วิสุทธิมรรค_17_ปัญญาภูมินิทเทส

**นี่คือเอกสารรุ่น/ฉบับเก่า**


ปริจเฉทที่ 17 ปัญญาภูมินิทเทส

(หน้าที่ 127)

เพราะเหตุที่ในธรรมทั้งหลายที่เป็นภูมิแห่งปัญญานี้ ท่านกล่าวไว้ว่า "ธรรมทั้งหลายต่างโดยขันธ์ อายตนะ ธาตุ อินทรีย์ สัจจะ และปฏิจจสมุปบาทเป็นอาทิ เป็นภูมิ (แห่งปัญญา)" ดังนี้ ปฏิจจสมุบาทและปฏิจจสมุปปันนธรรมทั้งหลายที่รวมเข้าไว้ด้วยอาทิศัพท์ยังเหลืออยู่ (ยังมิได้พรรณนา) เพราะเหตุนั้น บัดนี้ จึงถึงลำดับแห่งการสังวรรณนาปฏิจจสมุปบาทและปฏิจจสมุปปันนธรรมนั้น

คำบริกรรมปฏิจจสมุปบาท

ในธรรมสองอย่างนั้น ธรรมทั้งหลายมีอวิชชาเป็นต้น พึงทราบว่า ชื่อปฏิจจสมุปบทาเป็นอันดับแรก จริงอยู่ คำนี้พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสไว้ว่า "ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ปฏิจจสมุปบาทเป็นอย่างไร ดูกรภิกษุทั้งหลาย

สังขารทั้งหลาย มีเพราะปัจจัยคือ อวิชชา

วิญญาณ มีเพราะปัจจัยคือ สังขาร

นามรูป มีเพราะปัจจัยคือ วิญญาณ

สฬายตนะ มีเพราะปัจจัยคือ นามรูป

ผัสสะ มีเพราะปัจจัยคือ สฬายตนะ

เวทนา มีเพราะปัจจัยคือ ผัสสะ

ตัณหา มีเพราะปัจจัยคือ เวทนา

อุปาทาน มีเพราะปัจจัยคือ ตัณหา

ภพ มีเพราะปัจจัยคือ อุปทาน

ชาติ มีเพราะปัจจัยคือ ภพ

ชรามรณะ โสกะ

ปริเทวะ ทุกขะ

โทมนัส อุปายาส มีเพราะปัจจัยคือ ชาติ

(หน้าที่ 128)

ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนั้นย่อมมีดังนี้ ดูกรภิกษุทั้งหลายนี้เรียกว่า ปฎิจจสมุปบาท"

ส่วนธรรมทั้งหลายมีชรามรณะเป็นต้น พึงทราบว่าชื่อ ปฎิจจสมุปปันนธรรม จริงอยู่ คำนี้พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ได้ตรัสไว้ว่า "ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ปฎิจจสมุปปันนธรรมทั้งหลายเป็นอย่างไร ดูกรภิกษุทั้งหลาย ชรามรณะ เป็นธรรมไม่เที่ยง เป็นธรรมที่ปัจจัยปรุงแต่งขึ้น เป็นปฎิจจสมุปปันนธรรม (อาศัยปัจจัยเกิดขึ้น) เป็นธรรมมีความสิ้นไปเป็นธรรมดา มีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา มีความคลายไปเป็นธรรมดา มีความดับไปเป็นธรรมดา ดูกรภิกษุทั้งหลาย ชาติ ฯลฯ ภพ อุปาทาน ตัณหา เวทนา ผัสสะ สฬายตนะ นามรูป วิญญาณ สังขาร อวิชชา เป็นธรรมไม่เที่ยง เป็นธรรมที่ปัจจัยปรุงแต่งขึ้น เป็นปฎิจจสมุปปันนธรรม (อาศัยปัจจัยเกิดขึ้น) เป็นธรรมมีความสิ้นไปเป็นธรรมดา มีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา มีความคลายไปเป็นธรรมดา มีความดับไปเป็นธรรมดา ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมเหล่านี้ เรียกว่า ปฎิจจสมุปปันนธรรม" ดังนี้

ส่วนความ (ต่อไป) นี้ เป็นความหมายสังเขปในปฎิจจสมุปบาทและปฎิจจสมุปปันนธรรมนั้น

ธรรมที่เป็นปัจจัยทั้งหลาย พึงทราบว่าชื่อว่า ปฎิจจสมุปบาท ธรรมที่เกิดเพราะปัจจัยทั้งหลายนั้น ๆ พึงทราบว่า ชื่อว่าปฎิจจสมุปปันนธรรม หากมีคำถามว่า "ข้อนี้จะพึงทราบได้อย่างไร" พึงแก้ว่า ทราบได้โดยพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคเจ้า" จริงอยู่ พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อทรงแสดงปฎิจจสมุปบาทในพระสูตรอันว่าด้วยการแสดงปฎิจจสมุปบาทและปฎิจจสมุปันนธรรมไว้ดังนี้ว่า "ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ปฎิจจสมุปบาทเป็นอย่างไร ดูกรภิกษุทั้งหลาย ชรามรณะมีเพราะปัจจัยคือชาติ เพราะความเกิดขึ้นแห่งพระตถาคตทั้งหลายก็ตาม เพราะความไม่เกิดขึ้นแห่งพระตถาคตทั้งหลายก็ตาม ธาตุอันนั้น ธัมมฐิตตา (ความตั้งอยู่เป็นธรรมดา) อันนั้น ธัมมนิยามตา (ความแน่นอนแห่งธรรมดา) อันนั้น อิทัปปัจจยตา (ความที่สิ่งนี้เป็นปัจจัยของสิ่งนี้) อันนั้น ก็คงตัวอยู่นั่น ตถาคตรู้ถึงธาตุอันนั้นเข้า ครั้นรู้ถึง

(หน้าที่ 129)

