อยู่ในระหว่างปรับสำนวน
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส
ตำราพุทธมีลำดับการศึกษาให้เข้าใจทะลุทะลวงดังนี้: ขอเป็นศิษย์ผู้มีฌานวสีทรงจำพระไตรปิฎกบาลี > ท่องจำบาลีตามลำดับซ้ำๆ ไม่ลืมทบทวนแม้จำได้แล้ว > สอบถามบาลี > ฟังคำอธิบายบาลี > ทรงจำทั้งหมด > ในระหว่างท่องจำก็พยายามปฏิบัติตามไปด้วยจนแตกฉาน. ผู้ที่ข้ามขั้นตอนเหล่านี้ยิ่งมากเท่าไหร่ ยิ่งเป็นไปได้ยากที่จะบรรลุอัปปนาทั้งโลกิยะและโลกุตตระในศาสนาพุทธได้ พระพุทธเจ้าตรัสเรียกว่า "โมฆบุรุษ" เพราะว่างเปล่าจากอัปปนา (เรียบเรียงจากกีฏาคิริสูตร; ธัมมัญญูสูตร; สัจจบรรพะ อรรถกถามัคคนิทเทส; วิสุทธิมรรค กัมมัฏฐานคหณนิทเทส)
(หน้าที่ 302)
อสุภกัมมัฏฐานนิทเทส ปริจเฉทที่ 6
ก็แหละ ในอสุภอันปราศจากวิญญานที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ในลำดับแห่งกสิณนั้น มี 10 ประการ คือ อุทธุมาตกะ 1 วินีลกะ 1 วิปุพพกะ 1 วิจฉิททกะ 1 วิกขายิตกะ 1 วิกขิตตกะ 1 หตวิกขิตตกะ 1 โลหิตกะ 1 ปุฬุวกะ 1 อัฏฐิกะ 1
1. อธิบาย อุทธุมาตกอสุภ
อสุภที่ชื่อว่า อุทฺธุมาต เพราะเป็นของพองขึ้น โดยที่มันอืดขึ้น ๆ ตามลำดับ นับแต่สิ้นชีวิตไป มีอาการเหมือนลูกหนังที่พองขึ้นด้วยลม อุทฺธุมาต ศัพท์นั่นเอง ได้รูปเป็น อุทฺธุมาตก อีกอย่างหนึ่ง อสุภที่พองขึ้นอย่างน่าเกลียด เพราะเป็นสิ่งที่ปฏิกูล ฉะนั้นจึงชื่อว่า อุทฺธุมาตก คำว่า อุทธุมาตก นี้เป็นชื่อของซากศพเห็นปานดังนั้น แปลว่า ซากศพที่พองอืดขึ้นอย่างหนึ่ง ซากศพที่พองอย่างน่าเกลียดอย่างหนึ่ง
2. อธิบาย วินีลกอสุภ
อสุภที่มีสีเขียวคละไปด้วยสีต่าง ๆ เรียกว่า วินีล วินีล ศัพท์นั่นเองได้รูปเป็นวินีลก แปลว่า อสุภมีสีเขียวคละไปด้วยสีต่าง ๆ อีกอย่างหนึ่ง อสุภมีสีเขียวน่าเกลียด เพราะเป็นสิ่งที่ปฏิกูล ฉะนั้นจึงชื่อว่า วินีลก แปลว่าอสูภมีสีเขียวน่าเกลียด คำว่า วินีลกะ นี้เป็นชื่อของซากศพที่มีสีแดงในที่ ๆ มีเนื้อหนา มีสีขาวในที่ ๆ มันบ่มหนอง และโดยมากมีสีเขียวเป็นดังคลุมผ้าสีเขียวไว้ ในที่ ๆ เขียว
3. อธิบาย วิปุพพกอสุภ
อสุภที่เป็นหนองกำลังไหลเยิ้มอยู่ ณ ที่ ๆ มันแตกปริ ชื่อว่า วิปุพฺพ วิปุพฺพ ศัพท์นั่นเองได้รูปเป็น วิปุพฺพก แปลว่า อสุภที่เป็นหนองไหลเยิ้มอยู่ อีกอย่างหนึ่ง อสุภที่เป็นหนองอย่างน่าเกลียด เพราะเป็นสิ่งที่ปฏิกูล ฉะนั้นจึงชื่อว่า วิปุพฺพก แปลว่า อสุภที่เป็นหนองอย่างน่าเกลียด คำว่า วิปุพพกะ นี้เป็นชื่อของซากศพเห็นปานดังนั้น
(หน้าที่ 303)
4. อธิบาย วิจฉิททกอสุภ
อสุภที่แยกจากกันโดยขาดเป็น 2 ท่อน เรียกว่า วิจฺฉิทฺท วิจฺฉิทฺท ศัพท์นั้นเอง ได้เป็นรูป วิจฺฉิทฺทก แปลว่า อสุภที่ขาดแยกจากกัน อีกอย่างหนึ่ง อสุภที่ขาดจากกันอย่างน่าเกลียด เพราะเป็นสิ่งที่ปฏิกูล ฉะนั้นจึงชื่อว่า วิจฺฉิทฺทก แปลว่า อสุภที่ขาดจากกันอย่างน่าเกลียด คำว่า วิจฉิททกะ นี้เป็นชื่อของอสุภที่ขาดตรงกลางตัว
5. อธิบาย วิกขายิตกอสุภ
อสุภที่สัตว์ทั้งหลายมีสุนัขบ้านและสุนัขป่าเป็นต้นกัดกินโดยอาการต่าง ๆ ตรงนี้บ้าง ตรงนั้นบ้าง ฉะนั้นจึงชื่อว่า วิกฺขายิต วิกฺขายิต ศัพท์นั่นเองได้รูปเป็น วิกฺขายิตก แปลว่าอสุภที่สัตว์กัดกินโดยอาการต่าง ๆ อีกอย่างหนึ่ง อสุภที่ถูกสัตว์กัดกินอย่างน่าเกลียดเพราะเป็นสิ่งที่ปฏิกูล ฉะนั้นจึงชื่อว่า วิกฺขายิตก แปลว่า อสุภที่ถูกสัตว์กัดกินอย่างน่าเกลียด คำว่า วิกขายิตกะ นี้เป็นชื่อของซากศพที่เห็นปานดังนั้น
6. อธิบาย วิกขิตตกอสุภ
อสุภที่ทิ้งกระจายอยู่ ชื่อว่า วิกฺขิตฺต วิกฺขิตฺต ศัพท์นั่นเองได้รูปเป็น วิกฺขิตฺตก แปลว่า อสุภที่ทิ้งกระจายอยู่ อีกอย่างหนึ่ง อสุภที่ทิ้งกระจายอยู่อย่างน่าเกลียด เพราะเป็นสิ่งที่ปฏิกูล ฉะนั้นจึงชื่อว่า วิกฺขิตฺตก แปลว่า อสุภที่ทิ้งกระจายอยู่อย่างน่าเกลียด คำว่า วิกขิตตกะ นี้เป็นชื่อของซากศพที่ทิ้งไว้ ณ ที่นั้น ๆ อย่างนี้ คือ มืออยู่ทางหนึ่ง เท้าอยู่ทางหนึ่ง ศรีษะอยู่ทางหนึ่ง
7. อธิบาย หตวิกขิตตกอสุภ
อสุภนั้นถูกฟันด้วย ทิ้งกระจายอยู่โดยนัยก่อนนั่นแลด้วย ฉะนั้นจึงชื่อว่า หตวิกฺขิตตก แปลว่า อสุภที่ถูกฟันและทิ้งกระจายอยู่ คำว่า หตวิกขิตตกะ นี้เป็นชื่อของซากศพที่ถูกฟันด้วยศัสตราที่องค์อวัยวะทั้งหลายโดยอาการดังกากบาท (ถูกฟันยับเหมือนรอยตีนกา) แล้วทิ้งกระจายโดยนัยดังกล่าวแล้ว
(หน้าที่ 304)
8. อธิบาย โลหิตกอสุภ
อสุภที่มีโลหิตเกลื่อนกลาดเรี่ยราดไป คือ ไหลออกตรงนี้บ้างตรงโน้นบ้าง ฉะนั้นจึงชื่อว่า โลหิตก แปลว่า อสุภที่มีโลหิต คำว่า โลหิตกะ นี้เป็นชื่อของซากศพที่เปรอะเปื้อนไปด้วยโลหิตที่ไหลออกอยู่
9 . อธิบาย ปุฬุวกอสุภ
หนอนทั้งหลายเรียกว่า ปุฬุวา หนอนทั้งหลายเกลื่อนกลาดอยู่ในอสุภนั้น เหตุนั้นอสุภนั้นจึงชื่อว่า ปุฬุวก แปลว่า อสุภมีหนอนเกลื่อนกลาด คำว่า ปุฬุวกะ นี้เป็นชื่อของซากศพที่เต็มไปด้วยหนอน
10. อธิบาย อัฏฐิกอสุภ
อฏฺ
ศัพท์ที่แปลว่ากระดูกนั้นเองได้รูปเป็น อฏฺ
ก แปลว่า อสุภที่เป็นกระดูก อีกอย่างหนึ่ง อสุภที่เป็นกระดูกอย่างน่าเกลียด เพราะเป็นสิ่งที่ปฏิกูล ฉะนั้นจึงชื่อว่า อฏฺฐิก แปลว่า อสุภที่เป็นกระดูกอย่างน่าเกลียด คำว่า อัฏฐิกะ นี้เป็นชื่อของอสุภที่เป็นกระดูกท่อนเดียวแม้ในโครงกระดูก
อนึ่ง คำทั้งหลายมีคำว่า อุทฺธุมาตก เป็นต้นนี้ เป็นชื่อของนิมิตทั้งหลายที่เกิดขึ้นเพราะอาศัยอุทธุมาตกอสุภเป็นต้นเหล่านี้ก็ได้ เป็นชื่อของฌานทั้งหลายที่โยคีบุคคลได้แล้วในนิมิตทั้งหลายก็ได้
ในอสุภ 10 ประการนั้น โยคีบุคคลผู้ปรารถนาจะทำอุทธุมาตกนิมิตในร่างกายอันขึ้นพองให้บังเกิดขึ้นแล้วเจริญอุทธุมาตกฌาน พึงเข้าไปหาอาจารย์(ผู้มีคุณสมบัติตามที่กล่าวไว้ในกัมมัฏฐานััคคหณนิทเทส) แล้วท่องจำกัมมัฏฐาน ตามวิธีดังกล่าวมาแล้วใน(กัมมัฏฐานััคคหณนิทเทสและ)ปถวีกสิณนั่นแล อันอาจารย์นั้นเมื่อจะบอกกัมมัฏฐานแก่โยคีบุคคลนั้น พึงบอกให้หมดทุกวิธีอย่างนี้คือ
ฝ่ายโยคีบุคคลครั้นท่องจำวิธีทุก ๆ อย่างเป็นอันดีแล้ว พึงเข้าไปยังเสนาสนะอันมีประการดังกล่าวแล้วในตอนต้น พึงแสวงหาอุทธุมาตกนิมิตอยู่เถิด
(หน้าที่ 305)
ก็แหละ เมื่อโยคีบุคคลแสวงหาอุทธุมาตกนิมิตอยู่อย่างนั้น แม้ครั้นได้ยินคนทั้งหลายพูดกันว่า ร่างอสุภที่ขึ้นพองทิ้งอยู่ที่ประตูบ้านชื่อโน้น ที่ปากดงชื่อโน้น ที่หนทางชื่อโน้น ที่เชิงภูเขาชื่อโน้น ที่โคนไม้ชื่อโน้น ที่ป่าช้าชื่อโน้น อย่าพึ่งรีบไปโดยทันทีเหมือนคนแล่นไปโดยผิดท่า
เพราะเหตุไร ? เพราะเหตุว่า ขึ้นชื่อว่าอสุภนี้ เป็นสิ่งอันมฤคร้ายซ่อนไว้ก็มี เป็นสิ่งอันมนุษย์สิงอยู่ก็มี แม้อันตรายแห่งชีวิตจะพึงมีแก่โยคีบุคคลนั้นได้ในเพราะเหตุนั้น อนึ่งทางไปที่ ณ ที่แห่งอสุภนั้น ลางทีก็ผ่านประตูบ้าน ลางทีก็ผ่านท่าน้ำ ลางทีก็ผ่านปลายนาไป ณ ที่เช่นนั้น รูปอันเป็นวิสภาค (คือรูปอันเป็นข้าศึก) ก็จะมาสู่คลองจักษุ หรือร่างอสุภนั่นเอง แหละจะเป็นรูปวิสภาคเสียเอง จริงอยู่ ร่างของสตรีย่อมเป็นรูปวิสภาคของบุรุษ ร่างของบุรุษย่อมเป็นรูปวิสภาคของสตรี ร่างนี้นั้นอันตายแล้วไม่นาน ย่อมปรากฏโดยความเป็นของสวยงามอยู่ได้ ด้วยเหตุนั้น แม้อันตรายแห่งพรหมจรรย์จะพึงมีแก่โยคีบุคคลนั้นได้ แต่ถ้าโยคีบุคคลนั้นมั่นใจตนเองว่า สำหรับโยคีบุคคลเช่นอย่างข้าพเจ้า อสุภนี้ไม่เป็นสิ่งที่น่าหนักใจ เมื่อโยคีบุคคลมั่นใจตนเองได้อย่างนี้ ก็พึงไปเถิด
