่กล่าวมาแล้วเท่านั้น มีแต่การหย่อนมือลงในบาตรธรรมดา โดยการแผ่ขยายแห่งวาโยธาตุอันเกิดแต่กิริยาของจิตเท่านั้น มีแต่การปั้นคำข้าว การยกคำข้าวขึ้นและการอ้าปากรับ โดยการแผ่ขยายของวาโยธาตุที่เกิดแต่กิริยาของจิตเท่านั้น ไม่มีใครเอากุญแจและเครื่องยนต์เปิดกระดูกคาง มีแต่การวางคำข้าวไว้ในปาก การให้ฟันบนทำหน้าที่แทนสาก การให้ฟันข้างล่างทำหน้าที่แทนครก และการให้ลิ้นทำหน้าที่แทนมือ โดยการแผ่ขยายของวาโยธาตุที่เกิดแต่กิริยาของจิตเท่านั้น.

ด้วยเหตุอย่างนี้ น้ำลายจำนวนเล็กน้อยจากปลายลิ้น ในบรรดาปลายและโคนนั้น (และ) น้ำลายจำนวนมากจากโคนลิ้นก็จะคลุกเคล้าคำข้าวนั้น คำข้าวนั้นจะพลิกไปมาด้วยมือคือลิ้นในครกคือฟัน (กราม) ล่าง เปียกชุ่มไปด้วยน้ำคือเขฬะ บดละเอียดด้วยสากคือฟัน (กราม) บน, ขึ้นชื่อว่าใครๆ จะเอาช้อนหรือทัพพีสอดเข้าไปข้างใน (ปาก) ไม่มี,

(คำข้าว) เข้าไปได้ เพราะวาโยธาตุนั่นเอง คำข้าวที่เข้าๆ ไปแล้ว ใครๆ ชื่อว่าจะยั้งไว้ ทำให้เป็น (เหมือน) สุมกองฟางไว้ไม่มี แต่จะวางไว้ได้ด้วยอำนาจวาโยธาตุเท่านั้น. ที่วางๆ ไว้แล้ว ใครๆ ชื่อว่าจะตั้งเตาติดไฟต้มให้เปื่อยไม่มี แต่จะเปื่อยได้เพราะเตโชธาตุเท่านั้น.

ที่เปื่อยแล้วๆ ใครๆ ชื่อว่าจะเอาไม้ถือหรือไม้เท้า เขี่ยออกไปข้างนอกก็ไม่มี วาโยธาตุเท่านั้นจะนำออกไป

ด้วยเหตุอย่างนี้ วาโยธาตุนำ (คำข้าว) เข้าไปด้วย นำออกไปด้วย ให้หยุดอยู่ด้วย ให้พลิกไปมาด้วย ให้ย่อยไปด้วย ให้นำ (กาก) ออกไปด้วย. ปฐวีธาตุทรงไว้ด้วย ให้พลิกไปด้วย ให้ย่อยด้วย. อาโปธาตุให้เกาะกุมกันไว้ด้วย รักษาไว้ให้สดอยู่ด้วย. เตโชธาตุจะย่อยคำข้าวที่เข้าไปข้างในแล้ว อากาศธาตุเป็นช่องทาง วิญญาณธาตุคำนึงถึงโดยอาศัยการประกอบกันโดยชอบ ในธาตุนั้นๆ.

ผู้ศึกษาพึงเข้าใจสัมโมหสัมปชัญญะในสัมปชัญญบรรพโดยการพิจารณาที่เป็นไปแล้ว ดังที่พรรณนามานี้เทอญ.

ปฏิกูล 10

อีกอย่างหนึ่ง พระโยคาวจรควรทราบอสัมโมหสัมปชัญญะ ในสัมปชัญญบรรพนี้ โดยการพิจารณาถึงความปฏิกูล 10 อย่างนี้

คือ โดยการไป 1 โดยการแสวงหา 1 โดยการฉัน 1 โดยอัธยาศัย 1 โดยการเก็บไว้ (ในกระเพาะอาหาร) 1 โดยส่วนที่ยังไม่ย่อย 1 โดยส่วนที่ย่อยแล้ว 1 โดยผล 1 โดยซึมซาบ 1 โดยเปรอะเปื้อน 1.

ส่วนกถาอย่างพิสดาร ในสัมปชัญญบรรพนี้ ควรถือเอาจากนิทเทสแห่งอาหาเรปฏิกูลสัญญา ในคัมภีร์วิสุทธิมรรคเทอญ.

บทว่า อุจฺจารปสฺสาวกมฺเม ความว่า ในการถ่ายอุจจาระและปัสสาวะ (เพราะว่า) ถึงเวลานั้นแล้ว

เมื่อไม่ถ่ายอุจจาระปัสสาวะ เหงื่อจะไหลออกทั่วร่างกาย นัยน์ตาจะพร่า จิตไม่เป็นเอกัคคตา

และโรคอื่นๆ ก็จะเกิดขึ้น. แต่เมื่อถ่ายแล้วสิ่งทั้งหมดนั้นจะไม่มี เพราะฉะนั้น ข้อความนี้เป็นอรรถาธิบายในคำว่า อุจฺจารปสฺสาวกมฺเม นี้. ผู้ศึกษาพึงเข้าใจสาตถกสัมปชัญญะด้วยอำนาจแห่งเนื้อความนั้น.

ที่เมื่อถ่ายอุจจาระปัสสาวะในที่ไม่สมควรจะเป็นอาบัติ จะเสื่อมยศ (เสียเกียรติ) จะเป็นอันตรายแก่ชีวิต แต่เมื่อถ่ายในที่เหมาะสม สิ่งทั้งหมดนั้นจะไม่มี เพราะฉะนั้น การถ่ายในที่เหมาะสมนี้จึงเป็นสัปปายะ. ในอุจจารปัสสาวกรรมนี้ ผู้ศึกษาพึงทราบสัปปายสัมปชัญญะด้วยอำนาจแห่งสัปปายะนั้น.

ส่วนโคจรสัมปชัญญะ พึงทราบด้วยอำนาจการไม่ละทิ้งกรรมฐานนั่นแหละ.

ไม่มีใครชื่อว่าเป็นอัตตาในภายในถ่ายอุจจาระปัสสาวะ มีแต่การถ่ายอุจจาระปัสสาวะ เพราะการแผ่ขยายแห่งวาโยธาตุที่เกิดแต่กิริยาของจิตเท่านั้น, ก็อุจจาระและปัสสาวะที่ขังอยู่ในไส้แก่และกระเพาะปัสสาวะ ถูกกำลังลมดันไป ก็จะออกไปเอง โดยไม่อยากให้ออกเลย

เหมือนเมื่อฝีแก่แล้ว หนองและเลือดจะไหลออกไปเอง โดยไม่อยาก (ให้ไหล) เพราะฝีแตก และเหมือนกับน้ำจะไหลออกจากภาชนะใส่น้ำที่ดันแล้ว โดยไม่อยาก (ให้ไหล) ฉะนั้น.

ก็อุจจาระและปัสสาวะนี้ใดที่ถ่ายออกไปแล้ว อุจจาระและปัสสาวะนี้นั้นแห่งอัตตาของภิกษุนั้น จะไม่มีเลย ของผู้อื่นก็ไม่มี จะมีก็แต่การขับถ่ายของร่างกายเท่านั้น.

เหมือนอะไรหรือ?

เหมือนเมื่อเทน้ำเก่าทิ้งจากหม้อน้ำแล้ว หม้อก็ไม่มีน้ำนั้นเลย สิ่งอื่นก็ไม่มี คงมีแต่เพียงปฏิบัติการอย่างเดียวเท่านั้นฉันใด ผู้ศึกษาพึงเข้าใจสัมโมหสัมปชัญญะ ในสัมปชัญญบรรพนี้ โดยการพิจารณากิริยาอาการที่เป็นไปแล้วฉันนั้น.

พึงทราบวินิจฉัยในการเดินเป็นต้น (ดังต่อไปนี้) :-

บทว่า คเต ได้แก่ ในการเดินไป.

บทว่า ฐิเต ได้แก่ ในการยืน.

บทว่า นิสินฺเน ได้แก่ ในการนั่ง.

บทว่า สุตฺเต ได้แก่ ในการนอนหลับ.

บทว่า ชาคริเต ได้แก่ ในการตื่น.

บทว่า ภาสิเต ได้แก่ ในการกล่าว.

บทว่า ตุณฺหีภาเว ได้แก่ ในการไม่พูด.

พระองค์ได้ตรัสอิริยาบถยาวนานไว้ในฐานะนี้ว่า เมื่อเดินไปก็รู้ว่าเรากำลังเดินบ้าง, ยืนแล้วก็รู้ว่าเรายืนแล้วบ้าง, นั่งแล้วก็รู้ว่าเรานั่งแล้วบ้าง นอนแล้วก็รู้ว่าเรานอนแล้วบ้าง. ตรัสอิริยาบถกลางๆ ไว้ในฐานะนี้ว่า ในการก้าวไปข้างหน้า, ในการถอยกลับ, ในการแลตรง. ในการแลซ้ายแลขวา, ในการเหยียดออก.

แต่ในบรรพนี้ ตรัสอิริยาบถปลีกย่อยเล็กๆ น้อยๆ ไว้ว่า ในการเดิน, ในการยืน, ในการนั่ง ในการหลับ ในการตื่น เพราะฉะนั้น พึงทราบความเป็นผู้ทำความรู้สึกตัวเป็นปกติ โดยนัยที่ตรัสไว้ในฐานะเหล่านี้นั่นแหละ.

ก็ท่านมหาสิวเถระผู้ทรงพระไตรปิฎกได้กล่าวไว้ว่า ผู้ใดเดินไปหรือจงกรมนานๆ แล้วต่อมาจึงยืน พิจารณาเห็นอย่างนี้ว่า รูปธรรมและอรูปธรรมที่เป็นไปแล้วในเวลาจงกรม ได้ดับไปแล้วในเวลาจงกรมนี้เอง ผู้นี้นั้นชื่อว่าทำความรู้สึกตัวในการเดิน.

ผู้ใด เมื่อทำการสาธยาย, แก้ปัญหา หรือมนสิการกรรมฐาน ยืนอยู่นานๆ แล้วต่อมาจึงนั่ง พิจารณาเห็นอย่างนี้ว่า รูปธรรมและอรูปธรรมที่เป็นไปแล้วในเวลายืน ได้ดับไปแล้วในเวลายืนนี้เอง ผู้นี้นั้นชื่อว่าทำความรู้สึกตัวในการยืน.

ผู้ใดนั่งนานๆ โดยทำการสาธยายเป็นต้นนั้นเอง แล้วต่อมาจึงนอน พิจารณาเห็นอย่างนี้ รูปธรรมและอรูปธรรมที่เป็นไปแล้วในเวลานั่ง ได้ดับไปแล้วในเวลานั่งนี้เอง ผู้นี้นั้นชื่อว่าทำความรู้สึกตัวในการนั่ง.

ผู้ใดนอนอยู่นั่นแหละ ทำการสาธยายไปพลาง หรือมนสิการกรรมฐานไปพลาง ก้าวลงสู่ความหลับ ต่อมาจึงลุกขึ้น พิจารณาเห็นอย่างนี้ว่า รูปธรรมและอรูปธรรมที่เป็นไปแล้วในเวลานอน ได้ดับไปแล้วในเวลานอนนี้เอง ผู้นี้นั้นชื่อว่าทำความรู้สึกตัวทั้งในการหลับ ทั้งในการตื่น.

เพราะว่าจิตที่สำเร็จด้วยกิริยา ไม่มีการเป็นไป (ไม่ขึ้นสู่วิถี) ชื่อว่าหลับ มีการเป็นไป ชื่อว่าตื่น เพราะฉะนั้น (ผู้นั้นจึงชื่อว่าทำความรู้สึกตัวทั้งในการหลับ ทั้งในการตื่น).

ส่วนผู้ใด เมื่อพูดก็พูดมีสติ รู้สึกตัวว่า ธรรมดาว่าเสียงนี้อาศัยริมฝีปาก อาศัยฟัน, ลิ้น, เพดานและประโยคของจิตที่เหมาะสมกับจิตนั้น แล้วจึงเกิดขึ้นได้.

อีกอย่างหนึ่ง ผู้ใดทำการสาธยายธรรม บอกธรรม แปลธรรม (สอน) กรรมฐาน หรือวิสัชนาปัญหาเป็นเวลานาน ต่อมาจึงนิ่งพิจารณาเห็นอย่างนี้ว่า รูปธรรมและอรูปธรรมที่เป็นไปแล้วในเวลาพูด ก็ดับไปแล้วในเวลาพูดนี้เอง. ผู้นี้นั้นชื่อว่าทำความรู้สึกตัวในการพูด.

ผู้ใดดุษณีภาพ มนสิการถึงธรรมหรือกรรมฐานนานๆ ต่อมาพิจารณาเห็นอย่างนี้ว่า รูปธรรมและอรูปธรรมที่เป็นไปในเวลานิ่ง

ก็ได้ดับไปแล้วในเวลานิ่งนั้นเอง เมื่อมีการเป็นไปแห่งอุปาทายรูป (เขา) ก็ชื่อว่าพูด เมื่อไม่มี ก็ชื่อว่าเป็นผู้นิ่ง ผู้นี้นั้นชื่อว่าทำความรู้สึกในดุษณีภาพ.

สัมปชัญญะที่มีอสัมโมหะเป็นธุระที่พระมหาเถระกล่าวไว้แล้วนี้นั้น พระองค์ทรงประสงค์เอาแล้วในสติปัฏฐานสูตรนี้.

ส่วนในสามัญญผลสูตร ได้สัมปชัญญะหมดทั้ง 4 อย่าง. เพราะฉะนั้น ในสามัญญผลสูตรนี้ ผู้ศึกษาพึงทราบความเป็นผู้กระทำความรู้สึกตัวไว้เป็นพิเศษ ด้วยอำนาจสัมปชัญญะที่ไม่ลืมหลง.

และในทุกๆ บทว่า สมฺปชานการี สมฺปชานการี ผู้ศึกษาพึงทราบอรรถาธิบายด้วยอำนาจสัมปชัญญะที่ประกอบด้วยสติเหมือนกัน.

ส่วนในวิภังคปกรณ์ พระองค์ทรงจำแนกบทเหล่านี้ไว้อย่างนี้เหมือนกันว่า พระโยคาวจรมีสติ มีสัมปชัญญะก้าวไปข้างหน้า มีสติ มีสัมปชัญญะถอยกลับ.

บทว่า อิติ อชฺฌตฺตํ วา1- ความว่า พระโยคาวจร ชื่อว่าพิจารณาเห็นกายในกายของตน หรือของผู้อื่น คือในกายของตนตามกาล (ที่ควร) หรือกายของผู้อื่นตามกาล (ที่ควร) โดยการกำหนดด้วยสัมปชัญญะ 4 ประการอย่างนี้.

____________________________

1- ปาฐะว่า อิทานิ แต่ฉบับพม่าเป็น อิติ แปลตามฉบับพม่า.

แม้ในจตุสัมปชัญญบรรพนี้ ก็ควรนำเอาความเกิดความเสื่อมแห่งรูปขันธ์นั่นเอง ไปไว้ในคำทั้งหลายมีอาทิว่า สมุทยวยธมฺมานุปสฺสี วา คำที่ยังเหลือเป็นเช่นเดียวกันกับคำที่ได้กล่าวมาแล้วนั่นแหละ.

อริยสัจในสัมปชัญญะ

ในที่นี้ สติที่กำหนดด้วยสัมปชัญญะ 4 ประการเป็นทุกขสัจ ตัณหาเดิมที่ยังสติให้ปรากฏ (เป็นสมุฏฐานของสติ) เป็นสมุทัยสัจ

การไม่เป็นไปของสติและตัณหาเดิมทั้ง 2 นั้นเป็นนิโรธสัจ อริยมรรคมีประการดังที่กล่าวมาแล้ว เป็นมรรคสัจ.

พระโยคาวจรขวนขวายด้วยอำนาจสัจจะทั้ง 4 อย่างนี้แล้ว จะบรรลุความดับ (ตัณหา) เพราะฉะนั้น จึงเป็นช่องทางแห่งธรรมเป็นเหตุนำออกจากทุกข์ จนถึงพระอรหัตด้วยอำนาจแห่งพระโยคาวจรผู้กำหนดด้วยสัมปชัญญะ 4 ประการรูปหนึ่งแล.

จบจตุสัมปชัญญบรรพ

[136] พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นทรงจำแนกกายานุปัสสนาด้วยอำนาจแห่งสัมปชัญญะ 4 ประการดังพรรณนานี้แล้ว บัดนี้ เพื่อจะทรงจำแนกด้วยอำนาจมนสิการโดยเป็นของปฏิกูล จึงได้ตรัสคำมีอาทิว่า ปุน จปรํ ดังนี้.

พึงทราบวินิจฉัยในปฏิกูลมนสิการบรรพ ดังต่อไปนี้ :-

คำใดที่จะต้องกล่าวในคำว่า อิมเมว กายํ เป็นต้น คำนั้นทั้งหมด1- ได้กล่าวไว้แล้วในกายคตาสติกรรมฐาน ในคัมภีร์วิสุทธิมรรคโดยพิสดารด้วยอาการทุกอย่าง.

____________________________

1- ฉบับพม่ามีคำว่า สพฺพํ จึงแปลตามบาลีของพม่า.

บทว่า อุภโตมุขา ความว่า (ไถ้) ประกอบด้วยปาก 2 ทาง คือทั้งทางล่างทั้งทางบน.

บทว่า นานาวิหิตสฺส แปลว่า มีอย่างต่างๆ.

ก็ในเรื่องนี้มีข้ออุปมาเป็นการเทียบเคียงกันดังนี้ :-

อธิบายว่า กาย คือมหาภูตรูป 4 พึงทราบว่า เหมือนไถ้มีปาก 2 ทาง อาการ 32 มีผมเป็นต้น

พึงทราบว่า เหมือนธัญญชาตินานาชนิดที่เทปนกันในไถ้. พระโยคาวจรพึงทราบว่า เหมือนบุรุษมีตาดี, อาการปรากฏแจ่มชัดแห่งอาการ 32 แก่พระโยคี พึงทราบว่าเหมือนเวลาที่ธัญญชาตินานาชนิด2- ปรากฏแก่บุรุษนั้นผู้แก้ไถ้นั้นแล้วตรวจดูฉะนั้น.

____________________________

2- ปาฐะว่า ปกฺขิตนานาวิธชญฺญํ ฉบับพม่าเป็น ปกฺขิตฺตนานาวิธธญฺญสฺส แปลตามพม่า.

บทว่า อิติ อชฺฌตฺตํ วา ความว่า พระโยคาวจร ชื่อว่าพิจารณาเห็นกายในกายของตน หรือในกายของผู้อื่น คือในกายของตนตามกาล (ที่เหมาะสม) หรือในกายของผู้อื่นตามกาล (ที่เหมาะสม) ด้วยการกำหนดในผมเป็นต้น.

คำต่อจากนี้ไป มีนัยดังที่ได้กล่าวมาแล้วนั้นแหละ.

จริงอยู่ ในปฏิกูลมนสิการบรรพนี้ สติที่กำหนดอาการ 32 เป็นทุกขสัจอย่างเดียว ผู้ศึกษาควรทำการประกอบความดังที่พรรณนามาอย่างนี้แล้ว ทราบมุขแห่งการออกไป (จากทุกข์).

คำที่เหลือ (จากที่อธิบายมาแล้วนี้) เป็นเช่นกับคำก่อนนั้นเอง ดังนี้แล.

จบปฏิกูลมนสิการบรรพ

[137] พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นทรงจำแนกกายานุปัสสนาด้วยอำนาจปฏิกูลมนสิการอย่างนี้แล้ว บัดนี้ เพื่อจะทรงจำแนกด้วยอำนาจการมนสิการถึงธาตุ จึงตรัสคำมีอาทิว่า ปุน จปรํ ไว้.

ในคำเหล่านั้นมีการพรรณนาความพร้อมกับคำอุปมาเป็นการเปรียบเทียบกัน ดังนี้ :-

เปรียบพระเหมือนคนฆ่าวัว

คนฆ่าวัวบางคนหรือลูกมือของเขาที่เป็นลูกจ้างฆ่าวัวแล้ว ชำแหละแล้ว ต้องแบ่งแยกออกเป็นส่วนๆ นั่ง (ขาย) อยู่ที่ทาง 4 แพร่ง.

กล่าวคือที่ท่ามกลางถนนใหญ่ที่แยกไป 4 ทิศฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน พิจารณากายตามที่สถิตอยู่แล้วโดยอาการอย่างใดอย่างหนึ่งแห่งอิริยาบถทั้ง 4 และตามที่ดำรงอยู่แล้ว เพราะตามที่ได้ตั้งปณิธานไว้อย่างนี้ว่า มีอยู่ในกายนี้ (คือ) ธาตุดิน ฯลฯ ธาตุลม.

มีพุทธาธิบายไว้อย่างไร?

มีพุทธาธิบายไว้ว่า :-

คนฆ่าโค เมื่อกำลังเลี้ยงโคก็ดี กำลังจูงไปสู่ที่ฆ่าสัตว์ก็ดี ครั้นจูงไปแล้วกำลังผูกให้ยืนอยู่ที่นั้นก็ดี กำลังฆ่าก็ดี กำลังดูวัวที่เขาฆ่าแล้วก็ดี ความหมายรู้ว่าแม่โค ยังไม่จางหายไปตลอดเวลาที่ยังไม่ชำแหละแม่โคนั้นแบ่งแยกออกเป็นส่วนๆ แต่ครั้นนั่งแบ่ง (เนื้อ) แล้ว ความหมายรู้ว่าแม่โค ก็จะจางหายไป. ความหมายรู้ว่าเนื้อ ก็จะเป็นไปเข้ามาแทนที่ เขาจะไม่มีความคิดอย่างนี้ว่าเราขายแม่โค เขาเหล่านี้ซื้อแม่โค. โดยที่แท้แล้ว เขาจะมีความคิดอย่างนี้เท่านั้นว่าเราขายเนื้อ เขาเหล่านี้ซื้อเนื้อฉันใด.

