วิสุทธิมรรค_23_ปัญญาภาวนานิสังสนิทเทส

**นี่คือเอกสารรุ่น/ฉบับเก่า**


ปริจเฉทที่ 23 ปัญญาภาวนานิสังสนิทเทส

แสดงบรรยายอานิสงส์ของปัญญาภาวนา

(หน้าที่ 443)

………………..

อนึ่ง ปัญหากรรมใด ที่เรากล่าวไว้ว่า "อะไร เป็นอานิสงของปัญญา (การทำวิปัสสนามรรคปัญญาให้เกิด) (บัดนี้) เราจะกล่าวแก้ในปัญหากรรมนั้น (ต่อไป)

ความจริง ขึ้นชื่อว่า ปัญญาภาวนา (คือการทำวิปัสสนามรรคให้เกิด) นี้ มี อานิสงส์หลายร้อยอย่าง การที่จะประกาศอานิสงส์ของปัญญาภาวนานั้นโดยพิสดารแม้ใช้เวลายาวนานก็ทำมิได้ง่าย แต่พึงทราบอานิสงส์ของปัญญาภาวนานั้นโดยสังเขปไว้ดังนี้ คือ

1. นานากิเลสวิทฺธํสนํ ทำลายกิเลสต่างๆ

2. อริยผลรสานุภวนํ เสวยรสของอริยผล

3. นิโรธสมาปตฺติสมาปชฺชนสมตฺถตา สามารถเข้านิโรธสมาบัติได้

4. อาหุเนยฺยภาวาทิสิทฺธิ สำเร็จความเป็นอาหุไนยบุคคลเป็นต้น

[1. นานากิเลสวิทฺธํสนํ – ทำลายกิเลสต่างๆ]

ในอานิสงส์ทั้งหลายนั้น การทำลายกิเลสต่างๆ ใดโดยความเป็นสักกายทิฏฐิเป็นต้น ที่เรากล่าวมาแล้วตั้งแต่นามรูปปริจเฉทญาณ (ญาณกำหนดรู้นามรูป) ข้อนี้พึงทราบว่า เป็นอานิสงส์ของปัญญาภาวนาฝ่ายโลกิยะ ทำลายกิเลสต่างๆ ใดโดยความเป็นสังโยชน์เป็นต้นในขณะ (บรรลุ) พระอริยมรรค ที่เรากล่าวมาแล้ว ข้อนี้พึงทราบว่า เป็นอานิสงส์ของปัญญาภาวนา ฝ่ายโลกุตตระ

ภีมเวคานุปติตา อสนีว สีลุจฺจเย

วายุเวคสมุฏฺฐิโต อรญฺญมิว ปาวโก.

(หน้าที่ 444)

อนฺธการํ วิย รวิ สเตชุชฺลมณฺฑโล

ทีฆรตฺตานุปติตํ สพฺพานตฺถวิธายกํ

กิเลสชาลํ ปญฺยา หิ วิทฺธํสยติ ภาวิตา

สนฺทิฏฺฐิกมโต ชญฺญา อานิสํสมิมํ อิธ.

แปลความว่า

ความจริง วิปัสสนาปัญญาที่โยคีทำให้เกิดขึ้นแล้ว ย่อม

ทำลาย ข่ายกิเลสที่ติดตามมาตลอดกาลนาน สร้างสรรค์แต่สิ่ง

ไม่เป็นประโยชน์ทุกอย่าง ให้พินาศไป เหมือนสายฟ้าที่ฟาด

ลงมาด้วยความเร็วน่าหวาดกลัว ทำลายภูเขาสิลาทั้งหลาย

ให้พังพินาศ เหมือนไฟไหม้ป่าที่ลุกโหมขึ้นด้วยแรงพายุ

ทำลายป่าให้มอดไหม้ไป เหมือนดวงอาทิตย์ซึ่งมีมณฑลรัศมี

รุ่งโรจด้วยความร้อนของตน กำจัดความมืดให้สลายไป

เพราะฉะนั้น บัณฑิตพึงทราบอานิสงส์ในปัญญาภาวนานี้

ซึ่งเป็นอานิสงส์ที่เห็นประจักษ์ด้วยตนเองนี้

[2. อริยผลรสานุภวํน-เสวยรสของพระอริยผล]

ข้อว่า "เสวยรสของพระอริยผล" หมายถึงว่า และมิใช่แต่ทำลายกิเลสต่างๆอย่างเดียวเท่านั้น แม้การเสวยรสของพระอริยผลก้เป็นอานิสงส์ของปัญญาภาวนาด้วยเช่นกัน เพราะสามัญญผลมีโสดาปัตติผลเป็นต้น ท่านเรียกว่า "พระอริยผล" การเสวยรสของพระอริยผลนั้นมีอยู่โดย 2 อาการ คือดำเนินไปในมรรควิถี 1 ดำเนินไปในทางผลสมาบัติ 1 ใน 2 อาการนั้น การดำเนินไปในมรรควิถีของพระอริยผลนั้น ได้ชี้แจงไว้เรียบร้อยแล้ว (ตอนว่าด้วยมรรคญาณข้างต้น)

อีกประการหนึ่ง เพื่ออำนวยตามพระเถระทั้งหลายซึ่งกล่าวว่า "เพียงแต่การละสังโยชน์ได้เท่านั้นก็ชื่อว่าได้ผล ธรรมสิ่งไรๆอื่น หามีไม่" ดังนี้ ควรชี้แนะพระสูตรแม้ (ดังต่อไป) นี้

(หน้าที่ 445)

ความว่า "ปัญญาในการระงับประโยค (ความเพียรอย่างสูง) ชื่อว่า ญาณใน (อริย) ผล เป็นอย่างไร? คือสัมมาทิฏฐิโดยความหมายว่าเห็นในขณะ (บรรลุ) โสดาปัตติมรรค ออกไปจากมิจฉาทิฏฐิ ออกไปจากกิเลสทั้งหลายอันเป็นไปตามมิจฉาทิฏฐินั้นด้วย จากขันธ์ทั้งหลายอันเป็นไปตามมิจฉาทิฏฐินั้นด้วย และจากนิมิตทั้งปวงภายนอกด้วย เพราะระงับประโยคนั้นได้แล้ว สัมมาทิฏฐิก็บังเกิดขึ้น นี้ คือผลของมรรค" ควรนำพระสูตรนี้มากล่าวโดยพิสดาร

อีกทั้งมีคำพระบาลีว่าอย่างนี้ คือ ธรรมเหล่านี้ คืออริยมรรค4 และสามัญญผล 4…..เป็นธรรมมีอารมณ์หาประมาณมิได้" (และ) "มหัคคตธรรม (เนวสัญญนาสัญญายตนะ) เป็นปัจจัยโดยอนันตรปัจจัยแก่ธรรมหาประมาณมิได้" ดังนี้ เป็นต้น เป็นคำสาธกในเรื่องนี้

[ผลสมาบัติ]

อนึ่ง เพื่อแสดงความเป็นไปในผลสมาบัติของพระอริยผลนั้น มีปัญหากรรม (คือการทำคำถาม) อยู่ (5ข้อ) ดังนี้ คือ

1. ผลสมาบัติ คืออะไร ?

2. บุคคลพวกไร เข้าผลสมาบัตินั้น บุคคลพวกไรไม่เข้า

3. เข้า (ผลสมาบัติ) เพื่ออะไร

4. การเข้าผลสมาบัตินั้น เป็นอย่างไร การตั้งอยู่เป็นอย่างไร การออกเป็นอย่างไร

5. อะไรเป็นลำดับของผลจิต และผลจิตเป็นลำดับของอะไร

ในปัญหากรรมทั้งหลายนั้น

ข้อ 1. ที่ว่า "ผลสมาบัติคืออะไร" คือการเข้าอยู่ในความดับ (นิโรธ คือพระนิพพาน) ของอริยผลจิต

ข้อ 2. ที่ว่า "บุคคลพวกไร เข้าผลสมาบัตินั้น พวกไรไม่เข้า" ในข้อนี้ มีความตกลง ดังนี้ "ปุถุชนทั้งหลายแม้ทั้งปวงไม่เข้า เพราะเหตุไร ? เพราะมิได้บรรลุ ส่วนพระอริยะ

(หน้าที่ 446)

ทั้งหลายแม้ทุกท่าน เข้า (ผลสมาบัติ) เพราะเหตุไร ? เพราะท่านได้บรรลุแล้ว แต่ว่า พระอริยบุคคลชั้นสูง ไม่เข้าผลสมาบัติชั้นต่ำ เพราะ (พระอริยบุคคลชั้นสูง) ท่านมีกิเลสสังโยชน์เบื้องตำระงับไปด้วยการเข้าถึงความเป็น (พระอริย) บุคคลอื่น และพระอริยบุคคลชั้นต่ำ ก็ไม่เข้าผลสมาบัติชั้นสูง เพราะท่านยังมิได้บรรลุ แต่พระอริยบุคคลทั้งหลาย ท่านเข้าผลสมาบัติ (ตามขั้น) ของตนๆเท่านั้น" ดังนี้

