วิสุทธิมรรค_18_ทิฎฐิวิสุทธินิทเทส

อยู่ในระหว่างปรับสำนวน

นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส

ตำราพุทธมีลำดับการศึกษาให้เข้าใจทะลุทะลวงดังนี้: ขอเป็นศิษย์ผู้มีฌานวสีทรงจำพระไตรปิฎกบาลี > ท่องจำบาลีตามลำดับซ้ำๆ ไม่ลืมทบทวนแม้จำได้แล้ว > สอบถามบาลี > ฟังคำอธิบายบาลี > ทรงจำทั้งหมด > ในระหว่างท่องจำก็พยายามปฏิบัติตามไปด้วยจนแตกฉาน. ผู้ที่ข้ามขั้นตอนเหล่านี้ยิ่งมากเท่าไหร่ ยิ่งเป็นไปได้ยากที่จะบรรลุอัปปนาทั้งโลกิยะและโลกุตตระในศาสนาพุทธได้ พระพุทธเจ้าตรัสเรียกว่า "โมฆบุรุษ" เพราะว่างเปล่าจากอัปปนา (เรียบเรียงจากกีฏาคิริสูตร; ธัมมัญญูสูตร; สัจจบรรพะ อรรถกถามัคคนิทเทส; วิสุทธิมรรค กัมมัฏฐานคหณนิทเทส)

วิสุทธิ 7 ย่อ

=ปริจเฉทที่ 18 ทิฏฐิวิสุทธินิทเทส

(หน้าที่ 237)

แสดงบรรยายความเห็นบริสุทธิ์

วิสุทธิใดที่ท่านกล่าวไว้แล้วว่า "ครั้นโยคาวจรทำการบ่มญาณ (ของตน) โดยวิธีท่องจำอุทเทสและฟังอรรถกถา(คำอธิบาย) ในธรรมทั้งหลาย ที่เป็นภูมิ (แห่งวิปัสสนาปัญญา) เหล่านี้แล้ว ควรทำวิสุทธิที่เป็นรากเหง้า 2 ประการ คือ สีลวิสุทธิ (ความบริสุทธิ์ของศีล) และ จิตตวิสุทธิ (ความบริสุทธิ์ของจิต) ให้สมบูรณ์" นั้น ศีล 4 อย่างมีความสำรวมในพระปาติโมกข์เป็นต้น ซึ่ง (รักษา) บริสุทธิ์ดีแล้ว เรียกว่า สีลวิสุทธิ และศีล 4 อย่างนั้น ได้กล่าวไว้พิสดารแล้วใน สีลนิทเทส สมาบัติ 8 พร้อมทั้งอุปจารสมาธิ เรียกว่า จิตตวิสุทธิ แม้จิตตวิสุทธินั้นก็กล่าวไว้โดยพิสดารในอาการทุกอย่างแล้วเช่นกัน ใน สมาธินิทเทส ซึ่งกล่าวไว้ด้วยคำว่า "จิตตะ (คือ จิตตํ ปญฺญฺญจ ภาวยํ - พึงทำสมาธิจิตและอริยปัญญาให้เกิด)" เป็นหลัก เพราะฉะนั้น พึงทราบ จิตตวิสุทธิ นั้น โดยนัยซึ่งกล่าวไว้พิสดารแล้วใน สมาธินิทเทส นั้นเช่นกัน

แต่ที่กล่าวไว้ว่า "วิสุทธิ 5 เหล่านี้ คือ ทิฏฐิวิสุทธิ (ความเห็นบริสุทธิ์) 1 กังขาวิตรวิสุทธิ (ความบริสุทธิ์ด้วยข้ามพ้นความสงสัย) 1 มัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ (ความบริสุทธิ์ด้วยความรู้ความเห็นว่าเป็นทางปฏิบัติถูกและทางปฏิบัติไม่ถูก) 1 ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ (ความบริสุทธิ์ด้วยความรู้ความเห็นในทางปฏิบัติถูก) 1 ญาณทัสสนวิสุทธิ (ความบริสุทธิ์ของความรู้ความเห็น) 1 เป็นสรีระ (ร่างกาย)" นั้น

ณ บัดนี้ (พึงทราบว่า) ความเห็นนามและรูป ตามเป็นจริงเรียกว่า ทิฏฐิวิสุทธิ

ทิฏฐิวิสุทธิ

(1. สังขารปริเฉทและนามรูปววัฏฐาน)1

โยคาวจรผู้ปรารถนาจะบรรลุ ทิฏฐิวิสุทธิ นั้น จะกล่าว สมถะยานิกะ (ผู้มีสมถะเป็นทางดำเนิน) ก่อน, ครั้นออกจากรูปาวจรฌาน ฌานใดฌานหนึ่ง เว้นแต่เนวสัญญา-

1 คือ นามรูปปริจเฉทญาณ เป็นญาณอันดับที่ 1 ในญาณ 16

(หน้าที่ 238)

นาสัญญายตนะแล้ว พึงแยกองค์ฌานทั้งหลายมีวิตกเป็นต้น และธรรมทั้งหลายที่ประกอบด้วยองค์ของฌานนั้น (เช่น เวทนา สัญญา เป็นต้น) โดยลักษณะและรส (หน้าที่) เป็นต้น (ของธรรมนั้น ๆ) ครั้นแล้ว พึงแต่งตั้งแม้ทั้งหมด (ดังกล่าวมา) นั้นว่า "นาม" โดยความหมายว่า "น้อมไป" เพราะมุ่งหน้าน้อมไปสู่อารมณ์ แต่นั้นเมื่อโยคาวจรผู้นี้แหละจะพิจารณาดู นาม นั้นให้ใกล้ชิดเข้าไป จึงติดตามดูว่า นาม นี้อาศัยอะไร จึงเป็นไป? ก็เห็นหทยรูป (หัวใจ) เป็นที่อาศัยของนาม เปรียบเหมือนบุรุษเห็นงูภายในเรือน จึงติดตามมันไป ก็พบที่อาศัยของมัน ฉะนั้น ครั้นแล้ว โยคาวจรผู้นั้นก็แยก รูป ว่า ภูตรูปทั้งหลายเป็นที่อาศัยของหทยรูป และอุปาทายรูปทั้งหลายนอกนั้นก็อาศัยภูตรูป ท่านโยคาวจรนั้นแต่งตั้งแม้ทั้งหมดนั้นว่า "รูป" เพราะ (มัน) เสื่อมสลาย แต่นั้น ก็แต่งตั้งนามและรูปโดยสังเขปว่า นาม มีการน้อมไปเป็นลักษณะ รูป มีการเสื่อมสลายเป็นลักษณะดังนี้

(ฏีกาอธิบายคำว่า "ปริคฺคห[แยก]" ไว้เป็น ฉท ธาตุ เหมือนในการกำหนดสภาคปริจเฉทและวิสภาคปริจเฉทในจตุธาตุววัตถาน ซึ่งในที่นั้น ฉบับแปลไทยเองก็ยังแปลว่า "กำหนดตัดตอน" ซึ่งมีความสอดคล้องกับที่ข้าพเจ้าเลือกใช้คำว่า "แยก" ในที่นี้, ส่วน "ววตฺถาน[แต่งตั้ง]" ท่านอธิบายโดยใช้ ฐปนะ ซึ่งเป็นศัพท์เดียวกับเรื่องนามบัญญัติในธัมมสังคณี. ด้วยเหตุผลดังกล่าว ผู้เกลาสำนวนจึงได้แปลตรงตัวตามฏีกา ต่างจากของเดิมที่แปลเหมือนกันไปหมดว่า "กำหนด" ซึ่งมีความหมายกำกวม ขัดกับที่ท่านแยกความหมายไว้อย่างชัดเจนในตัวบาลีเดิม.)

