วิสุทธิมรรค_10_อารุปปนิทเทส

อยู่ในระหว่างปรับสำนวน

นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส

ตำราพุทธมีลำดับการศึกษาให้เข้าใจทะลุทะลวงดังนี้: ขอเป็นศิษย์ผู้มีฌานวสีทรงจำพระไตรปิฎกบาลี > ท่องจำบาลีตามลำดับซ้ำๆ ไม่ลืมทบทวนแม้จำได้แล้ว > สอบถามบาลี > ฟังคำอธิบายบาลี > ทรงจำทั้งหมด > ในระหว่างท่องจำก็พยายามปฏิบัติตามไปด้วยจนแตกฉาน. ผู้ที่ข้ามขั้นตอนเหล่านี้ยิ่งมากเท่าไหร่ ยิ่งเป็นไปได้ยากที่จะบรรลุอัปปนาทั้งโลกิยะและโลกุตตระในศาสนาพุทธได้ พระพุทธเจ้าตรัสเรียกว่า "โมฆบุรุษ" เพราะว่างเปล่าจากอัปปนา (เรียบเรียงจากกีฏาคิริสูตร; ธัมมัญญูสูตร; สัจจบรรพะ อรรถกถามัคคนิทเทส; วิสุทธิมรรค กัมมัฏฐานคหณนิทเทส)

อากาสานัญจายตนกถา

อารุปปนิทเทส ปริจเฉทที่ 10

(หน้าที่ 180)

1. อากาสานัญจายตนกถา

ก็บรรดาอรูปสมาบัติทั้ง 4 ที่ท่านอาจารย์พุทธโฆสะ ยกขึ้นแสดงไว้ต่อลำดับพรหมวิหารนิทเทส พระโยคีผู้ต้องการจะเจริญอากาสานัญจายตนสมาบัติเป็นต้น เห็นโทษในกรัชรูปด้วยอำนาจแห่งโทษมีการต้องอาชญาเป็นต้น และแห่งอาพาธตั้งพันชนิดมีโรคตาโรคหู เป็นต้นทั้งหลายเหล่านี้ แล้วยังจตุตถฌานให้เกิดในกสิณทั้ง 9 อย่างมีปฐวีกสิณเป็นต้น กสิณใดกสิณหนึ่ง เว้นปริจฉินนากาสกสิณเสีย เพื่อการก้าวล่วงกรัชรูปนั้น เพราะพระบาลีว่า ก็เมื่อรูปยังปรากฏอยู่แล การจับท่อนไม้ การจับศัสตรา การทะเลาะ การยึดถือความเห็นที่ผิดกันและการวิวาทกัน ย่อมมีขึ้นได้เพราะรูปเป็นเหตุ แต่เหตุทุกอย่างนั้นไม่มีเลยโดยประการทั้งปวงในอรูปฌาน เธอรู้ชัดดังนี้แล้วย่อมเป็นผู้ปฏิบัติเพื่อความหน่ายเพื่อคลายกำหนัด และเพื่อความดับรูปทั้งหลายนั่นแล

พระโยคีก้าวล่วงรูปกสิณ

แม้กรัชรูปจะเป็นสิ่งที่พระโยคีนั้นก้าวล่วงได้ ด้วยอำนาจรูปาวจรจตุตถฌานก็จริง ถึงอย่างนั้น เพราะเหตุที่แม้รูปแห่งกสิณก็ยังนับว่าเป็นรูปมีส่วนเปรียบด้วยกรัชรูปนั่นเอง ฉะนั้น พระโยคีนั้นจึงเป็นผู้ต้องการก้าวล่วงรูปกสิณแม้นั้น

ถามว่า จะก้าวล่วงได้อย่างไร ?

ตอบว่า เปรียบเหมือนคนกลัวงู ถูกงูไล่ในป่า จึงหนีไปโดยเร็ว เห็นใบตาลที่มีลวดลาย หรือเถาวัลย์ หรือช่องแผ่นดินที่แตกระแหงในที่ที่ตนหนีไป ย่อมกลัวย่อมสะดุ้ง ไม่ต้องการจะเห็นสิ่งเหล่านั้นเลย

อนึ่ง เปรียบเหมือนคนที่อยู่บ้านแห่งเดียวกันกับคนที่จองเวรกัน ซึ่งกระทำแต่ความพินาศแก่กันและกัน ถูกคนจองเวรคนนั้นคอยเบียดเบียนด้วยการจะฆ่า การจองจำและเผาเรือนเป็นต้น จึงย้ายไปเพื่ออยู่อาศัยยังบ้านอื่น ได้เห็นคนแม้ในบ้านนั้นที่มีรูปร่างและเสียงพูดคล้ายกับคนที่จองเวรกัน ย่อมกลัวย่อมสะดุ้ง ไม่ต้องการจะเห็นคนนั้นเลย

(หน้าที่ 181)

ในข้อนั้น มีการเทียบเคียงกันอย่างนี้

ก็กาลเวลาที่พร้อมเพรียงแห่งกรัชรูปด้วยสามารถทำให้เป็นอารมณ์แก่ภิกษุ เปรียบเหมือนกาลเวลาที่คนเหล่านั้นถูกงูกัด หรือคนที่ถูกจองเวรกันเบียดเบียน กาลเวลาที่ก้าวล่วงกรัชรูป ด้วยอำนาจรูปาวจรจตุตถฌานของภิกษุ เปรียบเหมือนการหนีไปโดยเร็ว และการย้ายไปบ้านอื่นของคนเหล่านั้น ความกำหนดแม้กสิณรูปว่า กสิณรูปนี้ก็มีส่วนเปรียบกับกรัชรูปนั่นเอง แล้วต้องการจะก้าวล่วงกสิณรูปนั้นเสียของภิกษุ เปรียบเหมือนความที่คนเหล่านั้นได้เห็นใบตาลที่มีลวดลายเป็นต้นในที่ที่ตนหนีไป และคนที่เหมือนกับคนจองเวรกันในบ้านอื่น เกิดความกลัวความหวาดเสียวไม่ต้องการจะเห็น

ก็ในอธิการนี้ ควรกล่าวถึงข้ออุปมาเป็นต้นว่า สุนัขถูกสุกรทำร้ายและคนกลัวผี

การเข้าอากาสานัญจายตนฌาน

ก็เพราะพระโยคีนั้น เป็นผู้เบื่อหน่ายต้องการจะหลีกจากกสิณรูปอันเป็นอารมณ์แห่งจตุตถฌานด้วยประการฉะนี้ เป็นผู้มีวสีอันสั่งสมแล้วโดยอาการ 5 ออกจากรูปาวจร จตุตถฌานอันชำนาญ เห็นโทษในฌานนั้นว่าจตุตถฌานนี้กระทำรูปที่เราเบื่อหน่ายแล้วให้เป็นอารมณ์ และว่าฌานนี้มีโสมนัสเป็นข้าศึกอยู่ใกล้ และว่าฌานนี้หยาบกว่าสันตวิโมกข์ ส่วนในอรูปฌานนี้ไม่มีความเป็นองค์ที่หยาบ อนึ่ง จตุตถฌานนี้มีองค์ 2 ฉันใด แม้อรูปฌานทั้งหลายก็เหมือนกันฉันนั้น

วิธีเพิกกสิณ

พระโยคีนั้นเห็นโทษในจุตถฌานนั้นอย่างนี้แล้ว ความใจดีใฝ่ใจอากาสานัญจายตนฌานโดยเป็นฌานที่สงบ ย่อมแผ่กสิณไปสุดรอบจักรวาลหรือเท่าที่ตนปรารถนา ใฝ่ใจโอกาสที่กสิณนั้นถูกต้องว่า อากาโส หรือว่า อนนฺโต อากาโส ดังนี้ ย่อมเพิกกสิณได้ ก็เมื่อจะเพิกกสิณ มิใช่เหมือเลิกเสื่อลำแพน หรือเหมือนแซะขนมออกจากถาด คือไม่นึกไม่ใส่ใจ ไม่พิจารณากสิณนั้นเลย ก็เมื่อไม่นึกไม่ใส่ใจไม่พิจารณา โดยที่แท้ใฝ่ใจอยู่เฉพาะโอกาสที่กสิณรูปนั้นถูกต้อง ชื่อว่าเพิกกสิณได้ แม้กสิณที่พระโยคีเพิกอยู่ก็มิใช่ว่าจะผุดขึ้นได้ มิใช่ว่าจะหมุนเวียนอยู่ได้ เพียงแต่อาศัยการไม่ใฝ่ใจและการใฝ่ใจว่า อากาโส อากาโส ของพระโยคีนี้อย่างเดียว กสิณย่อมได้ชื่อว่าถูกพระโยคีเพิกขึ้นแล้ว เหตุสักว่าอากาศเพิกกสิณ

(หน้าที่ 182)

ย่อมปรากฏ อันคำว่า อากาศเพิกกสิณก็ดี อากาศที่กสิณถูกต้องก็ดี อากาศที่ว่างกสิณก็ดี ทั้งหมดนี้มีเนื้อความเป็นอันเดียวกันนั่นแล