แต่ทว่า ท่านเกจิอาจารย์ทั้งหลาย กล่าว่า "ถึงแม้พระโสดาบันและพระสกทาคามีก็ไม่เข้า (ผลสมาบัติ) เฉพาะพระอริยบุคคลชั้นสูง (พระอนาคามีและพระอรหันต์) 2 จำพวกเท่านั้น เข้าผลสมาบัติ" และเหตุผลของเกจิอาจารย์เหล่านั้น มีว่าดังนี้ คือ "เพราะพระอริยบุคคลชั้นสูงทั้ง 2 จำพวกเหล่านี้ เป็นผู้กระทำให้บริบูรณ์สมาธิ" คำของพวกเกจิอาจารย์นั้นไม่เป็นเหตุผลเลย เพราะแม้แต่ปุถุชนยังเข้าโลกียสมาธิที่ตนเองได้แล้ว และประโยชน์อะไรด้วยการคิดว่ามีเหตุผลและไม่เป็นเหตุผลในข้อนี้ ในพระบาลีเองท่านก็กล่าวไว้แล้วมิใช่หรือว่า "โคตรภธรรม 10 บังเกิดขึ้นด้วยอำนาจวิปัสสนา คืออะไรบ้าง ? คือญาณ ชื่อว่าโคตร3 เพราะครอบงำ ความบังเกิด ความเป็นไป….ฯลฯ….ความคับแค้นใจ นิมิต คือสังขารภายนอก เพื่อมุ่งหมายได้เฉพาะซึ่งโสดาปัตติมรรค ชื่อว่าโคตรภู เพราะครอบงำ ความบังเกิด….ฯลฯ…..นิมิตคือสังขารภายนอก เพื่อต้องการเข้าโสดาปัตติผลสมาบัติ….เพื่อมุ่งหมายได้เฉพาะซึ่งสกทาคามิมรรค….ฯลฯ….เพื่อต้องการเข้าอรหันตตผลสมาบัติ….เพื่อต้องการเข้าสุญญตวิหารสมาบัติ….เพื่อต้องการเข้าอนิมิตตผลสมาบัติ" ดังนี้ เพราะฉะนั้น ควรถึงความตกลงในข้อนี้ได้ว่า "พระอริยเจ้าแม้ทุกท่านเข้าผลสมาบัติของตนๆ"

ข้อ 3. ที่ว่า "เข้า (ผลสมาบัติ) เพื่ออะไร" ตอบว่า "เพื่ออยู่เป็นสุขในทิฏฐธรรม (คือในชีวิตปัจจุบันนี้) เปรียบเหมือนพระราชาทรงเสวยสุขในราชสมบัติ (และ) เทวดาทั้งหลายก็เสวยสุขในทิพยสมบัติฉันใด พระอริยเจ้าทั้งหลาย ท่านคิดว่าจักเสวยโลกุตตรสุขขั้นอริยะแล้วทำการกำหนดเวลา (ก่อน) แล้วเข้าผลสมาบัติ ในขณะที่ท่านปรารถนาต้องการ

ข้อ 4. ที่ว่า "การเข้าผลสมาบัตินั้น เป็นอย่างไร การตั้งอยู่เป็นอย่างไร การออกเป็นอย่างไร" ตอบว่า ก่อนอื่น การเข้าผลสมาบัตินั้น มีอยู่โดย 2 อาการ คือเพราะ

(หน้าที่ 447)

ไม่มนสิการอารมณ์อื่น นอกจากพระนิพพาน 1 เพราะมนสิการแต่พระนิพพาน 1สมดังท่านพระมหาสารีบุตรเถระกล่าว (ตอบท่านมหาโกฏฐิกเถระ) ว่า "อาวุโส ปัจจัยของการเข้า เจโตวิมุตติ ซึ่งไม่มีนิมิต (คือพระนิพพาน) มี 2 ประการแล คือไม่มนสิการนิมิตทั้งปวง 1 มนสิการแต่ธาตุซึ่งไม่มีนิมิต 1" ดังนี้ แต่ทว่า ในผลสมาบัตินั้น มีลำดับของการเข้า ดังนี้

จริงอยู่ พระอริยสาวก ผู้มีความประสงค์จะเข้าผลสมาบัติ ต้องไปอยู่ในที่ลับ ปลีกตนอยู่โดยเฉพาะ กำหนดเห็นสังขารทั้งหลายด้วยวิปัสสนาญาณ มีอุทยพยญาณเป็นต้น เมื่อพระอริยสาวกนั้นมีวิปัสสนาญาณดำเนินไปโดยลำดับ ครั้นในลำดับของโคตรภูญาณ ซึ่งมีสังขารเป็นอารมณ์ จิตก็เข้าอยู่ในความดับ (นิโรธ) ด้วยสามารถผลสมาบัติ อนึ่ง ในการเข้าผลสมาบัตินี้ ผลจิตเท่านั้นบังเกิดขึ้นแม้แก่พระเสขะ เพราะเป็นผูมีจิตน้อมไปในผลสมาบัติอยู่แล้ว มรรคจิตหาเกิดไม่

แต่ทว่า พระอาจารย์ทั้งหลายเหล่าใด กล่าวว่า "พระโสดาบันครั้นคิดว่า ฉันจักเข้าผลสมาบัติ แล้วตั้งต้นวิปัสสนาไปก็เป็นพระสกทาคามีคิดว่า ฉันจักเข้าผลสมาบัติ แล้วเริ่มเจริญวิปัสสนาไปก็เป็นพระอนาคามี" ดังยนี้ ควรกล่าวกะพระอาจารย์ทั้งหลายเหล่านั้นว่า "เมื่อเป็นอย่างนั้น พระอนาคามีก็จักเป็นพระอรหันต์ พระอรหันต์ก็จัก เป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า และพระปัจเจกพุทธเจ้าก็จักเป็นพระพุทธเจ้า" เพราะฉะนั้น คำไรๆ ของพระอาจารย์ทั้งหลายนี้แม้มิได้ถูกปฏิเสธไว้ด้วยพระบาลีโดยตรงก็มิควรยึดถือแม้ด้วยประการฉะนี้ แต่ว่าควรยึดถือดังต่อไปนี้เท่านั้น คือว่า "ผลจิตเท่านั้นเกิดขึ้นแม้แก่พระเสขะมรรคจิตหาเกิดขึ้นไม่ และผลจิตของพระเสขะนั้น ถ้ามรรคที่พระเสขะนี้บรรลุเป็นมรรคอยู่ในระดับปฐมฌาน ผลจิตเป็นไปในระดับปฐมฌานเท่านั้นบังเกิดขึ้น ถ้ามรรคที่บรรลุอยู่ในระดับของฌานใดฌานหนึ่งมีทุติยฌานเป็นต้น ผลจิตก็เป็นไปในระดับของฌานใดฌานหนึ่งมีทุติยฌานเป็นต้นเช่นกัน บังเกิดขึ้น" ดังนี้

การเข้าผลมาบัตินั้น มีอยู่ด้วยอาการดังกล่าวนี้ก่อน

(หน้าที่ 448)

ส่วนการตั้งอยู่ของผลสมาบัตินั้น มีอยู่โดยอาการ 3 อย่าง ตามคำ (ของท่านพระสารีบุตรเถระ) ว่า "อาวุโส ปัจจัยของการตั้งอยู่ของเจโตวิมุตติ ซึ่งหานิมิตมิได้ มี 3 ประการแล คือไม่มนสิการนิมิต (สังขาร) ทั้งปวง 1 มนสิการ (นิพพาน) ธาตุ ซึ่งไม่มีนิมิต 1 และกระทำกำหนดไว้ก่อน 1" ดังนี้ คำว่า "กระทำกำหนดไว้ก่อน" ในคำของท่านพระสารีบุตรเถระนั้น หมายความว่า การกำหนดกาลเวลาไว้ก่อนเข้าผลสมาบัติ อธิบายว่า เพราะพระอริยสาวกนั้นกำหนดไว้ว่า "ฉันจักออกในกาลเวลาชื่อโน้น" กาลเวลา (ที่กำหนดไว้) นั้น ยังไม่มาถึงเพียงใด การตั้งอยู่ (ของผลสมาบัติ) ก็มีอยู่เพียงนั้น การตั้งอยู่ของผลสมาบัตินั้นมีอยู่อย่างนี้แล

แต่การออกผลของสมาบัตินั้น มีอยู่โดยอาการ 2 อย่าง ตามคำ (ของท่านพระสารีบุตรเถระ) ว่า "อาวุโส ปัจจัยของการออกของเจโตวิมุตติ ซึ่งไม่มีนิมิต มี 2 ประการแล คือมนสิการนิมิตทั้งปวง 1 ไม่มนสิการ (นิพพาน) ธาตุซึ่งไม่มีนิมิต 1" ดังนี้ ในคำ (ของท่านพระสารีบุตรเถระ) นั้น คำว่า "นิมิตทั้งปวง" หมายถึง นิมิตคือรูป นิมิตคือเวทนา นิมิตคือสัญญา นิมิตคือสังขาร และนิมิตคือวิญญาณ อนึ่ง พระอริยสาวกมิได้มนสิการนิมิตทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้โดยรวมเป็นอันเดียวกันก็จริง แต่ท่านกล่าวคำว่า "นิมิตทั้งปวง" นี้ไว้ โดยการรวมความไว้ทุกประการ เพราะฉะนั้น นิมิตใดเป็นอารมณ์ของภวังค์ เมื่อพระอริยสาวก มนสิการนิมิตนั้นก็เป็นการออกจากผลสมาบัติด้วยประการฉะนี้