(1. กำหนดนามและรูปทางธาตุ 4)1

ส่วนโยคาวจรผู้เป็น วิปัสสนายานิกะ (ผู้มีวิปัสสนาเป็นทางดำเนิน) ล้วน ๆ หรือผู้เป็นสมถยานิกะนั้นก็ได้ แยกธาตุ 4 โดยสังเขปหรือโดยพิสดาร ด้วยวิธีแยกธาตุเหล่านั้นๆ ตามที่ได้กล่าวไว้แล้วใน จตุธาตุววัฏฐานกถา(เทสนากรรมฐานที่ว่าด้วยการแต่งตั้งธาตุ 4) วิธีใดวิธีหนึ่ง ต่อจากนั้น ในบรรดาธาตุทั้งหลายที่ปรากฏชัดเจนแก่โยคาวจรผู้นั้นโดยรสะและโดยลักษณะของมันตามเป็นจริงแล้วเหล่านั้น พระโยคาวจรพึงเริ่มต้นแยกอาการ 32 โกฏฐาสก่อนอย่างนี้:

เส้นผมที่มีกรรมเป็นสมุฏฐานมีอยู่ 10 รูปที่เป็นกายทสกะ อย่างนี้: "ธาตุ 4 สี 1 กลิ่น 1 รส 1 โอชา 1 ชีวิต 1 กายปสาทะ 1" ดังนี้ และมีอีก 10 รูปที่เป็นภาวทสกะ เพราะมีภาวะ (เพศ) อยู่ในเส้นผมเหมือนกัน (เปลี่ยน กายปสาทะ เป็น ภาวะรูป ที่เหลือ 9 รูปเหมือนกัน) และรูปอีก 24 คือ โอชัฏฐมกะ (อวินิพโภครูป 8) ที่มีอาหารเป็นสมุฏฐาน 1 โอชัฏฐมกะที่มีอุตุเป็นสมุฏฐาน 1 โอชัฏฐมกะที่มีจิตเป็นสมุฏฐาน 1 (8 x 3 = 24) ก็มีอยู่ในเส้นผมด้วยเช่นกัน เพราะฉะนั้น รูปอย่างละ 44 จึงปรากฏชัดเจนอยู่ในโกฏฐาส 24 ที่มี 4 สมุฏฐาน ดังกล่าวมานี้.

1 กัมมัฏฐานที่ใช้อารมณ์กำหนด มีหลายอย่าง ตามหัวข้อ 1 - 5 สุดแต่โยคาวจร จะเลือกหัวข้อใดให้ถูกแก่จริตของตน - ดูต่อไป

(หน้าที่ 239)

แต่ว่า รูปอย่างละ 16 คือ ที่เป็นโอชัฏฐมกะ 2 กลุ่ม (2 x 8 = 16) ปรากฎชัดเจนอยู่ใน 4 โกฏฐาสที่มีอุตุและจิตเป็นสมุฏฐาน คือ น้ำเหงื่อ 1 น้ำตา 1 น้ำลาย 1 น้ำมูก 1 ดังนี้. ส่วนรูปอย่างละ 8 คือ โอชัฏฐมกะที่มีอุตุเป็นสมุฏฐานเพียง 1 อย่างเท่านั้น (1 x 8=8) ปรากฎชัดเจนอยู่ในโกฏฐาส 4 เหล่านี้ คือ "อาหารใหม่ 1 อุจจาระ 1 น้ำเหลือง 1 น้ำมูตร 1" ดังนี้.

วิธีแยกอาการ 32 เพียงเท่านี้ก่อน.

ก็เมื่ออาการ 32 นี้แจ่มชัดแล้ว อาการอีก 10 อย่างก็ย่อมแจ่มชัด. ในอาการ 10 อย่างนั้น มีรูป 9 อย่าง คือ โอชัฏฐมกะ (8) และ ชีวิต (1) ปรากฎชัดเจนอยู่ใน "ไฟสำหรับย่อยอาหารที่กินดื่มเคี้ยวลิ้มเข้าไป" ที่เป็นโกสฐาสกลุ่มเตโช (ไฟ) อันเกิดแต่กรรม. ในโกฎฐาสที่เป็นลมอัสสาสะปัสสาสะ อันเกิดแต่จิต ก็มี 9 รูป คือ โอชัฏฐมกะ (8) และเสียง (1) ปรากฎชัดอยู่เช่นเดียวกัน. แต่ในโกฏฐาสที่เหลืออีก 8 ที่มีสมุฏฐาน 4 มีรูป คือ ชีวิตนวกะ (9) และโอชัฏฐมกะ (8) อีก 3 (9 + 24 = 33)1 ปรากฎชัดเจนอยู่. เมื่อภูตรูปและอุปาทายรูปทั้งหลายเหล่านี้เกิดปรากฎชัดเจนแก่เขาด้วยอาการ 42 อย่างละเอียดพิศดารแล้ว รูปทั้งหลายอีก 60 ที่เป็นวัตถุและทวาร คือ "จักขุทสกะ เป็นต้น (50) และหทยวัตถุทสกะ (10)" ดังนี้ ก็ย่อมปรากฎชัดเจนด้วย.

โยคาวจรผู้นั้น ครั้นรวมรูปแม้ทั้งหมดเหล่านั้นเป็นอันเดียวกันโดยลักษณะคือความเสื่อมสลาย (รุปฺปนลกฺขณ) ย่อมเห็นว่า "นี้คือรูป". เมื่อโยคาวจรนั้นกำหนดเห็นรูปอย่างนี้แล้ว อรูปธรรมทั้งหลายก็ย่อมปรากฏชัดเจนทางทวาร. อรูปธรรมนี้คืออะไรบ้าง ? คือ โลกียจิต 81 ได้แก่ ปัญจวิญญาณ 2 (5 + 5 = 10) มโนธาตุ 3 (และ) มโนวิญญาณธาตุ 68 (รวม 81) และเจตสิก 7 เหล่านี้คือ ผัสสะ 1 เวทนา 1 สัญญา 1 เจตนา 1 ชีวิต 1 จิตตัฏฐิติ 1 และมนสิการ 1 ซึ่งเกิดร่วมกับจิตเหล่านั้นด้วยเหมือนกันหมดทุกดวงจิต แต่ทั้งโยคาวจรผู้เป็น สุทธวิปัสสกะ (ผู้บำเพ็ญวิปัสสนาล้วน) และทั้งโยคาวจรผู้เป็น สมถยานิกะ ล้วนไม่ต้องนำโลกุตตรจิตทั้งหลายไปแยก เพราะยังมิได้บรรลุ (โลกุตตรจิตเหล่านั้น)

โยคาวจรผู้นั้น ครั้นรวมอรูปธรรมแม้ทั้งหมดเหล่านั้นเป็นอันเดียวกันโดยลักษณะคือความน้อมไป (นมนลกฺขณ) ย่อมเห็นว่า "นี้คือนาม"

1 24 คือ โอชัฏฐมกรูป 8 x 3 = 24

(หน้าที่ 240)

โยคาวจรผู้หนึ่งกำหนด นาม และ รูป โดยละเอียดพิสดาร ด้วยวิธีกำหนดธาตุ 4 (จตุธาตุววัตถาน) ด้วยอาการดังกล่าวมานี้

โยคาวจรอีกผู้หนึ่งกำหนดนามและรูปด้วยธาตุ 18 กำหนดอย่างไร ? คือ ภิกษุในพระศาสนานี้คำนึงถึงธาตุทั้งหลายว่า "ในอัตภาพนี้ มีจักขุธาตุ รูปธาตุ จักขุวิญญาณธาตุ มี โสตธาตุ สัททธาตุ โสตวิญญาณธาตุ ฯลฯ มีมโนธาตุ ธัมมธาตุ มโนวิญญาณธาตุ" ดังนี้แล้วไม่ยึดถือก้อนเนื้อที่สายเอ็นรึงรัดไว้ในเบ้าตา รูปยาวและกว้าง วิจิตรด้วยวงสีขาวสีดำและสีดำมาก ซึ่งชาวโลกหมายรู้กันว่า "จักขุ" แต่กำหนดเอาจักขุประสาทมีประการดังกล่าวแล้วในอุปาทายรูปทั้งหลายในขันธนิทเทสว่า "จักขุธาตุ" ส่วนรูป 53 นอกนั้น ซึ่งมีอยู่ดังนี้ คือ สหชาตรูป 9 ได้แก่ธาตุ 4 อันเป็นที่อาศัยของจักขุประสาทนั้น กับรูปคือ สี กลิ่น รสและ โอชา รวมอีก 4 อันเป็นรูปบริวาร และชีวิตินทรีย์เป็นรูปอนุบาล (อีก 1) กัมมชรูป 20 โดยเป็นกายทสกะ (10) และภาวทสกะ (10) ซึ่งอยู่ในจักขุประสาทนั้นนั่นเอง (กับทั้ง) อนุปาทินนรูป 24 โดยเป็นโอชัฏฐมกรูป (8) ทั้ง 3 มีโอชัฏฐมกะซึ่งมีอาหารเป็นสมุฏฐานเป็นต้น (จึงเป็น 9 + 20 + 24 = 53) โยคาวจรก็ไม่กำหนดเอารูป 53 เหล่านั้นว่า "จักขุธาตุ"