พระโยคีนั้นนึกถึงอากาสานัญจายตนฌานอันมีอากาศที่เพิกกสิณเป็นนิมิตนั้นอยู่บ่อย ๆ ว่า อากาโส อากาโส ย่อมทำอากาสานัญจายตนฌานให้เป็นอันความตรึกและวิตกคร่ามาได้ เมื่อพระโยคีนั้นนึกอย่างนี้อยู่บ่อย ๆ ทำอากาสานัญจายตนฌานให้เป็นอันความตรึกและวิตกคร่ามาแล้ว นิวรณ์ทั้งหลายย่อมระงับไป สติย่อมดำรงอยู่ด้วยดี จิตย่อมตั้งมั่นด้วยอุปจารฌาน เธอจึงหมั่นบำเพ็ญเจริญและเพิ่มพูนนิมิตนั้นบ่อย ๆ เมื่อเธอหมั่นนึกใฝ่ใจบ่อย ๆ อยู่อย่างนี้ จิตที่ประกอบด้วยอากาสานัญจายตนฌานในความว่างย่อมแนบแน่น เหมือนรูปาวจรจิตในปฐวีกสิณเป็นต้น ด้วยว่าชวนจิตทั้ง 3 ดวงหรือ 4 ดวงเบื้องต้น แม้ในฌานนี้ เป็นกามาวจรสัมปยุตด้วยอุเบกขาเวทาเท่านั้น ส่วนชวนจิตดวงที่ 4 หรือดวงที่ 5 เป็นอรูปาวจร คำที่เหลือมีนัยเหมือนกับที่กล่าวในปฐวีกสิณ

แต่ที่แปลกกันดังนี้ คือ เมื่ออรูปาวจรจิตเกิดขึ้นแล้วอย่างนี้ ภิกษุนั้นเพ่งมลฑลกสิณนัยก่อนด้วยจักษที่ประกอบด้วยฌานอยู่ ย่อมเพ่งอยู่เฉพาะอากาศเท่านั้นในนิมิตนั้นที่ถูกการใฝ่ใจในบริกรรมแม้นี้พรากออกโดยพลันว่า อากาโส อากาโส เปรียบเหมือนคนผูกหน้าผูกปากช่องน้อยแห่งกระพ้อและปากหม้อเป็น อย่างใดอย่างหนึ่ง ด้วยผ้าเก่าสีเขียวสีเหลืองหรือสีขาวเป็นต้นสีใดสีหนึ่งแล้ว เมื่อจะเพ่งพึงยืนเพ่งดูเฉพาะอากาศที่ผ้าเก่าถูกกำลังลม หรือปัจจัยอื่นอันใดอันหนึ่งโบกพัด ฉะนั้น

ก็ด้วยอาการเพียงเท่านี้ พระโยคีนั้นท่านเรียกว่าเข้าอากาสานัญจายตนฌานโดยการบริกรรมว่า อนนฺโต อากาโส อากาศไม่มีที่สุด เพราะก้าวล่วงรูปสัญญาเสียได้ เพราะดับปฏิฆสัญญาเสียได้ และเพราะไม่ใฝ่ใจนัตตสัญญาโดยประการทั้งปวง

เพราะก้าวล่วงอารมณ์

บรรดาคำเหล่านั้น คำว่า โดยประการทั้งปวง คือโดยอาการทุกอย่าง อธิบายว่า หมดทุกอย่างไม่มีเหลือ คำว่า รูปสัญญาทั้งหลาย ได้แก่รูปาวจรฌาณที่ท่านกล่าวไว้ด้วยหัวข้อว่าสัญญาและอารมณ์แห่งรูปาวจรฌานนั้น เพราะว่าแม้รูปาวจรฌานท่านก็เรียกว่ารูป ในคำเป็นต้นว่า คนผู้ได้รูปฌานย่อมเห็นรูป แม้อารมณ์แห่งรูปฌานนั้นก็เรียกว่ารูปเหมือนกัน

(หน้าที่ 183)

ในคำเป็นต้นว่าย่อมเห็นรูปภายนอก ทั้งที่มีผิวพรรณดีทั้งที่มีผิวพรรณทราม เพราะเหตุนั้น อารมณ์แห่งรูปาวจรฌานนั้นจึงเป็นชื่อแห่งรูปาวจรฌานที่กล่าวแล้วด้วยหัวข้อว่า สัญญาอย่างนี้ว่า สัญญาในรูปฌานนี้ชื่อว่า รูปสัญญา รูปเป็นเครื่องหมายรู้แห่งฌานนี้ เหตุนั้นฌานนี้ ชื่อว่ามีรูปเป็นเครื่องหมายรู้ อธิบายว่า รูปเป็นชื่อแห่งฌานนี้ นักศึกษาพึงทราบว่า รูปฌาณนี้เป็นชื่อแห่งกสิณมีประเภทแห่งปฐวีกสิณเป็นต้นและแห่งอารมณ์ของปฐวีกสิณเป็นต้นนั้น ดังอธิบายฉะนี้ คำว่า เพราะก้าวล่วง คือเพราะคลายกำหนัดและเพราะดับ ท่านกล่าวอธิบายไว้อย่างไร ? คือเพราะคลายกำหนัดและเพราะดับ ได้แก่เพราะการคลายความกำหนัดเป็นเหตุ และเพราะความดับเป็นเหตุแห่งรูปสัญญาคือฌานทั้ง 15 ด้วยอำนาจกุศลจิตวิปากจิตและกิริยาจิตเหล่านี้ และแห่งรูปสัญญาคืออารมณ์ทั้ง 9 ด้วยอาจปฐวีกสิณเป็นต้นเหล่านี้ หรือรูปสัญญาโดยไม่มีส่วนเหลือด้วยอาการทั้งปวง พระโยคีจึงเข้าถึงอากาสานัญจายตนฌานอยู่ได้ เพราะเหตุว่าผู้ที่ยังไม่ก้าวล่วงรูปสัญญาโดยประการทั้งปวง ไม่อาจจะเข้าฌานนี้ได้ เพราะผู้ที่ยังไม่คลายความกำหนัดในอารมณ์นั้น ย่อมไม่มีการก้าวล่วงสัญญา และเมื่อก้าวล่วงสัญญาทั้งหลายได้แล้ว ก็เป็นอันก้าวล่วงอารมณ์ได้ด้วย ฉะนั้น ท่านจึงไม่กล่าวการก้าวล่วงอารมณ์ กล่าวการก้าวล่วงสัญญาทั้งหลายไว้ในวิภังค์อย่างนี้ว่า ในสัญญาเหล่านั้น รูปสัญญาเป็นไฉน ? สัญญา คือความจำได้ ได้แก่ความหมายรู้ แห่งพระโยคีผู้เข้าหรือผู้เข้าถึงรูปาวจรสมาบัติ หรือผู้อยู่เป็นสุขในธรรมที่ตนเห็นแล้วอันใด เหล่านี้เรียกว่ารูปสัญญา พระโยคีเป็นผู้ก้าวล่วงคือล่วงเลยได้แก่ข้ามพ้นรูปสัญญาเหล่านี้ เพราะเหตุดนั้น ท่านจึงกล่าวว่า เพราะก้าวล่วงรูปสัญญาทั้งหลายโดยประการทั้งปวง

ก็เพราะสมาบัติเหล่านี้ พระโยคีพึงบรรลุด้วยการก้าวล่วงอารมณ์ หาใช่บรรลุในเพราะอารมณ์เพียงอย่างเดียวเหมือนปฐมฌานเป็นต้นไม่ ฉะนั้น อรรถวรรณานี้นักศึกษาพึงทราบว่าท่านกล่าวแล้วแม้ด้วยอำนาจการก้าวล่วงอารมณ์

เพราะดับปฏิฆสัญญา

คำว่า เพราะดับปฏิฆสัญญา อธิบายว่า สัญญาที่เกิดขึ้นเพราะวัตถุมีตาเป็นต้น และอารมณ์มีรูปเป็นต้นกระทบกัน ชื่อว่าปฏิฆสัญญา คำนี้เป็นชื่อแห่งรูปสัญญาเป็นต้น

(หน้าที่ 184)

เหมือนดังที่ท่านกล่าวไว้ว่า ในสัญญาเหล่านั้น ปฏิฆสัญญาเป็นไฉน ? ความหมายรู้ในรูป ความหมายรู้ในเสียง ความหมายรู้ในกลิ่น ความหมายรู้ในรส ความหมายรู้ในการถูกต้อง เหล่านี้เรียกว่าปฏิฆสัญญา เพราะดับคือเพราะละ ได้แก่เพราะไม่ให้เกิดขึ้นแห่งปฏิฆสัญญาทั้ง 10 ประการ คือ ฝ่ายกุศลวิบาก 5 ประการ ฝ่ายอกุศลวิบาก 5 ประการเหล่านั้น โดยประการทั้งปวง มีคำอธิบายว่า เพราะทำไม่ให้เป็นไป

ส่วนพระโยคีผู้เข้าปฐมฌานเป็นต้น ย่อมไม่มีสัญญาเหล่านี้แน่นอน ถึงอย่างนั้นในสมัยนั้น จิตย่อมไม่เป็นไปด้วยอำนาจทวารทั้ง 5 แม้เมื่อเป็นเช่นนั้น นักศึกษาพึงทราบ การพูดถึงปฏิฆสัญญาเหล่านี้ไว้ในปฐมอรูปฌานกถานี้ ด้วยอำนาจการสรรเสริญฌานนี้ เพื่อต้องการให้เกิดอุตสาหะในฌานนี้ ดุจการพูดถึงสุขและทุกข์ที่ละได้แล้วในฌานอื่นไว้ในจตุตถฌาน และดุจการพูดถึงสังโยชน์มีสักกายทิฏฐิเป็นต้นที่ละได้แล้วในมรรคอื่นไว้ในมรรคที่ 3 ฉะนั้น