ก็แหละ เมื่อจะไปนั้น พึงเรียนแด่พระสังฆเถระหรือพระภิกษุผู้มีชื่อเสียงรูปใดรูปหนึงแล้วจึงไป เพราะเหตุไร ? เพราะถ้าโยคีบุคคลนั้นถูกอนิฏฐารมณ์คือรูปและเสียงของอมนุษย์ สีหะ และเสือเป็นต้นครอบงำ ณ ที่สุสาน ถึงกับองค์อวัยวะสั่นระทวย หรืออาหารที่บริโภคแล้วไม่อยู่ท้อง หรือต้องอาพาธอย่างอื่น แต่นั้นพระสังฆเถระหรือพระภิกษุผู้มีชื่อเสียงที่เธอเรียนแล้วนั้น จักทำหน้าที่รักษาบาตรและจีวรในวิหารไว้ให้ หรือจักส่งภิกษุหนุ่มหรือสามเณรทั้งหลายไปช่วยปฏิบัติภิกษุนั้น อีกประการหนึ่ง โจรทั้งหลายทั้งที่ลงมือทำการแล้วทั้งที่ยังไม่ลงมือทำการสำคัญเห็นว่า ขึ้นชื่อว่าสุสานย่อมเป็นสถานที่ปราศจากความระแวงจึงมาชุมนุมกัน ครั้นพวกมนุษย์ติดตามมาทันเข้า จึงทิ้งสิ่งของไว้ใกล้ ๆ กับภิกษุแล้วพากันหลบหนีไป พวกมนุษย์พูดว่าพวกเราเห็นโจรพร้อมทั้งของกลางดังนี้ แล้วจึงจับภิกษุทำการทรมาน แต่นั้นพระสังฆเถระหรือภิกษุผู้มีชื่อเสียงนั้นจะบอกมนุษย์เหล่านั้นให้เข้าใจว่า ท่านทั้งหลายอย่าได้เบียดเบียนภิกษุนี้เลย ภิกษุนี้บอกแก่อาตมาแล้วจึงไปด้วยการงานสิ่งนี้ ดังนี้แล้วจักทำความสวัสดิภาพให้แก่เธอ นี้คืออานิสงส์ในการเรียนบอกแล้วจึงไป
(หน้าที่ 306)
เพราะเหตุนั้น โยคีบุคคลเรียนบอกแก่ภิกษุผู้มีประการดังกล่าวแล้ว เป็นผู้มีความกะหยิ่มใจเกิดขึ้นในอันที่จะเห็นอสุภนิมิต จึงไปด้วยความปีติและโสมนัส มีอาการเหมือนกษัตริย์เสด็จไปสู่สถานที่ราชาภิเษก เหมือนคนบูชายัญไปสู่โรงบูชายัญ แหละหรือเหมือนคนไร้ทรัพย์ไปสู่สถานที่ฝังขุมทรัพย์ ครั้นโยคีบุคคลทำปีติและโสมนัสให้เกิดขึ้นโดยทำนองดังพรรณนามาอย่างนี้แล้ว พึงไปโดยวิธีที่พรรณนาไว้ในอรรถกถาทั้งหลายนั่นเถิด
จริงอยู่ พระอรรถกถาจารย์พรรณนาเรื่องนี้ไว้ดังต่อไปนี้ –
โยคีบุคคลเมื่อเรียนเอาอสุภนิมิตชนิดที่ขึ้นพองแล้งจึงไปอย่างเดียวดาย ไม่มีเพื่อนสอง โดยมีสติอันตั้งมั่นไม่หลงลืม มีอินทรีย์ทั้งหลายอยู่ในภายใน มีใจไม่แลบไปข้างนอก พิจารณาดูทางไปและทางมาอยู่ ณ ตำบลใด มีอสุภนิมิตชนิดที่ขึ้นพองซึ่งทอดทิ้งไว้ ณ ตำบลนั้น โยคีบุคคลย่อมทำก้อนหิน, จอมปลวก, ต้นไม้, กอไม้หรือเครือไม้ไว้เป็นเครื่องหมายร่วมกัน ทำให้เป็นอารมณ์ร่วมกัน ครั้นทำให้เป็นเครื่องหมายร่วมกัน ทำให้เป็นอารมณ์ร่วมกันแล้ว ย่อมกำหนดอสุภนิมิตชนิดที่ขึ้นพองโดยภาวะที่เป็นเองคือ โดยสีบ้าง โดยเพศบ้าง โดยสัณฐานบ้าง โดยทิศบ้าง โดยโอกาสบ้าง โดยปริเฉทบ้าง โดยที่ข้อต่อ โดยช่อง โดยความเว้า โดยความนูน โดยรอบ ๆ โยคีบุคคลนั้นย่อมทำนิมิตนั้นให้เป็นสิ่งอันตนถือเอาดีแล้ว ย่อมทรงจำซึ่งนิมิตนั้นให้เป็นสิ่งอันตนทรงจำดีแล้ว ย่อมกำหนดซึ่งนิมิตนั้นให้เป็นสิ่งอันตนถือเอาดีแล้ว
โยคีบุคคลนั้นครั้นทำนิมิตนั้นให้เป็นสิ่งอันตนถือเอาดีแล้ว ทรงจำให้เป็นสิ่งอันตนทรงจำดีแล้ว กำหนดให้เป็นสิ่งอันตนกำหนดดีแล้ว จึงไปอย่างเดียวดาย ไม่มีเพื่อนสอง โดยมีสติตั้งมั่นไม่หลงลืม มีอินทรีย์ทั้งหลายอยู่ในภายใน มีใจไม่แลบไปข้างนอก พิจารณาดูทางไปและทางมาอยู่ โยคีบุคคลนั้นแม้เมื่อจะเดินจงกรม ก็อธิษฐานจงกรมอันเป็นไปในส่วนแห่งอสุภนิมิตชนิดที่ขึ้นพองเท่านั้น แม้เมื่อจะนั่งก็ปูลาดอาสนะที่เป็นไปในส่วนแห่งอสุภนิมิตชนิดที่ขึ้นพองเท่านั้น
ถาม – การกำหนดเครื่องหมายโดยรอบ ๆ มีอะไรเป็นประโยชน์ มีอะไรเป็นอานิสงส์ ?
ตอบ - การกำหนดเครื่องหมายโดยรอบ ๆ มีความไม่หลงเป็นประโยชน์ มีความไม่หลงเป็นอานิสงส์
(หน้าที่ 307)
ถาม - การถือเอานิมิตโดยวิธี 11 อย่าง มีอะไรเป็นประโยชน์ มีอะไรเป็นอานิสงส์ ?
ตอบ - การถือเอานิมิตโดยวิธี 11 อย่าง มีอันผูกพันจิตไว้เป็นประโยชน์ มีอันผูกพันจิตไว้เป็นอานิสงส์
ถาม - การพิจารณาดูทางไปและทางมา มีอะไรเป็นประโยชน์ มีอะไรเป็นอานิสงส์ ?
ตอบ - การพิจารณาดูทางไปและทางมา มีอันยังวิถีให้ดำเนินไปโดยชอบเป็นประโยชน์ มีอันยังวิถีให้ดำเนินไปโดยชอบเป็นอานิสงส์
โยคีบุคคลนั้นเป็นผู้มีปกติมองเห็นอานิสงส์ เป็นผู้มีความสำคัญเห็นเป็นรัตนะ เข้าไปตั้งความเคารพไว้ ประพฤติเป็นที่รักอย่างสนิทอยู่ ย่อมผูกพันจิตไว้ในอารมณ์นั้นว่า เราจักรอดพ้นจากชราทุกข์มรณทุกข์ด้วยข้อปฏิบัตินี้ เป็นแน่แท้ โยคีบุคคลนั้นสงัดแน่นอนแล้วจากกามทั้งหลายนั่นเทียว ฯลฯ เข้าถึงปฐมฌานอยู่ ปฐมฌานประเภทรูปาวจรกุศลย่อมเป็นอันโยคีบุคคลนั้นได้บรรลุแล้ว ธรรมเครื่องอยู่อันเป็นทิพย์ย่อมเป็นอันโยคีบุคคลนั้นได้บรรลุแล้ว และบุญกิริยาวัตถุสำเร็จด้วยภาวนาย่อมเป็นอันโยคีบุคคลนั้นได้บรรลุแล้ว ฉะนี้
วัตรแห่งการไปเยี่ยมป่าช้า
เพราะฉะนั้น โยคีบุคคลผู้ใดจะไปเยี่ยมดูป่าช้า โยคีบุคคลผู้นั้นจงตีระฆังยังคณะให้ประชุมกันเสียก่อนแล้วจึงไป ก็แหละ อันโยคีบุคคลพึงเป็นผู้มีกัมมัฏฐานเป็นประธานไปเป็นผู้เดียวดาย ไม่มีเพื่อนสอง ไม่ทอดทิ้งมูลกัมมัฏฐาน เป็นผู้มนสิการถึงมูลกัมมัฏฐานนั้นไปพลาง ถือเอาไม้ค้อนหรือไม้เท้าไปด้วย เพื่อป้องกันอันตรายอันอาจจะเกิดจากสุนัขเป็นต้นที่ป่าช้า ทำสติไว้ไม่ให้หลงลืม โดยการยังความเป็นผู้มีสติตั้งมั่นด้วยดีให้ถึงพร้อม เป็นผู้มีใจไม่แลบออกไปข้างนอก โดยที่ทำอินทรีย์ทั้งหลายมีใจเป็นที่ 6 ให้ถึงซึ่งความตั้งอยู่ในภายใน
เมื่อจะออกจากวัดไปนั้นเล่า พึงสังเกตประตูไว้ว่า เราออกไปโดยทางประตูโน้นในทิศโน้น แต่นั้นพึงกำหนดทางที่ตนไปไว้ว่า ทางนี้ตรงไปทิศปราจีน ทางนี้ตรงไปทิศ
(หน้าที่ 308)
ปัจฉิม, ทิศอุดร ทิศทักษิณ หรือตรงไปยังทิศเฉียง อนึ่ง ณ ที่ตรงนี้ไปทางซ้าย ณ ที่ตรงนี้ไปทางขวา และ ณ ที่ตรงนี้แห่งอสุภนั้นมีก้อนหิน ณ ที่ตรงนี้มีจอมปลวก ณ ที่ตรงนี้มีต้นไม้ ณ ที่ตรงนี้มีกอไม้ ณ ที่ตรงนี้มีเครือไม้ อันโยคีบุคคลนั้นพึงกำหนดทางไปโดยอาการอย่างนี้ ไปสู่สถานที่แห่งนิมิตเถิด อนึ่ง อย่าไปทวนลม เพราะเมื่อไปทวนลม กลิ่นศพจะกระทบฆานปสาทแล้งพึงทำเยื่อสมองให้อักเสบก็ได้ จะพึงทำให้อาเจียนก็ได้ จะพึงทำให้เกิดความร้อนใจว่า เรามายังที่ทิ้งศพเห็นปานฉะนี้ได้ ก็ได้ เพราะเหตุฉะนั้น โยคีบุคคลพึงเว้นทางทวนลมแล้วไปทางตามลมเถิด ถ้าไม่สามารถที่จะไปโดยทางตามลมได้ เพราะมีภูเขา, เหว, ก้อนหิน, รั้วหนาม, น้ำและหล่มกั้นอยู่ในระหว่าง พึงเอาชายจีวรปิดจมูกไปเถิดนี้เป็นวัตรของการไปแห่งโยคีบุคคลนั้น
วิธียืนดูอสุภ
ก็แหละ อันโยคีบุคคลผู้ไปถึงโดยอาการอย่างนี้แล้ว อย่าพึ่งดูอสุภนิมิตโดยทันที พึงกำหนดทิศทั้งหลายเสียก่อน เพราะเมื่อยืนอยู่ ณ ส่วนแห่งทิศอันหนึ่ง อารมณ์ย่อมไม่ปรากฏแจ้งชัด ทั้งจิตก็เป็นสิ่งที่ไม่ควรแก่การงาน เพราะเหตุนั้น พึงเว้นส่วนแห่งทิศนั้นเสียเมื่อยืนอยู่ ณ ส่วนแห่งทิศใดอารมณ์ย่อมปรากฏแจ้งชัด ทั้งจิตก็เป็นสิ่งที่ควรแก่การงานพึงยืนอยู่ ณ ส่วนแห่งทิศนั้น อนึ่ง พึงเลี่ยงทิศทวนลมและทิศตามลมเสียด้วย เพราะเมื่อยืนอยู่ ณ ทิศทวนลมถูกกลิ่นศพรบกวนเข้า จิตก็จะวิ่งพล่านไป เมื่อยืนอยู่ ณ ทิศตามลม ถ้ามีพวกอมนุษย์สิงอยู่ ณ อสุภนั้น มันก็จะโกรธเอาแล้วทำความฉิบหายให้ เพราะเหตุนั้น ไม่พึงยืน ณ ทิศทวนลมให้มากนัก โดยเลี่ยงไปเสียเล็กน้อย
อันโยคีบุคคลแม้เมื่อยืนอยู่โดยประการดังพรรณนานั้น ก็อย่ายืน ณ ที่ไกลเกินไป ณ ที่ใกล้เกินไป อย่ายืนค่อนไปทางเท้า หรือค่อนไปทางศรีษะ เพราะเมื่อยืนไกลเกินไปอารมณ์ย่อมจะไม่แจ้งชัด เมื่อยืนใกล้เกินไปความกลัวก็จะเกิดขึ้น เมื่อยืนค่อนไปทางเท้าหรือค่อนไปทางศรีษะ อสุภก็จะไม่ปรากฏอย่างสม่ำเสมอทั่วทั้งหมด เพราะเหตุนั้น โยคีบุคคลพึงยืนอยู่ตรงส่วนกลางตัว อันเป็นที่สะดวกสำหรับผู้ดูอสุภ ไม่ไกลเกินไปไม่ใกล้เกินไป
(หน้าที่ 309)
จำเครื่องหมายต่าง ๆ โดยรอบอสุภ
อันโยคีบุคคล ครั้นยืนอยู่อย่างนี้แล้ว พึงสังเกตเครื่องหมายโดยรอบ ๆ ซึ่งท่านกล่าวไว้แล้วอย่างนี้ว่า โยคีบุคคลย่อมทำก้อนหิน…หรือ เครือไม้ ณ ตำบลนั้นให้เป็นเครื่องหมายร่วมกัน ในข้อนั้นมีวิธีสังเกตดังต่อไปนี้ ถ้าในคลองจักษุโดยรอบแห่งนิมิตนั้นมีก้อนหิน พึงกำหนดก้อนหินนั้นว่า ก้อนหินนี้ สูงหรือต่ำ เล็กหรือใหญ่ แดงดำหรือขาว ยาวหรือกลม แต่นั้นพึงสังเกตได้ว่า ณ โอกาสตรงนี้ นี้เป็นก้อนหิน นี้เป็นอสุภนิมิตนี้เป็นอสุภนิมิต นี้เป็นก้อนหิน ถ้ามีจอมปลวก พึงกำหนดแม้จอมปลวกนั้นว่า จอมปลวกนี้สูงหรือต่ำ เล็กหรือใหญ่ แดงดำหรือขาว ยาวหรือกลม แต่นั้นพึงสังเกตไว้ว่า ณ โอกาสตรงนี้ นี้เป็นจอมปลวก นี้เป็นอสุภนิมิต ถ้ามีต้นไม้ พึงกำหนดแม้ต้นไม้นั้นว่า ต้นไม้นี้ เป็นต้นโพธิ์ใบหรือต้นนิโครธ เป็นต้นเต็งรังหรือต้นมะขวิด เป็นต้นสูงหรือต้นต่ำ เป็นต้นเล็กหรือต้นใหญ่ แดงดำหรือขาว แต่นั้นพึงสังเกตไว้ว่า ณ โอกาสตรงนี้ นี้เป็นต้นไม้นี้เป็นอสุภนิมิต ถ้ามีกอไม้ พึงกำหนดแม้กอไม้นั้นว่า กอไม้นี้ เป็นกอเป้งหรือกอเล็บเหยี่ยว เป็นกอพุดหรือกอว่านหางช้าง เป็นกอสูงหรือกอต่ำ เป็นกอเล็กหรือกอใหญ่ แต่นั้นพึงสังเกตไว้ว่า ณ โอกาสตรงนี้ นี้เป็นกอไม้ นี้เป็นอสุภนิมิต ถ้ามีเครือไม้ พึงกำหนดแม้เครือไม้นั้นว่า เครือไม้นี้ เป็นเครือน้ำเต้าหรือเป็นเครือฟัก เป็นเครือหญ้านางหรือเครือกระพังโหม หรือเป็นเครือหัวด้วน แต่นั้นพึงสังเกตไว้ว่า ณ โอกาสตรงนี้ นี้เป็นเครือไม้ นี้เป็นอสุภนิมิต นี้เป็นอสุภนิมิต นี้เป็นเครือไม้ ฉะนี้
ส่วน คำใดที่ท่านกล่าวไว้ว่า ย่อมทำให้เป็นเครื่องหมายร่วมกัน ย่อมทำให้เป็นอารมณ์ร่วมกัน ดังนั้น คำนั้นรวมลงในการกระทำซึ่งเครื่องหมายมีก้อนหินเป็นต้นนี้นั่นแล เพราะเมื่อโยคีบุคคลกำหนดอยู่บ่อย ๆ ย่อมชื่อว่ากระทำให้เป็นเครื่องหมายร่วมกัน เมื่อกำหนดย่น 2 อันเข้ากัน ย่น 2 อันเข้ากันอย่างนี้ว่า นี้เป็นก้อนหิน นี้เป็นอสุภนิมิต นี้เป็นอสุภนิมิต นี้เป็นก้อนหิน ดังนี้ชื่อว่า ย่อมทำให้เป็นอารมณ์ร่วมกัน
ก็แหละ ครั้นโยคีบุคคลทำให้เป็นเครื่องหมายร่วมกัน และทำให้เป็นอารมณ์ร่วมกันอย่างนี้แล้ว เพราะเหตุที่ท่านกล่าวไว้ว่า ย่อมกำหนดโดยความเป็นสภาวะดังนี้ ความ
(หน้าที่ 310)
เป็นสภาวะคือความไม่สาธารณะแก่สิ่งอื่น ความเป็นตัวของตัว ได้แก่ความขึ้นพองของอสุภนั้น อันใด พึงมนสิการโดยความเป็นสภาวะอันนั้น อธิบายว่า พึงกำหนดโดยภาวะของตน โดยรสของตนอย่างนี้ คือ ความอืด ความขึ้นพอง
ถือเอานิมิตโดยอาการ 6 อย่าง
ครั้นโยคีบุคคลกำหนดได้โดยประการอย่างนี้แล้ว พึงถือเอานิมิตโดยอาการ 6 อย่าง คือ โดยสี 1 โดยเพศ 1 โดยสัณฐาน 1 โดยทิศ 1 โดยโอกาส 1 โดยปริจเฉท 1
ถือเอานิมิตโดยอาการ 6 อย่างนั้น ถือเอาอย่างไร?
อธิบายว่า อันโยคีบุคคลนั้นพึงกำหนด โดยสี ว่า ร่างนี้ของคนผิวดำ ร่างนี้ของคนผิวขาว ร่างนี้ของคนผิว 2 สี
อนึ่ง โดยเพศ อย่ากำหนดว่าเพศหญิงหรือเพศชาย พึงกำหนดว่า ร่างนี้ของคนตั้งอยู่ในปฐมวัย ร่างนี้ของคนตั้งอยู่ในมัชฌิมวัย หรือร่างนี้ของคนตั้งอยู่ในปัจฉิมวัย
โดยสัณฐาน พึงกำหนดด้วยสามารถแห่งสัณฐานของอสุภที่ขึ้นพองนั่นแหละ ว่านี้เป็นสัณฐานศรีษะ นี้เป็นสัณฐานคอ นี้เป็นสัณฐานมือ นี้เป็นสัณฐานท้อง นี้เป็นสัณฐานสะดือ นี้เป็นสัณฐานสะเอว นี้เป็นสัณฐานขา นี้เป็นสัณฐานแข้ง นี้เป็นสัณฐานเท้า ของอสุภที่ขึ้นพองนั้น
อนึ่ง โดยทิศ พึงกำหนดว่า ในร่างนี้มีทิศ 2 ทิศ คือทิศเบื้องต่ำตั้งแต่สะดือลงมา ทิศเบื้องสูงตั้งแต่สะดือขึ้นไป อีกนัยหนึ่ง พึงกำหนดว่า เรายืนอยู่ในทิศนี้ อสุภนิมิตอยู่ในทิศนี้
อนึ่ง โดยโอกาส พึงกำหนดว่า มือทั้ง 2 อยู่ ณ โอกาสตรงนี้ เท้าทั้ง 2 อยู่ ณ โอกาสตรงนี้ ศรีษะอยู่ ณ โอกาสตรงนี้ กลางตัวอยู่ ณ โอกาสตรงนี้ อีกนัยหนึ่ง พึงกำหนดว่าเรายืนอยู่ ณ โอกาสนี้ อสุภนิมิตอยู่ ณ โอกาสนี้
โดยปริจเฉท พึงกำหนดว่า ร่างนี้เบื้องต่ำแต่พื้นเท้าขึ้นไป เบื้องบนแต่ปลายผมลงมา เบื้องขวางกำหนดด้วยหนัง และฐานะตามที่กำหนดนั้นเต็มไปด้วยศพ 32 ศพนั่นเทียว อีกนัยหนึ่ง พึงกำหนดว่า นี้เป็นตอนมือ นี้เป็นตอนเท้า นี้เป็นตอนศรีษะ นี้เป็นตอนกลางตัว แห่งอสุภที่ขึ้นพองนั่นเทียว แหละหรือตนถือเอาฐานะได้ประมาณเท่าใด พึงกำหนดถือเอาฐานะประมาณเท่านั้นนั่นแลว่า ร่างเช่นนี้นี้เป็นอสุภที่ขึ้นพอง
(หน้าที่ 311)
อนึ่ง ร่างของสตรีย่อมไม่ควรแก่บุรุษ หรือร่างของบุรุษย่อมไม่ควรแก่สตรี ในร่างที่มีส่วนขัดกัน อารมณ์ย่อมไม่ปรากฏ มีแต่จะเป็นปัจจัยแก่ความกวัดแกว่งไปเท่านั้น พระอรรถกถาจารย์กล่าวไว้ในอรรถกถามัชฌิมนิกายว่า จริงอยู่ สตรีแม้จะเป็นร่างอันน่าเกลียดแล้วก็ตาม ก็ยังครอบงำจิตของบุรุษไว้ได้ ดังนี้ เพราะเหตุนั้น โยคีบุคคลพึงถือเอานิมิตโดยอาการ 6 อย่าง ดังพรรณนามาแล้วนั้น เฉพาะแต่ในร่างมี่มีส่วนเข้ากันได้เท่านั้น
ก็แหละ กุลบุตรใดมีกัมมัฏฐานอันได้ส้องเสพไว้แล้วในสำนักพระพุทธเจ้าทั้งหลายในปางก่อน มีธุดงค์อันบริหารแล้ว มีมหาภูตรูปอันย่ำยีแล้ว มีสังขารอันได้กำหนดรู้แล้ว มีนามรูปอันกำหนดแยกแล้ว มีความสำคัญว่าสัตว์อันได้เพิกถอนแล้ว มีสมณธรรมอันได้บำเพ็ญแล้ว มีวาสนาอันได้อบรมแล้ว มีภาวนาอันได้เจริญแล้ว ในสำนักของพระพุทธเจ้าทั้งหลายในปางก่อน ผู้มีพืช มีญาณอันยอดยิ่ง มีกิเลสน้อย ปฏิภาคนิมิตย่อมปรากฏแก่กุลบุตรนั้น ตรงฐานะที่มองดูแล้วมองดูแล้วนั่นเทียว ถ้าหากว่าปฏิภาคนิมิตไม่ปรากฏด้วยอาการอย่างนี้ แต่นั้น ก็จะปรากฏโดยการถือเอานิมิตด้วยอาการ 6 อย่างดังพรรณนามา
ถือเอานิมิตโดยอาการ 5 อย่าง
ก็แหละ แม้จะถือเอานิมิตด้วยอาการ 6 อย่าง ดังพรรณนาแล้วนั้น ปฏิภาคนิมิตก็ไม่ปรากฏแก่โยคีบุคคลใด อันโยคีบุคคลนั้นพึงถือเอานิมิตด้วยอาการ 5 อย่างแม้ต่อไปอีก คือ โดยที่ต่อ 1 โดยช่อง 1 โดยที่เว้า 1 โดยที่นูน 1 โดยรอบ ๆ 1
ในอาการ 5 อย่างนั้น คำว่า โดยที่ต่อ คือโดยที่ต่อ 180 แห่ง
ถาม –ก็แหละ ในอสุภที่ขึ้นพองโดยกำหนดที่ต่อ 180 แห่งอย่างไร ?