ถึงแม้ในธาตุทั้งหลายมีโสตธาตุเป็นต้น ก็มีนัยนี้ ส่วนในกายธาตุมีเหลืออยู่ 43 รูป แต่เกจิอาจารย์ทั้งหลายกล่าวว่า มี 45 เพราะทำรูปซึ่งมีฤดู และจิตเป็นสมุฏฐานให้เป็นหมวดละ 9 ด้วยการเพิ่ม สัททะ เข้าอีก (หมวดละ 1) รูป 10 ได้แก่ ประสาท 5 เหล่านี้ และรูป 1 เสียง 1 กลิ่น 1 รส 1 โผฏฐัพพะ 1 รวม 5 อันเป็นวิสัยของประสาทเหล่านั้น เป็นธาตุ 10 (ในธาตุ 18) รูปทั้งหลายนอกนั้นเป็นธรรมธาตุอย่างเดียว ส่วนปัญจวิญญาณ 2 เช่นที่กล่าวอย่างนี้ว่า " จิตซึ่งอาศัยจักขุแล้วปรารภรูปเป็นไปเรียกว่า "จักขุวิญญาณธาตุ" ดังนี้ เป็นวิญญาณธาตุ 5 มโนธาตุจิต 3 เป็นมโนธาตุอันเดียว มโนวิญญาณธาตุจิต 68 เป็นมโนวิญญาณธาตุอย่างเดียว (รวมทั้งหมดเป็นธาตุ 18) ด้วยประการฉะนี้

โลกียจิตแม้ทั้งหมด 81 เป็นวิญญาณธาตุ 7 ธรรมทั้งหลายมีผัสสะเป็นต้น ซึ่งสัมปยุตด้วยวิญญาณธาตุ 7 นั้น เป็นธรรมธาตุ ฉะนี้ ในธาตุ 18 นี้ ธาตุ 10 กับครึ่ง เป็นรูป ธาตุอีก 7 กับครึ่ง เป็นนาม (รวมเป็นธาตุ 18) ฉะนี้แล

โยคาวจรผู้หนึ่งกำหนดนามและรูปด้วยธาตุ 18 ด้วยอาการดังกล่าวนี้

(หน้าที่ 241)

โยคาวจรอีกผู้หนึ่งกำหนดนามและรูปด้วยอายตนะ 12 กำหนดอย่างไร ? โยคาวจรผู้นั้นเว้นรูป 53 ตามนัยที่กล่าวแล้วใน (ตอนว่าด้วย) จักขุธาตุนั่นแล แล้วกำหนดจักขุประสาทว่า "จักขายตนะ" และกำหนดโสตธาตุ ฆานธาตุ ชิวหาธาตุและกายธาตุ ตามนัยที่กล่าวแล้วใน (ตอนว่าด้วย) จักขุธาตุนั้นเช่นกัน ว่าโสตายตนะ ว่าฆานายตนะ ว่าชิวหายตนะ ว่ากายายตนะ กำหนดธรรม 5 ซึ่งเป็นวิสัยของอายตนะเหล่านั้นว่ารูปายตนะ ว่าสัททายตนะ ว่าคันธายตนะ ว่ารสายตนะ ว่าโผฏฐัพพายตนะ กำหนดโลกียจิตและวิญญาณธาตุ 7 ว่ามนายตนะ กำหนดธรรมทั้งหลายมีผัสสะเป็นต้น ซึ่งสัมปยุตด้วยวิญญาณธาตุและรูปนอกนั้นว่าธัมมายตนะในอายตนะ 12 นี้ โยคาวจรกำหนดอายตนะ 10 กับครึ่ง (10 1/2 ) ว่ารูปกำหนดอายตนะ 1 กับครึ่ง (1 1/2) ว่านาม ด้วยประการดังกล่าวนี้

โยคาวจรผู้หนึ่งกำหนดนามและรูปด้วยอายตนะ 12 ด้วยอาการดังกล่าวนี้

โยคาวจรอีกผู้หนึ่งกำหนดย่นย่อกว่านั้น (คือกำหนด) ทางขันธ์ (5) กำหนดอย่างไร ? ภิกษุในพระศาสนานี้กำหนดรูป 27 คือ รูป 17 ในสรีรกายนี้ ได้แก่ ธาตุ 4 ซึ่งมีสมุฏฐาน 4 (และ) สี 1 กลิ่น 1 รส 1 โอชา 1 ซึ่งอาศัยธาตุ 4 นั้น กับประสาท 5 มีจักขุประสาทเป็นต้นและวัตถุรูป (คือหทยรูป) 1 ภาวะ (เพศ) 1 ชีวิตินทรีย์ 1 เสียงซึ่งมีสมุฏฐานสอง 1 เหล่านี้ซึ่งเป็นรูปแท้ เป็นรูปสำเร็จ ควรแก่การกำหนด ส่วนรูป (อีก) 10 คือ กายวิญญัติ (เคลื่อนไหวกาย) 1 วจีวิญญัติ (เคลื่อนไหววาจา) 1 อากาสธาตุ (ช่องว่าง) 1 ความเบา (ลหุตา) ของรูป 1 ความอ่อน (มุทุตา) ของรูป 1 ความควรแก่การงาน (กัมมัญญตา) ของรูป 1 ความเติบโตของรูป 1 ความสืบต่อของรูป 1 ความชรา 1 ความไม่เที่ยง 1 เหล่านี้มิใช่รูปแท้ มิใช่รูปสำเร็จเป็นแต่เพียงอาการ วิการและขอบเขตในระหว่าง (ของรูป) ไม่ควรแก่การกำหนด แม้กระนั้นก็นับว่า "รูป" โดยเพียงแต่เป็นอาการ วิการและขอบเขตในระหว่างของรูปทั้งหลาย กำหนดรูปแม้ทั้งหมดเหล่านี้ว่า "รูปขันธ์" ด้วยประการฉะนี้ กำหนดเวทนาซึ่งเกิดร่วมกับโลกียจิต 81 ดวงว่า "เวทนาขันธ์" กำหนดสัญญาซึ่งสัมปยุตด้วยโลกียจิตนั้นว่า "สัญญาขันธ์" กำหนด

(หน้าที่ 242)

สังขารทั้งหลายซึ่งสัมปยุตด้วยโลกียจิตนั้นว่า "สังขารขันธ์" กำหนดวิญญาณว่า "วิญญาณขันธ์" โยคาวจรกำหนดรูปขันธ์ว่า "รูป" กำหนดขันธ์ 4 ที่ไม่มีรูปว่า "นาม" ด้วยประการฉะนี้

โยคาวจรผู้หนึ่งกำหนดนามและรูปโดยทางขันธ์ 5 ด้วยอาการดังกล่าวนี้

โยคาวจรอีกผู้หนึ่ง ครั้นกำหนดรูปในอัตภาพร่างกายนี้โดยย่นย่อแต่อย่างเดียวอย่างนี้ว่า "รูปอย่างใดอย่างหนึ่ง รูปทั้งปวง ก็คือ มหาภูตรูป 4 และรูปที่อาศัยมหาภูตรูป 4" ดังนี้ แล้วกำหนด มนายตนะ ด้วย และเอกเทศของ ธัมมายตนะ ด้วยว่า "นาม" แล้วกำหนดนามและรูปโดยสังเขปว่า นาม นี้ด้วย รูป นี้ด้วย นี้ท่านเรียกว่า "นาม – รูป" ด้วยประการฉะนี้