อีกนัยหนึ่ง ปฏิฆสัญญาเหล่านั้นไม่มีแก่พระโยคีผู้เข้ารูปาวจรฌานก็จริง แต่จะชื่อว่าไม่มีเพราะละได้เด็ดขาดก็หาไม่ เพราะว่าการเจริญรูปาวจรฌาน ไม่เป็นไปเพื่อการสำรอกรูป แต่การเป็นไปแห่งปฏิฆสัญญาเหล่านี้เกี่ยวข้องกับรูป ดังนั้น ภาวนานี้จึงเป็นไปเพื่อการสำรอกรูป เพราะเหตุนั้น จึงกล่าวได้ว่าละปฏิฆสัญญาเหล่านั้นได้ในฌานนี้ แต่ไม่ควรกล่าวอย่างเดียว แม้การทรงจำไว้อย่างนี้โดยส่วนหนึ่งเท่านั้นควรอยู่ จริงอยู่ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่าในกาลก่อนแต่นี้ เพราะยังละปฏิฆสัญญาเหล่านั้นไม่ได้ พระโยคีผู้เข้าปฐมฌานจึงมีเสียงเป็นเสี้ยนหนาม แต่ในอรูปฌานนี้พระองค์ตรัสความที่อรูปสมาบัติเป็นสภาวะที่ไม่หวั่นไหว และเป็นสภาวะที่พ้นอย่างสงบ เพราะละปฏิฆสัญญาได้อย่างเด็ดขาดตัวอย่างเช่น ท่านอาฬารดาบสกาลามโคตรเข้าอรูปสมาบัติ ไม่้เห็นและไม่ได้ยินเสียงเกวียน ประมาณ 500 เล่มที่ผ่านเฉียดเลยไป

เพราะไม่ใฝ่ใจนัตตสัญญา

คำว่า เพราะไม่ใฝ่ใจนัตตสัญญา อธิบายว่า สัญญาที่เป็นไปในอารมณ์ที่แตกต่างกัน หรือสัญญาที่แตกต่างกัน ก็เพราะเหตุที่สัญญาเหล่านี้ท่านกล่าวจำแนกไว้ในวิภังค์ปกรณ์อย่างนี้ว่า บรรดาสัญญาเหล่านั้น นัตตสัญญาเป็นไฉน ? สัญญาคือความจำ ได้แก่

(หน้าที่ 185)

ความหมายรู้แห่งพระโยคีผู้มิได้เห็นฌาน ผู้พรั่งพร้อมด้วยมโนธาตุหรือพร้อมด้วยมโนวิญญาณธาตุอันใด เหล่านี้เรียกว่า นานัตตสัญญา สัญญาที่สงเคราะห์ด้วยมโนธาตุและมโนวิญญานธาตุของพระโยคีผู้มิได้เข้าฌาน เป็นไปในอารมณ์ที่แตกต่างกันคือมีสภาพแตกต่างกัน มีรูปและเสียงเป็นต้นเป็นประเภท ท่านประสงค์เอาในที่นี้ อนึ่ง เพราะเหตุที่สัญญา 44 ประการ อย่างนี้ คือ กามาวจรกุศลสัญญา 8 อกุศลสัญญา 12 กามาวจรกุศลวิบากสัญญา 11 อกุศล วิบากสัญญา 2 และกามาวจรกิริยาสัญญา 11 เหล่านี้ แตกต่างกัน คือมีสภาพแตกต่างกัน ไม่เหมือนกันและกัน ฉะนั้น ท่านจึงกล่าวว่า นานัตตสัญญา เพราะไม่ใฝ่ใจถึง เพราะไม่คำนึงถึง เพราะไม่รำพึงถึง เพราะไม่พิจารณาถึงนานัตตสัญญาเหล่านั้น โดยประการทั้งปวง มีอธิบายว่า เพราะเหตุที่พระโยคีไม่คำนึง ไม่ใฝ่ใจ ไม่พิจารณา นานัตตสัญญาเหล่านั้น ฉะนั้น

อนึ่ง เพราะในสัญญาเหล่านี้ รูปสัญญาและปฏิฆสัญญาอันเป็นเบื้องต้นไม่มีแม้ในภพที่บังเกิดด้วยฌานนี้เอง จะกล่าวไปใยถึงเวลาเข้าฌานนี้อยู่ในภพนั้น เหตุนั้นท่านจึงกล่าวความที่สัญญาเหล่านั้น ไม่เป็นแม้โดยประการ 2 อย่างเท่านั้นไว้ว่า เพราะก้าวล่วงเพราะดับบรรดานานัตตสัญญาทั้งหลาย ก็เพราะสัญญา 27 ประการเหล่านี้คือ กามาวจรกุศลสัญญา 8 กิริยาสัญญา 9 อกุศลสัญญา 10 มีในภพที่บังเกิดด้วยฌานนี้ เหตุนั้น นักศึกษาพึงทราบว่า ท่านกล่าวไว้แล้วว่า เพราะไม่ใฝ่ใจสัญญาเหล่านั้น จริงอยู่ พระโยคีผู้เข้าฌานนี้แม้ในสัญญาเหล่านั้นอยู่ ก็ย่อมเข้าฌานเพราะไม่ใฝ่ใจสัญญาเหล่านั้นเองอยู่ แต่ว่าเมื่อไม่ใฝ่ใจสัญญาเหล่านั้น ก็เป็นผู้ไม่ได้เข้าฌานเลย

ก็ในคำนี้พึงทราบโดยสังเขปดังต่อไปนี้ ด้วยคำนี้ว่า เพราะก้าวล่วงรูปสัญญาทั้งหลาย ท่านกล่าวถึงการละรูปาวจรธรรมทุกอย่าง ด้วยคำนี้ว่า เพราะดับปฏิฆสัญญาทั้งหลาย เพราะไม่ใส่ใจนานัตตสัญญาทั้งหลาย ท่านกล่าวถึงการละและการไม่ใฝ่ใจจิตและเจตสิกอันเป็นกามาวจรทั้งปวง

พึงทราบวินิจฉัยในคำว่า อากาศไม่มีที่สุดนี้ ดังต่อไปนี้ อากาศนี้ไม่ปรากฏที่สุดคือความเกิดขึ้นหรือที่สุดคือความเสื่อมหายไป เหตุนั้น อากาศนี้จึงชื่อว่าไม่มีที่สุด อากาศ

(หน้าที่ 186)

ที่เพิกกสิณ ท่านเรียกว่าอากาศ อนึ่ง พึงทราบความไม่มีที่สุดในอากาศนี้ แม้ด้วยอำนาจการใฝ่ใจ เพราะเหตุนั้นแล ในวิภังค์ปกรณ์ท่านจึงกล่าวไว้ว่า พระโยคีตั้งจิตไว้มั่นคือตั้งจิตไว้ด้วยดีในอากาศนั้น แผ่ไปไม่มีที่สุด เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่าอากาศไม่มีที่สุด พึงทราบวินิจฉัยในคำว่า เข้าถึงอากาสานัญจายตนะอยู่ อารมณ์นั้นไม่มีที่สุด เหตุนั้น อารมณ์นั้นชื่อว่าไม่มีที่สุด อารมณ์คืออากาศไม่มีที่สุด ชื่อว่า อากาสานันตะ อากานันตะนั่นแหละคือ อากาสานัญจะ อารมณ์คืออากาศไม่มีที่สุดนั้นชื่อว่าเป็นแดนอาศัยแห่งฌานพร้อมทั้งสัมปยุตธรรมนั้นเพราะอรรถว่าเป็นที่ตั้งมั่น ดุจหนึ่งแดนเป็นที่อาศัยแห่งเหล่าเทวดา เหตุนั้น ฌานพร้อมทั้งสัมปยุตธรรมนั้น จึงชื่อว่า อากาสานัญจายตนะ คำว่า เข้าถึงอยู่ ได้แก่ บรรลุอากาสานัญจายตนะนั้น คือยังอากาสานัญจายตนฌานนั้นให้สำเร็จแล้วอยู่ด้วยการอยู่ด้วยอิริยาบถอันสมควรแก่ฌานนั้น

