{{template:วสธมฉปส head| }}
{{template:ฉบับปรับสำนวน head|}}
=อาหาเรปฏิกูลสัญญากถา=
''(หน้าที่ 198)''
บัดนี้ ถึงลำดับการแสดงวิธีเจริญอาหาเรปฏิกูลสัญญา ซึ่งได้ยกขึ้นแสดงไว้อย่างนี้ว่า สัญญาอย่างหนึ่งซึ่งรองลำดับอรูปสมาบัติ ดังนี้
==อาหาร 4 อย่าง==
ในคำเหล่านั้น คำว่าอาหาร ได้แก่สภาพซึ่งนำกำลังมาให้ อาหารนั้นมี 4 อย่างคือ
1. กวฬิงการาหาร อาหารที่ทำเป็นคำ ๆ
2. ผัสสาหาร อาหารคือผัสสะ
3. มโนสัญเจตนาหาร อาหารคือมโนสัญเจตนา
4. วิญญาณาหาร อาหารคือวิญญาณ
'''ผลที่อาหารนำมา'''
ถามว่า ก็ในอาหารทั้ง 4 นี้ อาหารอะไรนำผลอะไรมาให้ ? แก้ว่า กวฬิงการาหารนำรูปมีโอชาเป็นที่ 8 มาให้ ผัสสาหารนำเวทนาทั้ง 3 มาให้ มโนสัญเจตนาหารนำปฏิสนธิในภพทั้ง 3 มาให้ วิญญาณาหารนำนามรูปในขณะถือปฏิสนธิมาให้
'''ภัยของอาหาร'''
ในอาหารเหล่านั้น ความใคร่เป็นภัยสำหรับกวฬิงการาหาร การเข้าไปใกล้เป็นภัยในผัสสาหาร การก่อให้เกิดเป็นภัยในมโนสัญเจตนาหาร ปฏิสนธิเป็นภัยในวิญญาณาหาร
'''อุปมาของอาหาร'''
ก็บรรดาอาหารซึ่งมีภัยอยู่ประจำอย่างนี้นั้น กวฬิงการาหารพึงแสดงโดยพระโอวาทอันเปรียบเหมือนเนื้อบุตร ผัสสาหารพึงแสดงโดยพระโอวาทอันเปรียบเหมือนโคไม่มีหนัง มโนสัญเจตนาหารพึงแสดงโดยพระโอวาทอันเปรียบเหมือนหลุมถ่านเพลิง วิญญาณาหารพึงแสดงโดยพระโอวาทอันเปรียบเหมือนหอกหลาว
''(หน้าที่ 199)''
'''กวฬิงการาหารประสงค์ในที่นี้'''
ก็ในบรรดาอาหารทั้ง 4 เหล่านี้ กวฬิงการาหารอย่างเดียวซึ่งแยกเป็นชนิดได้แก่อาหารที่ใช้บริโภค ใช้ดื่ม ใช้เคี้ยว และใช้ลิ้ม ท่านประสงค์เอาว่าอาหารในที่นี้
อาหาเรปฏิกูลสัญญา
ความสำคัญหมาย ซึ่งเกิดขึ้นด้วยอำนาจการถือเอาอาการน่าเกลียดในอาหารนั้น ชื่อว่าอาหาเรปฏิกูลสัญญา
==คำบริกรรมปฏิกูล 10 อาการในอาหาร==
พระโยคีผู้ต้องการเจริญปฏิกูลสัญญาในอาหารนั้น จำเป็นต้องท่องจำเอากรรมฐานไม่ให้คลาดเคลื่อนจากที่เรียนมาแม้แต่บทเดียว แล้วไปในที่หลีกเร้นสำหรับภาวนาอยู่ แล้วพึงพิจารณาความเป็นของปฏิกูลในกวฬิงการาหารต่างๆ คือ ของกิน ของดื่ม ของเคี้ยว ของลิ้ม โดยอาการ 10 อย่าง คืออย่างไร ?
1. เดินออกวัดก็สกปรก
2. ในระแวกบ้านก็สกปรก
3. ขณะกินก็สกปรก
4. อาศัยในน้ำสกปรก
5. ลำไส้สกปรกไม่เคยล้าง
6. ยังไม่ย่อยก็สกปรก
7. ย่อยแล้วก็สกปรก
8. หล่อเลี้ยงซากและโรค
9. ถ่ายออกมาก็สกปรก
10. แตะอะไรก็เปรอะเปื้อน
===เดินออกวัดก็สกปรก===
ในอาการทั้ง 10 นั้น จะพิจารณาความเป็นของปฏิกูลเพราะเดินออกวัดก็สกปรก (คมนโต) อย่างไร ? อธิบายว่า พระโยคีพิจารณาว่า ผู้บวชในพระศาสนาซึ่งชื่อว่ามีอานุภาพมากอย่างนี้ ทำการสาธยายพุทธพจน์หรือทำสมณธรรม
''(หน้าที่ 200)''
ตลอดคืนยันรุ่ง ลุกขึ้นแต่เช้าตรู่ ทำวัตรสำหรับลานพระเจดีย์และลานพระศรีมหาโพธิ แล้วเข้าไปตั้งน้ำฉันน้ำใช้ กวาดบริเวณ ปฏิบัติสรีรกิจแล้วขึ้นสู่อาสนะใฝ่ใจกรรมฐานตลอด 20 หรือ 30 ครั้ง ลุกขึ้นจับบาตรและจีวร ละป่าสำหรับบำเพ็ญเพียรซึ่งปราศจากคนยัดเยียดกัน มีสุขเกิดแต่วิเวก บริบูรณ์ด้วยร่มเงา และน้ำสะอาดเยือกเย็น มีภูมิภาคน่าพึงใจ ไม่เห็นแก่ความยินดีในวิเวกอย่างประเสริฐ บ่ายหน้าตรงต่อบ้านเพื่อต้องการอาหาร ดุจดังสุนัขจิ้งจอกบ่ายหน้าต่อป่าช้า พึงไป
ก็เมื่อไปอย่างนี้ จึงจำต้องเหยียบย่ำผ้าลาดซึ่งเกลือกกลั้วไปด้วยขี้ตีนขี้แมลงสาบเป็นต้นในเรือน ตั้งต้นแต่ลงจากเตียงหรือตั่ง แต่นั้นก็จะต้องเห็นหน้ามุขซึ่งน่าเกลียดยิ่งกว่าภายในห้อง เพราะถูกขี้หนูและขี้ค้างคาวเปรอะเปื้อนในกาลบางครั้ง แต่นั้นพึงเห็นพื้นล่าง ว่าน่าเกลียดไปกว่าพื้นบน เพราะเปรอะเปื้อนไปด้วยขี้นกแสกและนกพิราบเป็นต้น แต่นั้นพึงเห็นบริเวณว่าน่าเกลียดยิ่งกว่าพื้นเบื้องต่ำ เพราะหมองไปด้วยหญ้าและใบไม้แก่ ซึ่งลมพัดมาในกาลบางคราว และด้วยมูตรกรีสน้ำลายน้ำมูกของพวกสามเณรผู้ป่วย และในฤดูฝนยังเปรอะไปด้วยน้ำและโคลนตมเป็นต้น พึงเห็นตรอกแห่งวิหารเป็นของน่าเกลียดยิ่งกว่าบริเวณนั้น
อนึ่ง พระโยคีไหว้พระมหาโพธิและเจดีย์โดยลำดับยืนอยู่ในโรงสำหรับตรึก ไม่เหลียวแลดูเจดีย์งามเช่นกับกองแก้วมุกดา และต้นมหาโพธิที่ระรื่นใจเช่นเดียวกับกำหางนกยุงและเสนาสนะอันสง่าดุจสมบัติในเทววิมาน หันหลังให้ประเทศที่น่ารื่นรมย์เห็นปานนั้น หลีกไปโดยหมายใจว่าจักต้องไปเพราะเหตุอาการเดินไปตามทางบ้าน พึงเห็นแม้ทางมีตอและหนามบ้าง ทางที่ขาดเพราะกำลังน้ำเซาะและขรุขระบ้าง แต่นั้นเธอนุ่งผ้าก็เหมือนผู้ปิดฝีรัดประคดก็เหมือผู้พันผ้าพันแผล ห่มจีวรก็เหมือนผู้คลุมร่างกระดูก นำบาตรออกก็เหมือนผู้นำโกร่งยาออก เมื่อถึงที่ใกล้ประตูบ้าน ก็พึงเห็นแม้ ซากช้าง ซากม้า ซากโค ซากควาย ซากมนุษย์ ซากงู และซากสุนัข เป็นต้น
ก็ไม่ใช่พึงเป็นแต่เห็นเท่านั้น แม้กลิ่นของซากเหล่านั้นกระทบจมูกอยู่อันเธอต้องจำอดกลั้น แต่นั้นเธอครั้นยืนที่หน้าประตูบ้านต้องแลดูตรอกตามบ้าน เพื่อหลีกเลี่ยงอันตรายมีช้างม้าที่ดุเป็นต้น
''(หน้าที่ 201)''
ของปฏิกูลซึ่งมีเครื่องลาดเป็นต้น มีซากศพเป็นอเนกเป็นที่สุดดังว่ามานี้ เป็นสิ่งที่พระโยคีจำต้องเหยียบจำต้องดมเพราะอาหารเป็นเหตุ เราพึงพิจารณาความเป็นของปฏิกูลโดยการไปอย่างนี้ว่า แน่ะท่านผู้เจริญ อาหารน่าเกลียดแท้หนอ
===ในระแวกบ้านก็สกปรก===
จะพิจารณาความเป็นของปฏิกูลเพราะในระแวกบ้านก็สกปรก (ปริเยสนโต) อย่างไร ? ก็เราแม้อดกลั้นสิ่งที่น่าเกลียดโดยการไปอย่างนี้แล้ว เข้าไปสู่บ้านแล้วห่มผ้าสังฆาฏิ มือถือกระเบื้องเที่ยวไป ในถนนในบ้านโดยลำดับเรือนดุจคนกำพร้า ที่ในฐานที่เหยียบลงแล้ว ๆ ในฤดูฝน เท้าทั้งหลายต้องจมลงไปในโคลนเลนจนถึงเนื้อปลีแข้ง ต้องเอามือหนึ่งถือบาตรเอามือหนึ่งยกจีวร ในฤดูร้อนก็จำต้องเที่ยวไปด้วยทั้งสรีระอันเกลื่อนกล่นไปด้วยฝุ่นและละอองหญ้า อันตั้งขึ้นแล้วเพราะกำลังลมพัด ครั้นถึงประตูบ้านนั้น ๆ จำต้องเห็นและบางทีก็เหยียบหลุมโสโครกและบ่อน้ำครำ อันเจือปนด้วยน้ำล้างปลา, น้ำล้างเนื้อ, น้ำซาวข้าว, น้ำลาย, น้ำมูก, มูลสนุขและสุกรเป็นต้น เกลื่อนกล่นไปด้วยหมู่หนอนและแมลงวันหัวเขียว เป็นแดนซึ่งแมลงวันบ้านตั้งขึ้นเที่ยวจับเกาะที่ผ้าสังฆาฏิบ้าง ที่บาตรบ้าง ที่ศีรษะบ้าง แม้เมื่อพระโยคีเข้าไปสู่เรือนแล้ว บางพวกก็ถวายบางพวกก็ไม่ถวาย แม้เมื่อถวาย บางพวกก็ถวายภัตที่สุก แต่วานนี้บ้าง ของเคี้ยวที่เก่าบ้าง ขนมถั่วและแกงเป็นต้นที่บูดแล้วบ้าง ฝ่ายพวกที่ไม่ให้บางพวกก็พูดว่านิมนต์โปรดสัตว์ข้างหน้าเถิดเจ้าข้า บางพวกก็นิ่งเสียเป็นดุจไม่เห็น บางพวกก็ทำทีพูดกับคนอื่นเสีย บางพวกซ้ำด่าด้วยคำหยาบ เป็นต้นว่า เฮ้ย ! ไอ้หัวโล้นจงไปเสีย ถึงเป็นอย่างนี้พระโยคีจำต้องเที่ยวไปบิณฑบาตในบ้าน แล้วจึงออกมา พระโยคีจำต้องเหยียบ จำต้องเห็น จำต้องอดกลั้น ซึ่งของปฏิกูลมีน้ำและโคลนตมเป็นต้นนี้ จำเดิมแต่เข้าไปสู่บ้านจนกระทั่งออก ด้วยประการดังพรรณนามาฉะนี้ เธอพึงพิจารณาความเป็นของปฏิกูลโดยการแสวงหาอย่างนี้ว่า แน่ะท่านผู้เจริญ อาหารน่าเกลียดแท้หนอ ดังนี้
===ขณะกินก็สกปรก===
จะพิจารณาความเป็นของปฏิกูลเพราะขณะกินก็สกปรก (ปริโภคโต) อย่างไร ? คือพิจารณาว่า ก็พระโยคีผู้แสวงหาอาหารอย่างนี้แล้ว นั่งอย่างสบายในที่สะดวกภายนอกบ้าน ตราบใดที่ยัง
''(หน้าที่ 202)''
มิได้หย่อนมือลงไปในอาหารนั้น แลเห็นภิกษุผู้อยู่ในฐานะเป็นครูหรือมนุษย์ผู้ละอายบาปเห็นบาปนั้น ก็ยังพออาจเพื่อนิมนต์ให้ฉันอาหารเช่นนั้นได้อยู่ตราบนั้น เพราะยังไม่เป็นของปฏิกูล แต่เมื่อหย่อนมือลงไปในอาหารนี้ด้วยความเป็นผู้ต้องการฉันแล้ว เธอจะกล่าวว่าท่านจงรับเอาดังนี้ ต้องละอาย เพราะเป็นของปฏิกูลแล้ว อนึ่ง เหงื่อหลั่งออกตามง่ามนิ้วมือทั้ง 5 ของพระโยคีผู้หย่อนมือลงไปขยำอยู่ แม้ภัตที่แห้งแข็งก็ให้ชุ่มทำให้อ่อนได้ ภายหลัง เมื่ออาหารนั้นมีความงามอันสลายแล้ว แม้เพราะเหตุสักว่าขยำทำเป็นคำ ๆ ใส่วางไว้ในปาก ฟันล่างก็ทำกิจต่างครก ฟันบนทำกิจต่างสาก ลิ้นทำกิจต่างมือ อาหารนั้นอันสากคือฟันตำแล้วอันลิ้นคลุกเคล้าแล้วในปากนั้น เป็นดุจก้อนรากสุนัขในรางสุนัข น้ำลายจางใส ที่ปลายลิ้นเปื้อน แต่กลางลิ้นเข้าไปน้ำลายข้นเปื้อน มูลฟันในที่ซึ่งไม้ชำระไม่ถึงเปื้อน อาหารนั้นทั้งถูกบดถูกเปื้อนอย่างนี้ หมดสีกลิ่นและเครื่องปรุงอันวิเศษในทันทีนั้น เข้าถึงความเป็นของน่าเกลียดอย่างยิ่ง ดุจรากสุนัขอันอยู่ในรางสุนัข แม้เป็นเช่นนั้นยังกลืนกินได้ เพราะล่วงคลองจักษุไปแล้ว พระโยคีพึงพิจารณาความเป็นของปฏิกูลโดยการบริโภคอย่างที่ว่ามานั่นแหละ
===อาศัยในน้ำสกปรก===
จะพิจารณาความเป็นของปฏิกูลเพราะอาศัยในน้ำสกปรก (อาสยโต) อย่างไร ? คือพิจารณาว่า ก็แหละอาหารนี้เข้าถึงการบริโภคอย่างนี้แล้ว เมื่อเข้าไปข้างใน เพราะเหตุที่จะเป็นพระพุทธเจ้าหรือพระปัจเจกพุทธเจ้า หรือพระเจ้าจักรพรรดิก็ตามที ย่อมมีที่อาศัยอย่างใดอย่างหนึ่ง ในบรรดาที่อาศัย 4 อย่าง คือ ปิตตาสัย ที่อาศัยคือดี เสมหาสัย ที่อาศัยคือเสลด ปุพพาสัย ที่อาศัยคือหนอง โลหิตาสัย ที่อาศัยคือเลือด แต่สำหรับคนมีปัญญาน้อยมีที่อาศัยครบทั้ง 4 เพราะเหตุนั้น อาหารใดที่อาศัยคือดีมาก อาหารนั้นน่าเกลียดยิ่งนักดุจเปื้อนด้วยนำมันมะพร้าวข้น อาหารใดที่อาศัยคือเสลดมาก อาหารนั้นดุจระคนด้วยน้ำใบกากะทิง อาหารใดที่อาศัยคือหนองมาก อาหารนั้นดุจระคนด้วยเปรียงเน่า อาหารใดที่อาศัยคือโลหิตมาก อาหารนั้นน่าสะอิดสะเอียนยิ่งนักดุจระคนด้วยน้ำย้อม พระโยคีพึงพิจารณาความเป็นของปฏิกูลโดยที่อาศัยอย่างพรรณนามาฉะนี้
''(หน้าที่ 203)''
===ลำไส้สกปรกไม่เคยล้าง===
จะพิจารณาความเป็นของปฏิกูลลำไส้สกปรกไม่เคยล้าง (นิธานโต) อย่างไร ? คือพิจารณาว่า อาหารนั้นระคนด้วยที่อาศัย ในบรรดาที่อาศัยทั้ง 4 เหล่านี้อย่างใดอย่างหนึ่งแล้วเข้าไปสู่ภายในท้องไม่ใช่ไปหมักหมมอยู่ในภาชนะทองหรือภาชนะแก้วมณีหรือภาชนะเงินเป็นต้น ก็หากคนมีอายุ 10 ปีกลืนกิน ก็ย่อมตั้งอยู่ในโอกาสอันเช่นเดียวกับหลุมคูถที่ไม่ได้ชำระตลอด 10 ปี ถ้าหากคนมีอายุ 20 ปี 30 ปี 40 ปี 50 ปี 60 ปี 70 ปี 80 ปี 90 ปีกลืนกิน ก็ย่อมตั้งอยู่ในโอกาสอันเป็นหลุมคูถที่ไม้ได้ชำระตั้ง 20-30-40-50-60-70-80-90 ปี ถ้าหากคนมีอายุตั้ง 100 ปีกลืนกิน ก็ย่อมตั้งอยู่ในโอกาสเช่นเดียวกับหลุมคูถซึ่งมิได้ชำระตั้ง 100 ปี พระโยคีพึงพิจารณาความเป็นของปฏิกูลความเป็นของปฏิกูลโดยความหมักหมม อย่างพรรณนามาฉะนี้
===ยังไม่ย่อยก็สกปรก===