พึงทราบการออกของผลสมาบัตินั้นด้วยอาการดังกล่าวนี้

ข้อที่ 5. ที่ว่า อะไรเป็นลำดับของผลจิต และผลจิตเป็นลำดับของอะไร" ตอบว่า ก่อนอื่น ผลจิตนั่นและเป็นลำดับของผลจิต หรือว่าภวังค์เป็นลำดับของผลจิต แต่ผลจิตมาเป็นลำดับของมรรคก็มีเป็นลำดับของผลจิตก็มีเป็นลำดับของโคตรภูก็มีเป็นลำดับของเนวสัญญานาสัญญายตนะก็มีในผลจิตทั้งหลายนั้น (ถ้าเป็น) ในมรรควิถี ผลจิตเป็นลำดับของมรรค ผลจิตหลังๆมาเป็นลำดับของผลจิตก่อนๆ (แต่) ในผลสมาบัติ ผลจิตข้างหน้าๆ มาเป็นลำดับของโคตรภู และพึงทราบว่า ในผลสมาบัตินี้ อนุโลมญาณ คือโคตรภู เพราะพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตรัสคำนี้ไว้ในคัมภีร์ปัฏฐานว่า "อนุโลมญาณของพระอรหันต์ เป็นปัจจัยโดยอนันตรปัจจัยแก่ผลสมาบัติ" "อนุโลมญาณของพระเสขะทั้งหลาย เป็นปัจจัย

(หน้าที่ 449)

โดยอนันตรปัจจัยแก่ผลสมาบัติ" ดังนี้ การออกจากความดับ (นิโรธ) มีด้วยผลจิตใดผลจิตนั้น มาเป็นลำดับของเนวสัญญานาสัญญายตนะ ดังนี้แล ในผลจิตทั้งหลายนั้น ยกเว้นผลจิตที่บังเกิดในมรรควิถีเสียแล้ว ผลจิตที่เหลือนอกนั้นทั้งหมด ชื่อว่าเป็นไปด้วยอำนาจผลสมาบัติ (แต่) จะด้วยการบังเกิดขึ้น ในมรรควิถี หรือในผลสมาบัติก็ตาม (ท่านกล่าวไว้ว่า)

ปฏิปฺปสฺสทฺธทรถํ อมตารมฺมณํ สุภํ

วนฺตโลกามิสํ สนฺตํ สามญฺญผลมุตฺตมํ.

โอชวนฺเตน สุจินา สุเขน อภิสนฺทิตํ

เยน สาตาติสาเตน อมเตน มธํ วิย.

ตํ สุขนฺตสฺส อริยสฺส รสภูตมนุตฺตรํ

ผลสฺส ปญฺญํ ภาเวตฺวา ยสฺมา วินฺทติ ปณฺฑิโต.

ตสฺมา อริยผลสฺเสตํ รสานุภวนํ อิธ

วิปสฺสนาภาวนาย อานิสํโสติ วุจฺจติ.

แปลความว่า

สามัญญผลอันประเสริฐสุดยอด ระงับความทุกข์ทน

กระวนกระวาย คายกามารมณ์เครื่องล่อใจของโลกออกไป

มีอมตนิพพานเป็นอารมณ์ สงบ ผ่องใส ท่วมท้นด้วย

ความสุข บริสุทธิ์ มีโอชะ แช่มชื่นอ่อนหวานเป็นอย่างยิ่ง

ประดุจน้ำหวานที่เจือปนด้วยน้ำอมฤต เพราะเหตุที่ท่าน

บัณฑิตได้ทำวิปัสสนาปัญญาให้เกิดขึ้น จึงประสบความสุข

อันประเสริฐยิ่งนั้น ซึ่งเป็นรสของอริยมรรคนั้น เพราะ

ฉะนั้น ท่านจึงกล่าวในที่นี้ว่า การเสวยรสของพระอริยผล

ดังกล่าวนี้ เป็นอานิสงส์ของวิปัสสนาภาวนา

(หน้าที่ 450)

[3. นิโรธสมาปตฺติสมาปชฺชนสมตฺถตา-

สามารถเข้านิโรธสมาบัติได้]

ข้อว่า "สามารถเข้านิโรธสมาบัติได้" หมายถึงว่า มีเพียงแต่เสวยรสของพระอริยผลอย่างเดียวเท่านั้น แต่พึงทราบว่าแม้ความสามารถในการเข้านิโรธสมาบัติก็เป็นอานิสงส์ ของปัญญาภาวนานี้ด้วย

ในคำสังเขปความว่า "สามารถเข้านิโรธสมาบัติได้" นั้น เพื่อเข้าใจแจ่มแจ้งเรื่องนิโรธสมาบัติ มีปัญหากรรมอยู่ (8ข้อ) ดังนี้ คือ

1. นิโรธสมาบัติ คืออะไร

2. บุคคลพวกไรที่เข้านิโรธสมาบัตินั้นได้ พวกไรเข้าไม่ได้

3. เข้าได้ในภพไหน

4. เข้าเพื่ออะไร

5. การเข้านิโรธสมาบัตินั้น เป็นอย่างไร การตั้งอยู่เป็นอย่างไร การออกเป็นอย่างไร

6. จิตของผู้ออกแล้ว (จากนิโรธสมาบัติ) น้อมไปในอะไร

7. คนตายแล้ว กับท่านผู้เข้านิโรธสมาบัติ มีความตางกันอย่างไร

8. นิโรธสมนาบัติ เป็นสังขตะ เป็นโลกิยะ หรือโลกุตตระ เป็นนิปผันนะ (สำเร็จ) หรืออนิปผันนะ (ไม่สำเร็จ)

ในปัญหากรรม (ทั้ง 8) นั้น

ข้อ 1 ที่ว่า "นิโรธสมาบัติคืออะไร คือความไม่เป็นไปของธรรมทั้งหลาย คือจิตและเจตสิกด้วยการดับไปโดยลำดับ

ข้อ 2. ที่ว่า "บุคคลพวกไรเข้านิโรธสมาบัตินั้นได้ พวกไรเข้าไม่ได้" ตอบว่า ปุถุชนทั้งหลายแม้ทั้งปวง พระโสดาบันและพระสกทาคามีทั้งหลายทั้งปวง และพระอนาคามีกับ

(หน้าที่ 451)

ทั้งพระอรหันต์ทั้งหลายที่เป็นสุกขวิปัสสกเข้าไม่ได้ แต่พระอนาคามีทั้งหลายและพระอรหันตขีณาสพทั้งหลายผู้ได้สมาบัติ 8 เข้านิโรธสมาบัติได้ เพราะท่านกล่าวไว้ว่า "ปัญญาในความเป็นผู้มีความชำนาญด้วยญาณจริยา 16 ด้วยสมาธิจริยา 9 เพราะเป็นผู้ประกอบด้วยพละ 2 และเพราะความสงบไปแห่งสังขาร 3 ชื่อว่า ญาณในการเข้านิโรธสมาบัติ" และสัมปทา (คือการเข้านิโรธสมาบัติได้) นี้ นอกจากพระอนาคามีและพระขีณาสพทั้งหลายผู้ได้สมาบัติ 8 แล้ว บุคคลทั้หลายอื่นหามีไม่ เพราะฉะนั้น พระอนาคามีและพระขีณาสพทั้งหลายผู้ได้สมาบัติ 8 เหล่านั้นเท่านั้น เข้า (นิโรธสมาบัติ) ได้ บุคคลทั้งหลายอื่นเข้าไม่ได้

[อธิบายพละ 2 สังขาร 3 ญาณจริยา 16 สมาธิจริยา 9 และวสี 5]

ถามว่า "แต่พละ (กำลัง) 2 ในที่นี้ คืออะไรบ้าง สังขาร 3 เป็นไฉน ญาณจริยา 16 คืออะไรบ้าง สมาธิจริยา 9 คืออะไรบ้าง ความเป็นผู้มีความชำนาญ (วสี) เป็นไฉน" ดังนี้

ตอบว่า "คำไร ๆ ที่เราจะต้องกล่าวตอบในคำถามนี้ หามีไม่ คำตอบทั้งหมดนี้ ท่านได้กล่าวไว้ในนิทเทสของอุเทศนี้เรียบร้อยแล้ว ดังบาลี (ในปฏิสัมภิทามรรค แปลความ) ว่า

[สมถพละ]

คำว่า "ด้วยพละ 2" ได้แก่ พละ 2 คือสมถพละ (กำลังของสมถะ) 1 วิปัสสนาพละ (กำลังของวิปัสสนา) 1 สมถพละ เป็นไฉน คือความที่จิตมีอารมณ์เดียว ความไม่ฟุ้งซ่านด้วยเนกขัมมะ (สังกัปปะ) ชื่อว่า สมถพละ ความที่จิตมีอารมณืเดียว ความไม่ฟุ้งซ่านด้วย ความไม่มีพยาบาท….ด้วยอาโลกสัญญา….ด้วยอวิกเขปะ (ความไม่ฟุ้งซ่าน)….ฯลฯ….ด้วย เป็นผู้ตามเห็นเนืองๆ ด้วยการสลัดทิ้งไปหายใจเข้า…ด้วยเป็นผู้ตามเห็นเนืองๆ ด้วยการสลัดทิ้งไปหายใจออก ชื่อว่า สมถพละ