ในเวลาที่ภิกษุแม้รูปนี้ยังเป็นพาลปุถุชนอยู่ก่อนก็เช่นนั้นเหมือนกัน ความหมายรู้ว่าสัตว์หรือบุคคลของท่านผู้เป็นคฤหัสถ์ก็ดี

ผู้บวชแล้วก็ดี ยังไม่อันตรธานไป ตลอดเวลาที่ยังไม่ได้ทำกายนี้นั้นเอง ตามที่สถิตอยู่แล้ว ตามที่ตั้งอยู่แล้วให้เป็นการแยกออกไปจากก้อนแล้วเห็นโดยเป็นธาตุ แต่เมื่อท่านพิจารณาเห็นอยู่โดยเป็นธาตุ สัตตสัญญา (ความหมายรู้ว่าสัตว์) ของท่านก็จะอันตรธานไป จิตจะตั้งอยู่ด้วยอำนาจของธาตุนั้นเอง.

เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงได้ตรัสไว้ว่า เธอจะพิจารณาเห็นกายนี้ตามที่สถิตอยู่แล้ว ตามที่ตั้งอยู่แล้วโดยเป็นธาตุว่า ในกายนี้มีธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลมอยู่. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นายโคฆาตก์ผู้ขยัน หรือ ฯลฯ วาโยธาตุ แม้ฉันใด.

อธิบายว่า ภิกษุผู้บำเพ็ญเพียร (โยคี) เหมือนคนฆ่าโค ความหมายรู้ว่าสัตว์ เหมือนความหมายรู้ว่าแม่โค อิริยาบถ 4 เหมือนทางใหญ่ 4 แพร่ง การพิจารณาเห็น (กาย) โดยเป็นธาตุ เหมือนนายโคฆาตก์ผู้นั่งแบ่ง (เนื้อ) ออกเป็นส่วนๆ. นี้คือการพรรณนาความตามพระบาลีในธาตุมนสิการบรรพนี้.

ส่วนกถาว่าด้วยกรรมฐาน ได้ให้พิสดารไว้แล้วในคัมภีร์วิสุทธิมรรค.

บทว่า อิติ อชฺฌตฺตํ วา ความว่า พระโยคาวจรมีปกติพิจารณาเห็นกายในกายของตน หรือในกายของผู้อื่น คือมีปกติพิจารณาเห็นกายในกายของตนตามกาล หรือในกายของผู้อื่นตามกาล อยู่อย่างนี้ คือโดยการกำหนดธาตุ 4.

คำต่อจากนี้ไปมีนัยดังที่กล่าวมาแล้วนั้นแหละ. เพราะว่าในธาตุมนสิการบรรพนี้ สติที่กำหนดธาตุ 4 เป็นทุกขสัจอย่างเดียว.

บัณฑิตพึงทราบช่องทางแห่งธรรมเครื่องนำออก (จากทุกข์) ตามที่ได้อธิบายความประกอบมาอย่างนี้แล.

คำที่เหลือเช่นกับคำก่อนนั้นเอง ดังนี้แล.

จบธาตุมนสิการบรรพ

[138] พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นทรงจำแนกกายานุปัสสนาด้วยอำนาจการมนสิการถึงธาตุอย่างนี้แล้ว บัดนี้ เพื่อจะทรงจำแนกด้วยนวสีวถิกาบรรพ (ข้อธรรมที่ว่าด้วยป่าช้า 9) จึงตรัสคำเป็นต้นว่า ปุน จปรํ ดังนี้.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า เสยฺยถาปิ ปสฺเสยฺย ได้แก่ ยถา ปสฺเสยฺย (แปลว่า พึงเห็นฉันใด).

บทว่า สรีรํ ได้แก่ร่างกายของคนที่ตายแล้ว.

บทว่า สีวถิกาย ฉฑฺฑิตํ ความว่า ที่เขาทอดทิ้งไว้ที่ป่าช้า.

ร่างของคนที่ตายแล้ววันเดียว เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่าเอกาหมตะ.

ร่างกายของคนที่ตายแล้ว 2 วัน เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่าทวีหมตะ.

ร่างกายของคนที่ตายแล้ว 3 วัน เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่าตีหมตะ.

ศพที่พองลมเหมือนสูบ ชื่อ อุทธุมาตกะ (ขึ้นพอง) เพราะขึ้นพอง โดยอืดขึ้นไปตามลำดับหลังจากสิ้นชีวิตแล้ว.

สีช้ำดำเขียว เขาเรียกว่า วินีละ. วินีลกะก็คือวินีละนั้นเอง.

อีกอย่างหนึ่ง ศพที่มีสีเขียวปั๊ด น่าเกลียด เพราะเป็นของปฏิกูล เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่าวินีลกะ. คำว่า วินีลกะ นี้ เป็นชื่อของซากศพที่มีสีแดง ในที่ที่มีเนื้อนูน มีสีขาวในที่ที่หนองคั่งอยู่ แต่โดยมากมีสีเขียว ในที่ที่มีสีเขียว ก็เหมือนคลุมด้วยผ้าสีเขียว.

อีกอย่างหนึ่ง หนองที่ไหลออกจากปากแผลทั้ง 9 แห่งแม้ในที่ที่แตกปริแล้ว ชื่อว่าวิปุพพะ.

วิปุพพะก็คือวิปุพพกะนั่นเอง.

อีกอย่างหนึ่ง หนองที่ช้ำน่าเกลียด เพราะปฏิกูล เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่าวิปุพพกะ. ศพที่กลายเป็นช้ำหนอง คือถึงภาวะอย่างนั้น เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่าวิปุพพกชาตะ.

บทว่า โส อิมเมว กายํ ความว่า ภิกษุนั้นน้อมกายของตนนี้เข้าไป (เปรียบเทียบ) กับกายนั้นด้วยญาณ.

บทว่า อุปสํหรติ แปลว่า น้อมนำเข้าไป.

น้อมนำเข้าไปอย่างไร?

น้อมนำเข้าไปอย่างนี้ว่า ถึงกายนี้ก็เถอะ เป็นธรรมดาอย่างนี้ มีสภาพอย่างนี้ ไม่ล่วงพ้นความเป็นอย่างนี้ไปได้.

ท่านกล่าวอธิบายไว้อย่างไร?

ท่านกล่าวอธิบายไว้ว่า เพราะมีธรรม 3 อย่างเหล่านี้ คือ อายุ ไออุ่น วิญญาณ กายนี้จึงทนต่อ (การผลัดเปลี่ยนอิริยาบถ) มียืนและเดินเป็นต้นได้ แต่เพราะไม่มีธรรม 3 เหล่านี้ ร่างกายแม้นี้จึงมีอย่างนี้เป็นธรรมดา คือมีสภาพเป็นของเน่าเปื่อยอย่างนี้เหมือนกัน.

บทว่า เอวํภาวี ความว่า (กายนี้) จักเป็นอย่างนี้เหมือนกัน คือจักเป็นประเภท (ต่างๆ) มีเป็นร่างกายที่พองอืดเป็นต้น.

บทว่า เอวํ อนตีโต ความว่า ไม่ล่วงพ้นความเป็นอย่างนี้ คือความเป็นร่างกายที่พองอืดเป็นต้นไปได้.

บทว่า อิติ อชฺฌตฺตํ วา ความว่า พระโยคาวจรมีปกติพิจารณาเห็นกายในกายของตน หรือในกายของผู้อื่น คือมีปกติพิจารณาเห็นกายของตนตามกาล หรือในกายของผู้อื่นตามกาลอยู่ด้วยอาการอย่างนี้ คือด้วยการกำหนดร่างกายมีเป็นร่างกายที่พองอืดเป็นต้น.

บทว่า ขชฺชมานํ ความว่า ร่างกายที่ถูกสัตว์ทั้งหลายมีกากับแร้งเป็นต้น จิกกิน โดยจับอยู่ที่อวัยวะมีท้องเป็นต้น แล้วจิกเอาเนื้อท้อง เนื้อริมฝีปาก (และ) กระบอกตาเป็นต้น ออกมา (กิน).

บทว่า สมํสโลหิตํ ความว่า ร่างกายที่ประกอบไปด้วยเนื้อและเลือดอันเหลือเศษติดอยู่.

บทว่า นิมฺมํสโลหิตมกฺขิตํ ความว่า ถึงเมื่อเนื้อหมดไปแล้ว เลือดก็ยังไม่แห้ง พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงหมายเอาเลือดนั้น จึงตรัสว่า โลหิตมกฺขิตํ ดังนี้.

บทว่า อญฺเญน ได้แก่โดยทิสาภาคอื่น.

บทว่า หตฺถฏฺฐิกํ ความว่า กระดูกมือทั้ง 64 ชิ้น กระจัดกระจายไปต่างทิศต่างทางกัน. แม้ในกระดูกเท้าเป็นต้น ก็นัยเดียวกันนี้.

บทว่า เตโรวสฺสิกานิ ได้แก่ (กระดูก) ค้างปี.

บทว่า ปูตีนิ ความว่า กระดูกที่อยู่ในที่กลางแจ้ง เมื่อต้องลมแดดและฝนจึงผุ กระดูกค้างปียังไม่ผุ แต่กระดูกที่ฝังอยู่ภายในดิน ย่อมอยู่ได้นานกว่า.

บทว่า จุณฺณกชาตานิ ได้แก่แหลกละเอียดกระจัดกระจายไป.

ในทุกบท บัณฑิตพึงแต่งถ้อยคำประกอบความด้วยอำนาจแห่งกาย ที่ถูกกากับแร้งจิกกินเป็นต้น ตามนัยที่กล่าวไว้แล้วว่า โส อิมเมว ดังนี้.

บทว่า อิติ อชฺฌตฺตํ วา ความว่า พระโยคาวจรมีปกติพิจารณาเห็นกายในกายของตน หรือในกายของผู้อื่น คือมีปกติพิจารณาเห็นกายในกายของตนตามกาล หรือในกายของผู้อื่นตามกาลอยู่ด้วยอาการอย่างนี้ คือด้วยการกำหนดกายมีกายที่ถูกแร้งกาเป็นต้น จิกกินเป็นอาทิ จนกระทั่งถึงเป็นของแหลกละเอียดเป็นผุยผง.

ป่าช้า 9

ก็ป่าช้า 9 พึงประมวลไว้ในที่ตรงนี้ (คือ) :-

ป่าช้าทั้งหมดที่ตรัสไว้โดยนัยเป็นต้นว่า เอกาหมตํ วา (ซากศพที่ตายได้แล้ว 1 วัน) บ้าง 1,

ป่าช้า (ที่ตรัสไว้) เป็นต้นว่า กาเกหิ วา ขชฺชมานํ (ซากศพที่ถูกพวกกาจิกกิน) บ้าง 1,

ป่าช้า (ที่ตรัสไว้) ว่า อฏฺฐิกสขงฺลิกํ สมํสโลหิตํ นหารุสมฺพนฺธํ (ซากศพที่มีแต่ร่างกระดูกยังมีเนื้อและเลือดติดอยู่ ยังมีเส้นเอ็นร้อยรัด) 1,

ป่าช้า (ที่ตรัสไว้) ว่า นิมฺมํสโลหิตมกฺขิตํ นหารุสมฺพนฺธํ (ซากศพที่ไม่มีเนื้อ แต่ยังเปื้อนเลือด ยังมีเส้นเอ็นร้อยรัด) 1,

ป่าช้า (ที่ตรัสไว้) ว่า อปคตมํสโลหิตํ นหารุสมฺพนฺธํ (ซากศพที่ไม่มีเนื้อและเลือดติดอยู่ แต่ยังมีเส้นเอ็นร้อยรัด) 1,

ป่าช้า (ที่ตรัสไว้) เป็นต้นว่า อฏฺฐิกานิ อปคตสมฺพนฺธนานิ (กระดูกที่ไม่มีเส้นเอ็นร้อยรัด) 1,

ป่าช้า (ที่ตรัสไว้) ว่า อฏฺฐิกานิ เสตานิ สงฺขวณฺณปฏิภาคานิ (กระดูกขาวดังสีสังข์) 1,

ป่าช้า (ที่ตรัสไว้) ว่า ปุญฺชกิตานิ เตโรวสฺสิกานิ (กระดูกที่รวมอยู่เป็นกอง ค้างปี) 1,

ป่าช้า (ที่ตรัสไว้) ว่า ปูตีนิ จุณฺณกชาตานิ (กระดูกผุแหลกเป็นผุยผง) 1,

พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นทรงแสดงป่าช้า 9 อย่างไว้ในที่นี้แล้ว เมื่อจะจบกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน จึงตรัสว่า เอวํ โข ภิกฺขเว ดังนี้.

อริยสัจในนวสีวถิกา

สติเป็นเครื่องกำหนดป่าช้า 9 ในนวสีวถิกาบรรพนั้น เป็นทุกขสัจ ตัณหาเก่าที่เป็นตัวการให้เกิดสตินั้น เป็นสมุทยสัจ ความไม่เป็นไปแห่งทุกขสัจและสมุทยสัจ ทั้ง 2 เป็นนิโรธสัจ. อริยมรรคที่เป็นตัวการกำหนดรู้ทุกข์ ละสมุทัย มีนิโรธ (นิพพาน) เป็นอารมณ์ เป็นมัคคสัจ.

พระโยคาวจร ย่อมก้าวบรรลุถึงนิพพานด้วยอำนาจสัจจะ 4 ดังพรรณนามานี้ สรุปว่านี้เป็นทางแห่งธรรมเครื่องนำออก จนถึงพระอรหัตของภิกษุผู้กำหนดป่าช้า 9 แล.

จบนวสีวถิกาบรรพ

ก็กายานุปัสสนา 14 บรรพ คือ อานาปานบรรพ 1 อิริยาปถบรรพ 1 จตุสัมปชัญญบรรพ 1 ปฏิกูลมนสิการบรรพ 1 ธาตุมนสิการบรรพ 1 นวสีวถิกาบรรพ 9 เป็นอันจบลงแล้ว ด้วยคำมีประมาณเท่านี้.

บรรดาบรรพเหล่านั้น เฉพาะ 2 บรรพนี้คือ อานาปานบรรพ 1 ปฏิกูลมนสิการบรรพ 1 เป็นอัปปนากัมมัฏฐาน (กัมมัฏฐานที่ให้บรรลุอัปปนาสมาธิ) ส่วนที่เหลือทั้ง 12 บรรพ เป็นอุปจารกัมมัฏฐาน (กัมมัฏฐานที่ให้บรรลุอุปจารสมาธิ) เท่านั้น เพราะตรัสป่าช้าทั้งหลายไว้ด้วยอำนาจอาทีนวานุปัสสนาแล.

จบกายานุปัสสนา

[139] พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นตรัสกายานุปัสสนาสติปัฏฐานด้วยวิธี 14 อย่างดังพรรณนามานี้แล้ว บัดนี้ เพื่อจะตรัสเวทนานุปัสสนาด้วยวิธี 9 อย่าง จึงตรัสคำมีอาทิว่า กถญฺจ ภิกฺขเว.

ความรู้ที่ไม่เป็นสติปัฏฐานภาวนา

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สุขํ เวทนํ มีอธิบายว่า พระโยคาวจร เมื่อเสวยสุขเวทนาที่เป็นไปทางกาย หรือเป็นไปทางจิต ย่อมรู้ชัดว่าเรากำลังเสวยสุขเวทนา ดังนี้.

ในข้อนั้น แม้เด็กอ่อนยังนอนหงายอยู่ เมื่อเสวยความสุขในเวลาดื่มน้ำนมเป็นต้น ก็รู้ชัดว่าเรากำลังเสวยสุขก็จริง ถึงกระนั้น คำนี้ พระองค์ก็มิได้ตรัสหมายเอาความรู้อย่างนี้ เพราะว่าความรู้แบบนี้ละสัตตูปลัทธิไม่ได้ ถอนสัตตสัญญาไม่ได้ ไม่เป็นกัมมัฏฐาน หรือไม่เป็นสติปัฏฐานภาวนา.

ความรู้ที่เป็นสติปัฏฐานภาวนา

ส่วนการรู้ของภิกษุนี้ละสัตตูปลัทธิได้ถอนสัตตสัญญาได้เป็นทั้งกัมมัฏฐาน เป็นทั้งสติปัฏฐานภาวนา. ก็ความรู้นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสหมายเอาการเสวยโดยการรู้สึกตัวอย่างนี้ว่า ใครเสวย การเสวยของใคร เพราะเหตุไรจึงเสวย.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า โก เวทยติ (ใครเสวย) ความว่า ไม่ใช่ใคร คือสัตว์หรือบุคคลเสวย.

บทว่า กสฺส เวทนา (การเสวยของใคร) ความว่า ไม่ใช่การเสวยของใคร คือของสัตว์หรือบุคคล.

บทว่า กึ การณา เวทนา (เพราะเหตุไรจึงเสวย) ความว่า ก็เพราะมีวัตถุเป็นอารมณ์ เขาจึงมีการเสวย.

เพราะเหตุนั้น เขารู้ชัดอยู่อย่างนี้ว่า เวทนานั้นเองเสวย โดยทำวัตถุแห่งความสุขเป็นต้นนั้นๆ ให้เป็นอารมณ์. แต่เพราะหมายเอาความเป็นไปแห่งเวทนานั้น.

คำว่า อหํ เวทยามิ (เราเสวยเวทนา) จึงเป็นเพียงโวหารเท่านั้น.

พระโยคาวจรนั้น เมื่อกำหนดอยู่ว่า เวทนานั้นเองเสวยโดยทำวัตถุให้เป็นอารมณ์อย่างนี้ ผู้ศึกษาพึงเข้าใจว่า เธอรู้ชัดว่าเรากำลังเสวยสุขเวทนา. เหมือนพระเถระรูปใดรูปหนึ่งที่จิตตลดาบรรพตฉะนั้น.

เรื่องพระเถระรูปใดรูปหนึ่ง

ได้ยินว่า พระเถระในเวลาที่ท่านไม่สบาย ถอนหายใจพลาง นอนกลิ้งไปมาอยู่.

ภิกษุหนุ่มรูปหนึ่งถามท่านว่า ท่านขอรับ ที่ตรงไหนของท่านที่โรคเสียดแทง?

พระเถระตอบว่า คุณ ชื่อว่าที่ซึ่งโรคเสียดเฉพาะแห่งไม่มี เวทนาต่างหากเสวยโดยกระทำวัตถุให้เป็นอารมณ์.

ภิกษุหนุ่มเรียนว่า เมื่อเป็นเช่นนี้ ท่านควรจะยับยั้งไว้ตั้งแต่เวลาที่รู้ มิใช่หรือ ท่านขอรับ?

พระเถระตอบว่า ผมกำลังยับยั้ง คุณ.

ภิกษุหนุ่มเรียนว่า ท่านขอรับ การยับยั้งไว้เป็นของประเสริฐ.

พระเถระได้ยับยั้งไว้แล้ว. ลำดับนั้น ลมเสียดแทงถึงหัวใจ ไส้ใหญ่ได้ออกมากองอยู่บนเตียง. พระเถระได้ชี้ให้ภิกษุหนุ่มดูว่า ยับยั้งไว้ขนาดนี้ สมควรหรือยัง คุณ.

ภิกษุหนุ่มนิ่ง.

พระเถระประกอบความเพียรสม่ำเสมอ แล้วได้บรรลุพระอรหัต พร้อมด้วยปฏิสัมภิทา เป็นพระอรหันต์ (ประเภท) ชีวิตสมสีสี ปรินิพพานแล้ว.

ก็เมื่อพระโยคาวจรรู้ชัด (ว่า) สุขอย่างไร ทุกข์อย่างนั้น ฯลฯ เมื่อเสวยอทุกขมสุขเวทนาไม่อิงอามิส ก็รู้ชัดว่า เรากำลังเสวยอทุกขมสุขเวทนา ไม่อิงอามิส.

รูปกัมมัฏฐาน-อรูปกัมมัฏฐาน

พระผู้มีพระภาคเจ้าครั้นตรัสบอกรูปกัมมัฏฐานด้วยอาการอย่างนี้แล้ว เมื่อจะตรัสบอกอรูปกัมมัฏฐาน จึงได้ตรัสบอกด้วยอำนาจแห่งเวทนา.

เพราะว่า กัมมัฏฐานมี 2 อย่าง คือ รูปกัมมัฏฐาน 1 อรูปกัมมัฏฐาน 1. รูปกัมมัฏฐานและอรูปกัมมัฏฐานนี้นั้นแหละ ตรัสเรียกว่า รูปปริคคหะ (การกำหนดรูป) อรูปปริคคหะ (การกำหนดอรูป) ก็มี.

บรรดารูปกัมมัฏฐานและอรูปกัมมัฏฐานนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจะตรัสบอกรูปกัมมัฏฐาน จึงตรัสจตุธาตุววัตถาน (การกำหนดธาตุ 4) ไว้ด้วยอำนาจแห่งมนสิการโดยสังเขปบ้าง ด้วยอำนาจการมนสิการโดยพิสดารบ้าง.

กัมมัฏฐานแม้ทั้ง 2 อย่างนั้นได้แสดงไว้แล้วในคัมภีร์วิสุทธิมรรค โดยอาการทั้งปวงนั่นแหละ.