ตอบ –เพราะเหตุนั้น อันโยคีบุคคลนั้นพึงกำหนดโดยที่ต่อด้วยสามารถแห่งที่ต่อใหญ่ ๆ 15 แห่ง อย่างนี้คือ ที่ต่อข้อมือขวา 3 แห่ง ที่ต่อข้อมือซ้าย 3 แห่ง ที่ต่อเท้าขวา 3 แห่ง ที่ต่อเท้าซ้าย 3 แห่ง ที่ต่อคอ 1 แห่ง ที่ต่อสะเอว 1 แห่ง
คำว่า โดยช่อง ความว่า พึงกำหนดโดยช่องอย่างนี้คือ ช่องมือ ช่องเท้า ช่องท้อง ช่องหู ชื่อว่าช่อง แม้นัยตาทั้ง 2 ที่หลับหรือลืมและปากที่ปิดหรือเปิดก็พึงกำหนดได้
(หน้าที่ 312)
คำว่า โดยที่เว้า ความว่า ที่ ๆ เว้าในร่างศพอันใด ได้แก่ เบ้าตา ภายในปากหรือหลุมคอ พึงกำหนดที่ ๆ เว้านั้น อีกอย่างหนึ่ง พึงกำหนดว่า เราอยู่ ณ ที่ลุ่ม ร่างศพอยู่ ณ ที่ดอน
คำว่า โดยที่นูน ความว่า ที่ ๆ นูนในร่างศพอันใด ได้แก่ หัวเข่า หน้าอก หรือหน้าผาก พึงกำหนดที่ ๆ นูนนั้น อีกอย่างหนึ่ง พึงกำหนดว่า เราอยู่ ณ ที่ดอน ร่างศพอยู่ที่ลุ่ม
คำว่า โดยรอบ ๆ ความว่า พึงกำหนดร่างศพโดยรอบ ๆ คือส่องญาณไปในร่างศพทั้งสิ้น ที่ตรงไหนปรากฏแจ่มชัด พึงตั้งจิตไว้ ณ ที่ตรงนั้นว่า อุทธุมาตกํ อุทธุมาตกํ หรือว่า อสุภที่ขึ้นพอง อสุภที่ขึ้นพอง ฉะนี้
ถ้าปฏิภาคนิมิตยังไม่ปรากฏแม้ด้วยการกำหนดอย่างนี้ ตรงที่สุดแห่งท้องย่อมเป็นสิ่งที่ขึ้นพองมากกว่า โยคีบุคคลพึงตั้งจิตไว้ ณ ที่ตรงที่สุดแห่งท้องนั้น โดยบริกรรมว่า อุทธุมาตกํ อุทธุมาตกํ หรือว่า อสุภที่ขึ้นพอง อสุภที่ขึ้นพอง ฉะนี้
บัดนี้ จะวินิจฉัยในคำทั้งหลายมีคำว่า โยคีบุคคลนั้นย่อมกระทำซึ่งนิมิตนั้นให้เป็นอันถือเอาด้วยดีแล้ว เป็นต้น ดังต่อไปนี้ –
อันโยคีบุคคลนั้นพึงถือเอานิมิตด้วยดีตรงที่ร่างศพนั้น ด้วยสามารถแห่งการถือเอานิมิตตามที่กล่าวมาแล้ว พึงนึกทำสติให้ปรากฏด้วยดี พึงทำอยู่อย่างนี้บ่อย ๆ ใคร่ครวญและกำหนดให้ดีนั่นเทียว พึงยืนหรือนั่งอยู่ตรงที่ไม่ไกลเกินไปไม่ใกล้เกินไปแต่ร่างศพ ลืมตาขึ้นดูจับเอานิมิต พึงลืมตาดู หลับตานึก ร้อยครั้ง พันครั้ง โดยบริกรรมว่า อสุภขึ้นพองน่าเกลียด อสุภขึ้นพองน่าเกลียด เมื่อทำอยู่อย่างนี้บ่อย ๆ เข้า อุคคหนิมิต ก็จะเป็นอันโยคีบุคคลถือเอาด้วยดีแล้ว
ถาม –อุคคหนิมิตย่อมเป็นอันโยคีบุคคลถือเอาด้วยดีแล้วเมื่อไร ?
ตอบ - กาลใด เมื่อโยคีบุคคลลืมตาดูและหลับตานึกอยู่นั้น นิมิตมาสู่คลองจักษุเป็นเสมือนอันเดียวกัน กาลนั้น ชื่อว่า อุคคหนิมิตเป็นอันโยคีบุคคลถือเอาด้วยดีแล้ว
(หน้าที่ 313)
กลับจากป่าช้า
โยคีบุคคลนั้น ครั้นทำนิมิตนั้นให้เป็นอันถือเอาด้วยดีแล้ว ใคร่ครวญนิมิตนั้นให้เป็นอันใคร่ครวญดีแล้ว กำหนดนิมิตนั้นให้เป็นอันกำหนดด้วยดีแล้ว โดยประการดังกล่าวมา ถ้าไม่สามารถที่จะบรรลุถึงซึ่งที่สุดแห่งการภาวนา ณ ตรงที่อาสนะนั้นนั่นแล ลำดับนั้น อันโยคีบุคคลนั้นพึงเป็นผู้เดียวดาย ไม่มีเพื่อนสอง โดยนัยที่กล่าวไว้แล้วในเวลามานั่นเทียว มนสิการถึงกัมมัฏฐานนั้นนั่นแหละ พึงทำสติให้ปรากฏด้วยดี มีอินทรีย์ทั้งหลายอยู่ในภายใน มีใจไม่แลบออกไปข้างนอก เดินไปสู่เสนาสนะของตนนั่นเถิด
กำหนดทางมาเป็นต้น
อนึ่ง เมื่อจะออกจากป่าช้านั้น โยคีบุคคลพึงกำหนดทางมาไว้ว่า เราออกมาโดยทางใด ทางนี้ตรงไปสู่ทิศปราจีน หรือทางนี้ตรงไปสู่ทิศปัจฉิม, ทิศอุดร หรือทิศทักษิณ หรือทางนี้ตรงไปสู่ทิศเฉียง แหละ ณ สถานที่ตรงนี้ไปทางซ้าย ณ สถานที่ตรงนี้ไปทางขวา อนึ่ง ณ สถานที่ตรงนี้แห่งอุทธุมาตกอสุภนั้นมีก้อนหิน ณ สถานที่ตรงนี้มีจอมปลวก ณ สถานที่ตรงนี้มีต้นไม้ ณ สถานที่ตรงนี้มีกอไม้ ณ สถานที่ตรงนี้มีเครือไม้ อันโยคีบุคคลกำหนดทางมาอย่างนี้มาถึงสถานที่แล้ว แม้เมื่อจะเดินจงกรม พึงอธิษฐานจงกรมอันเป็นไปในส่วนแห่งอสุภนิมิตนั้นนั่นเทียว อธิบายว่าพึงเดินจงกรมไป ณ ภูมิประเทศอันผินหน้าสู่ทิศแห่งอสุภนิมิต เมื่อจะนั่งก็พึงปูลาดแม้อาสนะที่เป็นไปในส่วนแห่งอสุภนิมิตนั้นนั่นเทียว ก็แหละ ถ้า ณ ทิศนั้นมีบ่อน้ำ, เหว, ต้นไม้, รั้ว หรือเปลือกตมกั้นอยู่ ไม่สามารถที่จะเดินจงกรมตรงภูมิประเทศอันผินหน้าสู่ทิศแห่งอสุภนิมิตนั้นได้ แม้อาสนะก็ไม่อาจปูลาดได้เพราะไม่มีโอกาส ไม่ต้องเหลียวไปดูทิศนั้นก็ได้ พึงเดินจงกรมและนั่ง ณ ที่อันสมควรแก่โอกาสนั้นเถิด แต่ต้องทำจิตให้มุ่งหน้าตรงไปสู่ทิศแห่งอสุภนั้นให้จงได้
อธิบายข้อว่ามีความไม่หลงเป็นประโยชน์เป็นต้น
บรรดาปัญหาทั้งหลายมีอาทิว่า การกำหนดนิมิตโดยรอบ ๆ มีอะไรเป็นประโยชน์ เป็นต้น บัดนี้จะอธิบายในคำวิสัชชนาข้อว่า มีความไม่หลงเป็นประโยชน์ เป็นต้น ดังต่อไปนี้ –
(หน้าที่ 314)
ก็เมื่อโยคีบุคคลใดไปยังสถานที่แห่งนิมิตที่ขึ้นพองในเวลาอันไม่สมควร ทำความกำหนดนิมิตโดยรอบ ๆ แล้วลืมตาดูเพื่อจับเอานิมิตอยู่นั่นแล ร่างศพนั้นจะปรากฏเป็นเหมือนลุกขึ้นยืน เหมือนจะมาทัน แหละเหมือนติดตามไป โยคีบุคคลนั้นครั้นเห็นอารมณ์อันน่ากลัวน่าหวาดเสียวนั้นแล้ว ก็จะเป็นผู้มีจิตฟุ้งซ่านเหมือนเป็นบ้า ย่อมจะถึงความกลัว ความสะดุ้งหวาดเสียว ความขนพอง เพราะว่า ในบรรดาอารมณ์กัมมัฏฐาน 38 อย่างที่ท่านจำแนกไว้ในบาลี อารมณ์อื่น ๆ ที่จะเป็นอารมณ์น่ากลัวเห็นปานฉะนี้ ย่อมไม่มี เพราะในกัมมัฏฐานบทนี้ โยคีบุคคลชื่อว่าเป็นผู้หมุนหนีออกจากฌาน เพราะเหตุไร ? เพราะกัมมัฏฐานนี้เป็นอารมณ์ที่น่ากลัวอย่างยิ่ง ด้วยเหตุนั้น อันโยคีบุคคลนั้นพึงยั้งใจไว้ทำสติให้ปรากฏด้วยดี แล้วพึงบรรเทาความหวาดเสียวโดยตระหนักว่า ร่างของคนตายแล้วที่จะลุกขึ้นมาติดตามหามีไม่ จริงอยู่ ถ้าก้อนหินหรือเครือไม้ที่อยู่ใกล้แห่งอสุภนิมิตนี้นั้น จะพึงเดินมาได้ แม้ร่างศพก็จะพึงเดินมาได้ แท้จริง ก้อนหินหรือเครือไม้นั้นย่อมเดินมาไม่ได้ ฉันใด แม้ร่างศพก็เดินมาไม่ได้ ฉันนั้น อนึ่ง อาการที่ปรากฏแก่เธอนี้ มันเกิดจากสัญญา มีสัญญาเป็นแดนเกิด กัมมัฏฐานจะปรากฏแก่เธอในวันนี้ เธออย่ากลัวเลย ภิกขุ ครั้นแล้วพึงยังความร่าเริงให้เกิดขึ้น พึงยังจิตให้คิดไปในอสุภนิมิตนั้นนั่นเถิด โยคีบุคคลนั้น จะบรรลุถึงซึ่งคุณธรรมอันพิเศษด้วยวิธีดังพรรณนามานี้ คำว่า การกำหนดนิมิตโดยรอบ ๆ มีความไม่หลงเป็นประโยชน์ นั้นท่านกล่าวหมายเอาอรรถาธิบายนี้
ประโยชน์แห่งการถือเอานิมิตโดยวิธี 11 อย่าง
ก็แหละ เมื่อโยคีบุคคลถือเอานิมิตโดยวิธี 11 อย่างให้สำเร็จอยู่ ชื่อว่าผูกกัมมัฏฐานไว้ เป็นความจริง อุคคหนิมิตย่อมเกิดขึ้น เพราะมีการลืมตาดูของโยคีบุคคลนั้นเป็นปัจจัย เมื่อโยคีบุคคลนั้นทำภาวนาจิตให้เป็นไปในอุคคหนิมิตนั้นอยู่ ปฏิภาคนิมิตก็จะเกิดขึ้น เมื่อโยคีบุคคลทำภาวนาจิตให้เป็นไปในปฏิภาคนิมิตนั้นอยู่ ก็จะบรรลุถึงซึ่งอัปปนาฌาน โยคีบุคคลดำรงตนอยู่ในอัปปนาฌานแล้ว เจริญวิปัสสนาต่อไป ก็จะทำให้แจ้งซึ่งพระอรหัต ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า การถือเอานิมิตโดยวิธี 11อย่างมีอันผูกพันจิตไว้เป็นประโยชน์ ฉะนี้
(หน้าที่ 315)