นี้เป็นถ้อยแถลงอย่างพิสดารในอากาสานัญจายตนกัมมัฏฐาน

วิญญาณัญจายตนกถา

ก็พระโยคีผู้ใคร่จะเจริญวิญญาณัญจายตนฌาน เป็นผู้มีความชำนาญที่ได้ประพฤติมาแล้วในอากาสานัญจายตนสมาบัติ ด้วยอาการ 5 เห็นโทษในอากาสานัญจายตนสมาบัติว่าสมาบัตินี้ มีรูปาวจรฌานข้าศึกอันใกล้และไม่สงบเหมือนวิญญาณัญจายตนสมาบัติ จึงคลายความนิยมในอากาสานัญจายตนฌานนั้น ใฝ่ใจวิญญาณัญจายตนฌาน โดยเป็นธรรมที่ละเอียด แล้วพึงใคร่ครวญ คือพึงใส่ใจ ได้แก่ พึงพิจารณาวิญญาณที่แผ่ไปยังอากาศนั้นบ่อย ๆ ว่า วิญฺญาณํ วิญฺญาณํ ได้แก่พึงกระทำให้เป็นสภาวะอันความตรึกคร่ามาแล้ว และอันวิตกคร่ามาแล้ว แต่ไม่พึงใส่ใจว่า ไม่มีที่สุด ไม่มีที่สุด เมื่อพระโยคีนั้นยังจิตให้ท่องเที่ยวไปในนิมิตนั้นอยู่บ่อย ๆ อย่างนี้ นิวรณ์ทั้งหลายย่อมสงบระงับไป สติย่อมตั้งมั่นด้วยดี จิตย่อมมั่นคงด้วยอุปจารฌาน เธอหมั่นปฏิบัติ หมั่นเจริญ ทำให้มากซึ่งนิมิตนั้นแล้ว ๆ เล่า ๆ เมื่อเธอทำอยู่อย่างนี้ วิญญาณัญจายตนจิตย่อมแน่นแฟ้นในวิญญาณที่อากาศถูกต้อง ดุจอากาสานัญจายตนะแน่นแฟ้นในอากาศ ฉะนั้น ก็อัปปนานัยในวิญญาณัญจายตนฌานนี้ นักศึกษาพึงทราบตามนัยที่ได้กล่าวไว้แล้วแล

(หน้าที่ 187)

ก็ด้วยอาการเพียงเท่านี้ ท่านกล่าวว่า พระโยคีนั้นก้าวล่วงอากาสานัญจายตนะ โดยประการทั้งปวง เข้าถึงวิญญาณัญจายตนะอยู่ โดยบริกรรมว่า อนนฺตํ วิญฺญาณํ วิญญาณ ไม่มีที่สุด

บรรดาคำเหล่านั้น คำว่า โดยประการทั้งปวงนี้ มีนัยดังที่กล่าวไว้แล้วนั่นเอง ส่วนในคำว่า ก้าวล่วงอากาสานัญจายตนะ นี้ มีอธิบายว่า ฌานตามนัยที่กล่าวไว้แล้วในนัยก่อนก็ดี อารมณ์ก็ดี ชื่อว่า อากาสานัญจายตนะ จริงอยู่ แม้อารมณ์ก็ชื่อว่าอากาสานัญจายตนะ ตามนัยก่อนนั่นแหละ และอารมณ์นั้น ชื่อว่า อายตนะ เพราะอรรถว่าเป็นที่ตั้งมั่น เพราะเป็นอารมณ์แห่งอรูปฌานที่ 1 ดุจหนึ่งว่าที่อยู่แห่งพวกเทวดา ชื่อว่าเทวายตนะ ฉะนั้น เหตุนั้น อารมณ์นั้นจึงชื่อว่า อากาสานัญจายตนะ อนึ่ง อารมณ์นั้น ชื่อว่า อากาสานัญจะด้วย เป็นอายตนะด้วย เพราะอรรถว่าเป็นถิ่นเกิด เพราะเป็นเหตุแห่งการเกิดพร้อมแห่งฌานนั้น ดุจคำว่า แคว้นกัมโพชา เป็นถิ่นเกิดแห่งม้าทั้งหลายเป็นต้น แม้เพราะเหตุนั้น ฌานนั้นจึงชื่อว่าอากาสานัญจายตนะ เพราะพระโยคีก้าวล่วงสภาวะทั้ง 2 นี้คือ ฌาน 1 อารมณ์ 1 โดยกระทำไม่ให้เป็นไป และโดยการไม่ใฝ่ใจอย่างนี้แล้ว พึงเข้าถึงวิญญาณัญจายตนฌานนี้อยู่ ฉะนั้น พึงทราบว่า ท่านรวมสภาวะทั้ง 2 อย่างแม้นั้นเป็นหมวดเดียวกัน แล้วกล่าวคำนี้ว่า ก้าวล่วงอากาสานัญจายตนะ ดังนี้

คำว่า วิญญาณไม่มีที่สุด ได้แก่วิญญาณที่แผ่เป็นไปอย่างนี้ว่า วิญญาณไม่มีที่สุดนั้นนั่นเอง อธิบายว่า เมื่อพระโยคีใฝ่ใจอย่างนี้ว่า วิญญาณไม่มีที่สุด หรือว่าวิญญาณไม่มีที่สุดด้วยอำนาจการใฝ่ใจ จริงอยู่ พระโยคีนั้นเมื่อจะใฝ่ใจวิญญาณนั้น ซึ่งมีอากาศเป็นอารมณ์ โดยไม่มีส่วนเหลือ ย่อมใฝ่ใจว่า ไม่มีที่สุด แม้คำใดที่กล่าวไว้ในวิภังค์ปกรณ์ว่า พระโยคีใฝ่ใจอากาศที่วิญญาณถูกต้องนั้นนั่นเอง โดยบริกรรมว่า วิญญาณไม่มีที่สุด แผ่ไปไม่มีที่สุด เหตุนั้นท่านจึงกล่าวว่า วิญญาณไม่มีที่สุดในวิภังค์ปกรณ์นั้น ศัพท์ว่า วิญฺญาเณน พึงทราบว่าเป็นตติยาวิภัติ ลงในอรรถแห่งทุติยาวิภัติ จริงอยู่ พระอรรถกถาจารย์ทั้งหลาย พรรณนาอรรถแห่ง วิญฺญาเณน ศัพท์นั้นไว้อย่างนี้ มีอธิบายว่า แผ่ไปไม่มีที่สุด คือ ใฝ่ใจวิญญาณที่ถูกต้องอากาศนั้นนั่นแล

(หน้าที่ 188)

อนึ่ง พึงทราบวินิจฉัยในคำว่า เข้าถึงวิญญาณัญจายตนะอยู่ต่อไป วิญญาณนั้นไม่มีที่สุด เหตุนั้น วิญญาณนั้น จึงชื่อว่า อนันตะ อนันตะนั่นแหละ คือ อานัญจะ วิญญาณที่เป็นอานัญจะ ท่านไม่กล่าวว่า วิญญาณานัญจะ กล่าวเสียว่า วิญญาณัญจะ เพราะว่า วิญญาณัญจะ เป็นศัพท์ที่ใช้กันดาดดื่น ในอธิการนี้ วิญญานัญจะนั้น เป็นอายตนะแห่งฌานนั้น พร้อมทั้งสัมปยุตธรรม เพราะอรรถว่าเป็นที่ตั้งมั่น เหตุนั้น ฌานนั้น จึงชื่อว่า วิญญาณัญจายตนะ ดุจที่พำนักแห่งเทพทั้งหลาย ชื่อว่าเทวายตนะ คำที่เหลือเป็นเช่นเดียวกันกับคำอันมีในนัยก่อนนั่นแล

นี้เป็นถ้อยแถลงอย่าพิสดาร ในวิญญาณัญจายตนกัมมัฏฐาน

อากิญจัญญายตนกถา

ก็พระโยคีผู้ต้องการจะเจริญอากิญจัญญายตนสมาบัติ เป็นผู้ประพฤติตนจนชำนาญ ในวิญญาณัญจายตนสมาบัติ โดยอาการ 5 อย่าง เห็นโทษในวิญญาณัญจายตนะว่า สมาบัตินี้มีอากาสานัญจายตนะเป็นข้าศึกอยู่ใกล้และไม่สงบเหมือนอากิญจัญญายตนะ จึงคลายนิยมในวิญญาณัญจายตนะนั้น ใส่ใจอากิญจัญญายตนะโดยวามเป็นธรรมอันสงบแล้ว พึงใส่ใจความไม่มี ความว่างเปล่า คืออากาศที่ว่าง แห่งวิญญาณอันเป็นไปในอากาสานัญจายตนะ ซึ่งเป็นอารมณ์แห่งวิญญาณณัญจายตนะนั้นนั่นแหละ พึงใฝ่ใจอย่างไร ? คือ ไม่พึงใฝ่ใจวิญญาณนั้น พึงใคร่ครวญ คือพึงใฝ่ใจ ได้แก่พึงพิจารณาบ่อย ๆ ว่า ไม่มี ไม่มี หรือว่า ว่างเปล่า ว่างเปล่า หรือว่า ความว่าง ความว่าง ได้แก่ พึงกระทำให้เป็นสภาพอันความตรึกคร่ามาแล้วและอันวิตกคร่ามาได้ พระโยคีนั้นเมื่อปล่อยจิตให้ท่องเที่ยวไปในนิมิตนั้นอย่างนี้ นิวรณ์ทั้ง 5 ย่อมสงบระงับไป สติย่อมดำรงอยู่ด้วยดี จิตย่อมตั้งมั่นด้วยอุปจารฌาน เธอย่อมหมั่นประกอบ หมั่นเจริญ หมั่นกระทำให้มากซึ่งนิมิตนั้น เมื่อเธอกระทำอยู่อย่างนี้ จิตที่ประกอบด้วยอากิญจัญญายตนะย่อมแน่นแฟ้นในความว่างเปล่า ความว่างและความไม่มีแห่งมหัคคตวิญญาณนั้นนั่นแล ที่แผ่ไปในอากาศเป็นไป ดุจวิญญาณัญจายตนะในมหัคคตวิญญาณ ที่อากาศถูกต้องแล้วฉะนั้น ส่วนอัปปนานัยแม้ในฌานนี้ พึงทราบตามนัยที่ได้กล่าวไว้แล้วนั่นแหละ