เข้าแล้วจึงบอกจึงแสดงจึงบัญญัติแต่งตั้งเปิดเผยจำแนกออก ทำให้ง่ายขึ้น ท่านทั้งหลายจงดูเถิด" ดังนี้เป็นต้น และตรัสว่า "ดูกรภิกษุทั้งหลาย ชรามรณะ มีเพราะปัจจัยคือชาติ ชาติมีเพราะปัจจัยคือภพ ฯลฯ สังขารทั้งหลายมีเพราะปัจจัยคืออวิชชา เพราะความเกิดขึ้นแห่งพระตถาคตทั้งหลายก็ตาม เพราะความไม่เกิดขึ้นแห่งพระตถาคตทั้งหลายก็ตาม ฯลฯ จำแนกออกทำให้ง่ายขึ้น ท่านทั้งหลายจงดูเถิด" และตรัสว่า "ดูกรภิกษุทั้งหลาย สังขารทั้งหลายมีเพราะปัจจัยคืออวิชชา ตถาคต (ความมีเพราะปัจจัยเหล่านั้น) อย่างนี้ แลอันใด อวิตถตา (ความไม่มีที่จะไม่มีเพราะปัจจัยอย่างนั้น) อย่างนี้ แลอันใด อิทัปปัจจยตา (ความที่สิ่งนี้เป็นปัจจัยของสิ่งนี้) อย่างนี้ แลอันใดในธรรมนั้น อันนี้เรียกว่า ปฏิจจสมุปบาท" ดังนี้เป็นต้น ก็เป็นอันตรัสธรรมที่เป็นปัจจัยทั้งหลายนั่นเองว่าเป็นปฏิจจสมุปบาท โดยคำทั้งหลายที่เป็นไวพจน์ (ของปฏิจจสมุปบาท) มีตถตาเป็นต้น เพราะเหตุนั้น ปฏิจจสมุบาท บัณฑิตพึงทราบว่ามีความเป็นปัจจัยแห่งธรรมทั้งหลายมีชรามรณะเป็นต้นเป็นลักษณะ มีการผูกพันทุกข์ไว้เป็นรส มีความเป็นทางผิดเป็นปัจจุปัฏฐาน ก็แลปฏิจจสมุปบาทนี้นั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกว่าตถตา (ความมีเพราะปัจจัยอย่างนั้น) เพราะความมีขึ้นแห่งธรรมนั้น ๆ ก็เพราะปัจจัยทั้งหลายนั้น ๆ อันไม่ขาดไม่เกินนั่นเทียว ตรัสเรียกว่า อวิตถตา (ความไม่มีที่จะไม่มี เพราะปัจจัยอย่างนั้น) ก็เพราะเมื่อปัจจัยทั้งหลายถึงความพร้อมเข้ากันแล้ว เป็นไม่มีละที่ธรรมทั้งหลาย อันเกิดเพราะปัจจัยนั้นจะไม่มีขึ้นแม้แต่ครู่หนึ่ง ตรัสเรียกว่า อนัญญถตา (ความไม่มีธรรมอื่นเพราะปัจจัยอื่น) ก็เพราะธรรม (ที่เป็นผล) อย่างหนึ่งไม่เกิดขึ้นเพราะปัจจัยของธรรม (ที่เป็นผล) อีกอย่างหนึ่ง ตรัสเรียกว่าอิทัปปัจจยตา (ความที่สิ่งนี้เป็นปัจจัยของสิ่งนั้น) ก็เพราะความเป็นปัจจัยหรือเพราะเป็นประชุมแห่งปัจจัยของธรรม (ที่ เป็นผล) ทั้งหลายมีชรามรณะเป็นอาทิตามที่กล่าวมาแล้วนั้น

แก้อิทัปปัจจยตา

(ต่อไป) นี้เป็นความหมายแห่งคำในคำอิทัปปัจจยตานั้น ธรรมทั้งหลายใดเป็นปัจจัยของธรรมเหล่านี้ ธรรมทั้งหลายนั้นชื่อว่า อิทัปปัจจยา อิทัปปัจจยตา ก็อิทัปปัจจยานั่นเอง นัยหนึ่ง ประชุมแห่งอิทัปปัจจยา ชื่อว่า อิทัปปัจจยตา

ก็แลลักษณะในคำว่าอิทัปปัจจยตานี้ พึงค้นดูจากตำราศัพทศาสตร์เถิด

(หน้าที่ 130)

เจ้าลัทธิบางพวกกล่าวกิริยาเพียงแต่ความเกิดขึ้น (เฉย ๆ ไม่มีเหตุ) ว่าเป็นปฏิจจสมุปบาท โดยนัยดังนี้ว่า "ความอิง (สิ่งต่าง ๆ) เกิดขึ้น และเกิดขึ้นอย่างถูกต้องด้วย (โดย) ไม่เกี่ยวข้องกับเหตุ เช่นความเกิดแห่งปกติ (ประพฤติ – มูลเดิม) และปุริส (อาตมัน) เป็นต้น ซึ่งเดียรถีย์กำหนดขึ้น ชื่อว่าปฏิจจสมุปบาท" คำของเจ้าลัทธินั้นไม่ชอบ เพราะอะไร ?

  1. เพราะไม่มีพระสูตร (อ้าง)
  2. เพราะผิดต่อพระสูตร
  3. เพราะไม่เกิดความลึกซึ้งและนัย และ
  4. เพราะทำลายหลักภาษา (สัททเภท)