(ปรากฎ แปลว่า ชัดเจนเหมือนปรากฎทางทวาร 5)

แต่หากว่า เมื่อโยคาวจรผู้นั้นกำหนดรูปโดยมุขนั้น ๆ แล้วกำหนดอรูป (นาม) อยู่ แต่อรูปยังไม่ปรากฏขึ้นมา เพราะ (อรูป) เป็นของละเอียดอ่อน โยคาวจรผู้นั้นมิควรละเลิกกำหนดเสีย ควรพิจารณาใส่ใจใคร่ครวญกำหนดรูปนั่นแหละ ซ้ำแล้วซ้ำเล่า เพราะว่า รูปของโยคาวจรนั้นที่ชำระล้างดีแล้ว สะสางออกแล้ว บริสุทธิ์ดีแล้ว ด้วยอาการใด ๆ สิ่งที่เป็นอรูปทั้งหลาย ซึ่งมีรูปนั้นเป็นอารมณ์ ก็จะปรากฏขึ้นมาเองด้วยอาการนั้น ๆ โดยแท้ เหมือนอย่างว่า บุรุษผู้มีดวงตา เมื่อมองดูเงาหน้าในกระจกที่มัว เงาก็จะไม่ปรากฏ บุรุษผู้นั้นไม่คิดว่า "เงาไม่ปรากฏ" แล้วทิ้งกระจกไปเสีย แต่เช็ดถูกระจกนั้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า เมื่อกระจกใสบริสุทธิ์แล้ว เงาหน้าของบุรุษผู้นั้นก็ปรากฏขึ้นมาเองโดยแท้ ฉันใด อนึ่ง บุรุษผู้มีความต้องการน้ำมันงา เอาเมล็ดงาโรยลงไปในชามอ่างแล้วเอาน้ำประพรมลงไป เมื่อน้ำมันงายังไม่ไหลออกมา เพราะบีบคั้นเพียงครั้ง 2 ครั้ง ไม่ทิ้งเมล็ดงาเสีย เอาน้ำอุ่นประพรมลงไปแล้วนวดเค้นบีบคั้นอยู่บ่อย ๆ เมื่อบุรุษผู้นั้นทำอยู่อย่างนี้ น้ำมันงาที่ใสดี ก็ไหลออกมาโดยแท้แล ฉันใด ก็หรือบุรุษผู้ต้องการทำให้น้ำใส จึงหยิบเอาเมล็ดกตกะ1 แล้วหย่อนมือลงไปในหม้อน้ำ เมื่อน้ำยังไม่ใส

1 ศัพท์ว่า กตกฏฐิ = กตก + อฏฐิ แปลว่า เมล็ดกตกะ บางฉบับเป็น กตุกะ โบราณแปลว่า ไม้ตุมกา และอธิบายว่า เมล็ดพืชของไม้ชนิดนี้ ใช้ทำให้น้ำใส และเป็นประโยชน์ในทางเภสัช

(หน้าที่ 243)

ด้วยการถูไปถูมาเพียงครั้ง 2 ครั้ง ก็ไม่โยนเมล็ดกตกะทิ้งเสีย คงถูเมล็ดกตกะนั้นแล้ว ๆ เล่า ๆ เมื่อบุรุษผู้นั้นทำอยู่อย่างนี้ โคลนตมก็จะจมลง น้ำก็ใสสะอาดโดยแท้แล ฉันใด พระภิกษุนั้นก็ฉันนั้นเช่นกัน ไม่ควรทอดธุระ (เลิกปฏิบัติ) เสีย ควรพิจารณาใส่ใจใคร่ครวญกำหนดรูปนั่นแหละซ้ำแล้วซ้ำเล่า เพราะว่า รูปของโยคาวจรนั้นจะเป็นสิ่งที่ชำระล้างดีแล้ว สะสางออกแล้ว บริสุทธิ์ดีแล้ว โดยอาการใด ๆ บรรดากิเลสทั้งหลายที่เป็นข้าศึกต่อการกำหนดรู้อรูปนั้น ก็สงบลงด้วยอาการนั้นๆ จิต (ของโยคาวจรนั้น) ก็จะผ่องใสเหมือนน้ำที่อยู่เบื้องบนโคลนตม อรูปธรรมทั้งหลายที่มีรูปนั้นเป็นอารมณ์ก็จะปรากฏขึ้นมาเองแล

อธิบายดังกล่าวนี้ ควรขยายความด้วยอุปมาทั้งหลายแม้อย่างอื่นเช่น (การหีบ) อ้อย (ทรมาน) โจร (การฝึก) โค (การเคี่ยว) นมส้มและ (การปิ้ง) ปลาเป็นต้น โดยอาการดังกล่าวนี้

แต่เมื่อโยคาวจรผู้นั้นซึ่งกำหนดรูปบริสุทธิ์ดีอย่างนี้แล้ว สิ่งที่เป็นอรูปทั้งหลาย จะปรากฏขึ้นโดยอาการ 3 ทาง คือ ผัสสะ หรือทางเวทนา หรือทางวิญญาณ ปรากฏขึ้นอย่างไร?

(ทางผัสสะ)

ก่อนอื่น เมื่อโยคาวจรท่านหนึ่งกำหนดธาตุทั้งหลาย โดยนัยเป็นต้นว่า "ธาตุดิน มีลักษณะข้นแข็ง" ดังนี้อยู่ ผัสสะก็ปรากฏกระทบขึ้นมาก่อนแล้วเวทนาซึ่งสัมปยุตด้วยผัสสะนั้น คือเวทนาขันธ์ก็ปรากฏขึ้น สัญญาคือสัญญาขันธ์ก็ปรากฏขึ้น เจตนาร่วมกับผัสสะ คือสังขารขันธ์ ก็ปรากฏขึ้น แล้วจิตคือวิญญาณขันธ์ ก็ปรากฏขึ้น อนึ่ง เมื่อโยคาวจรนั้นกำหนดธาตุทั้งหลายโดยนัยเป็นต้นว่า "ธาตุดินในเส้นผมมีลักษณะข้นแข็ง" ดังนี้อยู่ ผัสสะก็ปรากฏ กระทบขึ้นมาก่อน แล้วเวทนาซึ่งสัมปยุตด้วยผัสสะนั้น คือเวทนาขันธ์ ฯลฯ เมื่อกำหนดว่า "ธาตุดินในอัสสาสะและปัสสาสะ (คือลมหายใจเข้าและหายใจออก) มีลักษณะข้นแข็ง" ดังนี้อยู่ ผัสสะก็ปรากฏกระทบขึ้นมาก่อน แล้วเวทนาซึ่งสัมปยุตด้วยผัสสะนั้น คือเวทนาขันธ์ ก็ปรากฏขึ้น (ตลอดจน) จิตคือวิญญาณขันธ์ก็ปรากฏขึ้น

สิ่งที่เป็นอรูปทั้งหลายปรากฏขึ้นทางผัสสะด้วยอาการอย่างนี้

(หน้าที่ 244)

(ทางเวทนา)

เมื่อโยคาวจรผู้หนึ่งกำหนดธาตุทั้งหลายโดยนัยเป็นต้นว่า "ธาตุดินมีลักษณะข้นแข็ง" ดังนี้อยู่ เวทนาซึ่งเสวยรส (คือสุข ทุกข์ อุเบกขา) ของธาตุนั้น คือเวทนาขันธ์ ก็ปรากฏขึ้น สัญญาซึ่งสัมปยุตด้วยเวทนานั้น คือสัญญาขันธ์ ก็ปรากฏขึ้น ผัสสะและเจตนาซึ่งสัมปยุตด้วยเวทนานั้น คือสังขารขันธ์ก็ปรากฏขึ้น จิตที่สัมปยุตด้วยเวทนานั้น คือวิญญาณขันธ์ ก็ปรากฏขึ้น อนึ่ง เมื่อโยคาวจรนั้นกำหนดธาตุทั้งหลาย โดยนัยเป็นต้นว่า "ธาตุดินในเส้นผมมีลักษณะข้นแข็ง" ดังนี้อยู่ ฯลฯ เมื่อกำหนดว่า "ธาตุดินในลมอัสสาสะปัสสาสะมีลักษณะข้นแข็ง" ดังนี้อยู่ เวทนาซึ่งเสวยรส (คือ สุข ทุกข์ อุเบกขา) ของธาตุนั้น คือเวทนาขันธ์ ก็ปรากฏขึ้น (ตลอดจน) จิตซึ่งสัมปยุตด้วยเวทนานั้น คือวิญญาณขันธ์ก็ปรากฏขึ้น