ส่วนความแปลกกันมีดังต่อไปนี้ ก็เมื่ออัปปนาจิตนั้นเกิดขึ้นแล้ว ภิกษุนั้นเห็นวิญญาณที่ตนให้เป็นไปในอากาศในกาลก่อน ด้วยจักษุที่สัมปยุตด้วยวิญญาณณัญจายตนฌาน

(หน้าที่ 189)

อยู่ เมื่อวิญญาณนั้นหายไปแล้วด้วยการใฝ่ใจบริกรรมว่า ไม่มี ไม่มี เป็นต้น ย่อมเห็นความไม่มี คือความปราศไปแห่งวิญญาณนั้นโดยแท้อยู่ เปรียบเหมือนคนเห็นหมู่ภิกษุประชุมกันที่ศาลาโรงกลมเป็นต้นด้วยกรณียกิจบางอย่าง แล้วไปในที่ไหน ๆ เสียแล้วจึงกลับมา เมื่อภิกษุทั้งหลายลุกขึ้นแล้วหลีกไป ในเวลาที่เสร็จกิจประชุมกันแล้ว ยืนอยู่ที่ประตู มองดูสถานที่นั้นอยู่อีก จึงเห็นแต่ความว่างเปล่า เห็นแต่ความว่างเปล่าเท่านั้น เขาย่อมไม่คิดอย่างนี้ว่า ภิกษุมีประมาณเท่านี้มรณภาพเสียแล้ว หรือว่าหลีกไปยังทิศต่าง ๆ เสียแล้ว โดยที่แท้ เขาย่อมเห็นแต่ความไม่มีว่า ที่นี้ว่างเปล่า เงียบสงัด ฉะนั้น

ก็ด้วยอาการเพียงเท่านี้ ท่านย่อมกล่าวว่าพระโยคีนั้นก้าวล่วงวิญญาณัญจายตนฌาน โดยประการทั้งปวง เข้าถึงอากิญจัญญายตนฌาน โดยบริกรรมว่า ไม่มีอะไรเลยอยู่ดังนี้ คำว่า โดยประการทั้งปวงนี้ แม้ในอธิการนี้ มีนัยดังที่กล่าวไว้แล้วแล อนึ่ง แม้ในคำที่ว่า วิญญาณัญจายตนะนี้ ฌานก็ดี อารมณ์ก็ดี ชื่อว่า วิญญาณัญจายตนะ ตามนัยที่กล่าวไว้แล้วในครั้งก่อนนั่นแหละ จริงอยู่ แม้อารมณ์ก็ชื่อว่าวิญญาณัญจะตามนัยก่อนนั่นเอง และอารมณ์นั้นก็ชื่อว่าเป็นอายตนะ ด้วยอรรถว่าเป็นที่ตั้งมั่น เพราะเป็นอารมณ์แห่งอรูปฌานที่ 2 เหมือนที่พำนักแห่งเทพทั้งหลาย ชื่อว่าเทวายตนะ เพราะเหตุนั้น อารมณ์นั้นจึงชื่อว่า วิญญาณัญจายตนะ อนึ่ง วิญญาณัญจะนั้นด้วย ชื่อว่าเป็นอายตนะด้วย ด้วยอรรถว่าเป็นถิ่นเกิด เพราะเป็นเหตุเกิดแห่งฌานนั่นแล เหมือนคำว่า แคว้นกัมโพชา เป็นถิ่นเกิดแห่งม้าทั้งหลาย แม้เพราะเหตุนั้น ฌานนั้นจึงชื่อว่า วิญญาณัญจายตนะ เพราะเหตุที่พระโยคีก้าวล่วงเลยสภาวะ แม้ทั้ง 2 นี้ คือ ฌาน 1 อารมณ์ 1 ด้วยการกระทำไม่ให้เป็นไป และด้วยการไม่ใฝ่ใจ ดังว่ามานี้ แล้วพึงเข้าถึงอากิญจัญญายตนฌานนี้อยู่ เหตุนั้นพึงทราบว่า ท่านรวมคุณชาติแม้ทั้ง 2 นี้ไว้ เป็นหมวดเดียวกัน แล้วกล่าวคำนี้ไว้ว่า ล่วงพ้นวิญญาณัญจายตนฌาน ดังนี้

คำว่า ไม่มีอะไร มีอธิบายว่า ใฝ่ใจอยู่อย่างนี้ว่า ไม่มี ไม่มี ว่างเปล่า ว่างเปล่า ความว่าง ความว่าง แม้คำใดที่ท่านกล่าวไว้ในวิภังค์ปกรณ์ว่า คำว่า ไม่มีอะไร อธิบายว่า พระโยคียังวิญญาณนั้นนั่นแหละ มิให้เกิด คือมิให้งอกงาม ได้แก่ ให้อันตรธานสูญหายไป ย่อมเห็นว่า ไม่มีอะไร เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ไม่มีอะไร คำนั้น

(หน้าที่ 190)

ท่านกล่าวไว้ดุจการพิจารณาโดยความสิ้นไปแม้ก็จริง ถึงอย่างนั้น ก็พึงเห็นเนื้อความแห่งพระบาลีอย่างนี้แลว่า ก็พระโยคี เมื่อไม่คำนึง ไม่ใส่ใจ ไม่พิจารณาวิญญาณนั้น ใฝ่ใจแต่ความไม่มี ความว่างเปล่า ความว่างแห่งวิญญาณนั้นอย่างเดียว ท่านย่อมเรียกว่า มิให้วิญญาณนั้นเกิด มิให้เจริญงอกงาม ให้อันตรธานไปเสีย มิใช่ด้วยประการอย่างอื่น ดังนี้

ส่วนในคำนี้ว่า เข้าถึงอากิญจัญญายตนฌานอยู่ พึงทราบวินิจฉัยดังต่อไปนี้ ความกังวลแห่งความไม่มีวิญญาณในปฐมอรูปฌานนั้นไม่มี เหตุนั้น ฌานนั้น ชื่อว่า อากิญจนะ อธิบายว่า สิ่งที่เหลือ โดยที่สุดแม้เพียงความแตกสลายแห่งฌานนั้นไม่มี ภาวะแห่งอากิญจนะ ชื่อว่า อากิญจัญญะ คำนั้น เป็นชื่อแห่งการไปปราศจากวิญญาณ ซึ่งมีอากาสานัญจายตนะเป็นอารมณ์ อากิญจัญญะนั้น เป็นอายตนะแห่งฌานนั้น เพราะอรรถว่าเป็นที่ตั้งมั่น ดุจที่พำนักของพวกเทวดา ชื่อเทวายตนะ เหตุนั้น ฌานนั้น จึงชื่อว่า อากิญจัญญายตนะ คำที่เหลือเช่นเดียวกับคำก่อนนั่นแล

นี้เป็นถ้อยแถลงอย่างพิสดาร ในอากิญจัญญายตนกัมมัฏฐาน

เนวสัญญานาสัญญายตนกถา

ก็พระโยคีผู้มีความประสงค์จะเจริญเนวสัญญานาสัญญายตนสมาบัติ เป็นผู้สั่งสมความชำนาญไว้แล้ว ในอากิญจัญญายตนสมาบัติโดยอาการ 5 อย่าง เห็นโทษในอากิญจัญญายตนะ และเห็นอานิสงส์แห่งสมาบัติเบื้องสูงอย่างนี้ว่า สมาบัตินี้ มีอากิญจัญญายตนะเป็นข้าศึกอยู่ใกล้และไม่สงบเหมือนเนวสัญญายตนะ หรือว่าสัญญาเป็นดุจโรค สัญญาเป็นดุจหัวฝี สัญญาเป็นดุจลูกศร ฌานนี้สงบกว่า ฌานนี้ประณีตกว่าคือเนวสัญญานาสัญญายตนฌานแล้วคลายความนิยมในอากิญจัญญายตนะเสีย ใฝ่ใจเนวสัญญานาสัญญายตนะ โดยความเป็นสภาวธรรมที่สงบกว่า แล้วพึงน้อมนึกใส่ใจพิจารณาบ่อย ๆ ว่าอากิญจัญญายตนสมาบัตินั่นแล ทำความไม่มีให้เป็นอารมณ์เป็นไปแล้ว เป็นสภาวะที่สงบระงับ ได้แก่พึงกระทำให้เป็นสภาวะอันความตรึกและวิตกคร่ามาแล้ว เธอเมื่อปล่อยใจให้ท่องเที่ยวไปในนิมิตนั้นบ่อย ๆ อย่างนี้ นิวรณ์ทั้งหลายย่อมสงบระงับ สติย่อมดำรงมั่นด้วยดี จิตย่อมมั่นคงด้วยอุปจารฌาน เธอนั้นปฏิบัติเจริญเพิ่มพูนนิมิตนั้นอยู่บ่อย ๆ เมื่อเธอกระทำอยู่เช่นนี้ เนวสัญญานาสัญญายตนจิตย่อมแนบแน่น ในขันธ์ทั้ง 4 คือ อากิญจัญญายตนสมาบัติ ดุจอากิญจัญญายตนะ

(หน้าที่ 191)

ในความไปปราศแห่งวิญญาณ ส่วนอัปปนาฌานในสมาบัตินี้พึงทราบความตามนัยที่ได้กล่าวไว้แล้วนั่นแล