ก็แหละ ในคำว่า การพิจารณาทางไปและทางมามีอันยังวิถีให้ดำเนินไปโดยชอบเป็นประโยชน์ นี้นั้น มีอธิบายว่า การพิจารณาทางไปและทางมาอันใดที่ท่านกล่าวไว้แล้ว การพิจารณานั้นมีอันทำวิถีแห่งพระกัมมัฏฐานให้ดำเนินไปโดยชอบเป็นประโยชน์ อธิบายว่า ถ้าภิกษุนี้รับเอาพระกัมมัฏฐานแล้วเดินมาอยู่ ใคร ๆ ถามถึงวันว่า วันนี้ดิถีเท่าไรขอรับ ก็ดี ถามปัญหาก็ดี กระทำการปฏิสันถารก็ดี ในระหว่างทาง เธอจะนิ่งแล้วไปเสีย โดยถือว่า เราเป็นผู้ปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน ดังนี้หาควรไม่ ต้องบอกวัน ต้องแก้ปัญหา ถ้าไม่ทราบก็ต้องบอกว่า ข้าพเจ้าไม่ทราบ ต้องทำการปฏิสันถารอันเป็นธรรม เมื่อโยคีบุคคลทำอยู่อย่างนี้ อุคคหนิมิตซึ่งเป็นนิมิตที่ยังอ่อนก็จักเสื่อมไปเสีย ถึงแม้อุคคหนิมิตนั้นจะเสื่อมไปก็ตาม เมื่อถูกถามถึงวันก็จำที่จะต้องบอกโดยแท้ เมื่อไม่ทราบปัญหาก็จะต้องบอกว่าไม่ทราบ เมื่อทราบอยู่แม้จะตอบโดยเอกทศก็ควร แม้การปฏิสันถารก็จำต้องทำ อนึ่ง ครั้นเห็นภิกษุอาคันตุกะแล้วก็ต้องทำการปฏิสันถารต่อภิกษุอาคันตุกะด้วย จำต้องบำเพ็ญวัตรทั้งหลายในคัมภีร์ขันธกะทุกอย่างแม้ที่เหลือ เช่น วัตรในลานพระเจดีย์ วัตรในลานพระศรีมหาโพธิ์ วัตรในอุโปสถาคาร วัตรในโรงฉัน วัตรในเรือนไฟ อาจริยวัตร อุปัชฌายวัตร อาคันตุกวัตร และคมิกวัตร เป็นต้น แม้เมื่อภิกษุนั้นมามัวบำเพ็ญวัตรเหล่านั้นอยู่ นิมิตที่อ่อนนั้นก็จักเสื่อมไปเสีย แม้เมื่อโยคีบุคคลนั้นมีความประสงค์จะไปด้วยคิดว่า เราจักไปถือเอานิมิตอีก ก็ไม่สามารถที่จะเข้าไปในป่าช้าได้ เพราะอันพวกอมนุษย์หรือพวกสัตว์ร้ายเข้ากีดกันเสียแล้ว หรือมิฉะนั้น นิมิตก็กลับกลายไปแล้ว จริงอยู่ อสุภที่ขึ้นพองดำรงอยู่ได้เพียงวันเดียวหรือสองวันเท่านั้น ก็จะถึงซึ่งภาวะเป็นอสุภมีสีเขียวคละด้วยสีต่าง ๆ เป็นต้นไป ในบรรดากัมมัฏฐานทั้งหมด ที่ชื่อว่ากัมมัฏฐานอันหาได้ยากเสมอด้วยกัมมัฏฐานบทนี้ หามีไม่ เพราะเหตุนั้น เมื่อนิมิตเสื่อมไปแล้วอย่างนี้ อันภิกษุนั้นนั่งอยู่ ณ ที่พักกลางคืนหรือ ณ ที่พักกลางวันแล้ว พึงพิจารณาถึงทางไปทางมาจนถึงที่นั่งคู้บัลลังก์อย่างนี้ว่า เราออกจากวัดไปโดยทวารชื่อนี้ เดินไปสู่ทางที่ตรงไปสู่ทิศโน้น ณ ที่ตรงโน้น จับเอาทางซ้าย ณ ที่ตรงโน้น จับเอาทางขวา ณ ที่โน้นแห่งอสุภนิมิตนั้นมีก้อนหิน ณ ที่ตรงโน้นมีจอมปลวก, ต้นไม้, กอไม้หรือเครือไม้ชนิดใดชนิดหนึ่งเหล่านั้น ครั้นแล้วไปโดยทางนั้น ได้เห็นอสุภในที่ชื่อโน้น
(หน้าที่ 316)
ณ ที่ตรงนั้นเรายืนผินหน้าไปสู่ทิศโน้น กำหนดนิมิตทั้งหลายโดยรอบอย่างนี้และอย่างนี้ จึงถือเอาอสุภนิมิตอย่างนี้ แล้วออกจากป่าช้าทางทิศโน้น กระทำกิจสิ่งนี้และสิ่งนี้ตามทางเห็นปานนี้ แล้วมานั่งอยู่ ณ ที่ตรงนี้
เมื่อภิกษุนั้นพิจารณาอยู่อย่างนี้ นิมิตนั้นก็จะปรากฏ คือย่อมปรากฏเหมือนวางไว้ข้างหน้า พระกัมมัฏฐานย่อมดำเนินไปสู่วิถีโดยอาการเดิมนั่นเทียว ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า การพิจารณาทางไปและทางมา มียังอันวิถีให้ดำเนินไปโดยชอบเป็นประโยชน์ฉะนี้
บัดนี้ จะอธิบายในคำของอรรถกถาจารย์ข้อว่า โยคีบุคคลเป็นผู้มีปกติมองเห็นอานิสงส์ เป็นผู้มีความสำคัญเห็นเป็นรัตนะ เข้าไปตั้งความเคารพไว้ ประพฤติให้เป็นที่รักอย่างสนิทอยู่ ย่อมผูกพันจิตไว้ในอารมณ์นั้น ดังนี้ต่อไป –
อันโยคีบุคคลพึงทำภาวนาจิตให้เป็นไปในอสุภที่ขึ้นพองอย่างน่าเกลียด ทำฌานให้บังเกิดแล้ว เจริญวิปัสสนาอันมีฌานเป็นปทัฏฐานอยู่ พึงเป็นผู้มีปกติมองเห็นอานิสงส์อย่างนี้ว่า เราจักหลุดพ้นจากชราทุกข์และมรณทุกข์ด้วยปฏิปทานี้อย่างแน่แท้
ก็แหละ เหมือนอย่างว่า บุรุษเข็ญใจได้แก้วมณีอันมีค่ามากแล้ว เป็นผู้มีความสำคัญในแก้วมณีนั้นเป็นรัตนะว่า เราได้สิ่งอันหาได้ด้วยยากแล้วหนอ จึงทำบ้านส่วยให้เกิดแล้วประพฤติให้เป็นที่รัก ด้วยความรักอันกว้างขวาง พึงรักษาแก้วมณีนั้นไว้ ฉันใด อันโยคีบุคคลก็ฉันนั้นเหมือนกัน คือเป็นผู้มีความสำคัญในอสุภนิมิตนั้นเป็นรัตนะว่า กัมมัฏฐานซึ่งหาได้ด้วยยากนี้เราได้แล้ว เป็นเช่นกับแก้วมณีที่มีค่ามากของบุรุษเข็ญใจ เพราะว่า ผู้เจริญจตุธาตุกัมมัฏฐาน ย่อกำหนดมหาภูตรูปทั้ง 4 ของตน ผู้เจริญอานาปานกัมมัฏฐาน ย่อมกำหนดลมที่นาสิกของตน ผู้เจริญกสิณกัมมัฏฐาน ทำรูปกสิณแล้วย่อมเจริญได้ตามความสบาย ด้วยเหตุดังกล่าวมานี้ กัมมัฏฐานทั้งหลายนอกนี้ ชื่อว่าเป็นสิ่งที่หาได้ด้วยง่าย ส่วนอุทธุมาตกอสุภกัมมัฏฐานนี้ ดำรงสภาพอยู่ได้เพียงวันเดียวหรือสองวันเท่านั้น หลังจากนั้นไปย่อมถึงภาวะเป็นวินีลกอสุภกัมมัฏฐานเป็นต้น เพราะฉะนั้น กัมมัฏฐานที่หาได้ยากยิ่งไปกว่าอุทธุมาตกอสุภกัมมัฏฐานนี้จึงไม่มี ฉะนี้แล้ว พึงเข้าไปตั้งความเคารพไว้ ประพฤติให้เป็นที่รักอย่างสนิท รักษานิมิตนั้นไว้ พึงผูกจิตไว้เสมอ ๆ ในอสุภนิมิตนั้น ทั้ง ณ ที่พัก
(หน้าที่ 317)
กลางคืนทั้ง ณ ที่พักกลางวันโดยบริกรรมว่า อสุภขึ้นพองน่าเกลียด อสุภขึ้นพองน่าเกลียด พึงนึกพึงมนสิการถึงนิมิตนั้นบ่อย ๆ พึงทำให้เป็นนิมิตอันความตรึกตะล่อมไว้แล้วอันวิตกตะล่อมไว้แล้ว เมื่อโยคีบุคคลนั้นกระทำอยู่โดยประการดังกล่าวมา ปฏิภาคนิมิตย่อมบังเกิดขึ้น
ในอุทธุมาตกอสุภนั้นความต่างกันแห่งนิมิตทั้ง 2 ดังนี้ อุคคหนิมิต ย่อมปรากฏเป็นสิ่งผิดรูปผิดร่าง น่าหวาดเสียว ดูน่าสะพรึงกลัว ส่วน ปฏิภาคนิมิต ย่อมปรากฏเหมือนคนมีองค์อวัยวะอ้วนพีที่กินอิ่มแล้วนอน
ละนิวรณ์ 5 ได้พร้อมกับได้ปฏิภาคนิมิต
ในเวลาพร้อมกับได้ปฏิภาคนิมิตนั่นแล โยคีบุคคลนั้นย่อมละ กามฉันทนิวรณ์ ได้ ด้วยอำนาจวิกขัมภนประหาน เพราะไม่มนสิการถึงกามทั้งหลายอันเป็นภายนอก และแม้ พยาปาทนิวรณ์ อันโยคีบุคคลนั้นก็ละได้ เพราะประหานความยินดีเสียได้นั่นเอง เหมือนละหนองเสียได้ก็เพราะละโลหิตฉะนั้น ถีนมิทธนิวรณ์ เป็นอันโยคีบุคคลนั้นละได้เหมือนกัน เพราะเป็นผู้มีความเพียรปรารภแล้ว อุทธัจจกุกกุจจนิวรณ์ ก็เป็นอันละได้ เพราะอำนาจประกอบด้วยธรรมอันสงบที่ไม่ทำความร้อนใจให้ วิจิกิจฉา ในศาสดาผู้แสดงข้อปฏิบัติก็ดี ในข้อปฏิบัติก็ดี ในผลแห่งการปฏิบัติก็ดี ก็เป็นอันละได้ เพราะคุณอันวิเศษที่บรรลุแล้ว เป็นสภาพประจักษ์แจ้ง เป็นอันโยคีบุคคลนั้นละนิวรณ์ได้ครบทั้ง 5 ด้วยประการฉะนี้
อนึ่ง วิตก ทำหน้าที่ยกจิตขึ้นไว้ในนิมิตนั้นนั่นแล วิจาร ทำกิจคือพิจารณานิมิตให้สำเร็จอยู่ เพราะมีอันได้การบรรลุคุณวิเศษเป็นปัจจัย ปีติ ย่อมปรากฏ เพราะปัสสัทธิสำเร็จแก่ผู้ที่มีใจประกอบด้วยปีติ ปัสสัทธิ ย่อมปรากฏ สุข ซึ่งมีปัสสัทธินั้นเป็นเหตุย่อมปรากฏ และเพราะจิตตสมาธิ สำเร็จแก่ผู้ที่มีความสุข เอกัคคตา ซึ่งมีความสุขเป็นเหตุย่อมปรากฏ เป็นอัน องค์ฌานทั้งหลาย ปรากฏเกิดขึ้นด้วยประการฉะนี้ แม้อุปจารฌานอันเป็นเครื่องรองรับปฐมฌานก็บังเกิดแก่โยคีบุคคลนั้นในขณะพร้อมกันนั้นนั่นเทียว
อรรถาธิบายทุก ๆ อย่างตั้งแต่นี้ไปจนถึงอัปปนาฌาน และความสำเร็จเป็นวสีแห่งปฐมฌาน นักศึกษาพึงทราบโดยนัยที่พรรณนาไว้แล้วในปถวีกสิณนั่นเทอญ