เพราะไม่มีพระสูตรอ้าง

จริงอยู่ พระสูตรว่า "กิริยาเพียงแต่ความเกิดขึ้น (ไม่มีเหตุ) ชื่อว่าปฏิจจสมุปบาท" ดังนี้หามีไม่ และความผิดต่อปเทสวิหารสูตร (พระสูตรที่กล่าวถึงปเทสวิหารธรรม) ก็ต้อง (มี) ก็ผู้ที่กล่าวว่า กิริยาเพียงแต่ความเกิดขึ้นนั้นชื่อว่าปฏิจจสมุปบาทเป็นปฐมาภิสัมพุทธวิหาร (วิหารธรรมเมื่อแรกตรัสรู้) แห่งพระผู้มีพระภาคเจ้า โดยบาลีว่า "ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงมนสิการปฏิจจสมุปบาททั้งอนุโลมและปฏิโลมตลอดปฐมยามแห่งราตรี" ดังนี้ เป็นอาทิ อนึ่ง วิหารธรรมเป็นส่วนหนึ่งปฏจจสมุปบาทนั้น ชื่อว่าปเทสวิหารธรรม ดังที่ตรัสว่า "ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรานั้นแรกตรัสรู้ พักผ่อนอยู่ด้วยวิหารธรรมใด เราพักผ่อนอยู่แล้วด้วยปเทส (ส่วนหนึ่ง) แห่งวิหารธรรมนั้น" ก็แลพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพักผ่อนอยู่ในปเทสวิหารธรรมนั้น ก็โดยทรง (พิจารณา) ดูปัจจยาการ (อาการแห่งปัจจยธรรม) หาใช่ทรง (พิจารณา) ดูกิริยาจักว่าความเกิดขึ้นไม่แล ดังที่ตรัสว่า "เรานั้นรู้ทั่วถึงอย่างนี้ว่า ความเสวยอารมณ์มีเพราะปัจจัยคือมิจฉาทิฏฐิก็มี ความเสวยอารมณ์มีเพราะปัจจัยคือสัมมาทิฏฐิก็มี ความเสวยอารมณ์มีเพราะปัจจัยมิจฉาสังกัปปะก็มี ดังนี้เป็นต้น คำบาลีทั้งปวงบัณฑิตพึง (นำมากล่าว) ให้พิสดารเถิด ความผิดต่อปเทสวิหารสูตร ต้อง (มี) แก่ผู่กล่าวว่ากิริยาเพียงแต่ความเกิดขึ้น ชื่อว่าปฏิจจสมุปบาท" ด้วยประการฉะนี้

เพราะผิดต่อพระสูตร

นัยเดียวกัน ผิดต่อกัจจานสูตรด้วย จริงอยู่ แม้ในกัจจานสูตรก็กล่าวว่า "ดูกรกัจจานะ อนึ่ง เมื่อบุคคลเห็นโลกสมุทัย (เหตุเกิดขึ้นแห่งโลก)ด้วยปัญญาอันชอบตามเป็นจริงอยู่

(หน้าที่ 131)

นัตถิตา (ความเห็นว่าไม่มี เห็นว่าขาดสูญ) อันใดในโลก นัตถิตาอันนั้นย่อมไม่มี" ดังนี้ ปฏิจจสมุปบาทฝ่ายอนุโลม ชื่อว่าโลกสมุทัย เพราะเป็นปัจจัยแห่งโลก เพราะฉะนั้น ปฏิจจสมุปบาทฝ่ายอนุโลมนั้น จึงเป็นธรรมที่ทรงประกาศเพื่อถอนอุจเฉททิฏฐิ มิใช่ทรงประกาศกิริยาเพียงแต่ความเกิดขึ้น (เฉย ๆ) เหตุว่าความถอนอุจเฉททิฏฐิจะมีขึ้นด้วยการ (พิจารณา) เห็นแต่เพียงความเกิดขึ้นหาได้ไม่ แต่ย่อมมีได้ด้วยการ (พิจารณา) เห็นความสืบต่อกันแห่งปัจจัย เพราะความสืบต่อแห่งผลย่อมมีในเพราะความสืบต่อแห่งปัจจัยแล แม้ความผิดต่อกัจจานสูตรก็ต้อง (มี) แก่ผู้กล่าวว่า "กิริยาเพียงแต่ความเกิดขึ้น ชื่อว่า ปฏิจจสมุปบาท" ด้วยประการฉะนี้

เพราะไม่เกิดความลึกซึ้งและนัย

นิทานสูตร ข้อว่า "เพราะไม่เกิดความลึกซึ้งและนัย" ความว่า ก็แลคำนี้พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า "ดูกรอานนท์ ปฏิจจสมุปบาทนี้เป็นธรรมลึกซึ้งทั้งอาการที่ปรากฏก็ลึกด้วย" ดังนี้ ก็อันความลึกซึ้ง (แห่งปฏิจจสมุปบาทนั้น) มี 4 ประการ ข้าพเจ้าทั้งหลายจักพรรณนาความลึกซึ้งนั้นข้างหน้า ความลึกซึ้งนั้นหามีในกิริยาเพียงแต่ความเกิดขึ้นไม่

อนึ่ง บัณฑิตทั้งหลายพรรณนาปฏิจจสมุปบาทนั้นไว้ให้ประดับด้วยนัย 4 ประการ แม้นัยทั้ง 4 นั้น ก็หามีในกิริยาเพียงแต่ความเกิดขึ้นไม่

กิริยาเพียงแต่ความเกิดขึ้นไม่เป็นปฏิจจสมุปบาท เพราะไม่เกิดความลึกซึ้งและนัย ดังกล่าวมาฉะนี้ ประการ 1

เพราะทำลายหลักภาษา

ข้อว่า เพราะทำลายหลักภาษา (สัททเภท) ความว่า ก็แล ปฏิจจศัพท์นี้ เพราะกัตตาเสมอกัน (คือหากมีกัตตาเดียวกันกับอุปปาท) ประกอบไว้ในบุพกาล (คือใช้เป็นบุพกาลกิริยา) จึงทำความสำเร็จแห่งอรรถได้ (คือได้ความเป็นภาษา) เช่นกับพากย์นี้ว่า "จกฺขุญจ ปฏิจฺจรูเป จ อุปฺปชฺชติ จกฺขุวิญฺญาณํ จักขุวิญญาณย่อมอาศัยจักษุและรูปเกิดขึ้น" แต่ใน

(หน้าที่ 132)

คำของเกจิอาจารย์นี้ ปฏิจจศัพท์นั้นประกอบเข้ากับอุปปาทศัพท์อันเป็นภาวสาธนะ (คือ แปลว่าความเกิดขึ้น) จึงถึงซึ่งความเป็นสัททเภท เพราะไม่มีกัตตาเสมอกัน และไม่ยังอรรถอะไร ๆ ให้สำเร็จด้วย เพราะฉะนั้น กิริยาเพียงแต่ความเกิดขึ้นจึงไม่เป็นปฏิจจสมุปบาท เพราะเป็นสัททเภทประการ 1 ฉะนี้