ก็ด้วยอาการเพียงเท่านี้ พระโยคีนั้นท่านย่อมกล่าวว่า ล่วงเลยอากิญจัญญายตนฌาน โดยประการทั้งปวง เข้าถึงเนวสัญญานาสัญญายตนฌานอยู่ คำว่าโดยประการทั้งปวงนี้ แม้ในฌานนี้ ก็มีนัยเหมือนกับที่กล่าวไว้แล้วแม้ในคำว่า ล่วงเลยอากิญจัญญายตนะ อธิบายว่า ฌานก็ดี อารมณ์ก็ดี ชื่อว่าอากิญจัญญายตนะ ตามนัยที่กล่าวไว้แล้ว ณ เบื้องต้นแล จริงอยู่ แม้อารมณ์นั้น ชื่อว่า อากิญจะตามนัยแรกนั่นแลด้วย เป็นอายตนะโดยอรรถว่าเป็นที่ตั้งมั่น เพราะเป็นอารมณ์แห่งอรูปฌานที่ 3 ดุจที่พำนักแห่งเทวดา ชื่อว่าเทวายตนะฉะนั้นด้วย เหตุนั้น อารมณ์นั้นชื่อว่าอากิญจัญญายตนะ อนึ่ง อากิญจะนั้นด้วย เป็นอายตนะนั้นด้วย อรรถว่าเป็นถิ่นเกิด เพราะเป็นเหตุก่อเกิดแห่งฌานนั้นนั่นเอง เหมือนคำเป็นต้นว่า แคว้นกัมโพชาเป็นถิ่นเกิดแห่งม้าทั้งหลายดังนี้ด้วย แม้เพราะเหตุนั้น ฌานนั้นจึงชื่อว่า อากิญจัญญายตนะ พระโยคีก้าวล่วงแม้สภาวะทั้ง 2 นี้ คือ ฌาน 1 อารมณ์ 1 ด้วยการกระทำไม่ให้เป็นไป และด้วยการไม่ใส่ใจ อย่างนี้แล แล้วพึงเข้าถึงเนวสัญญานาสัญญายตนฌานนี้อยู่ เพราะเหตุนั้น พึงทราบว่า ท่านรวมสภาวะนี้แม้ทั้ง 2 เข้าเป็นหมวดเดียวกัน แล้วจึงกล่าวคำนี้ว่า ก้าวล่วงอากิญจัญญายตนฌาน ดังนี้

ส่วนในคำว่า เนวสัญญานาสัญญายตนะนี้ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้ ฌานนั้นท่านเรียกว่าเนวสัญญานาสัญญายตนะ เพราะภาวะแห่งสัญญาใด สัญญานั้น ย่อมมีแก่ผู้ปฏิบัติเช่นไร เพื่อจะแสดงข้อความนั้นก่อน ในวิภังคปกรณ์ท่านจึงยกคำว่า เนวสัญญีนาสัญญีขึ้นไว้แล้วกล่าวว่า พระโยคีใฝ่ใจอากิญจัญญายตนะนั้นนั่นแล โดยเป็นธรรมอันสงบอยู่ ย่อมเจริญสมาบัติมีสังขารที่เหลือเป็นอารมณ์ เพราะเหตุนั้นท่านจึงกล่าวว่า เนวสัญญีนาสัญญีดังนี้ บรรดาคำเหล่านั้น คำว่า ใฝ่ใจโดยสงบ คือใฝ่ใจสมาบัตินั้นว่า เป็นสมาบัติอันสงบแล้ว เพราะเป็นสมาบัติที่มีอารมณ์อันสงบแล้วอย่างนี้ว่า ก็ชื่อว่าสมาบัติอันใด กระทำแม้ความไม่มีให้เป็นอารมณ์ตั้งอยู่ สมาบัติอันนี้ เป็นสมาบัติที่สงบหนอ

ถามว่า ถ้าพระโยคีใฝ่ใจในความเป็นธรรมที่สงบอยู่ จะมีการก้าวล่วงอย่างไร ?

(หน้าที่ 192)

ตอบว่า เพราะไม่ต้องการจะเข้า จริงอยู่ พระโยคีนั้นใฝ่ใจสมาบัตินั้น โดยเป็นธรรมอันสงบอยู่แม้ก็จริง ถึงอย่างนั้น เธอก็ไม่มีการขวนขวาย ไม่มีการนึกถึง ไม่มีการใฝ่ใจว่า เราจักคำนึงถึง จักเข้า จักอธิษฐาน จักออก จักพิจารณาสมาบัตินี้

ถามว่า เพราะเหตุไร ?

ตอบว่า เพราะเนวสัญญานาสัญญายตนฌานสงบกว่า ประณีตกว่า อากิญจัญญายตนฌาน

เหมือนอย่างพระราชาประทับอยู่ที่คอช้างตัวประเสริฐ เสด็จพระราชดำเนินไป ตามถนนในเมือง ด้วยอานุภาพแห่งพระราชาผู้ทรงความเป็นใหญ่ ทอดพระเนตรเห็นคนมีศิลปะทั้งหลาย มีช่างแกะสลักงาเป็นต้น นุ่งผ้าผืนหนึ่งอย่างทะมัดทะแมง แล้วใช้ผ้าอีกผืนหนึ่งโพกศรีษะ มีเนื้อตัวเปรอะเปื้อนไปด้วยผงแห่งงาเป็นต้น กระทำงานศิลปะต่าง ๆ หลายชนิด มีการแกะสลักงาเป็นต้น ย่อมพอพระทัยต่อความฉลาดแห่งช่างทั้งหลายเหล่านั้นอย่างนี้ว่า น่าชมเชยหนอ อาจารย์ทั้งหลายเป็นผู้ฉลาด จักทำศิลปกรรมเช่นนี้ได้ แต่พระองค์หาทรงดำริเช่นนี้ไม่ว่า ดีหนอ เราควรสละราชสมบัติแล้วเป็นช่างเช่นนี้

ถามว่า ข้อนั้นเพราะเหตุอันใด ?

ตอบว่า เพราะราชสมบัติมีความไพบูลย์มากกว่า พระองค์จึงเสด็จเลยเหล่าช่างไปเสีย ฉันใด พระโยคีนี้ก็เหมือนกันฉันนั้น ใฝ่ใจสมาบัตินั้นโดยเป็นธรรมที่สงบแม้ก็จริง ที่แท้เธอมิได้มีความผูกพัน มิได้นึกถึง มิได้ใฝ่ใจถึงเลยว่า เราจักคำนึงถึง จักเข้า จักอธิษฐาน จักออก จักพิจารณาสมาบัตินั้น ดังนี้ พระโยคีนั้นใฝ่ใจอรูปสมาบัติที่ 3 นั้น โดยเป็นธรรมอันสงบอยู่ ย่อมบรรลุสัญญาที่ถึงอัปปนาอันสุขุมอย่างยิ่งนั้น โดยนัยที่กล่าวไว้แล้ว ณ เบื้องต้น ซึ่งได้นามว่า เนวสัญญีนาสัญญี ท่านเรียกว่า ย่อมเจริญสมาบัติมีสังขารที่เหลือเป็นอารมณ์ คำว่าสมาบัติที่มีสังขารที่เหลือเป็นอารมณ์ ได้แก่อรูปสมาบัติที่ 4 ซึ่งมีสังขารที่ถึงภาวะอันสุขุมอย่างยอดเยี่ยม

บัดนี้ เพื่อจะแสดงเนื้อความแห่งคำที่ท่านได้กล่าวไว้ว่า เนวสัญญานาสัญญายตนะ ด้วยสามารถสัญญาที่พระโยคีบรรลุ ดังที่ได้พรรณนามา ท่านจึงกล่าวไว้ว่า คำว่าเนวสัญญานาสัญญายตนะ ได้แก่ธรรมคือจิตและเจตสิก แห่งพระโยคีผู้เข้า หรือผู้เข้าถึงเนวสัญญานาสัญญายตนฌาน หรือผู้อยู่เป็นสุขในธรรมที่บรรลุแล้ว บรรดาธรรมเหล่านั้น สำหรับใน

(หน้าที่ 193)

