{{template:เนตติใหม่ head| }}{{template:ฉบับปรับสำนวน head|}} =สาสนปัฏฐาน= [89] ในสาสนปัฏฐานนั้น มูลบท 18 พึงเห็นได้ ณ ที่ไหน? ตอบว่า มูลบท 18 นั้น พึงเห็นในสาสนปัฏฐาน ฯ ในสาสนปัฏฐานอันเป็นไปกับมูลบทนั้น สาสนปัฏฐานนั้นเป็นไฉน สาสนปัฏฐานนั้น เป็นพระสูตรในส่วนแห่งสังกิเลส เป็นพระสูตรในส่วนแห่งวาสนา เป็นพระสูตรในส่วนแห่งสังกิเลสและในส่วนแห่งวาสนา เป็นพระสูตรในส่วนสังกิเลสและในส่วนแห่งปัญญาเครื่องแทงตลอด เป็นพระสูตรในส่วนสังกิเลสและในส่วนแห่งอเสกขะ เป็นพระสูตรในส่วนสังกิเลสและในส่วนแห่งปัญญาเครื่่องแทงตลอดและในส่วนแห่งอเสกขะ เป็นพระสูตรในส่วนแห่งวาสนาและในส่วนแห่งปัญญาเครื่องแทงตลอด เป็นพระสูตรในส่วนแห่งตัณหาสังกิเลส เป็นพระสูตรในส่วนแห่งทิฏฐิสังกิเลส เป็นพระสูตรในส่วนแห่งทุจริตสังกิเลส เป็นพระสูตรในส่วนแห่งตัณหาและโวทาน เป็นพระสูตรในส่วนแห่งทิฏฐิและโวทาน เป็นพระสูตรในส่วนแห่งทุจริตและโวทาน ฯ ในพระสูตรเหล่านั้น สังกิเลสมี 3 อย่างคือ ตัณหาสังกิเลส ทิฏฐิสังกิเลสและทุจริตสังกิเลส ฯ ในสังกิเลสเหล่านั้น ตัณหาสังกิเลส ย่อมหมดจดด้วยสมถะ สมถะนั้นเป็นสมาธิขันธ์ ฯ ทิฏฐิสังกิเลส ย่อมหมดจดด้วยวิปัสสนาวิปัสสนานั้นเป็นปัญญาขันธ์ ฯ ทุจริตสังกิเลสย่อมหมดจดด้วยสุจริต สุจริตนั้นเป็นศีลขันธ์ ฯ ถ้าความปรารถนาในภพย่อมเกิดแก่บุคคลผู้ตั้งอยู่ในศีลนั้น ผู้ยังไม่อาจตัดฉันทราคะในภพทั้งหลายได้ไซร้ บุญญกิริยาวัตถุอันสำเร็จด้วยภาวนาคือสมถะและวิปัสสนา มีอยู่ บุญญกิริยาวัตถุนี้ ย่อมให้เป็นไปพร้อมเพื่อการเกิดขึ้นในภพนั้น ๆ ฯ พระสูตร 4 เบื้องต้น มีพระสูตรอันเป็นส่วนแห่งสังกิเลสเป็นต้นเหล่านี้(เป็นอสาธารณะตามนัยแห่งฎีกาจารย์) พระสูตรที่เป็นสาธารณะท่านกระทำไว้ 8 สูตร 8 สูตรนั้นนั่นแหละกระทำไว้เป็น 16 สูตร ฯ ปริยัตติสูตรทั้งสิ้น 9 อย่าง (นวังคสัตถุศาสน์) มีสุตตะและเคยยะเป็นต้นท่านจำแนกโดยพระสูตร 16 เหล่านี้ ฯ พึงนับพระสูตรมีสังกิเลสภาคิยสูตร เป็นต้น อย่างไร คาถาพึงคำนวนด้วยคาถาอันเป็นประเภทแห่งสังกิเลสภาคิยะเป็นต้นไวยากรณ์พึงคำนวนด้วยไวยากรณ์อันเป็นประเภทแห่งสังกิเลสภาคิยะเป็นต้นพระสูตรพึงคำนวนด้วยพระสูตรอันเป็นประเภทแห่งสังกิเลสภาคิยะ เป็นต้น ฯ ==สังกิเลสภาคิยสูตร== [90] ในโสฬสสูตรนั้น สังกิเลสภาคิยสูตรเป็นไฉน คาถาที่กล่าวไว้ในหนหลังว่า"สัตว์ทั้งหลายมืดมนเพราะกาม ถูกตัณหาซึ่งเป็นดุจข่ายปกคลุมไว้แล้ว ถูกเครื่องมุงคือตัณหาปกปิดไว้แล้ว ถูกกิเลสมารและเทวปุตตมารผูกพันไว้แล้ว ย่อมไปสู่ชราและมรณะ เหมือนปลาที่ปากไซ เหมือนลูกโคที่ยังดื่มนม ไปตามแม่โค ฉะนั้น" ดังนี้สูตรนี้ ชื่อว่า สังกิเลสภาคิยสูตร พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า"ดูกรภิกษุทั้งหลาย การถึงอคตินี้มี 4 อย่าง 4 อย่างเป็นไฉน คือบุคคลย่อมถึงฉันทาคติ ย่อมถึงโทสาคติ ย่อมถึงโมหาคติและย่อมถึงภยาคติ ดูกรภิกษุทั้งหลาย การถึงอคติ 4 อย่างนี้แล" ฯ พระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้สุคตศาสดา ได้ตรัสพระธรรมเทศนาไวยากรณ์ภาษิตนี้แล้ว ครั้นแล้วจึงตรัสนิคมคาถาประพันธ์นี้อีกว่า"บุคคลใด ย่อมประพฤติล่วงธรรมเพราะความรัก เพราะความชังเพราะความกลัว เพราะความหลง ยศของผู้นั้น ย่อมเสื่อมไป เหมือนดวงจันทร์ในวันกาฬปักษ์ ฉะนั้น" ดังนี้ ฯ สูตรนี้ ชื่อว่า สังกิเลสภาคิยสูตร พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า"ธรรมทั้งหลาย มีใจเป็นหัวหน้า มีใจประเสริฐสุด สำเร็จแล้วด้วยใจถ้าบุคคลมีใจอันโทษประทุษร้ายแล้ว กล่าวอยู่ก็ตาม กระทำอยู่ก็ตามทุกข์ย่อมไปตามบุคคลนั้น เพราะทุจริต 3 อย่างนั้น เหมือนล้อหมุนไปตามรอยเท้าโคผู้ลากเกวียนไปอยู่ ฉะนั้น" ฯ สูตรนี้ ชื่อว่า สังกิเลสภาคิยสูตร พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า"เมื่อใด บุคคลเป็นผู้บริโภคมาก มักง่วงซึม นอนหลับ พลิกกลับไปมา ดุจสุกรใหญ่ อันบุคคลปรนปรือเหยื่อ เมื่อนั้น บุคคลนั้น เป็นคนเขลาย่อมเข้าห้องบ่อย ๆ" ดังนี้สูตรนี้ ชื่อว่า สังกิเลสภาคิยสูุตร พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า"สนิมเกิดขึ้นแต่เหล็ก ครั้นเกิดขึ้นแต่เหล็กแล้ว ย่อมกัดเหล็กนั่นแหละฉันใด กรรมของตน ย่อมนำบุคคลผู้มีปกติประพฤติล่วงปัญญา ชื่อ โธนาไปสู่ทุคติ ฉันนั้น" ดังนี้สูตรนี้ ชื่อว่า สังกิเลสภาคิยสูุตร พระรัฏฐบาลเถระได้ภาษิตไว้ว่า"โจร ผู้มีธรรมอันชั่วช้า ถูกเขาจับได้พร้อมทั้งของกลาง ย่อมเดือดร้อนและถูกจับเพราะกรรมของตน ฉันใด หมู่สัตว์ผู้มีธรรมอันชั่วช้านี้ละไปแล้ว ย่อมเดือดร้อนและถูกจับไปในปรโลกเพราะกรรมของตนฉันนั้น" ดังนี้สูตรนี้ ชื่อว่า สังกิเลสภาคิยสูุตร พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า"ผู้ใด แสวงหาความสุขเพื่อตน ย่อมเบียดเบียนสัตว์ทั้งหลายผู้ใคร่ความสุขด้วยอาชญา ผู้นั้นย่อมไม่ได้ความสุขในโลกหน้า" ดังนี้สูตรนี้ ชื่อว่า สังกิเลสภาคิยสูตร พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า"เมื่อฝูงโคข้ามแม่น้ำอยู่ ถ้าโคผู้นำไปคดไซร้ โคเหล่านั้นทั้งหมดย่อมไปคด เพราะมีผู้นำไปคด ในหมู่มนุษย์ก็เหมือนกัน ผู้ใด ได้สมมติให้เป็นผู้นำ ถ้าผู้นั้นประพฤติอธรรมไซร้ จะกล่าวไปใยถึงปวงประชาเหล่านี้ก็ย่อมประพฤติอธรรมเหมือนกัน แว่นแคว้นทั้งหมด จะประสบความทุกข์เพราะผู้นำไม่ตั้งอยู่ในธรรม" ดังนี้สูตรนี้ ชื่อว่า สังกิเลสภาคิยสูตร พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า"มนุษย์เหล่านี้ มีรูปอันถึงความลำบากแล้วหนอ ยินดีในอุปธิทั้งหลายแล้ว ย่อมทำบาป มนุษย์เหล่านั้น ย่อมไปสู่นรกอเวจีอันน่ากลัว อันเป็นที่อยู่ของชนหมู่มาก" ดังนี้สูตรนี้ ชื่อว่า สังกิเลสภาคิยสูุตรพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า"ผลกล้วยย่อมฆ่าต้นกล้วย ขุยไผ่ย่อมฆ่าต้นไผ่ ดอกอ้อย่อมฆ่าต้นอ้อ ลูกม้าอัสสดรย่อมฆ่าแม่ม้าอัสสดร ฉันใด สักการะย่อมฆ่าบุรุษชั่วฉันนั้น" ดังนี้สูตรนี้ ชื่อว่า สังกิเลสภาคิยสูุตรพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า"ภิกษุ เป็นผู้หนักในความโกรธและความลบหลู่ในคุณของผู้อื่นหนักในลาภและสักการะ ย่อมไม่งอกงามในพระสัทธรรม เหมือนเมล็ดพืชเน่าที่บุคคลหว่านแล้ว แม้ในนาดี ฉะนั้น" ดังนี้สูตรนี้ ชื่อว่า สังกิเลสภาคิยสูตร [91] พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า"ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรากำหนดใจด้วยใจอย่างนี้แล้ว ย่อมรู้ชัดบุคคลบางคนในโลกนี้ ผู้มีจิตอันโทษประทุษร้ายแล้วว่า บุคคลนี้แล ย่อมเคลื่อนย่อมดำเนินไปในทางที่ผิด ถ้าบุคคลนี้ พึงทำกาละในสมัยนี้ พึงตกนรกเหมือนถูกนำไปขังไว้ในนรก ข้อนี้เพราะเหตุอะไร เพราะจิตของเขาอันโทษประทุษร้ายแล้ว ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็เพราะจิตประทุษร้ายเป็นเหตุแลเมื่อกายแตกตายไป ย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก" ดังนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสเนื้อความนี้ไว้แล้ว ในพระสูตรนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสคาถาประพันธ์ ดังนี้ว่า"พระพุทธเจ้าทรงทราบบุคคลบางคนในโลกนี้ ผู้มีจิตอันโทษประทุษร้ายแล้ว ได้พยากรณ์เนื้อความนี้แก่ภิกษุทั้งหลายในสำนักของพระองค์ว่าถ้าในสมัยนี้ บุคคลพึงทำกาละไซร้ เขาพึงเข้าถึงนรก เพราะจิตของเขาขุ่นมัว เขาเป็นอย่างนั้น เหมือนถูกนำมาทอดทิ้งไว้ฉะนั้น สัตว์ทั้งหลายย่อมไปสู่ทุคติเพราะเหตุที่จิตขุ่นมัว บุคคลนั้นมีปัญญาทราม ย่อมเข้าถึงนรกเพราะกายแตก" ดังนี้เนื้อความแม้นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแล้ว เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้ว ฉะนี้แล ฯ สูตรนี้ ชื่อว่า สังกิเลสภาคิยสูตร พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า"ถ้าท่านทั้งหลายกลัวต่อความทุกข์ ถ้าความทุกข์ไม่เป็นที่รักของท่านทั้งหลายไซร้ ท่านทั้งหลายอย่าได้ทำบาปกรรมทั้งในที่แจ้งหรือในที่ลับถ้าท่านทั้งหลายจักทำหรือทำอยู่ซึ่่งบาปกรรมไซร้ ท่านทั้งหลายแม้จะเหาะหนีไป ก็ย่อมไม่พ้นไปจากความทุกข์" ดังนี้สูตรนี้ ชื่อว่า สังกิเลสภาคิยสูตร พระสูตรใดที่กล่าวไว้ว่า"คนพาลเหล่าใด ได้ทรัพย์โดยไม่เป็นธรรม และด้วยการพูดเท็จย่อมสำคัญทรัพย์ทั้ง 2 นั้น ว่าเป็นของเราดังนี้ ทรัพย์นั้นของคนพาลเหล่านั้น จักมีโดยประการใดหนอ อันตรายทั้งหลายจักมี ทรัพย์อันคนพาลนั้นรวบรวมไว้จักพินาศ เมื่อตาย ย่อมไม่ไปสุคติ เพราะอันความเสื่อมในโลกนี้และโลกหน้าขจัดแล้ว" ดังนี้สูตรนี้ ชื่อว่า สังกิเลสภาคิยสูตร พระสูตรใดที่กล่าวไว้ว่า"คนพาลย่อมทำลายตนอย่างไร ย่อมเสื่อมจากมิตรทั้งหลายอย่างไรคนพาลนั้นย่อมไม่เจริญเพราะธรรมอะไร ย่อมไม่ไปสู่สุคติ เพราะอะไร คนพาลย่อมทำลายตนเพราะโลภะ คนโลภย่อมเสื่อมจากมิตรทั้งหลาย ย่อมไม่เจริญเพราะโลภะ ย่อมไม่ไปสุคติเพราะโลภะ" ดังนี้แม้สูตรนี้ ชื่อว่า สังกิเลสภาคิยสูตร พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า"คนพาลมีปัญญาทราม มีตนเหมือนข้าศึก เที่ยวทำบาปกรรมอันมีผลเผ็ดร้อน บุคคลทำกรรมใดแล้ว ย่อมเดือดร้อนในภายหลัง กรรมนั้นทำแล้วไม่ดี บุคคลมีหน้าชุ่มด้วยน้ำตา ร้องไห้อยู่ ย่อมเสพผลของกรรมใดกรรมนั้นทำแล้ว ไม่ดี" ดังนี้สูตรนี้ ชื่อว่า สังกิเลสภาคิยสูตร เทวดากล่าวว่า "ธรรมของสมณะ คนไม่ฉลาด ทำได้ยาก ทนได้ยาก เพราะธรรมของสมณะนั้น