แต่พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจะตรัสบอกอรูปกัมมัฏฐาน โดยมากก็จะตรัสบอกด้วยอำนาจแห่งเวทนา. เพราะว่า ความฝังใจในอรูปกัมมัฏฐาน มี 3 อย่าง คือ (ฝัง) ด้วยอำนาจแห่งผัสสะ 1 ด้วยอำนาจแห่งเวทนา 1 ด้วยอำนาจแห่งจิต 1.

ฝังอย่างไร? (ฝังอย่างนี้ คือ) จริงอยู่ ผัสสะ เมื่อถูกต้องอารมณ์นั้นเกิดขึ้นในขณะที่จิตและเจตสิกตกไปเฉพาะครั้งแรกในอารมณ์นั้น จะปรากฏแก่พระโยคาวจรบางรูปในรูปกัมมัฏฐานที่ท่านกำหนดแล้วโดยย่อหรือโดยพิสดาร.

เวทนาเมื่อเสวยอารมณ์นั้นเกิดขึ้นจะปรากฏแก่พระโยคาวจรบางรูป. วิญญาณเมื่อกำหนดอารมณ์นั้นรู้อยู่เกิดขึ้นแก่พระโยคาวจรบางรูป.

บรรดาผัสสะ เวทนา วิญญาณเหล่านั้น ผัสสะปรากฏแก่พระโยคาวจรใด ไม่เฉพาะผัสสะนั้นอย่างเดียวจะเกิดขึ้น ถึงเวทนาที่เสวยอารมณ์นั้นนั่นแหละอยู่ก็จะเกิดขึ้นกับผัสสะนั้น ถึงสัญญาที่จำได้หมายรู้ ถึงเจตนาที่จงใจอยู่ ถึงวิญญาณที่รู้แจ้งอารมณ์นั้นอยู่ ก็จะเกิดขึ้นพร้อมกับผัสสะนั้น เพราะฉะนั้น พระโยคาวจรนั้นย่อมกำหนดเจตสิกธรรมมีผัสสะเป็นที่ 5 อยู่นั่นเอง.

เวทนาใดปรากฏแก่พระโยคาวจร ไม่เฉพาะเวทนาอย่างเดียวเท่านั้นจะเกิดขึ้น ผัสสะที่ถูกต้องอยู่ก็จะเกิดขึ้นกับเวทนานั้น ถึงสัญญาที่หมายอยู่ ถึงเจตนาที่จงใจอยู่ ถึงวิญญาณที่รู้แจ้งอยู่ ก็จะเกิดขึ้นกับเวทนานั้น เพราะฉะนั้น พระโยคาวจรนั้นก็ย่อมกำหนดเจตสิกธรรมมีผัสสะเป็นที่ 5 อยู่นั่นเอง.

ถึงวิญญาณจะปรากฏแก่พระโยคาวจรใด ไม่เฉพาะแต่วิญญาณนั้นอย่างเดียวจะเกิดขึ้นถึง ผัสสะที่ถูกต้องอารมณ์นั้นนั่นแหละอยู่ก็จะเกิดขึ้นกับวิญญาณนั้น ถึงเวทนาที่เสวยอยู่ ถึงสัญญาที่จำได้หมายรู้อยู่ ถึงเจตนาที่จงใจอยู่ซึ่งอารมณ์นั้น ก็จะเกิดขึ้นกับวิญญาณนั้น เพราะฉะนั้น พระโยคาวจรนั้นย่อมกำหนดเจตสิกธรรมมีผัสสะเป็นที่ 5 อยู่นั่นเอง.

พระโยคาวจรนั้น เมื่อพิจารณาว่า ธรรมมีผัสสะเป็นที่ 5 เหล่านี้อาศัยอยู่.

จะทราบชัดว่า อาศัยวัตถุอยู่.

กรชกายชื่อว่า วัตถุ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสหมายเอาว่า ก็แลวิญญาณของเรานี้อาศัยอยู่ในกรชกายนี้ ผูกพันอยู่ในกรชกายนี้.

โดยเนื้อความ พระโยคาวจรนั้นย่อมเห็นทั้ง (มหา) ภูตรูปทั้งอุปาทายรูป เมื่อเป็นเช่นนี้ในเวทนาบรรพนี้ พระโยคาวจรจะเห็นเพียงนามรูปเท่านั้นว่าวัตถุเป็นรูป เจตสิกธรรมมีผัสสะเป็นที่ 5 เป็นนาม.

และในข้อนี้ รูปได้แก่รูปขันธ์ นามได้แก่อรูปขันธ์ทั้ง 4 เพราะฉะนั้น จึงมีเพียงเบญจขันธ์เท่านั้น.

เพราะว่า เบญจขันธ์ที่จะพ้นจากนามรูป หรือนามรูปที่จะพ้นไปจากเบญจขันธ์ไม่มี.

พระโยคาวจรนั้น เมื่อพิเคราะห์ดูว่า เบญจขันธ์เหล่านี้มีอะไรเป็นเหตุ ก็จะเห็นว่า มีอวิชชาเป็นต้นเป็นเหตุ. แต่นั้นพระโยคาวจรจะยก (เบญจขันธ์) ขึ้นสู่ไตรลักษณ์ด้วยอำนาจนามรูปพร้อมทั้งปัจจัยว่า นี้เป็น (เพียง) ปัจจัย และสิ่งที่อาศัยปัจจัยเกิดขึ้น ไม่มีอย่างอื่นที่เป็นสัตว์หรือบุคคล มีเพียงกองสังขารล้วนๆ เท่านั้น แล้วพิจารณาตรวจตราไปว่า อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ตามลำดับแห่งวิปัสสนา.

เธอหมายมั่นปฏิเวธว่า (จะได้บรรลุ) วันนี้ วันนี้ ได้อุตุสัปปายะ (อากาศสบาย) ปุคคลสัปปายะ (บุคคลสบาย) โภชนสัปปายะ (โภชนะสบาย) ธัมมัสสวนะสัปปายะ (การฟังธรรมสบาย)

นั่งขัดสมาธิท่าเดียว ยังวิปัสสนาให้ถึงที่สุด แล้วตั้งอยู่ในพระอรหัตตมรรค ด้วยประการดังกล่าวมานี้ เป็นอันตรัสบอกพระกัมมัฏฐานแก่ชนทั้ง 3 แม้เหล่านี้ จนถึงพระอรหัต.

เวทนาคืออรูปกัมมัฏฐาน

แต่ในสติปัฏฐานสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจะตรัสบอกอรูปกัมมัฏฐาน จึงได้ตรัสไว้ด้วยอำนาจแห่งเวทนา. เพราะว่า เมื่อตรัสบอกด้วยสามารถแห่งผัสสะ หรือด้วยสามารถแห่งวิญญาณ กัมมัฏฐานจะไม่ปรากฏ จะปรากฏเหมือนความมืด. ส่วนที่ตรัสบอกด้วยสามารถแห่งเวทนา กัมมัฏฐานจะปรากฏ.

เพราะเหตุไร?

เพราะกัมมัฏฐานจะปรากฏ ก็เพราะเวทนาเกิดขึ้น.

จริงอยู่ ความเกิดขึ้นแห่งสุขเวทนาและทุกขเวทนา จะปรากฏต่อเมื่อความสุขเกิดขึ้น ได้แก่ความสุขที่เกิดขึ้นทำให้สั่นไปทั้งร่าง ไหลเอิบอาบไปจนท่วมท้น (หัวใจ) เหมือนการได้ดื่มเนยใสที่กวนตั้งร้อยครั้ง เหมือนให้ทาน้ำมันที่หุงแล้วร้อยครั้ง และเหมือนให้ดับความเร่าร้อนด้วยน้ำพันหม้อ ทำให้เปล่งวาจาออกไปว่า สุขหนอ สุขหนอ ดังนี้ทีเดียว

(และ) ต่อเมื่อทุกข์เกิดขึ้น ได้แก่ความทุกข์ที่เกิดขึ้นทำให้สั่นไปทั้งร่าง ไหลเอิบอาบไปจนท่วมท้น (หัวใจ) เหมือนให้เข้าไปสู่เปลวไฟที่ร้อนระอุ เหมือนถูกลาดด้วยน้ำทองแดงที่ละลายคว้าง และเหมือนโยนดุ้นไฟเข้าไปในป่าที่มีหญ้าแห้งและต้นไม้ยืนต้นตาย ถึงกับให้ร้องครวญครางว่า ทุกข์จริง ทุกข์จริง. การเกิดขึ้นแห่งสุขเวทนาและทุกขเวทนา จะปรากฏขึ้นได้ด้วยอาการอย่างนี้.

ส่วนอทุกขมสุขเวทนา แสดง (ให้เห็น) ได้ยาก มืดมน ไม่แจ่มชัด. อทุกขมสุขเวทนานั้นจะปรากฏแก่พระโยคาวจรผู้ยึดถือ โดยนัยว่าอทุกขมสุขเวทนามีอาการเป็นกลาง โดยการทิ้งความสำราญและไม่สำราญในเมื่อสุขและทุกข์หมดไป.

เปรียบเหมือนอะไร?

เปรียบเหมือนนายพรานเนื้อตามรอยเนื้อตัวที่กระโดดขึ้นพลาญหินในระหว่างทาง แล้วหนีไปได้ (เขา) เห็นรอยเท้าทั้งฟากนี้ทั้งฟากโน้นของพลาญหิน แม้จะไม่เห็น (รอยเท้า) ตรงกลาง (บนพลาญหิน) ก็ทราบได้โดยนัยว่า เนื้อตัวที่ขึ้นทางฟากนี้ แล้วไปลงทางฟากโน้น

คงจะผ่านไปด้านนี้บนพลาญหินตรงกลางฉันใด ความเกิดขึ้นแห่งสุขเวทนาก็ฉันนั้น จะปรากฏเหมือนรอยเท้า (ของเนื้อปรากฏ) ในที่ที่มันจะขึ้นไป. ความเกิดขึ้นแห่งทุกขเวทนาจะปรากฏเหมือนรอยเท้า (ของเนื้อปรากฏ) ในที่ๆ มันลงแล้วฉะนั้น.

อทุกขมสุขเวทนาจะปรากฏแก่พระโยคาวจรผู้ยึดถือโดยนัยว่า อทุกขมสุขเวทนามีอาการเป็นกลางโดยทิ้งความสำราญ และความไม่สำราญ ในเมื่อสุขและทุกข์หายไป เหมือนการยึดถือโดยนัยว่า ผ่านไปตรงกลางนี้แหละ โดยขึ้นทางฟากข้างนี้ แล้วลงทางฟากข้างโน้นฉะนั้น.

พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงแสดงสติปัฏฐาน โดยตรัสรูปกัมมัฏฐานก่อนแล้ว ยังอรูปกัมมัฏฐานให้บังเกิด ด้วยอำนาจแห่งเวทนาในภายหลัง.

เวทนาคืออรูปกัมมัฏฐานมีในพระสูตรหลายแห่ง

พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงไว้อย่างนี้ เฉพาะในสติปัฏฐานสูตรนี้แห่งเดียว ก็หามิได้ (แต่) ได้ทรงแสดงโดยตรัสรูปกัมมัฏฐานก่อน แล้วยังอรูปกัมมัฏฐานให้บังเกิดด้วยอำนาจเวทนาในภายหลัง ในพระสูตรหลายพระสูตรหลายแห่งอย่างนี้ คือ ในจุลลตัณหาสังขยสูตร

ในมหาตัณหาสังขยสูตร ในจุลลเวทัลลสูตร ในมหาเวทัลลสูตร ในรัฏฐปาลสูตร ในมาคัณฑิยสูตร ในธาตุวิภังคสูตร ในอาเนญชสัปปายสูตร ในมหานิทานสูตร ในสักกปัญหสูตร ในมหาสติปัฏฐานสูตรในทีฆนิกาย

ในจุลลนิทานสูตร ในรุกโขปมสูตร ในปริวีมังสนสูตร และในเวทนาสังยุตทั้งหมดในสังยุตตนิกาย

และแม้ในสติปัฏฐานสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงแสดงโดยตรัสบอกรูปกัมมัฏฐานก่อนแล้ว จึงทรงยังอรูปกัมมัฏฐานให้บังเกิด ด้วยอำนาจแห่งเวทนาในภายหลัง เหมือนในพระสูตรเหล่านั้น.

บรรดาบทเหล่านั้น มีปริยายแห่งการรู้ชัด (เวทนา) แม้อีกอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้ :-

สุขเวทนาแปรปรวน

ข้อว่า สุขํ เวทนํ เวทิยามีติ ปชานาติ ความว่า เพราะไม่มีทุกขเวทนาในขณะแห่งสุขเวทนา

พระโยคาวจรเมื่อเสวยสุขเวทนา ก็รู้ชัดว่าเรากำลังเสวยสุขเวทนา. เวทนาชื่อว่าไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา เพราะทุกขเวทนาที่เคยเสวยมาก่อน ในบัดนี้ไม่มีแล้ว และเพราะสุขเวทนานี้ก่อนแต่นี้ก็ไม่มี เพราะฉะนั้น พระโยคาวจรจึงเป็นอันรู้ชัดในสุขเวทนาและทุกขเวทนานั้น ดังพรรณนามาฉะนี้ ด้วยคำว่า สุขํ เวทนํ เวทิยามีติ ปชานาติ นั้น.

สมจริงดังคำที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ ดังนี้ว่า :-

ดูก่อนอัคคิเวสนะ ในสมัยใด บุคคลเสวยสุขเวทนาอยู่

ในสมัยนั้นจะไม่เสวยทุกขเวทนา จะไม่เสวยอทุกขมสุขเวทนา

ในสมัยนั้นเสวยแต่สุขเวทนาอย่างเดียว

ดูก่อนอัคคิเวสนะ ในสมัยใดบุคคลเสวยทุกขเวทนา ฯลฯ

เสวยอทุกขมสุขเวทนาอยู่ ในสมัยนั้นจะไม่เสวยสุขเวทนาเลย

ในสมัยนั้นเสวยแต่อทุกขมสุขเวทนาอย่างเดียว

ดูก่อนอัคคิเวสนะ แม้สุขเวทนาเอง ก็ไม่เที่ยง ถูกปัจจัยปรุง

แต่ง อาศัยเกิดขึ้น มีความสิ้นไปเป็นธรรมดา มีความเสื่อมไปเป็น

ธรรมดา มีความคลายความกำหนัดเป็นธรรมดา มีความดับเป็น

ธรรมดา แม้ทุกขเวทนาเอง ฯลฯ

ดูก่อนอัคคิเวสนะ ถึงอทุกขมสุขเวทนาเองก็ไม่เที่ยง ฯลฯ

มีความดับเป็นธรรมดา

ดูก่อนอัคคิเวสนะ พระอริยสาวกผู้ได้สดับ เมื่อเห็นอยู่อย่างนี้

ย่อมเบื่อหน่ายทั้งในสุขเวทนา ย่อมเบื่อหน่ายทั้งในทุกขเวทนา

ย่อมเบื่อหน่ายทั้งในอทุกขมสุขเวทนา เมื่อเบื่อหน่ายย่อมคลาย

กำหนัด เพราะคลายกำหนัด จึงหลุดพ้น เมื่อหลุดพ้นแล้ว ก็รู้ว่า

เราหลุดพ้นแล้ว ย่อมรู้ชัด ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว

กิจที่ควรทำได้ทำเสร็จแล้ว กิจที่ควรทำอย่างอื่น เพื่อความเป็น

อย่างนี้ ไม่มี.

ในคำว่า สามิสํ วา สุขํ เป็นต้น พึงทราบวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-

โสมนัสสเวทนาที่อาศัย (เกิดมาจาก) เรือน (ตัณหาอุปาทาน) 6 อย่างเจือด้วยอามิส คือเบญจกามคุณ ชื่อว่าสามิสสุขเวทนา.

โสมนัสสเวทนาที่อาศัย (เกิดมาจาก) เนกขัมมะ 6 อย่าง ชื่อว่านิรามิสสุขเวทนา.

โทมนัสสเวทนาที่อาศัย (เกิดมาจาก) เรือน (ตัณหาอุปาทาน) 6 อย่าง ชื่อว่าสามิสทุกขเวทนา

โทมนัสสเวทนาที่อาศัย (เกิดมาจาก) เนกขัมมะ 6 อย่าง ชื่อว่านิรามิสทุกขเวทนา.

อุเบกขาเวทนาที่อาศัย (เกิดมาจาก) เรือน (ตัณหาอุปาทาน) 6 อย่าง ชื่อว่าสามิสอทุกขมสุขเวทนา.

อุเบกขาเวทนาที่อาศัย (เกิดมาจาก) เนกขัมมะ 6 อย่าง ชื่อว่านิรามิสอทุกขมสุขเวทนา

การจำแนกเวทนาเหล่านั้น มาชัดแล้วในพระบาลี ในอุปริปัณณาสก์.

บทว่า อิติ อชฺฌตฺตํ วา ความว่า พระโยคาวจรมีปกติพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาทั้งหลายของตน หรือในเวทนาทั้งหลายของผู้อื่น คือในเวทนาทั้งหลายของตนตามกาล หรือในเวทนาทั้งหลายของผู้อื่นตามกาลอยู่.

ก็ในบทว่า สมุทยวยธมฺมานุปสฺสี วา นี้ พึงทราบความว่า พระโยคาวจรเมื่อเห็นความเกิดขึ้นและความเสื่อมไปของเวทนาทั้งหลาย ด้วยอาการ 5 มีอาทิคือ เพราะอวิชชาเกิด เวทนาจึงเกิด ชื่อว่ามีปกติพิจารณาเห็นธรรม คือความเกิดขึ้นในเวทนาทั้งหลายอยู่ หรือมีปกติพิจารณาเห็นธรรม คือความเสื่อมในเวทนาทั้งหลายอยู่ คือมีปกติพิจารณาเห็นธรรม คือความเกิดขึ้นในเวทนาทั้งหลายตามกาล หรือมีปกติพิจารณาเห็นธรรม คือความเสื่อมในเวทนาทั้งหลายตามกาลอยู่.

คำนอกเหนือจากนี้ มีนัยดังกล่าวแล้วในกายานุปัสสนานั่นเอง.

อริยสัจในเวทนา

ก็สติเป็นเครื่องกำหนดเวทนาในเวทนานุปัสสนา นี้เป็นทุกขสัจอย่างเดียว บัณฑิตพึงทราบทางแห่งธรรมเครื่องนำออกของภิกษุผู้กำหนดเวทนา เพราะอธิบายประกอบความดังว่ามานี้แล.

คำที่เหลือเป็นเช่น (คำที่กล่าวมาแล้ว) นั้นแล.

จบเวทนานุปัสสนา

[140] พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นตรัสสติปัฏฐานคือเวทนานุปัสสนาโดยอาการ 9 อย่างๆ นี้แล้ว บัดนี้ เพื่อจะตรัสจิตตานุปัสสนาโดยอาการ 16 อย่าง จึงตรัสคำว่า กถญฺจ ภิกฺขเว ดังนี้เป็นต้น.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สราคํ ได้แก่จิตที่สหรคตด้วยโลภะ 8 อย่าง.

บทว่า วีตราคํ ได้แก่กุศลจิตฝ่ายโลกิยะและอัพยากตจิต. ก็จิตที่ปราศจากราคะนี้ในจิตตานุปัสสนานี้ ไม่ได้หมายถึงโลกุตตรจิตแม้ในบทหนึ่ง เพราะการพิจารณาไม่ใช่เป็นการประชุมธรรม. (ส่วน) อกุศลจิต 4 ดวงที่เหลือไม่จัดเข้าในบทแรก ทั้งไม่จัดเข้าในบทหลัง.

บทว่า สโทสํ ได้แก่ จิตที่สหรคตด้วยโทมนัส 2 ดวง.

บทว่า วีตโทสํ ได้แก่ กุศลจิตฝ่ายโลกิยะและอัพยากตจิต.

อกุศลจิต 10 ดวงที่เหลือไม่จัดเข้าในบทแรก ทั้งไม่จัดเข้าในบทหลัง.

บทว่า สโมหํ ได้แก่ อกุศลจิต 2 ดวง คืออกุศลจิตที่สหรคตด้วยวิจิกิจฉา 1 ดวง อกุศลจิตที่สหรคตด้วยอุทธัจจะ 1 ดวง.

ก็เพราะโมหะย่อมเกิดขึ้นในอกุศลจิตทุกดวง ฉะนั้น อกุศลจิตทั้งหมดแม้นั้นจึงเหมาะ (ที่จะจัดเข้า) ในจิตตานุปัสสนานี้โดยแท้ทีเดียว. จริงอยู่ ในจิตที่เป็นคู่กันนี้แหละ ท่านจัดอกุศลจิต 12 ดวง เข้าไว้แล้วแล.

บทว่า วีตโมหํ ได้แก่ กุศลจิตฝ่ายโลกิยะและอัพยากตจิต.

บทว่า สงฺขิตฺตํ ได้แก่ จิตที่ตกไปตามถีนมิทธะ, ก็จิตที่ตกไปตามถีนมิทธะนั้น ชื่อว่าจิตหดหู่.

บทว่า วิกฺขิตฺตํ ได้แก่ จิตที่สหรคตด้วยอุทธัจจะ, ก็จิตที่สหรคตด้วยอุทธัจจะนั้น ชื่อว่าจิตฟุ้งซ่าน.

บทว่า มหคฺคตํ ได้แก่ รูปาวจรจิตและอรูปาวจรจิต.

บทว่า อมหคฺคตํ ได้แก่ กามาวจรจิต.

บทว่า สอุตฺตรํ ได้แก่ กามาวจรจิต.