อธิการนี้ ท่านประสงค์เอาจิตและเจตสิกแห่งพระโยคีผู้บรรลุ ก็ในสมาบัตินี้ มีอรรถวิเคราะห์ ดังต่อไปนี้ ฌานนี้พร้อมทั้งสัมปยุตธรรม ชื่อว่ามีสัญญาก็ไม่ใช่ เพราะไม่มีสัญญาที่หยาบ และชื่อว่าไม่มีสัญญาก็ไม่ใช่ เพราะสัญญาที่ละเอียดยังมีอยู่ เหตุนั้น ฌานนี้จึงชื่อว่า เนวสัญญานาสัญญา ก็เนวสัญญานาสัญญานั้น เป็นอายตนะด้วย เพราะนับเนื่องในมนายตนะ และธัมมายตนะ เหตุนั้นจึงชื่อว่า เนวสัญญานาสัญญายตนะ อีกนัยหนึ่ง สัญญาในสมาบัตินี้ไม่มีชื่อว่าสัญญา เพราะไม่สามารถทำหน้าที่สัญญาได้เต็มที่ และชื่อว่า ไม่มีสัญญาเลยก็ไม่ได้ เพราะสัญญาก็ยังมีอยู่ โดยที่ยังมีสังขารอันธรรมที่ละเอียดเหลืออยู่ เหตุนั้น จึงชื่อว่า เนวสัญญานาสัญญา ก็เนวสัญญานาสัญญานั้น เป็นอายตนะด้วย เพราะอรรถว่าเป็นที่ตั้งมั่นแห่งธรรมที่เหลือ เหตุนั้นจึงชื่อว่า เนวสัญญานาสัญญายตนะ ก็ในสมาบัตินี้ มิใช่เพียงสัญญาเท่านั้นที่เป็นเช่นนี้ ที่แท้ถึงเวทนาก็ชื่อว่า มีเวทนาก็ไม่ใช่ไม่มีเวทนาก็ไม่ใช่ ถึงจิตก็ชื่อว่า มีจิตก็ไม่ใช่ ไม่มีจิตก็ไม่ใช่ ถึงผัสสะก็ชื่อว่า มีผัสสะก็ไม่ใช่ ไม่มีผัสสะก็ไม่ใช่ ในสัมปยุตธรรมทั้งหลายที่เหลือก็นัยนี้เหมือนกัน อนึ่ง นักศึกษาพึงทราบว่าพระธรรมเทศนานี้ พระพุทธองค์ทรงยกสัญญาเป็นบทตั้ง นักปราชญ์พึงไขเนื้อความนี้ให้กระจ่างแจ้ง ด้วยอุปมาหลายอย่าง เริ่มต้นแต่อุปมาเหมือนน้ำมันทาบาตรเป็นต้น

เรื่องสามเณรใช้น้ำมันทาบาตร

เล่ากันต่อมาว่า สามเณรใช้น้ำมันทาบาตรแล้วตั้งเก็บไว้ ในเวลาฉันข้าวต้ม พระเถระกล่าวกับสามเณรนั้นว่า เธอจงนำบาตรมา สามเณรเรียนท่านว่า ในบาตรนี้มีน้ำมันครับ เมื่อพระเถระกล่าวว่า นำมาเถิดสามเณร ฉันจะกรอกให้เต็มหลอดที่บรรจุน้ำ ก็เรียนว่าไม่มีน้ำมันครับ ในเรื่องนั้นพึงทราบอุปมาดังนี้ น้ำมันปรากฏว่ามีอยู่ เพราะมันอยู่ข้างใน โดยไม่เป็นประโยชน์ที่เหมาะสมกับข้าวต้ม แต่ปรากฏว่า ไม่มี ด้วยสามารถจะกรอกให้เต็มหลอดได้เป็นต้นฉันใด ถึงสัญญานั้นก็ฉันนั้น ชื่อว่ามีสัญญาก็ไม่ใช่ เพราะไม่สามารถทำหน้าที่สัญญาได้เต็มที่ ชื่อว่าไม่มีสัญญาก็ไม่ใช่ เพราะสัญญายังมีอยู่โดยยังมีสังขารที่ละเอียดเหลืออยู่

ถามว่า ในสมาบัตินี้ กิจแห่งสัญญาเป็นอย่างไร ? ตอบว่า ได้แก่ การหมายรู้อารมณ์ และการเข้าถึงภาวะแห่งอารมณ์แห่งวิปัสสนาแล้วให้เกิดความเบื่อหน่าย ก็สัญญานั้น

(หน้าที่ 194)

ไม่อาจทำแม้หน้าที่คือความหมายรู้ให้เต็มที่ได้ ดุจเตโชธาตุในน้ำร้อน ไม่สามารถทำกิจคือการเผาได้ คือไม่อาจเข้าถึงความเป็นอารมณ์แห่งวิปัสสนา แล้วกระทำให้เกิดความเบื่อหน่าย เหมือนสัญญาในสมาบัติที่เหลือได้ จริงอยู่ ภิกษุไม่ได้ทำการพิจารณาให้ขันธ์ทั้งหลายอื่นพิจารณาแต่เนวสัญญานาสัญญาขันธ์เท่านั้น ชื่อว่า สามารถบรรลุความเบื่อหน่ายไม่มี ก็ท่านพระสารีบุตรเถระ โดยปกติเป็นนักวิปัสสนา เป็นผู้มีปัญญามาก พึงอาจบรรลุได้ ส่วนกุลบุตรอื่นที่มีปัญญามาก เช่นเดียวกับท่านพระสารีบุตรเถระ ก็พึงอาจบรรลุได้ แม้กุลบุตรนั้นก็พึงกำหนดถือเอาได้ ด้วยอำนาจการพิจารณารวมกันเท่านั้นอย่างนี้ว่า นัยว่า นัยธรรมเหล่านี้ไม่มีแล้วก็เกิดมีขึ้น ที่เกิดมีแล้วก็แปรปรวนไปอย่างนี้ แต่ไม่พึงอาจกำหนดถือเอาได้ ด้วยอำนาจการเห็นธรรมตามลำดับบท สมาบัตินี้ถึงความเป็นสภาพละเอียดอย่างนี้บัณฑิตพึงไขเนื้อความนี้ให้เห็นแจ่มแจ้ง แม้ด้วยการเปรียบเทียบกับน้ำในหนทาง เหมือนการเปรียบเทียบน้ำมันทาบาตรฉะนั้น

ได้ยินมาว่า สามเณรเดินไปข้างหน้าพระเถระผู้เดินทาง เห็นน้ำหน่อยหนึ่งจึงกราบเรียนว่า น้ำครับ ! นิมนต์ถอดรองเท้า เมื่อพระเถระกล่าวว่า เออ ! สามเณร ถ้าน้ำมีำจงนำมา ฉันจะชุบผ้าอาบน้ำ จึงกราบเรียนว่า ไม่มีครับ ในข้อนั้นพึงเห็นเนื้อความว่า น้ำปรากฏว่ามีอยู่ เพราะพอเพียงที่จะเปียกรองเท้า แต่ปรากฏว่าไม่มีพอที่จะอาบได้ ฉันใด แม้สัญญานั้นก็เหมือนกัน จัดว่ามีสัญญาก็ไม่ใช่ เพราะไม่สามารถทำกิจแห่งสัญญาอย่างเต็มที่ได้ จัดว่าไม่มีสัญญาก็ไม่ใช่ เพราะสัญญายังมีอยู่ โดยที่ยังมีสังขารที่ละเอียดเหลืออยู่ ก็บัณฑิตไม่พึงไขเนื้อความนี้ให้แจ่มแจ้งด้วยอุปมาเหล่านี้เพียงเท่านั้น พึงไขให้แจ่มแจ้งด้วย อุปมาที่เหมาะสมแม้เหล่าอื่นอีก คำว่า เข้าถึงอยู่ นี้ก็มีนัยดังที่ได้กล่าวไว้แล้วเช่นกัน

นี้เป็นถ้อยแถลงอย่างพิสดาร ในเนวสัญญานาสัญญายตนกัมมัฏฐาน

ปกิณณกกถาเกี่ยวกับอรูป

พระพุทธเจ้าผู้เป็นที่พึ่งแห่งสัตว์โลก มีพระรูปหาผู้เปรียบเสมอเหมือนได้ ตรัสอรูปสมาบัติ 4 อย่าง อันใดไว้แล้ว พระโยคีเข้าใจสมาบัตินั้นดังนี้แล้ว ก็ควรทราบถ้อยแถลง แม้เล็ก ๆ น้อย ๆ ในสมาบัตินั้น ดังนี้

(หน้าที่ 195)

จริงอยู่ อรูปสมาบัติทั้ง 4 ประการ สำเร็จได้โดยการก้าวล่วงอารมณ์, บัณฑิตผู้มีปรีชาไม่ปรารถนาการก้าวล่วงองค์แห่งอรูปสมาบัติเหล่านั้น.

นักศึกษาพึงทราบอรูปสมาบัติเหล่านี้ว่า มีเพียง 4 ประการ โดยการก้าวล่วงอารมณ์โดยประการทั้งปวง คือ ก็ในอรูปสมาบัติ 4 เหล่านี้ อรูปสมาบัติที่ 1 โดยการก้าวล่วงรูปนิมิต อรูปสมาบัติที่ 2 โดยการก้าวล่วงอากาศ อรูปสมาบัติที่ 3 โดยการก้าวล่วงวิญญาณที่เป็นไปแล้วในอากาศ อรูปสมาบัติที่ 4 โดยการก้าวล่วงความไปปราศจากวิญญาณ ที่เป็นไปแล้วในอากาศ แต่การก้าวล่วงองค์แห่งอรูปสมาบัติเหล่านี้ บัณฑิตไม่ปรารถนาความจริง ในอรูปสมาบัติเหล่านี้ ไม่มีการก้าวล่วงองค์ เหมือนในรูปาวจรสมาบัติ เพราะว่า ในอรูปสมาบัติเหล่านี้แม้ทั้งหมด มีองค์ฌานเพียง 2 เท่านั้น คือ 1. อุเบกขา 2. จิตเตกัคคตา

แม้จะมีองค์เท่ากันก็จริง แต่อรูปสมาบัติข้อหลัง ๆ ก็เป็นคุณชาติที่ประณีตดีกว่าในอรูปสมาบัติเหล่านั้น นักศึกษาพึงทราบอุปมาเหมือนพื้นปราสาทและผ้าสาฏก