ในข้อนั้น พึงมีคำแย้ง "พวกข้าพเจ้าจักประกอบเข้ากับ โหติ ศัพท์ว่า "ปฏิจจสมุปฺปาโท โหติ" ดังนี้ก็ได้ คำแก้พึงมีว่า "คำนั้นก็ไม่ชอบ เพราะอะไร ? เพราะไม่มีความที่ควรประกอบประการ 1 (เพราะโทษคือต้องกลายเป็นความว่า) ความเกิดขึ้นแห่งความเกิดขึ้นไปประการ 1 ด้วยว่าในบททั้งหลายเหล่านี้ คือ "ปฏิจฺจสมุปฺปาทํ โว ภิกฺขเว เทสิสฺสามิ กตโม จ ภิกฺขเว ปฏิจฺจสมุปฺปาโท ฯเปฯ อยํ วุจฺจติ ภิกฺขเว ปฏิจฺจสมุปฺปาโท" (ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงปฏิจจสมุปบาทแก่ท่านทั้งหลาย ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลปฏิจจสมุปบาทเป็นอย่างไร ฯลฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี่เรียกว่าปฏิจจสมุปบาท) โหติ ศัพท์ก็ไม่ถึงซึ่งความควรประกอบเข้ากับบท (ไหน) แม้แต่บทเดียว ทั้งไม่เป็นความเกิดขึ้นด้วย (เพราะไม่ประกอบด้วยลักษณะแห่งความเกิด) ถ้าหากเป็น ก็จะต้อง (กลายเป็น) ความเกิดขึ้นแห่งความเกิดขึ้นไปอีกประการ 1

แม้อาจารย์เหล่าใดสำคัญเอาว่า "ภาวะแห่งอิทัปปัจจยธรรมทั้งหลาย ชื่อ อิทัปปัจจยตาและอันภาวะ (นั้น) ก็ได้แก่อาการที่เป็นเหตุแห่งปัจจยธรรมทั้งหลายมีอวิชชาเป็นอาทิ ในเพราะความปรากฎขึ้นแห่งสังขาร (สิ่งที่ถูกปรุงแต่งขึ้น) เป็นต้น และชื่อว่าปฏิจจสมุปบาท (นั้นเล่าก็มีขึ้น) ในเพราะความมีแปลกๆ แห่งสังขารนั้นแหละ" ดังนี้ ความสำคัญเอาแห่งอาจารย์เหล่านั้นก็ไม่ชอบ เพราะอะไร เพราะกล่าวเหตุของปัจจยธรรมทั้งหลายมีอวิชชาเป็นต้น ที่จริงปัจจยธรรมทั้งหลายมีอวิชชาเป็นต้นนั่นเอง พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่าเป็นตัวเหตุโดยนัยพระสูตรว่า "เพราะเหตุนั้นนั่นแล อานนท์ สิ่งนั้นแลเป็นเหตุ สิ่งนั้นเป็นนิทาน สิ่งนั้นเป็นสมุทัย สิ่งนั้นเป็นปัจจัยแห่งชรามรณะ สิ่งนี้คืออะไร คือชาติ ฯลฯ สิ่งนั้นเป็นเหตุ แห่งสังขารทั้งหลาย สิ่งนี้คืออะไร คืออวิชชา ดังนี้ หาใช่ความมีแปลก ๆ แห่งสังขารเป็นต้นนั้น (เป็นปฏิจจสมุปบาท) ไม่ เพราะเหตุนั้น พึงทราบเถิดว่าปัจจยธรรมทั้งหลาย (นั้นแหละ) ชื่อว่าปฏิจจสมุปบาท คำนั้นที่ข้าพเจ้ากล่าวไว้ดังนี้ คำนั้นพึงทราบว่าเป็นคำกล่าวชอบแล้ว

(หน้าที่ 133)

ส่วนความเข้าใจไปอันใดเกิดขึ้นในบทปฏิจจสมุปบาทนั้นว่า ความเกิดขึ้นนี่เองเรียกว่า ปฏิจจสมุปบาท (ไม่ใช่เหตุ) ด้วยฉายาแห่งพยัญชนะว่า ปฏิจจสมุปบาทนี้ ความเข้าใจ ไปอันนั้นอาจารย์ทั้งหลายพึงถือเอาอรรถแห่งบทนี้ โดยนัยที่กล่าวแล้วนั้น แล้วระงับเสียเถิดด้วยว่า

ในกลุ่ม (ปัจจุบัน) ธรรมอันเป็นไปเพราะกลุ่ม

ปัจจยธรรมนั้น คำ (ปฏิจจสมุปบาท) นี้ (ท่านประสงค์) โดย

ส่วน 2 (คือทั้งส่วนผลและส่วนเหตุ) เหตุใด เพราะเหตุนั้น

(แม้) ปัจจัยแห่งกลุ่มธรรมนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ตรัส

เรียกว่าปฏิจจสมุปบาท โดยอุปจาร (คือโวหาร) แห่งผล

จริงอยู่ กลุ่มธรรม (ปัจจัยที่เป็นผล) อันเป็นไป (คือเกิดขึ้น) เพราะกลุ่มปัจจัยอันนี้ใด ในกลุ่มธรรมนั้น บัณฑิตทั้งหลายประสงค์เอาคำว่าปฏิจสมุปบาทนี้เป็น 2 ส่วน ขยายความว่า

ปฏิจจสมุปบาทส่วนผล

กลุ่มธรรมนั้น อันบัณฑิตอาศัย (ดำเนินญาณ) อยู่ ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์และเพื่อความสุข (ที่เป็นโลกุตตระ) เหตุใด เพราะเหตุนั้น กลุ่มธรรมนั้นจึงชื่อปฏิจจะ เพราะเป็นที่บัณฑิตควรอาศัย และกลุ่มธรรมนั้นชื่อสมุปบาทด้วย เหตุว่าเมื่อเกิดขึ้น ย่อมเกิดขึ้นด้วยกันและ (เกิดขึ้น) โดยชอบ เพราะมิได้เกิดขึ้นทีละอย่าง ทั้งมิได้เกิดขึ้น โดยหาเหตุมิได้ด้วย เหตุฉะนั้น กลุ่มนั้นจึงชื่อปฏิจจสมุปบาท เพราะเป็นที่บัณฑิตควรอาศัยด้วย เกิดขึ้นด้วยกันและโดยชอบด้วยโดยนัยดังกล่าวมาฉะนี้ อีกนัยหนึ่ง กลุ่มธรรม (ที่เป็นผล) ชื่อสมุปบาทเพราะเกิดขึ้นด้วยกัน อนึ่งกลุ่มธรรมนั้นอาศัย คือไม่ปฏิเสธความพร้อมเพรียงแห่งปัจจัยเกิดขึ้น เหตุฉะนี้ กลุ่มธรรมนั้นจึงชื่อว่า ปฏิจสมุปบาท เพราะกลุ่มธรรมนั้นอาศัย (ปัจจัย) ด้วยเกิดขึ้นด้วยกันด้วย ดังกล่าวมาฉะนี้ อีกนัยหนึ่ง

ปฏิจจสมุปบาทส่วนเหตุ

ส่วนว่ากลุ่มเหตุนี้เล่า ก็เป็นปัจจัยของกลุ่มธรรมนั้น เหตุนี้ กลุ่มเหตุนั้นจึงได้ชื่อว่าตัปปัจจยะ เพราะความที่กลุ่มเหตุเป็นตัปปัจจยะ (นั่นแล) แม้กลุ่มเหตุนี้ บัณฑิตก็พึงทราบ

(หน้าที่ 134)

เถิดว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกว่าปฏิจจสมุปบาทเหมือนกันโดยโวหารแห่งผล ดังเช่นในทางโลก ก้อนน้ำอ้อยอันเป็นปัจจัยแห่งเสมหะ เขาเรียกกันเสียว่า ก้อนเสมหะ และเหมือนอย่างในทางศาสนา ความเกิดขึ้นแห่งพระพุทธเจ้าทั้งหลายอันเป็นปัจจัยแห่งความสุข ท่านก็กล่าวเสียว่า ความเกิดขึ้นแห่งพระพุทธทั้งหลายอันเป็นปัจจัยแห่งความสุข ฉะนั้น อีกนัยหนึ่ง

กลุ่มเหตุนี้เรียกว่าปฏิจจะ เพราะอรรถว่า ถึง

เฉพาะหน้ากัน และกลุ่มเหตุนั้นเรียกว่าสมุปบาทด้วย

เพราะอรรถว่ายังธรรมทั้งหลายที่ไปด้วยกันให้เกิด

จริงอยู่กลุ่มเหตุของความปรากฏ (เกิดขึ้น) แห่งธรรมทั้งหลายมีสังขารเป็นอาทิ ที่ทรงแสดงไว้โดยหัวข้อเหตุเป็นข้อ ๆ มีอวิชชาเป็นต้นนั้นใด กลุ่มเหตุนั้นเรียกว่า "ปฏิจจะ" เพราะทำอรรถวิเคราะห์ว่า บรรดาปัจจยธรรมที่เป็นองค์แห่งความรวมกลุ่ม ต่างถึงเฉพาะหน้ากันและกัน คือไปพบหน้ากันและกัน (หมด) โดยอรรถว่า (ร่วมกัน) ยังผลทั่วไปให้สำเร็จ และโดยอรรถว่าไม่มี (ผลอะไร) ขาดตกบกพร่องไป (และ) กลุ่มเหตุนี้นั้นยังธรรมทั้งหลายที่ไปด้วยกัน คือธรรมที่มีความเป็นไปไม่แยกกันและกันนั่นแลให้เกิดขึ้น เพราะฉะนี้ กลุ่มเหตุนั้น จึงเรียกว่า "สมุปบาท" ด้วย (ดังนี้) กลุ่มเหตุจึงได้ชื่อว่าปฏิจจสมุปบาทเพราะกลุ่มเหตุนั้นถึงเฉพาะหน้ากันด้วย ยังธรรมที่ไปด้วยกันให้เกิดด้วย ดังกล่าวมาฉะนี้อีกนัยหนึ่ง

นัยอื่นอีกยังมี กลุ่มปัจจัยนี้อาศัยกันและกัน (เป็น

เหตุร่วม) ยังธรรมทั้งหลาย (ที่เป็นผลของตน) ให้เกิด

ขึ้นเสมอกันและด้วยกัน เหตุใด แม้เพราะเหตุนั้นกลุ่ม

ปัจจัยนี้ พระมุนีเจ้าจึงตรัสไว้ในบทปฏิจจสมุปบาทนี้

ด้วยเหมือนกัน

จริงอยู่ ในปัจจัยทั้งหลายที่ทรงแสดงไว้ด้วยหัวข้อมีอวิชชาเป็นต้น ปัจจัยเหล่าใดยังธรรมมีสังขารเป็นต้นให้เกิดขึ้น ปัจจัยเหล่านั้นหาใช่ไม่อาศัยกันและกัน (เป็นเหตุร่วม) เมื่อขาดกันและกันไปเสียจะสามารถยังธรรมมีสังขารเป็นต้นนั้นให้เกิดขึ้นได้เลยไม่ เพราะฉะนั้นกลุ่มปัจจัยนี้พระมุนีเจ้าผู้ฉลาดในโวหารตามทำนองความว่า "กลุ่มปัจจัยนี้อาศัย (กันและกัน

(หน้าที่ 135)

เป็นเหตุร่วม) ยังธรรมทั้งหลายให้เกิดขึ้นโดยเสมอกันและด้วยกัน คือมิใช่ (ให้เกิดขึ้น) เป็นส่วน ๆ ทั้งมิใช่ (ให้เกิดขึ้น) โดยเป็นก่อนและหลัง" ดังนี้ จึงตรัสไว้ในบทปฏิจจสมุปบาทนี้ด้วยเหมือนกัน หมายความว่าตรัสว่าเป็นปฏิจจสมุปบาทด้วยนั่นเอง