มีความลำบากมาก ในความเป็นแห่งสมณะ เป็นที่ติดขัดข้องของคนพาล" ดังนี้สูตรนี้ ชื่อว่า สังกิเลสภาคิยสูุตร คำกล่าวว่า "จริงอยู่ บุคคลใด เมื่อพระตถาคตกำลังแสดงอรรถะและธรรมะ เป็นคนพาลย่อมยังใจให้ประทุษร้าย ชีวิตของบุคคลนั้นย่อมเป็นโมฆะแลก็บุคคลใด ยังไม่ปราศจากราคะ ย่อมยังจิตให้ประทุษร้ายในพระตถาคตผู้มีคุณไม่มีประมาณ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ย่อมติเตียนคนนั้นว่าเป็นผู้มีทุกข์ และมีบาปยิ่งกว่าทุกข์นั้น" ดังนี้สูตรนี้ ชื่อว่า สังกิเลสภาคิยสูตร สุทธาวาสพรหม ปรารภพระกตโมรกติสสกะ ได้กล่าวคาถานี้ ในสำนักพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า"ใครเล่า ผู้มีปัญญาในโลกนี้ จะพึงกำหนดวัดซึ่งพระขีณาสพผู้มีคุณไม่มีประมาณได้ ข้าพระองค์ย่อมเห็นผู้นั้นว่า ไม่มีธุตธรรม ไม่มีปัญญา วัดอยู่ซึ่งพระขีณาสพผู้อันบุคคลไม่พึงประมาณ" ดังนี้สูตรนี้ ชื่อว่า สังกิเลสภาคิยสูตร ตุทุปัจเจกพรหมได้กล่าวกะโกกาลิกภิกษุว่า "คนพาล เมื่อกล่าวคำทุพภาษิต ชื่อว่า ย่อมตัดตนด้วยศาสตราใด ก็ศาสตรานั้น ย่อมเกิดในปากของบุรุษผู้เกิดแล้ว จริงอยู่ ศาสตราที่เขาลับดีแล้ว ยาพิษที่มีพิษกล้าย่อมเป็นไปโดยประการใด วาจาทุพภาษิต ย่อมยังสัตว์ผู้ทำผิดให้ตกไป โดยประการนั้น หามิได้ เพราะวาจาทุพภาษิตนั้นย่อมให้ตกไปในอบาย" ดังนี้สูตรนี้ ชื่อว่า สังกิเลสภาคิยสูตร [92] ตุทุปัจเจกพรหมกล่าวต่อไปว่า"ผู้ใด สรรเสริญผู้ที่ควรติหรือติผู้ที่ควรสรรเสริญ ผู้นั้น ชื่อว่าสั่งสมโทษด้วยปาก เพราะโทษนั้น เขาย่อมไม่ประสบความสุข ความปราชัยด้วยทรัพย์ ในเพราะการพนันทั้งหลาย พร้อมด้วยสิ่งของอันเป็นของตนทั้งหมดก็ดี พร้อมด้วยตนก็ดี ก็เป็นโทษเพียงเล็กน้อย บุคคลใดทำใจให้ประทุษร้าย ในท่านทั้งหลายผู้ดำเนินไปโดยชอบ ความประทุษร้ายแห่งใจของบุคคลนั้น เป็นโทษใหญ่กว่า บุคคลตั้งวาจาและใจอันลามกไว้ เป็นผู้มักติเตียนพระอริยเจ้าย่อมเข้าถึงนรก ซึ่งมีประมาณแห่งอายุถึงแสนสามสิบหกนิรัพพุทะกับห้าอัพพุทะ" ดังนี้สูตรนี้ ชื่อว่า สังกิเลสภาคิยสูตร พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสประพันธ์คาถาว่า"ผู้ประกอบเนือง ๆ ในคุณคือความโลภ ไม่มีศรัทธา กระด้างคือห้ามคนอื่นไม่ให้ทำทาน ไม่รู้ความประสงค์ของผู้ขอ มีความตระหนี่ ประกอบเนือง ๆ ในคำส่อเสียด ย่อมบริภาษผู้อื่นด้วยวาจาแน่ะคนผู้มีปากเป็นหล่มกล่าวคำอันไม่จริง แน่ะอสัตบุรุษ ผู้กำจัดความเจริญ ผู้ลามก ผู้กระทำความชั่ว ผู้เป็นบุรุษอธรรม เป็นคนกลี เป็นอวชาติ ท่านอย่าได้พูดมากในที่นี้ อย่าเป็นสัตว์นรกท่านย่อมเกลี่ยธุลีคือกิเลสลงในตน ผู้กระทำกรรมมิใช่ประโยชน์เกื้อกูล ผู้กระทำกรรมหยาบ ย่อมติเตียนสัตบุรุษ ท่านประพฤติทุจริตเป็นอันมากแล้ว ย่อมไปสู่นรกสิ้นกาลนาน" ดังนี้สูตรนี้ ชื่อว่า สังกิเลสภาคิยสูตร ==วาสนาภาคิยสูตร== [93] ในพระสูตร 16 นั้น สูตรชื่่อว่า วาสนาภาคิยะเป็นไฉน พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า"ธรรมทั้งหลายมีใจเป็นหัวหน้า มีใจประเสริฐที่สุด สำเร็จแล้วแต่ใจถ้าบุคคลมีใจผ่องใส กล่าวอยู่ก็ตาม กระทำอยู่ก็ตาม สุขย่อมไปตามบุคคลนั้น เพราะสุจริต 3 อย่างนั้น เหมือนเงามีปกติไปตามตัว ฉะนั้น" ดังนี้สูตรนี้ ชื่อว่า วาสนาภาคิยสูตร เจ้ามหานามศากยราช ได้กราบทูลคำนี้ต่อพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า"ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระนครกบิลพัสดุ์นี้ เป็นพระนครมั่งคั่งเจริญรุ่งเรือง มีผู้คนมาก แออัดไปด้วยมนุษย์ มีถนนคับแคบ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันนั่งใกล้ (เยี่ยมเยียน) พระผู้มีพระภาคเจ้าหรือนั่งใกล้ภิกษุทั้งหลาย ผู้เป็นที่เจริญใจแล้ว เมื่อเข้าไปยังพระนครกบิลพัสดุ์ในเวลาเย็น ย่อมไม่เข้าไปพร้อมกับช้าง ม้า รถ เกวียน และแม้กับบุรุษสมัยนั้น หม่อมฉันลืมสติที่ปรารภถึงพระผู้มีพระภาคเจ้า พระธรรมพระสงฆ์ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันมีความดำริว่า ถ้าในเวลาเย็นเราพึงทำกาละ คติของเราจะเป็นอย่างไร อภิสัมปรายภพจะเป็นอย่างไร"พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า"ขอถวายพระพร มหาบพิตรอย่ากลัวเลย ๆ การสวรรคตอันไม่เลวทรามจักมีแก่มหาบพิตร กาลกิริยาอันไม่เลวทรามจักมีแก่มหาบพิตรดูกรมหาบพิตร อริยสาวกผู้ประกอบด้วยธรรม 4 ประการ ย่อมเป็นผู้น้อมไปสู่นิพพาน โน้มไปสู่นิพพาน โอนไปสู่นิพพาน ธรรม 4 ประการเป็นไฉน อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหว ในพระพุทธเจ้าว่า อิติปิโส ภควา อรหํ ฯลฯ พุทฺโธ ภควา ดังนี้เป็นผู้ประกอบด้วยความเลื่อมใส อันไม่หวั่นไหวในพระธรรม ฯลฯ ในพระสงฆ์ ฯลฯ ประกอบด้วยศีลที่พระอริยเจ้าใคร่แล้วไม่ขาด ฯลฯ เป็นไปเพื่อสมาธิทั้งหลาย ดูกรมหาบพิตร เปรียบเหมือนต้นไม้ ที่น้อมไป โน้มไปโอนไป ทางทิศปราจีน เมื่อรากขาดแล้ว จะพึงล้มไปทางไหน" "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็พึงล้มไปทางต้นไม้น้อมไป โน้มไป โอนไป พระเจ้าข้า""ดูกรมหาบพิตร ฉันนั้นเหมือนกัน อริยสาวก ผู้ประกอบด้วยธรรม 4เหล่านี้แล ย่อมเป็นผู้น้อมไปสู่พระนิพพาน โน้มไปสู่พระนิพพาน โอนไปสู่พระนิพพาน ขอถวายพระพร มหาบพิตรอย่ากลัวเลย การสวรรคตอันไม่เลวทรามจักมีแก่มหาบพิตร กาลกิริยาอันไม่เลวทรามจักมีแก่มหาบพิตร" ดังนี้สูตรนี้ ชื่อว่า วาสนาภาคิยสูตร พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า"ผู้ใด แสวงหาความสุขเพื่่อตน ย่อมไม่เบียดเบียนสัตว์ทั้งหลายผู้ใคร่กามสุขด้วยอาชญา ผู้นั้นย่อมได้รับความสุขในโลกหน้า" ดังนี้สูตรนี้ ชื่อว่า วาสนาภาคิยสูตร พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า"เมื่อฝูงโคข้ามแม่น้ำอยู่ ถ้าโคผู้นำไปตรงไซร้ โคเหล่านั้นทั้งหมดย่อมไปตรง เพราะมีผู้นำไปตรง ในหมู่มนุษย์ก็เหมือนกัน ผู้ใด ได้รับสมมติให้เป็นผู้ประเสริฐสุด (พระราชา) ถ้าผู้นั้นประพฤติธรรมไซร้ จะป่วยกล่าวไปใยถึงปวงประชานอกนี้ ก็ย่อมประพฤติธรรมเหมือนกัน ชาวแว่นแคว้นทั้งหมดจะประสบความสุข เพราะพระราชาตั้งมั่นอยู่ในธรรม" ดังนี้สูตรนี้ ชื่อว่า วาสนาภาคิยสูุตร [94] พระผู้มีพระภาคเจ้า ประทับอยู่พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี ครั้งนั้นแล ภิกษุมากรูปย่อมกระทำจีวรกรรมเพื่อพระผู้มีพระภาคเจ้า ด้วยคิดว่าพระผู้มีพระภาคเจ้ามีจีวรสำเร็จแล้ว จะเสด็จจาริกไปโดยล่วงสามเดือน ก็สมัยนั้น พวกช่างไม้นามว่า อิสิทัตตะและปุราณะ อาศัยอยู่ในเมืองสาเกตด้วยกิจอย่างใดอย่างหนึ่ง พวกเขาทั้ง 2 นั้น ได้ข่าวว่า "ได้ยินว่า ภิกษุมากรูปย่อมกระทำจีวรกรรม เพื่่อพระผู้มีพระภาคเจ้า ด้วยคิดว่า พระผู้มีพระภาคเจ้ามีจีวรสำเร็จแล้ว จะเสด็จจาริกไปโดยล่วงสามเดือน" ดังนี้ครั้งนั้นแล ช่างไม้นามว่า อิสิทัตตะและปุราณะ จึงวางบุรุษไว้ในหนทางโดยสั่งว่า ดูก่อนบุรุษผู้เจริญ ท่านเห็นพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จมาในเวลาใด พึงบอกพวกเราในเวลานั้น ดังนี้ บุรุษนั้นยืนอยู่ที่นั้น 2-3 วัน ได้เห็นพระผู้มีพระภาคเจ้า เสด็จมาแต่ไกล จึงเข้าไปหาช่างไม้ทั้ง 2 นั้น แล้วบอกว่า ท่านผู้เจริญทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า กำลังเสด็จมา ขอพวกท่านจงทราบกาลอันควรในบัดนี้เถิด ดังนี้ ครั้งนั้นแล ช่างไม้ทั้ง 2 นามว่า อิสิทัตตะและปุราณะ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ได้ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว เดินตามพระผู้มีพระภาคเจ้าไปข้างพระปฤษฎางค์ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแวะจากหนทาง เสด็จเข้าไปยังโคนไม้แห่งหนึ่ง แล้วประทับนั่งบนอาสนะที่เขาปูลาดถวาย ช่างไม้ทั้ง 2 นามว่า อิสิทัตตะและปุราณะ อภิวาทพระผู้มีพระภาคเจ้า แล้วนั่ง ณ ที่่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูลว่า"ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เวลาใด พวกข้าพระองค์ ได้ฟังข่าวพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า จักเสด็จจาริกจากพระนครสาวัตถีไปในโกศลชนบท เวลานั้น พวกข้าพระองค์มีความเสียใจ น้อยใจว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าจักห่างพวกเราไป เวลาใด ได้ข่าวว่าพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จจาริกจากพระนครสาวัตถี ไปในโกศลชนบทแล้ว เวลานั้น พวกข้าพระองค์มีความเสียใจน้อยใจว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าห่างพวกเราไปแล้ว" ดังนี้ ฯลฯ "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เวลาใด พวกข้าพระองค์ ได้ฟังข่าวพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า จักเสด็จจาริกจากแคว้นกาสีไปในมคธ เวลานั้น พวกข้าพระองค์มีความเสียใจ น้อยใจว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าจักห่างพวกเราไปเวลาใด ได้ข่าวว่าพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จจาริกจากแคว้นกาสีไปในมคธแล้ว เวลานั้น พวกข้าพระองค์ มีความเสียใจ น้อยใจว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าห่างพวกเราไปแล้ว" ดังนี้ ฯลฯ "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เวลาใด พวกข้าพระองค์ ได้ฟังข่าวพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า จักเสด็จจาริกจากมคธไปในกาสี เวลานั้น พวกข้าพระองค์มีความดีใจปลื้มใจว่า