เหมือนพื้นปราสาทและผ้าสาฏก

ก็เหมือนอย่างปราสาท 4 ชั้น ชั้นล่างปรากฏกามคุณทั้งอันประณีต ด้วยสามารถการฟ้อนรำ ขับร้อง ประโคมดนตรี กลิ่นที่หอมตลบ พวงดอกไม้ อาหาร ที่นอน และเครื่องนุ่งห่มอันเป็นทิพเป็นต้น แต่ชั้นที่ 2 ประณีตกว่าชั้นล่าง ชั้นที่ 3 ประณีตกว่าชั้นที่ 2 ชั้นที่ 4 ประณีตกว่าทุกชั้น ถึงพื้นปราสาทเหล่านั้นในปราสาทนั้นทั้ง 4 ชั้น ย่อมไม่แตกต่างกัน โดยเป็นพื้นปราสาททั้ง 4 ชั้นก็จริง ถึงอย่างนั้น ชั้นบน ๆ ก็ประณีตกว่า ชั้นล่าง ๆ โดยความพิเศษกว่ากันแห่งความสำเร็จแห่งกามคุณทั้ง 5 ฉันใด

อีกอย่างหนึ่ง เหมือนกับหญิงคนหนึ่งใช้ด้ายที่หยาบ ละเอียด ละเอียดกว่า และละเอียดที่สุด ทอผ้าสาฏก 4 ชั้น 3 ชั้น 2 ชั้น และชั้นเดียว มีประมาณเท่ากันทั้งส่วนยาวและส่วนกว้าง ผ้าสาฏกเหล่านั้น ทั้ง 4 ผืนมีประมาณเท่ากันทั้งส่วนยาวและส่วนกว้าง ไม่แตกต่างกันเลยโดยประมาณก็จริง ถึงอย่างนั้น ผืนหลัง ๆ ก็ประณีตกว่าผืนแรก ๆ โดยมีความเป็นผ้ามีเนื้อละเอียด มีสัมผัสนุ่มนวล และมีราคาแพง ฉันใด แม้ในอรูปสมาบัติทั้ง

(หน้าที่ 196)

4 นี้ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ถึงจะมีเพียงองค์ 2 เหล่านี้ คือ อุเบกขา 1 จิตเตกัคคตา 1 ก็จริง ถึงอย่างนั้นนักศึกษาพึงทราบโดยความแตกต่างแห่งภาวนาว่า ในอรูปสมาบัตินี้ อรูปสมาบัติข้อหลัง ๆ ประณีตดีกว่า โดยที่องค์เหล่านั้นเป็นสภาวะประณีตและประณีตกว่านั้น ก็อรูปสมาบัติเหล่านี้ประณีตและประณีตกว่ากันโดยลำดับ ดังบรรยายมานี้

ชายคนหนึ่งโหนมณฑปที่สกปรก อีกคนหนึ่งยืนเกาะชายผู้นั้น ชายอื่นอีกคนหนึ่งยืนอยู่ภายนอก ไม่เกาะชายทั้ง 2 นั้น แต่ว่าชายอีกคนหนึ่งกลับยืนเกาะชายที่ยืนอยู่ภายนอกมณฑปนั้น ถึงอรูปสมาบัติทั้ง 4 บัณฑิตผู้มีปรีชาพึงทราบโดยความมีสภาพเสมอกันกับชายทั้ง 4 คนเหล่านั้นตามลำดับ

ในอุปมานั้น มีการขยายความดังต่อไปนี้

เขาเล่าว่า มีมณฑปหลังหนึ่งอยู่ในที่สกปรก สมัยนั้นยังมีชายคนหนึ่งมาแล้วเกลียดความสกปรกนั้น จึงเหนี่ยวมณฑปนั้นอยู่ ดุจหนึ่งว่าคนถูกแขวนอยู่ที่มณฑปนั้น

ต่อมายังมีชายอีกคนหนึ่งมาแล้ว จึงเกาะชายผู้เกาะมณฑปนั้น

ต่อมายังมีชายอีกคนหนึ่งมาแล้วคิดว่า ชายที่เกาะมณฑปก็ดี ชายที่เกาะชายผู้เกาะมณฑปก็ดี ทั้ง 2 คนเหล่านี้ยืนไม่มั่นคง เขาทั้ง 2 จักตกลงไปในบ่อใกล้มณฑปแน่นอน อย่ากระนั้นเลย เรายืนข้างนอกดีกว่า เขาจึงยืนเสียข้างนอก ไม่เกาะชายผู้เกาะชายที่เกาะมณฑปนั้น

ภายหลังต่อมา ยังมีชายอีกคนหนึ่งมาแล้วคิดเห็นความไม่ปลอดภัยแห่งชายที่เกาะมณฑปและชายที่เกาะชายผู้เกาะมณฑปนั้น รู้สึกว่าชายที่ยืนอยู่ข้างนอกนั้นยืนได้มั่นคง จึงยืนเกาะชายคนนั้น

ในข้อนั้น นักศึกษาพึงเห็นอากาศเป็นเครื่องเพิกกสิณดุจมณฑปในที่สกปรก พึงเห็นอากาสานัญจายตนะซึ่งมีอากาศเป็นอารมณ์ เพราะรังเกียจรูปนิมิตดุจชายที่เกาะมณฑป เพราะรังเกียจความสกปรก พึงเห็นวิญญาณัญจายตนะ ที่ปรารภอากาสานัญจายตนะซึ่งมีอากาศเป็นอารมณ์ เป็นไปดุจชายผู้เกาะชายที่เกาะมณฑป พึงเห็นอากิญจัญญายตนะ อันไม่ทำอากาสานัญจายตนะให้เป็นอารมณ์แล้วมีความไม่มีแห่งอากาสานัญจายตนะนั้นเป็นอารมณ์ ดุจชายที่คิดถึงความไม่ปลอดภัยแม้แห่งชายทั้ง 2 คน แล้วยืนเสียข้างนอก ไม่เกาะชายที่เกาะมณฑปนั้น พึงเห็นเนวสัญญานาสัญญายตนะซึ่งปรารภอากิญจัญญายตนะอันตั้งอยู่ ณ ที่

(หน้าที่ 197)

ภายนอก คือความไม่มีวิญญาณเป็นไปดุจชายที่คิดถึงความไม่ปลอดภัยแห่งชายที่เกาะมณฑป และชายผู้เกาะชายซึ่งเกาะมณฑปนั้น แล้วรู้สึกว่าชายที่ยืนอยู่ข้างนอกนั้นว่า เป็นผู้ยืนได้มั่นคง จึงยืนเกาะชายที่ยืนอยู่ข้างนอก ก็เนวสัญญานาสัญญายตนะนี้ มีความเป็นไปอย่างนี้ คือ

ยังต้องทำอรูปสมาบัตินั่นแหละให้เป็นอารมณ์เพราะไม่มีอารมณ์อื่น เช่นเดียวกับประชาชน จำต้องเคารพพระราชา แม้ที่ตนเห็นความไม่ดี เพราะเหตุแห่งชีวิต

จริงอยู่ เนวสัญญานาสัญญายตนฌาน ยังต้องทำอากิญจัญญายตนฌานแม้ที่ตนเห็นโทษอย่างนี้แล้วว่า สมาบัตินี้มีวิญญาณัญจายตนสมาบัติเป็นข้าศึกอยู่ใกล้นั้นเป็นอารมณ์ เพราะไม่มีอารมณ์อื่น

ถามว่า เหมือนอะไร ?

ตอบว่า เหมือนประชาชนยังต้องนอบน้อมพระราชาแม้ที่ตนเห็นความไม่ดี เพราะเหตุแห่งชีวิต อนึ่ง เหมือนประชาชนเมื่อไม่ได้การดำรงชีวิตอยู่ในที่อื่น เพราะเหตุแห่งชีวิตจึงจำต้องอาศัยพระราชาบางพระองค์ที่เป็นเจ้าทวีปทั้งปวง ซึ่งไม่สำรวม มีกายสมาจาร, วจีสมาจาร และมโนสมาจารที่หยาบกระด้าง แม้ที่ตนเห็นโทษแล้วอย่างนี้ว่า พระราชาพระองค์นี้ มีสมาจารกักขฬะเป็นไปฉันใด เนวสัญญานาสัญญายตนฌานนี้ก็ฉันนั้น เมื่อไม่ได้อารมณ์อื่นก็จำต้องทำอากิญจัญญายตนฌานแม้ที่ตนเห็นโทษแล้วนั้น ให้เป็นอารมณ์

ก็เนวสัญญานาสัญญายตนฌานกระทำอยู่อย่างนี้

คนขึ้นบันไดยาว จะต้องยึดแม่บันได ฉันใด คนขึ้นสู่ยอดภูเขาจะต้องเหนี่ยวโขดเขา ฉันใด คนขึ้นภูเขาหินลาด จะต้องค้ำเข่าของตน ฉันใด เนวสัญญานาสัญญายตนฌานนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน จะต้องยึดเหนี่ยวอากิญจัญญายตนฌานนั้นไป

อารุปปนิทเทส ปริจเฉทที่ 10

ในอธิการว่าด้วยสมาธิภาวนา ในปกรณ์วิเศษชื่อวิสุทธิมรรค

อันข้าพเจ้ารจนาขึ้นไว้

เพื่อให้เกิดความปราโมทย์แก่สาธุชนทั้งหลาย

ยุติลงด้วยประการฉะนี้

……………….

ดูเพิ่ม