ปฏิจจสมุปบาทเป็นมัชฌิมาปฏิปทา

ก็แล พระมุนีเจ้านั้น เมื่อตรัสอย่างนี้ ก็เป็นอัน

ทรงแสดง ความไม่เป็นสัสสตวาทะเป็นต้นด้วยบทหน้า

และทรงแสดงความแย้งต่ออุจเฉทวาทะเป็นอาทิด้วยบท

หลัง ทรงแสดงความถูกต้องด้วยบททั้งสอง

อรรถาธิบายแห่งคำประพันธ์นี้ว่า คำว่า "ด้วยบทหน้า" เป็นต้น ความว่า ความเป็น สัสสตวาทะ เป็นต้น ซึ่งแยกออกเป็นสัสสตวาทะ (กล่าวว่าอัตตาและโลกเที่ยงไม่สูญ ตายแล้วเกิด) อเหตุกวาทะ (กล่าวว่าเหตุปัจจัยแห่งความเศร้าหมอง และความบริสุทธิ์ของสัตว์ทั้งหลายไม่มี แล้วแต่โชคเคราะห์) วิสมเหตุวาทะ (กล่าว่าโลกเป็นไปด้วยอำนาจเหตุไม่เสมอกัน คือด้วยอำนาจประกฤต อณู และกาลเป็นต้น) วสวัตติวาทะ (กล่าวว่ามีพระอิศวร อาตมัน หรือพระปชาบดี คือพรหมเป็นผู้ครอบงำสัตว์ไว้ในอำนาจคือเป็นผู้บันดาล) เป็นต้น อันทรงแสดงด้วยบทปฏิจจะ ซึ่งส่องความพร้อมเพรียงแห่งปัจจัย เพราะปวัตติธรรม (ธรรมฝ่ายปวัตติ – หมุนไป) มีความเป็นไปเนื่องอยู่ในความพร้อมเพรียงแห่งปัจจัย จริงอยู่ ประโยชน์อะไรด้วยความพร้อมเพรียงแห่งปัจจัยเล่า สำหรับสิ่งที่เป็นสัสสตะเป็นต้น หรือสำหรับสิ่งที่เป็นไปด้วยอำนาจอเหตุเป็นต้น

คำว่า "และด้วยบทหลัง" เป็นต้นความว่า อุจเฉทวาทะ (กล่าวว่าตายแล้วสูญ) นัตถิกวาทะ (กล่าวว่าอะไร ๆ ไม่มี ผลของบุญบาปก็ไม่มี) อกิริยวาทะ (กล่าวว่าไม่เป็นอันทำคือทำอะไรไม่เป็นกรรม) ชื่อว่าถูกปัดออกไป เพราะความเกิดขึ้นแห่งธรรมทั้งหลาย ก็เพราะความพร้อมเพรียงแห่งปัจจัย เหตุนั้นจึงอันเป็นทรงแสดงความแย้งต่ออุจเฉจวาทเป็นต้นด้วยบท สมุปบาท ซึ่งส่องความเกิดขึ้นแห่งธรรมทั้งหลาย จริงอยู่ในเมื่อธรรมทั้งหลายเกิดขึ้นแล้ว ๆ เล่า ๆ ด้วยอำนาจแห่งปัจจัยก่อน ๆ อยู่ อุจเฉทวาทะ นัตถิกวาทะและอกิริยะวาทะจักมีแต่ไหนเล่า

(หน้าที่ 136)

คำว่า "ด้วยบททั้งสอง" เป็นต้น ความว่า ความถูกต้องนี้คือ มัชฌิมาปฏิปทา (ทางสายกลาง) ความละเสียซึ่งวาทะว่า "ผู้นั้นทำ ผู้นั้นได้รับผล (คือใครทำใครได้เรื่อยไปไม่มีจบสิ้น)" ความละเสียซึ่งวาทะว่า "คนอื่นทำ คนอื่นได้รับผล (คือคนหนึ่งทำ คนหนึ่งได้)" ความไม่ยึดมั่นในภาษาของท้องถิ่น ความไม่ล่วงเลยเสียซึ่งสมัญญา (คือชื่อคนและสัตว์สิ่งของที่ชาวโลกเรียกรู้กัน) เป็นอันทรงแสดงด้วยคำว่าปฏิจจสมุปบาทหมดทั้งคำ เพราะธรรมนั้น ๆ เกิดขึ้นโดยไม่ตัด (คือไม่เว้น ?) ความสืบเนื่องกับความพร้อมเพรียงแห่งปัจจัยนั้น ๆ นี่เป็นความหมายของคำเพียงแต่ว่า "ปฏิจจสมุปบาท" เท่านั้น

ส่วนว่า แบบที่พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อทรงแสดงปฏิจจสมุปบาท ได้ทรงวางไว้โดย นัยว่า อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา สังขารทั้งหลายมีเพราะปัจจัยคืออวิชชาเป็นต้นนี้ใด บัณฑิตเมื่อจะทำสังวรรณนาความแห่งแบบที่ทรงวางไว้นั้น ลงสู่วิภัชชวาทีแล้วไม่กล่าวตู่อาจารย์ทั้งหลาย ไม่ดิ่งลงสู่สกสมัย (คือไม่ยึดแต่ความรู้ฝ่ายตน) ไม่ขึ้นคร่อมปรสมัย (คือไม่ข่มขี่ความรู้ฝ่ายอื่น) ไม่ค้านพระสูตรอนุโลมพระวินัย มองดูมหาปเทสไว้ ชี้ข้อธรรม (คือพระบาลี) ได้ (ถูกต้อง) ถือเอาอรรถ (คือความอธิบายแห่งบาลีนั้น) ได้ (ไม่ผิด) และยักเยื้องอรรถนั้นนั่นแหละ อธิบายไปโดยบรรยายอื่นอีกก็ได้ (ดังนี้) จึงควรทำอรรถสังวรรณนาได้ อนึ่งเล่า โดยปกติ อรรถสังวรรณนาแห่งปฏิจจสมุปบาทก็ทำยากอยู่แล้ว ดังโบราณาจารย์ทั้งหลายกล่าวไว้ว่า:-

ธรรม 4 ประการ คือสัตตยะ สัตวะ ปฏิสนธิและ

ปัจจยาการ นี่แหละ เป็นธรรมที่เห็นได้ยาก ทั้งยากที่จะ

แสดงด้วย

ดังนี้ เหตุใด เพราะเหตุนั้น การสังวรรณนาแห่งปฏิจจสมุปบาท อันใคร ๆ เว้นเสียแต่ท่านผู้สำเร็จอาคม (คือพระปริยัติ) และอธิคม (คือมรรคผล) จะทำได้มิใช่ง่าย เหตุดังนี้ ข้าพเจ้าชั่งใจดูแล้ว

บัดนี้ ใคร่จะกล่าวพรรณนาปัจจยาการ (ทั้ง ๆที่)

ยังไม่ได้ (นัยอันเป็น) ที่ตั้ง (ที่อาศัย ด้วยกำลังปัญญาตน)

ดังก้าวลงสู่สาครยังไม่ได้เหยียบยัน ฉะนั้น ก็แต่ว่า

(หน้าที่ 137)