จะพิจารณาความปฏิกูลเพราะยังไม่ย่อยก็สกปรก (อปริปกฺกโต) อย่างไร ? คือพิจารณาว่า ก็อาหารนี้นั้นเข้าถึงความหมักหมมในโอกาสเช่นนี้ยังไม่ย่อยตราบใด ที่กลืนกินในวันนั้นก็ดี ในวันวานก็ดี ในวันก่อนแต่นั้นก็ดี ทั้งหมดถูกแผ่นเสมหะห่อหุ้มเป็นอันเดียวกันปุดเป็นฟองฟอด ซึ่งเกิดแต่ความย่อยยับ อันความร้อนแห่งไฟในกายให้ย่อยแล้วเข้าถึงความเป็นของน่าเกลียดอย่างยิ่งแล้วตั้งอยู่ในประเทศที่มืดมิดอย่างยิ่ง ที่ถูกอบด้วยกลิ่นแห่งซากศพต่าง ๆ ดุจเที่ยวไปในป่าทึบที่น่าเกลียดมีกลิ่นเหม็นยิ่งนัก ซึ่งมีประการดังกล่าวแล้วนั้นนั่นเทียวอยู่ตราบนั้น เปรียบดุหญ้า ใบไม้ ท่อนเสื่อลำแพน ซากงู สุนัข และมนุษย์เป็นต้น ซึ่งตกลงในหลุมใกล้ประตูบ้านคนจัณฑาลอันฝนไม่ใช่การตกรดแล้วในฤดูแล้ง ฤดูความร้อนของดวงอาทิตย์แผดเผา เดือดเป็นฟองฟอดแล้วตั้งอยู่ฉะนั้น พระโยคีพึงพิจารณาความเป็นของปฏิกูลโดยยังไม่ย่อยอย่างนี้
===ย่อยแล้วก็สกปรก===
จะพิจารณาความเป็นของปฏิกูลเพราะย่อยแล้วก็สกปรก (ปริปกฺกโต) อย่างไร ? คือพิจารณาว่า อาหารนั้นเป็นสภาพอันไฟในกายให้ย่อยแล้วในโอกาสนั้น และมิใช่จะให้เข้าถึงความเป็นทองเป็นเงิน
''(หน้าที่ 204)''
เป็นต้น ดุจดังธาตุทองและธาตุเงินเป็นต้นได้ แต่ก็เมื่อผุดเป็นฟองฟอดอยู่ เข้าถึงความเป็นอุจจาระ ยังกระเพาะอาหารเก่าให้เต็ม เปรียบดุจดินเหลืองซึ่งบุคคลบดดินที่ควรทำให้ละเอียดแล้วใส่เข้าในกระบอกไม้ไผ่ เข้าถึงความเป็นมูตรยังกระเพาะปัสสาวะให้เต็มอยู่ พระโยคีพึงพิจารณาความเป็นของปฏิกูลโดยย่อยแล้วอย่างที่พรรณนามานี้
===หล่อเลี้ยงซากและโรค===
จะพิจารณาความเป็นของปฏิกูลเพราะหล่อเลี้ยงซากและโรค (ผลโต) อย่างไร ? คือพิจารณาว่า ก็อาหารนี้อันไฟธาตุย่อยอยู่โดยชอบเทียว ย่อมสำเร็จเป็นซากต่าง ๆ มี ผม ขน เล็บ ฟัน เป็นต้น ที่ไม่ย่อยอยู่โดยชอบ ย่อมให้สำเร็จเป็นโรคตั้ง 100 ชนิด มีหิดเปื่อย หิดด้าน คุดทะลาด โรคเรื้อน ขี้กลาก หืด ไอลงแดง เป็นต้น นี้เป็นผลของอาหารนั้น พระโยคีพึงพิจารณาความเป็นของปฏิกูลโดยผลอย่างนี้
===ไหลออกมาก็สกปรก===
จะพิจารณาความเป็นของปฏิกูลเพราะไหลออกมาก็สกปรก (นิสฺสนฺทโต) อย่างไร? คือพิจารณาว่า ก็อาหารนี้อันบุคคลกลืนกินอยู่ เข้าไปโดยทวารช่องเดียว เมื่อจะหลั่งออกย่อมออกโดยทวารเป็นอเนก โดยประการเป็นต้นว่า ขี้ตาไหลจากตา ขี้หูไหลจากหู อนึ่ง อาหารนี้ในเวลาที่กลืนกิน บุคคลย่อมกลืนกินแม้ด้วยทั้งบริวารมาก แต่ในเวลาที่ถ่ายออก เข้าถึงความเป็นอุจจาระและปัสสาวะ เป็นต้น เฉพาะคน ๆ เดียวย่อมถ่ายออก ก็เมื่อบริโภคอาหารนั้นในวันแรกทั้งยินดีทั้งร่าเริง ปลื้มจิตโปร่งใจเกิดปีติโสมนัส พอวันที่ 2 เมื่อจะถ่ายออกย่อมปิดจมูกสยิ้วหน้าสะอิดสะเอียนเก้อเขิน อนึ่ง ในวันแรกเขากำหนัดแล้วชอบใจจดจ่อ แม้สยบหมกมุ่นกลืนกินอาหารนั้น ครั้นวันที่ 2 ค้างอยู่เพียงคืนเดียวก็เบื่อหน่ายอึดอัดระอารังเกียจจึงต้องถ่ายออก เพราะเหตุนั้นท่านอาจารย์ดึกดำบรรพ์จึงกล่าวว่า
อาหารเครื่องดื่มของเคี้ยวและโภชนะซึ่งมีค่ามาก เข้าโดยทวารช่องเดียว แต่หลั่งออกโดยทวารตั้ง 9 ช่อง อาหารเครื่องดื่มของเคี้ยวและโภชนะซึ่งมีค่ามาก บุคคลมีบริวารแวดล้อมบริโภคอยู่ แต่เวลาเขาจะถ่ายออกย่อมแอบแฝง อาหารเครื่องดื่มของเคี้ยวและโภชนะซึ่งมีค่ามาก บุคคลชื่นชมบริโภคอยู่แต่เมื่อ
''(หน้าที่ 205)''
จะให้ถ่ายออก กลับเกลียดอาหารเครื่องดื่มของเคี้ยวซึ่งมีค่ามาก โดยขังอยู่เพียงคืนเดียวเท่านั้น กลายเป็นของเน่าไปหมด ฉะนี้
พระโยคีพึงพิจารณาความเป็นของปฏิกูลโดยหลั่งไหลออกอย่างนี้
===แตะอะไรก็เปรอะเปื้อน===
จะพิจารณาความเป็นของปฏิกูลเพราะแตะอะไรก็เปรอะเปื้อน (สมฺมกฺขนโต) อย่างไร ? คือพิจารณาว่า ก็อาหารนี้ แม้ในเวลาบริโภค ย่อมยังมือปากลิ้นและเพดานให้เปื้อน เพราะถูกอาหารนั้นเปื้อน อวัยะเหล่านั้นจึงเป็นของปฏิกูล ซึ่งแม้จะล้างแล้วก็จำต้องล้างบ่อย ๆ เพื่อขจัดกลิ่น อาหารเมื่อบริโภคเข้าไปแล้ว เช่นเดียวกับเมื่อหุงข้าวสุกแกลบรำปลายข้าวเป็นต้นเดือดปุดขึ้นแล้ว ย่อมเปื้อนขอบปากหม้อและฝาหม้อ ฉันใด อาหารอันไฟประจำกายซึ่งไปตามสรีระทั้งร่าง เผาให้เดือดปุดเป็นฟองฟูดขึ้นมาอยู่ ย่อมยังฟันให้เปื้อนโดยความเป็นมลทินฟัน ย่อมยังอวัยวะมีลิ้นและเพดานเป็นต้นให้เปื้อนโดยความเป็นน้ำลายและเสมหะเป็นต้น ยัง ตา หู จมูก ทวารหนักเป็นต้นให้เปื้อนโดยความเป็นขี้ตา ขี้หู น้ำมูก ปัสสาวะ และอุจจาระเป็นต้น อันเป็นเหตุให้บรรดาทวารที่ถูกเปื้อนแล้ว แม้บุคคลล้างอยู่ทุก ๆ วันก็ไม่เป็นของสะอาด ไม่เป็นของน่าฟูใจ ซึ่งเป็นที่ ๆ บุคคลล้างทวารบางทวารแล้วจำต้องล้างมือด้วยน้ำอีก บุคคลล้างทวารบางทวารแล้ว ล้างมือด้วยโคมัยก็ดี ดินเหนียวก็ดี จุณหอมก็ดี ตั้ง 2 ครั้ง ความเป็นของปฏิกูลก็ยังไม่ไปปราศ พระโยคีพึงพิจารณาความเป็นของปฏิกูลโดยการเปื้อนอย่างนี้
==การบรรลุอุปจารฌาน==
เมื่อพระโยคีนั้น พิจารณาความเป็นของปฏิกูลโดยอาการ 10 อย่าง ดังบรรยายมานี้อยู่ ทำให้เป็นคุณชาติอันความตรึกและวิตกคร่ามาแล้ว กวฬิงการาหารย่อมปรากฏด้วยสามารถอาการเป็นของปฏิกูล เธอย่อมหมั่นเสพเจริญเพิ่มพูนนิมิตนั้นบ่อย ๆ เมื่อเธอทำอย่างนั้น นิวรณ์ย่อมสงบ แต่เพราะเหตุที่กวฬิงการาหารเป็นของลึกโดยความเป็นสภาวธรรม จิตจึงขึ้นถึงเพียงอุปจารสมาธิ ซึ่งไม่ถึงขั้นอัปปนาสมาธิ อนึ่ง สัญญาในอธิการนี้ย่อมเป็นคุณชาติปรากฏด้วยอำนาจการถือเอาโดยอาการเป็นของปฏิกูล เหตุนั้น กรรมฐานนี้จึงถึงการนับว่าอาหาเรปฏิกูลสัญญา ความสำคัญหมายว่าเป็นของปฏิกูลในอาหาร
''(หน้าที่ 206)''
ก็แหละ จิตของภิกษุผู้หมั่นประกอบปฏิกูลสัญญาในอาหารนี้ ย่อมหดกลับถอยหลังจากความอยากในรส เธอเป็นผู้หมดความเมา กลืนกินอาหารเพียงเพื่อต้องการบำบัดทุกข์ ดุจคนต้องการข้ามทางกันดารหมดความอยากในเนื้อบุตร จำต้องกลืนกินเนื้อบุตร ฉะนั้น ครั้นคราวนี้ราคะซึ่งเนื่องด้วยกามคุณ 5 ย่อมถึงความกำหนดจับได้แก่เธอ ด้วยมุขคือปรีชา คอยจับกวฬิงการาหารโดยไม่ลำเค็ญเลย
เธอกำหนดรู้รูปขันธ์ด้วยมุขคือปรีชากำหนดรู้กามคุณ 5 อย่าง และแม้กายคตาสติภาวนา ย่อมถึงความเต็มเปี่ยมแก่เธอ ด้วยอำนาจความเป็นของปฏิกูลแห่งอาหารที่ยังไม่ย่อย เป็นต้น เธอชื่อว่าเป็นผู้ดำเนินตามปฏิปทาอันอนุโลมแก่อสุภสัญญา ก็เธออาศัยข้อปฏิบัตินี้ แม้ยังไม่ประสบความเป็นผู้มีพระอมตะเป็นที่สุดในภพปัจจุบัน ก็จะเป็นผู้มีสุคติเป็นที่ไปในเบื้องหน้า
นี้เป็นถ้อยแถลงอย่างพิสดารในการเจริญอาหาเรปฏิกูลสัญญา
=จตุธาตุววัฏฐานกถา=
คำที่ข้าพเจ้า[[วิสุทธิมรรค_ฉบับปรับสำนวน_ปริจเฉท_3_กัมมัฏฐานคหณนิทเทส#โดยอธิบายวิธีนับจำนวน|กล่าวไว้]]เคยกล่าวไว้ต่อจากอาหารเรปฏิกูลสัญญากัมมัฏฐานว่า
7. ววัตถานกัมมัฏฐาน 1 อย่าง
บัดนี้ ถึงลำดับการอธิบายวิธีเจริญจตุธาตุววัฏฐานนั้นแล้ว.
ในคำว่าจตุธาตุววัตถานนั้น บทว่า '''ววัตถาน''' (การจัดหมู่) คือ การตัดสินธรรมะด้วยการสังเกตสภาวะ, การตัดสินธาตุ 4 ชื่อว่า จตุธาตุววัฏฐาน.
คำเหล่านี้มีความหมายเหมือนกัน ทั้งคำว่า ธาตุมนสิการ (กรรมฐานคือการเฝ้านึกถึงแต่ธาตุ) ทั้งคำว่า ธาตุกัมมัฏฐาน (กรรมฐานเกี่ยวกับธาตุ) , ทั้งคำว่า จตุธาตุววัฏฐาน (การตัดสินธาตุ 4).
==ธาตุ 4 สำหรับท่องจำ==
===อย่างย่อสำหรับปัญญาแก่กล้า===
พระพุทธเจ้าสอนธาตุววัฏฐานกรรมฐานไว้ 2 แบบ คือ แบบย่อ 1 แบบละเอียด 1. แบบย่อสอนในมหาสติปัฏฐานสูตร แบบละเอียดสอนในมหาหัตถิปโทปมสูตร ในราหูโลวาทสูตร และในธาตุวิภังคสูตร.
ก็การกำหนดธาตุ 4 นั้น มาแล้วโดยย่อใน[[w:มหาสติปัฏฐานสูตร]] ด้วยสามารถภิกษุผู้เจริญธาตุกรรมฐานผู้มีปัญญาแก่กล้าอย่างนี้ว่า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เหมือนอย่างนายโคฆาตก์หรือลูกมือของนายโคฆาตก์ผู้ขยัน ฆ่าโคแล้วพึงนับแบ่งเนื้อออกเป็นชิ้น ๆ นั่งในทางใหญ่ 4 แพร่ง ฉันใด ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุย่อมพิจารณากายนี้แหละ ตามที่ตั้งอยู่แล้ว ตามที่ดำรงอยู่แล้วโดยธาตุว่า ในกายนี้มี ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ วายธาตุ ฉันนั้น
''(หน้าที่ 207)''
'''อรรถกถาธาตุ 4 อย่างย่อ'''
ความแห่งพระสูตรนั้นว่า เปรียบดุจนายโคฆาตก์หรือลูกมือของนายโคฆาตก์ผู้ฉลาดนั่นแหละ ผู้อื่นเขาจ้างแล้วด้วยภัตและบำเหน็จ ฆ่าแม่โคแล้ว ชำแหละแล้ว นั่งปันเป็นส่วน ๆ ในทางใหญ่ 4 แพร่ง กล่าวคือฐานกลางของทางใหญ่ซึ่งแยกไปสู่ 4 ทิศ ฉันใด ภิกษุย่อมพิจารณากาย ซึ่งชื่อว่าตามที่ตั้งอยู่ เพราะตั้งอยู่โดยอาการอย่างใดอย่างหนึ่งแห่งอิริยาบถทั้ง 4 หรือชื่อว่าตามที่ดำรงแล้ว เพราะตามที่ตั้งอยู่แล้วนั่นเอง โดยความเป็นธาตุอย่างนี้ว่า ในกายนี้มี ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ วาโยธาตุ ฉันนั้น มีอธิบายอย่างไร ? อธิบายว่าเมื่อนายโคฆาตก์เลี้ยงโคอยู่ก็ดี นำมาสู่ที่ฆ่าก็ดี จูงมาผูกมัดไว้ในที่ฆ่านั้นก็ดี ฆ่าอยู่ก็ดี เห็นโคที่ฆ่าแล้วตายแล้วก็ดี ความสำคัญหมายว่าแม่โคยังไม่สูญหาย ตราบเท่าที่ยังไม่ชำแหละโคนั้นแบ่งออกเป็นชิ้น ๆ แต่เมื่อเธอแบ่งออกแล้วนั่งอยู่ ความหมายว่าแม่โคย่อมหายไป กลายเป็นหมายว่าเนื้อ เธอหาคิดอย่างนี้ไม่ว่า เราขายแม่โค คนเหล่านี้ซื้อแม่โคไป อันที่แท้เธอย่อมคิดอย่างนี้ว่า เราขายเนื้อ แม้ชนเหล่านี้ซื้อเนื้อไป ฉันใด แม้เมื่อภิกษุนี้ครั้งก่อนคือ ในเวลาเป็นปุถุชน คนโง่ จะเป็นคฤหัสถ์ก็ตาม บรรพชิตก็ตาม ความสำคัญหมายว่าสัตว์ว่าสัตว์เลี้ยงหรือว่าบุคคลยังไม่สูญในทันทีตราบเท่าที่ยังมิได้ทำการแยกก่อน พิจารณากายนี้ตามที่ตั้งอยู่แล้วตามที่ดำรงอยู่แล้วโดยความเป็นธาตุ แต่เมื่อพระโยคีพิจารณาโดยความเป็นธาตุ ความสำคัญหมายว่าเป็นสัตว์ย่อมสูญหาย จิตย่อมตั้งจดจ่ออยู่ด้วย สามารถเป็นธาตุฝ่ายเดียวเพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย นายโคฆาตย์ผู้ขยัน ฯลฯ พึงเป็นผู้นั่งแล้ว ฉันใด ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุก็เช่นเดียวกัน ฯลฯ วาโยธาตุ ฉะนี้
===อย่างยาวสำหรับปัญญาอ่อนหัด===
แต่ในมหาหัตถิปโทปมสูตร ทรงแสดงโดยพิสดารด้วยสามารถภิกษุผู้บำเพ็ญธาตุกรรมฐานซึ่งมีปัญญาไม่เฉียบแหลมนักอย่างนี้ว่า
ดูกรอาวุโส ก็ปฐวีธาตุภายในเป็นไฉน ? สิ่งใดที่หยาบแข็ง อันปุถุชนยึดมั่นแล้วเป็นภายในจำเพาะตัว คือ ผม ขน เล็บ ฟัน ฯลฯ อาหารใหม่ อาหารเก่า ก็หรืออันใด อันหนึ่งแม้อื่น ที่หยาบแข็งอันปุถุชนยึดมั่นแล้ว ซึ่งเป็นไปในภายในเฉพาะตน ดูกรอาวุโสนี้แหละคือปฐวีธาตุอันเป็นไปในภายใน ดังนี้ด้วย
ดุกรอาวุโส ก็อาโปธาตุภายในเป็นไฉน ? สิ่งใดเป็นของเอิบอาบ ถึงความซึมซาบ อันปุถุชนยึดมั่นแล้ว เป็นภายในเฉพาะตัว คือ ดี ฯลฯ มูตร ก็หรืออันใดอันหนึ่ง