บทว่า อนุตฺตรํ ได้แก่ รูปาวจรจิตและอรูปาวจรจิต.

อนึ่ง ในบททั้ง 2 ว่า สอุตฺตรํ อนุตฺตรํ นั้น สอุตตรจิตได้แก่รูปาวจรจิต. อนุตตรจิตได้แก่อรูปาวจรจิตนั่นเอง.

บทว่า สมาหิตํ ได้แก่ จิตที่มีอัปปนาสมาธิหรืออุปจารสมาธิ.

บทว่า อสมาหิตํ ได้แก่ จิตที่ไม่มีสมาธิทั้ง 2.

บทว่า วิมุตฺตํ ได้แก่ จิตที่หลุดพ้นแล้วด้วยตทังควิมุติและวิกขัมภนวิมุติ.

บทว่า อวิมุตฺตํ ได้แก่ จิตที่ไม่มีวิมุติทั้ง 2.

ส่วน สมุจเฉทวิมุติ ปฏิปัสสัทธิวิมุติและนิสสรณวิมุติ ไม่มีโอกาส (ไม่ได้พูดถึง) ในจิตตานุปัสสนานี้เลย.

บทว่า อิติ อชฺฌตฺตํ วา ความว่า พระโยคาวจร เมื่อกำหนดจิตที่เป็นไปอยู่ทุกขณะ ด้วยการกำหนดจิตมีสราคจิตเป็นต้นอยู่อย่างนี้ ชื่อว่ามีปกติตามเห็นจิตในจิตของตน หรือในจิตของผู้อื่นอยู่ (บ้าง) ชื่อว่ามีปกติตามเห็นจิตในจิตของตนตามกาล หรือในจิตของบุคคลอื่นตามกาลอยู่ (บ้าง).

ส่วนในบทว่า สมุทยวยธมฺมานุปสฺสี (มีปกติตามเห็นธรรมคือความเกิดขึ้นและความเสื่อมไป) นี้ควรขยายความเกิดและความดับของวิญญาณออกเป็นอย่างละ 5 อาการอย่างนี้ คือเพราะอวิชชาเกิดวิญญาณจึงเกิดเป็นต้น.

คำนอกจากนี้มีนัยดังกล่าวแล้วนั่นแล.

อริยสัจในจิตตานุปัสสนา

ก็สติเป็นเครื่องกำหนดจิตในจิตตานุปัสสนานี้ เป็นทุกขสัจอย่างเดียว บัณฑิตพึงทราบมุขแห่งธรรมเป็นเครื่องนำออกของภิกษุผู้กำหนดจิต ตามที่ได้อธิบายมาอย่างนี้แล.

คำที่เหลือ (มีความหมาย) เช่น (กับที่กล่าวมา) นั้นแล.

จบจิตตานุปัสสนา

[141] ครั้นตรัสจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานโดยอาการ 16 อย่าง ดังพรรณนามานี้ บัดนี้ เพื่อจะทรงแสดงธรรมานุปัสสนาโดยอาการ 5 อย่าง พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสคำว่า กถญฺจ ภิกฺขเว ดังนี้เป็นต้น.

อีกประการหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสการกำหนดรูปล้วนๆ ด้วยกายานุปัสสนา ตรัสการกำหนดนามล้วนๆ ด้วยเวทนานุปัสสนา และจิตตานุปัสสนา. บัดนี้ เพื่อจะต้องการกำหนดรวมกันทั้งรูปและนาม จึงตรัสคำว่า กถญฺจ ภิกฺขเว ดังนี้เป็นต้น.

อีกอย่างหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเฉพาะการกำหนดรูปขันธ์ด้วยกายานุปัสสนา ตรัสเฉพาะการกำหนดเวทนาขันธ์ด้วยเวทนานุปัสสนา ตรัสเฉพาะการกำหนดวิญญาณขันธ์ด้วยจิตตานุปัสสนา.

บัดนี้ เพื่อจะตรัสการกำหนดสัญญาขันธ์และสังขารขันธ์บ้าง จึงตรัสคำว่า กถญฺจ ภิกฺขเว ดังนี้เป็นต้น.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สนฺตํ ได้แก่ มีอยู่โดยการเกิดขึ้นเนืองๆ.

บทว่า อสนฺตํ ได้แก่ ไม่มีอยู่โดยการไม่เกิดขึ้น หรือไม่มีอยู่เพราะละได้แล้ว.

บทว่า ยถา จ ความว่า กามฉันทะย่อมเกิดขึ้นได้ด้วยเหตุใด.

บทว่า ตญฺจ ปชานาติ ได้แก่ ย่อมรู้เหตุนั้นด้วย.

พึงทราบอธิบายในทุกๆ บทโดยนัยนี้.

ในบทว่า ยถา จ เป็นต้นนั้น พึงทราบวินิจฉัยว่า :-

อธิบายสุภนิมิต

กามฉันทะย่อมเกิดขึ้น เพราะการทำไว้ในใจโดยไม่แยบคายในสุภนิมิต. ที่ชื่อว่าสุภนิมิต ได้แก่สุภนิมิตที่งามบ้าง สุภนิมิตที่มีอารมณ์งามบ้าง. ที่ชื่อว่าการทำไว้ในใจโดยไม่แยบคาย ได้แก่การทำไว้ในใจโดยไม่ถูกอุบาย การทำไว้ในใจโดยไม่ถูกทาง คือการทำไว้ในใจในสิ่งที่ไม่เที่ยงว่าเที่ยงบ้าง ในสิ่งที่เป็นทุกข์ว่าสุขบ้าง ในสิ่งที่เป็นอนัตตาว่าเป็นอัตตาบ้าง ในสิ่งที่ไม่งามว่างามบ้าง เมื่อพระโยคาวจรยังการทำไว้ในใจโดยไม่แยบคายนั้น ให้เป็นไปในสุภนิมิตนั้นมากครั้งเข้า กามฉันทะย่อมเกิดขึ้น.

ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มีอยู่ สุภนิมิต การทำไว้ในใจโดยไม่แยบคาย

และการทำมากครั้งเข้าในสุภนิมิตนั้น นี้เป็นอาหาร (ปัจจัย) ให้กามฉันทะที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้นบ้าง ให้กามฉันทะที่เกิดขึ้นแล้วไพบูลย์ยิ่งขึ้นบ้าง.

อธิบายอสุภนิมิต

ส่วนในอสุภนิมิต การละย่อมมีได้ด้วยการทำไว้ในใจโดยแยบคาย ที่ชื่อว่าอสุภนิมิต ได้แก่อสุภนิมิตที่ไม่งามบ้าง อสุภนิมิตที่มีอารมณ์ไม่งามบ้าง. ที่ชื่อว่าการทำไว้ในใจโดยแยบคาย ได้แก่การทำไว้ในใจโดยถูกอุบาย การทำไว้ในใจโดยถูกทาง คือการทำไว้ในใจในสิ่งที่ไม่เที่ยงว่าไม่เที่ยงบ้าง ในสิ่งที่เป็นทุกข์ว่าเป็นทุกข์บ้าง ในสิ่งที่เป็นอนัตตาว่าเป็นอนัตตาบ้าง ในสิ่งที่ไม่งามว่าไม่งามบ้าง เมื่อพระโยคาวจรยังการทำไว้ในใจโดยแยบคายนั้น ให้เป็นไปในอสุภนิมิตนั้นมากครั้งเข้า ก็ย่อมละกามฉันทะได้.

ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มีอยู่ อสุภนิมิต การทำไว้ในใจโดยแยบคาย และการทำมากครั้งในอสุภนิมิตนั้น นี้เป็นอาหาร (ปัจจัย) ให้กามฉันทะที่ยังไม่เกิดขึ้น เกิดขึ้นไม่ได้บ้าง ให้ละกามฉันทะที่เกิดขึ้นแล้วบ้าง.

ละกามฉันทะด้วยธรรม 6 ประการ

อีกอย่างหนึ่ง ธรรม 6 ประการย่อมเป็นไปเพื่อละกามฉันทะ คือ

การเรียนอสุภนิมิต 1

การบำเพ็ญอสุภภาวนา 1

ความเป็นผู้คุ้มครองทวารไว้ได้ในอินทรีย์ทั้งหลาย 1

ความเป็นผู้รู้จักประมาณโภชนะ 1

ความเป็นผู้มีกัลยาณมิตร 1

สนทนาเรื่องที่เป็นสัปปายะ 1.

ก็เมื่อพระโยคาวจรแม้เรียนอสุภนิมิต 10 อย่างอยู่ (ในระหว่างนี้) กามฉันทะอันเธอย่อมละได้ เมื่อเธอเจริญอสุภนิมิตอยู่ก็ดี ปิดกั้นทวารในอินทรีย์ทั้งหลายอยู่ก็ดี รู้จักประมาณในโภชนะโดยที่มีช่องจะฉันได้อีก 4-5 คำ (แต่เธอก็อดเสีย) แล้วดื่มน้ำแทน เป็นประจำก็ดี กามฉันทะอันเธอย่อมละได้.

ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงได้กล่าวคาถาประพันธ์นี้ไว้ว่า

(เหลืออีก) 4-5 คำจะอิ่ม พระโยคาวจรอย่าฉัน

ควรดื่มน้ำแทน (เพราะว่า) เพียงเท่านี้ ก็เพียงพอ

ที่จะอยู่อย่างสำราญ สำหรับภิกษุผู้มีตนอันส่งไปแล้ว.

แม้เมื่อพระโยคาวจรคบหากัลยาณมิตร ผู้ยินดีในอสุภภาวนา เช่น พระติสสเถระผู้เจริญอสุภกัมมัฏฐาน กามฉันทะอันเธอย่อมละได้ เธอย่อมละกามฉันทะได้ แม้ด้วยการสนทนาถึงที่เป็นสัปปายะอันอาศัยอสุภะ 10 ในอิริยาบถทั้งหลายมีอิริยาบถยืนและนั่งเป็นต้น.

ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ธรรม 6 ประการย่อมเป็นไปเพื่อละกามฉันทะ.

ก็พระโยคาวจรย่อมรู้ชัดว่า กามฉันทะที่ละได้แล้วด้วยธรรม 6 ประการนี้ ย่อมจะเกิดขึ้นไม่ได้อีกต่อไปด้วยอรหัตตมรรค.

อธิบายปฏิฆนิมิต

อนึ่ง เพราะการทำไว้ในใจโดยไม่แยบคายในปฏิฆนิมิต พยาบาทย่อมเกิดขึ้นได้. ในปฏิฆะนิมิตนั้น ได้แก่ปฏิฆนิมิตที่เป็นปฏิฆะบ้าง ปฏิฆนิมิตที่มีปฏิฆะเป็นอารมณ์บ้าง. การทำไว้ในใจโดยไม่แยบคาย มีลักษณะอย่างเดียวกันในทุกแห่งแล. เมื่อพระโยคาวจรยังการทำไว้ในใจโดยไม่แยบคายนั้นให้เป็นไปในนิมิตนั้นมากครั้งเข้า พยาบาทย่อมเกิดขึ้นได้.

ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มีอยู่ ปฏิฆนิมิต การทำไว้ในใจโดยไม่แยบคาย และกระทำมากครั้งในปฏิฆนิมิตนั้น นี้เป็นอาหาร (ปัจจัย) ให้พยาบาทที่ยังไม่เกิดเกิดขึ้นได้บ้าง ให้พยาบาทที่เกิดขึ้นแล้วไพบูลย์ยิ่งขึ้นบ้าง. ก็การละพยาบาทนั้น ย่อมมีได้ด้วยการทำเมตตาเจโตวิมุติไว้ในใจโดยแยบคาย.

ในเมตตาเจโตวิมุตินั้น พึงทราบวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-

เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า เมตตาย่อมควรทั้งอัปปนาสมาธิ ทั้งอุปจารสมาธิ เมื่อตรัสว่า เจโตวิมุติย่อมควรเฉพาะอัปปนาอย่างเดียว การทำ (เมตตาเจโตวิมุติ) ไว้ในใจโดยแยบคาย มีลักษณะดังกล่าวมาแล้วแล เมื่อพระโยคาวจรยังการทำไว้ในใจโดยแยบคายนั้น ให้เป็นไปในเมตตาเจโตวิมุตินั้นมากครั้งเข้า เธอก็ย่อมละพยาบาทได้.

ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า มีอยู่ ภิกษุทั้งหลาย เมตตาเจโตวิมุติ การทำไว้ในใจโดยแยบคายและการทำให้มากในเมตตาเจโตวิมุตินั้น นี้เป็นอาหาร (ปัจจัย) ไม่ให้พยาบาทที่ยังไม่เกิดเกิดขึ้นบ้าง ให้ละพยาบาทที่เกิดขึ้นแล้วบ้าง.

ละพยาบาทด้วยธรรม 6 ประการ

อีกอย่างหนึ่ง ธรรม 6 ประการย่อมเป็นไปเพื่อละพยาบาท คือ

การเรียนเมตตานิมิต 1

การบำเพ็ญเมตตาภาวนา 1

การพิจารณาว่าสัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของตน 1

ความเป็นผู้มากด้วยการพิจารณา 1

ความเป็นผู้มีกัลยาณมิตร 1

การสนทนาถึงเรื่องที่เป็นสัปปายะ 1.

อธิบายว่า เมื่อพระโยคาวจรแม้เรียนเมตตาอยู่ ด้วยอำนาจการแผ่ไปโดยเจาะจงทิศและไม่เจาะจงทิศอย่างใดอย่างหนึ่ง พยาบาทอันเธอย่อมละได้.

แม้เมื่อพระโยคาวจรเจริญเมตตาโดยแผ่ไปสู่ทิศโดยเจาะจง พยาบาทอันเธอย่อมละได้.

เมื่อพระโยคาวจรพิจารณาเห็นว่าตนและคนอื่นมีกรรมเป็นของตนอย่างนี้ว่า

เจ้าโกรธเขาแล้ว จักทำอะไรได้

เจ้าจักสามารถทำคุณธรรมมีศีลเป็นต้นของเขาให้พินาศได้หรือ

เจ้ามาตามกรรมของตนแล้ว ก็จักไปตามกรรมของตนนั่นเอง มิใช่หรือ?

ชื่อว่าการโกรธคนอื่นเป็นเหมือนกับการที่บุคคลประสงค์จะคว้าเอาเถ้าที่ปราศจากเปลว หลาวเหล็กที่ร้อนและคูถเป็นต้น ขว้างปาบุคคลอื่น

ถึงเขาโกรธเจ้าแล้วก็จักทำอะไรให้ได้ เขาจักสามารถให้คุณธรรมมีศีลเป็นต้นของเจ้าพินาศได้หรือ? เขามาตามกรรมของตนก็จักไปตามกรรมของตนเหมือนกัน

ความโกรธนั้นก็จักตกรดหัวเขานั่นแหละ เหมือนของที่ส่งไป ไม่มีใครรับ (ก็จะกลับมาหาผู้ส่ง) และเหมือนกำฝุ่นที่ซัดไปทวนลม (ก็จะปลิวกลับมาถูกผู้ขว้าง) ฉะนั้นบ้าง

พิจารณาเห็นว่าทั้งตนทั้งคนอื่นมีกรรมเป็นของตน และดำรงอยู่ในการพิจารณาบ้าง คบหากัลยาณมิตรผู้ยินดีในเมตตาภาวนา เช่นพระอัสสคุตตเถระบ้าง, พยาบาทอันเธอย่อมละได้.

เธอย่อมละพยาบาทได้ แม้ด้วยการสนทนาถึงสิ่งที่เป็นสัปปายะเกี่ยวเนื่องด้วยเมตตา ในอิริยาบถทั้งหลายมีอิริยาบถยืนและนั่งเป็นต้น.

ก็พระโยคาวจรย่อมรู้ชัดว่า พยาบาทที่ละได้แล้วด้วยธรรม 6 ประการนี้ จะเกิดขึ้นไม่ได้ต่อไปด้วยอนาคามิมรรค.

อธิบายอรติเป็นต้น

เพราะทำไว้ในใจโดยไม่แยบคายในธรรมทั้งหลายคือสติเป็นต้น ถีนมิทธะย่อมเกิดขึ้นได้.

ที่ชื่อว่า อรติ ได้แก่ ความเป็นผู้ระอา.

ที่ชื่อว่า ตนฺติ ได้แก่ ความเป็นผู้อืดอาดทางกาย.

ที่ชื่อว่า วิชมฺภิกา ได้แก่ การเอี้ยวบิดกาย.

ที่ชื่อว่า เมาอาหาร ได้แก่ ความเซื่องซึมที่เกิดจากอาหาร และความกระวนกระวายที่เกิดจากอาหาร.

ที่ชื่อว่า ความหดหู่แห่งจิต ได้แก่ การที่จิตหงอยเหงา.

ก็เมื่อพระโยคาวจรยังการทำไว้ในใจโดยไม่แยบคายให้เป็นไปในธรรมทั้งหลายมีอรติเป็นต้นนี้มากครั้งเข้า ถีนมิทธะย่อมเกิดขึ้นได้.

ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า มีอยู่ ภิกษุทั้งหลาย ความเอือมระอา ความอืดอาด ความบิดขี้เกียจ ความเมาอาหารและความที่จิตหดหู่ การทำไว้ในใจโดยไม่แยบคาย และการทำให้มากในธรรมทั้งหลายมีความเอือมระอาเป็นต้นนั้น นี้เป็นอาหาร (ปัจจัย) ให้ถีนมิทธะที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้นได้บ้าง ให้ถีนมิทธะที่เกิดขึ้นแล้วไพบูลย์ยิ่งขึ้นบ้าง.

อธิบายอารัพภธาตุเป็นต้น

ก็การละถีนมิทธะนั้น ย่อมมีได้โดยโยนิโสมนสิการในเพราะธาตุทั้งหลายมีอารัพภธาตุเป็นต้น.

ที่ชื่อว่า อารัพภธาตุ ได้แก่ ความเพียรที่เริ่มครั้งแรก.

ที่ชื่อว่า นิกกมธาตุ ได้แก่ ความเพียรที่มีพลังมากกว่าความเพียรที่เริ่มครั้งแรกนั้น เพราะออกไปแล้วจากความเกียจคร้าน.

ที่ชื่อว่า ปรักกมธาตุ ได้แก่ ความเพียรที่มีพลังมากกว่านิกกมธาตุแม้นั้น เพราะก้าวไปสู่ฐานะยิ่งๆ ขึ้นไป.

เมื่อพระโยคาวจรยังการทำไว้ในใจโดยแยบคายให้เป็นไปในความเพียร 3 ประเภทนี้มากครั้งเข้า เธอย่อมละถีนมิทธะได้.

ด้วยเหตุนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสไว้ว่า มีอยู่ ภิกษุทั้งหลาย อารัพภธาตุ นิกกมธาตุ (และ) ปรักกมธาตุ การทำไว้ในใจโดยแยบคาย และการทำให้มากในอารัพภธาตุเป็นต้นนั้น นี้เป็นอาหาร (ปัจจัย) ไม่ให้ถีนมิทธะที่ยังไม่เกิดเกิดขึ้นบ้าง ให้ละถีนมิทธะที่เกิดขึ้นแล้วบ้าง.

ละถีนมิทธะด้วยธรรม 6 ประการ

อีกอย่างหนึ่ง ธรรม 6 ประการ ย่อมเป็นไปเพื่อละถีนมิทธะ คือ

การเอานิมิตในการบริโภคมากเกินไป 1

การผลัดเปลี่ยนอิริยาบถ 1

มนสิการถึงอาโลกสัญญา 1

การอยู่ในที่กลางแจ้ง 1

ความเป็นผู้มีกัลยาณมิตร 1

การสนทนาถึงเรื่องที่เป็นสัปปายะ 1.

ก็เมื่อพระโยคาวจรฉัน (มากเกินไป) อย่างอาหารหัตถกพราหมณ์ ภุตตอมิตกพราหมณ์ ตัตรวฏกพราหมณ์ อลังสาฏกพราหมณ์ และกากมาสกพราหมณ์ แล้วนั่งบำเพ็ญสมณธรรมอยู่ ในที่พักกลางคืนและในที่พักกลางวัน ถีนมิทธะย่อมมาครอบงำได้ เหมือนช้างใหญ่มาเหยียบฉะนั้น.

แต่สำหรับภิกษุผู้งดโอกาสที่จะฉันได้อีก 4-5 คำเสีย แล้วดื่มน้ำแทนอยู่เป็นประจำ ถีนมิทธะนั้นย่อมไม่มี เมื่อพระโยคาวจร แม้ถือเอานิมิตในการฉันมากเกินไปอย่างว่ามานี้แล เธอย่อมละถีนมิทธะได้.

ในอิริยาบถใด พระโยคาวจรตกอยู่ใต้อำนาจถีนมิทธะ เมื่อเธอเปลี่ยนเป็นอิริยาบถอื่นจากอิริยาบถนั้นก็ดี มนสิการถึงแสงจันทร์ แสงประทีป และแสงคบเพลิงในตอนกลางคืน (และ) แสงพระอาทิตย์ในตอนกลางวันก็ดี อยู่ในที่กลางแจ้งก็ดี คบหากัลยาณมิตรผู้ละถีนมิทธะได้แล้ว

เช่นกับพระมหากัสสปเถระก็ดี ถีนมิทธะอันเธอย่อมละได้.

เธอย่อมละถีนมิทธะได้ แม้ด้วยการสนทนาถึงเรื่องที่เป็นสัปปายะเกี่ยวกับธุดงค์ ในอิริยาบถทั้งหลายมีอิริยาบถยืนและนั่งเป็นต้น.

ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า ธรรม 6 ประการย่อมเป็นไปเพื่อละถีนมิทธะ. ก็พระโยคาวจรย่อมรู้ชัดว่า ถีนมิทธะที่ละได้แล้วด้วยธรรม 6 ประการนี้ จะเกิดขึ้นไม่ได้อีกต่อไปด้วยอรหัตตมรรค.

อธิบายอุทธัจจกุกกุจจะ

เมื่อใจไม่สงบ อุทธัจจกุกกุจจะย่อมเกิดขึ้นได้ โดยการไม่ได้กระทำไว้ในใจโดยแยบคาย (ไม่มีโยนิโสมนสิการ). อาการที่จิตไม่สงบ ชื่อว่าอวูปสมะ. โดยอรรถ คำว่า อวูปสมะนั้น คืออุทธัจจกุกกุจจะนั่นเอง. เมื่อพระโยคาวจรยังอโยนิโสมนสิการให้เป็นไปในอวูปสมะนั้นมากครั้งเข้า อุทธัจจกุกกุจจะย่อมเกิดขึ้น.

ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า มีอยู่ ภิกษุทั้งหลาย ความไม่สงบใจ การทำไว้ในใจโดยไม่แยบคาย และการทำให้มากครั้งเข้าในความไม่สงบใจนั้น นี้เป็นอาหาร (ปัจจัย) เพื่อให้อุทธัจจกุกกุจจะที่ยังไม่เกิดเกิดขึ้นบ้าง เพื่อความไพบูลย์ยิ่งๆ ขึ้นไปแห่งอุทธัจจกุกกุจจะที่เกิดขึ้นแล้วบ้าง.

ก็การละอุทธัจจกุกกุจจะนั้น มีได้ด้วยโยนิโสมนสิการในเพราะจิตสงบ กล่าวคือสมาธิ. ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า มีอยู่ ภิกษุทั้งหลาย ความสงบใจ การมนสิการโดยแยบคาย และการกระทำมากครั้งในความสงบใจนั้น นี้เป็นอาหาร (ปัจจัย) เพื่อไม่ให้อุทธัจจกุกกุจจะที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้นบ้าง เพื่อละอุทธัจจกุกกุจจะที่เกิดขึ้นแล้วบ้าง.

ละอุทธัจจกุกกุจจะด้วยธรรม 6 ประการ

อีกอย่างหนึ่ง ธรรมทั้ง 6 อย่างย่อมเป็นไปเพื่อละอุทธัจจกุกกุจจะ คือ

ความเป็นพหูสูต 1

ความเป็นผู้สอบถาม 1

ความเป็นผู้รู้ปกติในพระวินัย 1

การคบหาคนเจริญแล้ว 1

ความเป็นผู้มีกัลยาณมิตร 1

การกล่าวถ้อยคำที่เป็นสัปปายะ 1.

อธิบายว่า เธอแม้เรียนนิกาย 1 บ้าง 2 นิกายบ้าง 3 นิกายบ้าง 4 นิกายบ้าง 5 นิกายบ้าง ทั้งโดยพระบาลีทั้งโดยอรรถกถา ย่อมละอุทธัจจกุกกุจจะได้. เธอผู้มากไปด้วยการสอบถามซึ่งที่เป็นกัปปิยะและอกัปปิยะก็ดี ผู้รู้ความเป็นปกติในวินัยบัญญัติ เพราะความเป็นผู้เป็นไปในอำนาจวินัยที่ตนช่ำชองแล้วก็ดี เข้าไปหาท่านผู้เจริญ คือพระเถระผู้ใหญ่ก็ดี คบหาสมาคมกับกัลยาณมิตรผู้ทรงวินัย เช่นพระอุบาลีเถระก็ดี ย่อมละอุทธัจจกุกกุจจะได้.

ในอิริยาบถทั้งหลาย มีการยืนและการนั่งเป็นต้น เธอย่อมละได้ด้วยการกล่าวถ้อยคำที่เป็นสัปปายะเกี่ยวกับสิ่งที่เป็นกัปปิยะและอกัปปิยะ.

ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า ธรรม 6 อย่างย่อมเป็นไปเพื่อละอุทธัจจกุกกุจจะ. เธอย่อมรู้ว่า1-

บรรดาอุทธัจจกุกกุจจะที่ละได้แล้วด้วยธรรม 6 อย่างเหล่านี้ อุทธัจจะจะไม่มีเกิดขึ้นต่อไป เพราะอรหัตตมรรค. กุกกุจจะไม่มีการเกิดขึ้นต่อไป ด้วยอนาคามิมรรค.

____________________________

1- ปาฐะว่า อิเมหิ ปน ฉหิ ธมฺเมหิ ปหีนสฺส อุทฺธจฺจสฺส อรหตฺตมคฺเคน ฯลฯ ปชานาติ.

ฉบับพม่าเป็น อิเมหิ ปน ฉหิ ธมฺเมหิ ปหีเน อฺทฺธจฺจกุกฺกุจฺเจ อุทฺธจฺจ ฯลฯ ปชานาติ แปลตามฉบับพม่า

อธิบายวิจิกิจฉา

วิจิกิจฉาย่อมเกิดขึ้นได้ โดยไม่มนสิการในธรรมทั้งหลายอันเป็นที่ตั้งแห่งวิจิกิจฉา.

ที่ชื่อว่าธรรมเป็นที่ตั้งแห่งวิจิกิจฉา ก็ได้แก่วิจิกิจฉานั่นเอง เพราะเป็นเหตุแห่งความสงสัย. เมื่อเรายังอโยนิโสมนสิการในวิจิกิจฉานั้นให้เป็นไปมากครั้งเข้า วิจิกิจฉาย่อมเกิดขึ้น.

ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า มีอยู่ ภิกษุทั้งหลาย ธรรมเป็นที่ตั้งแห่งวิจิกิจฉา การทำไว้ในใจโดยไม่แยบคาย และการทำให้มากในธรรมนั้น นี้เป็นอาหาร (ปัจจัย) เพื่อให้วิจิกิจฉาที่ยังไม่เกิดเกิดขึ้นบ้าง เพื่อความไพบูลย์ยิ่งขึ้นแห่งวิจิกิจฉาที่เกิดขึ้นแล้วบ้าง.

ก็การละวิจิกิจฉาแม้นั้นย่อมมีได้ด้วยโยนิโสมนสิการในธรรมทั้งหลายมีกุศลเป็นต้น. ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า มีอยู่ ภิกษุทั้งหลาย ธรรมที่เป็นกุศลและอกุศล ธรรมที่มีโทษและไม่มีโทษ ธรรมที่ควรซ่องเสพและไม่ควรซ่องเสพ ธรรมที่เลวและประณีต ธรรมที่มีส่วนคล้ายกับธรรมดำและธรรมขาว การทำไว้ในใจโดยแยบคาย และการทำให้มากในธรรมเหล่านั้น นี้เป็นอาหาร (ปัจจัย) เพื่อไม่ให้วิจิกิจฉาที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้นบ้าง เพื่อละวิจิกิจฉาที่เกิดขึ้นแล้วบ้าง.1-

____________________________

1- ปาฐะว่า อยมาหาโร อนุปฺปนฺนาย วา วิจิกิจฺฉาย อุปฺปาทาย อุปฺปนฺนาย วา วิจิกิจฺฉาย ภิยฺโยภาวาย เวปุลฺลายาติ.

ฉบับพม่าเป็น อยมาหาโร อนุปฺปนฺนาย วา วิจิกิจฺฉาย อนุปฺปาทาย อุปฺปนฺนาย วา วิจิกิจฺฉาย วา ปหานายาติ. แปลตามฉบับพม่า.

ละวิจิกิจฉาด้วยธรรม 6 อย่าง

อีกอย่างหนึ่ง ธรรมทั้ง 6 อย่างย่อมเป็นไปเพื่อละวิจิกิจฉา คือ

ความเป็นพหูสูต 1

ความเป็นผู้สอบถาม 1

ความเป็นผู้รู้ปกติในพระวินัย 1

ความเป็นผู้มากด้วยอธิโมกข์ 1

ความเป็นผู้มีกัลยาณมิตร 1

การกล่าวถ้อยคำที่เป็นสัปปายะ 1.

อธิบายว่า เธอแม้เรียนนิกาย 1 บ้าง ฯลฯ 5 นิกายบ้าง ทั้งโดยพระบาลี ทั้งโดยอรรถกถา ย่อมละวิจิกิจฉาได้แม้ด้วยพาหุสัจจะ. ผู้มากด้วยการสอบถามโดยการปรารภพระรัตนตรัยก็ดี ผู้มีความชำนาญช่ำชองในพระวินัยก็ดี ผู้มากไปด้วยอธิโมกข์ กล่าวคือมีศรัทธามั่นคงในพระรัตนตรัยก็ดี ผู้คบหากัลยาณมิตร ผู้เป็นสัทธาวิมุติเช่นพระวักกลิเถระก็ดี ย่อมละวิจิกิจฉาได้ด้วยพาหุสัจจะ.

ในอิริยาบถทั้งหลายมีการยืนการนั่งเป็นต้น เธอย่อมละวิจิกิจฉาได้ แม้ด้วยถ้อยคำที่เป็นสัปปายะเกี่ยวกับคุณของพระรัตนตรัย.

ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสไว้ว่า ธรรม 6 อย่างย่อมเป็นไปเพื่อละวิจิกิจฉา ก็พระโยคาวจรย่อมทราบชัดว่า วิจิกิจฉาที่ละได้ด้วยธรรม 6 อย่างเหล่านี้จะไม่มีการเกิดขึ้นต่อไป เพราะโสดาปัตติมรรค.

บทว่า อิติ อชฺฌตฺตํ วา ความว่า พระโยคาวจรพิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายของตน หรือในธรรมทั้งหลายของผู้อื่น คือในธรรมทั้งหลายของตนตามกาล (ที่เหมาะสม) หรือของผู้อื่นตามกาล (ที่เหมาะสม) ด้วยการกำหนดเห็นนิวรณ์ 5 อย่างนี้อยู่.

แต่ในนิวรณบรรพนี้ พระโยคาวจรควรนำความเกิดขึ้นและความเสื่อมออกไปด้วยอโยนิโสมนสิการ หรือโยนิโสมนสิการในสุภนิมิตเป็นต้น โดยนัยที่ตรัสไว้แล้วในนิวรณ์ 5. ข้อความต่อจากนี้ไปมีนัยดังกล่าวแล้วนั่นแล.

อริยสัจในนิวรณ์

ก็สติเป็นเครื่องกำหนดนิวรณ์ ในนิวรณบรรพนี้ เป็นทุกขสัจอย่างเดียว บัณฑิตพึงประกอบความดังที่พรรณนามานี้ แล้วทราบมุขแห่งธรรมเป็นเครื่องนำออกจากทุกข์ ของภิกษุผู้กำหนดนิวรณ์เป็นอารมณ์

ข้อความที่เหลือก็เป็นเช่นนั้นเหมือนกันแล.

จบนิวรณบรรพ

[142] พระผู้มีพระภาคเจ้าครั้นทรงจำแนกธรรมานุปัสสนาโดยนิวรณ์ 5 อย่างนี้แล้ว บัดนี้ เพื่อจะทรงจำแนกโดยเบญจขันธ์ จึงตรัสคำมีอาทิว่า ปุน จปรํ.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปญฺจสุ อุปาทานกฺขนฺเธสุ ความว่า กองแห่งอุปาทาน ชื่อว่าอุปาทานขันธ์.

อธิบายว่า กลุ่มแห่งธรรมคือกองแห่งธรรมอันเป็นปัจจัยแห่งอุปาทาน ชื่อว่าธัมมราสี ความสังเขปในเบญจขันธ์นี้มีเท่านี้.

ส่วนความพิสดารเรื่องขันธ์กล่าวไว้แล้วในคัมภีร์วิสุทธิมรรค.

บทว่า อิติ รูปํ ความว่า รู้รูปโดยสภาวะว่า นี้รูป รูปเท่านี้ รูปอื่นจากนี้ไม่มี.

แม้ในเวทนาเป็นต้นก็นัยนี้เหมือนกัน.

ความสังเขปในคำนี้มีเท่านี้. ส่วนโดยพิสดาร รูปเป็นต้น ท่านกล่าวไว้แล้วในเรื่องขันธ์ในคัมภีร์วิสุทธิมรรคนั้นแหละ.

บทว่า อิติ รูปสฺส สมุทโย ความว่า ความเกิดแห่งรูป โดยอาการ 5 โดยมีอวิชชาเป็นที่เกิดเป็นต้นอย่างนี้ .

บทว่า อิติ รูปสฺส อตฺถงฺคโม ความว่า ความดับแห่งรูป โดยอาการ 5 โดยมีความดับแห่งอวิชชาเป็นต้นอย่างนี้.

แม้ในเวทนาเป็นต้นก็นัยนี้เหมือนกัน.

นี้เป็นความสังเขปในข้อนี้ ส่วนความพิสดารกล่าวไว้แล้วในเรื่องอุทยัพพยญาณ ในคัมภีร์วิสุทธิมรรค.

บทว่า อิติ อชฺฌตฺตํ วา ความว่า พิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลาย ไม่ว่าของตนหรือของคนอื่น ไม่ว่าตามกาลของตนหรือคนอื่นด้วยการกำหนดเบญจขันธ์เป็นอารมณ์อย่างนี้อยู่.

ก็ในคำนี้สมุทยธรรมและวยธรรม พึงยกขึ้นพิจารณาลักษณะ 50 ที่ท่านกล่าวไว้ในขันธ์ทั้งหลายมีอาทิว่า เพราะอวิชชาเกิด รูปจึงเกิด. ต่อจากนี้ ก็มีนัยดังกล่าวแล้วนั่นแล.

อริยสัจในเบญจขันธ์

ก็สติเป็นเครื่องกำหนดขันธ์เป็นอารมณ์ในขันธบรรพนี้ เป็นทุกขสัจอย่างเดียว พึงประกอบความดังกล่าวมานี้ แล้วพึงทราบมุขคือข้อปฏิบัตินำออกจากทุกข์ของภิกษุผู้กำหนดถือขันธ์เป็นอารมณ์.

คำที่เหลือก็อย่างนั้นเหมือนกัน.

จบขันธบรรพ

[143] พระผู้มีพระภาคเจ้าครั้นทรงจำแนกธรรมานุปัสสนาโดยเบญจขันธ์อย่างนี้แล้ว บัดนี้ เพื่อจะทรงจำแนกโดยอายตนะ จึงตรัสคำมีอาทิว่า ปุน จปรํ.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ฉสุ อชฺฌตฺติกพาหิเรสุ อายตเนสุ ได้แก่อายตนะภายใน 6 เหล่านี้คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ (และ) อายตนะภายนอก 6 เหล่านี้คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์.

บทว่า จกฺขุ ํ จ ปชานาติ ได้แก่ รู้จักขุปสาทโดยลักษณะแห่งกิจตามความเป็นจริง.

บทว่า รูเป จ ปชานาติ ความว่า รู้ชัดรูปที่มีสมุฏฐาน 4 อย่างภายนอกด้วย โดยลักษณะแห่งกิจตามความเป็นจริง.

ข้อว่า ยญฺจ ตทุภยํ ปฏิจฺจ อุปฺปชฺชติ สญฺโญชนํ ความว่า ก็เพราะอาศัยอายตนะทั้ง 2 อย่าง คือทั้งตาด้วย ทั้งรูปด้วยสังโยชน์ 10 อย่าง คือ กามราคสังโยชน์, ปฏิฆะ, มานะ, ทิฏฐิ, วิจิกิจฉา, สีลัพพตปรามาส, ภวราคะ, อิสสา, มัจฉริยะและอวิชชา สังโยชน์อันใดย่อมเกิดขึ้น เธอรู้ชัดสังโยชน์นั้น โดยลักษณะตามความเป็นจริงด้วย.

การเกิดของสังโยชน์

ถามว่า ก็สังโยชน์นี้เกิดขึ้นได้อย่างไร?

แก้ว่า จะกล่าวในจักษุทวารก่อน เมื่อเธอชอบใจเพลิดเพลินยินดี อิฏฐารมณ์ที่มาสู่คลอง (จักษุ) ด้วยอำนาจแห่งความพอใจในอิฏฐารมณ์ กามราคสังโยชน์จะเกิดขึ้น. เมื่อโกรธในเพราะอนิฏฐารมณ์ ปฏิฆสังโยชน์จะเกิดขึ้น. เมื่อสำคัญว่า นอกจากเราแล้วไม่มีใครอื่นจะสามารถสำแดงอารมณ์1- นี้ให้แจ่มแจ้งได้ มานสังโยชน์จะเกิดขึ้น.

เมื่อยึดถือว่ารูปารมณ์นี้2- เที่ยง ยั่งยืน ทิฏฐิสังโยชน์จะเกิดขึ้น. เมื่อสงสัยว่า รูปารมณ์นี้2- เป็นสัตว์หรือหนอ หรือเป็นของสัตว์ วิจิกิจฉาสังโยชน์จะเกิดขึ้น. เมื่อปรารถนาภพว่า ภพ (การเกิด) นี้มิใช่3- จะหาได้ง่าย ในสัมปัตติภพเลย ภวราคสังโยชน์4- จะเกิดขึ้น,

____________________________

1- ปาฐะว่า เอกํ ฉบับพม่าเป็น เอตํ แปลตามฉบับพม่า.

2- ปาฐะว่า เอวํ ฉบับพม่าเป็น เอตํ แปลตามฉบับพม่า

3- ปาฐะว่า สมฺปตฺติภเว อตฺตโน พม่าเป็น สมฺปตฺติภเว อตฺตโน แปลตามฉบับพม่า

4- ปาฐะว่า ภวสํโยชนํ ฉบับพม่าเป็น ภวราคสํโยชนํ แปลตามฉบับพม่า.

เมื่อยึดมั่นศีลและพรตว่า เราสมาทานศีลและพรตแบบนี้แล้วอาจจะได้ (บรรลุคุณวิเศษ) ต่อไป สีลัพพตปรามาสสังโยชน์จะเกิดขึ้น.

เมื่อริษยาว่า ไฉนหนอ คนอื่นๆ จึงจะไม่ได้รูปารมณ์นี้ อิสสาสังโยชน์จะเกิดขึ้น. เมื่อตระหนี่รูปารมณ์อันตนได้แล้วต่อผู้อื่น มัจฉริยสังโยชน์จะเกิดขึ้น. เมื่อไม่รู้ โดยไม่รู้ธรรมที่เกิดขึ้นพร้อมกับธรรมเหล่านั้นทั้งหมดนั้นแหละ อวิชชาสังโยชน์จะเกิดขึ้นได้.

บทว่า ยถา จ อนุปฺปนฺนสฺส ความว่า สังโยชน์ทั้ง 10 อย่างนั้นที่ยังไม่ได้เกิด จะเกิดขึ้นด้วยเหตุ คือด้วยการไม่ฟุ้งขึ้นอันใด เธอรู้ชัดเหตุนั้นด้วย.

บทว่า ยถา จ อุปฺปนฺนสฺส ความว่า ส่วนการละสังโยชน์แม้ทั้ง 10 อย่างนั้นที่เกิดขึ้นแล้วโดยความหมายว่า ยังละไม่ได้ก็ดี โดยการฟุ้งขึ้นก็ดี ด้วยเหตุใด เธอย่อมรู้ชัดซึ่งเหตุนั้นด้วย.

บทว่า ยถา จ ปหีนสฺส ความว่า สังโยชน์ 10 อย่างนั้นแม้ที่ละได้แล้วโดยตทังคปหานและวิกขัมภนปหาน จะไม่มีการเกิดขึ้นต่อไป เพราะเหตุใด เธอก็รู้เหตุนั้นด้วย.

อธิบายว่า ก็สังโยชน์นั้นจะไม่มีการเกิดขึ้นต่อไป คือสังโยชน์ 5 อย่างต่างด้วยทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส อิสสาและมัจฉริยะจะไม่มีการเกิดขึ้นต่อไป เพราะโสดาปัตติมรรคก่อน.

สังโยชน์ทั้งคู่ คือกามราคะและปฏิฆะอย่างหยาบจะไม่มีการเกิดขึ้นต่อไป เพราะสกทาคามิมรรค. สังโยชน์ทั้งคู่คือ กามราคะและปฏิฆะที่ไปด้วยกันอย่างละเอียด จะไม่มีการเกิดขึ้นต่อไป เพราะอนาคามิมรรค, สังโยชน์ 3 อย่าง คือมานะ ภวราคะและอวิชชาจะไม่มีการเกิดขึ้นต่อไป เพราะอรหัตตมรรค ด้วยเหตุใด เธอก็รู้เหตุนั้นด้วย.

แม้ในบทว่า ในเสียงเป็นต้น ก็นัยนี้เหมือนกัน.

อีกอย่างหนึ่ง ในข้อนี้พึงทราบกถาว่าด้วยอายตนะ โดยพิสดารตามนัยที่ได้กล่าวไว้แล้วในอายตนนิทเทส ในคัมภีร์วิสุทธิมรรคนั้นเทอญ.

พระโยคาวจรพิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายของตนด้วยการกำหนดอายตนะภายใน หรือในธรรมทั้งหลายของผู้อื่นด้วยการกำหนดอายตนะภายนอก คือในธรรมทั้งหลายของตนตามกาล (เหมาะสม) หรือของผู้อื่นตามกาล (เหมาะสม) อยู่ด้วยประการอย่างนี้.

ก็ในอายตนบรรพนี้ สมุทยธรรมและวยธรรม ควรนำออกไปโดยนัยแห่งรูปายตนะที่ตรัสไว้แล้วในรูปขันธ์แห่งอายตนะในบรรดาอรูปายตนะทั้งหลาย ที่ตรัสไว้ในวิญญาณขันธ์แห่งธรรมายตนะ ที่ตรัสไว้ในขันธ์ที่เหลือว่า เพราะอวิชชาเกิด จักษุจึงเกิด. ไม่ควรหมายถึงโลกุตตรธรรม.