พระผู้มีพระภาคเจ้า จักใกล้พวกเรา ก็เวลาใด ได้ข่าวว่าพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จจาริกจากมคธไปในกาสีแล้ว ดังนี้ พวกข้าพระองค์มีความดีใจ ปลื้มใจว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าใกล้พวกเราแล้ว"ดังนี้ ฯลฯ "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เวลาใด พวกข้าพระองค์ ได้ฟังข่าวพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า จักเสด็จจาริกจากโกศลไปสู่พระนครสาวัตถี เวลานั้นพวกข้าพระองค์มีความดีใจปลื้มใจว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าจักใกล้พวกเราดังนี้ เวลาใด พวกข้าพระองค์ได้ข่าวว่าพระผู้มีพระภาคเจ้า พระองค์ทรงประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี ดังนี้ พวกข้าพระองค์มีความดีใจมากปลื้มใจมากว่าพระผู้มีพระภาคเจ้า ใกล้พวกเราแล้ว" ดังนี้พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า"ดูกรช่างไม้ทั้งหลาย เพราะฉะนั้นแหละ ฆราวาสคับแคบ เป็นทางแห่งธุลี บรรพชาชื่อว่า โอกาสอันว่าง เพราะอรรถะว่า ไม่มีปลิโพธเป็นเครื่องกังวล ดูกรช่างไม้ทั้งหลาย ก็การที่ท่านทั้งหลายผู้อยู่ครองเรือนมีความคับแคบอย่างนี้ สมควรแล้ว เพื่อทำความไม่ประมาท""ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ความคับแคบอย่างอื่น ที่เป็นความคับแคบกว่า และที่นับว่าคับแคบยิ่งกว่าความคับแคบนี้ มีอยู่หนอ""ดูกรนายช่างไม้ ความคับแคบของท่าน เป็นไฉน""ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานพระวโรกาส เมื่อใดพระเจ้าปเสนทิโกศล มีพระราชประสงค์จะเสด็จออกไปยังพระราชอุทยาน เมื่อนั้นข้าพระองค์ทั้งหลายต้องกำหนดช้างที่ขึ้นทรงของพระเจ้าปเสนทิโกศลแล้วให้พระชายาที่โปรดปราน ที่พอพระทัยของพระเจ้าปเสนทิโกศลประทับข้างหน้าพระองค์หนึ่ง ข้างหลังพระองค์หนึ่ง กลิ่นของพระชายาเหล่านั้นเป็นอย่างนี้ คือ เหมือนกลิ่นของนางราชกัญญาผู้ประพรมด้วยของหอม ดังขวดน้ำหอมที่เขาเปิดในขณะนั้น ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ กายสัมผัสของพระชายาเหล่านั้น เป็นอย่างนี้ คือ เหมือนกายสัมผัสของนางราชกัญญาผู้ดำรงอยู่ด้วยความสุข ดังปุยนุ่น หรือปุยฝ้าย ก็ในสมัยนั้น แม้ช้างข้าพระองค์ทั้งหลายก็ต้องระวัง แม้ชายาทั้งหลาย พวกข้าพระองค์ก็ต้องระวังแม้พระเจ้าปเสนทิโกศลเล่า พวกข้าพระองค์ก็ต้องระวัง แม้ตัวข้าพระองค์ทั้งหลายก็ต้องระวัง ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พวกข้าพระองค์ไม่รู้ว่า จิตอันลามก บังเกิดขึ้นในพระชายาเหล่านั้นเลย ข้อนี้แล คือ ความคับแคบอย่างอื่นที่คับแคบกว่า และที่นับว่าเป็นความคับแคบยิ่งกว่าความคับแคบ" ดังนี้พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า"ดูกรช่างไม้ทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นแหละการครองเรือนจึงคับแคบเป็นทางมาแห่งธุลี บรรพชาเป็นทางปลอดโปร่ง ดูกรช่างไม้ ก็การอยู่ครองเรือนคับแคบ เป็นทางมาแห่งธุลีอย่างนี้ สมควรแล้วเพื่อทำความไม่ประมาท" "ดูกรช่างไม้ทั้งหลาย อริยสาวกประกอบด้วยธรรม 4 ประการย่อมเป็นพระโสดาบัน มีความไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา เป็นผู้เที่ยงที่จะตรัสรู้ข้างหน้า" "ธรรม 4 ประการเป็นไฉน ดูกรนายช่างไม้ อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ ประกอบด้วยความเลื่่อมใสอันไม่หวั่นไหว ในพระพุทธเจ้าว่า แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น ฯลฯ ในพระธรรม ฯลฯ ในพระสงฆ์ ฯลฯ มีใจปราศจากมลทินคือความตระหนี่ อยู่ครองเรือน มีจาคะอันปล่อยแล้ว มีฝ่ามืออันชุ่ม ยินดีในการสละ ควรแก่การขอ ยินดีในการจำแนกทาน กระทำการเฉลี่ยไทยธรรม ดูกรนายช่างไม้ทั้งหลายอริยสาวก ผู้ประกอบด้วยธรรม 4 ประกากรเหล่านี้แล เป็นพระโสดาบันมีความไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา เป็นผู้เที่ยงที่จะตรัสรู้ในเบื้องหน้า" "ดูกรนายช่างไม้ทั้งหลาย ท่านทั้งหลายประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้า ฯลฯ ในพระธรรม ฯลฯ ในพระสงฆ์ ฯลฯ ก็ไทยธรรมสิ่งใดสิ่งหนึ่งมีอยู่ในตระกูล ท่านเฉลี่ยไทยธรรมนั้นทั้งหมด กับผู้มีศีล มีกัลยาณธรรม ท่านทั้งหลาย จะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ชนเหล่าใด เป็นผู้มีศีล เป็นต้น มีประมาณเท่าไร ในแคว้นโกศล ชนเหล่านั้นท่านพึงแบ่งทำให้เสมอกันจำแนกทาน" ดังนี้"ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เป็นลาภของข้าพระองค์ทั้งหลาย ข้าพระองค์ได้ดีแล้ว ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบพฤติการณ์อย่างนี้ของข้าพระองค์ทั้งหลาย" ดังนี้สูตรนี้ ชื่่อว่า วาสนาภาคิยสูตร [95] พระสูตรใดที่กล่าวว่า "เราสละดอกไม้เพียงดอกเดียวบูชาแล้ว ก็ได้ท่องเที่ยวไปในเทวดาและมนุษย์ทั้งหลายตลอดหมื่นล้านกัป ด้วยวิบากที่เหลือเป็นผู้ปรินิพพานแล้ว" ดังนี้สูตรนี้ ชื่่อว่า วาสนาภาคิยสูตร พระสันธิตเถระกล่าวคาถาว่า"เราเป็นผู้มีสติ ได้อนิจจสัญญา ที่เป็นไปในพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่ง ที่่ต้นอัสสัตถพฤกษ์อันพระรัศมีนำมาแล้ว ถอยไป 30 กัปแห่งภัททกัปนี้ เราย่อมไม่รู้จักทุคติ วิชชา 3 เรากระทำให้แจ้งแล้ว เพราะการอบรมสัญญาอันเป็นไปในพระพุทธเจ้านั้น" ดังนี้สูตรนี้ ชื่่อว่า วาสนาภาคิยสูตร พระสูตรใดที่กล่าวไว้ว่า"พระสัมมาพุทธมุนี ผู้ฆ่าตัณหา เป็นอัครบุคคลผู้อนุเคราะห์ ได้เสด็จเข้าไปยังโกศลบุรี เพื่อทรงรับบิณฑะ ในกาลก่อนกาลแห่งภัตร บุรุษคนหนึ่ง มีเครื่องประดับด้วยดอกไม้นานาชนิดอยู่ในมือ ได้เห็นพระสัมพุทธะผู้อันหมู่แห่งภิกษุกระทำไว้เบื้องหน้า ผู้อันเทวดาและมนุษย์ทั้งหลายบูชาแล้ว กำลังเสด็จเข้าไป โดยทางแห่งพระราชา จึงร่าเริงแล้ว ยังจิตให้เลื่อมใสแล้ว ได้เข้าไปยังสำนักพระสัมพุทธะ บุรุษนั้น ครั้นเข้าไปแล้ว มีความเลื่อมใสจึงกระทำขั้วดอกไม้ให้มีสีสวย อันมีกลิ่นหอม อันเป็นที่รื่่นเริงใจแล้วน้อมไปเพื่อพระสัมพุทธะ ด้วยมือทั้งสองของตน ลำดับนั้นเปลวพระรัศมีอันรุ่งโรจน์ ในภายในแห่งวาจาที่เปล่งออกของพระพุทธเจ้าเป็นสหัสสรังสี ดุจสายฟ้าแลบออกจากกลีบเมฆ สหัสสรังสีออกจากพระรัศมี ไปกระทำประทักษิณสิ้น 3 รอบ ที่พระเศียรแห่งพระพุทธเจ้าผู้เป็นเผ่าพันธ์แห่งพระอาทิตย์ ครั้นทำประทักษิณแล้วก็อันตรธานไปในพระเศียร พระอานนท์เห็นปาฏิหาริย์อันอัศจรรย์ อันไม่เคยมี กระทำให้ขนชูชันนี้แล้ว จึงกระทำผ้าเฉวียงบ่าแล้วได้กราบทูลคำนี้ว่า ข้าแต่พระมหามุนี อะไรเป็นเหตุแห่งการแย้ม ขอพระองค์ทรงพยากรณ์เหตุนั้น ข้าแต่พระมุนี แสงสว่างแห่งธรรมจักมี ขอพระองค์ทรงเปลื้องความสงสัยของข้าพระองค์เถิด ญาณในสัทธรรมทั้งปวงของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์ใด ย่อมเป็นไปทุกเมื่อ พระผู้มีพระภาคเจ้านั้น ทรงข้ามความสงสัยได้ตรัสกับพระอานนท์ผู้มีความสงสัยอย่างนี้ว่า ดูกรอานนท์ บุรุษใด ยังจิตให้เลื่อมใสในเรา บุรุษนั้นจักไม่ไปสู่ทุคติ 84 กัป จักปกครองราชอาณาจักรอันเป็นทิพย์ เป็นเทพมีความงามในเทวดาทั้งหลาย ในมนุษย์จักเป็นจอมราชาในมนุษย์ทั้งหลาย บุคคลนั้น บวชแล้วในภพสุดท้ายจักทำให้แจ้งซึ่งสัจจธรรม 4 หรือจักเป็นพระปัจเจกโพธิ นามว่า วฏังสกะผู้มีราคะอันขจัดแล้ว เมื่อจิตเลื่อมใสในพระตถาคตสัมมาสัมพุทธะ หรือในสาวกของพระตถาคต ทักขิณาย่อมไม่ชื่อว่า มีผลน้อย พระพุทธเจ้าทั้งหลาย อันใคร ๆ ไม่อาจคิดได้ ธรรมของพระพุทธเจ้าทั้งหลายอันใคร ๆไม่อาจคิดได้ เมื่อบุคคลเลื่อมใสในพระพุทธเจ้าและพระธรรมอันใคร ๆไม่อาจคิดได้ ย่อมมีวิบากอันใคร ๆ ไม่อาจคิดได้" ดังนี้สูตรนี้ ชื่อว่า วาสนาภาคิยสูตร [96] พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า"ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรากำหนดรู้จิตด้วยจิต ย่อมรู้บุคคลบางคนในโลกนี้ ผู้มีจิตเลื่อมใสแล้วว่า บุคคลนี้ย่อมดำเนินไปอย่างไร เป็นผู้ดำเนินไปสู่ปฏิปทามีทานเป็นต้น และยังมรรคมีทัสสนะเป็นต้นให้งอกงามแล้วถ้าบุคคลนี้ พึงทำกาละในสมัยนี้ ก็พึงเกิดในสุคติ เหมือนบุคคลเชิญมาไว้ด้วยทานนั้น ด้วยมรรคนั้น ฉะนั้น ข้อนี้เพราะเหตุอะไร เพราะจิตของเขาผ่องใส ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็เพราะเหตุแห่งจิตแล สัตว์บางพวกในโลกนี้เมื่อตายไป ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์" พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสเนื้อความนี้แล้ว ในพระสูตรนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสคาถาประพันธ์ดังนี้ว่า "พระพุทธเจ้า ทรงทราบบุคคลบางคนในโลกนี้ ผู้มีจิตผ่องใส ได้พยากรณ์เนื้อความนี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ในสำนักพระองค์ว่า ถ้าในสมัยนี้บุคคลนี้พึงทำกาละไซร้ บุคคลนี้พึงเข้าถึงสุคติ เพราะจิตของเขาผ่องใสเขาเป็นอย่างนั้น เหมือนเชิญมาไว้ เพราะเหตุแห่งจิตผ่องใสแล บุคคลผู้มีปัญญานั้น ย่อมเข้าถึงสุคติ เพราะกายแตกไป" ดังนี้ เนื้อความแม้นี้พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้ว ฉะนี้แล ฯ สูตรนี้ ชื่อว่า วาสนาภาคิยสูตร พระสูตรใดที่กล่าวว่า"ดูกรเทพนารี ท่านขึ้นนั่งบนวิมานเรือ หุ้มไว้ด้วยทองคำ ด้วยบุญกรรม เล่นในสระโบกขรณี เก็บดอกปทุมอยู่ ท่านมีวรรณะเช่นนี้ เพราะบุญอะไร ท่านมีอานุภาพรุ่งเรืองอย่างนี้ เพราะบุญอะไร