''(หน้าที่ 208)''
แม้อื่นที่เป็นของเอิบอาบถึงความซึมซาบ อันปุถุชนยึดมั่นแล้ว เป็นภายในเฉพาะตัว ดูกรอาวุโส นี้เรียกว่าอาโปธาตุอันเป็นไปภายใน ดังนี้ด้วย
ดูกรอาวุโส ก็เตโชธาตุภายในเป็นไฉน ? สิ่งใดเป็นของร้อนถึงความเป็นของร้อน อันปุถุชนยึดมั่นแล้ว เป็นภายในเฉพาะตัว คือสิ่งที่เป็นเหตุให้เร่าร้อน ให้โทรม ให้ถูกเผาผลาญ ให้ของที่บริโภคของที่ดื่มของที่กัดกินและของที่ลิ้มถึงความย่อยด้วยดี ก็หรืออันใดอันหนึ่งแม้อื่นที่เป็นของร้อนถึงความเป็นของร้อน อันปุถุชนยึดมั่นแล้ว ซึ่งเป็นภายในเฉพาะตัว ดุกรอาวุโส นี้เรียกว่าเตโชธาตุภายใน ดังนี้ด้วย
ดูกรอาวุโส ก็วาโยธาตุอันเป็นไปภายในเป็นไฉน? สิ่งใดเป็นลมถึงความพัดโบกอันปุถุชนยึดมั่นแล้ว เป็นภายในเฉพาะตัว ลมพัดขึ้นเบื้องบน ลมพัดลงเบื้องต่ำ ลมพัดอยู่ในท้อง ลมพัดอยู่ในไส้ ลมที่แล่นไปในอวัยวะน้อยใหญ่ ลมหายใจออกเข้า ก็หรือว่าอันใดอันหนึ่งที่มีลักษณะดังนี้ หรือแม้อันอื่นคือเป็นลมถึงความพัดโบก อันปุถุชนยึดมั่นแล้ว เป็นไปภายในเฉพาะตัว ดูกรอาวุโส นี้เรียกว่าวาโยธาตุอันเป็นไปภายใน ดังนี้ด้วย
ก็ในมหาหัตถิปโทปมสูตรนี้ฉันใด แม้ในราหุโลวาทสูตรและธาตุวิภังคสูตร ก็เหมือนกัน ฉันนั้น
'''อรรถกถาธาตุ 4 อย่างยาว'''
ในพระสูตรนั้น มีขยายความบทที่ยังไม่กระจ่างดังต่อไปนี้ คำว่า อันเป็นไปภายในเฉพาะตัว ทั้ง 2 นี้เป็นชื่อของสิ่งที่เป็นนิยกะ สิ่งที่เกิดในตน อธิบายว่า เนื่องกับสันดานของตนชื่อว่านิยกะ นิยกะนี้นั้นฉันเดียวกับคำพูดในหมู่หญิงในโลก เขาย่อมเรียกว่าอธิตถี คำเฉพาะผู้หญิง ฉันใด เรียกว่าเป็นภายในเพราะเป็นไปในตน เรียกว่าเฉพาะตน เพราะอาศัยตนเป็นไป ฉันนั้น คำว่า หยาบคือแข้น คำว่า แข็งคือกระด้าง ในคำเหล่านั้น คำที่ 1 บอกลักษณะ คำที่ 2 บอกอาการ เพราะว่าปฐวีธาตุมีลักษณะแข้นแข็ง ปฐวีธาตุนั้นมีอาการหยาบ เพราะเหตุนั้น จึงเรียกว่าแข็ง คำว่า อันปุถุชนยึดมั่น คือยึดถืออย่างมั่นได้แก่ถืออย่างแน่นอย่างนี้ ว่าเรา ว่าของเรา ดังนี้ ความว่า จับแล้วคลำแล้ว คำว่า เสยฺยถีทํ นี้เป็นนิบาต ความของนิบาตนั้นว่า หากจะถามว่า ข้อนั้นได้แก่อะไร แต่นั้นเมื่อจะแสดงสิ่งที่ถามถึงนั้น จึงกล่าวคำเป็นต้นว่า ผม ขน อนึ่ง ในที่นี้บัณฑิตพึงทราบว่าท่านแสดงปฐวีธาตุโดยอาการ 20 โดยรวมมันสมองเข้าในเยื่อกระดูกด้วย ด้วยบทว่า ก็หรือสิ่งอะไร ๆ แม้อื่นสงเคราะห์ปฐวีเข้าในส่วนทั้ง 3 ที่เหลือ
''(หน้าที่ 209)''
สภาพที่เอิบ คืออาบไปสู่ที่นั้น ๆ โดยความเป็นของซึมแทรกไป เหตุนั้นชื่อว่าอาโป สภาพที่ไปแล้วในสภาพที่ซึมซาบทั้งหลายมีอย่างต่าง ๆ ด้วยสามารถแห่งสภาพที่มีกรรมเป็นสมุฏฐานเป็นต้น เหตุนั้นชื่อว่าถึงความซึมซาบ สิ่งนั้นได้แก่อะไร ? ได้แก่สิ่งที่มีลักษณะเอิบอาบแห่งอาโปธาตุ
ชื่อว่าไฟ ด้วยอำนาจความร้อน ชื่อว่าถึงความเร่าร้อน เพราะเหตุที่ไปแล้วในภาวะที่ร้อนทั้งหลายตามนัยที่กล่าวแล้ว สิ่งนั้นได้แก่อะไร ? ได้แก่สิ่งที่มีลักษณะที่อบอ้าว คำว่า ก็ด้วยสิ่งใด ความว่า ด้วยสิ่งที่นับว่าไฟใดกำเริบแล้วกายนี้ย่อมเร่าร้อน คือเกิดร้อนรุ่มด้วยภาวะมีต้องแก่ประจำทุกวัน เป็นต้น คำว่า และเป็นเหตุให้โทรม คือเป็นเหตุให้กายนี้คร่ำคร่า คือให้ถึงความเป็นผู้มีอินทรีย์พิกลสิ้นกำลังและหนังเหี่ยวผมหงอกเป็นต้น คำว่าและเป็นเหตุให้ถูกเผาผลาญ คือสิ่งใดกำเริบแล้วกายนี้ย่อมถูกเผา และบุคคลนั้นคร่ำครวญอยู่ว่า เราย่อมถูกเผา ๆ ดังนี้ ย่อมหวังการทาน้ำมันเนยที่เคี่ยวแล้วร้อยครั้งปล่อยให้เย็นและอินทรีย์ที่เย็นเหมือนน้ำเป็นต้น และลมอันเกิดแก่พัดใบตาล คำว่า ให้ของบริโภคของดื่มของเคี้ยวของลิ้มถึงความย่อยไปด้วยดี คือเป็นเครื่องถึงความหายไปโดยเป็นรสเป็นต้นด้วยดี แห่งของบริโภคมีข้าวสุกเป็นต้นนี้ หรือเครื่องดื่มมีน้ำเป็นต้น หรือของเคี้ยวมีแป้งและอาหารว่างเป็นต้น หรือของลิ้มมีมะม่วงสุกน้ำผึ้งน้ำอ้อยเป็นต้นนี้ ก็ในบรรดาลักษณะเหล่านี้ ลักษณะ 3 ข้างต้นมีเตโชธาตุเป็นสมุฏฐาน ลักษณะหลังมีกรรมเป็นสมุฏฐานอย่างเดียว
ชื่อว่า ลม ด้วยอำนาจกระพือพัด ที่ชื่อว่า ถึงความโบกพัด คือนับเข้าในจำพวกลมทั้งหลายตามนัยที่กล่าวแล้ว สิ่งนั้นได้แก่อะไร ? ได้แก่สิ่งที่มีลักษณะไหว ชื่อว่าลมขึ้นเบื้องบน ได้แก่ลมที่ตีขึ้นข้างบนอันเป็นไปแล้วด้วยอำนาจการอ้วกเป็นต้น ชื่อว่า ลมพัดลงเบื้องต่ำ ได้แก่ลมที่กดลงเบื้องต่ำที่นำอุจจาระและปัสสาวะเป็นต้นออกมา ชื่อว่า ลมอยู่ในท้อง คือลมภายนอกไส้ใหญ่ทั้งหลาย ชื่อว่า ลมในไส้ คือลมภายในไส้ใหญ่ ชื่อว่า ลมแล่นไปตามร่างกาย คือลมที่เกิดเพราะการงอเข้าและเหยียดออกเป็นต้น ซึ่งซ่านไปสู่อวัยวะน้อยใหญ่ในสรีระทั้งสิ้นตามแนวแห่งข่ายคือเส้นเอ็น ชื่อว่า ลมอัสสาสะ คือลมในจมูกที่เข้า
''(หน้าที่ 210)''
ข้างใน ชื่อว่า ลมปัสสาสะ ได้แก่ลมในจมูกที่ออกข้างนอก และในลมเหล่านี้ ลม 5 ชนิดตอนต้นมี 4 สมุฏฐาน ลมอัสสาสะปัสสาสะ มีจิตเป็นสมุฏฐานอย่างเดียว ก็ด้วยบทว่า ก็หรือสิ่งใดสิ่งหนึ่งแม้อื่น ดังนี้ ในทุก ๆ แห่ง ท่านสงเคราะห์อาโปธาตุเป็นต้นเข้าในส่วนที่เหลือทั้งหลาย ธาตุ 4 เป็นอันท่านให้พิสดารด้วยอาการ 42 คือ ปฐวีธาตุโดยอาการ 20 อาโปธาตุโดยอาการ 12 เตโชธาตุโดยอาการ 4 วาโยธาตุโดยอาการ 6 ดังพรรณนามาฉะนี้
การขยายความบาลีในอธิการนี้ เพียงเท่านี้ก่อน
==วิธีภาวนาธาตุ 4 ให้ต่อเนื่อง==
===วิธีภาวนาธาตุ 4 อย่างย่อ===
ก็พึงทราบวินิจฉัยในนัยแห่งการเจริญในธาตุกรรมฐานนี้ การกำหนดธาตุอย่างพิสดารอย่างนี้ว่า ผมเป็นปฐวีธาตุ ขนเป็นปฐวีธาตุ ดังนี้ ย่อมปรากฏโดยความเป็นของเนิ่นช้าแก่ภิกษุผู้มีปัญญาเฉียบแหลม แต่เมื่อผู้มีปัญญาเฉียบแหลมนั้นใฝ่ใจอยู่อย่างนี้ว่า สิ่งใดมีลักษณะแข้นแข็ง สิ่งนั้นคือปฐวีธาตุ สิ่งใดมีลักษณะเอิบอาบ สิ่งนั้นคืออาโปธาตุ สิ่งใดมีลักษณะให้อบอุ่น สิ่งนั้นคือเตโชธาตุ ดังนี้ กรรมฐานย่อมปรากฏแต่ผู้มีปัญญาไม่เฉียบแหลมนัก ใฝ่ใจอยู่อย่างนี้ กรรมฐานนี้ย่อมมืดมัวไม่แจ่มแจ้ง เมื่อเธอใฝ่ใจโดยพิสดารตามนัยก่อนกรรมฐานจึงจะปรากฏได้ชัด ถามว่าใฝ่ใจอย่างไร ? เปรียบเหมือนภิกษุ 2 รูป สาธยายบาลีที่มีเปยยาลมาก ภิกษุผู้มีปัญญาเฉียบแหลมยังบาลีหน้าเปยยาลให้พิสดารครั้งเดียวหรือสองครั้ง เบื้องหน้าแต่นั้นก็ทำการสาธยายด้วยสามารถที่สุด 2 ข้างจึงเลยไปในภิกษุ 2 รูปนั้น ฝ่ายรูปที่มีปัญญาไม่เฉียบแหลม จะกล่าวอย่างนี้ว่า นี้ชื่อว่าสาธยายอะไรกัน ไม่ให้ทำเพียงกระทบริมฝีปาก เมื่อทำการสาธยายอยู่อย่างนี้เมื่อไรบาลีจึงจักคล่อง เธอจึงทำการสาธยายยังบาลีเปยยาลที่มาถึงแล้ว ๆ ให้พิสดาร ฝ่ายภิกษุผู้มีปัญญาเฉียบแหลมจะกล่าวกะเธออย่างนี้ว่า นี่ชื่อสาธยายอะไรกัน ไม่ให้ถึงที่สุดสักที เมื่อทำการสาธยายอย่างนี้เมื่อไรบาลีจึงจักถึงที่สุดได้ ดังนี้ ฉันใด การกำหนดธาตุอย่างพิสดารด้วยอำนาจผมเป็นต้นย่อมปรากฏโดยเป็นของช้า ๆ แก่ภิกษุผู้มีปัญญาเฉียบแหลม ฉันนั้น แต่เมื่อท่านใฝ่ใจย่อโดยนัยเป็นต้นว่าสิ่งใดมีลักษณะเข้นแข็งสิ่งนี้คือ ปฐวีธาตุ ดังนี้ กรรมฐานย่อมปรากฏ ฝ่ายภิกษุทรามปัญญาใฝ่ใจเหมือนอย่างนั้น กรรมฐานกลับมืดไม่แจ่ม เมื่อใฝ่ใจโดยพิสดารด้วยสามารถผมเป็นต้น กรรมฐานย่อมแจ่มชัด
''(หน้าที่ 211)''
เหตุนั้นภิกษุผู้มีปัญญาเฉียบแหลมต้องการเจริญกรรมฐาน พึงไปในที่ลับหลีกเร้นอยู่ นึกถึงรูปกายของตนแม้ทั้งสิ้นก่อน จึงกำหนดธาตุโดยย่ออย่างนี้ว่า ภาวะแข็งหรือกระด้างในกายนี้อันใดนี้คือปฐวีธาตุ ภาวะที่เอิบอาบซึมซาบอันใดนี้คืออาโปธาตุ ภาวะที่ให้ย่อยหรืออบอุ่นอันใดนี้คือเตโชธาตุ ภาวะที่ให้เคลื่อนไหวหรือที่เบ่งนี้ คือวาโยธาตุ ดังนี้ แล้วจึงนึกใฝ่ใจสอดส่อง โดยความเป็นสักแต่ว่าธาตุ โดยมิใช่สัตว์ โดยมิใช่ชีวะ ว่าปฐวีธาตุ อาโปธาตุ ดังนี้บ่อยๆ เมื่อเธอพยายามใช้ปัญญากำหนดสอดส่องชนิดแห่งธาตุอย่างนี้ต่อกาลไม่นานนักสมาธิขั้นอุปจาระได้ปัญญาเครื่องสอดส่องประเภทแห่งธาตุช่วยพยุงแล้วก็เกิดขึ้น ไม่ถึงขั้นอัปปนาเพราะมีสภาวธรรมเป็นอารมณ์
อีกสมัยหนึ่งส่วน 4 ประเภทเหล่านี้ใด ซึ่งพระธรรมเสนาบดีสารีบุตรกล่าวไว้เพื่อแสดงความที่มหาภูตทั้ง 4 ไม่ใช่สัตว์ว่า อาศัยกระดูก, อาศัยเอ็น, อาศัยเนื้อ, อาศัยหนัง, อากาศที่ล้อมรอบ ถึงความนับว่ารูปฉะนี้ พระโยคีพึงเอามือคือฌานที่สอดส่องไปตามระหว่างแห่งกระดูกเป็นต้นนั้น ๆ แหวกส่วนเหล่านั้นแล้วกำหนดธาตุทั้งหลายตามนัยก่อนนั้นแหละว่า ในธาตุ 4 เหล่านั้นภาวะแข็งหรือกระด้างอันใดนี้คือปฐวีธาตุแล้วจึงนึกในใจพิจารณาบ่อย ๆ โดยเป็นสักแต่ว่าธาตุ ไม่ใช่สัตว์ไม่ใช่ชีพ ว่า ปฐวีธาตุ, อาโปธาตุ, ดังนี้บ่อยๆ
เมื่อเธอพยายามอยู่อย่างนี้ ต่อกาลไม่นานนักสมาธิขั้นอุปจาระได้ปัญญาเครื่องส่องประเภทแห่งธาตุพยุงแล้วก็เกิดขึ้น ไม่ถึงขั้นอัปปนา เพราะมีสภาวะธรรมเป็นอารมณ์
นี้เป็นภาวนามัย ในการกำหนดธาตุ 4 ซึ่งพรรณนาโดยย่อ
===วิธีภาวนาธาตุ 4 อย่างละเอียด===
ส่วนที่พรรณนาโดยพิสดาร บัณฑิตพึงทราบอย่างนี้ คือ พระโยคีผู้มีปัญญาไม่เฉียบแหลม ต้องการเจริญกรรมฐานนี้ เรียนธาตุอย่างพิสดารด้วยอาการ 42 ในสำนักของอาจารย์ไปอยู่ในเสนาสนะมีประการดังกล่าวแล้ว ทำกิจทุกอย่างเสร็จแล้ว ไปในที่ลับหลีกเร้นอยู่ พึงเจริญกรรมฐานโดยอาการทั้ง 4 อย่างนี้ คือ-
1. โดยย่อพร้อมทั้งเครื่องปรุง
2. โดยแยกพร้อมทั้งเครื่องปรุง
3. โดยย่อพร้อมทั้งลักษณะ
4. โดยแยกพร้อมทั้งลักษณะ
''(หน้าที่ 212)''
====โดยย่อพร้อมทั้งเครื่องปรุง====
ใน 4 อย่างนั้น อย่างไรภิกษุชื่อว่าเจริญ โดยย่อพร้อมทั้งเครื่องปรุง ? คือภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ กำหนดอาการที่กระด้างในส่วน 20 ว่า ปฐวีธาตุ กำหนดอาการที่เอิบอาบได้แก่น้ำ ซึ่งถึงความซึมแทรกในส่วน 12 ว่า อาโปธาตุ กำหนดไฟที่ให้ย่อยในส่วน 4 ว่า เตโชธาตุ กำหนดการกระพึดพัดในส่วนทั้ง 6 ว่า วาโยธาตุ เมื่อเธอกำหนดอยู่อย่างนี้ ธาตุย่อมปรากฏ เมื่อรำพึงในใจถึงธาตุเหล่านั้นอยู่บ่อย ๆ อุปจารสมาธิย่อมเกิดตามนัยที่กล่าวแล้วแล
====โดยจำแนกออกไปพร้อมทั้งเครื่องปรุง====
ก็เมื่อพระโยคีใดเจริญอยู่อย่างนี้กรรมฐานไม่สำเร็จ พระโยคีนั้นพึงเจริญโดยจำแนกออกไปพร้อมทั้งเครื่องปรุง คืออย่างไร ? คือภิกษุนั้นไม่พึงยังอุคคหโกศลโดยส่วน 7 และมนสิการโกศลโดยส่วน 10 ซึ่งกล่าวไว้แล้วในกายคตาสติกัมมัฏฐานนิทเทสนั้น ทั้งหมดไม่ให้บกพร่อง ทำการสาธยายด้วยวาจาโดยอนุโลมและปฏิโลม ทำตจปัญจกะเป็นต้นให้เป็นเบื้องต้น แล้วพึงทำวิธีดังที่กล่าวแล้วในกรรมฐานนั้นทั้งหมด