คำต่อแต่นี้ไป มีนัยดังกล่าวแล้วนั่นแหละ.

อริยสัจในอายตนะ

ก็สติเป็นเครื่องกำหนดอายตนะ ในอายตนบรรพนี้ เป็นทุกขสัจอย่างเดียว พึงประกอบความดังกล่าวมานี้ แล้วทราบมุขคือข้อปฏิบัติที่เป็นเหตุนำออก (จากทุกข์) แห่งภิกษุผู้กำหนดถืออายตนะเป็นอารมณ์.

คำที่เหลือก็อย่างนั้นเหมือนกันแล.

จบอายตนบรรพ

[144] พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นทรงจำแนกธรรมานุปัสสนาโดยอายตนะที่เป็นไปในภายในและภายนอกอย่างนี้แล้ว บัดนี้ เพื่อจะทรงจำแนกโดยโพชฌงค์ จึงตรัสคำมีอาทิว่า ปุน จปรํ.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า โพชฺฌงฺเคสุ ได้แก่ องค์แห่งบุคคลผู้ข้องอยู่ในการตรัสรู้.

บทว่า สนฺตํ ได้แก่ มีอยู่โดยการกลับได้.

บทว่า สติสมฺโพชฺฌงฺคํ ได้แก่ องค์แห่งธรรมเป็นเครื่องตรัสรู้กล่าวคือสติ.

ความหมายของสัมโพธิ

อธิบายว่า พระโยคาวจรย่อมรู้พร้อมสรรพในธรรมทั้ง 7 นี้ จำเดิมแต่ปรารภวิปัสสนา เพราะฉะนั้น ธรรมทั้ง 7 นั้นจึงชื่อว่าสัมโพชฌงค์.

อีกอย่างหนึ่ง พระโยคาวจรนั้นตื่น คือลุกขึ้นจากกิเลสนิทรา หรือแทงตลอดสัจจะทั้งหลายด้วยธรรมสามัคคี 7 ประการใดมีสติเป็นต้น ธรรมสามัคคีนั้นชื่อว่าสัมโพธิ. ชื่อว่าสัมโพชฌงค์ เพราะเป็นองค์แห่งสัมโพธิธรรมหรือสัมโพธิธรรมสามัคคีนั้น. ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า สัมโพชฌงค์กล่าวคือสติ. แม้ในสัมโพชฌงค์ที่เหลือก็พึงทราบอรรถพจน์โดยนัยนี้เหมือนกัน.

บทว่า อสนฺตํ ความว่า ไม่มีโดยการไม่กลับได้.

ก็ในบททั้งหลายมีอาทิว่า ยถา จ อนุปฺปนฺนสฺส มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-

การเกิดของสติสัมโพชฌงค์

อันดับแรก สติสัมโพชฌงค์จะมีการเกิดขึ้นอย่างนี้ คือ มีอยู่ ภิกษุทั้งหลาย ธรรมเป็นที่ตั้งแห่งสติสัมโพชฌงค์ การกระทำไว้ในใจโดยแยบคาย และการกระทำให้มากในธรรมเหล่านั้น นี้เป็นอาหาร (ปัจจัย) ย่อมเป็นไปเพื่อให้สติสัมโพชฌงค์ที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้นบ้าง

เพื่อความเจริญยิ่ง เพื่อความบริบูรณ์แห่งการเจริญสติสัมโพชฌงค์ที่เกิดขึ้นแล้วบ้าง.

เมื่อสตินั้นมีอยู่นั่นเอง ธรรมทั้งหลายอันเป็นที่ตั้งแห่งสติสัมโพชฌงค์มีอยู่ โยนิโสมนสิการมีลักษณะดังกล่าวแล้วนั่นแหละ เมื่อพระโยคาวจรยังโยนิโสมนสิการนั้นให้เป็นไปในธรรมเหล่านั้นบ่อยครั้งเข้า สติสัมโพชฌงค์ย่อมเกิดขึ้น.

อีกอย่างหนึ่ง ธรรม 4 ประการย่อมเป็นไปเพื่อการเกิดขึ้นแห่งสติสัมโพชฌงค์ คือ

สติสัมปชัญญะ 1

การเว้นจากบุคคลผู้มีสติหลงลืม 1

การคบหาสมาคมกับบุคคลผู้มีสติตั้งมั่น 1

ความเป็นผู้น้อมไปหาสตินั้น 1.

จริงอยู่ สติสัมโพชฌงค์จะเกิดขึ้นในที่ 7 สถานมีการก้าวไปข้างหน้าเป็นต้น เพราะมีสติสัมปชัญญะ เพราะเว้นบุคคลผู้มีสติหลงลืม เช่นกับกาเก็บอาหารไว้ เพราะคบหาสมาคมกับบุคคลผู้มีสติตั้งมั่น เช่นพระติสสทัตตเถระ และพระอภยเถระเป็นต้น และเพราะเป็นผู้มีจิตโอนเอียงโน้มน้อมไปเพื่อให้สติตั้งขึ้นในอิริยาบถทั้งหลายมีการนั่ง การนอนเป็นต้น. เธอย่อมรู้ชัดว่า ก็ความบริบูรณ์แห่งการเจริญสติสัมโพชฌงค์นั้นที่เกิดขึ้นแล้วด้วยเหตุ 4 อย่างอย่างนี้ จะมีได้ด้วยอรหัตตมรรค.

การเกิดของธัมมวิจยสัมโพชฌงค์

ส่วนธัมมวิจยสัมโพชฌงค์มีการเกิดขึ้นอย่างนี้ว่า มีอยู่ ภิกษุทั้งหลาย กุศลธรรมและอกุศลธรรมทั้งหลาย ฯลฯ ธรรมที่มีส่วนคล้ายคลึงกับกัณหธรรมและสุกกธรรมเหล่าใด การกระทำไว้ในใจโดยแยบคายในธรรมเหล่านั้น นี้เป็นอาหาร (ปัจจัย) เป็นไปเพื่อให้ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้นบ้าง เพื่อภิญโญภาพ เพื่อความไพบูลย์แห่งธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ เพื่อเจริญธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ เพื่อให้ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์บริบูรณ์บ้าง.

อีกอย่างหนึ่ง ธรรมทั้ง 7 ประการ คือ

การสอบถาม 1

การทำวัตถุให้ผ่องใส 1

การปรับอินทรีย์ให้สม่ำเสมอ 1

การเว้นบุคคลผู้มีปัญญาทราม 1

การคบหาสมาคมกับผู้มีปัญญา 1

การพิจารณาความประพฤติด้วยญาณอันลึกซึ้ง 1

การน้อมใจไปในธัมมวิจยะนั้น 1

ย่อมเป็นไปเพื่อการเกิดขึ้นแห่งธัมมวิจยสัมโพชฌงค์. ความเป็นผู้มากด้วยการสอบถามเกี่ยวกับเนื้อความของขันธ์ ธาตุ อายตนะ อินทรีย์ พละ โพชฌงค์ มรรค องค์ฌาน สมถะและวิปัสสนา ชื่อว่าปริปุจฉกตา ในบรรดาธรรม 7 เหล่านั้น.

การกระทำวัตถุทั้งภายในและภายนอกให้ผ่องใส ชื่อว่า วตฺถุวิสทกิริยา. เพราะว่า เมื่อใด ผม เล็บและขนของเธอยาวเกินไป หรือร่างกายของเธอมีโรค (โทส) มาก และแปดเปื้อนไปด้วยมลภาวะคือเหงื่อ. เมื่อนั้น วัตถุอันมีอยู่ในภายในใจจะไม่ผ่องใส ไม่บริสุทธิ์. แต่เมื่อใด จีวรของเธอเก่า เศร้าหมอง มีกลิ่น หรือเสนาสนะเปรอะเปื้อน เมื่อนั้น วัตถุที่มีในภายนอกจะไม่ผ่องใส ไม่บริสุทธิ์ เพราะฉะนั้น วัตถุภายใน เธอต้องกระทำให้ผ่องใสโดยการปลงผมเป็นต้น โดยการทำร่างกายให้เบาสบาย ด้วยการชำระทั้งข้างบนข้างล่างเป็นต้น (และ) โดยการอบ อาบ.

วัตถุภายนอกต้องทำให้ผ่องใสด้วยการเย็บ การซัก การย้อมและการทำเครื่องใช้เป็นต้น. เพราะว่า แม้ญาณในจิตและเจตสิกที่เกิดขึ้นในเพราะวัตถุภายในและภายนอกนี้ที่ไม่ผ่องใส ก็จะไม่ผ่องใส (ไปด้วย) เหมือนแสงสว่างของเปลวประทีปที่เกิดขึ้นโดยอาศัยตะเกียงไส้และน้ำมันที่ไม่สะอาดฉะนั้น.

ส่วนแม้ญาณในจิตและเจตสิกทั้งหลายที่เกิดขึ้นแล้วในเพราะวัตถุภายในและภายนอกที่ผ่องใส ก็จะผ่องใส (ไปด้วย) เหมือนแสงสว่างของเปลวประทีปที่เกิดขึ้นโดยอาศัยตะเกียงไส้และน้ำมันที่สะอาดฉะนั้น. ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า การทำวัตถุให้ผ่องใส ย่อมเป็นไปเพื่อการเกิดขึ้นแห่งธัมมวิจยสัมโพชฌงค์.

การทำอินทรีย์มีศรัทธาเป็นต้นให้มีความเสมอกัน ชื่อว่าการปรับอินทรีย์ให้เสมอกัน. เพราะถ้าว่าสัทธินทรีย์ของเธอมีพลัง อินทรีย์นอกนี้อ่อน. ต่อนั้นไป วิริยินทรีย์ก็ไม่อาจจะทำหน้าที่ประคองไว้ได้ สตินทรีย์ก็ไม่อาจจะทำหน้าที่ปรากฏได้ สมาธินทรีย์ก็ไม่อาจจะทำหน้าที่ไม่ให้ฟุ้งซ่านได้ ปัญญินทรีย์ก็ไม่อาจจะทำหน้าที่พิจารณาเห็นได้. เพราะฉะนั้น พระโยคาวจรพึงให้สัทธินทรีย์นั้นเสื่อมไปโดยพิจารณาถึงสภาวธรรม หรือโดยไม่ใส่ใจถึงโดยทำนองที่เมื่อใส่ใจถึง สัทธินทรีย์จะมีพลัง.

ก็ในข้อนี้ มีเรื่องของพระวักกลิเถระเป็นตัวอย่าง.

แต่ถ้าวิริยินทรีย์มีพลัง ภายหลังสัทธินทรีย์จะไม่สามารถทำหน้าที่น้อมใจเชื่อได้เลย อินทรีย์นอกนี้ก็ไม่อาจทำหน้าที่ต่างประเภทนอกนี้ได้ เพราะฉะนั้น พระโยคาวจรพึงให้วิริยินทรีย์นั้นเสื่อมไปด้วยการเจริญปัสสัทธิเป็นต้น.

แม้ในข้อนั้นพึงแสดงเรื่องของพระโสณเถระให้เห็น.

แม้ในอินทรีย์ที่เหลือก็พึงทราบอย่างนั้น. เมื่ออินทรีย์อย่างเดียวมีพลัง พึงทราบว่า อินทรีย์นอกนี้ก็หมดสมรรถภาพในหน้าที่ของตน.

แต่ในเรื่องนี้ ท่านสรรเสริญความที่ศรัทธากับปัญญาเสมอกัน และสมาธิกับวิริยะเสมอกันไว้โดยพิเศษ. เพราะว่า ผู้มีศรัทธามีพลัง แต่มีปัญญาอ่อน จะมีความเลื่อมใสอย่างงมงาย คือเลื่อมใสในสิ่งที่ไม่ใช่วัตถุ ผู้มีปัญญามีพลัง (แต่) มีศรัทธาหย่อน ย่อมจะกระเดียดไปทางข้างเกเร

แก้ไขยาก เหมือนโรคดื้อยา ไม่ทำกุศลมีทานเป็นต้น โดยคิดเลยเถิดไปว่า กุศลจะมีได้ด้วยเหตุเพียงจิตตุปบาทเท่านั้น ย่อมเกิดในนรก.

(แต่) เพราะศรัทธาและปัญญาทั้งคู่เสมอกัน เขาจะเลื่อมใสในพระรัตนตรัยทีเดียว. ส่วนสมาธิมีพลัง แต่วิริยะหย่อน โกสัชชะ (ความเกียจคร้าน) จะครอบงำ (เธอ) เพราะสมาธิเป็นฝักฝ่ายแห่งโกสัชชะ ความเกียจคร้าน.

(ถ้า) วิริยะมีพลัง แต่สมาธิหย่อน อุทธัจจะ (ความฟุ้งซ่าน) จะครอบงำเธอ เพราะวิริยะเป็นฝักฝ่ายแห่งอุทธัจจะ.

ก็สมาธิที่ประกอบไปด้วยวิริยะจะไม่มีตกไปในโกสัชชะ ความเกียจคร้าน.

วิริยะที่ประกอบไปด้วยสมาธิจะไม่มีตกไปในอุทธัจจะ เพราะฉะนั้น ควรทำสมาธิและวิริยะทั้งคู่นั้นให้เสมอกัน. ด้วยว่า อัปปนาจะมีได้เพราะวิริยะและสมาธิทั้งคู่นั้นเสมอกัน.

อีกอย่างหนึ่ง สำหรับผู้เริ่มบำเพ็ญสมาธิ ศรัทธาถึงจะมีพลังก็ใช้ได้. เมื่อเชื่ออย่างนี้ กำหนดอยู่ จะถึงอัปปนา. ในสมาธิและปัญญาสำหรับผู้เริ่มบำเพ็ญสมาธิ เอกัคคตา (สมาธิ) มีพลังย่อมใช้ได้.

ด้วยว่า เมื่อเป็นเช่นนี้ เธอก็จะบรรลุอัปปนา. สำหรับผู้เริ่มบำเพ็ญวิปัสสนาปัญญามีพลังย่อมใช้ได้. ด้วยว่า เมื่อเป็นเช่นนี้ เธอก็จะถึงการแทงตลอดลักษณะ (พระไตรลักษณ์). ก็เพราะทั้งสองอย่างนั้นเสมอกัน อัปปนาก็จะมีทีเดียว.

ส่วนสติมีพลังใช้ได้ในที่ทุกสถาน เพราะว่า สติจะรักษาจิตไว้ได้จากการตกไปสู่อุทธัจจะ ด้วยอำนาจของศรัทธา วิริยะและปัญญาซึ่งเป็นฝักฝ่ายแห่งอุทธัจจะ จะรักษาจิตไว้ได้จากการตกไปสู่โกสัชชะ ด้วยสมาธิที่เป็นฝักฝ่ายแห่งโกสัชชะ

เพราะฉะนั้น สตินั้นจึงจำต้องปรารถนาในที่ทั้งปวง เหมือนในแกงทุกอย่าง ต้องเหยาะเกลือ และเหมือนในราชกิจทุกชนิด ต้องประสงค์ผู้สำเร็จราชการ. ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ก็แลสติจำปรารถนาในที่ทั้งปวง พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้แล้ว.

เพราะเหตุไร?

เพราะว่า จิตมีสติเป็นที่พึ่งอาศัย และสติมีการอารักขาเป็นเครื่องปรากฏ. เว้นสติเสียแล้ว การประคองและการข่มจิตจะมีไม่ได้.

การเว้นให้ห่างไกลซึ่งบุคคลผู้มีปัญญาทราม คือผู้มีปัญญาไม่หยั่งลงในธรรมประเภทมีขันธ์เป็นต้น ชื่อว่าการเว้นบุคคลผู้มีปัญญาทราม.

การคบหาบุคคลผู้ประกอบด้วยปัญญาเครื่องพิจารณาเห็นความเกิดและความดับที่กำหนดลักษณะ (ความเกิดความดับ) 50 ถ้วน ชื่อว่าการคบหาบุคคลผู้มีปัญญา.

การพิจารณาประเภทแห่งปัญญาอันลึกซึ้งที่เป็นไปแล้วในขันธ์ทั้งหลายอันลึกซึ้ง ชื่อว่าการพิจารณาความเป็นไปแห่งญาณอันลึกซึ้ง. ความที่จิตโน้มน้อมและโอนไปเพื่อให้ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ตั้งขึ้น ในอิริยาบถนั่ง และอิริยาบถนอนเป็นต้น ชื่อว่าความน้อมจิตไปในธัมมวิจยสัมโพชฌงค์นั้น.

เธอรู้ชัดว่า ก็ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์นั้นที่เกิดขึ้นแล้วอย่างนี้ จะมีการให้ภาวนาบริบูรณ์ด้วยอรหัตตมรรค.

การเกิดของวิริยสัมโพชฌงค์

วิริยสัมโพชฌงค์มีการเกิดขึ้นอย่างนี้ คือ มีอยู่ ภิกษุทั้งหลาย อารัพภธาตุ นิกกมธาตุ ปรักกมธาตุ การทำไว้ในใจโดยแยบคาย และการกระทำให้มากในอารัพภธาตุเป็นต้นนั้น นี้เป็นอาหาร (ปัจจัย) จะเป็นไปเพื่อให้วิริยสัมโพชฌงค์ที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้นบ้าง เพื่อภิญโญภาพ เพื่อความไพบูลย์ เพื่อความเจริญ เพื่อความบริบูรณ์ แห่งวิริยสัมโพชฌงค์ที่เกิดขึ้นแล้วบ้าง.

อีกอย่างหนึ่ง ธรรม 11 ประการ คือ

การพิจารณาเห็นภัยในอบาย 1

การเห็นอานิสงส์ 1

การพิจารณาเห็นทางดำเนินไป 1

การประพฤติอ่อนน้อมต่อบิณฑบาต 1

การพิจารณาเห็นความเป็นใหญ่โดยความเป็นทายาท 1

การพิจารณาเห็นความเป็นใหญ่ของพระศาสดา 1

การพิจารณาเห็นความเป็นใหญ่โดยชาติ 1

การพิจารณาเห็นความเป็นใหญ่โดยเป็นเพื่อนสพรหมจารี 1

การเว้นบุคคลผู้เกียจคร้าน 1

การคบหาบุคคลผู้ปรารภความเพียร 1

ความเป็นผู้มีจิตน้อมไปในวิริยสัมโพชฌงค์นั้น 1

ย่อมเป็นไปเพื่อความเกิดแห่งวิริยสัมโพชฌงค์.

ในธรรม 11 ประการนั้น พึงทราบวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-

เราไม่อาจเพื่อให้วิริยสัมโพชฌงค์เกิดขึ้น ในเวลาเสวยทุกข์อย่างใหญ่หลวง จำเดิมแต่ต้องกรรมกรณ์ด้วยเครื่องจองจำครบ 5 ประการในนรกทั้งหลายก็ดี ในเวลาถูกจับด้วยเครื่องจับสัตว์น้ำมีการทอดแหและดักไซเป็นต้น

และในเวลาที่ลากเกวียนเป็นต้นไปของสัตว์ผู้ถูกบังคับด้วยการแทงด้วยปฏักและตีด้วยเรียวหนามเป็นต้นในกำเนิดเดียรัจฉานก็ดี ในเวลาอาดูรด้วยความหิว ความกระหายเป็นเวลาหลายพันปีบ้าง พุทธันดรหนึ่งบ้าง ในวิสัยแห่งเปรตก็ดี. ในเวลาเสวยทุกข์มีลมและแดดเป็นต้นด้วยอัตภาพที่มีเพียงหนังหุ้มกระดูกเท่านั้น (สูง) ประมาณ 60 ศอกและ 80 ศอก ในเหล่าอสูรชื่อกาลกัญชิกะก็ดี ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เวลานี้นั่นแหละเป็นเวลาที่เธอจะบำเพ็ญความเพียร1- แม้เมื่อเธอพิจารณาเห็นภัยในอบายดังที่พรรณนามานี้ วิริยสัมโพชฌงค์ก็จะเกิดขึ้น.

____________________________

1- ปาฐะว่า กาโลติ เอวํ ฉบับพม่าเป็น กาโล วิริยกรณายาติ เอวํ แปลตามฉบับพม่า.

วิริยสัมโพชฌงค์จะเกิดขึ้น แม้แก่ผู้เห็นอานิสงส์ (ของความเพียร) อย่างนี้ว่า คนเกียจคร้านไม่อาจจะได้นวโลกุตตรธรรม คนปรารภความเพียรเท่านั้นจึงอาจได้ นี้เป็นอานิสงส์ของวิริยะ.

วิริยสัมโพชฌงค์จะเกิดขึ้น แม้แก่ผู้พิจารณาเห็นทางดำเนินอย่างนี้ว่า เธอพึงเดินทางที่พระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้าและพระมหาสาวกของพระพุทธเจ้าทั้งหมด ได้เสด็จดำเนินไปและเดินไปแล้ว และทางนั้นคนเกียจคร้านไม่อาจจะดำเนินไปได้.