คำสอนข้อนี้เป็นคำสอนที่ประดับประดาไปด้วยนัย

เทศนาเป็นนานา (วิธี) ทั้งแนวทาง (พรรณนาคืออรรถ

กถา) ของท่านบุรพาจารย์เล่าก็ยังไม่ขาดสาย เป็นไปอยู่

(จนทุกวันนี้) เหตุใด เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าจักอาศัย

นัยทั้งสองนั้นลงมือพรรณนาความแห่งปฏิจจสมุปบาทนั้น

(ดู) ขอท่านทั้งหลายจงตั้งใจฟังคำพรรณนานั้นเถิด

ด้วยพระบุรพาจารย์ทั้งหลายกล่าวไว้ว่า ผู้ใดผู้หนึ่งหาก

สนใจฟังข้าพเจ้า จะพึงได้รับคุณ (คือความรู้) วิเศษ

อันมีอยู่แต่ต้นไปจนปลาย ครั้นได้รับคุณ (คือความรู้)

วิเศษอันมีอยู่แต่ต้นไปจนปลายแล้ว ก็จะพึงลุถึงฐานะ

ที่มัจจุราชมองไม่เห็น" ดังนี้

วินิจฉัยปฏิจจสมุปบาทอย่างย่อ

เพราะปฏิจจสมุปบาทเป็นเรื่องยากมากดังกล่าวมาข้างต้น, ข้าพเจ้าจะเริ่มด้วยการวินิจฉัยแบบเบื้องต้น ในคำบาลีปฏิจจสมุปบาทมีคำว่า "อวิชชาปจฺจยา สงฺขารา" เป็นต้นก่อน, ด้วยหัวข้อในคาถานี้:

บัณฑิตพึงทราบวินิจฉัยโดยประเภทแห่งเทศนาโดยอรรถ

โดยลักษณะ (เป็นต้น) โดยอย่างต่าง ๆ มีอย่างเดียว

เป็นต้น และโดยหลักที่ใช้บัญญัติองค์ทั้ง 12 ทั้งหลายแต่ต้นไปทีเดียว

ดังนี้

ในบทเหล่านั้น บทว่า "โดยประเภทแห่งเทศนา" มีวินิจฉัยว่า ก็การแสดงปฏิจจสมุปบาทแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้ามี 4 อย่างคือทรงแสดงตั้งแต่ต้นไปถึงปลายบ้าง ตั้งแต่กลางไปจนถึงปลายบ้าง นัยเดียวกันนั้น ทรงแสดงแต่ปลายมาถึงต้นบ้าง แต่กลางมาถึงต้นบ้าง ดุจการ (ชัก) เอาเถาวัลย์แห่งคนหาเถาวัลย์ 4 คนฉะนั้น

แสดงแต่ต้นถึงปลาย

เหมือนอย่างว่า ในคนหาเถาวัลย์ 4 คน คนหนึ่งพบโคนเถาวัลย์เข้าก่อน เขาก็ตัดมันที่โคน แล้วชักเอามาจนหมด นำไปใช้งานฉันใด พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ฉันนั้น ทรงแสดง

(หน้าที่ 138)

ปฏิจจสมุปบาท ตั้งแต่ต้นไปจนปลายว่า "ภิกษุทั้งหลาย สังขารทั้งหลาย มีเพราะปัจจัยคืออวิชชา ฯลน ชรามรณะมีเพราะปัจจัยคือชาติ" ดังนี้ก็มี

แสดงแต่กลางถึงปลาย

อนึ่ง ในคนพวกนั้น คนหนึ่งพบตอนกลางเถาวัลย์เข้าก่อน ก็ตัดมันตรงกลาง ชักเอาส่วนบนเท่านั้นนำไปใช้งานฉันใด พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ฉันนั้น ทรงแสดง (ปฏิจจสมุปบาท) ตั้งแต่กลางไปถึงปลายว่า "เมื่อกุมารนั้นตั้งหน้ายินดีเวทนานั้นอยู่ พร่ำชมเชยเวทนานั้นอยู่ ยึดเวทนานั้นติดอยู่ นันทิ (ความเพลิดเพลิน) ย่อมเกิดขึ้น นันทิในเวทนาทั้งหลายอันใด อันนั้นเป็นอุปาทาน ภพย่อมมีแก่เขา เพราะปัจจัยคืออุปาทาน ชาติย่อมมีเพราะปัจจัยคือภพ" ดังนี้ เป็นต้นก็มี

แสดงแต่ปลายถึงต้น

อนึ่ง ในคนพวกนั้น คนหนึ่งพบปลายเถาวัลย์เข้าก่อน เขาก็จับมันเข้าที่ปลายแล้วชักเอาหมด จนถึงโคน โดยสาวไปแต่ปลายนั่นแหละนำไปใช้งานฉันใด พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ฉันนั้น ทรงแสดงปฏิจจสมุปบาทตั้งแต่ปลายไปจนถึงต้นว่า "ก็แลคำที่เรากล่าวว่า ชรามรณะมีเพราะปัจจัยคือชาติ ดังนี้นี่ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ชรามรณะมีเพราะปัจจัยคือชาติหรือหนอ หรือว่ามิใช่ หรือว่าความสำคัญของท่านทั้งหลายในข้อนี้มีอย่างไร" (ภิกษุทั้งหลายกลาบทูลว่า) "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ชรามรณะย่อมมีเพราะปัจจัยคือชาติ ความสำคัญของข้าพระองค์ทั้งหลายในข้อนี้มีอย่างนี้ว่า ชรามรณะมีเพราะปัจจัยคือชาติ" (ตรัสต่อไปว่า) "คำที่เรากล่าวว่า ชาติมีเพราะปัจจัยคือภพ ฯลฯ สังขารทั้งหลายมีเพราะปัจจัยคืออวิชชา ดังนี้นี่ ดูกรภิกษุทั้งหลาย สังขารทั้งหลายมีเพราะปัจจัยคืออวิชชาหรือหนอ หรือว่ามิใช่ หรือว่าความสำคัญของท่านทั้งหลายในข้อนี้มีอย่างไร" ดังนี้เป็นต้นก็มี