(หน้าที่ 318)
ก็แหละ แม้ในอสุภกัมมัฏฐานทั้งหลายมีวินีลกอสุภเป็นต้น หลังแต่อุทธุมาตกอสุภนี้ ลักษณะอันใด ตั้งต้นแต่การไปดูอสุภซึ่งท่านแสดงไว้โดยนัยมีอาทิว่า โยคีบุคคลเมื่อจะเรียนเอาอสุภนิมิตชนิดที่ขึ้นพอง เป็นผู้เดียวดาย ไม่มีเพื่อนสอง มีสติอันตั้งมั่น…..ไปดังนี้ นักศึกษาพึงทราบลักษณะอันนั้นพร้อมทั้งวินิจฉัยและอธิบาย ตามนัยที่แสดงไว้แล้วนั่นแล เปลี่ยนเพียงแต่บทว่า อุทฺธุมาตก ตรงที่อสุภนั้น ๆ ไปตามอสุภนิมิตนั้น ๆ อย่างนี้ว่า โยคีบุคคลเมื่อจะเรียนเอาอสุภนิมิต ชนิดที่มีสีเขียวคละด้วยสีต่าง ๆ…..โยคีบุคคลเมื่อจะเรียนเอาอสุภนิมิต ชนิดที่มีหนองไหลเยิ้ม ฉะนี้
ส่วนอรรถาธิบายที่แปลกกัน ดังต่อไปนี้ –
2. วิธีเจริญวินีลกอสุภกัมมัฏฐาน
ในวินีลกอสุภกัมมัฏฐาน โยคีบุคคลพึงยังมนสิการให้เป็นไปด้วยบริกรรมว่า อสุภมีสีเขียวคละด้วยสีต่าง ๆ น่าเกลียด อสุภมีสีเขียวคละด้วยสีต่าง ๆ น่าเกลียด ดังนี้แหละในกัมมัฏฐานบทนี้ อุคคหนิมิต ย่อมปรากฏเป็นสีด่างพร้อยไป ส่วน ปฏิภาคนิมิต ย่อมปรากฏโดยเป็นสีที่หนาทึบ
3. วิธีเจริญวิปุพพกอสุภกัมมัฏฐาน
ในวิปุพพกอสุภกัมมัฏฐาน โยคีบุคคลพึงยังมนสิการให้เป็นไป ด้วยบริกรรมว่า อสุภมีหนองไหลเยิ้มน่าเกลียด อสุภมีหนองไหลเยิ้มน่าเกลียด ดังนี้ ก็แหละในกัมมัฏฐานบทนี้ อุคคหนิมิต ย่อมปรากฏเป็นเหมือนหนองไหลอยู่ ปฏิภาคนิมิต ย่อมปรากฏเป็นอาการหยุดนิ่งไม่เคลื่อนที่
4. วิธีเจริญวิจฉิททกอสุภกัมมัฏฐาน
อสุภที่ขาดเป็นท่อน จะหาได้ก็ตรงบริเวณสนามรบ, ที่ดงโจร, ที่สุสาน หรือที่ที่พระราชาทรงรับสั่งให้ประหารพวกโจร มิฉะนั้นก็ตรงสถานที่ที่คนถูกพวกสีหและเสือกัดขาดไว้ เพราะเหตุนั้น โยคีบุคคลไปยังสถานที่เห็นปานดังนั้นแล้ว ถ้าแม้ว่าอสุภที่ขาดเป็นท่อนซึ่งตกอยู่ในทิศต่าง ๆ มาถึงคลองจักษุได้ด้วยอาวัชชนจิตอันเดียว ข้อนี้นับว่าเป็นการดี ถ้าไม่มา ก็อย่าเอามือไปจับต้องเอง เพราะเมื่อโยคีบุคคลจับต้อง ก็จะถึงซึ่งความเคยชิน
(หน้าที่ 319)
ไปเสีย เพราะเหตุนั้นพึงใช้คนวัด หรือคนที่สมณะแสดงให้ หรือใคร ๆ อื่น ให้ทำอสุภที่ตกอยู่ในทิศต่าง ๆ นั้นรวมเข้าในที่แห่งเดียวกัน เมื่อหาคนอื่นไม่ได้ พึงเอาไม้เท้าหรือไม้ท่อนเขี่ยเข้ามา ทำระหว่างไว้องคุลีหนึ่ง ครั้นเขี่ยเข้ามาไว้โดยประการดังนี้แล้ว โยคีบุคคลพึงยังมนสิการให้เป็นไปด้วยบริกรรมว่า อสุภขาดเป็นท่อนน่าเกลียด อสุภขาดเป็นท่อนน่าเกลียด ดังนี้ ในกัมมัฏฐานบทนี้นั้น อุคคหนิมิต ย่อมปรากฏเป็นดุจทะลุกลางตัว ส่วน ปฏิภาคนิมิต ย่อมปรากฏเป็นร่างที่บริบูรณ์
5. วิธีเจริญวิกขายิตกอสุภกัมมัฏฐาน
ในวิกขายิตกอสุภกัมมัฏฐาน โยคีบุคคลพึงยังมนสิการใหัเป็นไป ด้วยบริกรรมว่า อสุภที่สัตว์กัดกินน่าเกลียด อสุภที่สัตว์กัดกินน่าเกลียด ดังนี้ ก็แหละในกัมมัฏฐานบทนี้ อุคคหนิมิต ย่อมปรากฏเป็นเสมือนร่างซึ่งถูกสัตว์กัด ณ ที่นั้น ๆ ปฏิภาคนิมิต ย่อมปรากฏเป็นร่างที่บริบูรณ์นั่นเทียว
6. วิธีเจริญวิกขิตตกอสุภกัมมัฏฐาน
แม้อสุภที่กระจัดกระจาย อันโยคีบุคคลพึงใช้คนอื่นทำหรือทำเองให้ห่างระหว่างองคุลีหนึ่ง โดยนัยที่อธิบายไว้แล้วในอสุภที่ขาดเป็นท่อนนั่นแล แล้วพึงยังมนสิการให้เป็นไปด้วยบริกรรมว่า อสุภที่กระจัดกระจายน่าเกลียด อสุภที่กระจัดกระจายน่าเกลียด ดังนี้ ในกัมมัฏฐานบทนี้ อุคคหนิมิต ย่อมปรากฏเป็นร่างมีระหว่างปรากฏ ส่วน ปฏิภาคนิมิต ย่อมปรากฏเป็นร่างบริบูรณ์นั้นเทียว
7. วิธิเจริญหตวิกขิตตกอสุภกัมมัฏฐาน
แม้อสุภที่ถูกฟันกระจัดกระจาย ก็ย่อมหาได้ ณ สถานที่ทั้งหลาย ซึ่งมีประการดังอธิบายไว้แล้วในอสุภที่ขาดเป็นท่อนนั่นแล เพราะเหตุนั้น โยคีบุคคลครั้นไปถึง ณ สถานที่นั้นแล้ว พึงใช้คนอื่นทำหรือทำเองให้ห่างระหว่างองคุลีหนึ่งโดยนัยที่กล่าวมาแล้วนั่นเทียว แล้วพึงยังมนสิการให้เป็นไป ด้วยบริกรรมว่า อสุภที่ถูกฟันกระจัดกระจายน่าเกลียด อสุภที่ถูกฟันกระจัดกระจายน่าเกลียด ดังนี้ ก็แหละในกัมมัฏฐานบทนี้ อุคคหนิมิต ย่อมปรากฏเป็นร่างที่บริบูรณ์
(หน้าที่ 320)
8. วิธีเจริญโลหิตกอสุภกัมมัฏฐาน
อสุภที่มีโลหิตไหล ย่อมจะหาได้ในเวลาที่มันไหลออกจากปากแผลของคนผู้ได้รับการประหารในสนามรบเป็นต้น หรือในเมื่อมือและเท้าเป็นต้นถูกตัดขาด หรือในเวลาที่มันไหลออกจากปากแผลของคนมีฝีและต่อมแตก เพราะเหตุนั้น อันโยคีบุคคลครั้นเห็นโลหิตอันไหลอยู่นั้นแล้ว พึงยังมนสิการให้เป็นไป ด้วยบริกรรมว่า อสุภมีโลหิตไหลน่าเกลียด อสุภมีโลหิตไหลน่าเกลียด ดังนี้ ในกัมมัฏฐานบทนี้ อุคคหนิมิต ย่อมปรากฏมีอาการไหวอยู่เหมือนธงผ้าแดงที่ถูกลมพัด ส่วน ปฏิภาคนิมิต ย่อมปรากฏเป็นอาการหยุดนิ่งอยู่
9. วิธีเจริญปุฬุวกอสุภกัมมัฏฐาน
อสุภที่มีหนอนเกลื่อนกลาด ย่อมมีได้ในเวลาที่หมู่หนอนชอนออกจากปากแผล 9 แห่งของศพ โดยล่วงไปได้ 2– 3 วัน ก็แหละ ปุฬุวกอสุภนั้น ย่อมดำรงสภาพอยู่เหมือนกองข้าวสุกแห่งข้างสาลี มีขนาดเท่าร่างของสุนัข, มนุษย์, โค, กระบือ, ช้าง, ม้า, หรืองูเหลือมเป็นต้นนั่นเทียว ในบรรดาร่างของสุนัขเป็นต้นเหล่านั้น อันโยคีบุคคลพึงยังมนสิการให้เป็นไปในร่างของสัตว์ชนิดใดชนิดหนึ่ง ด้วยบริกรรมว่า อสุภมีหนอนเกลื่อนกลาดน่าเกลียด อสุภมีหนอนเกลื่อนกลาดน่าเกลียด ดังนี้ เป็นความจริงนิมิตในศพช้างซึ่งอยู่ในบึงกาฬทีฆะ ก็ได้ปรากฏแก่พระจูฬปิณฑปาติกติสสเถระ ก็แหละในกัมมัฏฐานบทนี้ อุคคหนิมิต ย่อมปรากฏเป็นเสมือนเคลื่อนไหวอยู่ ปฏิภาคนิมิต ย่อมปรากฏเป็นอาการหยุดนิ่ง เสมือนกองข้าวสุกแห่งข้วสาลี
10. วิธีเจริญอัฏฐิกอสุภกัมมัฏฐาน
อัฏฐิกอสุภ คืออสุภที่เป็นกระดูก พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้โดยประการต่าง ๆ โดยนัยมีอาทิว่า ภิกษุนั้น พึงเห็นร่างที่เขาทิ้งไว้ในป่าช้า เป็นร่างกระดูกยังมีเนื้อและเลือด มีเอ็นยึดอยู่ ดังนี้ ร่างกระดูกนั้นเขาทิ้งไว้ ณ ที่ตรงไหน อันโยคีบุคคลพึงไป ณ ที่ตรงนั้นโดยนัยที่กล่าวมาแล้วในอุทธุมาตกอสุภนั่นแล ครั้นแล้วพึงทำให้เป็นเครื่องหมายร่วมกัน ทำให้เป็นอารมณ์ร่วมกัน ด้วยอำนาจแห่งวัตถุทั้งหลายมีก้อนหินโดยรอบเป็นต้น พึงกำหนดโดยความเป็นสภาวะว่า ร่างนี้เป็นกระดูก แล้วพึงถือเอาซึ่งนิมิตโดยอาการ 11 อย่าง ด้วยอำนาจสีเป็นต้นต่อไป
(หน้าที่ 321)
กำหนดนิมิตโดยอาการ 11 อย่าง
ก็แหละ เมื่อโยคีบุคคลดูกระดูก โดยสี กระดูกนั้นก็จะไม่ปรากฏโดยเป็นสภาวะ ย่อมจะปนกับโอทาตกสิณคือกสิณสีขาวไปเสีย เพราะเหตุนั้น โยคีบุคคลพึงดูกระดูกโดยความเป็นของปฏิกูลเท่านั้น
คำว่า โดยเพศ ณ ที่นี้เป็นชื่อของอวัยวะมีมือเป็นต้น เพราะเหตุนั้น โดยเพศ โยคีบุคคลพึงกำหนดด้วยสามารถแห่งมือ, เท้า, ศรีษะ, หน้าอก, แขน, สะเอว, ขา และแข้งเป็นต้น
อนึ่ง โดยสัณฐาน พึงกำหนดด้วยสามารถแห่งความยาว, ความสั้น, ความกลม, สี่เหลี่ยม, ความเล็ก และความใหญ่
ทิศ และ โอกาสมีนัยดังที่พรรณนามาแล้วนั่นแล