วิริยสัมโพชฌงค์ย่อมเกิดขึ้นแม้แก่ภิกษุผู้พิจารณาเห็นความยำเกรงซึ่งบิณฑบาต เหมือนที่เกิดขึ้นแก่พระมหามิตตเถระอย่างนี้ว่า เหล่าชนผู้บำรุงท่านด้วยปัจจัยมีบิณฑบาตเป็นต้นเหล่านี้ ไม่ใช่ญาติของท่านเลย ไม่ใช่ทาสกรรมกรของท่าน ทั้งเขาไม่ได้ให้บิณฑบาตเป็นต้นอันประณีตแก่ท่าน ด้วยคิดว่า พวกเราจักดำรงอยู่ได้เพราะอาศัยท่าน โดยที่แท้เขาหวังว่า สักการะของตนจะมีผลมาก จึงพากันถวาย แม้พระศาสดาก็มิได้ทรงเห็นอย่างนี้ว่าภิกษุนี้ฉันปัจจัยเหล่านี้แล้วจักเป็นผู้มีกายมั่นคงมาก อยู่อย่างสบาย ได้ทรงอนุญาตไว้แก่ท่าน โดยที่แท้ทรงอนุญาตปัจจัยเหล่านั้น ด้วยทรงพระประสงค์ว่า ภิกษุนี้เมื่อบริโภคปัจจัยเหล่านี้จักบำเพ็ญสมณธรรมแล้วพ้นจากทุกข์ บัดนี้ เธอเกียจคร้านอยู่ จักไม่ยำเกรงบิณฑบาตนั้น เพราะขึ้นชื่อว่าความยำเกรงบิณฑบาตจะมีแก่ภิกษุผู้ปรารภความเพียรเท่านั้น.

เรื่องพระมหามิตตเถระ

ได้ทราบว่า พระเถระอาศัยอยู่ในที่ชื่อว่ากัสสกเลณะ และมหาอุบาสิกาคนหนึ่งในโคจรคามของพระเถระนั้น ได้ปฏิบัติพระเถระอย่างลูกชาย. วันหนึ่ง นางเมื่อจะเข้าป่าได้บอกลูกสาวว่า แม่หนู ข้าวเก่าอยู่ในที่โน้น น้ำนมอยู่ที่โน้น เนยใสอยู่ที่โน้น น้ำอ้อยอยู่ที่โน้น ในเวลาที่คุณมิตร พี่ชายของเจ้ามา เจ้าจงหุงข้าวถวายพร้อมกับนมเนยใสและน้ำอ้อย เจ้าก็ควรกินด้วย ส่วนแม่ เมื่อวานกินข้าวตังกับน้ำผักดอง.

ลูกสาวถามว่า กลางวัน แม่จะกินอะไรเล่าแม่?

เจ้าจงเอาข้าวป่น (ปลายข้าว) ต้มให้เป็นข้าวยาคูเปรี้ยว เติมผักดองลงไป ตั้งไว้เถิดลูก แม่บอก.

พระเถระห่มจีวรแล้วนำบาตรออก ได้ยินเสียงนั้นแล้วกล่าวสอนตนว่า ได้ยินว่า มหาอุบาสิกาบริโภคข้าวตังกับน้ำผักดอง แม้ตอนกลางวันจักต้องบริโภคข้าวยาคูเติมน้ำผักดองอีก. แต่บอก (ให้หุง) ข้าวเก่าเป็นต้นเพื่อประโยชน์แก่เจ้า ก็แลนางไม่ได้ปรารถนานา สวน

ภัตร ผ้า เพราะอาศัยเธอ แต่ปรารถนาสมบัติ 3 จึงถวาย เจ้าจักสามารถให้สมบัติเหล่านั้นแก่เธอหรือว่าจักไม่สามารถ

ก็แลบิณฑบาตนี้อันเจ้าผู้ยังมีราคะโทสะและโมหะ ไม่สามารถจะรับได้ จึงเก็บบาตรเข้าถุง ปล่อยเงื่อนงำไว้ กลับไปยังกัสสกเลณะตามเดิม เก็บบาตรไว้ใต้เตียง พาดจีวรไว้บนราวจีวร คิดว่า เรายังไม่บรรลุพระอรหัตแล้ว จักไม่ออกไป นั่งบำเพ็ญเพียรแล้ว. ท่านไม่ประมาท เป็นพระเก็บตัวอยู่อย่างไม่ประมาทตลอดกาลนาน เจริญวิปัสสนา บรรลุพระอรหัตก่อนฉันนั่นเอง เป็นพระมหาขีณาสพ ยิ้มแย้มออกมาเหมือนดอกปทุมที่แย้มบานฉะนั้น

เทวดาผู้สิงสถิตอยู่ที่ต้นไม้ใกล้ประตูถ้ำ (เห็นท่านแล้ว) เปล่งอุทานอย่างนี้ว่า

ข้าแต่บุรุษอาชาไนย ข้าพเจ้าขอนอบน้อมท่าน

ข้าแต่ท่านผู้สูงสุด ข้าพเจ้าขอนอบน้อมท่าน

ข้าแต่ท่านผู้นิรทุกข์ ท่านละอาสวะได้แล้ว

จึงเป็นผู้สมควรรับทักษิณา.

ดังนี้แล้ว กล่าวว่า ท่านเจ้าขา พวกหญิงแก่ถวายภิกษาแด่พระอรหันต์เช่นท่านผู้เข้าไปรับบิณฑบาตแล้ว จักพ้นทุกข์ได้.

พระเถระลุกขึ้นเปิดประตูดูเวลา ทราบว่ายังเช้าอยู่ จึงอุ้มบาตร ครองจีวรเข้าไปยังหมู่บ้าน. ฝ่ายลูกสาวเตรียมภัตรแล้ว (ก็ออกมา) นั่งมองดูที่ประตู ด้วยหวังว่า หลวงพี่ของเราจักมาเดี๋ยวนี้ จักมาเดี๋ยวนี้.

เมื่อพระเถระมาถึงประตูเรือน เธอก็รับบาตรไปใส่ข้าวก้อนเจือด้วยน้ำนมผสมด้วยเนยใสและน้ำอ้อยจนเต็มแล้ว

นำมาประเคนที่มือ. พระเถระทำการอนุโมทนาว่า จงมีความสุขเถิด ดังนี้ หลีกไป. ฝ่ายลูกสาวนั้นก็ได้ยืนมองท่านเพลินอยู่. เพราะเวลานั้น ฉวีวรรณของพระเถระผุดผ่องยิ่งนัก อินทรีย์ทั้งหลายก็ผ่องใส ดวงหน้าก็แจ่มใสอย่างยิ่ง เหมือนผลตาลสุกที่เพิ่งหล่นจากขั้วฉะนั้น.

มหาอุบาสิกากลับมาจากป่า ถามว่า แม่หนู หลวงพี่ของเจ้ามาแล้วหรือ?

นางได้เล่าเรื่องราวทั้งหมดให้ฟัง. อุบาสิกาทราบว่า วันนี้ กิจบรรพชิตของพระลูกชายเรา ถึงที่สุดแล้ว จึงพูดว่า ลูกเอ๋ย หลวงพี่ของเจ้ายังอภิรมย์ ไม่เบื่อหน่ายในพระพุทธศาสนา.

วิริยสัมโพชฌงค์ย่อมเกิดแม้แก่ภิกษุผู้พิจารณาเห็นความยิ่งใหญ่แห่งมรดก แลมรดกของพระศาสดานี้ คืออริยทรัพย์ 7 เป็นของใหญ่หลวง ผู้เกียจคร้านไม่สามารถจะรับมรดกนั้นไว้ได้ เหมือนอย่างว่า มารดาบิดาย่อมขจัดบุตรผู้เกเรให้ออกจากกองมรดก ด้วยสำคัญว่า เจ้านี่ไม่ใช่ลูกของเรา (อีกต่อไป) เพราะปัจจัย (คือการตัดขาด) ของพ่อแม่นั้น บุตรผู้เกเรนั้นย่อมไม่ได้รับมรดกฉันใด ถึงภิกษุผู้เกียจคร้านก็ฉันนั้น จะไม่ได้รับมรดก คืออริยทรัพย์นี้ ภิกษุผู้ปรารภความเพียรเท่านั้นจึงจะได้รับ.

วิริยสัมโพชฌงค์ย่อมเกิดขึ้นแก่ภิกษุผู้แม้พิจารณาถึงความยิ่งใหญ่ของพระศาสดาอย่างนี้ว่า ก็แลพระศาสดาของเจ้ายิ่งใหญ่นัก เพราะว่าในเวลาที่พระศาสดาทรงถือปฏิสนธิในพระครรภ์พระมารดาก็ดี ในเวลาเสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์ก็ดี ในเวลาตรัสรู้พระอนุตตรสัมโพธิญาณก็ดี ในเวลาแสดงพระธรรมจักรก็ดี ในเวลาทรงแสดงยมกปาฏิหาริย์ เสด็จลงจากเทวโลก และปลงพระชนมายุสังขารก็ดี หมื่นโลกธาตุก็หวั่นไหวแล้ว ควรแล้วหรือที่เจ้าบวชในศาสนาของพระศาสดาเห็นปานนี้ แล้วจะมาเกียจคร้านอยู่.

วิริยสัมโพชฌงค์ย่อมเกิดแก่ภิกษุผู้แม้พิจารณาถึงความยิ่งใหญ่แห่งชาติ (กำเนิด) อย่างนี้ว่า แม้ว่าโดยกำเนิด บัดนี้ เจ้าก็ไม่ใช่คนที่มีกำเนิดต่ำ เจ้ามาจากเชื้อสายของพระเจ้ามหาสมมต ไม่เจือปน (กับคนวรรณะอื่น) ทั้งได้เกิดในราชวงศ์ของพระเจ้าโอกากราช ได้เป็นพระนัดดาของพระเจ้าสุทโธทนมหาราชกับพระนางมหามายาเทวี (และ) เป็นพระกนิษฐภาดาของพระเจ้าพี่ราหุล อันธรรมดาว่าเจ้าได้เป็นชินบุตรเห็นปานนี้ จะมามัวเกียจคร้านอยู่ ไม่สมควรเลย.

วิริยสัมโพชฌงค์ย่อมเกิดขึ้นแก่ภิกษุผู้แม้พิจารณาถึงความยิ่งใหญ่ของเพื่อนสพรหมจารีอย่างนี้ว่า พระสารีบุตร พระโมคคัลลานะและพระอสีติมหาสาวกแทงตลอดโลกุตตรธรรมด้วยความเพียรโดยแท้ เจ้าจักดำเนินไปตามทางของเพื่อนสพรหมจารีเหล่านั้น หรือจักไม่ดำเนินตาม.

วิริยสัมโพชฌงค์ย่อมเกิดขึ้นแก่ภิกษุผู้หลีกเว้นบุคคลผู้เกียจคร้าน สลัดทิ้งความเพียรทางกายและทางจิต ผู้เป็นเช่นกับงูเหลือม อึดอัดเพราะกินเหยื่อจนเต็มท้องแก่ภิกษุผู้คบหาบุคคลผู้มีตนตั้งมั่น ปรารภความเพียร ทั้งแก่ภิกษุผู้มีจิตน้อม โน้ม นำไป เพื่อให้เกิดความเพียรในอิริยาบถทั้งหลาย มีอิริยาบถยืนและนั่งเป็นต้น.

ก็เมื่อวิริยสัมโพชฌงค์นั้นเกิดขึ้นแล้วอย่างนี้ ภิกษุย่อมทราบชัดว่า ความเจริญเต็มที่ (แห่งวิริยสัมโพชฌงค์) มีได้ด้วยพระอรหัตตมรรค.

การเกิดขึ้นของปีติสัมโพชฌงค์

ปีติสัมโพชฌงค์ย่อมเกิดขึ้นอย่างนี้ คือ มีอยู่ ภิกษุทั้งหลาย ธรรมทั้งหลายอันเป็นที่ตั้งแห่งปีติสัมโพชฌงค์ การทำไว้ในใจโดยแยบคาย และการทำให้มากในธรรม นี้เป็นอาหาร (ปัจจัย) เพื่อให้ปีติสัมโพชฌงค์ที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้น หรือเป็นไปเพื่อให้ปีติสัมโพชฌงค์ที่เกิดขึ้นแล้ว ภิญโญภาพ ไพบูลย์ เจริญเต็มที่.

ในพระพุทธพจน์นั้น ปีตินั่นเอง ชื่อว่าธรรมเป็นที่ตั้งแห่งปีติสัมโพชฌงค์ การทำไว้ในใจที่ให้ปีติสัมโพชฌงค์นั้นเกิดขึ้น ชื่อว่าการทำไว้ในใจโดยแยบคาย.

อีกอย่างหนึ่ง ธรรม 11 ประการ คือ

พุทธานุสสติ 1 ธัมมานุสสติ 1 สังฆานุสสติ 1

สีลานุสสติ 1 จาคานุสสติ 1 และเทวตานุสสติ 1

อุปสมานุสสติ 1 การหลีกเว้นบุคคลผู้เป็นโทษ 1

การคบหาบุคคลผู้เป็นคุณ 1

การพิจารณาถึงพระสูตรอันเป็นที่ตั้งแห่งความเลื่อมใส 1

ความเป็นผู้น้อมไปในปีติสัมโพชฌงค์นั้น 1.

ย่อมเป็นไปเพื่อความเกิดขึ้นแห่งปีติสัมโพชฌงค์.

อธิบายว่า สำหรับภิกษุผู้แม้หมั่นระลึกถึงพระพุทธคุณ ปีติสัมโพชฌงค์ย่อมเกิดขึ้นแผ่ไปทั่วร่างจนถึงอุปจารสมาธิ. สำหรับภิกษุผู้หมั่นระลึกถึงพระธรรมคุณ พระสังฆคุณก็ดี ผู้พิจารณาถึงจตุปาริสุทธิศีลที่รักษาไว้ไม่ขาด ตลอดกาลนานก็ดี ปีติสัมโพชฌงค์ก็ย่อมเกิดขึ้นได้.

แม้สำหรับคฤหัสถ์ผู้พิจารณาถึงศีล 10 ศีล 5 ก็ดี ผู้ถวายโภชนะอันประณีตแก่ท่านผู้เป็นสพรหมจารี ในคราวเกิดทุพภิกขภัยเป็นต้น แล้วพิจารณาถึงการบริจาค (ของตน) ว่า เราได้ถวายอย่างนี้ก็ดี ปีติสัมโพชฌงค์จะเกิดขึ้นได้.

อนึ่ง สำหรับคฤหัสถ์ผู้พิจารณาถึงทานที่ถวายแก่ท่านผู้มีศีลในการเช่นนี้ก็ดี ผู้พิจารณาเห็นว่าเทวดาประกอบด้วยคุณเหล่าใด จึงถึงความเป็นเทวดา คุณเหล่านั้นมีอยู่ในตนก็ดี ปีติสัมโพชฌงค์ก็เกิดขึ้นได้.

สำหรับภิกษุผู้พิจารณาเห็นกิเลสที่ข่มได้แล้วด้วยสมาบัติว่า (กิเลสเหล่านี้) ไม่ฟุ้งขึ้นเป็นเวลา 60 ปีบ้าง 70 ปีบ้างก็ดี ผู้หลีกเว้นบุคคลผู้เศร้าหมองอันปรากฏชัดด้วยการไม่กระทำโดยความเคารพ ในเมื่อได้เห็นพระเจดีย์ เห็นต้นโพธิ์ และเห็นพระเถระ ผู้ชื่อว่าเป็นเช่นกับฝุ่นละออง (ที่จับเกาะ) บนหลังคา เพราะไม่มีความเลื่อมใสและความรักในพระรัตนตรัยมีพระพุทธเจ้าเป็นต้นก็ดี ผู้คบหาบุคคลผู้ผ่องใส มีจิตอันอ่อนโยน มากด้วยความเลื่อมใสในพระรัตนตรัยมีพระพุทธเจ้าเป็นต้นก็ดี ผู้พิจารณาถึงพระสูตรอันก่อให้เกิดความเลื่อมใส แสดงคุณของพระรัตนตรัยก็ดี ผู้มีจิตโน้มน้อม นำไปเพื่อให้เกิดปีติในอิริยาบถยืนและนั่งเป็นต้นก็ดี ปีติสัมโพชฌงค์ย่อมเกิดขึ้นได้.

ก็เมื่อปีติสัมโพชฌงค์นั้นเกิดขึ้นแล้วอย่างนั้น ภิกษุย่อมรู้ชัดว่า ความเจริญเต็มที่ (แห่งปีติสัมโพชฌงค์) มีได้ด้วยอรหัตตมรรค.

การเกิดขึ้นของปัสสัทธิสัมโพชฌงค์

ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ย่อมเกิดขึ้นอย่างนี้ คือ มีอยู่ ภิกษุทั้งหลาย กายปัสสัทธิ จิตตปัสสัทธิ การทำในใจโดยแยบคาย และการทำให้มากในกายปัสสัทธินั้น นี้เป็นอาหาร (ปัจจัย) ให้ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้น หรือย่อมเป็นไปเพื่อให้ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ที่เกิดขึ้นแล้ว ภิญโญภาพ ไพบูลย์ เจริญเต็มที่.

อีกอย่างหนึ่ง ธรรม 7 ประการ คือ

การบริโภคโภชนะอันประณีต 1

การเสพสุขตามฤดู 1

การเสพสุขตามอิริยาบถ 1

ความเป็นผู้มีมัชฌัตตัปปโยคะ 1

การหลีกเว้นบุคคลผู้มีกายกระสับกระส่าย 1

การคบหาบุคคลผู้มีกายสงบ 1

ความเป็นผู้น้อมไปในปัสสัทธิสัมโพชฌงค์นั้น 1

ย่อมเป็นไปเพื่อความเกิดขึ้นแห่งปัสสัทธิสัมโพชฌงค์.

อธิบายว่า สำหรับภิกษุผู้บริโภคโภชนะที่เป็นสัปปายะ มีรสกลมกล่อมประณีตก็ดี ผู้เสพฤดูที่เป็นสัปปายะในบรรดาฤดูหนาวและร้อน และอิริยาบถที่เป็นสัปปายะในบรรดาอิริยาบถยืนเป็นต้นก็ดี ปัสสัทธิย่อมเกิดขึ้น.

ส่วนภิกษุใดมีลักษณะนิสัยเป็นมหาบุรุษย่อมอดทนต่อฤดูและอิริยาบถทั้งปวงได้ทีเดียว คำนี้ท่านไม่ได้กล่าวหมายเอาภิกษุนั้น.

สำหรับภิกษุใดมีฤดูและอิริยาบถที่เป็นสภาค (ที่เป็นสัปปายะ) และวิสภาค (อสัปปายะ) ปัสสัทธิย่อมเกิดขึ้นแก่ภิกษุนั้นนั่นแล ผู้แม้เว้นฤดูและอิริยาบถที่เป็นวิสภาคเสีย แล้วเสพฤดูและอิริยาบถที่เป็นสภาค.

การพิจารณาเห็นว่า ตนและบุคคลอื่นมีกรรมเป็นของตน ท่านเรียกว่ามัชฌัตตัปปโยคะ ปัสสัทธิย่อมเกิดขึ้นได้ เพราะมัชฌัตตัปปโยคะนี้.

สำหรับภิกษุผู้หลีกเว้นบุคคลผู้มีกายกระสับกระส่าย ผู้เที่ยวเบียดเบียนบุคคลอื่นอยู่ตลอดเวลา ด้วยก้อนดินและท่อนไม้เป็นต้น ผู้คบหาบุคคลผู้มีกายสงบ ผู้สำรวมมือและเท้าก็ดี

ผู้มีจิตโน้ม น้อมนำไปเพื่อให้เกิดปัสสัทธิในอิริยาบถทั้งหลายมียืนและนั่งเป็นต้นก็ดี ปัสสัทธิย่อมเกิดขึ้นได้.

ก็เมื่อปัสสัทธิสัมโพชฌงค์นั้นเกิดขึ้นแล้วอย่างนั้น ภิกษุย่อมรู้ชัดว่า ความเจริญเต็มที่ (ของปัสสัทธิสัมโพชฌงค์) ย่อมมีด้วยอรหัตตมรรค.

การเกิดขึ้นของสมาธิสัมโพชฌงค์

สมาธิสัมโพชฌงค์ย่อมเกิดขึ้นอย่างนี้ คือ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มีอยู่ สมถนิมิตที่เป็นอัพยัคคนิมิต การทำไว้ในใจโดยแยบคาย และการทำให้มากในสมถนิมิตนั้น นี้เป็นอาหาร (ปัจจัย) ให้สมาธิสัมโพชฌงค์ที่ยังไม่เกิดเกิดขึ้น หรือย่อมเป็นไปเพื่อให้สมาธิสัมโพชฌงค์ที่เกิดขึ้นแล้วภิญโญภาพ ไพบูลย์ เจริญเต็มที่.

ในสมาธิสัมโพชฌงค์นั้น สมถนิมิตเป็นสมถะด้วย ชื่อว่าเป็นอัพยัคคนิมิต เพราะหมายความว่าไม่ฟุ้งซ่านด้วย.

อีกอย่างหนึ่ง ธรรม 11 ประการ คือ

การทำวัตถุให้สะอาดหมดจด 1

การประคับประคองอินทรีย์ให้ดำเนินไปอย่างสม่ำเสมอ 1

ความเป็นผู้ฉลาดในนิมิต 1

การยกจิตในสมัย (ที่ควรยก) 1

การข่มจิตในสมัย (ที่ควรข่ม) 1

การทำจิตให้ร่าเริงในสมัย (ที่ควรทำจิตให้ร่าเริง) 1

การเพ่งดูจิตเฉยๆ ในสมัย (ที่ควรเพ่งดู) 1

การหลีกเว้นบุคคลผู้มีจิตไม่เป็นสมาธิ 1

การคบหาบุคคลผู้มีจิตเป็นสมาธิ 1

การพิจารณาฌานและวิโมกข์ 1

ความเป็นผู้น้อมไปในสมาธิสัมโพชฌงค์นั้น 1

ย่อมเป็นไปเพื่อการเกิดแห่งสมาธิสัมโพชฌงค์.