แต่ที่แปลกกันมีอย่างนี้ คือในกายคตาสตินั้น แม้ใฝ่ใจผมเป็นต้นด้วยอำนาจสี, สัณฐาน, ทิศ, โอกาส, ปริจเฉทแล้ว พึงตั้งใจกำหนดด้วยสามารถความเป็นของปฏิกูลอีก แต่ในที่นี้พึงตั้งใจด้วยสามารถความเป็นธาตุ
เพราะเหตุนั้น พึงใฝ่ใจผมเป็นต้นอย่างละ 5 ๆ ด้วยสามารถสีเป็นต้น แล้วจึงยังมนสิการให้เป็นไปอย่างนี้ในอวสาน ใจความว่า
=====1. ปฐวีธาตุ=====
1. ชื่อว่าผมเหล่านี้ เกิดที่หนังหุ้มกะโหลกศีรษะ พึงกำหนดในผมเหล่านั้นว่า เมื่อหญ้ากุณฐะ หญ้าที่แข็งเกิดบนยอดจอมปลวก จอมปลวกหารู้ไม่ว่า หญ้ากุณฐะเกิดบนเรา แม้หญ้ากุณฐะก็หารู้ไม่ว่า เราเกิดบนจอมปลวก ฉันใด หนังหุ้มกะโหลกศีรษะก็เช่นกัน หารู้ไม่ว่าผมเกิดในเรา แม้ผมก็หารู้ไม่ว่าเราเกิดบนหนังหุ้มกะโหลกศีรษะ ธรรมเหล่านี้เว้นแล้วจากการใส่ใจและพิจารณากันและกัน ชื่อว่า ผมทั้งหลาย ชื่อว่า ดังบรรยายมานี้ ได้แก่ส่วนหนึ่งโดยเฉพาะในสรีระนี้ เป็นสภาพที่ไม่มีเจตนา เป็นอัพยากฤต ว่างเปล่า มิใช่สัตว์แข็งกระด้าง จัดเป็นปฐวีธาตุ
''(หน้าที่ 213)''
2. ขนเกิดในหนังหุ้มสรีระ พึงกำหนดในขนเหล่านั้นว่า เมื่อหญ้าแพรกเกิด ในสถานที่บ้านร้าง สถานที่บ้านร้างหารู้ไม่ว่าหญ้าแพรกเกิดที่เรา แม้หญ้าแพรกก็หารู้ไม่ว่า เราเกิดในสถานที่บ้านร้าง ฉันใด หนังหุ้มสรีระก็เช่นกัน หารู้สึกไม่ว่าขนเกิดในเรา แม้ขนก็หารู้ไม่ว่าเราเกิดในหนังหุ้มสรีระ ธรรมเหล่านี้เว้นเล้วจากการใส่ใจและพิจารณากันและกัน ชื่อว่าขนทั้งหลาย ดังบรรยายมานี้ ได้แก่ส่วนหนึ่งเฉพาะในสรีระนี้ เป็นสภาพไม่มีเจตนา เป็นอัพยากฤต ว่างเปล่า มิใช่สัตว์ แข็งกระด้าง จัดเป็นปฐวีธาตุ
3. เล็บเกิดที่ปลายนิ้วมือ พึงกำหนดในเล็บนั้นว่า เมื่อเด็กเอาไม้เรียวแทงเมล็ดมะทรางเข้าไปแล้วเล่นอยู่ ไม้เรียวหารู้ไม่ว่าเมล็ดมะทรางตั้งอยู่ในเรา แม้เมล็ดมะทรางก็หารู้ไม่ว่าเราตั้งอยู่ที่ปลายไม้เรียว ฉันใด นิ้วมือทั้งหลายก็เช่นกัน ย่อมไม่รู้ว่าเล็บเกิดที่ปลายนิ้วทั้งหลาย ธรรมเหล่านี้เว้นแล้วจากการใส่ใจและพิจารณากันและกัน ชื่อว่าเล็บทั้งหลาย ดังบรรยายมานี้ ได้แก่ส่วนหนึ่งโดยเฉพาะในสรีระนี้ เป็นสภาพไม่มีเจตนา เป็นอัพยากฤต ว่างเปล่า มิใช่สัตว์ แข็งกระด้าง จัดเป็นปฐวีธาตุ
4. ฟันเกิดที่กระดูกคาง พึงกำหนดในฟันนั้นว่า เมื่อซี่ไม้ที่พวกนายช่างเอายางเหนียวชนิดใดชนิดหนึ่งติดตั้งไว้บนครกหิน ครกหารู้ไม่ว่าซี่ไม้ตั้งอยู่บนเรา แม้ซี่ไม้ก็หารู้ไม่ว่าเราตั้งอยู่บนครกดังนี้ ฉันใด กระดูกคางก็ฉันนั้น หารู้ไม่ว่าฟันเกิดในเรา แม้ฟันก็หารู้ไม่ว่าเราเกิดที่กระดูกคาง ฉันนั้น ธรรมเหล่านี้เว้นแล้วจากการใส่ใจและพิจารณากันและกัน ชื่อว่าฟันทั้งหลาย ดังบรรยายมานี้ คือส่วนหนึ่งโดยเฉพาะในสรีระนั้น เป็นสภาพไม่มีเจตนา เป็นอัพยากฤต ว่างเปล่า มิใช่สัตว์ แข็งกระด้าง จัดเป็นปฐวีธาตุ
5. หนังตั้งหุ้มอยู่ทั่วสรีระ พึงกำหนดในหนังนั้นว่า เมื่อพิณใหญ่หุ้มด้วยหนังโคอ่อน พิณใหญ่หารู้ไม่ว่าหนังโคอ่อนหุ้มเราไว้ แม้หนังโคอ่อนก็หารู้ไม่ว่า เราหุ้มพิณใหญ่ไว้ ฉันใด สรีระก็หารู้ไม่ว่าหนังหุ้มเราไว้ แม้หนังก็หารู้ไม่ว่าเราหุ้มสรีระไว้ ฉันนั้น ธรรมเหล่านี้เว้นแล้วจากการใส่ใจและพิจารณากันและกัน ชื่อว่าหนัง ดังบรรยายมานี้ ได้แก่ส่วนหนึ่งโดยเฉพาะในสรีระนี้ เป็นสภาพไม่มีเจตนา เป็นอัพยากฤต ว่างเปล่า มิใช่สัตว์ แข็งกระด้าง จัดเป็นปฐวีธาตุ
''(หน้าที่ 214)''
6. เนื้อตั้งฉาบร่างกระดูก พึงกำหนดในเนื้อนั้นว่า เหมือนเมื่อฝาถูกฉาบด้วยดินเหนียวหนา ฝาหารู้ไม่ว่าเราอันดินเหนียวฉาบทาแล้ว แม้ดินเหนียวหนาก็หารู้ไม่ว่าเราฉาบทาแล้ว ฉันใด ร่างกระดูกก็ฉันนั้น หารู้ไม่ว่าเราอันเนื้อมีประเภท 900 ชิ้นฉาบแล้ว แม้เนื้อก็หารู้ไม่ว่าเราฉาบร่างกระดูกไว้ ฉันนั้น ธรรมเหล่านี้เว้นแล้วจากการใส่ใจและพิจารณากันและกัน ชื่อว่าเนื้อ ดังบรรยายมานี้ ได้แก่ส่วนหนึ่งโดยเฉพาะในสรีระนี้ เป็นสภาพไม่มีเจตนา เป็นอัพยากฤต ว่างเปล่า มิใช่สัตว์ แข็งกระด้าง จัดเป็นปฐวีธาตุ
7. เอ็นตั้งรึงรัดกระดูกในภายในอยู่ พึงกำหนดในเอ็นนั้นว่า เหมือนเมื่อไม้ฝาอันบุคคลมัดแล้วด้วยเถาวัลย์ ไม้ฝาหารู้ไม่ว่าเราอันเถาวัลย์รัดแล้ว แม้เถาวัลย์ก็หารู้ไม่ว่า เรารัดไม้ฝาแล้ว ฉันใด กระดูกทั้งหลายก็ฉันนั้น หารู้ไม่ว่าเอ็นรัดรึงเราไว้ แม้เอ็นทั้งหลายก็หารู้ไม่ว่าเรารัดกระดูกไว้ ฉันนั้น ธรรมเหล่านี้เว้นแล้วจากการใส่ใจและพิจารณากันและกัน ชื่อว่าเอ็น ดังบรรยายมานี้ ได้แก่ส่วนหนึ่งโดยเฉพาะสรีระนี้ เป็นสภาพไม่มี เจตนา เป็นอัพยากฤต ว่างเปล่า มิใช่สัตว์ แข็งกระด้าง จัดเป็นปฐวีธาตุ
8. ในจำพวกกระดูกทั้งหลาย กระดูกส้นเท้ายกกระดูกข้อเท้าทูนไว้ กระดูกข้อเท้ายกกระดูกแข้งทูนไว้ กระดูกแข้งยกกระดูกขาทูนไว้ กระดูกขายกกระดูกสะเอวทูนไว้ กระดูกสะเอวยกกระดูกสันหลังทูนไว้ กระดูกสันหลังยกกระดูกคอทูนไว้ กระดูกคอยกกระดูกศีรษะทูนไว้ กระดูกศีรษะตั้งอยู่บนกระดูกคอ กระดูกคอตั้งอยู่บนกระดูกสันหลัง กระดูกสันหลังตั้งอยู่บนกระดูกสะเอว กระดูกสะเอวตั้งอยู่บนกระดูกขา กระดูกขาตั้งอยู่บนกระดูกแข้ง กระดูกแข้งตั้งอยู่บนกระดูกข้อเท้า กระดูกข้อเท้าตั้งอยู่บนกระดูกส้นเท้า พึงกำหนดในกระดูกเหล่านั้นว่า ในบรรดาเครื่องก่อที่สำเร็จด้วยอิฐไม้หรือโคมัยเป็นต้น สัมภาระตอนล่าง ๆ หารู้ไม่ว่า เรายกสัมภาระข้างบน ๆ ทูนไว้ แม้สัมภาระข้างบน ๆ ก็หารู้ไม่ว่า เราตั้งอยู่เหนือสัมภาระตอนล่างๆ ฉันใด กระดูกทั้งหลายก็ฉันนั้น คือ กระดูกส้นเท้าก็หารู้ไม่ว่าเรายกกระดูกข้อเท้าทูนไว้ กระดูกข้อเท้าก็หารู้ไม่ว่าเรายกกระดูกแข้งทูนไว้ กระดูกแข้งก็หารู้ไม่ว่าเรายกกระดูกขาทูนไว้ กระดูกขาก็หารู้ไม่ว่าเรายกกระดูกสะเอวทูนไว้ กระดูกสะเอวก็หารู้ไม่เรายกกระดูกสันหลังทูนไว้ กระดูกสันหลังก็หารู้ไม่ว่าเรายกกระดูกคอทูนไว้ กระดูกคอก็หารู้ไม่ว่าเรายกกระดูกศีรษะทูนไว้ กระดูกศีรษะก็หารู้ไม่ว่าเราตั้งอยู่บน
''(หน้าที่ 215)''
กระดูกคอ กระดูกคอก็หารู้ไม่ว่าเราตั้งอยู่บนกระดูกสันหลัง กระดูกสันหลังก็หารู้ไม่ว่าเราตั้งอยู่บนกระดูกสะเอว กระดูกสะเอวก็หารู้ไม่ว่าเราตั้งอยู่บนกระดูกขา กระดูกขาก็หารู้ไม่ว่าเราตั้งอยู่นบกระดูกแข้ง กระดูกแข้งก็หารู้ไม่ว่าเราตั้งอยู่บนกระดูกข้อเท้า กระดูกข้อเท้าก็หารู้ไม่ว่าเราตั้งอยู่บนกระดูกส้นเท้า ฉันนั้น ธรรมเหล่านี้เว้นแล้วจากการใส่ใจและพิจารณากันและกัน ชื่อว่ากระดูก ดังบรรยายมานี้ ได้แก่ส่วนหนึ่งโดยเฉพาะในสรีระนี้ เป็นสภาพไม่มีเจตนา เป็นอัพยากฤต ว่างเปล่า มิใช่สัตว์ แข็งกระด้าง จัดเป็นปฐวีธาตุ
9. เยื่อในกระดูก ตั้งอยู่ภายในแห่งกระดูกนั้น ๆ พึงกำหนดในเยื่อนั้นว่าในวัตถุเป็นต้นว่า ยอดหวายที่บุคคลผู้หนึ่งใส่เข้าไปภายในปล้องไม้ไผ่เป็นต้น ปล้องไม้ไผ่ก็หารู้ไม่ว่ายอดหวายเป็นต้นเขาใส่เข้าแล้วในเรา แม้ยอดหวายเป็นต้นก็หารู้ไม่ว่าเราอยู่ในปล้องไม้ไผ่เป็นต้น ฉันใด กระดูกทั้งหลายก็ฉันนั้น ก็หารู้ไม่ว่าเยื่ออยู่ในภายในเราทั้งหลาย แม้เยื่อก็หารู้ไม่ว่าเราอยู่ภายในกระดูก ฉันนั้น ธรรมเหล่านี้เว้นแล้วจากการใส่ใจและพิจารณากันและกัน ชื่อว่าเยื่อในกระดูก ดังบรรยายมานี้ ได้แก่ส่วนหนึ่งในเฉพาะในสรีระนี้ เป็นสภาพที่ไม่มีเจตนา เป็นอัพยากฤต ว่างเปล่า มิใช่สัตว์ แข็งกระด้าง จัดเป็นปฐวีธาตุ
10. ไตคลุมเนื้อหัวใจ เส้นเอ็นใหญ่ที่ออกจากลำคออันมีโคน ๆ เดียว ไปได้หน่อยหนึ่งแล้วแยกออกเป็น 2 รัดรึงไว้ ตั้งคลุมเนื้อหัวใจไว้ พึงกำหนดในไตนั้นว่า ในผลมะม่วง 2 ผลที่ขั้วติดกัน ขั้วหารู้ไม่ว่าเรายึดมะม่วง 2 ผลไว้ แม้มะม่วง 2 ผลก็หารู้ไม่ว่าขั้วยึดเราไว้ ฉันใด เส้นเอ็นใหญ่ก็ฉันนั้น ก็หารู้ไม่ว่าเรายึดไตไว้ แม้ไตก็หารู้ไม่ว่า เส้นเอ็นใหญ่ยึดเราไว้ ธรรมเหล่านี้เว้นแล้วจากการใส่ใจและพิจารณากันและกัน ชื่อว่าไตดังบรรยายมานี้ ได้แก่ส่วนหนึ่งโดยเฉพาะในสรีระนี้ เป็นสภาพไม่มีเจตนา เป็นอัพยากฤต ว่างเปล่า มิใช่สัตว์ แข็งกระด้าง จัดเป็นปฐวีธาตุ
11. หัวใจอยู่อาศัยท่ามกลางหลืบแห่งกระดูกอกในภายในสรีระ พึงกำหนดในหัวใจนั้นว่า ในชิ้นเนื้อตั้งอาศัยอยู่ที่ภายในหลืบท้องกะทะเก่า หลืบท้องกะทะเก่าหารู้ไม่ว่าชิ้นเนื้อต้องอาศัยเราอยู่ แม้ชิ้นเนื้อก็หารู้ไม่ว่าเราตั้งอาศัยอยู่ในหลืบท้องกระทะเก่าอยู่ ฉันใด ภายในหลืบกระดูกอกก็หารู้ไม่ว่า หัวใจตั้งอาศัยเราอยู่ แม้หัวใจก็หารู้ไม่ว่า เราตั้งอาศัย
''(หน้าที่ 216)''
ภายในกระดูกอกอยู่ฉันนั้น ธรรมเหล่านี้เว้นแล้วจากการใส่ใจและพิจารณากันและกัน ชื่อว่าหัวใจ ดังบรรยายมานี้ ได้แก่ส่วนหนึ่งโดยเฉพาะในสรีระนี้ เป็นสภาพไม่มีเจตนา เป็นอัพยากฤต ว่างเปล่า มิใช่สัตว์ แข็งกระด้าง จัดเป็นปฐวีธาตุ
12. ตับตั้งอาศัยข้างขวาในระหว่างนมทั้ง 2 ในภายในสรีระ พึงกำหนดในตับนั้นว่า ในก้อนเนื้อทั้งคู่ที่ติดอยู่ที่ข้างกระเบื้องหม้อ ข้างกระเบื้องหม้อหารู้ไม่ว่า ก้อนเนื้อทั้งคู่ติดแล้วในเรา แม้ก้อนเนื้อทั้งคู่ก็หารู้ไม่ว่า เราติดอยู่ที่ข้างกระเบื้องหม้อฉันใด ข้างขวาระหว่างนมก็ฉันนั้น หารู้ไม่ว่า ตับตั้งอาศัยเราอยู่ แม้ตับก็หารู้ไม่ว่า เราตั้งอาศัยข้างขวาในระหว่างนมอยู่ ธรรมเหล่านี้เว้นแล้วจากการใส่ใจและพิจารณากันและกัน ชื่อว่าตับ ดังบรรยายมานี้ ได้แก่ส่วนหนึ่งโดยเฉพาะในสรีระนี้ เป็นสภาพไม่มีเจตนา เป็นอัพยากฤต ว่างเปล่า มิใช่สัตว์ แข็งกระด้าง จัดเป็นปฐวีธาตุ
13. บรรดาพังผืดทั้งหลาย พังผืดที่ปกปิดตั้งหุ้มหัวใจและไตอยู่ พังผืดที่ไม่ปกปิดรวบรัดเนื้อภายใต้หนัง ในสรีระทั้งสิ้น พึงกำหนดในพังผืดนั้นว่า ในเนื้อที่บุคคลเอาผ้าเก่าห่อไว้ เนื้อหารู้ไม่ว่า เราถูกผ้าเก่าพันไว้ แม้ผ้าเก่าก็หารู้ไม่ว่า เราพันเนื้อไว้ฉันใด ไตและหัวใจและเนื้อในสรีระทั้งสิ้น ก็ฉันนั้น หารู้ไม่ว่า พังผืดปกปิดเราไว้ แม้พังผืดก็หารู้ไม่ว่า เราปกปิดไตหัวใจและเนื้อในสรีระทั้งสิ้นไว้ ธรรมเหล่านี้เว้นแล้วจากการใส่ใจและพิจารณากันและกัน ชื่อว่าพังผืด ดังบรรยายมานี้ ได้แก่ส่วนหนึ่งโดยเฉพาะในสรีระนี้ เป็นสภาพไม่มีเจตนา เป็นอัพยากฤต ว่างเปล่า มิใช่สัตว์ แข็งกระด้าง จัดเป็นปฐวีธาตุ
14. ม้ามตั้งอาศัยข้างที่สุดแห่งกระพุ้งท้องในข้างซ้ายแห่งหัวใจ พึงกำหนดในม้ามนั้นว่า ในก้อนโคมัยตั้งอาศัยที่สุดฉาง ข้างที่สุดฉางก็หารู้ไม่ว่า ก้อนโคมัยตั้งอาศัยเราอยู่ ก้อนโคมัยก็หารู้ไม่ว่า เราแนบติดข้างที่สุดฉางอยู่ฉันใด ข้างที่สุดกระพุ้งท้องก็หารู้ไม่ว่า ม้ามแนบเราอยู่ แม้ม้ามก็หารู้ไม่ว่าเราตั้งแนบข้างที่สุดแห่งกระพุ้งท้องอยู่ฉันนั้น ธรรมเหล่านี้เว้นแล้วจากการใส่ใจและพิจารณากันและกัน ชื่อว่าม้าม ดังบรรยายมานี้ ได้แก่ ส่วนหนึ่งโดยเฉพาะในสรีระนี้ เป็นสภาพไม่มีเจตนา เป็นอัพยากฤต ว่างเปล่า มิใช่สัตว์ จัดเป็นปฐวีธาตุ