สมภพละ ในคำ "สมถพละ" ดังนี้โดยความหมายว่ากระไร ชื่อว่า สมถพละ เพราะไม่หวั่นไหวไปในเพราะนิวรณ์ด้วยปฐมญาณ ชื่อว่า สมถพละ เพราะไม่หวั่นไหวไปในวิตกและ

(หน้าที่ 452)

วิจารด้วยทุติยญาณ….ฯลฯ….ชื่อว่าสมถพละ เพราะไม่หวั่นไหวไปในเพราะอากิญจัญญายตนสัญญาด้วยเนวสัญญานาสัญญายตนสมาบัติ ชื่อว่าสมถพละ เพราะไม่หวั่นไหวไปไม่เคลื่อนไป ไม่สั่นสะเทือนไป ในเพราะอุทธัจจะ และในเพราะกิเลสอันเป็นไปกับด้วย อุทธัจจะแลในเพราะขันธ์ (ที่สัมปยุติด้วยอุทธัจจะ)

[วิปัสสนาพละ]

"วิปัสสนาพละ เป็นไฉน คืออนิจจานุปัสสนา (ความเห็นเนืองๆโดยความไม่เที่ยง) ชื่อว่า วิปัสสนาพละ ทุกขานุปัสสนา (ความเห็นเนืองๆโดยความเป็นทุกข์)….อนัตตานุปัสสนา (ความเห็นเนืองๆโดยความเป็นอนัตตา)…..นิพพิทานุปัสสนา (ความเห็นเนืองๆด้วยความเบื่อหน่าย)….วิราคานุปัสสนา (ความเห็นเนืองๆ ด้วยความปราศจากกำหนัด)…..นิโรธานุปัสสนา (ความเห็นเนืองๆด้วยความดับ)….ปฏินิสสัคคานุปัสสนา (ความเห็นเนืองๆด้วยการสลัดทิ้งไป) ชื่อว่าวิปัสสนาพละ ความเห็นเนืองๆโดยความไม่เที่ยงในรูป….ความเห็นเนืองๆ ด้วยความสลัดทิ้งไปในรูป ชื่อว่าวิปัสสนาพละ ความเห็นเนืองๆ โดยความไม่เที่ยงใน เวทนา….ในสัญญา…ในสังขารทั้งหลาย…ในวิญญาณ….ฯลฯ….ในจักษุ….ในชราและมรณะ….ความเห็นเนืองๆ ด้วยการสลัดทิ้งไป…..ในชราและมรณะ ชื่อว่า วิปัสสนาพละ

"วิปัสสนาพละ ในคำว่า "วิปัสสนาพล" ดังนี้โดยความหมายว่ากระไร ชื่อว่าวิปัสสนาพละ เพราะไม่หวั่นไหวไปในนิจจสัญญา (ความสำคัญว่าเที่ยง) ด้วย อนิจจานุปัสสนา….เพราะไม่หวั่นไหวไปในสุขสัญญา (ความสำคัญว่าสุข) ด้วย ทุกขานุปัสสนา….เพราะไม่หวั่นไหวไปในอัตตสัญญา (ความสำคัญว่ามีอัตตา) ด้วยอนัตตานุปัสสนา….เพราะไม่หวั่นไหวไปในความเพลิดเพลินด้วยนิพพิทานุปัสสนา…..เพราะไม่หวั่นไหวไปในราคะ ด้วยวิราคานุปัสสนา …..เพราะไม่หวั่นไหวไปในสมุทัย ด้วยนิโรธานุปัสสนา….ชื่อว่าวิปัสสนาพละ เพราะไม่หวั่นไหวไปในความยึดถือไว้ ด้วยปฏินิสสัคคนุปัสสนา ชื่อว่านุปัสสนาพละ เพราะไม่หวั่นไหว ไม่เคลื่อนไป ไม่สั่นสะเทือนไป ในอวิชชา และในกิเลสอันเป็นไปกับด้วยอวิชชา และในขันธ์ (อันสัมปยุตด้วยอวิชชา) นี้ คือวิปัสสนาพละ

(หน้าที่ 453)

[สังขาร 3]

คำว่า "เพราะความสงบไปแห่งสังขาร 3" ถามว่า เพราะความสงบไปแห่งสังขาร 3 เหล่าไหน ตอบว่า วจีสังขาร คือวิตกและวิจารของท่านผู้เข้าทุติยญาณ เป็นอันสงบไปแล้ว 1 กายสังขาร คือลมหายใจเข้าและลมหายใจออกของท่านผู้เขาจตุตถญาณ เป็นอันสงบไปแล้ว 1 จิตตสังขาร คือสัญญาและเวทนาของท่านผู้สัญญาเวทยิตนิโรธ เป็นอันสงบไปแล้ว 1 เพราะความสงบไปแห่งสังขารทั้งหลาย 3 เหล่านี้

[ญาณจริยา 16]

คำว่า "ด้วยญาณจริยา 16" ถามว่า ด้วยญาณจริยา 16 เหล่าไหน ตอบว่า อนิจจานุปัสสนา ชื่อว่าญาณจริยา 1 ทุกขานุปัสสนา ชื่อว่า…..1 อนัตตานุปัสสนา….1 นิพพิทานุปัสสนา….1 วิราคานุปัสสนา….1 นิโรธานุปัสสนา….1 ปฏินิสสัคคานุปัสสนา….1 วิวัฏฏานุปัสสนา ชื่อว่าญาณจริยา 1 โสดาปัตติมรรค ชื่อว่าญาณจริยา 1 โสดาปัตติผลสมาบัติ ชื่อว่าญาณจริยา 1 สกทาคามิมรรค….1 สกทาคามิผลสมาบัติ….1 อนาคามิมรรค 1…..อนาคามิผลสมาบัติ….1 อรหัตตมรรค….1 อรหัตตผลสมาบัติ ชื่อว่าญาณจริยา 1 ด้วยญาณจริยา 16 เหล่านี้

[สมาธิจริยา 9]

คำว่า "ด้วยสมาธิจริยา 9" ถามว่า ด้วยสมาธิจริยา 9 เหล่าไหน" ตอบว่า ปฐมฌาน ชื่อว่า สมาธิจริยา 1 ทุติยฌาน….1 ฯลฯ เนวสัญญานาสัญญายตนสมาบัติ ชื่อว่าสมาธิจริยา 1 วิตก วิจาร ปีติ สุข และจิตเตกัคคตา เพื่อมุ่งหมายได้ปฐมฌาน….ฯลฯ….วิตก วิจาร ปีติ สุข และจิตเตกัคคตา เพื่อมุ่งหมายได้เนวสัญญานาสัญญายตนสมาบัติ 1 (รวมกับอุปจารสมาธิของสมาบัติ 8 อีก 1) ด้วยสมาธิจริยา 9 เหล่านี้

[วสี 5]

คำว่า "วสี – มีความชำนาญ" หมายถึง วสี 5 คือ

(หน้าที่ 454)

1. อาวัชชนวสี ความชำนาญในการรำลึก

2. สมาปัชชนวสี ความชำนาญในการเข้า

3. อธิฏฐานสี ความชำนาญในการตั้งอยู่

4. วุฏฐานวสี ความชำนาญในการออก

5. ปัจจเวกขณวสี ความชำนาญในการพิจารณาทบทวน

การรำลึกถึงปฐมฌานได้ ณ ที่ตนปรารถนา ในเวลาต้องการ ตลอดเวลาต้องการ ไม่มีความชักช้าในการรำลึก ดังนี้ เรียกว่า อาวัชชนวสี 1 เข้าปฐมฌานได้ ณ ที่ตนปรารถนา ในเวลาต้องการ ไม่มีความชักช้าในการเข้า ดังนี้ เรียกว่า สมาปัชชนวสี 1 ตั้งอยู่ (ในปฐมฌาน) ได้ ณ ที่ตนปรารถนา ในเวลาต้องการ ตลอดเวลาต้องการไม่มีความชักช้าในการตั้งอยู่ ดังนี้ เรียกว่า อธิฏฐานวสี 1 ออก (จากปฐมฌาน) ได้ ณ ที่ตนปรารถนาในเวลาต้องการ ตลอดเวลาต้องการ ไม่มีความชักช้าในการออก ดังนี้ เรียกว่า วุฏฐานวสี 1 พิจารณาทบทวน (ปฐมฌาน) ได้ ณ ที่ตนปรารถนา ในเวลาต้องการ ตลอดเวลาต้องการ ไม่มีความชักช้าในการพิจารณาทบทวน ดังนี้ เรียกว่า ปัจจเวกขณวสี 1 รำลึกถึงทุติยฌาน….ฯลฯ….ถึงเนวสัญญานาสัญญายตนสมาบัติได้ ณ ที่ตนปรารถนา ในเวลาต้องการ ตลอดเวลาต้องการ….ฯลฯ….พิจารณาทบทวน….ไม่มีความชักช้าในการพิจารณาทบทวน ดังนี้ เรียกว่า ปัจจเวกขณวสี 1 วสี มี 5" ดังนี้แล