สิ่งที่เป็นอรูปทั้งหลายปรากฏขึ้นทางเวทนาด้วยอาการอย่างนี้

(ทางวิญญาณ)

เมื่อโยคาวจรอีกผู้หนึ่งกำหนดธาตุทั้งหลายโดยนัยเป็นต้นว่า "ธาตุดินมีลักษณะข้นแข็ง" ดังนี้อยู่ วิญญาณซึ่งเจาะจงรู้อารมณ์ คือวิญญาณขันธ์ก็ปรากฏขึ้น เวทนาที่สัมปยุตด้วยวิญญาณนั้น คือเวทนาขันธ์ก็ปรากฏขึ้น สัญญาคือสัญญาขันธ์ก็ปรากฏขึ้น ผัสสะและเจตนา คือสังขารขันธ์ ก็ปรากฏขึ้น อนึ่ง เมื่อโยคาวจรกำหนดอยู่ว่า "ธาตุดินในเส้นผมมีลักษณะข้นแข็ง" ดังนี้ (ตลอดจน) กำหนดอยู่ว่า "ธาตุดินในลมอัสสาสะปัสสาสะมีลักษณะข้นแข็ง" ดังนี้อยู่ วิญญาณซึ่งเจาะจงรู้อารมณ์ คือวิญญาณขันธ์ ก็ปรากฏขึ้น เวทนาที่สัมปยุตด้วยวิญญาณนั้น คือเวทนาขันธ์ ก็ปรากฏขึ้น สัญญาคือสัญญาขันธ์ ก็ปรากฏขึ้น ผัสสะและเจตนาคือสังขารขันธ์ก็ปรากฏขึ้น

สิ่งที่เป็นอรูปทั้งหลายปรากฏขึ้นทางวิญญาณด้วยอาการอย่างนี้แล

โยคาวจรพึงดำเนินตามการจำแนกโดยนัยทุกอย่าง แล้วประกอบความในส่วนของธาตุ 42 (คืออาการ 32 ในกายกับลักษณะของไฟ 4 และลักษณะของลม 6) โดยนัยเป็นต้นว่า "ธาตุดินในเส้นผมซึ่งมีกรรมเป็นสมุฏฐานมีลักษณะข้นแข็ง" และประกอบความในมุขของการกำหนดรูปนอกจากนี้ มีจักขุธาตุ (โสตะ….ฆานะ….) เป็นต้น (ด้วยการประกอบเข้า โดยธาตุ 4 - 5 (แต่ละธาตุ ๆ) โดยอุบายอย่างเดียวกับที่กล่าวมาแล้วนี้

(หน้าที่ 245)

อนึ่ง เพราะว่าเมื่อโยคาวจรผู้นั้นกำหนดรูปอันบริสุทธิ์สะอาดดีอยู่อย่างนั้นนั่นเอง สิ่งที่เป็นอรูปทั้งหลายจึงปรากฏขึ้นมาโดยอาการ 3 ทาง เพราะฉะนั้นโยคาวจรพึงทำโยคะ (เพียรภาวนา) ในการกำหนดสิ่งที่เป็นอรูปด้วยการกำหนดรูปที่บริสุทธิ์สะอาดดีแล้วนั่นเอง มิใช่ด้วยการกำหนดอย่างอื่น เพราะถ้าว่า เมื่อสิ่งที่เป็นรูปสิ่งหนึ่งหรือ 2 สิ่งปรากฏขึ้นมาแล้วโยคาวจรละทิ้งรูป (นั้น) เสียแล้วตั้งต้นกำหนดอรูป (ต่อไปใหม่) โยคาวจรนั้นก็จะเสื่อมจากกัมมัฏฐานไปด้วย เหมือนแม่โคที่หากินอยู่ตามภูเขา มีประการดังกล่าวมาแล้วใน (ตอนว่าด้วย) การเจริญปฐวีกสิณ แต่เมื่อโยคาวจรทำโยคะในการกำหนดอรูป ด้วยการกำหนดรูปที่บริสุทธิ์สะอาดดีแล้ว กัมมัฏฐานก็ถึงความเจริญงอกงามไพบูลย์ โยคาวจรนั้นกำหนดขันธ์ที่ไม่มีรูป 4 อย่าง ซึ่งปรากฏขึ้นทางผัสสะเป็นต้นว่า "นาม" และกำหนดมหาภูตรูป 4 ซึ่งเป็นอารมณ์ของอรูปขันธ์ 4 เหล่านั้นกับอุปาทายรูปของมหาภูตรูป 4 ว่า "รูป" ด้วยประการดังกล่าวมานี้

โยคาวจรกำหนดธรรมทั้งหลายที่เป็นไปในภูมิ 3 คือ ธาตุ 18 อายตนะ 12 ขันธ์ 5 แม้ทั้งหมดเป็น 2 ส่วนว่า "นามและรูป" เหมือนเขาเปิดสมุดและผ่าลอนตาลด้วยพระขรรค์ ด้วยประการฉะนี้ก็ถึงความตกลงว่า "นอกไปจากนามและรูปเท่านั้นแล้ว หามีสัตว์ หรือบุคคล หรือเทวดา หรือพรหมอื่นอีกไม่"

โยคาวจรผู้นั้น ครั้นกำหนดนามและรูปโดยรส (หน้าที่) ของมันตามความเป็นจริง ด้วยอาการดังกล่าวนี้แล้ว เพื่อต้องการละชื่อสมมติทางโลกว่าสัตว์ ว่าบุคคล นี้ (อย่างหนึ่ง) เพื่อต้องการให้ก้าวพ้นความลุ่มหลงว่า มีสัตว์ (มีบุคคล) (อย่างหนึ่ง) เพื่อต้องการวางจิตไว้ในภูมิแห่งความไม่ลุ่มหลง (อีกอย่างหนึ่ง) ให้ดียิ่งขึ้น จึงเปรียบเทียบความนี้ กำหนดตามหลัก (ที่มีอยู่) ในพระสุตตันตะเป็นอันมากว่า "นี้เป็นแต่เพียงนามและรูปเท่านั้น ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล" ดังนี้

ความจริง เรื่องนี้ นางวชิราภิกษุณีก็กล่าวไว้แล้วว่า

ยถา หิ องฺคสมฺภารา โหติ สทฺโท รโถ อิติ

เอวํ ขนฺเธสุ สนฺเตสุ โหติ สตฺโตติ สมฺมติ1

1 สํ. สฬว. 15/198

(หน้าที่ 246)

แปลความว่า

ความจริง เมื่อขันธ์ทั้งหลายมีอยู่ การสมมติ (เรียก)

กันว่า สัตว์ ก็มีขึ้น เหมือนเสียงที่เรียกว่า "รถ" มีขึ้น ก็

เพราะเอาส่วนต่าง ๆ ประกบกันเข้า

แม้ท่านพระสารีบุตรก็กล่าวไว้อีกว่า "อาวุโส เพราะอาศัยไม้ เพราะอาศัยเถาวัลย์ เพราะอาศัยดินและเพราะอาศัยหญ้าล้อมเอาอากาศเข้าไว้ จึงถึงการนับว่า "อาคาร" แม้ฉันใด อาวุโส เพราะอาศัยกระดูก เพราะอาศัยเอ็น เพราะอาศัยเนื้อและเพราะอาศัยหนัง ล้อมเอาอากาศเข้าไว้ จึงถึงการนับว่า "รูป" ฉันนั้นเช่นกัน1 ทั้งนางวชิราภิกษุณีก็กล่าวไว้อีกว่า