โภคะทั้งหลายอย่างใดอย่างหนึ่ง อันใจปรารถนาแล้ว ย่อมเกิดแก่ท่าน เพราะบุญอะไรดูกรเทวดา เราขอถามท่าน นี้เป็นผลแห่งกรรมอะไร" เทพนารีนั้น ผู้อันเทวราชถามแล้ว มีใจยินดี (ท่านพระมหาโมคคัลลานะกราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้า) "ข้าพระองค์สดับมาว่า เทวดานั้นผู้อันเทวราชถามปัญหาแล้วได้พยากรณ์ในสำนักแห่งท้าวสักกเทวราชว่า หม่อมฉันเดินทางไกลเห็นพระสถูป อันเป็นที่รื่นรมย์งดงาม ของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่ากัสสปะผู้ทรงยศ ได้ยังใจให้เลื่อมใสในพระสถูปนั้น หม่อมฉันเลื่อมใสแล้วได้บูชาด้วยดอกปทุม ด้วยมือทั้ง 2 ของหม่อมฉัน ผลทั้งปวงนี้เป็นวิบากแห่งกรรมนั้น หม่อมฉันกระทำบุญแล้วจึงได้ผลเช่นนี้" ดังนี้สูตรนี้ ชื่อว่า วาสนาภาคิยสูตร พระสูตรใดที่กล่าวถึงทานและผลแห่งทาน ศีลและผลแห่งศีล สวรรค์และการให้เกิดในสวรรค์ บุญ 10 มีทาน มีศีล และภาวนาเป็นต้น และกล่าวถึงผลแห่งบุญ 10 เหล่านั้น สูตรนี้ ชื่่อว่า วาสนาภาคิยสูตร อีกอย่างหนึ่ง "เมื่อสถูปดินที่เขากระทำอุทิศพระสัมมาสัมพุทธะ บรรจุพระสรีรธาตุไว้ภายใน นระเหล่าใดมีใจเลื่อมใส นระเหล่านั้น พึงทำการนอบน้อมในสถูปแม้นั้นแล้วย่อมบันเทิงในสวรรค์ทั้งหลาย"คำที่กล่าวนี้ก็ชื่อว่า วาสนาภาคิยสูตร [97] พระสูตรใดที่กล่าวว่า"ชนทั้งหมด มีวรรณะเช่นกับเทพบุตร มีสัณฐานงดงาม เพราะทำดินให้ชุ่มด้วยน้ำสร้างสถูปของพระกัสสปสัมมาสัมพุทธะ ข้าแต่ท่านทั้งหลายผู้ดำเนินไปดีแล้ว พระสถูปนี้เป็นของพระสุคต ผู้แสวงหาคุณอันใหญ่ ผู้ทรงไว้ซึ่งพลธรรม 10 ประการ พวกเทวดาและมนุษย์เลื่อมใสในพระสถูปนั้นแล้ว กระทำการนอบน้อมอยู่ จักพ้นจากชรามรณะ" ดังนี้สูตรนี้ชื่อว่า วาสนาภาคิยสูตร สูตรใดที่กล่าวว่า"ข้าพเจ้าได้ยกอุบล 4 ดอก และพวงมาลัยขึ้นสู่สถูปของพระพุทธเจ้าผู้แสวงหาคุณอันใหญ่ บุญนั้น ข้าพเจ้ากระทำแล้ว เป็นบุญโอฬาร(ประเสริฐ) ได้มีแล้วหนอ นับแต่ภัททกัปนี้ถอยไป 30 กัป ข้าพเจ้าไม่รู้จักทุคติ ไม่ไปสู่วินิบาต เพราะบูชาสถูปของพระศาสดา" ดังนี้สูตรนี้ ชื่อว่า วาสนาภาคิยสูตร สูตรใดที่ท่านกล่าวว่า"ข้าพเจ้า ได้บูชาสถูปของพระโลกนาถผู้ชนะมาร ผู้ทรงไว้ซึ่งพระลักษณะ 32 ประการ จึงเป็นผู้มีใจร่าเริงในอายุกัปสิ้นแสนอัตภาพ บุญใดที่ข้าพเจ้ากระทำไว้ ด้วยบุญนั้น ข้าพเจ้าไม่ไปสู่วินิบาตเลย บุญเหล่านั้นได้กระทำสมบัติอันเลิศ และความเป็นพระราชาอันประเสริฐทั้งหลายปัญญาจักษุใด อันข้าพเจ้าตั้งไว้แล้ว ในศาสนาของพระโลกนาถผู้ฝึกคนที่ยังไม่ได้ฝึก วิมุตตจิตใดที่ตั้งไว้อย่างนั้น ปัญญาจักษุและวิมุตตจิตนั้นทั้งหมด ข้าพเจ้าได้แล้ว ข้าพเจ้าเป็นผู้ขจัดตัณหาเพียงดังเครือเถาได้แล้วเป็นผู้พร้อมด้วยผลวิมุตตจิต" ดังนี้สูตรนี้ ชื่อว่า วาสนาภาคิยสูตร [98] สูตรใดที่ท่านกล่าวว่า"ก็ข้าพเจ้าได้ถวายไทยธรรม เพียงข้าวฟ่างและข้าวสุกประมาณทะนานหนึ่ง ในพระปัจเจกพุทธะ ผู้มีจิตหลุดพ้นแล้ว ผู้ไม่กระด้าง (ไม่มีตะปูตรึงใจ) ไม่มีอาสวะ ผู้มีปกติอยู่ด้วยธรรมอันไม่มีข้าศึก ผู้มีใจไม่ข้องข้าพเจ้าเชื่อมั่น ซึ่งปัจเจกธรรมอันสูงสุดในพระปัจเจกพุทธะนั้น ข้าพเจ้าได้ปรารถนาว่า แม้ข้าพเจ้า ก็พึงกระทำให้แจ้งซึ่งธรรมอันพระปัจเจกพุทธะได้แล้ว เมื่อข้าพเจ้า ผู้อันพระปัจเจกพุทธะผู้มีปกติอยู่ด้วยวิหารธรรมอย่างนี้สงเคราะห์แล้ว ข้าพเจ้าอย่าได้มีความอาลัยแม้ในกาลไหน ๆ ด้วยเพราะวิบากกรรมที่กระทำแล้วในพระปัจเจกพุทธะนั้นนั่นแหละ ข้าพเจ้าเข้าถึงอุตตรกุรุทวีปสิ้น 1,000 ครั้ง ข้าพเจ้าเข้าถึงกายอันประเสริฐที่สุดในหมู่บริวารทั้งหลาย ผู้ลูบไล้ประดับด้วยมาลาและอาภรณ์อันวิจิตร เพราะวิบากแห่งกรรมนั้นแหละ ข้าพเจ้ามีจิตหลุดพ้นแล้ว ไม่กระด้าง ไม่มีอาสวะ เป็นผู้มีร่างกายอันทรงไว้ในที่สุด เพราะก้าวล่วงกุศลและอกุศลแล้ว สมาคมของข้าพเจ้าได้มีแล้วแก่พระปัจเจกพุทธะทั้งหลายเหล่านี้ฉะนี้ พระตถาคตชินเจ้า ทรงกระทำให้ประจักษ์แล้ว ได้ตรัสคำว่า "สิ่งใดอันผู้มีศีลปรารถนาแล้ว สิ่งนั้นย่อมสำเร็จ" ดังนี้ ข้าพเจ้า คิดด้วยใจโดยประการใด ๆ ความสำเร็จโดยประการนั้นย่อมมี ภพนี้เป็นภพมีในที่สุดของข้าพเจ้า" ดังนี้สูตรนี้ ชื่อว่า วาสนาภาคิยสูตร พระสูตรใดที่กล่าวไว้ว่า"ในกัปที่ 31 พระผู้มีพระภาคเจ้า พระนามว่าสิขี เป็นพระชินเจ้า ผู้ไม่มีกิเลสเป็นเหตุให้หวั่นไหว ผู้มีปกติเห็น (ทรงทราบ) หาที่สุดมิได้ พระราชาผู้เป็นพระภาดาของพระผู้มีพระภาคเจ้าแม้นั้น ทรงเลื่อมใสยิ่งในพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่าสิขี และในพระธรรมของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น เมื่อพระพุทธเจ้าผู้นำวิเศษของโลกปรินิพพานแล้ว ได้ทรงกระทำพระสถูปใหญ่กว้างขวางประมาณหนึ่งคาวุตโดยรอบ เพื่อพระมเหสีพุทธเจ้า ผู้สูงสุดกว่านระ ผู้เป็นเทพยิ่งกว่าเทพ มนุษย์ผู้มีปกตินำวัตถุมาบูชาพระสถูปนั้น มีใจร่าเริง ประคองดอกมะลิซ้อนบูชา ดอกมะลิดอกหนึ่งของคนนั้นถูกลมพัดตกไปแล้ว ข้าพเจ้าเก็บดอกมะลินั้นนั่นแหละมนุษย์นั้น ผู้มีความสำเร็จด้วยดอกไม้ มีใจเลื่อมใสยิ่ง ได้กล่าวกะข้าพเจ้าว่าเราให้ดอกไม้นั้นแก่ท่านนั่นแหละ ข้าพเจ้าถือเอาดอกไม้ดอกเดียวนั้นตั้งใจมั่นในการกำหนดพระสถูปนั้น ตามระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้าบ่อย ๆ ตั้งแต่ 30 กัป จนถึงภัททกัปนี้ ข้าพเจ้า ไม่รู้จักทุคติ และย่อมไม่ไปสู่วินิบาต นี้เป็นผลแห่งการบูชาพระสถูป" ดังนี้สูตรนี้ ชื่อว่า วาสนาภาคิยสูตร พระสูตรใดที่กล่าวว่า"พระนครชื่่อว่ากปิละ ของพระราชาพระนามว่า พรหมทัต เป็นพระนครมีทางใหญ่ ที่เขาจัดไว้ดีแล้ว มีมนุษย์เกลื่อนก่น เป็นพระนครมั่งคั่งรุ่งเรือง ในพระนครอันประเสริฐนั้น ข้าพเจ้า ขายขนมกุมมาสแห่งแคว้นปัญจาละ ข้าพเจ้านั้นได้เห็นพระปัจเจกสัมพุทธะพระนามว่า อริฏฐะผู้มียศ ผู้ยืนอยู่ในเบื้องบน (เวหาส) เป็นผู้ร่าเริงแล้ว ยังจิตให้เลื่อมใสแล้วนิมนต์พระอริฏฐะ ผู้สูงสุดแห่งนระ ด้วยธุวภัตรที่มีอยู่ในเรือนของข้าพเจ้าก็ในกาลนั้น เป็นเดือนกัตติกา ใกล้วันปัณณรสี ข้าพเจ้าถือเอาคู่แห่งผ้าใหม่ น้อมเข้าไปถวายพระปัจเจกพุทธะอริฏฐะ ในกาลนั้น พระมุนีปัจเจกพุทธะ ผู้สูงสุดแห่งนระ ผู้อนุเคราะห์ ผู้กรุณา ผู้ฆ่าตัณหา ทราบว่าข้าพเจ้ามีจิตเลื่อมใสแล้วรับเอา ข้าพเจ้านั้น ครั้นกระทำกรรมดีที่พระพุทธเจ้าทรงสรรเสริญแล้ว จึงท่องเที่ยวไปในเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เคลื่อนจากเทวโลกนั้น เกิดเป็นบุตรคนเดียวของเศรษฐี ในตระกูลมั่งคั่งในพระนครพาราณสี เป็นที่รักใคร่กว่าสัตว์มีปาณะทั้งหลาย ในกาลนั้น ข้าพเจ้าถึงความเป็นผู้รู้เดียงสา (ความผิดความชอบ) ผู้อันเทวบุตรตักเตือน จึงลงจากปราสาทเข้าไปเฝ้าพระสัมพุทธะพระนามว่า โคดม พระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่า โคดมนั้น ได้ทรงแสดงแล้วซึ่งธรรมแก่ข้าพเจ้าเพื่ออนุเคราะห์พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้มุนีนั้น ได้ทรงแสดงสัจจธรรม คือ สัจจ 4 เหล่านี้ คือทุกข์ (ทุกขสัจจะ) ความเกิดขึ้นแห่งทุกข์ (สมุทยสัจจะ) การก้าวล่วงซึ่งทุกข์ (นิโรธสัจจะ) และอริยมรรคประกอบด้วยองค์ 8 อันเข้าไปสงบทุกข์(มัคคสัจจะ) ข้าพเจ้าฟังพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้นแล้ว เป็นผู้ยินดีในพระศาสนาอยู่ เป็นผู้ไม่ประมาททั้งกลางวันทั้งกลางคืน แทงตลอดแล้วซึ่งสมถะ อาสวะเหล่าใด ทั้งภายในและภายนอกของข้าพเจ้าในกาลก่อน อาสวะเหล่านั้นทั้งสิ้น อันมรรคตัดขาดแล้ว และจักไม่เกิดขึ้นอีก ทุกข์ย่อมเป็นอันข้าพเจ้ากระทำให้ถึงที่สุดแล้ว อัตภาพนี้มีการท่องเที่ยวไปแห่งความเกิดและความตายได้มีที่สุดแล้ว บัดนี้ ย่อมไม่มีภพใหม่ต่อไป" ดังนี้ สูตรนี้ ชื่อว่า วาสนาภาคิยสูตร ==นิพเพธภาคิยสูตร== [99] ในสูตร 16 นั้น สูตรชื่อว่า นิพเพธภาคิยะ เป็นไฉน พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเปล่งอุทานว่า"บุคคลผู้พ้นวิเศษแล้วในภพทั้งปวง ในเบื้องสูง ในเบื้องต่ำ ไม่ตามเห็นว่า นี้เป็นเรา บุคคลพ้นวิเศษแล้วอย่างนี้ ข้ามได้แล้วซึ่งโอฆะที่ตนยังไม่เคยข้าม เพื่อความไม่เกิดอีก" ดังนี้สูตรนี้ ชื่่อว่า นิพเพธภาคิยสูตร พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า"ดูกรอานนท์ เจตนาของผู้มีศีล ไม่ต้องทำจิตว่า ขอความไม่เดือดร้อนพึงเกิดแก่เราเถิด ดังนี้ ดูกรอานนท์ ข้อที่ความไม่เดือดร้อนของคนมีศีลพึงเกิดขึ้นนี้ย่อมมีเป็นธรรมดา ฯ ดูกรอานนท์ เจตนาอันบุคคลผู้ไม่เดือดร้อน ไม่ต้องกระทำว่า ขอความปราโมชพึงเกิดแก่เราเถิด ดังนี้ดูกรอานนท์ ข้อที่ปราโมชพึงเกิดแก่บุคคลผู้ไม่เดือดร้อนนี้ ย่อมมีเป็นธรรมดา ฯ ดูกรอานนท์ เจตนาอันบุคคลผู้ปราโมช ไม่ต้องกระทำว่าขอปีติพึงเกิดแก่เราเถิด ดังนี้ ดูกรอานนท์ ข้อที่ปีติพึงเกิดแก่บุคคลผู้ปราโมชนี้ ย่อมมีเป็นธรรมดา ฯ ดูกรอานนท์ เจตนาของผู้มีใจประกอบด้วยปีติ ไม่ต้องกระทำว่า ขอกายของเราพึงสงบเถิด ดังนี้ ดูกรอานนท์ข้อที่กายของบุคคลผู้มีใจประกอบด้วยปีตินี้พึงสงบ ย่อมมีเป็นธรรมดา ฯ ดูกรอานนท์ เจตนาของผู้มีกายสงบแล้ว ไม่ต้องกระทำว่า ขอเราพึงเสวยสุขเถิด ดังนี้ ดูกรอานนท์ข้อที่บุคคลผู้ที่มีกายสงบแล้วพึงเสวยสุข ย่อมมีเป็นธรรมดา ฯ ดูกรอานนท์ เจตนาของผู้ที่เสวยสุขแล้ว ไม่ต้องกระทำว่าขอสมาธิพึงเกิด ดังนี้ ดูกรอานนท์ ข้อที่สมาธิพึงเกิดแก่บุคคลผู้มีสุขนี้ย่อมมีเป็นธรรมดา ฯ ดูกรอานนท์ เจตนาของผู้มีใจตั้งมั่นแล้ว ไม่ต้องกระทำว่า