ความจริง นิทเทสของคำว่า "ด้วยญาณจริยา 16" นี้ ในบาลี (ปฏิสัมภิทามรรคข้างต้น) นั้น เป็นนิทเทสสูงสุด (รวมยอดทั้งหมด) แต่ว่า พระอนาคามีท่านมีปัญญาในความเป็นผู้ชำนาญ (วสีภาวตาปัญญา) ด้วยญาณจริยา 14 (ไม่ถึง 16 เพราะท่านยังมิได้บรรลุมรรคและผลสุดยอด คือพระอรหัตต์) หากมีคำถามว่า "ถ้าอย่างนั้น พระสกท่คามีก็ไม่มีวสีภาวตาปัญญาด้วยญาณจริยา 12 และพระโสดาบันก็ไม่มีด้วยญาณจริยา 10 หรือ" ตอบว่า (พระสกทาคามีและพระโสดาบัน) ท่านไม่มีวสีภาวตาปัญญา เพราะท่านยังละราคะมีกามคุณ 5 อันเป็นวัตถุที่ตั้งซึ่งเป็นอันตรายแก่สมาธิไม่ได้ เพราะท่านละราคะมีกามคุณ 5 อันเป็นที่ตั้งนั้นไม่ได้ เพราะฉะนั้น สมถพละ (ของพระสกทาคามีและพระโสดาบัน) จึงยังไม่บริบูรณ์

(หน้าที่ 455)

เมื่อสมถพละนั้นไม่บริบูรณ์ ท่านก็หาสามารถเข้านิโรธสมาบัติที่ต้องเข้าด้วยพละ 2 ได้ไม่ส่วนพระอนาคามีท่านละราคะนั้นได้แล้ว เพราะฉะนั้น พระอนาคามีนี้ จึงเป็นผู้มีพละบริบูรณ์ ท่านสามารถเข้านิโรธสมาบัติได้ เพราะความเป็นผู้มีพละ (ทั้ง 2) บริบูรณ์ เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงตรัสไว้ว่า "เนวสัญญานาสัญญายตนกุศลของพระอนาคามีผู้ออกจากนิโรธ เป็นปัจจัยโดยอนันตรปัจจัย แก่การเข้าผลสมาบัติ" จริงอยู่ คำนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตรัสไว้ในปัฏฐานมหาปกรณ์ ทรงหมายถึงการออกจากนิโรธของพระอนาคามีโดยเฉพาะ ฉะนี้แล

ข้อ 3. ที่ว่า "เข้าได้ในภพไหน" ตอบว่า "ในปัญจโวการภพ (ถามว่า) เพราะเหตุไร (ตอบ) เพราะเป็นสภาพของสมาบัติโดยลำดับ (อนุปุพพสมาปัตติ) ส่วนในจตุโวการภพ (อรูปภพ) รูปสมาบัติทั้งหลายมีปฐมฌานเป็นต้นไม่บังเกิดขึ้น เพราะฉะนั้น จึงไม่สามารถเข้า (นิโรธสมาบัติ) ในภพนั้นได้" แต่บรรดาเกจิอาจารย์ทั้งหลายกล่าวว่า "เพราะไม่มี (หทย) วัตถุ" (คือเพราะไม่มีวัตถุ คือกรชกาย)

ข้อ 4. ที่ว่า "เข้าเพื่ออะไร" ตอบว่า (พระอนาคามีและพระขีณาสพผู้ได้สมาบัติ 8) ท่านเบื่อหน่ายในควงามเป็นไปและความแตกดับของสังขารทั้งหลาย จึงคิดว่า "เราจักเป็นผู้ไม่มีจิตบรรลุความดับคล้ายพระนิพพาน อยู่เป็นสุขในทิฏฐธรรมนี้เสียเลย" แล้วเข้า (นิโรธสมาบัติ)

ข้อ 5. ที่ว่า "และการเข้านิโรธสมาบัตนั้นเป็นอย่างไร" ตอบว่า (การเข้านิโรธสมาบัติเป็นของพระอนาคามีและพระอรหันต์ที่ได้สมาบัติ 8) ผู้เพียรพยายามโดยทางสมถะและวิปัสสนา ซึ่งทำบุพพกิจ (กิจเบื้องต้น) แล้ว ทำเนวสัญญานาสัญญายตน (สมาบัติ) ให้ดับไปการเข้านิโรธสามบัตินั้น มีอยู่ด้วยอาการอย่างนี้

เพราะว่าท่านผู้เพียรพยายามโดยทางสมถะอย่างเดียว ท่านผู้นั้นครั้นบรรลุเนวสัญญานาสัญญายตนะสมาบัติแล้วก็ยับยั้งอยู่ ส่วนท่านผู้เพียรพยายามโดยทางวิปัสสนาอย่างเดียว ครั้นบรรลุผลสมาบัติแล้วก็ยับยั้งอยู่ แต่ท่านผู้เพียรพยายามโดยทาง (สมถะและวิปัสสนา) ทั้งสองนั่นแล ครั้นทำบุพกิจแล้ว ทำเนวสัญญานาสัญญายตนสมาบัติให้ดับไป ท่านผู้นั้น

(หน้าที่ 456)

เข้านิโรธสมาบัตินั้นได้ นี้คือความสังเขป ในการเข้านิโรธสมาบัตินี้ ด้วยประการฉะนี้ ส่วนความพิสดารมีดังต่อไปนี้

พระภิกษุในพระศาสนานี้ มีความปรารถนาจะเข้านิโรธสมาบัติ ทำภัตกิจ (ฉันอาหาร) แล้ว ล้างมือและเท่าดีแล้ว นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง เข้าไปตั้งสติไว้เฉพาะหน้า อยู่บนอาสนะที่ปูลาดไว้ดีแล้วง ในโอกาส (สถานที่) เงียบสงัด พระภิกษุนั้นเข้าปฐมฌาน แล้วออก (จากปฐมฌานนั้น) กำหนดเห็นด้วยวิปัสสนา ซึ่งสังขารทั้งหลาย ในปฐมฌานนั้นโดยความไม่เที่ยง โดยความเป็นทุกข์ โดยความเป็นอนัตตา

[วิปัสสนา 3]

แต่วิปัสสนา นี้ มี 3 อย่าง คือ

1. สังขารปริคัณหณกวิปัสสนา วิปัสสนากำหนดรู้สังขาร

2. ผลสมาปัตติวิปัสสนา วิปัสสนาของผลสมาบัติ

3. นิรธสมาปัตติวิปัสสนา วิปัสสนาของนิโรธสมาบัติ

ในวิปัสสนา 3 อย่างนั้น วิปัสสนากำหนดรู้สังขาร เป็นอย่างอ่อนหรืออย่างแก่ก็ตาม เป็นปทัฏฐาน (ทางบรรลุ) แห่งมรรคด้วยเช่นกัน วิปัสสนาของผลสมาบัติ ต้องเป็นอย่างแก่จริงๆ เช่นเดียวกับมรรคภาวนาจึงใช้ได้ แต่วิปัสสนาของนิโรธสมาบัติ ต้องไม่อ่อนเกินไป ไม่แก่เกินไป จึงใช้ได้

เพราะฉะนั้น พระภิกษุนี้จึงกำหนดเห็นสังขารทั้งหลายเหล่านั้นด้วยวิปัสสนา ซึ่งไม่อ่อนเกินไป ไม่แก่เกินไป จากนั้นก้เข้าทุติยญาณ ครั้นออกแล้ว กำหนดเห็นด้วยวิปัสสนาซึ่งสังขารทั้งหลาย ในทุติยญาณนั้น เหมือน (เมื่อออกจากปฐมฌาน) อย่างนั้นแหละ จากนั้นก็เข้าวิปัสสนา ซึ่งสังขารทั้งหลาย ในวิญญาณนัญจายตนะเหมือนอย่างนั้นแหละ

[บุพพกิจ 4 ในการเข้านิโรธสมาบัติ]

ในลำดับนั้นก็เข้าอากิญจัญญายตนะ ครั้นออกแล้ว จึงกระทำบุพพกิจ (กิจเบื้องต้น) 4 อย่าง คือ

(หน้าที่ 457)

1. นานาพัทธอวิโกปนะ ไม่ทำให้สิ่งของที่เนื่องด้วยพระภิกษุต่างๆเสียหาย

2. สังฆปฏิมานนะ การรอคอยของสงฆ์

3. สัตถุปักโกสนะ การทรงมีรับสั่งหาของพระบรมศาสดา

4. อัทธานปริจเฉท กำหนดเวลา

[1. ไม่ทำให้สิ่งของเนื่องด้วยพระภิกษุต่างๆเสียหาย]

ในบุพพกิจ 4 อย่างนั้น ข้อว่า "ไม่ทำสิ่งของเนื่องด้วยพระภิกษุต่างๆเสียหาย" ความว่า วัตถุใด มิใช่เป็นของเกี่ยวเนื่องแต่ผู้เดียวกับพระภิกษุ (ผู้เข้านิโรธสมาบัติ) นี้ แต่เป็นของใช้เกี่ยวเนื่องกับพระภิกษุต่างๆ อยู่ด้วย (เช่น) บาตรและจีวรก็ดี เตียงและตั่งก็ดี เคหะที่อยู่อาศัยก็ดีหรือบริการไรๆ อื่นก็ดี วัตถุนั้น จะไม่เสียหาย คือจะไม่พินาศไปด้วยไฟ (ไหม้) ด้วยน้ำ (พัดไป) ด้วยลม (ทำลาย) ด้วยโจร (ลักขโมย) และหนู (กัด) เป็นต้น ด้วยประการใด ภิกษุนั้นพึงอธิษฐานไว้ด้วยประการนั้น