''(หน้าที่ 217)''
15. ปอดตั้งห้อยปกอยู่เบื้องบนหัวใจและตับ ในระหว่างนมทั้ง 2 ในภายในสรีระ พึงกำหนดในปอดนั้นว่า ในรังนกที่ห้อยอยู่ในฉางเก่า ภายในฉางเก่าหารู้ไม่ว่า รังนกห้อยอยู่ในเรา แม้รังนกก็หารู้ไม่ว่า เราห้อยอยู่ภายในฉางเก่า ฉันใด ภายในสรีระก็ฉันนั้น หารู้ไม่ว่าปอดห้อยอยู่ในเรา แม้ปอดก็หารู้ไม่ว่า เราห้อยอยู่ภายในสรีระเห็นปานนี้ ธรรมเหล่านี้เว้นแล้วจากการใส่ใจ และพิจารณากันและกัน ชื่อว่าปอด ดังบรรยายมานี้ ได้แก่ ส่วนเฉพาะตัวในสรีระนี้ เป็นสภาพไม่มีเจตนา เป็นอัพยากฤต ว่างเปล่า มิใช่สัตว์ แข็งกระด้าง จัดเป็นปฐวีธาตุ
16. ไส้ใหญ่ตั้งอยู่ภายในสรีระ มีหลุมคอและเวจมรรคเป็นที่สุด พึงกำหนด ในไส้ใหญ่นั้นว่า ฉันเดียวกับซากงูที่เขาตัดศีรษะวางขดไว้ในรางเลือด รางเลือดหารู้ไม่ว่า ซากงูตั้งอยู่ในเรา แม้ซากงูก็หารู้ไม่ว่าเราตั้งอยู่ในรางเลือดฉันใด ภายในสรีระก็หารู้ไม่ว่า ไส้ใหญ่ตั้งอยู่ในเรา แม้ไส้ใหญ่ก็หารู้ไม่ว่าเราตั้งอยู่ภายในสรีระฉันนั้น ธรรมเหล่านี้เว้นแล้วจากการใส่ใจและพิจารณากันและกัน ชื่อว่าไส้ใหญ่ ดังบรรยายมานี้ ได้แก่ส่วนหนึ่งโดยเฉพาะในสรีระนี้ เป็นสภาพไม่มีเจตนา เป็นอัพยากฤต ว่างเปล่า มิใช่สัตว์ แข็งกระด้าง จัดเป็นปฐวีธาตุ
17. ไส้น้อยพันขนดไส้ใหญ่ 21 ขนด ตั้งอยู่ในระหว่าง ๆ ไส้ใหญ่นั้น ๆ พึงกำหนดในไส้น้อยนั้นว่า ในเชือกเล็กที่ร้อยขนดสำหรับเช็ดเท้า ขนดเชือกสำหรับเช็ดเท้าหารู้ไม่ว่า เชือกน้อยตั้งร้อยรัดเราไว้ แม้เชือกน้อยก็หารู้ไม่ว่า เราตั้งร้อยยึดขนดเชือกสำหรับเช็ดเท้าไว้ฉันใด ไส้ใหญ่ก็ฉันนั้น หารู้ไม่ว่าไส้น้อยร้อยรัดเราไว้ แม้ไส้น้อยก็หารู้ไม่ว่า เราร้อยรัดไส้ใหญ่ไว้ ธรรมเหล่านี้เว้นแล้วจากการใส่ใจและพิจารณากันและกัน ชื่อว่าไส้น้อย ดังบรรยายมานี้ ได้แก่ส่วนหนึ่งโดยเฉพาะในสรีระนี้ เป็นสภาพไม่มีเจตนา เป็นอัพยากฤต ว่างเปล่า มิใช่สัตว์ แข็งกระ้ด้าง จัดเป็นปฐวีธาตุ
18. อาหารใหม่ ได้แก่ของรับประทานของเคี้ยวของลิ้ม ซึ่งอยู่ในท้อง พึงกำหนดในอาหารใหม่นั้นว่า ในรากสุนัข อันตั้งอยู่ในรางสุนัข รางสุนัขหารู้ไม่ว่า รากสุนัขอยู่ในเรา แม้รากสุนัขก็หารู้ไม่ว่า เราตั้งอยู่ในรางสุนัขฉันใด ท้องก็ฉันนั้น หารู้
''(หน้าที่ 218)''
ไม่ว่า อาหารใหม่อยู่ในเรา แม้อาหารใหม่ก็หารู้ไม่ว่า เราอยู่ในท้อง ธรรมเหล่านี้ เว้นแล้วจากการใส่ใจและพิจารณากันและกัน ชื่อว่าอาหารใหม่ ดังบรรยายมานี้ ได้แก่ส่วนหนึ่งโดยเฉพาะในสรีระนี้ เป็นสภาพไม่มีเจตนา เป็นอัพยากฤต ว่างเปล่า มิใช่สัตว์ แข็งกระด้าง จัดเป็นปฐวีธาตุ
19. อาหารเก่าตั้งอยู่ในที่สุดไส้ใหญ่ อันเป็นเช่นเดียวกับปล้องไม่ไผ่ยาวประมาณ 8 นิ้ว กล่าวคือกระเพาะอาหารเก่า พึงกำหนดในอาหารเก่านั้นว่า ในดินเหลืองละเอียด ซึ่งบุคคลขยำใส่ในปล้องไม้ไผ่ ปล้องไม่ไผ่ก็หารู้ไม่ว่า ดินเหลืองอยู่ในเรา แม้ดินเหลืองก็หารู้ไม่ว่า เราอยู่ในปล้องไม้ไผ่ฉันใด กระเพาะอาหารเก่าก็ฉันนั้น หารู้ไม่ว่าอุจจาระอยู่ในเรา แม้อุจจาระก็หารู้ไม่ว่า เราอยู่ในกระเพาะ ธรรมเหล่านี้เว้นแล้วจากการใส่ใจและพิจารณากันและกัน ชื่อว่าอุจจาระ ดังบรรยายมานี้ ได้แก่ส่วนหนึ่งโดยเฉพาะในสรีระนี้ เป็นสภาพไม่มีเจตนา เป็นอัพยากฤต ว่างเปล่า มิใช่สัตว์ แข็งกระด้าง จัดเป็นปฐวีธาตุ
20. มันสมองอยู่ในภายในกระโหลกศีรษะ พึงกำหนดในมันสมองนั้นว่าในก้อนแป้งที่เขาใส่ในกะโหลกน้ำเต้าเก่า กะโหลกน้ำเต้าเก่าหารู้ไม่ว่าก้อนแป้งอยู่ในเรา แม้ก้อนแป้งก็หารู้ไม่ว่า เราอยู่ในกะโหลกน้ำเต้าฉันใด ภายในกะโหลกศีรษะก็ฉันนั้น หารู้ไม่ว่ามันสมองอยู่ในเรา แม้มันสมอง ก็หารู้ไม่ว่าอยู่ภายในกะโหลกศีรษะ ธรรมเหล่านี้เว้นแล้วจากการใส่ใจและพิจารณากันและกัน ชื่อว่ามันสมอง ดังบรรยายมานี้ ได้แก่ส่วนหนึ่งโดยเฉพาะสรีระนี้ เป็นสภาพที่ไม่มีเจตนา เป็นอัพยากฤต ว่างเปล่า มิใช่สัตว์ แข็งกระด้าง จัดเป็นปฐวีธาตุ
=====2. อาโปธาตุ=====
21. บรรดาดีทั้งหลาย ดีไม่เป็นฝักซาบซ่านตั้งอยู่ทั่วสรีระ ซึ่งเนื่องด้วยชีวิตินทรีย์ ดีที่เป็นฝักอยู่ในฝักดี พึงกำหนดในดีนั้นว่า น้ำมันที่ซึมซาบขนม ขนมหารู้ไม่ว่า น้ำมันซึมซาบเราอยู่แล้ว แม้น้ำมันก็หารู้ไม่ว่า เราซึมซาบขนมอยู่แล้ว ฉันใด สรีระก็ฉันนั้น หารู้ไม่ว่าดีไม่เป็นฝักซึมซาบเราอยู่ แม้ดีที่ไม่เป็นฝักก็หารู้ไม่ว่าเราซึมซาบสรีระอยู่ ในรังบวบขมซึ่งเต็มด้วยน้ำฝน รังบวบขมหารู้ไม่ว่า น้ำฝนอยู่ในเรา แม้น้ำฝนก็หารู้
''(หน้าที่ 219)''
ไม่ว่า เราอยู่ในรังบวบขม ฉันใด ฝักดีก็ฉันนั้น หารู้ไม่ว่าดีที่เป็นฝักอยู่ในเรา แม้ดีที่เป็นฝักก็หารู้ไม่ว่า เราอยู่ในฝักดี ธรรมเหล่านี้เว้นแล้วจากการใส่ใจและพิจารณากันและกัน ชื่อว่าดี ดังบรรยายมานี้ ได้แก่ส่วนหนึ่งโดยเฉพาะในสรีระนี้ เป็นสภาพไม่มีเจตนา เป็นอัพยากฤต ว่างเปล่า มิใช่สัตว์ เป็นน้ำหยั่น มีอาการซึมซาบ จัดเป็นอาโปธาตุ
22. เสลดประมาณเต็มบาตรหนึ่ง ตั้งอยู่ในกระพุ้งท้อง พึงกำหนดในเสลดนั้นว่า ในบ่อน้ำครำซึ่งเกิดเป็นฟองเป็นฝาฟอดในเบื้องบน บ่อน้ำครำหารู้ไม่ว่าฟองฝาตั้งอยู่ในเรา แม้ฟองฝาก็หารู้ไม่ว่า เราตั้งอยู่ในบ่อน้ำครำ ฉันใด กระพุ้งท้องก็หารู้ไม่ว่าเสลดอยู่ในเรา แม้เสลดหารู้ไม่ว่า เราอยู่ในพื้นท้อง ฉันนั้น ธรรมเหล่านี้เว้นแล้วจากการใส่ใจและพิจารณากันและกัน ชื่อว่าเสลด ดังบรรยายมานี้ ได้แก่ส่วนหนึ่งโดยเฉพาะในสรีระนี้เป็นสภาพไม่มีเจตนา เป็นอัพยากฤต ว่างเปล่า มิใช่สัตว์ เป็นน้ำหยั่น มีอาการซึมซาบ จัดเป็นอาโปธาตุ
23. หนองไม่มีโอกาสที่อยู่เป็นนิจ โลหิตตั้งห้อขึ้นในส่วนแห่งสรีระใด ๆ อันตอหรือหนามตำ หรือเปลวไฟเป็นต้นลวกแล้ว หรือฝีและต่อมเป็นต้น ย่อมเกิดในส่วนแห่งสรีระใด หนองก็ตั้งขึ้นในส่วนแห่งสรีระนั้น ๆ พึงกำหนดในหนองนั้นว่า ในต้นไม้มียางไหลออกแล้ว ด้วยสามารถถูกฟันด้วยขวานเป็นต้น ส่วนที่ถูกฟันเป็นต้นแห่งต้นไม้ หารู้ไม่ว่ายางตั้งอยู่ในเรา แม้ยางก็หารู้ไม่ว่า เราตั้งอยู่ใส่วนที่ถูกฟันเป็นต้นแห่งต้นไม้ฉันใด ส่วนแห่งร่างกายที่ถูกตอและหนามเป็นต้นทิ่มตำก็หารู้ไม่ว่าหนองตั้งอยู่ในเรา แม้หนองก็หารู้ไม่ว่าเราอยู่ในส่วนเหล่านั้นฉันนั้น ธรรมเหล่านี้เว้นแล้วจากการใส่ใจและพิจารณากันและกัน ชื่อว่าหนองดังบรรยายมานี้ ได้แก่ส่วนหนึ่งโดยเฉพาะในสรีระ เป็นสภาพที่ไม่มีเจตนา เป็นอัพยากฤต ว่างเปล่า มิใช่สัตว์ เป็นน้ำหยั่น มีอาการซึมซาบ จัดเป็นอาโปธาตุ
24. บรรดาเลือดทั้งหลาย เลือดที่ฉีดซ่านไปตั้งอยู่ทั่วสรีระทั้งสิ้นดุจดี เลือดที่ขังเต็มพื้นล่างแห่งฐานเป็นต้น มีประมาณเต็มบาตรหนึ่ง ยังม้าม หัวใจ ตับ ปอด ให้ชุ่มอยู่ ในเลือด 2 ชนิดนั้น เลือดที่ฉีด มีวินิจฉัยเช่นเดียวกับดีไม่มีฝักนั่นเอง ฝ่ายเลือดอีกชนิดหนึ่งพึงกำหนดว่า ในน้ำอันบุคคลรดแล้วที่กระเบื้องผุเก่ายังก้อนดินและท่อนไม้เป็นต้นในภายใต้ให้ชุ่มอยู่ ก้อนดินและท่อนไม้เป็นต้นหารู้ไม่ว่า เราอันน้ำให้เปียกชุ่มอยู่ แม้น้ำ
''(หน้าที่ 220)''
ก็หารู้ไม่ว่า เรายังก้อนดินและท่อนไม้เป็นต้นให้ชุ่มอยู่ ฉันใด ที่เป็นส่วนภายใต้แห่งตับหรือม้ามเป็นต้นหารู้ไม่ว่าเลือดอยู่ในเราหรือยังเราให้ชุ่มอยู่ แม้เลือดก็หารู้ไม่ว่า เรายังส่วนใต้แห่งตับให้เต็มแล้ว ยังม้ามเป็นต้นให้ชุ่มอยู่ฉันนั้น ธรรมเหล่านี้เว้นแล้วจากการใส่ใจและพิจารณากันและกัน ชื่อว่าเลือด ดังบรรยายมานี้ ได้แก่ส่วนหนึ่งโดยเฉพาะในสรีระนี้เป็นสภาพที่ไม่มีเจตนา เป็นอัพยากฤต ว่างเปล่า มิใช่สัตว์ เป็นน้ำหยั่น มีอาการซึมซาบ จัดเป็นอาโปธาตุ
25. เหงื่อตั้งอยู่เต็มช่องขุมผมและขน และหลั่งออกในเวลาร้อนอบอ้าวเพราะไฟเป็นต้น พึงกำหนดในเหงื่อนั้นว่า ในกำแห่งก้านบัว ภิส มุฬาล กุมุท ซึ่งพอยกขึ้นแล้วจากน้ำ ช่องในกำบัวมีนามว่า ภิส เป็นต้นหารู้ไม่ว่าน้ำหลั่งออกจากเรา แม้เหงื่อก็หารู้ไม่ว่า เราหลั่งออกจากช่องแห่งขุมผมและขนฉันนั้น ธรรมเหล่านี้ เว้นแล้วจากการใส่ใจและพิจารณากันและกัน ชื่อว่าเหงื่อ ดังบรรยายมานี้ ได้แก่ ส่วนหนึ่งโดยเฉพาะในสรีระนี้ เป็นสภาพไม่มีเจตนา เป็นอัพยากฤต ว่างเปล่า มิใช่สัตว์ เป็นน้ำหยั่น มีอาการซึมซาบ จัดเป็นอาโปธาตุ
26. มันข้นได้แก่มันที่แข้น สำหรับคนอ้วนแผ่ไปตั้งอยู่ทั่วสรีระ สำหรับคนผอมตั้งอาศัยเนื้อแข้งเป็นต้น พึงกำหนดในมันข้นนั้นว่า ในกองเนื้อบุคคลปิดไว้ด้วยผ้าเก่าที่ย้อมขมิ้น กองเนื้อหารู้ไม่ว่า ผ้าเก่าที่ย้อมขมิ้นอาศัยปิดเราไว้ แม้ผ้าเก่าที่ย้อมขมิ้นก็หารู้ไม่ว่า เราตั้งอาศัยกองเนื้ออยู่ฉันใด เนื้อในสรีระทั้งสิ้นหรือที่แข้งเป็นต้นก็หารู้ไม่ว่ามันข้นอาศัยเราตั้งอยู่ ทั้งมันข้นก็ไม่รู้ว่า เราอาศัยเนื้อในสรีระทั้งสิ้น หรือที่แข้งเป็นต้นตั้งอยู่ฉันนั้น ธรรมเหล่านี้เว้นแล้วจากการใส่ใจและพิจารณากันและกัน ชื่อว่ามันข้นดังบรรยายมานี้ ได้แก่ส่วนหนึ่งโดยเฉพาะในสรีระนี้ เป็นสภาพที่ไม่มีเจตนา เป็นอัพยากฤต ว่างเปล่า มิใช่สัตว์ เป็นยางแข้น มีอาการเอิบอาบ จัดเป็นอาโปธาตุ
27. น้ำตาในเวลาที่เกิด ย่อมขังเต็มกระบอกตาหรือหลั่งไหลออกมา พึงกำหนดในน้ำตานั้นว่า ฉันเดียวกับเต้าเมล็ดตาลอ่อนซึ่งเต็มด้วยน้ำ เต้าเมล็ดตาลอ่อนหารู้ไม่ว่า น้ำอยู่ในเรา แม้น้ำในเต้าเมล็ดตาลอ่อนก็หารู้ไม่ว่า เราอยู่ในเต้าเมล็ดตาลอ่อนฉันใด กระบอกตาก็หารู้ไม่ว่า น้ำตาอยู่ในเรา แม้น้ำตาก็หารู้ไม่ว่า เราอยู่ในกระบอกตาฉันนั้น
''(หน้าที่ 221)''
ธรรมเหล่านี้เว้นแล้วจากการใส่ใจและพิจารณากันและกัน ชื่อว่าน้ำตา ดังบรรยายมานี้ ได้แก่ ส่วนหนึ่งโดยเฉพาะในสรีระนี้ เป็นสภาพที่ไม่มีเจตนา เป็นอัพยากฤต ว่างเปล่า มิใช่สัตว์ เป็นน้ำหยั่น มีอาการเอิบอาบ จัดเป็นอาโปธาตุ
28. มันเหลวได้แก่มันใส ซึ่งตั้งอยู่ที่ฝ่ามือ หลังมือ หลังเท้า ปลายจมูก หน้าผาก และจงอยบ่า ในเวลาที่ร้อนอบอ้าวเพราะไฟเป็นต้น พึงกำหนดในมันเหลวนั้นว่า ในน้ำข้าวซึ่งใส่น้ำมันลงไป น้ำข้าวหารู้สึกไม่ว่า น้ำมันท่วมเราตั้งอยู่ แม้น้ำมันก็หารู้สึกไม่ว่า เราท่วมน้ำข้าวตั้งอยู่ฉันใด ประเทศมีฝ่ามือเป็นต้น หารู้ไม่ว่า มันเหลวท่วมทับเราตั้งอยู่ แม้มันเหลวก็หารู้ไม่ว่า เราท่วมทับประเทศมีฝ่ามือเป็นต้นตั้งอยู่ฉันนั้น ธรรมเหล่านี้เว้นแล้วจากการใส่ใจและพิจารณากันและกัน ชื่อว่ามันเหลว ดังบรรยายมานี้ ได้แก่ส่วนหนึ่ง โดยเฉพาะในสรีระนี้ เป็นสภาพที่ไม่มีเจตนา เป็นอัพยากฤต ว่างเปล่า มิใช่สัตว์ เป็นน้ำหยั่น มีอาการเอิบอาบ จัดเป็นอาโปธาตุ