ทุกฺขเมว หิ สมฺโภติ ทุกฺขํ ติฏฺฐติ เวติ จ

นาญฺญตฺร ทุกฺขา สมฺโภติ นาญฺญตฺร ทุกฺขา นิรุชฺฌติ.2

แปลความว่า

ที่จริง ทุกข์เท่านั้นเกิดขึ้น ทุกข์เท่านั้นตั้งอยู่ และดับไป

นอกจากทุกข์ ไม่มีอะไรเกิด นอกจากทุกข์ ไม่มีอะไรดับ

ท่านแสดงถึงนามและรูปนั่นแลไว้ด้วยพระสุตตันตะมากมายหลายร้อยพระสูตรด้วยประการดังกล่าวนี้ หาได้แสดงถึงสัตว์ไม่ หาได้แสดงถึงบุคคลไม่ เพราะฉะนั้น เมื่อส่วนและสัมภาระทั้งหลาย มีเพลา ล้อ ตัวถังและงอนเป็นต้น ตั้งอยู่ร่วมกันโดยอาการอันเดียวกันเพียงคำเรียกร้องว่า "รถ" ก็มีขึ้น แต่เมื่อเข้าไปพิจารณาดูส่วนอันหนึ่ง ๆ โดยปรมัตถ์ ชื่อขนานว่า "รถ" หามีไม่ ฉันใด อนึ่ง เมื่อสัมภาระของเคหะทั้งหลายเช่นไม้เป็นต้น ตั้งล้อมเอาอากาศเข้าไว้ โดยอาการเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เพียงคำร้องเรียกว่า "เคหะ" ก็มีขึ้น แต่โดยปรมัตถ์แล้ว ชื่อที่เรียกว่า "เคหะ" หามีไม่ ฉันใด อนึ่ง เมื่อนิ้วทั้งหลายมีนิ้วมือและนิ้วหัวแม่มือเป็นต้นตั้งอยู่โดยอาการอันเดียวกัน เพียงคำเรียกว่า "กำปั้น" ก็มีขึ้น ส่วนทั้งหลายมีกระโหลกและสายเป็นต้น ตั้งอยู่โดยอาการอันเดียวกัน เพียงคำเรียกว่า "พิณ" ก็มีขึ้น โดยปรมัตถ์ หามีชื่อเรียกว่า "พิณ" ไม่ เมื่อช้างและม้าเป็นต้นตั้ง (รวม) อยู่โดยอาการอันหนึ่งอันเดียวกัน

1 ม.มู. 12/358 2 สํฺ.สฬา 18/199

(หน้าที่ 247)

เพียงคำเรียกว่า "เสนา" ก็มีขึ้น โดยปรมัตถ์ หามีชื่อว่า "เสนา" ไม่ เมื่อกำแพงและเคหะกับทั้งประตูซุ้มเป็นต้น ตั้งอยู่โดยอาการเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันเพียงคำเรียกว่า "นคร" ก็มีขึ้นโดยปรมัตถ์ หามีชื่อเรียกว่า "นคร" ไม่ เมื่อลำต้น กิ่งและใบเป็นต้น ตั้งอยู่โดยความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เพียงคำเรียกร้องว่า "ต้นไม้" ก็มีขึ้น แต่เมื่อเข้าไปพิจารณาอวัยวะส่วนหนึ่ง ๆ โดยปรมัตถ์ หามีชื่อเรียกว่า "ต้นไม้" ไม่ ฉันใด เมื่ออุปาทานขันธ์ 5 มีอยู่ เพียงคำเรียกว่า "สัตว์ บุคคล" ก็มีขึ้น แต่เมื่อเข้าไปพิจารณาธรรมสิ่งหนึ่ง ๆ โดยปรมัตถ์ ชื่อที่เรียกว่า "สัตว์" อันเป็นที่ตั้งแห่งความยึดถือว่า "เป็นข้าพเจ้า" หรือ "ข้าพเจ้า" หามีไม่ แต่ทว่าโดยปรมัตถ์ ก็มีอยู่แต่เพียงนามและรูปเท่านั้น

แน่ละ! ความเห็นของโยคาวจรผู้นั้นซึ่งเห็นอยู่ดังกล่าวมานี้ มีชื่อว่า ยถาภูตทัสสนะ คือการเห็นตามเป็นจริง

(อุปมานามและรูป)

แต่ทว่า โยคาวจรผู้ใดละทิ้ง ยถาภูตทัสสนะ นี้เสีย แล้วยึดถือว่า สัตว์มีอยู่ (บุคคลมีอยู่) โยคาวจรผู้นั้นต้องยอมรับรู้ถึงความพินาศ หรือความไม่พินาศของสัตว์ (บุคคล) นั้นด้วย เมื่อยอมรับรู้ความไม่พินาศ ก็ตกไปอยู่ในฝ่ายสัสสต (ทิฏฐิ คือเห็นว่ายั่งยืน) เมื่อยอมรับรู้ความพินาศ ก็ตกไปอยู่ในฝ่ายอุจเฉท (ทิฏฐิ คือเห็นว่าขาดสูญ) (ถามว่า) เพราะเหตุไร ? (ตอบว่า) เพราะไม่มีอย่างอื่นที่ติดตามมาจากการยอมรับรู้นั้น เช่นเดียวกับนมส้มเป็นผล ติดตามมาจากน้ำนม โยคาวจรผู้นั้นเมื่อยึดถือว่า "สัตว์ยั่งยืน" ก็เรียกได้ว่า ล้าหลัง อยู่ เมื่อยึดถือว่า "สัตว์ขาดสูญ" ก็เรียกได้ว่า ล้ำหน้า ไป เพราะฉะนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสไว้ว่า "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เทวดาและมนุษย์ทั้งหลายถูกครอบงำด้วยทิฏฐิ 2 ประการ พวกหนึ่งล้าหลังอยู่ พวกหนึ่งล้ำหน้าไป แต่พวกที่มีจักษุ (คือ ปัญญา) เห็นอยู่ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อันเทวดาและมนุษย์ทั้งหลายพวกหนึ่งล้าหลังอยู่อย่างไร ? ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เทวดาและมนุษย์ (พวกหนึ่ง) ยินดีในภพ พอใจในภพ เพลิดเพลินอยู่ในภพ เมื่อตถาคตแสดงธรรมเพื่อดับภพ จิตของพวกเขาก็ไม่แล่นเข้าไป ไม่เลื่อมใส ไม่ตั้งมั่น ไม่น้อมใจเชื่อ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เทวดาและมนุษย์พวกหนึ่งล้าหลังอยู่ด้วยอาการอย่างนี้แล อนึ่ง ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เทวดาและมนุษย์ทั้งหลายพวกหนึ่งล้ำหน้าไปอย่างไร ? อันเทวดาและมนุษย์

(หน้าที่ 248)

พวกหนึ่งเบื่อหน่าย ระอา เกลียดชังอยู่ด้วยภพนั่นเอง ชื่นชมยินดีความปราศจากภพอยู่ ด้วยการปรารภว่า ท่านผู้เจริญ เขาว่า ในกาลใด อัตตานี้จะขาดสูญพินาศไป เพราะร่างกายแตกดับ ภายหลังมรณะ ไม่มีอยู่ภายหลังตายแล้ว นั่นเป็นความสงบ นั่นเป็นสิ่งประณีต นั่นเป็นความจริงแท้ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เทวดาและมนุษย์พวกหนึ่ง ล้ำหน้าไปด้วยอาการอย่างนี้แล อนึ่งดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ท่านผู้มี (ปัญญา) จักษุทั้งหลายเห็นอยู่อย่างไร ? ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในพระศาสนานี้ เห็นภูต (คือเบญจขันธ์) ด้วยอนิจจานุปัสสนาเป็นต้น โดยความเป็นภูต (ตามความจริง) ครั้นเห็นภูต (เบญจขันธ์) โดยความเป็นจริงแล้ว เป็นผู้ปฏิบัติ เพื่อความเบื่อหน่าย เพื่อคลายกำหนัด เพื่อความดับของภูต (นั้น) ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ท่านผู้มีจักษุทั้งหลายเห็นอยู่ด้วยอาการอย่างนี้แล"1