ในการนั้น มีวิธีอธิษฐานอย่างนี้ว่า "ภายใน 7 วันนี้ ขอวัตถุสิ่งนี้และสิ่งนี้ (ระบุชื่อสิ่งของ) จงอย่าถูกไฟไหม้ จงอย่าถูกน้ำพัดไป จงอย่าถูกลมทำลาย จงอย่าถูกพวกโจรลัก จงอย่าถูกสัตว์มีหนูเป็นต้นกัด" ครั้นอธิษฐานอย่างนี้แล้ว จะไม่มีอันตรายใดๆ แก่วัตถุนั้นตลอด 7วัน แต่เมื่อพระภิกษุนั้นไม่อธิษฐานไว้ วัตถุจักพินาศไปด้วยไฟเป็นต้น เหมือนของท่านมหานาคเถระ

เล่ากันว่า พระเถระเข้าไปบิณฑบาตในบ้านของอุบาสิกาผู้เป็นโยมมารดา อุบาสิกาถวายยาคูแล้วนิมนต์ให้ท่านนั่งในโรงฉัน พระเถระนั่งเข้านิโรธ เมื่อท่านนั่ง (เข้านิโรธ) อยู่นั้น โรงฉันถูกไฟไหม้ พระภิกษุนอกนั้นต่างถืออาสนะที่นั่งของตนๆ พากันหนีไป พวกชาวบ้านมาชุมนุมกัน ครั้นเห็นพระเถระก็พากันกล่าว (ตำหนิ) ว่า "พระสมณขี้เกียจๆ" ไฟไหม้หญ้า (มุงหลังคา) ไหม้ไม้ไผ่ และไหม้ไม้กระดาน ลุกล้อมรอบพระเถระ พวกชาวบ้านช่วยกันเอาหม้อตักนำมาดับไฟ แล้วนำเถ้าถ่านออกไปทำเป็นวงรอบ (พระเถระ) แล้วโปรยปรายดอกไม้ พากันยืนนมัสการอยู่ พระเถระออก (จากนิโรธ) ตามกาลเวลาที่ท่านกำหนดไว้ ครั้นเห็นพวกชาวบ้านเหล่านั้นก็คิดว่า "ฉันเกิดเป็นปรากฏชัดเสียแล้ว" จึงเหาะขึ้นสู่เวหาส ไปยังเกาะปิยังคุ

(หน้าที่ 458)

นี้ชื่อว่า เป็นการไม่ทำให้สิ่งของที่เนื่องด้วยพระภิกษุต่างๆเสียหาย แต่วัตถุสิ่งใดที่เป็นของเกี่ยวเนื่องแต่ตนผู้เดียว จะเป็นผ้านุ่งและผ้าห่มก็ดี เป็นอาสนะสำหรับรองนั่งก็ดี กิจด้วยอธิษฐานในวัตถุสิ่งนั้นเป็นส่วนต่างหาก หามีไม่ ท่านผู้เข้านิโรธจะคุ้มครองรักษาวัตถุสิ่งนั้นไว้ด้วยอำนาจ (ของนิโรธ) สมาบัตินั่นแล เหมือนอย่างของท่านพระสัญชีวะ อีกทั้งท่านได้กล่าวคำนี้ไว้ว่า "ฤทธิ์อันแผ่กระจายไปด้วยสมาธิของท่านพระสัญชีวะ ฤทธิ์อันแผ่กระจายไปด้วยสมาธิของท่านพระสารีบุตร" ดังนี้

[2. การรอคอยของสงฆ์]

ข้อว่า "การรอคอยของสงฆ์" หมายถึง การคอย คือการรอคอยของสงฆ์ ความว่า พระภิกษุรูปหนึ่งยังไม่มาตราบใด (สงฆ์) จะยังไม่ทำสังฆกรรมตราบนั้น และการรอคอยในที่นี้ หาใช่เป็นบุพพกิจของการเข้านิโรธนี้มิได้ แต่การรำลึกถึงการรอคอยเป็นบุพพกิจ เพราะฉะนั้น พระภิกษุผู้จะเข้านิโรธพึงรำลึกถึงอย่างนี้ว่า "เมื่อฉันนั่งเข้าในนิโรธตลอด 7 วัน ถ้าว่าสงฆ์จะมีความปรารถนาเพื่อทำกรรมทั้งหลาย มีญัตติกรรมเป็นต้น กรรมไรๆ ก็ตาม ฉันจักออก (จากนิโรธ) ทันทีทันใดที่พระภิกษุไรๆ ยังมิทันมาเรียกฉัน" เพราะว่าพระภิกษุนั้นทำอย่างนี้แล้ว จึงเข้า (นิโรธ) ก็จะออกได้ทันทีในเวลานั้น แต่พระภิกษุใดมิได้กระทำอย่างนั้น และสงฆ์ประชุมกันแล้วไม่เห็นพระภิกษุนั้น จะถามว่า "ภิกษุรูปโน้นไปไหน" ครั้นมีผู้บอกว่า "เข้านิโรธ" สงฆ์ก็จะส่งพระภิกษุรูปหนึ่งรูปใดไปตามว่า "จงเรียกพระภิกษุรูปนั้นมาตามคำของสงฆ์" ครั้นพระภิกษุ (ผู้ไปตาม) นั้น ยืนอยู่ในที่ใกล้พอที่พระภิกษุผู้เข้านิโรธนั้นจะได้ยิน แล้วเพียงแต่บอกว่า "อาวุโส สงฆ์รอคอยท่านอยู่" ดังนี้เท่านั้น การออก (จากนิโรธ) ก็มีในทันที เพราะว่า ชื่อว่าอาณาของสงฆ์ เป็นการหนักอย่างนี้ เพราะฉะนั้น พระภิกษุผู้เข้านิโรธควรรำลึกถึงการรอคอยของสงฆ์นั้น แล้วจึงเข้า (นิโรธ) โดยอาการที่จะอกได้เองทีเดียว

[3. การทรงมีรับสั่งหาของพระบรมศาสดา]

แม้ในข้อ "การทรงมีรับสั่งหาของพระบรมศาสดา" นี้ก็หมายถึง การรำลึกถึงการทรงมีรับสั่งหาของพระบรมศาสดานั่นเอง เป็น (บุพพ) กิจของพระภิกษุผู้เข้านิโรธนี้ เพราะฉะนั้น

(หน้าที่ 459)

แม้การทรงมีรับสั่งหาของพระบรมศาสดานั้น พระภิกษุก็ควรรำลึกถึงโดยอาการอย่างนี้ว่า "เมื่อข้าพเจ้านั่งเข้านิโรธอยู่ตลอด 7 วัน ถ้าพระบรมศาสดาจะทรงบัญญัติสิกขาบทในเรื่องที่เกิดขึ้น หรือว่าจะทรงแสดงธรรมในเพราะความบังเกิดเรื่องขึ้นอย่างนั้น ข้าพเจ้าจักออกทันทีในชั่วเวลาที่ใครๆ ยังไม่มาเรียกข้าพเจ้า" ดังนี้ เพราะว่าพระภิกษุนั้นครั้นทำอย่างนี้แล้วนั่ง (เข้านิโรธ) ก็จะออกได้ในเวลานั้นโดยแท้ แต่พระภิกษุใดไม่กระทำอย่างนั้น เมื่อสงฆ์ประชุมกันแล้ว และพระบรมศาสดาทรงทอดพระเนตรไมเห็นพระภิกษุนั้น ทรงมีรับสั่งถามว่า "ภิกษุรูปโน้นไปไหน" ครั้นมีพระภิกษุกราบทูลว่า "เข้านิโรธ" จะโปรดส่งพระภิกษุบางรูปไปตามด้วยพระดำรัสว่า "เธอจงไปเรียกภิกษุนั้นตามคำของเรา" ครั้นพระภิกษุนั้นไปยืนอยู่ในที่ใกล้พอที่พระภิกษุผู้เข้านิโรธนั้นจะได้ยิน แล้วเพียงแต่บอกว่า "พระบรมศาสดาทรงมีรับสั่งหาท่าน" ดังนี้เท่านั้นก็ออก (จากนิโรธ) เพราะว่าการมีรับสั่งหาของพระบรมศาสดา เป็นการหนักอย่างนี้ เพราะฉะนั้น พระภิกษุผู้เข้านิโรธพึงรำลึกถึงการทรงมีรับสั่งหาของพระบรมศาสดานั้น แล้วเข้า (นิโรธ) โดยอาการที่จะออกได้เองนั่นเทียว

[4. กำหนดกาลเวลา]

ข้อว่า "กำหนดกาลเวลา" หมายถึง กำหนดกาลเวลาของชีวิต เพาะว่าภิกษุผู้นี้ควรเป็นผู้ฉลาดอย่างดีในกาลกำหนดเวลา ต้องรำลึกดูก่อนว่า "อายุสังขารของตนจักเป็นไปได้ตลอด 7 วัน (หรือ) จักไม่เป็นไป" แล้วจึงเข้า เพราะถ้าว่า ไม่รำลึกถึงสังขารอายุซึ่งจะดับไปภายใน 7 วันก่อนแล้วเข้า (นิโรธ) ไซร้ นิโรธสมาบัติของพระภิกษุนั้นก็มิสามารถป้องกันความตายได้ พระภิกษุนั้นต้องออกจากสมาบัติไปในระหว่างนั่นเอง เพราะความตายภายในนิโรธหามีไม่ เพราะฉะนั้น พระภิกษุผู้เข้านิโรธสมาบัติพึงรำลึกกำหนดกาลเวลา (ของชีวิต) ก่อนแล้วจึงเข้า เพราะว่าบุพพกิจข้ออื่นที่เหลือ (อีก 3 อย่าง) แม้จะไม่นึกถึงก็ได้ แต่ว่ากำหนดกาลเวลา (ของชีวิต) นี้ ท่านว่า ต้องนึกถึงไว้โดยแท้