29. น้ำลาย เมื่อปัจจัยซึ่งก่อให้เกิดน้ำลายเห็นปานนั้นมีอยู่ หลั่งลงมาจากกระพุ้งแก้มทั้งสอง แล้วตั้งอยู่ที่พื้นลิ้น พึงกำหนดในน้ำลายนั้นว่า ในหลุมใกล้ฝั่งแม่น้ำ ซึ่งมีน้ำไหลมามิได้ขาด พื้นหลุมหารู้ไม่ว่าน้ำตั้งอยู่ในเรา แม้น้ำก็หารู้ไม่ว่า เราตั้งอยู่บนพื้นหลุม ฉันใด พื้นลิ้นก็หารู้ไม่ว่า น้ำลายลงจากกระพุ้งแก้มทั้งสองตั้งอยู่ในเรา แม้น้ำลายก็หารู้ไม่ว่า เราหลั่งลงมาจากกระพุ้งแก้มทั้งสองตั้งอยู่ในที่พื้นลิ้นฉันนั้น ธรรมเหล่านี้เว้นแล้วจากการใส่ใจและพิจารณากันและกัน ชื่อว่าน้ำลาย ดังบรรยายมานี้ ได้แก่ส่วนหนึ่งโดยเฉพาะในสรีระนี้ เป็นสภาพที่ไม่มีเจตนา เป็นอัพยากฤต ว่างเปล่า มิใช่สัตว์ เป็นน้ำหยั่น มีอาการซึมซาบ จัดเป็นอาโปธาตุ
30. น้ำมูกในเวลาที่เกิด ย่อมยังจมูกให้เต็มอยู่หรือหลั่งออก พึงกำหนดในน้ำมูกนั้นว่า ช้อนเต็มด้วยนมส้มเน่า ช้อนหารู้ไม่ว่านมส้มเน่าตั้งอยู่ในเรา แม้นมส้มเน่าก็หารู้ไม่ว่า เราอยู่ในช้อนฉันใด ช่องจมูกก็หารู้ไม่ว่า น้ำมูกตั้งอยู่ในเรา แม้น้ำมูกก็หารู้ไม่ว่า เราอยู่ในช่องจมูกนั้น ธรรมเหล่านี้เว้นแล้วจากการใส่ใจและพิจารณากันและกัน ชื่อว่าน้ำมูก ดังบรรยายมานี้ ได้แก่ส่วนหนึ่งโดยเฉพาะในสรีระนี้ เป็นสภาพที่ไม่มีเจตนา เป็นอัพยากฤต ว่างเปล่า มิใช่สัตว์ เป็นน้ำหยั่น จัดเป็นอาโปธาตุ
''(หน้าที่ 222)''
31. ไขข้อ ยังกิจคือการหยอดที่ต่อแห่งกระดูกทั้งหลายให้สำเร็จ ตั้งอยู่ในที่ต่อ 180 แห่ง พึงกำหนดในไขข้อนั้นว่า ในเพลาอันนายช่างหยอดแล้วด้วยน้ำมัน เพลาหารู้ไม่ว่า น้ำมันหยอดทาเราตั้งอยู่ แม้น้ำมันก็หารู้ไม่ว่า เราหยอดทาเพลาตั้งอยู่ ฉันใด ที่ต่อ 180 แห่ง ก็หารู้ไม่ว่าไขข้อหยอดทาเราตั้งอยู่ แม้ไขข้อก็หารู้ไม่ว่า เราหยอดทาที่ต่อ 180 แห่ง ตั้งอยู่ฉันนั้น ธรรมเหล่านี้เว้นแล้วจากการใสใจและพิจารณากันและกัน ชื่อว่าไขข้อ ดังบรรยายมานี้ ได้แก่ส่วนหนึ่งโดยเฉพาะสรีระนี้ เป็นสภาพที่ไม่มีเจตนา เป็นอัพยากฤต ว่างเปล่า มิใช่สัตว์ เป็นน้ำหยั่น มีอาการซึมซาบ จัดเป็นอาโปธาตุ
32. มูตรตั้งอยู่ในภายในกระเพาะเบา พึงกำหนดในมูตรนั้นว่า ในหม้อเนื้อห่างที่บุคคลคว่ำปากไว้ในน้ำครำ หม้อเนื้อก็หารู้ไม่ว่ารสแห่งนำครำตั้งอยู่ในเรา แม้รสแห่งน้ำครำก็หารู้ไม่ว่าเราตั้งอยู่ในหม้อเนื้อห่าง ฉันใด กระเพาะเบาหารู้ไม่ว่า มูตรตั้งอยู่ในเรา แม้มูตรก็หารู้ไม่ว่า เราตั้งอยู่ในกระเพาะเบาฉันนั้น ธรรมเหล่านี้เว้นแล้วจากการใส่ใจและพิจารณากันและกัน ชื่อว่ามูตร ดังบรรยายมานี้ ได้แก่ส่วนหนึ่งโดยเฉพาะในสรีระนี้ เป็นสภาพที่ไม่มีเจตนา เป็นอัพยากฤต ว่างเปล่า มิใช่สัตว์ เป็นน้ำหยั่น มีอาการซึมซาบ จัดเป็นอาโปธาตุ
=====3. เตโชธาตุ=====
พระโยคีครั้นยังมนสิการให้เป็นไปในผมเป็นต้น อย่างนี้แล้วพึงยังมนสิการให้เป็นไปในส่วนแห่งเตโชธาตุทั้งหลายอย่างนี้ว่า สิ่งใดเป็นเหตุให้กายอบอุ่น สิ่งนี้เป็นส่วนหนึ่งโดยเฉพาะในสรีระนี้ เป็นสภาพที่ไม่มีเจตนา เป็นอัพยากฤต ว่างเปล่า มิใช่สัตว์ มีอาการร้อนผะผ่าว จัดเป็นเตโชธาตุ สิ่งใดเป็นเหตุให้คร่ำคร่า ฯลฯ เป็นเหตุให้ไหม้ ฯลฯ เป็นเหตุให้ของกิน – ของดื่ม – ของเคี้ยว – ของลิ้มย่อยโดยชอบ สิ่งนี้จัดเป็นส่วนหนึ่งโดยเฉพาะในสรีระนี้ เป็นสภาพที่ไม่มีเจตนา เป็นอัพยากฤต ว่างเปล่า มิใช่สัตว์ มีอาการร้อน จัดเป็นเตโชธาตุ
=====4. วาโยธาตุ=====
แต่นั้นพึงกำหนดลมที่พัดขึ้นเบื้องบนด้วยสามารถลมพัดขึ้นเบื้องบน ลมพัดลงเบื้องต่ำด้วยสามารถลมพัดลงเบื้องต่ำ ลมพัดอยู่ในท้องด้วยสามารถลมพัดอยู่ในท้อง ลมพัดอยู่ในไส้ ด้วยสามารถลมพัดอยู่ในไส้ ลมพัดตามร่างกายด้วยสามารถลมพัดตามร่างกาย
''(หน้าที่ 223)''
ลมหายใจออกเข้าด้วยสามารถลมหายใจออกเข้า แล้วจึงยังมนสิการให้เป็นไปในส่วนแห่งวาโยธาตุ อย่างนี้ว่า ชื่อว่าลมพัดขึ้นเบื้องบน คือส่วนหนึ่งโดยเฉพาะในสรีระนี้ เป็นสภาพที่ไม่มีเจตนา เป็นอัพยากฤต ว่างเปล่า มิใช่สัตว์ มีอาการให้เคลื่อนไหว จัดเป็นวาโยธาตุ ชื่อว่าลมพัดลงเบื้องต่ำ ฯลฯ ชื่อว่าลมพัดอยู่ในท้อง ฯลฯ ชื่อว่าลมพัดอยู่ตามลำไส้ ฯลฯ ชื่อว่าลมพัดอยู่ตามร่างกาย ฯลฯ ชื่อว่าลมหายใจเข้าออก คือส่วนหนึ่งโดยเฉพาะในสรีระนี้ เป็นสภาพที่ไม่มีเจตนา เป็นอัพยากฤต ว่างเปล่า มิใช่สัตว์ มีอาการเคลื่อนไหว จัดเป็นวาโยธาตุ
เมื่อพระโยคีนั้นมีมนสิการเป็นไปอย่างนี้ ธาตุทั้งหลายย่อมปรากฏ เมื่อเธอนึกถึงใฝ่ใจธาตุเหล่านั้นบ่อย ๆ อุปจารสมาธิย่อมเกิด ตามนัยที่กล่าวแล้วนั้นแล
====โดยย่อพร้อมทั้งลักษณะ====
ก็เมื่อพระโยคีได้เจริญอย่างนี้ กรรมฐานไม่สำเร็จ พระโยคีนั้นพึงเจริญโดยย่อพร้อมทั้งลักษณะ เจริญอย่างไร ? คือต้องกำหนดว่า สิ่งที่มีลักษณะกระด้างในส่วน 20 จัดเป็นปฐวีธาตุ สิ่งที่มีลักษณะเอิบอาบในส่วน 20 เหล่านั้น จัดเป็นอาโปธาตุ สิ่งที่มีลักษณะให้อบอุ่น จัดเป็นเตโชธาตุ สิ่งที่มีลักษณะพัดไปมา จัดเป็นวาโยธาตุ
พึงกำหนดสิ่งที่มีลักษณะเอิบอาบ ในส่วน 12 ว่าเป็นอาโปธาตุ พึงกำหนดสิ่งที่มีลักษณะอบอุ่นในส่วน 12 นั้นว่าเป็นเตโชธาตุ พึงกำหนดสิ่งที่มีลักษณะพัดไปมาในส่วน 12 เหล่านั้น ว่าเป็นวาโยธาตุ พึงกำหนดสิ่งที่มีลักษณะกระด้างในส่วน 12 เหล่านั้น ว่าเป็นปฐวีธาตุ
พึงกำหนดสิ่งที่มีลักษณะอบอุ่นในส่วนทั้ง 4 ว่าเป็นเตโชธาตุ พึงกำหนดสิ่งที่มีลักษณะพัดไปมาอันเตโชนั้นไม่แยกแล้ว ว่าเป็นวาโยธาตุ พึงกำหนดสิ่งที่มีลักษณะกระด้างว่าเป็นปฐวีธาตุ พึงกำหนดสิ่งที่มีลักษณะเอิบอาบ ว่าเป็นอาโปธาตุ
พึงกำหนดสิ่งซึ่งมีลักษณะพัดไปมา ในส่วนทั้ง 6 ว่าเป็นวาโยธาตุ พึงกำหนดสิ่งซึ่งมีลักษณะกระด้างในส่วนเหล่านั้นว่าเป็นปฐวีธาตุ พึงกำหนดสิ่งที่มีลักษณะซึมซาบว่าเป็นอาโปธาตุ พึงกำหนดสิ่งซึ่งมีลักษณะอบอุ่น ว่าเป็นเตโชธาตุ
เมื่อพระโยคีนั้นพึงกำหนดอยู่อย่างนี้ ธาตุทั้งหลายย่อมจะปรากฏ เมื่อเธอนึกใฝ่ใจธาตุเหล่านั้นอยู่บ่อยๆ อุปจารสมาธิย่อมเกิดตามนัยที่กล่าวแล้วนั้นแล
''(หน้าที่ 224)''
====โดยแยกพร้อมทั้งลักษณะ====
ก็เมื่อพระโยคีใดเจริญอยู่แม้อย่างนี้ กรรมฐานไม่สำเร็จ พระโยคีนั้นต้องเจริญ โดยแยกพร้อมทั้งลักษณะ จะเจริญอย่างไร ? คือพึงกำหนดผมเป็นต้นตามนัยที่กล่าวแล้วในนัยก่อน แล้วจึงกำหนดว่า สิ่งซึ่งมีลักษณะกระด้างในผม จัดเป็นปฐวีธาตุ พึงกำหนดว่า สิ่งซึ่งมีลักษณะเอิบอาบในปฐวีธาตุนั้นเอง จัดเป็นอาโปธาตุ
พึงกำหนดว่าสิ่งที่มีลักษณะอบอุ่นจัดเป็นเตโชธาตุ พึงกำหนดว่าสิ่งซึ่งมีลักษณะพัดไปมาจัดเป็นวาโยธาตุ พึงกำหนดธาตุ 4 ในส่วนหนึ่งๆ ในบรรดาส่วนทั้งปวงด้วย ประการฉะนี้ เมื่อพระโยคีนั้นกำหนดอยู่อย่างนี้ ธาตุทั้งหลายย่อมจะปรากฏ เมื่อเธอนึกใฝ่ใจถึงธาตุเหล่านั้นบ่อยๆ อุปจารสมาธิย่อมเกิดตามนัยที่กล่าวแล้วนั่นแล
====การกำหนดธาตุโดยอาการต่างๆ====
ก็อีกนัยหนึ่ง พึงกำหนดธาตุโดยอาการแม้เหล่านี้ คือ :-
1. โดยอรรถแห่งคำ
2. โดยเป็นกอง
3. โดยแยกละเอียด
4. โดยลักษณะเป็นต้น
5. โดยสมุฏฐาน
6. โดยเป็นสภาพต่างกันและเหมือนกัน
7. โดยอาการที่แยกและไม่แยก
8. โดยเข้ากันได้และเข้ากันไม่ได้
9. โดยภายในภายนอกแปลกกัน
10. โดยประมวล
11. โดยปัจจัย
12. โดยไม่ใส่ใจกัน
13. โดยแยกกันโดยปัจจัย
''(หน้าที่ 225)''
=====โดยอรรถแห่งคำ=====
ในอาการเหล่านั้น พระโยคีเมื่อใฝ่ใจโดยอรรถแห่งคำ พึงใฝ่ใจโดยอรรถแห่งคำด้วยสามารถที่ต่างกันและเสมอกันอย่างนี้ว่า ชื่อว่าดิน เพราะแผ่ไป ชื่อว่าน้ำ เพราะเอิบอาบให้ชุ่มอยู่ หรือให้เต็มอยู่ ชื่อว่าไฟ เพราะอบให้ร้อน ชื่อว่าลม เพราะพัดให้ไหว แต่ว่าโดยไม่ต่างกันชื่อว่าธาตุ เพราะทรงไว้ซึ่งลักษณะของตน และเป็นที่ตั้งแห่งทุกข์และเป็นที่อัดทุกข์ไว้
=====โดยเป็นกอง=====
พึงทราบวินิจฉัยโดยเป็นกองดังต่อไปนี้ ปฐวีธาตุนี้ใด ท่านแสดงโดยอาการ 20 โดยนัยเป็นต้นว่า ผม ขน และอาโปธาตุนี้ใด ท่านแสดงโดยอาการ 12 โดยนัยเป็นต้นว่า ดี เสลด ในธาตุเหล่านั้น เพราะ –
ที่มีสมมุตุว่าผมได้ เพราะประชุมธรรม 8 ประการ คือ สี กลิ่น รส
โอชา และธาตุทั้ง 4 เพราะแยกสิ่งเหล่านั้นจากกันเสีย ย่อมไม่มี
สมมุติว่า ผม
เหตุนั้น คำว่าผม เป็นเพียงสักแต่ว่ากองแห่งธรรมทั้ง 8 คำว่าขนเป็นต้น ก็เช่นกัน
อนึ่ง ในส่วนเหล่านี้ส่วนใดมีกรรมเป็นสมุฏฐาน ส่วนนั้นจัดว่า เป็นกองแห่งธรรม 10 รวมทั้งชีวิตินทรีย์และภาวะเข้าด้วย ทั้งยังนับว่าปฐวีธาตุ อาโปธาตุ ด้วยอำนาจที่มา พึงใฝ่ใจโดยเป็นกองอย่างนี้
=====โดยแยกละเอียด=====
พึงทราบวินิจฉัยในคำว่า โดยแยกละเอียด ดังต่อไปนี้ ก็ปฐวีธาตุที่ป่นเป็นชนิดเล็กอย่างยิ่ง เป็นดุจธุลีละเอียด อันพระโยคีกำหนดอยู่โดยอย่างกลางในสรีระนี้พึงมีประมาณได้ทะนานหนึ่ง ปฐวีธาตุนั้นอันอาโปธาตุประมาณกึ่งแต่ทะนานนั้นยึดไว้แล้วอันเตโชธาตุนี้เลี้ยงรักษาแล้ว อันวาโยธาตุพัดให้หวั่นไหวแล้ว จึงไม่เรี่ยรายไม่กระจัดกระจาย ปฐวีธาตุนี้ เมื่อไม่เรี่ยรายไม่กระจัดกระจาย ย่อมเข้าถึงการกำหนด เป็นเพศหญิงเพศชายเป็นต้นเป็นอเนก และประกาศความผอมอ้วนสูงต่ำแข็งแรงและอ่อนแอเป็นต้น
ฝ่ายอาโปธาตุในร่างกายนี้ ถึงความเป็นน้ำหยั่น มีอาการซึมซาบตั้งอยู่ในดินอันไฟตามรักษา อันลมพัดให้เคลื่อนไหว จึงไม่เรี่ยรายกระจัดกระจาย เมื่อไม่เรี่ยรายไม่กระจัดกระจาย จึงแสดงอาการที่เป็นต่างกันโดยความเป็นเพศหญิงเพศชายเป็นต้น และประกาศความเป็นผู้ผอมอ้วนสูงต่ำแข็งแรงและอ่อนแอเป็นต้น
''(หน้าที่ 226)''
ส่วนเตโชธาตุในร่างกายนี้ มีอาการร้อนอ้าว มีลักษณะร้อนอ้าวสำหรับย่อยสิ่งที่รับประทานและสิ่งที่ดื่มเป็นต้น ตั้งอยู่ในดินอันน้ำยึดไว้ อันลมพัดให้เคลื่อนไหวย่อมยังกายนี้ให้อบอุ่น และนำมาซึ่งวรรณสมบัติแก่กายนั้น อนึ่ง กายนี้อันเตโชธาตุนั้นให้อบอุ่นแล้วย่อมไม่แสดงอาการเน่า
ก็วาโยธาตุในสรีระนี้ซ่านไปตามอวัยวะน้อยใหญ่ มีลักษณะเบ่งขึ้นและให้ไหวได้ ตั้งอยู่ในดินอันน้ำยึดไว้ อันไฟตามรักษา ย่อมยังกายนี้ให้เคลื่อนไหวได้
อนึ่ง กายนี้อันธาตุลมนั้นอุ้มแล้วจึงไม่ซวนเซไป ตั้งอยู่ตรง ๆ ได้อาศัยวาโยธาตุอื่นอีกพัดสม่ำเสมอแล้ว ย่อมแสดงวิญญัติในอิริยาบถคือ เดิน ยืน นั่ง นอน ย่อมคู้เข้าเหยียดออก ยังมือและเท้าให้เคลื่อนไหวได้ ยนต์คือธาตุนี้เช่นเดียวกับรูปกล มีมายา สำหรับล่อลวงชนพาลโดยความเป็นหญิงและชายเป็นต้น เป็นไปอยู่ดังแถลงมานี้ พระโยคีพึงใฝ่ใจโดยละเอียด ดังบรรยายมานี้แล
=====โดยลักษณะเป็นต้น=====