โดยปริจเฉท โยคีบุคคลพึงกำหนดด้วยสามารถแห่งที่สุดของกระดูกท่อนนั้น ๆ ในบรรดากระดูกเหล่านั้น ท่อนใดแลย่อมปรากฏเป็นอาการชัดแจ้ง พึงถือเอากระดูกท่อนนั้นจนบรรลุถึงซึ่งอัปปนาฌาน
อนึ่ง โดยที่เว้า และ โดยที่นูน โยคีบุคคลพึงกำหนดตามที่มันเว้าและที่มันนูนของกระดูกท่อนนั้น ๆ แม้จะพึงกำหนดด้วยอำนาจแห่งสถานที่ว่า เราอยู่ที่ลุ่ม กระดูกอยู่ที่ดอน เราอยู่ที่ดอน กระดูกอยู่ที่ลุ่ม ดังนี้ก็ได้
อนึ่ง โดยที่ต่อ โยคีบุคคลพึงกำหนดด้วยอำนาจแห่งที่ ๆ กระดูก 2 ท่อนต่อกัน
โดยช่อง โยคีบุคคลพึงกำหนด ด้วยอำนาจแห่งช่องอันเป็นระหว่างของกระดูกทั้งหลายนั่นแล
อนึ่ง โดยรอบ ๆ อันโยคีบุคคลพึงส่องญาณไปในร่างกระดูกทั้งหมดนั่นแล แล้วกำหนดว่ากระดูกนี้อยู่ ณ ที่ตรงนี้
แม้ถึงจะได้กำหนดด้วยประการอย่างนี้แล้ว นิมิตก็มิได้ปรากฏ โยคีบุคคลพึงวางจิตไว้ตรงที่กระดูกหน้าผากนั่นเถิด
(หน้าที่ 322)
แหละการถือเอานิมิตโดยอาการ 11 อย่างในอัฏฐิกอสุภนี้ ฉันใด แม้ในอสุภอื่น ๆ ข้างต้นแต่นี้ มีปุฬุวกอสุภเป็นอาทิ อันโยคีบุคคลพึงกำหนดด้วยสามารถความเหมาะสมฉันนั้น อนึ่ง กัมมัฏฐานบทนี้ ย่อมสำเร็จทั้งในโครงกระดูกทั้งสิ้น ทั้งในกระดูกท่อนเดียว เพราะเหตุนั้น อันโยคีบุคคลพึงถือเอาซึ่งนิมิตโดยอาการ 11 อย่าง ในโครงกระดูกและกระดูกท่อนเดียวนั้นแต่อย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว พึงยังมนสิการให้เป็นไป ด้วยบริกรรมว่า อสุภเป็นกระดูกน่าเกลียด อสุภเป็นกระดูกน่าเกลียด ดังนี้
ความต่างกันแห่งนิมิตทั้ง 2
ในอัฏฐิกอสุภกัมมัฏฐานนี้ ท่านอรรถกถาจารย์กล่าวไว้ว่า ทั้งอุคคหนิมิต ทั้งปฏิภาคนิมิต ย่อมเป็นเช่นเดียวกันนั่นเทียว คำของท่านอรรถกถาจารย์นั้นถูกสำหรับในกระดูกท่อนเดียว ส่วนสำหรับในโครงกระดูก เมื่ออุคคหนิมิตปรากฏนั้น ปรากฏเป็นช่อง เมื่อปฏิภาคนิมิตปรากฏ ปรากฏเป็นโครงกระดูกบริบูรณ์ จึงจะถูก อนึ่ง แม้สำหรับในกระดูกท่อนเดียว อุคคหนิมิตพึงเป็นสิ่งที่น่าหวาดเสียว น่าสะพรึงกลัว ปฏิภาคนิมิตพึงเป็นสิ่งที่ให้เกิดปีติและโสมนัส เพราะเหตุที่นำมาซึ่งอุปจารสมาธิ
ก็ในโอกาสนี้ คำใดที่ท่านพรรณนาไว้ในอรรถกถาทั้งหลาย คำนั้นท่านก็พรรณนาให้ช่องไว้แล้วนั่นเทียว เป็นความจริงอย่างนั้น ในอรรถกถานั้น แม้ว่าท่านอรรถกถาจารย์ จะได้พรรณนาไว้แล้วว่า ในพรมวิหาร 4 และอสุภ 10 ปฏิภาคนิมิตหามีไม่ เพราะในพรหมวิหาร 4 สีมาสัมเภท (ความทำลายเขตแดน) นั่นแหละเป็นนิมิต และในอสุภ 10 ย่อมสำเร็จเป็นนิมิตในขณะเมื่อโยคีบุคคลเห็นเป็นสิ่งปฏิกูลอย่างทำไม่ให้มีข้อแม้นั่นเทียว ดังนี้ แล้วยังพรรณนาต่อไปอย่างไม่มีขีดขั้นเป็นต้นว่า นิมิตในอัฏฐิกอสุภนี้ มี 2 อย่าง คือ อุคคหนิมิต 1 ปฏิภาคนิมิต 1 อุคคหนิมิตย่อมปรากฏเป็นสิ่งที่ผิดรูปผิดร่าง น่าหวาดเสียว น่าสะพรึงกลัว ดังนี้ เพราะเหตุนั้น คำใดที่ข้าพเจ้ากล่าววิจารณ์ไว้แล้ว คำนั้นนั่นแหละเป็นอันถูกต้องแล้ว ในอธิการแห่งอัฏฐิกอสุภนี้
อีกประการหนึ่ง เรื่องต่าง ๆ เช่น เรื่องร่างกายของสตรีหมดทั้งตัวปรากฏเป็นร่างกระดูกแก่พระมหาติสสเถระ เพราะเหตุที่ได้เห็นเพียงกระดูกฟัน นับเป็นนิทัศนะอุทาหรณ์ ได้ในอัฏฐิกอสุภกัมมัฏฐานนี้ด้วย ฉะนี้แล
(หน้าที่ 323)
สมเด็จพระทศพลผู้ทรงมีพระคุณอันโสภา ทรงมีพระเกียรติศัพท์อันจอมแห่งเทวดาผู้มีพระเนตรตั้งพันดวงสรรเสริญแล้ว ได้ทรงแสดงอสุภกัมมัฏฐาน อันเป็นเหตุให้สำเร็จฌานแต่ละประการ ๆ เหล่าใดไว้ ด้วยประการดังพรรณนามาฉะนี้ อันนักศึกษา ครั้นได้ทราบอสุภกัมมัฏฐานเหล่านั้น และนัยแห่งภาวนาวิธีของอสุภกัมมัฏฐานเหล่านั้น อย่างที่พรรณนามานั้นแล้ว พึงทราบถึงซึ่งปกิณณกกถาในอสุภกัมมัฏฐานเหล่านั้นนั่นแหละให้ยิ่งขึ้นไปดังต่อไปนี้
ก็แหละ โยคีบุคคลผู้ได้สำเร็จฌานในอสุภกัมมัฏฐาน 10 ประการนั้นข้อใดข้อหนึ่งแล้ว ย่อมเป็นผู้ไม่มีความประพฤติโลเลเป็นดุจดังว่าปราศจากราคะแล้ว เพราะราคะถูกข่มไว้อย่างดี แม้เมื่อเป็นเช่นนี้ ประเภทแห่งอสุภนี้ใดที่ท่านแสดงไว้แล้ว ประเภทแห่งอสุภนั้น นักศึกษาพึงทราบว่า ท่านแสดงไว้ด้วยอำนาจความเป็นไปแห่งสภาพของร่างศพอย่างหนึ่ง ด้วยอำนาจประเภทของราคจริตอย่างหนึ่ง
อสุภ 10 ตามสภาพของร่างศพ
จริงอยู่ ร่างศพเมื่อถึงความเป็นปฏิกูล ก็จะพึงเป็นภาวะเป็นสภาพอุทธุมาตกอสุภหรือถึงสภาพเป็นวินีลกอสุภเป็นต้นอย่างใดอย่างหนึ่ง ด้วยประการฉะนี้ โยคีบุคคลสามารถที่จะได้อสุภชนิดใด ๆ ก็พึงถือเอาอสุภชนิดนั้น ๆ ด้วยบริกรรมอย่างนี้ว่า อสุภขึ้นพองน่าเกลียด อสุภสีเขียวคละด้วยสีต่าง ๆ น่าเกลียด เป็นต้น ฉะนี้ นักศึกษาพึงทราบว่า ประเภทอสุภท่านแสดงไว้แล้วโดยอาการ 10 อย่าง ด้วยอำนาจความเป็นไปแห่งสภาพของร่างศพ ด้วยประการฉะนี้
อสุภ 10 ตามประเภทของราคจริต
เมื่อว่าโดยความแปลกกันในอสุภนี้ นักศึกษาพึงทราบว่า ท่านแสดงประเภทอสุภไว้โดยอาการ 10 อย่าง แม้ด้วยอำนาจความต่างกันแห่งราคจริตโดยประการดังนี้ คือ –
1. อุทธุมาตกอสุภ เป็นสัปปายะสำหรับโยคีบุคคลผู้มักมีความกำหนัดในสัณฐาน เพราะมันประกาศถึงความวิบัติของสัณฐานแห่งร่างกาย
(หน้าที่ 324)
2. วินีลกอสุภ เป็นสัปปายะสำหรับโยคีบุคคลผู้มักมีความกำหนัดในสีของร่างกาย เพราะมันประกาศถึงความวิบัติของผิว
3. วิปุพพกอสุภ เป็นสัปปายะสำหรับโยคีบุคคลผู้มักมีความกำหนัดในกลิ่นกายที่เขาปรุงแต่งขึ้นด้วยอำนาจกลิ่นดอกไม้เป็นต้น เพราะมันประกาศถึงภาวะที่เป็นของเหม็นซึ่งติดเนื่องอยู่ในกาย
4. วิจฉิททกอสุภ เป็นสัปปายะสำหรับโยคีบุคคลผู้มักมีความกำหนัดในความเป็นเนื้อทึบในร่างกาย เพราะมันประกาศถึงความเป็นโพลงข้างใน
5. วิกขายิตกอสุภ เป็นสัปปายะสำหรับโยคีบุคคลผู้มักมีความกำหนัดในเนื้อนูนขึ้นในตำแหน่งแห่งร่างกายเช่นถันเป็นต้น เพราะมันประกาศถึงความพินาศแห่งสมบัติคือเนื้อนูน
6. วิกขิตตกอสุภ เป็นสัปปายะสำหรับโยคีบุคคลผู้มักมีความกำหนัดในลีลาขององค์อวัยวะ เพราะมันประกาศถึงความกระจัดกระจายขององค์อวัยวะทั้งหลาย
7. หตวิขิตตกอสุภ เป็นสัปปายะสำหรับโยคีบุคคลผู้มีความกำหนัดในเรือนร่างของกาย เพราะมันประกาศถึงความทำลายและความวิการของเรือนร่างของกาย
8. โลหิตกอสุภ เป็นสัปปายะสำหรับโยคีบุคคลผู้มักมีความกำหนัดในความงามที่เกิดขึ้นด้วยเครื่องประดับ เพราะมันประกาศถึงภาวะที่เป็นสิ่งปฏิกูลเพราะเปรอะเปื้อนด้วยโลหิต
9. ปุฬุวกอสุภ เป็นสัปปายะสำหรับโยคีบุคคลผู้มีความกำหนัดอันเกิดขึ้นในกายโดยหมายว่าเป็นกายของเรา เพราะมันประกาศถึงภาวะของกายเป็นสาธารณะแก่ตระกูลหนอนเป็นอันมาก
10. อัฏฐิกอสุภ เป็นสัปปายะสำหรับโยคีบุคคลผู้มีความกำหนัดในสมบัติคือฟัน เพราะมันประกาศถึงภาวะของกระดูกแห่งร่างกายทั้งหลายเป็นสิ่งปฏิกูล
อสุภ 10 ให้สำเร็จเพียงปฐมฌาน
ก็แหละ เพราะเหตุที่ในอสุภแม้ทั้ง 10 อย่างนี้ จิตเป็นสภาพมีอารมณ์เดียว ตั้งอยู่ได้ด้วยกำลังแห่งวิตกเท่านั้น เว้นวิตกเสียไม่สามารถจะตั้งอยู่ได้ เพราะอารมณ์มีกำลัง