[การเข้านิโรธสมาบัติ]

พระภิกษุนั้นครั้นเข้าอากิญจัญญายตนะแล้วออก กระทำบุพพกิจ (4) นี้ ดังกล่าวนั้นแล้ว จึงเข้าเนวสัญญาสัญญายตนะ ครั้นแล้วก็ผ่านวาระจิตไป 1 หรือ 2 วาระ แล้วเป็นผู้ไม่มีจิตสัมผัสนิโรธ (ความดับ)

(หน้าที่ 460)

ถามว่า "แต่เพราะเหตุไร ถัดจิต 2 ดวงไป จิตของพระภิกษุ (ผู้เข้านิโรธ) นั้น จึงไม่เป็นไร" (ตอบว่า) "เพราะเป็นประโยคของนิโรธ" ความจริง การที่พระภิกษุนี้กระทำธรรม คือสมถะและวิปัสสนา 2 อย่างเทียมเข้าคู่กัน แล้วขึ้นสู่สมาบัติ 8 นี้ เป็นประโยคของ อนุปุพพนิโรธ (คือการดับไปของฌานมีปฐมฌานเป็นต้น และอนุปัสสนาทั้งหลายนั้นๆ โดยลำดับ) หาใช่ประโยคของการเข้าเนวสัญญานาสัญญายตนะสมาบัติไม่ เพราะเหตุนี้ จิตทั้งหลาย (ของพระภิกษุนั้น) จึงไม่เป็นไปเกินจิต 2 ดวง เพราะเป็นประโยคของนิโรธแต่ว่า พระภิกษุใดครั้นออกจากอากิญจัญญายตนะแล้ว ไม่ทำบุพพกิจ (ดังกล่าว) นี้ เข้าเนวสัญญานาสัญญายตนะไปเลย พระภิกษุนั้นมิสามารถเป็นผู้ไม่มีจิตต่อไปได้ แต่จะถอยกลับมาตั้งอยู่ในอากิญจัญญายตนะอย่างเดิม และในเรื่องนี้ ควรกล่าวถึงอุปมาด้วยบุรุษผู้ไม่เคยเดินทาง (สู่สถานที่ไม่เคยไป)

เล่ากันว่า บุรุษผู้หนึ่ง ไม่เคยเดินทางสายหนึ่ง ครั้นมาถึงลำห้วย หรือแผ่นหินซึ่งร้อนด้วยแสงแดดแผดเผาอย่างแรงกล้า ที่ทอดไว้ (เป็นสะพาน) ข้ามหล่มน้ำลึก อยู่ระหว่างทางก็ไม่ถกผ้านุ่งและผ้าห่มนั้นให้กระชับเสียก่อน ลงสู่ลำห้วยเลย ด้วยความกลัวบริขารเปียกจึงกลับมายืนอยู่ริมฝั่งข้างนี้อย่างเดิมอีก แม้ก้าวเหยียบแผ่นหินก็ร้อนเท้า จึงกลับมายืนอยู่ ณ ฝั่งนี้อย่างเดิมอีก ในอุปมานั้น เปรียบความเหมือนว่า บุรุษผู้นั้น เพราะมิได้ถกผ้านุ่งและผ้าห่มให้กระชับ พอลงไปยังลำห้วยเท่านั้น และพอก้าวเหยียบแผ่นหินที่ร้อนเท่านั้นก็ถอยกลับมายืนอยู่ ณ ฝั่งข้างนี้อย่างเดิม ฉันใด แม้โยคาวจรก็ฉันนั้น เพราะมิได้ทำบุพพกิจพอเข้าเนวสัญญานาสัญญายตนะเท่านั้นก็ (ต้อง) ถอยกลับมาตั้งอยุ่ในอากิญจัญญายตนะ แต่บุรุษผู้เคยเดินทางสายนั้นมาแล้วในกาลก่อน ครั้นมาถึงสถานที่นั้นก็นุ่งผ้าผืนหนึ่งให้กระชับ แล้วมือก็ถือผ้าอีกผืนหนึ่งไว้ ก้าวลงสู่ลำห้วย หรือทำเพียงแต่สักว่าก้าวเหยียบแผ่นหินที่ร้อนเท่านั้น แล้วเดิน (รีบข้าม) ไปทางฝั่งโน้น ฉันใด พระภิกษุผู้ทำบุพพกิจแล้วก็ฉันนั้นเหมือนกัน เข้าเนวสัญญานาสัญญายตนะก่อนแล้ว ต่อไปก็เป็นผู้ไม่มีจิตสัมผัสนิโรธอยู่

(หน้าที่ 461)

[การตั้งอยู่ของนิโรธสมาบัติ]

ข้อ 5 ที่ว่า "……การตั้งอยู่เป็นอย่างไร" ตอบว่า ก็การตั้งอยู่ของนิโรธสมาบัตินั้น ที่เข้าแล้วด้วยประการดังกล่าวมานี้ มีอยู่ด้วยกำหนดกาลเวลา และมีอยู่ด้วยไม่มีการสิ้นอายุ ไม่มีการรอคอยของสงฆ์ และไม่ทรงมีรับสั่งหาของพระบรมศาสดา

[การออกของนิโรธสมาบัติ]

ข้อ 5. ที่ว่า "….การออกเป็นอย่างไร" ตอบว่า การออกมีอยู่โดย 2 ทางอย่างนี้ คือสำหรับพระอนาคามีการออก มีด้วยการบังเกิดขึ้นของอนาคามิผลจิต สำหรับพระอรหันต์มีด้วยการบังเกิดขึ้นของอรหันตผลจิต

[จิตของผู้ออกจากนิโรธสมาบัติน้อมไปสู่พระนิพพาน]

ข้อ 6. ที่ว่า "จิตของผู้ออกแล้ว (จากนิโรธสมาบัติ) น้อมไปในอะไร" ตอบว่า น้อมไปในพระนิพพาน เป็นความจริง พระธรรมทินนาเถรีก็ได้กล่าวคำนี้ไว้ว่า "ข้าแต่วิสาขะ ผู้อาวุโส จิตของพระภิกษุผู้ออกแล้วแล จากสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ เป็นจิตน้อมไปในวิเวก (คือพระนิพพาน) โน้มไปโดยวิเวก โอนเอียงไปทางวิเวก"

[คนตายกับท่านผู้เข้านิโรธสมาบัติต่างกัน]

ข้อ 7. ที่ว่า "คนตายแล้ว กับท่านผู้เข้านิโรธสมาบัติ มีความแตกต่างกันอย่างไร" แม้ความข้อนี้ท่านก็กล่าวไว้ในพระสูตรเหมือนกัน ดังท่านพระสารีบุตรเถระกล่าวไว้ว่า "อาวุโสคนตายแล้ว ทำกาละแล้ว นี้ใด กายสังขารทั้งหลายของคนผู้นั้น ดังแล้ว ระงับแล้ว วจีสังขารทั้งหลาย….จิตตสังขารทั้งหลายดับแล้ว ระงับแล้ว อายุสิ้นสุดแล้ว ไออุ่นสงบแล้ว อินทรีย์ทั้งหลายแตกสลายแล้ว (ส่วน) พระภิกษุ ผู้เข้าสัญญาเวทยิตนิโรธนี้ใด กายสังขารทั้งหลายของพระภิกษุแม้นั้น ดับแล้ว ระงับแล้ว วจีสังขารทั้งหลาย…..จิตตสังขารทั้งหลาย ดับแล้วระงับแล้ว อายุยังไม่สิ้นสุด ไออุ่นยังไม่สงบ อินทรีย์ทั้งหลายังไม่แตกสลาย"ดังนี้

(หน้าที่ 462)

[นิโรธสมาบัติเป็นสังขตะหรืออสังขตะ….]

แต่ในคำถาข้อ 7 ที่ว่า "นิโรธสมาบัติเป็นสังขตะหรืออสังขตะ…."เป็นต้น ไม่ควรกล่าวตอบว่า เป็นสังขตะบ้าง เป็นโลกิยะบ้าง เป็นโลกุตตระบ้าง เพราะเหตุไร เพราะไม่มีอยู่ในสภาวะ แต่โดยเหตุที่นิโรธสมาบัตินั้น ชื่อว่า เป็นอันเข้าได้ด้วยอำนาจของพระอริยบุคคลผู้เข้าอยู่ เพราะฉะนั้น จะกล่าวว่า "นิปผันนะ-สำเร็จ" ก็ควรจะกล่าวว่า "อนิปผันนะ – ไม่สำเร็จ" หาควรไม่

อิติ สนฺตํ สมาปตฺตึ อิมํ อริยเสวิตํ

ทิฏฺเฐว ธมฺเม นิพฺพาน- มิติ สงฺขํ อุปาคตํ.