พึงทราบวินิจฉัยในมาติกาว่า โดยลักษณะเป็นต้นว่า พระโยคีนึกถึงธาตุทั้ง 4 อย่างนี้ว่า ปฐวีธาตุมีลักษณะอย่างไร ? มีอะไรเป็นรส ? มีอะไรเป็นเครื่องปรากฏ ? ดังนี้แล้ว พึงใส่ใจโดยลักษณะเป็นต้นอย่างนี้ว่า ปฐวีธาตุมีลักษณะแข้นแข็งมีการตั้งอยู่เป็นรส มีการรับไว้เป็นเครื่องปรากฏ อาโปธาตุ มีความหลั่งไหลเป็นลักษณะ มีการพอกพูนเป็นรส มีการยึดไว้เป็นเครื่องปรากฏ เตโชธาตุ มีความร้อนเป็นลักษณะ มีการให้อบอุ่นเป็นรส มีการเพิ่มให้ถึงซึ่งความอ่อนนุ่มเป็นเครื่องปรากฏ วาโยธาตุมีการเคลื่อนไหวเป็นลักษณะมีการเบ่งขึ้นได้เป็นรส มีการยักย้ายเป็นเครื่องปรากฏ
=====โดยสมุฏฐาน=====
ในมาติกาว่าโดยสมุฏฐาน พึงทราบวินิจฉัยว่า ส่วน 32 มีผมเป็นต้นเหล่านี้ใด ท่านแสดงแล้วด้วยสามารถแสดงปฐวีธาตุเป็นต้นโดยพิสดาร ในส่วนเหล่านั้น ส่วน 4 เหล่านี้ อาหารใหม่ อาหารเก่า หนอง มูตร มีฤดูเป็นสมุฏฐานแล ส่วน 4 เหล่านี้ คือ น้ำตา เหงื่อ น้ำลาย น้ำมูก มีฤดูและจิตเป็นสมุฏฐาน ไฟซึ่งเป็นตัวย่อยอาหารที่บริโภคเป็นต้น มีกรรมเป็นสมุฏฐานแล ลมหายใจออกเข้ามีจิตเป็นสมุฏฐาน ที่เหลือนอกนั้นทั้งหมด มีสมุฏฐาน 4 พึงใฝ่ใจโดยสมุฏฐาน ด้วยอาการอย่างนี้
''(หน้าที่ 227)''
=====โดยเป็นสภาพต่างกันและเหมือนกัน=====
ในมาติกาว่าโดยเป็นสภาพต่างกันและเหมือนกัน พึงทราบวินิจฉัยว่า ธาตุทั้งหมดต่างกันโดยลักษณะของตนเป็นต้น คือปฐวีธาตุก็มีลักษณะ รส และการปรากฏอันหนึ่งต่างหาก อาโปธาตุเป็นต้นก็มีลักษณะ, รส และอาการปรากฏอีกส่วนหนึ่งต่างหาก
ก็ธาตุเหล่านี้แม้จะเป็นสภาพต่างกัน ด้วยสามารถลักษณะเป็นอย่างนี้ก็ดี และด้วยสามารถแห่งสมุฏฐาน มีกรรมเป็นสมุฏฐานเป็นต้นก็ดี ย่อมชื่อว่าเป็นอย่างเดียวกัน ด้วยสามารถเป็นรูป, มหาภูต, ธาตุ, ธรรม และเป็นของไม่เที่ยงเป็นต้น
จริงอยู่ ธาตุทุกอย่างชื่อว่าเป็นรูป เพราะไม่ต้องลักษณะจำต้องอวด
ชื่อว่ามหาภูตรูป เพราะเหตุมีความปรากฏ โดยความเป็นของใหญ่เป็นต้น
'''มีความปรากฏเป็นของใหญ่เป็นต้น'''
ก็ในคำว่า มีความปรากฏเป็นของใหญ่เป็นต้น อธิบายว่า ก็ธาตุเหล่านี้ ท่านเรียกว่ามหาภูต เพราะเหตุเหล่านี้ คือ –
1. เพราะความปรากฏเป็นของใหญ่
2. เพราะความเป็นสภาพเหมือนกับมหาภูต
3. เพราะจำต้องบริหารมาก
4. เพราะมีวิการมาก
5. เพราะเป็นของมีจริงโดยความเป็นของใหญ่
'''เพราะความปรากฏเป็นของใหญ่'''
ในอาการเหล่านั้น คำว่าเพราะความปรากฏเป็นของใหญ่ คือธาตุนี้เป็นธรรมชาติปรากฏเป็นของใหญ่ ทั้งในสันดานที่ไม่มีใจครอง ทั้งในสันดานที่มีใจครอง
บรรดาสันดานทั้ง 2 เหล่านั้น ความเป็นของปรากฏความเป็นของใหญ่แห่งมหาภูตเหล่านั้น ในสันดานที่ไม่มีใจครอง ข้าพเจ้าอธิบายมาแล้วแล ในพุทธานุสตินิทเทสโดยนัยเป็นต้นว่า
แผ่นดินนี้ ท่านคำนวณแล้ว โดยกำหนดส่วนหนาได้เท่านี้
คือ 2 แสน กับอีก 4 หมื่นโยชน์ ฯ
ฝ่ายในสันดานที่มีใจครอง เป็นสภาพปรากฏเป็นของใหญ่จริงด้วยสามารถสรีระแห่งปลา, เต่า, เทวดา, มานพ, อสูรเป็นต้น สมดังที่พระองค์ทรงตรัสไว้ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในมหาสมุทรมีอัตภาพยาวประมาณตั้ง 100 โยชน์ ดังนี้เป็นต้น
''(หน้าที่ 228)''
'''เพราะเป็นสภาพเหมือนกับมหาภูต'''
ในมาติกาว่า เพราะเป็นสภาพเหมือนกับมหาภูต มีวินิจฉัยว่า ก็ธาตุเหล่านี้ตัวเองเป็นของไม่เขียวเลย แต่แสดงอุปาทายรูปที่เขียวได้ ตัวเองเป็นสภาพไม่เหลือง แต่แสดงอุปาทายรูปที่เหลืองได้ ตัวเองเป็นสภาพไม่แดงแต่แสดงอุปาทายรูปที่แดงได้ ตัวเองเป็นภาพไม่ขาวเลย แต่แสดงอุปาทายรูปที่ขาวได้ เปรียบดุจนักเล่นกลแสดงน้ำซึ่งไม่ใช่แก้วมณีแท้ๆให้เป็นแก้วมณีได้ แสดงก้อนดินซึ่งไม่ใช่ทองจริงๆให้เป็นทองได้ และเหมือนอย่างตัวเองไม่ใช่ยักษ์ไม่ใช่นกก็แสดงเป็นยักษ์เป็นนกบ้าง เพราะเหตุนั้นจึงได้ชื่อว่ามหาภูต เพราะเป็นเหมือนมหาภูตนักเล่นกล
อนึ่ง เปรียบดุจมหาภูตมียักษ์เป็นต้น เข้าสิงผู้ใดภายในภายนอกผู้นั้น อันมหาภูตเหล่านั้น จะเข้าไปได้ก็หาไม่ และมหาภูตเหล่านั้นจะไม่สิงผู้นั้นตั้งอยู่ก็หาไม่ ฉันใดแม้มหาภูตเหล่านี้ก็ฉันนั้น อันกันและกันย่อมเข้าได้ เป็นสิ่งที่ตั้งอยู่ภายในภายนอกของกันและกันก็หาไม่ และมหาภูตรูปเหล่านี้ มิใช่จะไม่อาศัยกันและกันตั้งอยู่ก็หาไม่ฉันนั้น อีกอย่างหนึ่ง ธาตุชื่อว่าเป็นมหาภูต แม้เพราะเป็นธรรมชาติที่เสมอกับมหาภูตมียักษ์เป็นต้นโดยความเป็นฐานะที่ไม่ควรคิด
อนึ่ง เปรียบดุจมหาภูต กล่าวคือยักษิณี ปกปิดภาวะอันน่ากลัวของตนไว้ โดยการปลอมแปลงสีและสัณฐานที่น่าพึงใจ ลวงสัตว์ทั้งหลาย ฉันใด แม้มหาภูตรูปเหล่านี้ก็ฉันนั้น ปิดลักษณะตามธรรมดาของตัว อันต่างด้วยอาการมีอาการที่ตนเป็นของแข้นแข็งเป็นต้น ด้วยผิวพรรณที่น่าพึงใจ ด้วยสัณฐานแห่งอวัยวะน้อยใหญ่ที่น่าพึงใจ และด้วยการกระดุกกระดิกได้แห่งมือเท้าและนิ้วที่น่าพึงใจในสรีระหญิงและชายเป็นต้น ลวงพาลชนอยู่มิให้เห็นความเป็นจริงของตน เพราะเหตุนั้น จึงเชื่อว่ามหาภูตแม้เพราะเป็นของเสมอกับมหาภูต คือนางยักษิณีเพราะเป็นสภาพที่ลวง
'''เพราะจำต้องบริหารมาก'''
ในคำว่า เพราะจำต้องบริหารมาก มีอธิบายว่า เพราะเป็นสิ่งที่จำต้องรักษาด้วยปัจจัยเป็นอันมาก จริงอยู่ มหาภูตเหล่านี้เป็นแล้ว คือเป็นไปแล้วด้วยปัจจัยทั้งหลายมีเครื่องกิน และเครื่องนุ่งห่มเป็นต้นเป็นอันมาก เพราะจำต้องนำเข้าไปทุก ๆ วัน เหตุนั้น จึงชื่อว่า มหาภูตอีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่าเป็นมหาภูต แม้เพราะเป็นภูตที่จำต้องบริหารมาก
''(หน้าที่ 229)''
จริงอยู่ มหาภูตเหล่านี้ ที่เป็นอุปาทินนกะก็ดี อนุปาทินนกะก็ดี ย่อมเป็นภูตมีวิการมาก ในภูต 2 ชนิดนั้น อาการที่วิการมากของอนุปาทินนกะ ย่อมปรากฏในเมื่อกลาปะย่อยยับ ของอุปาทินนกะปรากฏในเวลาธาตุกำเริบ ความจริงเป็นเช่นนั้น
เมื่อโลกไหม้อยู่ด้วยความร้อนแห่งเปลวไฟ เปลวไฟพุ่ง
ขึ้นแต่ภาคพื้น ลุกขึ้นจนกระทั่งพรหมโลก ฯ เมื่อใด โลก
จักฉิบหายด้วยน้ำอันกำเริบแล้ว เมื่อนั้นจักรวาลประมาณ
แสนโกฏิหนึ่ง จะละลายชั่วประเดี๋ยว เมื่อใดโลกจักฉิบหาย
ด้วยธาตุลมกำเริบ เมื่อนั้นจักรวาลประมาณแสนโกฏิหนึ่ง
จักวอดวายชั่วประเดี๋ยว กายถูกงูปากไม้กัด ย่อมแข็งกระด้าง
ฉันใด เพราะปฐวีธาตุกำเริบ กายนั้นก็เป็นดังอยู่ในปากงู
ปากไม้ฉันนั้น กายถูกงูปากเน่ากัด ย่อมเน่าเปื่อยฉันใด
เพราะอาโปธาตุกำเริบ กายนั้นก็เป็นดังอยู่ในปากงูปากเน่า
ฉันนั้น กายถูกงูปากไฟกัด ย่อมร้อนกลุ้มฉันใด เพราะ
เตโชธาตุกำเริบ กายนั้นเป็นดังอยู่ในปากงูปากไฟ ฉันนั้น
กายถูกงูปากศัสตรากัด ย่อมขาดไปฉันใด เพราะวาโยธาตุ
กำเริบ กายนั้นก็เป็นดังอยู่ในปากงูปากศัสตรา ฉันนั้น
ภูตมีวิการมาก ดังนี้ เหตุนั้นจึงชื่อว่ามหาภูต
'''เพราะเป็นของมีอยู่โดยความเป็นของใหญ่'''
ในคำว่า เพราะเป็นของมีอยู่โดยความเป็นของใหญ่ ก็ภูตเหล่านี้ชื่อว่าเป็นของใหญ่ เพราะจำต้องประคับประคองด้วยความพยายามอย่างใหญ่ และชื่อว่ามีจริง เพราะมีอยู่โต้ง ๆ เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่า มหาภูต เพราะเป็นของมีจริงโดยความเป็นของใหญ่
ธาตุเหล่านี้แม้ทั้งหมด ชื่อว่าเป็นมหาภูต เพราะเหตุมีความเป็นของปรากฏโดยความเป็นของใหญ่เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ธาตุทุกอย่างไม่ล่วงลักษณะธาตุไปได้ เพราะทรงไว้ซึ่งลักษณะของตน และเพราะเป็นฐานแห่งทุกข์ และเพราะอัดทุกข์ไว้
และชื่อว่า ธรรม เพราะทรงไว้ซึ่งลักษณะของตนและเข้าไปทรงอยู่ได้ชั่วขณะอันสมควรแก่ตน
''(หน้าที่ 230)''
ชื่อว่า ไม่เที่ยง เพราะอรรถว่าสิ้นไป
ชื่อว่า เป็นทุกข์ เพราะอรรถว่าน่าพรั่นพรึง
ชื่อว่า มิใช่ตน เพราะอรรถว่าไม่มีสาระ
ตามนัยนี้ แม้ธาตุทุกอย่างชื่อว่าเป็นอย่างเดียวกัน ด้วยสามารถที่เป็นรูป เป็นมหาภูต เป็นเหตุ เป็นธรรม และเป็นสิ่งที่ไม่เที่ยงเป็นต้น พระโยคีพึงใฝ่ใจโดยต่างกันและเหมือนกัน โดยอาการอย่างนี้
=====โดยอาการที่แยกจากกันและไม่แยก=====
ในข้อมาติกาว่า โดยอาการที่แยกจากกันและไม่แยก (วินิพโภคาวินิพโภคโต) พึงทราบวินิจฉัยว่า ธาตุเหล่านี้ทั้งหมด ต้องเกิดพร้อมกันเท่านั้น เพราะความที่กลาปทั้งหมด แม้ในสุทธัฏฐกกลาป (กลาปทีมี 8 รูป) เป็นต้น ล้วนไม่แยกปเทสกัน(อวินิพโภคะ) แต่ธาตุชื่อว่าแยกจากกัน (วินิพโภคะ) โดยลักษณะ พระโยคีพึงใฝ่ใจโดยอาการที่แยกจากกัน และไม่แยกจากันโดยอาการอย่างนี้
=====โดยเข้ากันได้และไม่ได้=====
ในข้อมาติกาว่า โดยเข้ากันได้และไม่ได้ มีวินิจฉัยว่า ในบรรดาธาตุเหล่านี้ แม้จะไม่แยกจากกันอย่างอธิบายมาแล้วก็ดี ธาตุ 2 ตอนต้น ชื่อว่าสภาคคือเข้ากันได้ เพราะเป็นของหนักเหมือนกัน ธาตุตอนหลังก็จัดเป็นสภาคกันเหมือนกัน เพราะเป็นของเบาแต่ธาตุตอนต้นกับธาตุตอนหลัง และธาตุตอนหลังกับธาตุตอนต้น จัดเป็นวิสภาคกัน คือเข้ากันไม่ได้ เพราะข้างฝ่ายหนึ่งหนักฝ่ายหนึ่งเบา พระโยคีพึงใฝ่ใจโดยเข้ากันได้และไม่ได้โดยอาการอย่างนี้
=====โดยภายในและภายนอกแปลกกัน=====
ในข้อมาติกาว่า โดยภายในและภายนอกแปลกกัน พึงทราบวินิจฉัยว่าธาตุภายใน ย่อมเป็นที่อาศัยแห่งวิญญาณวัตถุและวิญญัติและอินทรีย์ เป็นสภาพที่เกี่ยวเนื่องกับอิริยาบถ มีสมุฏฐาน 4 ธาตุภายนอกมีประการผิดตรงกันข้ามจากที่กล่าวแล้ว พระโยคีพึงใฝ่ใจโดยธาตุภายในและภายนอกแปลกกัน ดังบรรยายมานี้
=====โดยประมวล=====
ในข้อมาติกาว่า โดยประมวล พึงทราบวินิจฉัยว่า ปฐวีธาตุมีธรรมเป็นสมุฏฐาน รวมเป็นอันเดียวกันกับธาตุนอกจากนี้ ซึ่งมีกรรมเป็นสมุฏฐาน เพราะไม่มีความต่างกันโดยสมุฏฐาน ที่มีจิตเป็นต้นเป็นสมุฏฐาน ร่วมเป็นอันเดียวกับธาตุซึ่งมีจิตเป็นต้นเป็นสมุฏฐานดุจกัน พระโยคีพึงใฝ่ใจโดยรวมกัน ดังบรรยายมานี้
''(หน้าที่ 231)''
=====โดยปัจจัย=====
ในข้อมาติกาว่า โดยปัจจัย พึงทราบวินิจฉัยว่า ปฐวีธาตุอันน้ำยึดไว้ อันไฟตามรักษาไว้ อันลมให้เคลื่อนไหว เป็นปัจจัยเป็นที่ตั้งอาศัยแห่งมหาภูตทั้ง 3 อาโปธาตุตั้งอาศัยดิน อันไฟตามรักษา อันลมให้เคลื่อนไหว เป็นปัจจัยเป็นเครื่องยึดแห่งมหาภูตทั้ง 3 เตโชธาตุตั้งอาศัยดิน อันน้ำยึดไว้ อันลมให้เคลื่อนไหว เป็นปัจจัยเป็นเครื่องอบอุ่นแห่งมหาภูตทั้ง 3 วาโยธาตุตั้งอาศัยดิน อันน้ำยึดไว้ อันไฟให้อบอุ่น เป็นปัจจัยเป็นเหตุให้เคลื่อนไหวแห่งมหาภูตทั้ง 3 พระโยคีพึงใฝ่ใจโดยเป็นปัจจัย ดังบรรยายมานี้
=====โดยไม่รู้จักกัน=====
ในข้อมาติกาว่า โดยไม่รู้จักกัน พึงทราบวินิจฉัยว่า ในบรรดาธาตุทั้ง 4 นี้ ปฐวีธาตุย่อมไม่รู้สึกว่า เราคือปฐวีธาตุ หรือว่าเราเป็นที่ตั้งเป็นปัจจัยแห่งมหาภูตทั้ง 3 แม้ธาตุ 3 นอกนี้ก็ไม่รู้สึกว่า ปฐวีธาตุเป็นปัจจัยเป็นที่ตั้งของพวกเรา ในธาตุทั้งปวงมีนัยเช่นเดียวกันนี้ พระโยคีพึงใฝ่ใจโดยไม่รู้จักกัน ดังบรรยายมานี้
=====โดยวิภาคของปัจจัย=====