(หน้าที่ 325)
อ่อน เปรียบเหมือนเรือในแม่น้ำที่น้ำไม่หยุดนิ่ง ทั้งมีกระแสไหลเชี่ยว จะหยุดอยู่ได้ด้วยกำลังแห่งถ่อเท่านั้น เว้นจากถ่อเสียก็ไม่สามารถจะหยุดอยู่ได้ ฉะนั้น ในอสุภ 10 ประการนี้ จึงสำเร็จเพียงปฐมฌานเท่านั้น ฌานชั้นสูงมีทุติฌานเป็นต้นหาสำเร็จไม่
อนึ่ง ในอารมณ์อสุภกัมมัฏฐานนี้ทั้ง ๆ ที่เป็นสิ่งปฏิกูล ปีติโสมนัสก็เกิดขึ้นได้ เพราะโยคีบุคคลได้เห็นอานิสงส์ว่า เราจักหลุดพ้นจากชราทุกข์และมรณะทุกข์ ด้วยข้อปฏิบัติอันนี้อย่างแน่นอน อย่างนี้อีกประการหนึ่ง กับอีกประการหนึ่ง เพราะละเสียได้ซึ่งความเร่าร้อนเพราะนิวรณ์ เปรียบเหมือนแม้ที่กองคูถ ปีติโสมนัสก็เกิดขึ้นแก่คนเทหยากเยื่อ ผู้เห็นอานิสงส์ว่า เราจักได้บำเหน็จเป็นจำนวนมาก ณ บัดนี้ และเปรียบเหมือนในการอาเจียรออกและการถ่ายออก ปีติโสมนัสก็เกิดขึ้นได้แก่คนเป็นโรคพยาธิทุกข์อย่างหนัก ฉะนั้น
ร่างคนเป็นก็เป็นอสุภกัมมัฏฐานได้
แหละอสุภแม้ทั้ง 10 อย่างนี้ เมื่อว่าโดยลักษณะก็เป็นเพียงอย่างเดียวเท่านั้น จริงอยู่ ความเป็นสิ่งปฏิกูลคือไม่สะอาดมีกลิ่นเหม็นและน่าเกลียดนั่นแล เป็นลักษณะของอสุภทั้ง 10 อย่างนั้น โดยลักษณะนี้ อสุภนี้นั้นไม่ใช่จะปรากฏได้แต่ในร่างกายของคนตายอย่างเดียว แม้ในร่างของคนเป็นก็ปรากฏได้ เหมือนอย่างที่ปรากฏแก่พระมหาติสสเถระสำนักวัดเจติยบรรพตซึ่งได้เห็นกระดูกฟัน และเหมือนอย่างที่ปรากฏแก่สามเณรอุปัฏฐากของพระสังฆรักขิตเถระ ซึ่งได้แลดูพระราชากำลังประทับอยู่บนคอช้างพระที่นั่ง เพราะว่า ร่างคนตายเป็นอสุภกัมมัฏฐานได้ฉันใด แม้ร่างคนเป็นก็เป็นอสุภกัมมัฏฐานได้ ฉันนั้นเหมือนกัน
ร่างคนเป็นถูกปิดบังด้วยเครื่องอลังการ
ก็แต่ว่า ในร่างคนเป็นนี้ลักษณะของอสุภไม่ปรากฏชัดได้ เพราะถูกเครื่องอลังการอันประกอบเข้าใหม่ปิดบังไว้ แต่เมื่อว่าโดยปกติแล้ว สรีระร่างอันนี้ มีกระดูก 300 ท่อนเศษ ๆ เป็นโครงร่าง เชื่อมด้วยข้อต่อ 180 แห่ง มีเอ็น 900 เส้นผูกยึดไว้ ฉาบด้วยชิ้นเนื้อ 900 ชิ้น ห่อหุ้มไว้ด้วยหนังสด ไล้ไว้ด้วยหนังผิว มีช่องน้อยช่องใหญ่ปรุไปไหลซึมขึ้นข้างบนและไหลซึมลงข้างล่างตลอดกาลเป็นนิจ เหมือนภาชนะซึ่งเต็มไปด้วยน้ำมันข้น อันหมู่หนอนอาศัยอยู่แล้วเป็นบ่อเกิดแห่งโรคทั้งหลาย เป็นที่ตั้งแห่งทุกขธรรมทั้งหลาย เป็นที่ไหลออกแห่งอสุจิทั้งหลายอย่างไม่ขาดสาย โดยทางปากแผลทั้ง 9 แห่ง เหมือนผีหัวขาด
(หน้าที่ 326)
เป็นราชาหรือคนจัณฑาลก็เหมือนกัน
สรีระร่างอันใด มีขี้ตาไหลออกจากตาทั้งสอง มีขี้หูไหลออกจากหูทั้งสอง มีน้ำมูกไหลออกจากรูจมูกทั้งสอง มีอาหาร, ดี, เสมหะหรือโลหิตไหลออกจากปาก มีอุจาระและปัสสาวะไหลออกจากทวารเบื้องล่างทั้งสอง มีน้ำเหงื่ออันสกปรกไหลออกจากขุมขน 99,000 ขุม มีแมลงวันหัวเขียวเป็นต้นไต่ตอมอยู่ บุคคลไม่ปรนนิบัติสรีระร่างอันใด ด้วยสรีรกิจ มีการสีฟัน, บ้วนปาก, สระผม, อาบน้ำ, นุ่งผ้าและห่มผ้าเป็นต้น ปล่อยไปตามกำเนิด มีผมพะรุงพะรังยุ่งเหยิง ท่องเที่ยวจากบ้านหลังไปยังบ้านหน้า แม้จะเป็นราชาก็ตาม จะเป็นคนเทหยากเยื่อหรือคนจัณฑาลเป็นต้นชั้นใดชั้นหนึ่งก็ตาม จะไม่มีสิ่งผิดแผกกันเลย เพราะเป็นสรีระร่างที่ปฏิกูลเสมอกัน ชื่อว่า ความเป็นต่างกันในสรีระร่างของราชาก็ดี ของคนจัณฑาลก็ดี หามีไม่ เพราะเป็นสิ่งปฏิกูลคือไม่สะอาดมีกลิ่นเหม็นและน่าเกลียด ด้วยประการฉะนี้
ก็แหละ ในสรีระร่างอันนี้ เมื่อคนเราพากันขัดสีมลทินทั้งหลายมีมลทินฟันเป็นต้น ด้วยไม้สีฟันและน้ำบ้วนปากเป็นต้น แล้วปกปิดอวัยวะส่วนที่ยังความละอายให้หายไปด้วยผ้านานาชนิด ไล้ทาด้วยเครื่องลูบไล้อันหอมหวลนานาพรรณ ประดับด้วยอาภรณ์ต่าง ๆ มีอาภรณ์ดอกไม้เป็นต้น ย่อมกระทำให้ถึงซึ่งอาการควรที่จะพึงถือเอาได้ ว่าเรา ว่าของเราได้
แต่นั้น เพราะเหตุที่สรีระร่างถูกเครื่องอลังการอันประกอบเข้าใหม่นี้ ปิดบังไว้คนเราจึงไม่รู้สรีระร่างนั้นของเขาอันมีลักษณะไม่งามตามความเป็นจริง พวกบุรุษจึงหลงยินดีในพวกสตรี และพวกสตรีก็หลงยินดีในพวกบุรุษ
แต่เมื่อว่าโดยปรมัตถ์แล้ว ในสรีระอันนี้ขึ้นชื่อว่าที่ ๆ ควรแก่การที่จะพึงยินดี แม้เพียงเท่าอณูหนึ่งก็มิได้มี เป็นความจริงอย่างนั้น ในบรรดาชิ้นส่วนทั้งหลายเช่นผม, ขน, เล็บ, ฟัน, น้ำลาย, น้ำมูก, อุจาระ และปัสสาวะ แม้ชิ้นส่วนอันหนึ่งที่ตกออกไปข้างนอกจากสรีระร่างแล้ว คนทั้งหลายก็ไม่ปรารถนาเพื่อจะถูกต้องแม้ด้วยมือ ย่อมสะอิดสะเอียน ย่อมขยะแขยง ย่อมเกลียด
(หน้าที่ 327)
เหมือนสุนัขจิ้งจอกเห็นดอกทองกวาว
ส่วนชิ้นส่วนใด ๆ ที่ยังเหลืออยู่ในสรีระร่างอันนี้ แม้ว่าชิ้นส่วนนั้น ๆ จะเป็นสิ่งปฏิกูลดังกล่าวมา คนเราก็ยังพากันยึดถือเอาว่า เป็นสิ่งน่าปรารถนา น่าใคร่ เป็นของเที่ยง เป็นสุข เป็นตัวตน ทั้งนี้เพราะถูกความมืดคืออวิชาห่อหุ้มไว้ เพราะถูกย้อมด้วยเครื่องย้อม คือความเห็นแก่ตัว เมื่อสัตว์เหล่านั้นยึดถือด้วยอาการอย่างนี้ จึงถึงซึ่งความเป็นผู้เสมอด้วยสุนัขจิ้งจอกแก่ตัวที่เห็นต้นทองกวาวในดง ซึ่งมีดอกยังไม่หล่นจากต้น แล้วสำคัญเห็นไปว่านี้เป็นชิ้นเนื้อ ฉะนี้
เพราะเหตุนี้ –
โยคีบุคคลผู้ฉลาด อย่าได้ถือเอาแต่เพียงชิ้นส่วนที่ตกไปแล้วจากร่างเท่านั้นว่า เป็นของไม่งาม เหมือนสุนัขจิ้งจอกเห็นต้นทองกวาวในป่าออกดอกแล้วรีบวิ่งไป ด้วยสำคัญผิดไปว่า ตนได้ต้นไม้เนื้อ เกิดตะกละสวาปามคาบเอาดอกทองกวาวที่หล่นลง ๆ แม้รู้แล้วว่านี้มิใช่เนื้อ ก็ยังยึดถืออยู่ว่าดอกบนต้นโน้นเป็นเนื้อ พึงถือเอาแม้ชิ้นส่วนที่อยู่ในสรีระร่างนั้นว่าเป็นของไม่งามเหมือนกัน
เพราะพวกคนเขลายึดถือเอากายอันนี้โดยเป็นของงามแล้วลุ่มหลงอยู่ในกายนั้น งมทำบาปอยู่ ย่อมไม่พ้นจากทุกข์ไปได้
เพราะเหตุนั้น โยคีบุคคลผู้มีปัญญา พึงเห็นสภาพของกายอันเน่าเปื่อย ที่เป็นอยู่ก็ดี ที่ตายแล้วก็ดี ว่าเป็นสิ่งที่พ้นจากความงามเสมอกัน
สมดังคำโบราณาจารย์ ดังนี้ –
กายอันมีกลิ่นเหม็น ไม่สะอาด เป็นซากศพ เสมอเหมือนหลุมคูถ เป็นกายอันหมู่บัณฑิตผู้มีดวงตาครหากันแล้ว แต่เป็นสิ่งอันพาลชนชมชอบยิ่งนัก
(หน้าที่ 328)
กายอันใด ซึ่งห่อหุ้มไว้ด้วยหนังสด มีแผลขนาดใหญ่ คือช่องทวาร 9 แห่ง สิ่งโสโครก กลิ่นเหม็นบูด ไหลออกอยู่รอบด้าน ถ้าจะพึงพลิกเอาภายในของกายอันนี้ออกมาไว้ข้างนอก คนเราจะพึงถือไม้ไว้คอยไล่ฝูงกาและหมู่สุนัขอย่างแน่นอน
เพราะเหตุฉะนั้น จะเป็นสรีระร่างของคนเป็น หรือจะเป็นสรีระร่างของคนตายก็ช่างเถิด อาการอันไม่งามย่อมปรากฏขึ้นได้ในชิ้นส่วนแห่งสรีระร่างใด ๆ อันภิกษุผู้มีชาติเป็นภัพพบุคคล พึงถือเอาอุคคหนิมิตตรงที่ชิ้นส่วนแห่งสรีระร่างนั้น ๆ นั่นแล เจริญกัมมัฏฐานไปจนให้บรรลุถึงซึ่งอัปปนาฌานนั่นเทอญ
อสุภกัมมัฏฐานนิทเทส ปริจเฉทที่ 6
ในอธิการแห่งสมาธิภาวนา ในปกรณวิเสสชื่อวิสุทธิมรรค
อันข้าพเจ้ารจนาขึ้นไว้
เพื่อให้เกิดความปีติปราโมทย์แก่สาธุชนทั้งหลาย
ยุติลงด้วยประการฉะนี้