ภาเวตฺวา อริยปญฺญํ สมาปชฺชนฺติ ปณฺฑิตา

ยสฺมา ตสฺมา อิมิสฺสาปิ สมาปตฺติสมตฺถตา

อริยมคฺเคสุ ปญฺญาย อานิสํโสติ วุจฺจตีติ

แปลความว่า

เพราะเหตุที่บัณฑิตทั้งหลาย ทำอริย (มรรคและผล)

ปัญญาให้เกิดแล้ว เข้าสมาบัติอันสงบ ซึ่งเข้าถึงการนับว่า

เป็นนิพพาน ในทิฏฐธรรมทีเดียวนี้ ที่พระอริยเจ้าเสพแล้ว

ด้วยประการฉะนี้ เพราะฉะนั้น ความเป็นผู้สามารถในการ

เข้านิโรธสมาบัติแม้นี้ได้ ท่านก็กล่าวว่า เป็นอานิสงส์ของ

ปัญญาในอริยมรรคทั้งหลาย ฉะนี้แล

[4. อาหุเนยฺยภาวาทิสิทฺธิ-

สำเร็จความเป็นอาหไนยบุคคลเป็นต้น]

ข้อว่า "สำเร็จความเป็นอาหุไนยบุคคลเป็นต้น" หมายความว่า และมิใช่แต่เป็นผู้สามารถในการเข้านอโรธสมาบัติได้เพียงเท่านั้น แต่ว่าแม้ความสำเร็จในความเป็นอาหุไนยบุคคลเป็นต้นนี้ก็พึงทราบว่าเป็นอานิสงส์ของโลกุตตรปัญญาภาวนานี้ด้วย ความจริง บุคคลผู้ทำปัญญาให้เกิดแล้ว เพราะเหตุที่ตนเองทำโลกุตตรปัญญาแม้ทั้ง 4 อย่างนี้ให้เกิด จึงเป็น

(หน้าที่ 463)

1. อาหุไนย บุคคลผู้ควรของคำนับ

2. ปาหุไนย บุคคลผู้ควรของต้อนรับ

3. ทักขิไนย บุคคลผู้ควรทักษิณาของชาวโลกรวมทั้งเทวดา

4 อัญชลีกรณียะ บุคคลผู้ควรทำอัญชลี

5 เป็นเขตุแห่งบุญอย่างเยี่ยมยอดของโลก

โดยไม่แตกต่างกัน แต่โดยแตกต่างกันในโลกุตตรปัญญาภาวนานี้ก็ คือ

[1. พระโสดาบัน]

1. ท่านผู้ทำมรรคปัญญา ที่ 1 ให้เกิดรายแรกแล้ว มา (สู่ความเป็นพระโสดาบัน) ด้วยวิปัสสนาอย่างอ่อนแม้จะเป็นผู้มีอินทรีย์อ่อนก็มีชื่อว่า สัตตักขัตตุปรมะ (ผู้เข้าถึงภพ 7 ครั้ง เป็นอย่างมาก) จะท่องเที่ยวไปตลอด 7 สุคติภพ แล้วทำที่สุดทุกข์

2. ท่านผู้มาด้วยวิปัสสนาอย่างกลาง เป็นผู้มีอินทรีย์ปานกลาง มีชื่อว่า โกลังโกละ (ผู้จากสกุลไปสู่สกุล) จะเร่ร่อนท่องเที่ยวไปตลอด 2 หรือ 3 สกุล (คือภพ) แล้วทำที่สุดทุกข์

3. ท่านผู้มาด้วยวิปัสสนาอย่างแก่ เป็นผู้มีอินทรีย์แก่กล้า มีชื่อว่า เอกพีซี จำทำภพซึงเป็นของชาวมนุษย์ ให้เกิดเพียงภพเดียวเท่านั้น แล้วทำที่สุดทุกข์

[2. พระสกทาคามี]

ท่านผู้ทำมรรคปัญญาที่ 2 ให้เกิดแล้ว มีชื่อว่า พระสกทาคามีจะกลับมาสู่โลกนี้ครั้งเดียวเท่านั้น แล้วทำที่สุดทุกข์

[3. พระอนาคามี]

ท่านผู้ทำมรรคปัญญา ที่ 3 ให้เกิดแล้ว มีนามว่า พระอนาคามีโดยความต่างกันของอินทรีย์ พระอนาคามีนั้น ละในโลกนี้แล้วไปจบลง (คือปรินิพพาน) โดย 5 ประเภท คือ

(หน้าที่ 464)

1. อันตราปรินิพพายี ท่านผู้ปรินิพพานในระหว่างอายุไม่ถึงกึ่ง

2. อุปหัจจปรินิพพายี ท่านผู้ปรินิพพานเมื่ออายุพ้นกึ่งไปแล้ว

3. อสังขารปรินิพพานายี ท่านผู้ปรินิพพานโดยไม่ใช้ความเพียรนัก

4. สสังขารปรินิพพายี ท่านผู้ปรินิพพานโดยใช้ความเพียรมาก

5. อุทธังโสโต อกนิฏฐคามี ท่านผู้มีกระแสในเบื้องบน ไปสู่อกนิฏฐภพ

ใน 5 ประเภทนั้น

1. ท่านผู้ไปเกิดในสุทธาวาสภพ ภพใดภพหนึ่ง อยู่ยังไม่ถึงครึ่งอายุก็ปรินิพพาน (ในภพนั้น) ชื่อว่า อันตราปรินิพพายี

2. ท่านผู้ปรินิพพานเลยเกินครึ่งไปแล้ว ชื่อว่า อุปหัจจปรินิพพายี

3. ท่านผู้ทำมรรคเบื้องบนให้เกิดโดยไม่ต้องทำความเพียรมากโดยไม่ต้องประกอบความเพียรมาก ชื่อว่า อสังขารปรินิพพายี

4. ท่านผู้ทำมรรคเบื้องบนให้เกิดโดยมีการทำความเพียรมากโดยมีประกอบความเพียรมาก ชื่อว่า สสังขารปรินิพพายี

5. ท่านผู้เกิดในภพใด แล้วขึ้น (สู่ภพ) สูงขึ้นไปจากภพนั้นจนถึงอกนิฏฐภพแล้ว ปรินิพพานในอกนิฏฐภพนั้น ชื่อว่า อุทธังโสโตอกนิฏฐคามี

[4. พระอรหันต์]

ท่านผู้ทำมรรคปัญญาที่ 4 ให้เกิดแล้ว

1. บางท่านเป็น สัทธาวิมุต ผู้พ้นพิเศษด้วยศรัทธา

2. บางท่านเป็น ปัญญาวิมุต ผู้พ้นพิเศษด้วยปัญญา

3. บางท่านเป็น อุภโตภาควิมุต ผู้พ้นพิเศษด้วยภาคทั้งสอง

4. บางท่านเป็น เตวิชโช ผู้มีวิชชา 3

(หน้าที่ 465)

5. บางท่านเป็น ฉฬภิญโญ ผู้มีอภิญญา 6

6. บางท่านเป็น ปฏิสัมภิทัปปเภทปัตโต ผู้ถึงความแตกฉานในงานปฏิสัมภิทา

(ทุกท่าน) เป็นพระมหาขีณาสพ ซึ่งข้าพเจ้ากล่าวระบุถึงมาแล้วว่า "แต่พระอริยบุคคลท่านนี้ในขณะ (บรรลุอริย) มรรค ชื่อว่า กำลังถาวรกชัฏนั้น ในขณะ (บรรลุอริย) ผล ชื่อว่า ถางรกชัฏ แล้วเป็นพระทักขิไณยบุคคลชั้นเลิศของชาวโลกรวมทั้งเทวโลก" ดังนี้

เอวํ อเนกานิสํสา อริยปญฺญาย ภาวนา

ยสฺมา ตสฺมา กเรยฺยาถ รตึ ตตฺถ วิจกฺขโณ.

แปลความว่า

เพราะเหตุที่การทำอริยปัญญาให้เกิด มีอานิสงส์มากมาย

ดังกล่าวมานี้ เพราะฉะนั้น บัณฑิตผู้มีปัญญาเป็นเครื่องเห็นแจ้ง

ควรทำความอภิรมย์ยินดีในการทำอริยปัญญาให้เกิดนั้นเถิด

อนึ่ง ปัญญาภาวนาพร้อมทั้งอานิสงส์ ในวิสุทธิมรรค ซึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงด้วยหลักธรรมประธาน คือศีล สมาธิ และปัญญา ไว้ในคาถานี้ว่า

สีเล ปติฏฐาย นโร สปญฺโญ จิตฺตํ ปญฺญญฺจ ภาวยํ

อาตาปี นิปโก ภิกฺขุ โส อิมํ วิชฏเย ชฏํ

แปลความว่า

พระภิกษุนั้นเป็นนรชนมีปัญญา มีความเพียร มีความฉลาด

ตั้งอยู่ในศีลแล้ว พึงทำสมาธิจิตและอริยปัญญาให้เกิด ถางรกชัฏ

นี้เสีย ดังนี้

เป็นอันข้าพเจ้าได้แสดงไว้บริบูรณ์แล้ว ด้วยพรรณนาความดังกล่าวนี้

ปริจเฉทที่ 23 ชื่อว่า ปัญญาภาวนานิสังสนิทเทส

ในปกรณ์วิเสสชื่อวิสุทธิมรรค

อันข้าพเจ้าทำเพื่อประโยชน์แก่ความปราโมทย์แห่งสาธุชน ดังนี้

คัมภีร์วิสุทธิมรรค จบบริบูรณ์.

…………………….