ในข้อมาติกาว่า โดยวิภาคของปัจจัย พึงทราบวินิจฉัยว่า ก็ปัจจัยของธาตุมี 4 คือ กรรม จิต อาหาร ฤดู ในปัจจัยทั้ง 4 นั้น กรรมนั่นแหละย่อมเป็นปัจจัยแห่งธาตุทั้งหลายที่มีกรรมเป็นสมุฏฐาน มิใช่ปัจจัยอื่นมีจิตเป็นต้น ส่วนจิตเป็นต้นย่อมเป็นปัจจัยแม้แห่งทั้งธาตุทั้งหลายที่มีจิตเป็นต้นเป็นสมุฏฐาน มิใช่ปัจจัยนอกนี้
อนึ่ง กรรมย่อมเป็นตัวชนกปัจจัย คือปัจจัยที่บันดาลให้เกิดแห่งธาตุทั้งหลายที่มีกรรมเป็นสมุฏฐาน เป็นอุปนิสสยปัจจัยโดยอ้อมแห่งธาตุทั้งหลายที่เหลือ จิตย่อมเป็นตัวชนกปัจจัยแห่งธาตุทั้งหลายที่มีจิตเป็นสมุฏฐาน เป็นปัจฉาชาตปัจจัย อัตถิปัจจัย และอวิคตปัจจัย แห่งธาตุทั้งหลายที่เหลือ อาหารย่อมเป็นตัวชนกปัจจัยแห่งธาตุทั้งหลายที่มีอาหารเป็นสมุฏฐาน เป็นอาหารปัจจัย อัตถิปัจจัย และอวิคตปัจจัยแห่งธาตุทั้งหลายที่เหลือ ฤดูย่อมเป็นตัวชนกปัจจัยแห่งธาตุทั้งหลาย ที่มีฤดูเป็นสมุฏฐาน เป็นอัตถิปัจจัยและอวิคตปัจจัยแห่งธาตุทั้งหลายที่เหลือ
มหาภูตมีกรรมเป็นสมุฏฐาน ย่อมเป็นปัจจัยของมหาภูตทั้งหลายที่มีกรรมเป็นสมุฏฐานบ้าง ที่มีจิตเป็นต้นเป็นสมุฏฐานบ้าง มหาภูตที่มีจิตเป็นสมุฏฐานก็ดี ที่มีอาหารเป็นสมุฏฐานก็ดี ที่มีฤดูเป็นสมุฏฐานก็ดี ย่อมเป็นปัจจัยแห่งมหาภูตทั้งหลาย ที่มีฤดูเป็นสมุฏฐาน ที่มีกรรมเป็นต้นเป็นสมุฏฐานบ้างเช่นกัน
''(หน้าที่ 232)''
ในบรรดาปัจจัยทั้ง 4 เหล่านั้น ปฐวีธาตุ มีกรรมเป็นสมุฏฐาน ย่อมเป็นปัจจัย แห่งธาตุนอกนี้ที่มีกรรมเป็นสมุฏฐาน ด้วยสามารถสหชาตปัจจัย อัญญมัญญปัจจัย นิสสยปัจจัย อัตถิปัจจัย และอวิคตปัจจัยแห่งธาตุนอกนี้ และด้วยสามารถเป็นที่ตั้งอาศัยแห่งธาตุนอกนี้ แต่มิใช่เป็นปัจจัย ด้วยสามารถเป็นตัวบันดาลให้เกิด คือ ย่อมเป็นปัจจัยแห่งมหาภูตที่มีสันตติ 3 นอกนี้ ด้วยสามารถเป็นนิสสยปัจจัย อัตถิปัจจัย และอวิคตปัจจัย มิใช่เป็นปัจจัยด้วยสามารถเป็นที่พำนัก และมิใช่เป็นปัจจัยด้วยสามารถชนกปัจจัย
ในจำพวกธาตุเหล่านี้ ฝ่ายอาโปธาตุ ย่อมเป็นปัจจัยแห่งธาตุ 3 นอกนี้ ด้วยสหชาตปัจจัยเป็นต้น และด้วยสามารถเป็นเครื่องยึดไว้ มิใช่ด้วยสามารถเป็นชนกปัจจัย คือเป็นปัจจัยแห่งธาตุ 3 นอกนี้ ที่มีสันตติ 3 ด้วยสามารถเป็นนิสสยปัจจัย อัตถิปัจจัย และอวิคตปัจจัย มิใช่เป็นปัจจัยด้วยสามารถเป็นเครื่องยึดไว้ มิใช่เป็นปัจจัยด้วยสามารถเป็นตัวชนกปัจจัย
ในจำพวกธาตุเหล่านี้ ส่วนเตโชธาตุ ย่อมเป็นปัจจัยแห่งธาตุ 3 นอกนี้ ด้วยสามารถเป็นสหชาตปัจจัยเป็นต้น และด้วยสามารถเป็นเครื่องให้อบอุ่น มิใช่เป็นปัจจัยด้วยสามารถเป็นชนกปัจจัย คือย่อมเป็นปัจจัยแห่งมหาภูตนอกนี้ ซึ่งมีสันตติ 3 ด้วยสามารถเป็นนิสสยปัจจัย อัตถิปัจจัย และอวิคตปัจจัยเท่านั้น มิใช่ด้วยสามารถเป็นเครื่องให้อบอุ่น มิใช่ด้วยสามารถเป็นชนกปัจจัย
ในจำพวกธาตุเหล่านี้ ส่วนวาโยธาตุ ย่อมเป็นปัจจัยแห่งธาตุ 3 นอกนี้ ด้วยสามารถสหชาตปัจจัยเป็นต้น และด้วยสามารถเป็นเหตุเคลื่อนไหว มิใช่ด้วยสามารถชนกปัจจัย คือเป็นปัจจัยแห่งมหาภูต ซึ่งมีสันตติ 3 นอกนี้ ด้วยสามารถเป็นนิสสยปัจจัย อัตถิปัจจัย และอวิคตปัจจัยเท่านั้น มิใช่ด้วยสามารถเป็นเหตุเคลื่อนไหว มิใช่ด้วยสามารถชนกปัจจัย แม้ในปฐวีธาตุเป็นต้น ซึ่งมีจิตและอาหารและฤดูเป็นต้นเป็นสมุฏฐาน ก็มีนัยนี้เหมือนกัน ก็แหละ บรรดาธาตุเหล่านี้ ซึ่งเป็นไปตามอำนาจของปัจจัยมีสหชาตปัจจัยเป็นต้นดังพรรณนามานี้ ธาตุ 3 อาศัยธาตุ 1 เป็นไปโดยอาการ 4 อย่าง ธาตุ 1 อาศัยธาตุ 3 และธาตุ 2 อาศัยธาตุ 2 ย่อมเป็นไปโดยอาการ 6 อย่าง
จริงอยู่ ในปฐวีธาตุเป็นต้น ธาตุ 3 อาศัยธาตุ 1 ย่อมเป็นไปโดยอาการ 4 อย่าง อย่างนี้คือ ธาตุ 3 อาศัยธาตุ 1
''(หน้าที่ 233)''
อนึ่ง ในปฐวีธาตุเป็นต้น ธาตุ 1 อาศัยธาตุ 3 ธาตุนอกนี้ ตามนัยนี้ ธาตุอันเดียว อาศัยธาตุอื่น 3 จึงเป็นไปโดยอาการ 4 อย่าง
อนึ่ง ธาตุ 2 ข้างปลายอาศัยธาตุ 2 ข้างต้น และธาตุ 2 ข้างต้นอาศัยธาตุ 2 ข้างปลาย ธาตุที่ 2 และธาตุที่ 4 อาศัยธาตุที่ 1 และที่ 3 ธาตุที่ 1 ที่ 3 อาศัยธาตุที่ 2 และที่ 4 ธาตุที่ 2 ที่ 3 อาศัยธาตุที่ 1 และที่ 4 และธาตุที่ 1 และธาตุที่ 4 อาศัยธาตุที่ 2 และที่ 3 ตายนัยนี้ ธาตุ 2 อาศัยธาตุ 2 ย่อมเป็นไปโดยอาการ 6 อย่าง
ในธาตุเหล่านั้น ปฐวีธาตุเป็นปัจจัยแห่งการยันในเวลาก้าวไปและถอยกลับเป็นต้นปฐวีธาตุนั้นและประสมกับอาโปธาตุอันอาโปธาตุซึมซาบแล้ว ย่อมเป็นปัจจัยแห่งการให้ดำรงมั่น ฝ่ายอาโปธาตุประสมกับปฐวีธาตุย่อมเป็นปัจจัยแห่งอันมิให้กระจัดกระจาย และเตโชธาตุ ประสมกับวาโยธาตุย่อมเป็นปัจจัยแห่งอันยกขึ้น ฝ่ายวาโยธาตุประสมกับเตโชธาตุ ย่อมเป็นปัจจัยแห่งการเดินและวิ่งได้เร็ว พระโยคีพึงใฝ่ใจโดยวิภาคของปัจจัยดังบรรยายมานี้
ก็แม้ เมื่อพระโยคีใฝ่ใจด้วยสามารถอรรถวิเคราะห์เป็นต้นอย่างนี้ ธาตุทั้งหลายย่อมปรากฏโดยเป็นส่วนหนึ่ง ๆ เมื่อท่านรำพึงและใฝ่ใจธาตุเหล่านั้นบ่อย ๆ อุปจารสมาธิย่อมเกิดตามนัยที่กล่าวแล้วนั่นแหละ อุปจารสมาธินี้นั้นถึงความนับว่าจตุธาตุววัฏฐาน เพราะเกิดขึ้นด้วยอานุภาพแห่งญาณที่กำหนดธาตุ 4
==อานิสงส์การกำหนดธาตุ 4==
ก็แหละ พระโยคีผู้หมั่นประกอบจตุธาตุววัฏฐานนี้ใด ย่อมหยั่งลงสู่ความเป็นของเปล่า ย่อมเพิกถอนความสำคัญหมายว่าสัตว์ พระโยคีนั้นไม่ถึงความกำหนดแยกว่าเนื้อร้ายและยักษ์และผีเสื้อน้ำเป็นต้น เพราะเป็นผู้เพิกถอนสัตตสัญญาเสียได้ จึงเป็นผู้ทนต่อภัยน่าพึงกลัว ทนต่อความยินดียินร้าย ไม่ถึงความสงบและความอึดอัดใจ ในเพราะอารมณ์ที่ปรารถนาและไม่ปรารถนา ก็แลท่านย่อมเป็นผู้ที่มีปัญญามาก มีพระนิพพานเป็นที่สุด มิฉะนั้นก็เป็นผู้มีสุคติเป็นที่ไปในเบื้องหน้า
''(หน้าที่ 234)''
นักปราชญ์ พึงส้องเสพธาตุววัฏฐาน ที่พระโยคี
ผู้ประเสริฐเพียงดังสีหะเคยเล่นมาแล้ว อันมีอานุภาพมาก
อย่างนี้ เป็นนิตย์เทอญ
'''นิทเทสแห่งการเจริญจตุธาตุววัฏฐาน ยุติเพียงเท่านี้'''
=สรุปสมาธินิทเทส'''
ก็ปัญหาอันข้าพเจ้าตั้งไว้แล้วโดยนัยเป็นต้นว่า อะไรชื่อว่า สมาธิ ? ที่ชื่อว่าสมาธิ เพราะอรรถว่ากระไร ? ดังนี้ เพื่อแสดงความพิสดารแห่งสมาธิและนัยแห่งการเจริญในปัญหาเหล่านั้น บทว่า พึงเจริญอย่างไรนี้ มีการพรรณนาความจบแล้วโดยประการทั้งปวง ด้วยอาการเพียงเท่านี้แล
สมาธินี้นั้น ที่ท่านประสงค์ในที่นี้มี 2 อย่างเท่านั้น คือ อุปจารสมาธิ และ อัปปนาสมาธิ ในสมาธิทั้ง 2 นั้น ความมีอารมณ์แน่วแน่ในกรรมฐานทั้ง 10 และในจิตเป็นบูรพภาคแห่งอัปปนา ชื่อว่า อุปจารสมาธิ ความมีจิตแน่วแน่ในกรรมฐานที่เหลือ ชื่อว่า อัปปนาสมาธิ สมาธิทั้ง 2 อย่างนั้น จัดว่าอันพระโยคีอบรมแล้ว เพราะอบรมกรรมฐานเหล่านั้น เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าจึงกล่าวบทนี้ว่า พึงเจริญอย่างไรนี้ มีการพรรณนาความจบแล้วโดยประการทั้งปวง
=อานิสงส์สมาธิภาวนา 5 อย่าง=
แต่คำใดที่ข้าพเจ้ากล่าวไว้ว่า อะไรเป็นอานิสงส์แห่งสมาธิภาวนา จะแก้ในคำนั้น อานิสงส์แห่งสมาธิภาวนา มี 5 อย่าง มีการอยู่เป็นสุขในภพทันตาเห็นเป็นต้น
1. จริงอย่างนั้น ท่านเหล่าใดเป็นอรหันต์ขีณาสพ เข้าสมาบัติแล้วมีจิตแน่วแน่ ย่อมเจริญสมาธิโดยหมายจะอยู่สบายทั้งวัน สมาธิภาวนาอันแน่นแฟ้นของท่านเหล่านั้น มีการอยู่เป็นสุขในภพทันตาเห็นเป็นอานิสงส์ เพราะเหตุนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้า จึงตรัสว่าดูกรจุนทะ ธรรมเหล่านี้ตถาคตไม่เรียกว่าเป็นธรรมเครื่องขัดเกลาในวินัยของพระอริยะธรรมเหล่านี้ตถาคตเรียกว่า 'เป็นเครื่องอยู่เป็นสุขในภพทันตาเห็นในวินัยของพระอริยะ'
2. สมาธิภาวนาอันแน่นแฟ้นก็ดี สมาธิภาวนาเป็นแต่เฉียด ๆ โดยนัยแห่งความบรรลุปลอดโปร่งในที่คับแคบก็ดี แห่งปุถุชนผู้เสขะผู้ออกจากสมาบัติแล้ว เจริญโดยหมายใจ
''(หน้าที่ 235)''
ว่า จักเห็นแจ้งด้วยจิตอันมั่นคง ชื่อว่ามีวิปัสสนาเป็นอานิสงส์ เพราะเป็นปทัฏฐานแห่งวิปัสสนา เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงเจริญสมาธิ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ด้วยว่าภิกษุผู้มีจิตมั่นคงแล้วย่อมรู้ชัดตามเป็นจริง
3 ฝ่ายท่านเหล่าใดยังสมาบัติ 8 ให้เกิดแล้ว เข้าฌานมีอภิญญาเป็นบาท ออกจากสมาบัติแล้ว มุ่งหมายอภิญญาทั้งหลายมีนัยดังกล่าวแล้วว่า 'แม้คนเดียวแปลงเป็นสหายหลายคนได้' ดังนี้ บำเพ็ญให้เกิดอยู่ สมาธิภาวนาอันแน่นแฟ้นของท่านเหล่านั้น ในเมื่อเหตุให้เกิดมีอยู่ จัดว่ามีอภิญญาเป็นอานิสงส์ เพราะเป็นปทัฏฐานแห่งอภิญญา เพราะเหตุนั้นพระผู้มีพระภาคจึงตรัสไว้ว่า ภิกษุนั้นย่อมน้อมนำจิตเพื่อทำให้แจ้งด้วยอภิญญา ซึ่งธรรมอันควรทำให้แจ้งด้วยอภิญญาใด ๆ ย่อมถึงความเป็นผู้ควรเป็นพยานในธรรมนั้น ๆ เที่ยวในเมื่อเหตุให้เกิดมีอยู่
4. ปุถุชนเหล่าใดมีฌานไม่เสื่อม ปรารถนาความเข้าถึงพรหมโลกโดยหมายใจว่าจักเกิดในพรหมโลก หรือไม่ปรารถนาก็ตาม ไม่เสื่อมจากสมาธิ สมาธิภาวนาอันแน่นแฟ้นของปุถุชนเหล่านั้น มีภพวิเศษเป็นอานิสงส์ เพราะนำมาซึ่งภพวิเศษ เพราะเหตุนั้นพระผู้มีพระภาคจึงตรัสไว้ว่า 'ถามว่า ผู้ที่เจริญปฐมฌานยังเป็นกามาพจร ย่อมเกิดในที่ไหน' แก้ว่า 'ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทวดาพวกพรหมปาริสัชชา' ดังนี้เป็นต้น อนึ่ง แม้สมาธิภาวนาเฉียด ๆ ยังนำมาซึ่งสุคติภพวิเศษคือกามาพจรสวรรค์ 6 ชั้นทีเดียว
5. ส่วนท่านเหล่าใดเป็นพระอริยเจ้า เจริญสมาธิด้วยดำริว่าเราจักยังสมาบัติ 8 ให้บังเกิด แล้วเข้านิโรธสมาบัติเป็นผู้ไม่มีความคิดนึกตลอด 7 วัน บรรลุนิโรธนิพพานแล้วจักอยู่เป็นสุขในภพทันตาเห็น สมาธิภาวนาอันแน่นแฟ้นของท่านเหล่านั้น มีนิโรธเป็นอานิสงส์ เพราะเหตุนั้น ท่านพระสารีบุตรจึงได้กล่าวไว้ว่า 'ปัญญาในการอบรมวสีด้วยญาณจริยา 16 และสมาธิ 6 เป็นญาณในนิโรธสมาบัติ'
อานิสงส์แห่งสมาธิภาวนามี 5 อย่าง มีการอยู่เป็นสุขในภพทันตาเห็นเป็นต้นดังบรรยายมานี้
เพราะเหตุนั้น บัณฑิตไม่พึงประมาทในการประกอบสมาธิ
ภาวนา อันเป็นเครื่องชำระมลทินคือกิเลส มีอานิสงส์เป็นอเนก
ประการเทอญ
''(หน้าที่ 236)''
ก็ด้วยบรรหารเพียงเท่านี้ เป็นอันแสดงหมดจดแล้วแม้ซึ่งสมาธิในคัมภีร์วิสุทธิมรรค อันข้าพเจ้าแสดงแล้วด้วยธรรมอันเป็นประมุขคือ ศีล สมาธิ ปัญญา แห่งพระคาถานี้ว่า 'นรชนผู้มีปัญญาตั้งมั่นในศีล' ดังนี้เป็นต้น
'''สมาธินิทเทส ปริจเฉทที่ 11'''
'''ในปกรณ์วิเศษวิสุทธิมรรค ที่ข้าพเจ้ารจนาไว้'''
'''เพื่อพยุงความปราโมทย์แก่สาธุชนทั้งหลาย'''
'''ยุติเพียงเท่านี้'''
==ดูเพิ่ม==
*'''[http://www.84000.org/tipitaka/pitaka2/sutta23.php ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค]'''
*'''[[วิสุทธิมรรค ฉบับปรับสำนวน]] (สารบัญ)'''