บรรดาธรรม 11 ประการนั้น การทำวัตถุให้สะอาดหมดจด และการประคับประคองอินทรีย์ให้ดำเนินไปอย่างสม่ำเสมอ พึงทราบตามนัยที่กล่าวแล้ว.

ความเป็นผู้ฉลาดในการเรียน กสิณนิมิต ชื่อว่าความเป็นผู้ฉลาดในนิมิต.

บทว่า สมเย จิตฺตสฺส ปคฺคณฺหนตา (การประคองจิตใจในสมัยที่ควรประคอง).

มีอธิบายว่า ในสมัยใด จิตเป็นธรรมชาติหดหู่ด้วยเหตุทั้งหลายมีการทำย่อหย่อนเกินไปเป็นต้น การยกจิตนั้นในสมัยนั้นด้วยการยังธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ วิริยสัมโพชฌงค์และปีติสัมโพชฌงค์ให้เกิดพร้อมกัน.

บทว่า สมเย จิตฺตสฺส นิคฺคณฺหนตา (การข่มจิตในสมัยที่ควรข่ม) ความว่า ในสมัยใด จิตเป็นธรรมชาติฟุ้งซ่านด้วยเหตุทั้งหลายมีการปรารภความเพียรมากเกินไปเป็นต้น การข่มจิตนั้นในสมัยนั้นด้วยการยังปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ สมาธิสัมโพชฌงค์และอุเบกขาสัมโพชฌงค์ให้เกิดขึ้นพร้อมกัน.

บทว่า สมเย สมฺปหํสนตา (การประคองจิตให้ร่าเริงในสมัยที่ควรประคองจิตให้ร่าเริง) ความว่า ในสมัยใด จิตเป็นธรรมชาติไม่สดชื่น เพราะมีปัญญาและความเพียรน้อย หรือเพราะไม่ได้บรรลุถึงความสุขอันเกิดจากความเข้าไปสงบ ในสมัยนั้น พระโยคาวจรย่อมยังจิตให้สังเวชด้วยการพิจารณาสังเวควัตถุ (ที่ตั้งแห่งความสังเวช) 9 อย่าง ที่ชื่อว่า สังเวควัตถุ 9 ได้แก่ ชาติ ชรา พยาธิและมรณะ รวมเป็น 4 ทุกข์ในอบายเป็นที่ 5 ทุกข์ที่มีวัฏฏะเป็นมูลในอดีต ทุกข์มีวัฏฏะเป็นมูลในอนาคต ทุกข์มีการแสวงหาอาหารเป็นมูลในปัจจุบัน (ธรรมเป็น 3) และให้เกิดความเลื่อมใสด้วยการหมั่นระลึกถึงคุณของพระรัตนตรัย. นี้เรียกว่าการประคองจิตให้ร่าเริง ในสมัย (ที่ควรประคองจิตให้ร่าเริง).

ที่ชื่อว่าการเพ่งดูจิตเฉยๆ ในสมัยที่ (ควรเพ่งดูจิตเฉยๆ) ได้แก่ ในสมัยใด จิตเป็นธรรมชาติไม่หดหู่ ไม่ฟุ้งซ่าน มีความสดชื่น เป็นไปในอารมณ์อย่างสม่ำเสมอ ดำเนินไปตามวิถีทางของสมถะเพราะอาศัยการปฏิบัติชอบ ในการยก การข่ม และการประคองจิตนั้นให้ร่าเริง เปรียบเหมือนนายสารถีไม่ต้องวุ่นวายในม้าที่วิ่งไปสม่ำเสมอ นี้เรียกว่าการเพ่งดูจิตเฉยๆ ในสมัย (ที่ควรเพ่งดูเฉยๆ).

ที่ชื่อว่าการหลีกเว้นบุคคลผู้มีจิตไม่เป็นสมาธิ ได้แก่การหลีกเว้นให้ไกลซึ่งบุคคลผู้ยังไม่ได้บรรลุอุปจารสมาธิหรืออัปปนาสมาธิ ผู้มีจิตฟุ้งซ่าน.

ที่ชื่อว่าการคบหาบุคคลผู้มีจิตเป็นสมาธิ ได้แก่การซ่องเสพ การคบหา การเข้าไปนั่งใกล้บุคคลผู้มีจิตตั้งมั่นด้วยอุปจารสมาธิหรืออัปปนาสมาธิ.

ที่ชื่อว่าความเป็นผู้น้อมไปในสมาธิสัมโพชฌงค์นั้น ได้แก่ความเป็นผู้มีจิตน้อม โน้มนำไปในอิริยาบถทั้งหลายมียืนและนั่งเป็นต้นแท้ทีเดียว.

ก็เมื่อพระโยคาวจรปฏิบัติอยู่อย่างนี้ สมาธิสัมโพชฌงค์นั้นย่อมเกิดขึ้น. ก็เมื่อสมาธิสัมโพชฌงค์นั้นเกิดขึ้นอย่างนั้น พระโยคาวจรย่อมทราบชัดว่า ความเจริญเต็มที่ (ของสมาธิสัมโพชฌงค์) มีได้ด้วยอรหัตตมรรค.

การเกิดขึ้นของอุเบกขาสัมโพชฌงค์

อุเบกขาสัมโพชฌงค์ย่อมเกิดขึ้นอย่างนี้คือ มีอยู่ ภิกษุทั้งหลาย ธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งอุเบกขาสัมโพชฌงค์ การทำไว้ในใจโดยแยบคายและการทำให้มากในธรรมนั้น นี้เป็นอาหาร (ปัจจัย) ให้อุเบกขาสัมโพชฌงค์ที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้น หรือย่อมเป็นไปเพื่อให้อุเบกขาสัมโพชฌงค์ที่เกิดขึ้นแล้ว ภิญโญภาพ ไพบูลย์ เจริญเต็มที่.

ในพระดำรัสนั้น อุเบกขานั่นแหละ ชื่อว่าธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งอุเบกขาสัมโพชฌงค์.

อีกอย่างหนึ่ง ธรรม 5 ประการ คือ

ความเป็นผู้วางตนเป็นกลางในสัตว์ 1

ความเป็นผู้วางตนเป็นกลางในสังขาร 1

การหลีกเว้นบุคคลผู้ผูกพันในสัตว์สังขาร 1

การคบหาบุคคลผู้วางตนเป็นกลางในสัตว์สังขาร 1

ความเป็นผู้น้อมไปในอุเบกขาสัมโพชฌงค์นั้น 1

ย่อมเป็นไปเพื่อความเกิดขึ้นแห่งอุเบกขาสัมโพชฌงค์.

บรรดาธรรม 5 ประการนั้น พระโยคาวจรย่อมยังความวางตนเป็นกลางในสัตว์ให้เกิดขึ้นด้วยอาการ 2 อย่าง คือด้วยการพิจารณาเห็นว่า สัตว์มีกรรมเป็นของตนอย่างนี้ว่า เจ้ามาตามกรรมของตนแล้ว ก็จักไปตามกรรมของตน (เหมือนกัน) เจ้าจะไปผูกพันใครกันเล่า? และด้วยการพิจารณาเห็นว่าไม่ใช่สัตว์อย่างนี้ว่า ว่าโดยปรมัตถ์แล้ว สัตว์ไม่มีเลย เจ้านั้นจะไปผูกพันใครเล่า?

ย่อมยังความวางตนเป็นกลางในสังขารให้เกิดขึ้นด้วยอาการ 2 อย่าง คือด้วยพิจารณาเห็นว่าไม่มีเจ้าของอย่างนี้ว่า จีวรผืนนี้เข้าถึงการเปลี่ยนสีและความคร่ำคร่าตามลำดับ จักกลายเป็นผ้าเช็ดเท้า ถูกเขาเขี่ยทิ้งด้วยปลายไม้เท้า ก็ถ้าว่า จีวรนั้นจะพึงมีเจ้าของไซร้ เจ้าของก็จะไม่ยอมให้จีวรนั้นพินาศไปอย่างนั้น 1 และด้วยการพิจารณาเห็นว่าเป็นของชั่วคราวอย่างนี้ว่า จีวรนี้ไม่ยั่งยืน อยู่ได้ชั่วคราว 1.

อนึ่ง บัณฑิตพึงทำการประกอบความ แม้ในบาตรเป็นต้นเหมือนอย่างในจีวรฉะนั้น.

ในคำว่า สตฺตสงฺขารเกฬายนปุคฺคลปริวชฺชนตา (การหลีกเว้นบุคคลผู้ผูกพันในสัตว์และสังขาร) พึงทราบวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-

บุคคลใดเป็นคฤหัสถ์ ย่อมยึดถือปิยชนทั้งหลายมีบุตรและธิดาเป็นต้นของตน ว่าเป็นของเรา หรือเป็นบรรพชิตย่อมยึดถืออันเตวาสิกสัทธิวิหาริกและผู้ร่วมอุปัชฌาย์เป็นต้นของตน ว่าเป็นของเรา ลงมือทำการงานทั้งหลายมีการปลงผม เย็บผ้า ซักจีวร ย้อมจีวรและระบมบาตรเป็นต้นให้แก่บุคคลเหล่านั้นเองทีเดียว ไม่เห็นเพียงชั่วครู่ ก็เที่ยวตามหาให้จ้าละหวั่น ไม่ผิดอะไรกับเนื้อตื่นภัย (ร้องถามว่า) สามเณรรูปโน้นไปไหน? ภิกษุหนุ่มรูปโน้นไปไหน? แม้ถูกผู้อื่นขอว่า ขอท่านจงส่งภิกษุหนุ่ม หรือสามเณรรูปโน้นไปให้ ช่วยปลงผมเป็นต้นสักหน่อยเถิด ก็ไม่ยอมให้ไป ด้วยอ้างว่า แม้พวกเรายังไม่ยอมใช้เขาให้ทำงานของตนเลย พวกท่านยังจะมาเอาเขาไป (ใช้งาน) ให้ลำบาก บุคคลนี้ชื่อว่าผู้ผูกพันในสัตว์.

ส่วนบุคคลใดยึดถือบาตร จีวร ถาดและไม้เท้าคนแก่เป็นต้น ว่าเป็นของเรา ไม่ยอมให้ผู้อื่นแม้แต่จะเอามือแตะ พอถูกขอยืมเข้า ก็พูดว่า พวกเราทั้งหลายรักสิ่งของนี้ ไม่ยอมใช้สอย พวกเราจักให้พวกท่านได้อย่างไร บุคคลนี้ชื่อว่าผู้ผูกพันอยู่ในสังขาร.

ส่วนบุคคลใดเป็นผู้มีตนเป็นกลาง วางเฉยในวัตถุทั้ง 2 นั้น บุคคลนี้ชื่อว่าผู้วางตนเป็นกลางในสัตว์และสังขาร.

อุเบกขาสัมโพชฌงค์นี้ย่อมเกิดขึ้นแก่พระโยคาวจรผู้หลีกเว้นห่างไกลบุคคลผู้ผูกพันในสัตว์และสังขารเห็นปานนี้บ้าง ผู้คบหาบุคคลผู้วางตนเป็นกลางในสัตว์และสังขารบ้าง ผู้มีจิตโน้มน้อม นำไปเพื่อให้เกิดอุเบกขาสัมโพชฌงค์นั้นในอิริยาบถทั้งหลายมียืนและนั่งเป็นต้นบ้าง ดังพรรณนามาฉะนี้.

ก็เมื่ออุเบกขาสัมโพชฌงค์นั้นเกิดขึ้นอย่างนั้น พระโยคาวจรย่อมทราบชัดว่า ความเจริญเต็มที่ (แห่งอุเบกขาสัมโพชฌงค์) มีได้ด้วยอรหัตตมรรค.

บทว่า อิติ อชฺฌตฺตํ วา ความว่า พระโยคาวจรนั้นกำหนดโพชฌงค์ 7 ของตน หรือของบุคคลอื่นอย่างนี้แล้ว คือกำหนดโพชฌงค์ของตนตามกาล หรือโพชฌงค์ของบุคคลอื่นตามกาล เป็นผู้มีปกติพิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายอยู่อย่างนี้.

ส่วนความเกิดขึ้นและความดับไปในโพชฌงคบรรพนี้ พึงทราบด้วยอำนาจการเกิดและการดับของสัมโพชฌงค์ทั้งหลาย.

คำอื่นจากนี้มีนัยดังกล่าวมาแล้ว.

อริยสัจในโพชฌงค์

ด้วยว่า ในโพชฌงคบรรพนี้ สติที่กำหนดโพชฌงค์เป็นทุกขสัจอย่างเดียว นักศึกษาพึงทราบทางแห่งธรรมเครื่องนำออกของภิกษุผู้กำหนดโพชฌงค์ เพราะการประกอบความดังว่ามานี้แล.

คำที่เหลือเป็นเช่น (กับที่กล่าวมาแล้ว) นั้นเหมือนกัน.

จบโพชฌงคบรรพ

ครั้นทรงจำแนกธัมมานุปัสสนาด้วยอำนาจโพชฌงค์ 7 อย่างนี้แล้ว บัดนี้เพื่อจะทรงจำแนกด้วยอำนาจสัจจะ 4 พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสคำว่า ปุน จปรํ ดังนี้เป็นต้น.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อิทํ ทุกฺขนฺติ ยถาถูตํ ปชานาติ ความว่า พระโยคาวจรย่อมทราบชัดธรรมที่เป็นไปในภูมิ 3 ยกเว้นตัณหา ตามสภาพที่เป็นจริงว่านี้ทุกข์.

ก็แลย่อมทราบชัดตัณหาเก่าที่เป็นตัวการณ์ให้ทุกข์นั้นแลเกิด คือตั้งขึ้น ตามสภาพเป็นจริงว่านี้ทุกขสมทัย.

ย่อมทราบชัดพระนิพพาน คือความไม่เป็นไปของทุกข์และตัณหาทั้ง 2 ตามสภาพที่เป็นจริงว่านี้ทุกขนิโรธ. ย่อมทราบชัดอริยมรรคอันเป็นตัวกำหนดรู้ทุกข์ ละสมุทัย กระทำนิโรธให้แจ้ง ตามสภาพที่เป็นจริงว่า นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา.

กถาว่าด้วยอริยสัจที่เหลือ ได้อธิบายให้พิสดารแล้วในคัมภีร์วิสุทธิมรรคแล.

บทว่า อิติ อชฺฌตฺตํ วา ความว่า พระโยคาวจรกำหนดสัจจะ 4 ของตนหรือของบุคคลอื่นแล้ว คือกำหนดสัจจะทั้ง 4 ของตนตามกาล หรือของบุคคลอื่นตามกาล เป็นผู้มีปกติพิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายอยู่ ส่วนความเกิดขึ้นและความดับไปในจตุสัจจบรรพนี้ พึงทราบด้วยอำนาจความเกิดและความดับของสัจจะทั้ง 4 ตามสภาพที่เป็นจริง.

คำอื่นจากนี้มีนัยดังกล่าวแล้วแล.

อริยสัจในอริยสัจ

ด้วยว่า ในจตุสัจจบรรพนี้ สติเครื่องกำหนดสัจจะ4 เป็นทุกขสัจอย่างเดียว บัณฑิตพึงทราบทางแห่งธรรมเป็นเครื่องนำออกของภิกษุผู้กำหนดสัจจะ เพราะการประกอบความดังว่ามานี้แล.

คำที่เหลือเป็นเช่น (กับคำที่กล่าวมานี้แล้ว) นั่นแล.

จบจตุสัจจบรรพ

ด้วยคำมีประมาณเท่านี้ เป็นอันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสกัมมัฏฐานไว้ 21 อย่าง

คือ อานาปานะ (ลมหายใจออก ลมหายใจเข้า) 1 จตุอิริยาบถ (อิริยาบถ 4) 1 จตุสัมปชัญญะ (สัมปชัญญะ 4) 1 ทวัตติงสาการะ (อาการ 32) 1 จตุธาตุววัตถานะ (การกำหนดธาตุ 4) 1 นวสีวถิกา (ป่าช้า 9) 1 เวทนานุปัสสนา (การกำหนดนิวรณ์) 1 จิตตานุปัสสนา (การพิจารณาเห็นจิต) 1 นิวรณปริคคหะ (การกำหนดนิวรณ์) 1 ขันธปริคคหะ (การกำหนดขันธ์) 1 อายตนปริคคหะ (การกำหนดอายตนะ) 1 โพชฌังคปริคคหะ (การกำหนดโพชฌงค์) 1 สัจจปริคคหะ (การกำหนดสัจจะ) 1.

บรรดากัมมัฏฐาน 21 อย่างนั้น อานาปานะ 1 ทวัตติงสาการะ 1 นวสีวถิกา (ป่าช้า 9) 1 รวมเป็นกัมมัฏฐานที่ให้ถึงอัปปนา 11.

ฝ่ายพระมหาสิวเถระผู้กล่าวคัมภีร์ทีฆนิกาย กล่าวว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสนวสีวถิกาไว้ ด้วยอำนาจการพิจารณาเห็นโทษ.

เพราะฉะนั้น ตามมติของพระมหาสิวเถระนั้น กัมมัฏฐาน 2 (คือ อานาปานะและทวัตติงสาการะ) เท่านั้นเป็นกัมมัฏฐานที่ให้ถึงอัปปนา กัมมัฏฐานที่เหลือเป็นกัมมัฏฐานที่ให้ถึงอุปจาร.

ถามว่า ก็ความยึดมั่น จะเกิดในกัมมัฏฐานเหล่านั้นทั้งหมดหรือไม่เกิด?

ตอบว่า ไม่เกิด เพราะว่า ความยึดมั่นย่อมไม่เกิดในอิริยาบถ สัมปชัญญะ นิวรณ์และสัมโพชฌงค์ แต่จะเกิดในกัมมัฏฐานที่เหลือ.

ฝ่ายพระมหาสิวเถระกล่าวว่า ย่อมเกิดความยึดมั่นในกัมมัฏฐานแม้เหล่านั้น (มีอิริยาบถเป็นต้น) เพราะว่า พระโยคาวจรนี้ย่อมกำหนดอย่างนี้ว่า อิริยาบถ 4 ของเรามีหรือไม่มี สัมปชัญญะ 4 ของเรามีหรือว่าไม่มี นิวรณ์ 5 ของเรามีหรือว่าไม่มี โพชฌงค์ 7 ของเรามีหรือว่าไม่มี เพราะฉะนั้น จึงเกิดความยึดมั่นในกัมมัฏฐานทุกข้อ.

อ.อานิสงส์การเจริญสติปัฏฐาน

บทว่า โย หิ โกจิ ภิกฺขเว ความว่า ผู้ใดผู้หนึ่งจะเป็นภิกษุหรือภิกษุณี อุบาสกหรืออุบาสิกาก็ตาม.

บทว่า เอวํ ภเวยฺย ความว่า พึงเจริญ (สติปัฏฐาน) ไปตามลำดับแห่งภาวนา ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ตั้งแต่แรก.

บทว่า ปาฏิกงฺขํ แปลว่า พึงหวัง. อธิบายว่า มีแน่แท้.

บทว่า อญฺญา ได้แก่ พระอรหัตตผล.

บทว่า สติ วา อุปาทิเสเส ความว่า หรือเมื่อยังมีอุปาทานเหลืออยู่ คือยังไม่สิ้นไป.

บทว่า อนาคามิตา ได้แก่ ความเป็นพระอนาคามี.

พระผู้มีพระภาคเจ้าครั้นทรงแสดงความที่ศาสนธรรมเป็นเครื่องนำออกด้วยอำนาจ (ระยะเวลา) 7 ปี อย่างนี้แล้ว เมื่อจะทรงแสดงระยะเวลาที่สั้นกว่านั้นเข้าไปอีก จึงตรัสคำว่า ติฏฺฐนฺตุ ภิกฺขเว ดังนี้เป็นต้น และธรรมทั้งหมดนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ ด้วยอำนาจเวไนยบุคคลผู้ (มีสติปัญญา) ปานกลางเท่านั้น.

ฝ่ายพระโบราณาจารย์หมายเอาบุคคลผู้มีปัญญาแก่กล้า จึงกล่าวไว้ว่า

บุคคลผู้มีปัญญาแก่กล้า ได้รับคำสอนในตอนเช้า

ก็จักบรรลุคุณวิเศษได้ในตอนเย็น ได้รับคำสอน

ในตอนเย็น ก็จักบรรลุคุณวิเศษได้ในตอนเช้า.

พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นทรงแสดงว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ศาสนธรรมของเราตถาคตเป็นธรรมเครื่องนำออกอย่างนี้ ดังพรรณนามาฉะนี้แล้ว เมื่อจะทรงตบแต่งพระธรรมเทศนาที่พระองค์ทรงแสดงแล้วด้วยยอดคือพระอรหัต ในฐานะแม้ 21 อย่างแก่พระสาวก จึงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ทางนี้เป็นทางสายเอก ฯลฯ เพราะอาศัยคำที่กล่าวไว้แล้วอย่างนี้ เราตถาคตจึงได้กล่าวสติปัฏฐานสูตรนี้ไว้.

คำที่เหลือมีความหมายง่ายทั้งนั้นแล.

 จบอรรถกถาสติปัฏฐานสูตร

พระสูตรที่ 10

และจบวรรคที่ 1 ชื่อมูลปริยายวรรค


ประมวลพระสูตรแห่งวรรคนี้ มีดังนี้.

วรรคอันประเสริฐประดับด้วย

มูลปริยายสูตร

สัพพาสวสังวรสูตร

ธัมมทายาทสูตร

ภยเภรวสูตร

อนังคณสูตร

อากังเขยยสูตร

วัตถูปมสูตร

สัลเลขสูตร

สัมมาทิฏฐิสูตร และ

สติปัฏฐานสูตร

จบ บริบูรณ์แล้ว.