ขอเราพึงรู้ตามความเป็นจริงเถิด ดังนี้ ดูกรอานนท์ ข้อที่บุคคลมีจิตตั้งมั่นแล้วพึงรู้ตามความเป็นจริงนี้ ย่อมมีเป็นธรรมดา ฯ ดูกรอานนท์ เจตนาของบุคคลผู้รู้ตามความเป็นจริง ไม่ต้องกระทำว่า ขอนิพพิทาพึงเกิดแก่เราเถิด ดังนี้ ดูกรอานนท์ ข้อที่บุคคลรู้ตามความเป็นจริงพึงเบื่อหน่ายนี้ ย่อมมีเป็นธรรมดา ฯ ดูกรอานนท์ เจตนาอันผู้เบื่อหน่าย ไม่ต้องทำใจว่า ขอวิราคะพึงเกิดแก่เราเถิด ดังนี้ ดูกรอานนท์ ข้อที่ผู้เบื่อหน่ายพึงคลายกำหนัดนี้ ย่อมมีเป็นธรรมดา ฯ ดูกรอานนท์ เจตนาอันบุคคลผู้คลายกำหนัด ไม่ต้องกระทำว่า ขอวิมุตติพึงเกิดแก่เราเถิด ดังนี้ดูกรอานนท์ ข้อที่ผู้คลายกำหนัดพึงหลุดพ้นนี้ ย่อมมีเป็นธรรมดา ฯ ดูกรอานนท์ เจตนาอันบุคคลผู้หลุดพ้นแล้ว ไม่ต้องกระทำว่า ขอวิมุตติญาณทัสสนะพึงเกิดแก่เราเถิด ดังนี้ ดูกรอานนท์ ข้อที่วิมุตติญาณทัสสนะพึงเกิดแก่บุคคลผู้หลุดพ้นแล้วนี้ ย่อมมีเป็นธรรมดา" ดังนี้สูตรนี้ ชื่่อว่า นิพเพธภาคิยสูตร [100] พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเปล่งอุทานว่า"ในกาลใดแล ธรรมทั้งหลายย่อมปรากฏแก่พราหมณ์ ผู้มีความเพียรเพ่งอยู่ ในกาลนั้น ความสงสัยทั้งปวงของพราหมณ์นั้น ย่อมสิ้นไปเพราะรู้แจ้งธรรมพร้อมกับเหตุ" ดังนี้สูตรนี้ ชื่่อว่า นิพเพธภาคิยสูตร พระองค์ทรงเปล่งอุทานครั้งที่ 2 ว่า"ในกาลใดแล ธรรมทั้งหลาย ย่อมปรากฏแก่พราหมณ์ผู้มีความเพียรเพ่งอยู่ ในกาลนั้น ความสงสัยทั้งปวงของพราหมณ์นั้น ย่อมสิ้นไปเพราะได้รู้แจ้งความสิ้นไปแห่งปัจจัยทั้งหลาย" ดังนี้สูตรนี้ ชื่่อว่า นิพเพธภาคิยสูตร พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสคาถาว่า"ดูกร ติสสะ เธอโกรธทำไมหนอ เธออย่าโกรธ ความไม่โกรธ เป็นความประเสริฐของเธอ เพราะบุคคลย่อมประพฤติพรหมจรรย์ เพื่อกำจัดความโกรธ มานะ และความลบหลู่คุณท่าน" ดังนี้สูตรนี้ ชื่่อว่า นิพเพธภาคิยสูตร พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสคาถาว่า"เมื่อไร เราพึงเห็นนันทะ ถืออยู่ป่าเป็นวัตร ถือผ้าบังสุกุลเป็นวัตรยังอัตภาพให้เป็นไป ด้วยโภชนะที่่เจือปนกัน ผู้ไม่อาลัยในกามทั้งหลาย" ดังนี้สูตรนี้ ชื่่อว่า นิพเพธภาคิยสูตร พราหมณ์ภารทวาชโคตร ได้กล่าวว่า"บุคคลฆ่าอะไรซิ ย่อมนอนเป็นสุข ฆ่าอะไร ย่อมไม่เศร้าโศกข้าแต่พระโคดม พระองค์ย่อมชอบใจ ในการฆ่าอะไรเป็นธรรมอันเอก" ดังนี้พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบว่า"บุคคลฆ่าความโกรธ ย่อมนอนเป็นสุข ฆ่าความโกรธได้ ย่อมไม่เศร้าโศก ดูกรพราหมณ์ พระอริยะทั้งหลาย ย่อมสรรเสริญการฆ่าความโกรธ อันมีรากเป็นพิษ มียอดหวาน เพราะการฆ่าความโกรธได้ จึงไม่เศร้าโศก" ดังนี้สูตรนี้ ชื่่อว่า นิพเพธภาคิยสูตร เทวดาทูลถามว่า"ข้าแต่พระโคดม นักปราชญ์ผู้ฆ่า พึงฆ่าอะไรหนอที่ปรากฏ นักปราชญ์ผู้บรรเทา พึงบรรเทาอะไรหนอที่เกิด นักปราชญ์ผู้ละ พึงละอะไรหนอ การตรัสรู้ธรรมอะไรของนักปราชญ์ จึงเป็นสุข" ดังนี้พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า"ดูกรเทพบุตร นักปราชญ์ผู้ฆ่า พึงฆ่าความโกรธ นักปราชญ์ผู้บรรเทา พึงบรรเทาราคะ นักปราชญ์ฺผู้ละ พึงละอวิชชา การตรัสรู้สัจจธรรมเป็นสุข" ดังนี้สูตรนี้ ชื่่อว่า นิพเพธภาคิยสูตร [100] เทวดายืนอยู่ในสำนักพระศาสดากล่าวว่า"ภิกษุผู้มีสติ พึงเว้นรอบ เพื่อละกามราคะ เหมือนบุรุษผู้ถูกประหารด้วยหอกมุ่งถอนหอก และเหมือนบุรุษที่ถูกไฟไหม้บนศีรษะมุ่งดับไฟ ฉะนั้น" ดังนี้พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า"ภิกษุผู้มีสติ พึงเว้นรอบ เพื่อละสักกายทิฏฐิ เหมือนบุรุษถูกประหารด้วยหอก และเหมือนบุรุษที่ถูกไฟไหม้บนศีรษะ ฉะนั้น" ดังนี้สูตรนี้ ชื่่อว่า นิพเพธภาคิยสูตร เทวดายืนในสำนักพระผู้มีพระภาคเจ้ากล่าวว่า"โภคะทั้งปวงที่รวบรวมไว้ มีความสิ้นไปเป็นที่สุด ธรรมทั้งหลายที่เกิดขึ้น มีความตกไปเป็นที่สุด ชีวิตของสัตว์ทั้งปวงไม่ยั่งยืน เพราะสัตว์ทั้งปวงต้องตายเป็นธรรมดา บุคคลเห็นอยู่ซึ่งภัยคือความตายนี้ พึงทำบุญทั้งหลาย อันนำมาซึ่งสุข" ดังนี้พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า"ดูกรเทวบุตร โภคะทั้งปวงที่รวบรวมไว้ มีความสิ้นไปเป็นที่สุดธรรมทั้งหลายที่เกิดขึ้น มีความตกไปเป็นที่สุด ชีวิตของสัตว์ทั้งปวงไม่ยั่งยืน เพราะสัตว์ทั้งปวงต้องตายเป็นธรรมดา บุคคลเห็นอยู่ซึ่งภัย คือ ความตายนี้ พึงละโลกามิสเสีย มุ่งนิพพานอันสงบสังขารทั้งปวง" ดังนี้สูตรนี้ ชื่่อว่า นิพเพธภาคิยสูตร พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า"ดูกรจันทนเทวบุตร จิตของมุนีเหล่าใด ยินดีในฌาน มุนีเหล่านั้นย่อมอยู่เป็นสุข ย่อมไม่เศร้าโศก บุคคลมีปัญญา มีใจตั้งมั่นดีแล้ว ปรารภความเพียร มีจิตส่งไปสู่นิพพาน ย่อมข้ามโอฆะที่ข้ามได้ยาก พระขีณาสพใด เว้นขาดจากกามสัญญา ก้าวล่วงสังโยชน์ทั้งปวง มีความยินดีและภพสิ้นไปแล้ว พระขีณาสพนั้นย่อมไม่จมลงในห้วงน้ำลึก" ดังนี้สูตรนี้ ชื่่อว่า นิพเพธภาคิยสูตร พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบอาฬวกยักษ์ว่า"บุคคลเชื่อธรรมของพระอรหันต์ ไม่ประมาท เป็นผู้ฉลาด เพื่อบรรลุพระนิพพาน พึงฟังอยู่ด้วยดี ย่อมได้ซึ่งปัญญา บุคคลใดมีความเพียรเป็นผู้กระทำเหมาะสม ไม่ทอดธุระ ถึงพร้อมด้วยอุตสาหะ บุคคลนั้นย่อมหาทรัพย์ได้ บุคคลย่อมได้ชื่อเสียงเพราะความสัตย์ บุคคลผู้ให้ย่อมผูกมิตรไว้ได้ บุคคลนั้นแล ละจากโลกนี้ไปสู่ปรโลก ย่อมไม่เศร้าโศก" ดังนี้สูตรนี้ ชื่่อว่า นิพเพธภาคิยสูตร ยักษ์ฝ่ายมารชื่อสักกะกล่าวว่า"ดูกรพระโคดม การสั่งสอนคนอื่นมีเทวดาและมนุษย์ เป็นต้น ไม่เหมาะแก่สมณะเช่นท่าน ผู้ละกิเลสทั้งหมด ผู้พ้นจากไตรภพ" ดังนี้พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า"ดูกรสักกะ ธรรมเครื่องอยู่ร่วมกัน ย่อมเกิดด้วยเหตุอย่างใดอย่างหนึ่ง คนมีปัญญาไม่ควรเพื่ออนุเคราะห์คนอื่นด้วยใจอย่างเดียว ถ้าคนใดมีใจผ่องใสสั่งสอนคนอื่น คนผู้มีใจผ่องใสนั้น ย่อมเป็นผู้ไม่พัวพันด้วยเหตุนั้น นอกจากจะอนุเคราะห์เอ็นดู" ดังนี้สูตรนี้ ชื่่อว่า นิพเพธภาคิยสูตร [102] สูจิโลมยักษ์ทูลถามว่า"ดูกรสมณะ ราคะและโทสะมีอะไรเป็นเหตุ ความไม่ยินดี ความยินดี และความสยดสยองเกิดแต่เหตุอะไร ความตรึกในใจเกิดแต่อะไรแล้วดักจิตไว้ได้ เหมือนพวกเด็กดักกาด้วยเชือกฉะนั้น"พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบว่า"ราคะและโทสะ มีอัตภาพนี้เป็นเหตุ ความไม่ยินดี ความยินดี และความสยดสยอง เกิดแต่อัตภาพ ความตรึกในใจเกิดแต่อัตภาพนี้ แล้วดักจิตไว้ได้ เหมือนพวกเด็กดักกาด้วยเชือก ฉะนั้น อกุศลวิตกเป็นอันมากเกิดแต่ความเยื่อใย คือ ตัณหา เกิดในตนแล้วแผ่ซ่านไปในวัตถุกามทั้งหลาย เหมือนย่านไทรเกิดแต่ลำต้นไทรแล้วแผ่ซ่านไปในป่า ฉะนั้น ชนเหล่าใด ย่อมรู้อัตภาพนั้นว่า เกิดแต่สิ่งใด ชนเหล่านั้น ย่อมบรรเทาเหตุเกิดนั้นเสียได้ ดูกรยักษ์ ท่านจงฟัง ชนเหล่านั้นย่อมข้ามห้วงกิเลสนี้ ซึ่งข้ามได้โดยยากและไม่เคยข้ามในอนมตัคคสงสาร เพื่อความไม่เกิดอีกต่อไป" ดังนี้ สูตรนี้ ชื่่อว่า นิพเพธภาคิยสูตร กามทเทวบุตรกราบทูลว่า"ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ชื่อว่า การกระทำสมณธรรม กระทำได้โดยยาก ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า สมณธรรม กระทำได้ยากอย่างยิ่ง" ดังนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า"ดูกรกามทะ ชนทั้งหลาย ตั้งมั่นแล้วในศีล แห่งพระเสกขะ มีตนตั้งมั่นแล้ว ย่อมกระทำแม้ซึ่งสมณธรรมอันบุคคลกระทำได้โดยยาก ความยินดีของบุคคลผู้เข้าถึงความไม่มีเรือน ย่อมนำสุขมาให้" ดังนี้ กามทเทวบุตรกราบทูลว่า"ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ข้อที่หาได้ยากนี้ คือความสันโดษ(ความยินดี)" ดังนี้พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า"ดูกรกามทะ ชนเหล่าใด ยินดีแล้วในความสงบแห่งจิต ชนเหล่านั้น มีใจยินดีแล้วในความอบรมจิต ทั้งกลางวันทั้งกลางคืน ชนเหล่านั้นย่อมได้แม้ซึ่งสิ่งที่ได้โดยยาก"ดังนี้ กามทเทวบุตรกราบทูลว่า"ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ธรรมชาติที่ตั้งมั่นได้ยากนี้ คือ จิต" ดังนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสว่า"ดูกรกามทะ ชนเหล่าใด ยินดีแล้วในความสงบแห่งอินทรีย์ ชนเหล่านั้น ย่อมตั้งมั่นซึ่งจิตที่ตั้งมั่นได้ยาก ดูกรกามทะ พระอริยะทั้งหลายตัดข่ายแห่งมัจจุแล้ว ย่อมไป" ดังนี้ กามทเทวบุตรกราบทูลว่า"ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ทางที่ไปได้ยาก คือทางที่ไม่เสมอ (โดยมุ่งถึงปฏิปทาอันเป็นส่วนเบื้องต้น)" ดังนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า"ดูกรกามทะ พระอริยะทั้งหลาย ย่อมไปได้ แม้ในทางที่ไม่เสมอ ที่ไปได้ยาก บุคคลผู้มิใช่พระอริยะ ย่อมเป็นผู้บ่ายศีรษะลงเบื้องต่ำ ตกไปในทางอันไม่เสมอ ทางของพระอริยะทั้งหลายสม่ำเสมอ เพราะพระอริยะทั้งหลายเป็นผู้สม่ำเสมอ ในทางอันไม่เสมอ" ดังนี้สูตรนี้ ชื่่อว่า นิพเพธภาคิยสูตร [103] เทวบุตรองค์หนึ่งได้กล่าวคาถาในสำนักพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า"ก็พระเชตวันนี้นั้น อันหมู่แห่งพระฤๅษีพำนักอยู่ พระธรรมราชาก็ประทับอยู่แล้ว เป็นที่ให้เกิดปีติแก่ข้าพระองค์ สัตว์ทั้งหลาย ย่อมบริสุทธิ์ด้วยส่วน 5 นี้ คือ กรรม วิชชา ธรรม ศีล และชีวิตอันอุดม หาได้บริสุทธิ์ด้วยโคตร หรือด้วยทรัพย์ไม่ เพราะเหตุนั้นแหละ บุรุษผู้เป็นบัณฑิตเมื่่อเห็นประโยชน์ของตน พึงเลือกเฟ้นธรรมโดยแยบคายอย่างนี้ จึงจะบริสุทธิ์ในธรรมนั้น พระสารีบุตรรูปเดียวเท่านั้น เป็นผู้ประเสริฐด้วยปัญญา ศีล และธรรมเครื่องสงบระงับ ภิกษุใดเป็นผู้ถึงฝั่่ง ภิกษุนั้นก็มีท่านพระสารีบุตรนี้ เป็นอย่างยิ่ง" ดังนี้สูตรนี้ ชื่่อว่า นิพเพธภาคิยสูตร พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสอุทเทสและวิภังค์นี้ว่า"บุคคล ไม่ควรคำนึงถึงสิ่งที่ล่วงแล้ว (ด้วยตัณหาและทิฏฐิ) ไม่ควรมุ่งหวังถึงสิ่่งที่ยังไม่มาถึง (ด้วยตัณหาและทิฏฐิ) สิ่งใดล่วงไปแล้วสิ่งนั้นก็เป็นอันละไปแล้ว และสิ่งใดที่ยังไม่มาถึงสิ่งนั้นก็เป็นอันยังไม่ถึง ก็บุคคลใดเห็นแจ้งธรรมปัจจุบัน ไม่ง่อนแง่น ไม่คลอนแคลน ในธรรมนั้น ๆ บุคคลนั้นพึงเจริญธรรมนั้นเนือง ๆ ให้ปรุโปร่งเถิด พึงทำความเพียรในวันนี้แหละใครเล่าจะรู้ความตายในวันพรุ่ง เพราะว่าความผัดเพี้ยนกับมัจจุราชผู้มีเสนาใหญ่นั้น ย่อมไม่มีแก่เราทั้งหลาย พระมุนีผู้สงบ ย่อมเรียกบุคคลผู้มีปกติอยู่อย่างนี้ ผู้มีความเพียรไม่เกียจคร้านทั้งกลางวันและกลางคืนนั้นแลว่าผู้มีราตรีหนึ่งเจริญ" ดังนี้สูตรนี้ ชื่่อว่า นิพเพธภาคิยสูตร พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า"ธรรม 4 เหล่านี้ อันบุคคลพึงกระทำให้แจ้ง ธรรม 4 เป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมอันบุคคลพึงกระทำให้แจ้ง ด้วยจักษุและปัญญามีอยู่ธรรมอันบุคคลพึงกระทำให้แจ้งด้วยกายและปัญญา มีอยู่ ธรรมอันบุคคลพึงรู้ด้วยปัญญา และพึงกระทำให้แจ้งด้วยปัญญา มีอยู่ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมอันบุคคลพึงกระทำให้แจ้งด้วยจักษุและปัญญา เป็นไฉน ทิพยจักษุอันหมดจดดีแล้ว อันก้าวล่วงจักษุอันเป็นของมนุษย์นี้แล อันบุคคลพึงกระทำให้แจ้งด้วยจักษุและปัญญา ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมเหล่าไหน อันบุคคลพึงกระทำให้แจ้งด้วยสติและปัญญาปุพเพนิวาสานุสติ อันบุคคลพึงกระทำให้แจ้งด้วยสติและปัญญา ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมเหล่าไหน อันบุคคลพึงกระทำให้แจ้งด้วยกายและปัญญา อิทธิวิธะและนิโรธะ อันบุคคลพึงกระทำให้แจ้งด้วยกายและปัญญา ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมเหล่าไหน อันบุคคลพึงรู้ด้วยปัญญาพึงกระทำให้แจ้งด้วยปัญญา ญาณในอันสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย อันบุคคลพึงรู้ด้วยปัญญา และพึงกระทำให้แจ้งด้วยปัญญา" ดังนี้สูตรนี้ ชื่่อว่า นิพเพธภาคิยสูตร ==อเสกขภาคิยสูตร== [104] ในพระสูตร 16 นั้น สูตรชื่อว่า อเสกขภาคิยะเป็นไฉน พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเปล่งอุทานว่า"จิตของบุคคลใด เปรียบด้วยภูเขาหิน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว ไม่กำหนัด ในอารมณ์เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด ไม่โกรธเคือง ในอารมณ์เป็นที่ตั้งแห่งความโกรธเคือง จิตของผู้ใดอบรมแล้วอย่างนี้ ทุกข์จักถึงผู้นั้น แต่ที่ไหน" ดังนี้สูตรนี้ ชื่่อว่า อเสกขภาคิยสูตร สารีปุตตสูตรที่ 10 ท่านพระสารีบุตรเถระ นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรงพิจารณาความสงบระงับของตนอยู่ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบ ได้เปล่งอุทานว่า "ภิกษุผู้มีจิตสงบระงับ มีตัณหาอันจะนำไปในภพตัดขาดแล้ว ชาติสงสารสิ้นแล้ว พ้นจากเครื่องผูกแห่งมาร" ดังนี้สูตรนี้ ชื่่อว่า อเสกขภาคิยสูตร พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเปล่งอุทานว่า"พราหมณ์ใด มีบาปธรรมอันลอยแล้ว ไม่ตวาดผู้อื่นว่า หึ หึ ไม่มีกิเลสเพียงดังน้ำฝาด มีตนอันสำรวมแล้ว ถึงที่สุดแห่งเวท (มรรคที่ 4) มีพรหมจรรย์อันอยู่จบแล้ว ไม่มีกิเลสเครื่องฟูขึ้นในโลกไหน ๆ พราหมณ์นั้นพึงกล่าวว่า เป็นพราหมณ์โดยธรรม" ดังนี้สูตรนี้ ชื่่อว่า อเสกขภาคิยสูตร พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเปล่งอุทานว่า"ชนเหล่าใดลอยบาปธรรมแล้ว มีสติทุกเมื่อ มีสังโยชน์สิ้นแล้วตรัสรู้แล้ว ชนเหล่านั้นแล ชื่อว่า เป็นพราหมณ์ในโลก" ดังนี้สูตรนี้ ชื่่อว่า อเสกขภาคิยสูตร พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงเปล่งอุทานว่า"ดิน น้ำ ไฟ และลม ย่อมไม่หยั่งลงในนิพพานธาตุใด ดาวทั้งหลายย่อมไม่สว่าง พระอาทิตย์ย่อมไม่ปรากฏ พระจันทร์ย่อมไม่สว่าง ความมืดย่อมไม่มี ก็เมื่อใด พราหมณ์ชื่่อว่า มุนี เพราะรู้ รู้แล้วด้วยตน เมื่อนั้นพราหมณ์ย่อมหลุดพ้นจากรูปและอรูป จากสุขและทุกข์" ดังนี้สูตรนี้ ชื่่อว่า อเสกขภาคิยสูตร พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเปล่งอุทานว่า"ในกาลใด บุคคลเป็นผู้ถึงฝั่งในธรรมทั้งหลายของตน เป็นพราหมณ์ในกาลนั้น ย่อมไม่กลัวปีศาจ และเสียงว่า ปักกุละอย่างนี้" ดังนี้สูตรนี้ ชื่่อว่า อเสกขภาคิยสูตร พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเปล่งอุทานว่า"เราเรียกผู้ไม่ยินดีในภรรยาเก่าผู้มาอยู่ ผู้ไม่เศร้าโศกถึงภรรยาเก่าผู้หลีกไปอยู่ ผู้ชนะสงคราม พ้นแล้วจากธรรมเป็นเครื่องข้องนั้น ว่าเป็นพราหมณ์" ดังนี้สูตรนี้ ชื่่อว่า อเสกขภาคิยสูตร พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเปล่งอุทานว่า"ความสะอาดย่อมไม่มีเพราะน้ำ ชนเป็นอันมาก ย่อมอาบอยู่ในน้ำนี้สัจจะและธรรมะมีอยู่ในผู้ใด ผู้นั้นเป็นผู้สะอาดและเป็นพราหมณ์" ดังนี้สูตรนี้ ชื่่อว่า อเสกขภาคิยสูตร พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเปล่งอุทานว่า"ในกาลใดแล ธรรมทั้งหลายย่อมปรากฏแก่พราหมณ์ผู้มีความเพียร เพ่งอยู่ ในกาลนั้น พราหมณ์นั้น ย่อมกำจัดมารและเสนามารเสียได้ ดุจพระอาทิตย์กำจัดอยู่ซึ่งความมืด ส่องแสงสว่างอยู่ในอากาศ ฉะนั้น" ดังนี้ สูตรนี้ ชื่่อว่า อเสกขภาคิยสูตร พระสูตรใดที่กล่าวว่า"ภิกษุใด ทรงผ้าบังสุกุลจีวร ข้ามโอฆะทั้งปวงแล้ว ไม่มีกิเลสเครื่องกังวล ผู้ยังอิริยาบถ 4 ให้เป็นไป พวกเธอจงดูภิกษุผู้ถือบังสุกุลจีวรเป็นวัตรนั้น ผู้มีธรรมไม่เสื่อม ผู้บรรลุวิชชา 3 ผู้มีอินทรีย์สงบแล้วเที่ยวไปอยู่ เทวดาผู้ประเสริฐทั้งหลายเป็นอันมาก เข้าไปสู่วิมานอันประเสริฐ มีจิตเลื่่อมใส นมัสการภิกษุผู้ถือผ้าบังสุกุลเป็นวัตรนั้น ผู้เป็นบุรุษอาชาไนยผู้เกียดกันมลทินอันเกิดแต่มานะว่าเราเป็นพราหมณ์มีอยู่ในพระศาสนานี้พวกเทพเหล่านั้นได้กล่าวว่า ข้าแต่ท่านบุรุษอาชาไนย ข้าพเจ้าขอนอบน้อมท่าน ข้าแต่บุรุษผู้สูงสุด ข้าพเจ้าขอนอบน้อมท่าน พวกเราย่อมไม่รู้ธรรมอันเป็นที่อาศัยของท่านใด ท่านนั้น อาศัยอะไรเพ่งอยู่" ดังนี้สูตรนี้ ชื่่อว่า อเสกขภาคิยสูตร พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสคาถาประพันธ์ว่า"ภิกษุเหล่านี้เป็นสหายกัน เป็นผู้มีความรู้คู่เคียงกันมาตลอดกาลนานสัทธรรมของเธอเหล่านั้น ย่อมเทียบเคียงได้ในธรรมที่พระพุทธเจ้าประกาศแล้ว เธออันกัปปินภิกษุแนะนำดีแล้ว ในธรรมที่พระอริยะประกาศแล้วเธอทั้ง 2 ชำนะมารพร้อมทั้งพาหนะได้แล้ว ย่อมทรงไว้ซึ่งอัตภาพมีในที่สุด" ดังนี้ สูตรนี้ ชื่่อว่า อเสกขภาคิยสูตร พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสคาถาประพันธ์ว่า"บุคคลปรารภความเพียรอันย่อหย่อน ปรารภความเพียรด้วยกำลังน้อย ไม่พึงบรรลุพระนิพพาน อันเป็นเครื่องปลดเปลื้องกิเลสทั้งปวงได้ แต่ภิกษุหนุ่มรูปนี้ เป็นอุดมบุรุษชำนะมารพร้อมทั้งพาหนะได้แล้ว ย่อมทรงไว้ซึ่งอัตภาพอันมีในที่สุด" ดังนี้สูตรนี้ ชื่่อว่า อเสกขภาคิยสูตร พระสูตรที่กล่าวไว้ว่า"พระโมฆราช มีผิวพรรณทราม มีจีวรเศร้าหมอง เป็นพระขีณาสพมีสติทุกเมื่อ มีธรรมประกอบไว้ในภพไปปราศแล้ว มีกิจอันกระทำแล้ว ไม่มีอาสวะ พระโมฆราชนั้น มีวิชชา 3 ถึงความเป็นผู้มีฤทธิ์ ฉลาดในการกำหนดจิต ชนะมารและเสนามารแล้ว ย่อมทรงไว้ซึ่งอัตภาพอันมีในที่สุด" ดังนี้ สูตรนี้ ชื่่อว่า อเสกขภาคิยสูตร [105] ในพุทธสูตร พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า"ดูกรภิกษุทั้งหลาย พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า หลุดพ้นเพราะเบื่อหน่าย เพราะคลายกำหนัด เพราะดับ เพราะไม่ถือมั่นรูป ฯลฯ เวทนา ฯลฯ สัญญา ฯลฯ สังขาร ฯลฯ วิญญาณ เทวดาและมนุษย์ย่อมเรียกว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าแม้ภิกษุผู้หลุดพ้นด้วยปัญญา ก็หลุดพ้นแล้ว เพราะเบื่อหน่าย เพราะคลายกำหนัด เพราะดับ เพราะไม่ถือมั่นรูป ฯลฯ เวทนา ฯลฯ สัญญา ฯลฯ สังขาร ฯลฯ วิญญาณ เราก็เรียกว่า ปัญญาวิมุตติ ดังนี้ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข้อนั้น มีอะไรเป็นข้อแปลกกัน มีอะไรเป็นข้อที่แตกต่างกัน มีอะไรเป็นเหตุทำให้แตกต่างกันระหว่างพระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้ากับภิกษุผู้หลุดพ้นด้วยปัญญา ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่าข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรมทั้งหลาย ของพวกข้าพระองค์ มีพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นรากฐาน ฯลฯ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่าดูกรภิกษุทั้งหลาย พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ยังทางที่ยังไม่เกิดให้เกิด ยังประชุมชนให้รู้จักมรรค ที่ใคร ๆ ไม่รู้ ให้รู้แล้ว บอกทางที่ยังไม่มีใครบอก เป็นผู้รู้ทาง ประกาศทางให้ปรากฏ เป็นผู้ฉลาดในทางดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สาวกทั้งหลายในบัดนี้ เป็นผู้ดำเนินไปตามทาง เป็นผู้ตามมาในภายหลัง ดูกรภิกษุทั้งหลาย อันนี้แล เป็นข้อแปลกกัน อันนี้เป็นข้อที่แตกต่างกัน อันนี้เป็นเหตุให้แตกต่างกัน ระหว่างพระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า กับภิกษุผู้หลุดพ้นด้วยปัญญา" ดังนี้สูตรนี้ ชื่่อว่า อเสกขภาคิยสูตร ==มิสสกสูตร== [106] ในพระสูตร 16 นี้ สูตรชื่อว่า"สังกิเลสภาคิยะและวาสนาภาคิยะเป็นไฉน"ในอุโปสถสูตร พระองค์ทรงเปล่งอุทานว่า"ฝนคือกิเลส ย่อมรั่วรดสิ่งที่ปกปิด ย่อมไม่รั่วรดสิ่งที่เปิด เพราะฉะนั้น พวกเธอพึงเปิดสิ่งที่ปกปิด ฝนคือกิเลสย่อมไม่รั่วรดสิ่งที่เปิดนั้นอย่างนี้" ดังนี้คำว่า "ฝนคือกิเลสย่อมรั่วรดสิ่งที่ปกปิด" นี้ เป็นสังกิเลส ฯ คำว่า"ฝนย่อมไม่รั่วรดสิ่งที่เปิด" นี้ เป็นวาสนา ฯ คำว่า "เพราะฉะนั้น พวกเธอพึงเปิดสิ่งที่ปกปิดไว้ ฝนคือกิเลส ย่อมไม่รั่วรดสิ่งที่เปิดอย่างนี้" นี้เป็นสังกิเลสและวาสนา ฯ คำนี้เป็นสูตร ชื่อว่า สังกิเลสภาคิยะและวาสนาภาคิยะ ฯ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า"ดูกรมหาบพิตร บุคคล 4 เหล่านี้ มีอยู่ในโลก บุคคล 4 เหล่านั้นเป็นไฉน บุคคลผู้มืดมา มืดไป บุคคลผู้มืดมา สว่างไป บุคคลผู้สว่างมามืดไป และบุคคลผู้สว่างมา สว่างไป" ดังนี้ ในบุคคลเหล่านั้น บุคคลใดสังกิเลส ฯ บุคคลใดมืดมา สว่างไป และสว่างมา สว่างไป บุคคลทั้ง 2 นี้เป็นส่วนแห่งวาสนา ฯ คำนี้ ชื่่อว่า สูตรอันเป็นส่วนแห่งสังกิเลสและส่วนแห่งวาสนา ฯ ในพระสูตร 16 นั้น สูตรชื่อว่า"สังกิเลสภาคิยะและนิพเพธภาคิยะเป็นไฉน"พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า"นักปราชญ์ทั้งหลาย ย่อมไม่กล่าว เครื่องผูกอันเกิดแต่เหล็ก เกิดแต่ไม้ และเกิดแต่หญ้าปล้องว่ามั่น แต่สัตว์ผู้กำหนัดแล้ว กำหนัดนักแล้วในแก้วมณี ในแก้วกุณฑล และความห่วงใยในบุตรและภรรยา" ดังนี้ ข้อนี้ เป็นสังกิเลส ฯ "นักปราชญ์ทั้งหลาย กล่าวว่า ความกำหนัด และความกำหนัดนักแล้วเป็นต้น อันหน่วงลง (ลงอบาย) อันหย่อน และอันบุคคลเปลื้องได้ยากนี้ว่ามั่น นักปราชญ์ทั้งหลายตัดเครื่องผูก แม้นั้นแล้ว เป็นผู้ไม่มีความห่วงใยละกามสุขแล้ว ย่อมเว้นรอบ" ดังนี้ข้อนี้ เป็นนิพเพธะ สูตรนี้ ชื่อว่า สังกิเลสภาคิยะและนิพเพธะภาคิยะ ฯ [107] ในเจตนาสูตร พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า"ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุย่อมจงใจถึงสิ่งใด ย่อมดำริถึงสิ่งใด และย่อมครุ่นคิดถึงสิ่งใด สิ่งนั้นย่อมเป็นอารมณ์ เพื่อความตั้งอยู่แห่งวิญญาณเมื่อมีอารมณ์เป็นปัจจัย ความตั้งมั่นแห่งวิญญาณจึงมี เมื่อวิญญาณนั้นตั้งมั่นแล้ว เจริญขึ้นแล้ว ตัณหาอันให้เกิดในภพใหม่ต่อไปจึงมี เมื่อตัณหาอันให้เกิดในภพใหม่ต่อไปมี ชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัสและอุปายาสจึงมี ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยประการฉะนี้ ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าภิกษุไม่จงใจ ไม่ดำริ แต่ยังครุ่นคิดถึงสิ่งใดสิ่งนั้นย่อมเป็นอารมณ์เพื่อความตั้งมั่นแห่งวิญญาณ เมื่อมีอารมณ์เป็นปัจจัยความตั้งมั่นแห่งวิญญาณจึงมี เมื่อวิญญาณนั้นตั้งมั่นแล้ว เจริญขึ้นแล้วตัณหาอันให้เกิดขึ้นในภพใหม่ต่อไปจึงมี เมื่อตัณหาอันให้เกิดในภพใหม่ต่อไปมี ชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส จึงมีความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยประการฉะนี้" ดังนี้ข้อนี้ เป็นสังกิเลส ฯ "ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อใด ภิกษุไม่จงใจ ไม่ดำริ ไม่ครุ่นคิดถึงสิ่งใด สิ่งนั้นย่อมไม่เป็นอารมณ์เพื่อความตั้งมั่นแห่งวิญญาณ เมื่อวิญญาณนั้นไม่ตั้งมั่นแล้ว ไม่เจริญแล้ว ตัณหาอันให้เกิดในภพใหม่ต่อไปจึงไม่มีเมื่อตัณหาอันให้เกิดใหม่ต่อไปไม่มี ชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์โทมนัสและอุปายาส จึงดับ ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมี ด้วยประการฉะนี้" ดังนี้ข้อนี้เป็นนิพเพธะ ฯ สูตรนี้ ชื่อว่า สังกิเลสภาคิยะและนิพเพธภาคิยะ ฯ [108] ในพระสูตร 16 นั้น สูตรชื่อว่า สังกิเลสภาคิยะและอเสกขภาคิยะเป็นไฉน ในมุทสูตร พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า"ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปุถุชน ผู้มิได้สดับแล้ว ย่อมกล่าวว่า "สมุทร สมุทร" ดังนี้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมุทรนั้นไม่ชื่อว่า เป็นสมุทร ในวินัยของพระอริยเจ้า ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมุทรนั้น เป็นกองแห่งน้ำใหญ่ เป็นห้วงแห่งน้ำใหญ่ ดูกรภิกษุทั้งหลาย จักษุเป็นสมุทรของบุรุษ กำลังของจักษุนั้นสำเร็จแล้วด้วยรูปายตนะ" ดังนี้เป็นสังกิเลส ฯ "บุคคลใด ย่อมอดกลั้นกำลังอันเกิดจากรูปายตนะนั้นได้ บุคคลนี้เราเรียกว่าเป็นพราหมณ์ ข้ามสมุทร คือ จักษุ ซึ่งมีทั้งคลื่น มีทั้งน้ำวนมีทั้งสัตว์ร้าย มีทั้งผีเสื้อน้ำ แล้วขึ้นถึงฝั่่ง ตั้งอยู่บนบก" ดังนี้ นี้เป็นอเสกขะ ฯ "ดูกรภิกษุ โสตะเป็นสมุทร ฯลฯ ฆานะเป็นสมุทร ฯลฯ ชิวหาเป็นสมุทร ฯลฯ กายเป็นสมุทร ฯลฯ ใจเป็นสมุทรของบุรุษ กำลังของใจนั้นสำเร็จแล้วด้วยธัมมารมณ์" ดังนี้ นี้เป็นสังกิเลส ฯ "บุคคลใด ย่อมอดกลั้นกำลังอันเกิดจากธัมมายตนะนั้นได้ บุคคลนี้เราเรียกว่า เป็นพราหมณ์ ข้ามสมุทร คือ ใจ ซึ่งมีทั้งคลื่น มีทั้งน้ำวน มีทั้งสัตว์ร้าย มีทั้งผีเสื้อน้ำ แล้วขึ้นถึงฝั่งตั้งอยู่บนบก" ดังนี้ นี้เป็นอเสกขะพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้สุคตศาสดา ได้ตรัสไวยากรณภาษิตนี้แล้ว ครั้นตรัสเนื้อความนี้แล้ว จึงตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า"บุคคลใด ข้ามสมุทรนี้ ซึ่งมีทั้งคลื่น มีทั้งน้ำวน มีทั้งสัตว์ร้าย มีทั้งผีเสื้อน้ำ อันน่าหวาดกลัว ซึ่งข้ามได้แสนยากได้แล้ว บุคคลนั้นเราเรียกว่าผู้จบเวท อยู่จบพรหมจรรย์ ถึงที่สุดแห่งโลก ข้ามถึงฝั่งแล้ว" ดังนี้ ฯ นี้เป็นอเสกขะ สูตรนี้ชื่อว่า สังกิเลสภาคิยะและอเสกขภาคิยะ ฯ ในพาลิสิกสูตร พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า"ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในโลกนี้มีเบ็ด 6 ชนิด เพื่อนำสัตว์ไปในสิ่งที่มิใช่ประโยชน์ เพื่อทุกข์ (ฆ่า) สัตว์ทั้งหลาย เบ็ด 6 ชนิด เป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย รูปอันจะพึงรู้แจ้งด้วยจักษุ อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจน่ารัก ชักให้ใคร่ ชวนให้กำหนัด มีอยู่ ถ้าภิกษุ ย่อมเพลิดเพลินย่อมสรรเสริญ หมกมุ่นซึ่งรูปนั้นอยู่ไซร้ ภิกษุนี้ เราเรียกว่า ผู้กลืนกินเบ็ดของมาร ถึงความวิบัติ ถึงความพินาศ อันมารผู้มีบาป พึงกระทำได้ตามชอบใจ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เสียง ฯลฯ กลิ่น ฯลฯ รส ฯลฯ โผฏฐัพพะและธัมมารมณ์ อันพึงรู้แจ้งด้วยใจ อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ น่ารักชักให้ใคร่ ชวนให้กำหนัดมีอยู่ ถ้าภิกษุ ย่อมเพลิดเพลิน ย่อมสรรเสริญหมกมุ่นซึ่่งธัมมารมณ์นั้นอยู่ไซร้ ภิกษุนี้ เราเรียกว่า ผู้กลืนกินเบ็ดของมารถึงความวิบัติ ถึงความพินาศ อันมารผู้มีบาป จึงกระทำได้ตามชอบใจ" ดังนี้ข้อนี้ เป็นสังกิเลส"ดูกรภิกษุทั้งหลาย รูปอันจะพึงรู้แจ้งด้วยจักษุ อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ น่ารัก ชักให้ใคร่ ชวนให้กำหนัด มีอยู่ ถ้าภิกษุไม่เพลิดเพลินไม่สรรเสริญ ไม่หมกหมุ่นรูปนั้นไซร้ ภิกษุนี้ เราเรียกว่า ผู้ไม่กลืนกินเบ็ดของมาร ได้ทำลายเบ็ด ได้ย่ำยีเบ็ด ไม่ถึงความพิบัติ ไม่ถึงความพินาศ อันมารผู้มีบาปพึงกระทำตามชอบใจไม่ได้ดูกรภิกษุทั้งหลาย เสียง ฯลฯ กลิ่น ฯลฯ รส ฯลฯ โผฏฐัพพะและธัมมารมณ์ อันพึงรู้แจ้งด้วยใจ อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ น่ารักชักให้ใคร่ ชวนให้กำหนัด มีอยู่ ถ้าภิกษุไม่เพลิดเพลิน ไม่สรรเสริญ ไม่หมกมุ่นธัมมารมณ์นั้นไซร้ ภิกษุนี้ เราเรียกว่า ผู้ไม่กลืนกินเบ็ดของมาร ได้ทำลายเบ็ด ได้ย่ำยีเบ็ด ไม่ถึงความพิบัติ ไม่ถึงความพินาศ อันมารผู้มีบาปพึงกระทำตามชอบใจไม่ได้" ดังนี้ข้อนี้เป็นอเสกขะ พระสูตรนี้ชื่อว่า สังกิเลสภาคิยะและอเสกขภาคิยะ ฯ [109] ในพระสูตร 16 นั้น สูตรว่า"สังกิเลสภาคิยะ นิพเพทภาคิยะและอเสกขภาคิยะ เป็นไฉน" ในโลกสูตร พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเปล่งอุทานว่า "โลก (คือหมู่สัตว์) นี้ มีความเร่าร้อนเกิดขึ้นแล้ว ผู้อันทุกขสัมผัสครอบงำแล้ว ร้องไห้อยู่ ย่อมบ่นเพ้อ โดยความเป็นตัวตน เพราะสัตว์ทั้งหลาย ย่อมสำคัญซึ่งการกระทำแห่งทุกข์ของตนโดยประการใด ๆ ทุกข์นั้นอันบุคคลพึงเยียวยาโดยประการอื่น สัตวโลกนี้ ข้องแล้วในภพ อันมีความแปรปรวนเป็นอย่างอื่่นเป็นผู้เดือดร้อนในภพแล้ว ก็ยินดีเพลิดเพลินนั่นแหละ สัตวโลก ย่อมยินดีเพลิดเพลินสิ่งใด สิ่งนั้นเป็นภัย สัตวโลก ย่อมกลัวสิ่งใด สิ่งนั้นเป็นทุกข์"ดังนี้ ข้อนี้ เป็นสังกิเลส ฯ และคำว่า "พรหมจรรย์นี้ เราประพฤติเพื่อการละภพ" ดังนี้ ข้อนี้ เป็นนิพเพธะ ฯ "ก็สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง กล่าวการหลุดพ้นจากภพด้วยภพ (หลุดจากกามภพด้วยรูปภพเป็นต้น) เรากล่าว สมณพราหมณ์เหล่านั้นทั้งหมดว่า เป็นผู้ไม่หลุดพ้นจากภพ ก็หรือว่าสมณพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง กล่าวการสลัดออกจากภพด้วยความไม่มี (วิภวะ) เรากล่าวว่าสมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้นทั้งหมดว่า เป็นผู้ไม่สลัดออกไปจากภพเพราะทุกข์นี้อาศัยอุปธิมีขันธ์เป็นต้นจึงเกิดขึ้น" ดังนี้ ข้อนี้เป็น สังกิเลส ฯ และคำว่า "เพราะความสิ้นไปแห่งอุปาทานทั้งปวง ความเกิดขึ้นแห่งทุกข์ย่อมไม่มี" ดังนี้ข้อนี้ ชื่่อว่า นิพเพธะ ฯ "เธอจงดูโลก (จิต) นี้ สัตว์ทั้งหลายมากอันอวิชชาครอบงำแล้ว หรือยินดีแล้ว ซึ่งขันธปัญจกะที่เกิดแล้ว เป็นผู้ไม่พ้นจากภพ ก็ภพเหล่าใดเหล่าหนึ่งในที่ทั้งปวง (คือเบื้องบน เบื้องต่ำ และเบื้องขวาง) โดยสภาพทั้งปวง (คือ อบาย 4 และสุคติ เป็นต้น) ภพทั้งหมดนั้น ไม่เที่ยง เป็นทุกข์มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา" ดังนี้ ข้อนี้ เป็นสังกิเลส ฯ "เมื่อภิกษุเห็นขันธปัญจกะ กล่าวคือภพ ตามความเป็นจริง ด้วยปัญญาอันชอบอย่างนี้อยู่ ย่อมละภวตัณหาได้ ทั้งไม่ยินดีในวิภวตัณหาเพราะความสิ้นไปแห่งตัณหา โดยประการทั้งปวง นิพพานจึงมี เพราะความดับด้วยอริยมรรคอันสำรอกโดยไม่เหลือ" ดังนี้ ข้อนี้ เป็นนิพเพธะ ฯ เพราะความไม่เกิดแห่งภิกษุผู้มีตัณหาอันดับแล้วนั้น ภพใหม่จึงไม่มีภิกษุนั้นเป็นผู้ครอบงำมาร เป็นผู้ชนะสงครามแล้ว ก้าวล่วงภพทั้งปวงเป็นผู้คงที่" ดังนี้ ข้อนี้ เป็นอเสกขะ ฯ สูตรนี้ชื่อว่า สังกิเลสภาคิยะนิพเพธภาคิยะและอเสกขภาคิยะ ฉะนี้ ฯ ในอนุโสตสูตร พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า"ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคล 4 จำพวกนี้ มีอยู่ บุคคล 4 จำพวกเป็นไฉน บุคคลผู้ไปตามกระแส 1 บุคคลผู้ไปทวนกระแส 1 บุคคลผู้มีตน (จิต)ตั้งมั่นแล้ว 1 และบุคคลผู้เป็นพราหมณ์ ข้ามฝั่งแล้วยืนอยู่บนบก 1 ฯ ในบุคคล 4 นั้น บุคคลใด ไปตามกระแส (เสพกามและทำบาปกรรม) บุคคลนี้(เป็นอันธปุถุชน) ชื่อว่า เป็นผู้มีส่วนแห่งสังกิเลส ฯ ในบุคคล 4 นั้น บุคคลใด ไปทวนกระแส (กัลยาณปุถุชน) และบุคคลใด มีตนตั้งมั่นแล้ว (พระเสกขะ) บุคคลทั้ง 2 นี้ เป็นผู้มีส่วนแห่งปัญญาเครื่องแทงตลอด ฯ ในบุคคล 4 นั้น บุคคลใด เป็นพราหมณ์ข้ามฝั่งยืนอยู่บนบก บุคคลนี้เป็นพระอเสกขะ ฯ สูตรนี้ ชื่อว่า สังกิเลสภาคิยะ นิพเพธภาคิยะและอเสกขภาคิยะ ฉะนี้แล ฯ" [110] ในพระสูตร 16 นั้น สูตรชื่อว่า"สังกิเลสภาคิยะ วาสนาภาคิยะและนิพเพธภาคิยะ เป็นไฉน" ในฉฬาภิชาติสูตร พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า "บุคคลดำมีชาติดำ (สกุลต่ำ) ประพฤติธรรมดำมีอยู่ บุคคลดำมีชาติดำ ประพฤติธรรมขาวมีอยู่ บุคคลดำมีชาติดำ ยังนิพพานอันตนเห็นแล้วโดยสิ้นเชิงว่า ธรรมไม่ดำไม่ขาว มีวิบากไม่ดำไม่ขาว ให้สำเร็จมีอยู่บุคคลขาวมีชาติขาว (สกุลสูง) ประพฤติธรรมดำมีอยู่ บุคคลขาวมีชาติขาว ประพฤติธรรมขาวมีอยู่ บุคคลขาวมีชาติขาว ย่อมยังพระนิพพานอันตนเห็นแล้วโดยสิ้นเชิงว่า ธรรมไม่ดำไม่ขาว มีวิบากไม่ดำไม่ขาว ให้สำเร็จมีอยู่" ฯ ในบุคคล 6 เหล่านั้น บุคคล 2 นี้ คือ บุคคลดำมีชาติดำประพฤติธรรมดำ และบุคคลขาวมีชาติขาว ประพฤติธรรมดำ นี้ เป็นส่วนแห่งสังกิเลส ฯ ในบุคคล 6 นั้น บุคคล 2 นี้ คือ บุคคลดำมีชาติดำ ประพฤติธรรมขาวและบุคคลขาวมีชาติขาว ประพฤติธรรมขาวนี้เป็นส่วนแห่งวาสนา ฯ ในบุคคล 6 นั้น บุคคล 2 นี้ คือ บุคคลดำมีชาติดำ ย่อมยังพระนิพพานอันตนเห็นแล้วว่า ธรรมไม่ดำไม่ขาว มีวิบากไม่ดำไม่ขาว ให้สำเร็จ และบุคคลขาวมีชาติขาว ย่อมยังพระนิพพานอันตนเห็นแล้วว่าธรรมไม่ดำไม่ขาว มีวิบากไม่ดำไม่ขาวให้สำเร็จ นี้ เป็นส่วนแห่งนิพเพธะ ฯ สูตรนี้ ชื่อว่า สังกิเลสภาคิยะ วาสนาภาคิยะและนิพเพธภาคิยะ ฯ ในกรรมวรรค ตรัสว่า "ดูกรภิกษุทั้งหลาย กรรม 4 เหล่านี้มีอยู่ กรรม 4 เหล่านั้น เป็นไฉน กรรมดำมีวิบากดำ มีอยู่ กรรมขาวมีวิบากขาว มีอยู่ กรรมทั้งดำทั้งขาวมีวิบากทั้งดำทั้งขาวมีอยู่ กรรมไม่ดำไม่ขาวมีวิบากไม่ดำไม่ขาว เป็นกรรมสูงสุด เป็นกรรมประเสริฐสุด ย่อมเป็นไปเพื่อความสิ้นกรรม"ในกรรม 4 เหล่านั้น กรรมดำมีวิบากดำ และกรรมทั้งดำทั้งขาวมีวิบากทั้งดำและขาว ทั้ง 2 นี้ เป็นสังกิเลส ฯ กรรมขาวมีวิบากขาว นี้เป็นวาสนา ฯ กรรมไม่ดำไม่ขาว มีวิบากไม่ดำไม่ขาว เป็นกรรมสูงสุด เป็นกรรมประเสริฐสุด ย่อมเป็นไปเพื่อความสิ้นกรรม นี้เป็นนิพเพธะ ฯ สูตรนี้ชื่อว่า สังกิเลสภาคิยะ วาสนาภาคิยะและนิพเพธภาคิยะ ฉะนี้แล ฯ [111] ในพระสูตร 16 นั้น สูตรชื่อว่า"วาสนาภาคิยะและนิพเพธภาคิยะเป็นไฉน" สูตรที่กล่าวว่า"การได้ความเป็นมนุษย์ ย่อมเป็นผู้มีกิจ (หน้าที่) 2 อย่าง คือกิจที่ควร และกิจที่ไม่ควรทีเดียว บุญทั้งหลาย หรือการละสังโยชน์ เป็นกิจดี ควรทำ" ดังนี้คำว่า "บุญทั้งหลาย เป็นกิจดี" ดังนี้ ข้อนี้ เป็นวาสนา ฯ คำว่า"หรือการละสังโยชน์" ดังนี้ เป็นนิพเพธะ ฯ พระสูตรว่า "บุคคลทั้งหลายผู้ทำบุญ ครั้นทำบุญทั้งหลายแล้ว ย่อมไปสู่สวรรค์จากสวรรค์นั่นแหละบุคคลผู้ละสังโยชน์ทั้งหลาย ย่อมพ้นจากชราและมรณะ" ดังนี้ คำว่า"บุคคลผู้ทำบุญ ครั้นทำบุญทั้งหลายแล้วย่อมไปสู่สวรรค์จากสวรรค์"ดังนี้ เป็นวาสนา ฯ คำว่า "บุคคลผู้ละสังโยชน์ทั้งหลาย ย่อมพ้นจากชราและมรณะ" ดังนี้ เป็นนิพเพธะ ฯ สูตรนี้ ชื่อว่า วาสนาภาคิยะและนิพเพธภาคิยะ ดังนี้พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า"ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความเพียรเหล่านี้ มี 2 อย่าง ความเพียร 2อย่างเป็นไฉน บุคคลใด ย่อมสละจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ คิลานปัจจัยเภสัชบริขาร (ถวาย) ในบรรพชิตผู้ไม่มีเรือน ผู้ออกบวชจากเรือน และในบรรพชิตทั้งหลายผู้ไม่มีเรือนออกบวชจากเรือนนั้น บุคคลใด สละคืนอุปธิทั้งปวง เป็นการสิ้นไปแห่งตัณหา เป็นวิราคะ นิโรธะ และนิพพาน" ดังนี้ ฯ ใน 2 อย่างนั้น บุคคลใด สละจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร ในบรรพชิตผู้ไม่มีเรือน นี้ เป็นวาสนา ฯ ในบรรพชิตผู้ไม่มีเรือนนั้น บุคคลใด สละคืนอุปธิทั้งปวง เป็นการสิ้นไปแห่งตัณหา เป็นวิราคะนิโรธะ และนิพพาน นี้ เป็นนิพเพธะ ฯ สูตรนี้ ชื่อว่า วาสนาภาคิยะ และนิพเพธภาคิยะ ฉะนี้ แล ฯ ในพระสูตร 16 นั้น พระสูตรที่ชื่อว่า ส่วนแห่งตัณหาสังกิเลส พึงแสดงด้วยตัณหา 3 คือ กามตัณหา ภวตัณหา และวิภวตัณหา เพราะเป็นฝ่ายแห่งตัณหาอย่างเดียว หรือตัณหานั้นยึดมั่นโดยอาศัยวัตถุใด ๆ พึงแสดงด้วยวัตถุนั้น ๆความพิสดารแห่งตัณหานั้น เป็นตัณหาที่ท่องเที่ยวไปในอารมณ์ต่าง ๆ เพียงดังข่ายมี 36 ประการ ฯ ในพระสูตร 16 นั้น พระสูตร ที่ชื่อว่า ส่วนแห่งทิฏฐิสังกิเลส พึงแสดงโดยสัสสตะและอุทเฉทะ เพราะเป็นฝ่ายแห่งทิฏฐินั่นแหละ ก็หรือว่า ทิฏฐินั้นย่อมยึดมั่นด้วยอำนาจความเห็นในวัตถุใด ๆ ว่า "สิ่งนี้เท่านั้นจริง สิ่งอื่นเปล่า"ดังนี้ ก็พึงแสดงโดยวัตถุนั้น ๆ นั่นแหละ ความพิสดารแห่งทิฏฐินั้น ได้แก่ทิฏฐิคตะ 62 ประการในพระสูตร 16 นั้น พระสูตรที่เป็นส่วนแห่งทุจริตสังกิเลส พึงแสดงด้วยทุจริต 3 คือ กายทุจริต วจีทุจริต และมโนทุจริต ด้วยเจตนาและกรรมคือเจตสิกความพิสดารแห่งทุจริตนั้น ได้แก่ อกุศลกรรมบถ 10 ประการในพระสูตร 16 นั้น สูตรอันเป็นส่วนแห่ง ตัณหาโวทาน (คือความผ่องแผ้วจากตัณหา) บัณฑิตพึงแสดงด้วยสมถะ สูตรอันเป็นส่วนแห่งทิฏฐิโวทาน(ความผ่องแผ้วจากทิฏฐิ) พึงแสดงด้วยวิปัสสนา สูตรอันเป็นส่วนแห่งทุจริตโวทาน (ความผ่องแผ้วจากทุจริต) บัณฑิตพึงแสดงด้วยสุจริต อกุศลมูลมี 3อย่าง ข้อนั้นเป็นเหตุแห่งอะไร เป็นเหตุของความเกิดขึ้นแห่งสังสาร จริงอย่างนั้น เมื่อสังสารเกิดขึ้นแล้ว กายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต มีอยู่ พาลลักษณะนี้ ย่อมเกิดขึ้นด้วยวิบากแห่งกรรมอันไม่งามนี้ สูตรนี้ ชื่อว่า สังกิเลสภาคิยะ ฯ กายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต มีอยู่ มหาปุริสลักษณะนี้ ย่อมเกิดขึ้นด้วยวิบากแห่งกรรมอันงดงาม เพราะเหตุนั้น สูตรนี้จึงชื่่อว่า วาสนาภาคิยะ ฯ ในพระสูตร 16 เหล่านั้น สูตรอันเป็นส่วนแห่งสังกิเลส บัณฑิตพึงแสดงด้วยภูมิแห่งกิเลส 4 คือ ภูมิแห่งอนุสัย 1 ภูมิแห่งปริยุฏฐาน 1 ภูมิแห่งสังโยชน์ 1 และภูมิแห่งอุปาทาน 1 ฯ คืออย่างไรปริยุฏฐานกิเลส ย่อมเกิดแก่บุคคลผู้ละอนุสัยยังไม่ได้ บุคคลผู้อันปริยุฏฐานมีกามราคะเป็นต้นกลุ้มรุมแล้ว ย่อมประกอบด้วยสังโยชน์มีกามราคะเป็นต้นบุคคลผู้ประกอบด้วยสังโยชน์ ย่อมยึดมั่นอกุศลกรรม มีกามุปาทานเป็นต้นเพราะอุปาทานเป็นปัจจัย ภพจึงมี เพราะภพเป็นปัจจัย ชาติจึงมี เพราะชาติเป็นปัจจัย ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัสและอุปายาสจึงมี การเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมี ด้วยประการฉะนี้ กิเลสทั้งปวงเหล่านี้ ย่อมถึงการสงเคราะห์ คือ ประชุมลงด้วยภูมิแห่งกิเลส 4 นี้ สูตรนี้ จึงชื่อว่า ส่วนแห่งกิเลส ฯ พระสูตร อันเป็นส่วนแห่งวาสนา พึงแสดงด้วยสุจริต 3 ฯ พระสูตร อันเป็นส่วนแห่งนิพเพธะ พึงแสดงด้วยสัจจะ 4 ฯ พระสูตร อันเป็นส่วนแห่งอเสกขะบัณฑิตพึงแสดงด้วยธรรม 3 อย่าง คือ ด้วยธรรมของพระพุทธเจ้า 1 ด้วยธรรมของพระปัจเจกพุทธะ 1 และด้วยภูมิแห่งพระสาวก 1 ภูมินี้ พึงแสดงด้วยอารมณ์แห่งฌานทั้งหลาย ฉะนี้แล ฯ =ดูเพิ่ม= #[[เนตติปกรณ์ ฉบับปรับสำนวน]] กลับหน้าสารบัญ #[[เนตติปกรณ์]] แปลโดยพระคันธสาราภิวังสะ #[https://thaipitaka.gitlab.io/netti/title/index.html เนตติปกรณ์ online]