เพราะฉะนั้น ตัวหุ่นเป็นของว่างเปล่า ไม่มีชีวิต เคลื่อนไหวไม่ได้ ก็แต่ว่า ด้วยการประกอบไม้และเส้นเชือกชัก ตัวหุ่นนั้นก็เดินบ้าง ยืนบ้าง มีการเคลื่อนไหว ปรากฏคล้ายกับมีชีวิตชีวาขึ้นในขณะนั้น ฉันใด ถึงแม้นามและรูปนี้ก็พึงเห็นว่าฉันนั้นเช่นกัน เป็นของว่างเปล่า ไม่มีชีวิต ไม่มีความเคลื่อนไหว ก็แต่ว่า ด้วยการประกอบร่วมกันและกัน นามและรูปนั้นก็เดินบ้าง ยืนบ้าง มีการเคลื่อนไหว ปรากฏมีชีวิตชีวาขึ้นในขณะนั้น เพราะฉะนั้น ท่านผู้รู้แต่โบราณทั้งหลายจึงกล่าวไว้ว่า

นามญฺจ รูปญฺจ อิธตฺถิ สจฺจโต

น เหตฺถ สตฺโต มนุโชว วิชฺชติ

สุญฺญํ อิทํ ยนฺตมิวาภิสงฺขตํ

ทุกฺขสฺส ปุญฺโช ติณกฏฺฐสาทิโส.

แปลความว่า

ว่าโดยสัจจะแล้ว นามและรูป มีอยู่ในโลกนี้ แต่ทว่า

สัตว์และมนุษย์หามีอยู่ในโลกนี้ไม่ นามและรูปนี้เป็นของ

ว่างเปล่า ถูกปัจจัยปรุงแต่งขึ้น เหมือนตัวหุ่น เป็นกองทุกข์

เช่นเดียวกับ (กอง) หญ้าและ (กอง) ไม้

1 ขุ.อิติ 25/263, ขุ. ปฏิ.31/240-241

(หน้าที่ 249)

อนึ่ง นามและรูปนี้ มิใช่จะพึงเปรียบเทียบให้รู้ชัดแจ้งด้วยอุปมาด้วยตัวหุ่นเท่านั้น พึงเปรียบเทียบให้รู้ชัดแจ้งด้วยอุปมาแม้ข้ออื่น ๆ เช่น ฟ่อนต้นอ้อเป็นต้นด้วย

อันที่จริง เมื่อวางฟ่อนต้นอ้อ 2 มัดพิงกันไว้ ฟ่อนต้นอ้อมัดหนึ่งก็ค้ำฟ่อนต้นอ้ออีกมัดหนึ่งไว้ เมื่อฟ่อนต้นอ้อมัดหนึ่งล้มลง ฟ่อนต้นอ้ออีกมัดหนึ่งก็ล้มลงด้วย ฉันใด นามและรูปในปัญจโวการภพ (ภพมีขันธ์ 5) ก็ฉันนั้นเช่นกัน ต่างอาศัยกันและกันเป็นไป สิ่งหนึ่งเป็นผู้ค้ำจุนอีกสิ่งหนึ่งไว้ เมื่อสิ่งหนึ่งล้มไปด้วยการตาย อีกสิ่งหนึ่งก็ล้มลงด้วย เพราะฉะนั้นท่านผู้รู้แต่โบราณทั้งหลายจึงกล่าวไว้ว่า

ยมกํ นามรูปญฺจ อุโภ อญฺโญญฺญนิสฺสิตา

เอกสฺมิ ภิชฺชมานสฺมิ อุโภ ภิชฺชนฺติ ปจฺจยา.

แปลความว่า

อันว่านามและรูปเป็นของคู่กัน ทั้งสองอย่างต่างอาศัย

กันและกัน เมื่ออย่างหนึ่งแตกทำลายไป สิ่งอาศัยกันทั้งสอง

อย่างก็แตกทำลายด้วย

อนึ่ง เสียงเป็นไป (เกิดขึ้น) เพราะอาศัยกลองที่เขาตีด้วยไม้ กลองเป็นอย่างหนึ่ง เสียงเป็นอีกอย่างหนึ่ง กลองและเสียงไม่ปะปนกัน (มิใช่สิ่งเดียวกัน) กลองก็ว่างจากเสียง เสียงก็ว่างจากกลอง ฉันใด นามก็เป็นไปเพราะอาศัยรูป กล่าวคือ วัตถุ ทวารและอารมณ์ รูปเป็นอย่างหนึ่ง นามและรูปไม่ปะปนกัน (มิใช่สิ่งเดียวกัน) นามก็ว่างเปล่าจากรูป รูปก็ว่างเปล่าจากนาม ฉันนั้นนั่นแล อีกประการหนึ่ง นามอาศัยรูปจึงเป็นไปเหมือนเสียงอาศัยกลอง (จึงดังขึ้น) เพราะฉะนั้น ท่านผู้รู้แต่โบราณทั้งหลายจึงกล่าวไว้ว่า

(1) น จกฺขุโต ชายเร ผสฺสปญฺจมา

น รูปโต โน จ อุภินฺนมนฺตรา

เหตุํ ํ ปฏิจฺจ ปภวนฺติ สงฺขตา

ยถาปิ สทฺโท ปหฏาย เภริยา.

ฯลฯ ฯลฯ

(หน้าที่ 250)

แปลความว่า

(1) สภาวธรรมทั้งหลายมีผัสสะเป็นที่ 5 มิได้เกิดขึ้นจากตา มิได้เกิด

ขึ้นจากรูป และมิได้เกิดขึ้นในระหว่างตาและรูปทั้งสองอย่าง เป็น

สภาวธรรมที่ปัจจัยปรุงแต่ง อาศัยเหตุเกิดขึ้น เหมือนเมื่อเขาตีกลอง

เสียงก็เกิดขึ้น ฉะนั้น

(2) สภาวธรรมทั้งหลายมีผัสสะเป็นที่ 5 มิได้เกิดขึ้นจากหู มิได้เกิด

ขึ้นจากเสียง และมิได้เกิดขึ้นในระหว่างหูและเสียงทั้งสอง เป็นสภาว-

ธรรมที่ปัจจัยปรุงแต่ง อาศัยเหตุเกิดขึ้น เหมือนเมื่อเขาตีกลอง เสียงก็

เกิดขึ้น ฉะนั้น

(3) สภาวธรรมทั้งหลายมีผัสสะเป็นที่ 5 มิได้เกิดขึ้นจากจมูก (ฆานะ)

มิได้เกิดขึ้นจากกลิ่น และมิได้เกิดขึ้นในระหว่างจมูกและกลิ่นทั้งสอง

เป็นสภาวธรรมที่ปัจจัยปรุงแต่ง อาศัยเหตุเกิดขึ้น เหมือนเมื่อเขาตีกลอง

เสียงก็เกิดขึ้น ฉะนั้น

(4) สภาวธรรมทั้งหลายมีผัสสะเป็นที่ 5 มิได้เกิดขึ้นจากลิ้น มิได้เกิดขึ้น

จากรส และมิได้เกิดขึ้นในระหว่างลิ้นและรสทั้งสอง เป็นสภาวธรรมที่ปัจจัย

ปรุงแต่ง อาศัยเหตุเกิดขึ้น เหมือนเมื่อเขาตีกลอง เสียงก็เกิดขึ้น ฉะนั้น

(5) สภาวธรรมทั้งหลายมีผัสสะเป็นที่ 5 มิได้เกิดขึ้นจากกาย มิได้เกิด

ขึ้นจากผัสสะ และมิได้เกิดขึ้นในระหว่างกายและผัสสะทั้งสอง เป็น

สภาวธรรมที่ปัจจัยปรุงแต่ง อาศัยเหตุเกิดขึ้น เหมือนเมื่อเขาตีกลอง

เสียงก็เกิดขึ้น ฉะนั้น

(6) สภาวธรรมที่ปัจจัยปรุงแต่งทั้งหลาย มิได้เกิดขึ้นจากวัตถุรูป อีกทั้ง

มิได้ออกจากธัมมายตนะทั้งหลายด้วย สังขตธรรมทั้งหลายอาศัยเหตุ

เกิดขึ้น เหมือนเมื่อเขาตีกลอง เสียงก็เกิดขึ้น ฉะนั้น

อีกประการหนึ่ง บรรดานามและรูปนี้ นามไม่มีเดช ไม่สามารถเป็นไปได้ด้วยเดชของตนเอง ไม่กิน ไม่ดื่ม ไม่พูด ไม่สำเร็จอิริยาบถ ถึงแม้รูปก็ไม่มีเดช ไม่สามารถเป็นไปได้ด้วย

(หน้าที่ 251)

เดชของตนเอง เพราะรูปนั้นไม่มีความต้องการที่จะกิน อีกทั้งไม่มีความต้องการที่จะดื่ม ไม่มีความต้องการที่จะพูด ไม่มีความปรารถนาที่จะสำเร็จอิริยาบถ รูปเป็นไปได้ก็เพราะอาศัยนาม (และ) นามก็เป็นไปได้เพราะอาศัยรูปโดยแท้แล แต่ทว่าเมื่อนามนั้นมีความปรารถนาที่จะกิน มีความปรารถนาที่จะดื่ม มีความปรารถนาที่จะพูด มีความปรารถนาที่จะสำเร็จอิริยาบถ รูปจึงกิน จึงดื่ม จึงพูด จึงสำเร็จอิริยาบถ

อนึ่ง เพื่อต้องการให้เข้าใจเนื้อความนี้ชัดแจ้ง พระอาจารย์ทั้งหลายจึงยกข้ออุปมาขึ้นเป็นอุทาหรณ์ ดังต่อไปนี้ –

อันว่าชายตาบอดแต่กำเนิด 1 และชายเปลี้ย 1 ต่างปรารถนาจะไปยัง (สถานที่โน้น) ทิศทั้งหลาย ชายตาบอดแต่กำเนิดจึงพูดกะชายเปลี้ยอย่างนี้ว่า "นี่แน่ะเพื่อน ข้า ฯ สามารถทำกิจที่พึงทำด้วยเท้าได้ แต่ข้าฯ ไม่มีตาที่จะใช้ดูทางราบ ทางลุ่ม" ชายเปลี้ยก็พูดกะชายตาบอดแต่กำเนิดอย่างนี้ว่า "นี่แน่ะเพื่อน ข้าฯ สามารถทำกิจที่พึงทำด้วยตาได้ แต่ข้าฯ ไม่มีเท้าที่จะใช้เดินไปข้างหน้า หรือเดินกลับ" ชายตาบอดแต่กำเนิดนั้นก็ดีใจ ชอบใจ ยกชายเปลี้ยขึ้นจะงอยบ่า ชายเปลี้ยก็นั่งอยู่บนจะงอยบ่าของชายตาบอดแต่กำเนิดแล้วบอกอย่างนี้ว่า "อย่าไปซ้าย จงไปขวา อย่าไปขวา จงไปซ้าย" ชาย 2 คนนั้น ถึงแม้ชายตาบอดแต่กำเนิดก็ไม่มีเดช เป็นทุพพลภาพ ไม่ไปได้ด้วยเดชของตนเอง ด้วยกำลังของตนเอง ถึงแม้ชายเปลี้ยก็ไม่มีเดช ทุพพลภาพ ไม่ไปได้ด้วยเดชของตนเอง ด้วยกำลังของตนเอง แต่เพราะชายทั้งสองนั้นอาศัยกันและกันแล้ว ก็ไปไหนไปได้ ฉันใด ถึงแม้นามก็ไม่มีเดช มิได้เกิดขึ้นมาด้วยเดชของตนเอง มิได้เป็นไปในกิริยานั้น ๆ (ด้วยเดชของตนเอง) ถึงแม้รูปก็ไม่มีเดช มิได้เกิดขึ้นมาด้วยเดชของตนเอง มิได้เป็นไปในกิริยานั้น ๆ (ด้วยเดชของตนเอง) แต่การเกิดขึ้นมาหรือการเป็นไปของนามและรูปนั้น มีขึ้นเพราะอาศัยกันและกัน เพราะฉะนั้น ท่านจึงกล่าวคำนี้ไว้ว่า

น สเกน พเลน ชายเร โนปิ สเกน พเลน ติฏฺฐเร

ปรธมฺมวสานุวตฺติโน ชายเร สงฺขตา อตฺตทุพฺพลา.

ปรปจฺจยโต จ ชายเร ปรอารมฺมณโต สมุฏฐิตา

อารมฺมณปจจเยหิ จ ปรธมฺเมหิ จิเม ปภาวิตา.

(หน้าที่ 252)

แปลความว่า

สภาวธรรมที่ปัจจัยปรุงแต่ง (สังขตะ) ทั้งหลาย

ทุพพลภาพอยู่ในตัวเอง หาเกิดขึ้นด้วยกำลังของตนเอง

ได้ไม่ อีกทั้งธำรงอยู่ด้วยกำลังของตนเอง ก็หาได้ไม่ ดำเนิน

ไปด้วยอำนาจของสภาวธรรมอย่างอื่น สภาวธรรมที่ปัจจัย

ปรุงแต่งเหล่านี้ เกิดขึ้นจากปัจจัยอื่น ตั้งขึ้นจากอารมณ์อื่น

เกิดขึ้นด้วยอารมณ์และปัจจัยและด้วยธรรมอื่นด้วย

ยถาปิ นาวํ นิสฺสาย มนุสฺสา ยนฺติ อณฺณเว

เอวเมว รูปํ นิสฺสาย นามกาโย ปวตฺตติ.

ยถา มนุสฺเส นิสฺสาย นาวา คจฺฉติ อณฺณเว

เอวเมว นามํ นิสฺสาย รูปกาโย ปวตฺตติ.

แปลความว่า

มนุษย์ทั้งหลายเดินทางไปในห้วงน้ำ เพราะอาศัยเรือ

แม้ฉันใด นามกายเป็นไปได้เพราะอาศัยรูป ก็เช่นกันฉันนั้น

เรือแล่นไปในห้วงน้ำเพราะอาศัยมนุษย์ ฉันใด รูปกายเป็น

ไปได้เพราะอาศัยนามก็เช่นกันฉันนั้น

อุโภ นิสฺสาย คจฺฉนฺติ มนุสฺสา นาวา จ อณฺณเว

เอวํ นามญฺจ รูปญฺจ อุโภ อญฺโญญฺญนิสฺสิตา.

แปลความว่า

มนุษย์และเรือทั้งสองต่างอาศัยกัน จึงเดินทางไปใน

ห้วงน้ำได้ นามและรูปก็ฉันนั้น ทั้งสองต่างอาศัยกันและกัน

ด้วยประการฉะนี้

การเห็นนามและรูปตามเป็นจริง ซึ่งครอบงำสัตตสัญญา (คือ ความสำคัญหมายถึงรู้ว่า มีสัตว์) เสียได้ แล้วตั้งอยู่ในภูมิที่ไม่ลุ่มหลง ของโยคาวจรผู้กำหนดรู้นามและรูปโดยนัย

(หน้าที่ 253)

ต่าง ๆดังกล่าวมานี้ พึงทราบว่าเป็น "ทิฏฐิวิสุทธิ (คือ ความเห็นบริสุทธิ์)" แม้คำว่า "นามรูปววัฏฐาน การกำหนดรู้นามและรูป" ก็ดี คำว่า "สังขารปริจเฉท - การกำหนดรู้สังขาร" ก็ดี1 เป็นชื่อของการเห็นนามและรูปตามเป็นจริงนี้เหมือนกัน

ปริจเฉทที่ 18 ชื่อว่า ทิฏฐิวิสุทธินิทเทส

ในอธิการแห่งปัญญาภาวนา ในปกรณ์วิเสสชื่อวิสุทธิมรรค

อันข้าพเจ้าทำเพื่อประโยชน์แก่ความปราโมทย์แห่งสาธุชน ดังนี้

1 นามรูปววัฏฐาน และ สังขารปริจเฉท นี้ เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า นามรูปปริจเฉทญาณ เป็นญาณอันดับแรก หรือ ญาณที่ 1 ใน ญาณ 16