แสดงแต่กลางถึงต้น

อนึ่ง ในคนพวกนั้น คนหนึ่งพบตอนกลางเถาวัลย์เข้าก่อน เขาก็ตัดมันตรงกลางแล้ว สาวลงไปส่วนล่างจนถึงโคน นำไปใช้งานฉันใด พระผู้มีพระภาคเจ้า ก็ฉันนั้น ทรงแสดง

(หน้าที่ 139)

(ปฏิจจสมุปบาท) เริ่มแต่กลางไปถึงต้นว่า "ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลอาหาร 4 นี้มีอะไรเป็นต้นเหตุ มีอะไรเป็นสมุทัย มีอะไรเป็นกำเนิด มีอะไรเป็นแดนเกิด ? อาหาร 4 นี้มีตัณหาเป็นต้นเหตุ มีตัณหาเป็นสมุทัย มีตัณหาเป็นกำเนิด มีตัณหาเป็นแดนเกิด ตัณหามีอะไรเป็นต้นเหตุ เวทนา ผัสสะ สฬายตนะ นามรูป วิญญาณ สังขาร มีอะไรเป็นต้นเหตุ สังขารมีอวิชชาเป็นต้นเหตุ ฯลฯ มีอวิชชาเป็นแดนเกิด" ดังนี้ก็มี

เหตุที่ทรงแสดงเช่นนี้

ถามว่า ก็เพาะเหตุไฉนจึงทรงแสดงอย่างนี้ ? แก้ว่า เพราะปฏิจจสมุปบาทเป็นธรรม (สมันตภัทร) มีความงามรอบตัว และเพราะพระองค์เองก็ทรงถึงซึ่ง (เทสนาวิลาส) ความงามใน (กระบวน) เทศนาด้วย จริงอยู่ ปฏิจจสมุปบาทเป็นธรรมมีความงามรอบตัว จึงเป็นไปเพื่อแทงตลอดซึ่งธรรมที่ถูกต้อง เพราะ (กระบวน) เทศนานั้น ๆ โดยแท้ พระผู้มีพระภาคเล่าก็ทรงถึงซึ่งความงามใน (กระบวน) เทศนา เพราะทรงประกอบด้วยพระเวสารัชชญาณ 4 และพระปฏิสัมภิทาญาณ 4 และเพราะทรงถึงซึ่งพระคัมภีรภาพ 4 ประการด้วย เพราะทรงถึงซึ่งความงามใน (กระบวน) เทศนา พระองค์จึงทรงแสดงธรรมได้โดยนัยต่าง ๆ แท้

แต่ (เมื่อว่า) โดยความแปลกกัน (แห่งเทศนาทั้ง 4) อนุโลมเทศนา (การแสดงปฏิจจสมุปบาทโดยอนุโลม) ตั้งแต่ต้นไปอันใด อนุโลมเทศนานั้นบัณฑิตพึงทราบว่าเป็นไปแก่พระองค์ผู้ทรงพิจารณาเห็นเวไนยชนซึ่งยังเขลาอยู่ในการจำแนกเหตุแห่งปวัตติ (ความหมุนไป) ตามเหตุทั้งหลายที่เป็นของตน และเพื่อทรงชี้แจงลำดับแห่งความเกิดขึ้นด้วย

ปฏิโลมเทศนา (การแสดงปฏิจจสมุปบาทโดยปฏิโลม) ตั้งแต่ปลายเข้ามาอันใด ปฏิโลมเทศนานั้นพึงทราบว่าเป็นไปแก่พระองค์ผู้ทรงเล็งเห็นสัตว์โลกที่ต้องทุกข์ยาก โดยนัย (พระพุทธรำพึง) ว่า "สัตว์โลกนี้ต้องทุกข์ยากหนอ เกิดอยู่ด้วย แก่อยู่ด้วย ตายอยู่ด้วย" ดังนี้เป็นต้น เพื่อทรงชี้แจงเหตุของทุกข์นั้น ๆ มีชรามรณะเป็นต้น ซึ่งพระองค์ได้ทรง (ค้น) พบตามแนวความตรัสรู้ในตอนแรก (คือแรกตรัสรู้)

เทศนาที่เป็นไปตั้งแต่กลางถึงต้นอันใด เทศนานั้นพึงทราบว่าเป็นไปเพื่อทรงชี้แจงซึ่งลำดับแห่งเหตุและผล ตั้งต้นแต่ข้ามอดีตอัทธาเสีย ไปจนถึงอดีตอัทธาอีกตามแนวกำหนดเหตุแห่งอาหาร

(หน้าที่ 140)

ส่วนเทศนาที่เป็นไปเริ่มแต่กลางถึงปลายอันใด เทศนานั้นพึงทราบว่า เป็นไปเพื่อทรงชี้แจงซึ่งธรรมอันจักมีในอนาคตอัทธา (กลางอนาคต) เริ่มแต่ความเกิดขึ้นแห่งธรรมอันเป็นเหตุแห่ง (ผลอันจักมีใน) อนาคตอัทธาในกาลปัจจุบัน (นี้เอง)

ในเทศนา (4) นั้น อนุโลมเทศนาเริ่มแต่ต้นไป เพื่อทรงชี้แจงปวัตติ (ความหมุนไป) ตามเหตุทั้งหลายที่เป็นของตน และเพื่อทรงชี้แจงลำดับแห่งความเกิดขึ้นแก่เวไนยชนผู้ยังเขลาใน (การจำแนก) เหตุแห่งปวัตติ (ความหมุนไป) อันใด อนุโลมเทศนานั้นบัณฑิตพึงทราบว่า เป็นแบบที่ทรงวางไว้ในที่นี้

อวิชชาก็มีเหตุ

ถามว่า ก็เพราะเหตุไฉน ในปัจจยาการนี้ อวิชชา พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสไว้เป็นข้อต้น แม้อวิชชาก็เป็นสิ่งไม่มีเหตุ (แต่) เป็นตัวมูลเหตุของโลก ดังปกติ (ประกฤติ) ของพวกปกติวาทีด้วยหรือ ? แก้ว่า อวิชชาเป็นสิ่งไม่มีเหตุหามิได้ เพราะว่าเหตุของอวิชชาก็ได้ตรัสไว้ (ในพระบาลี) ว่า "อาสวสมุทยา อวิชฺชาสมุทโย ความเกิดขึ้นแห่งอวิชชามีเพราะความเกิดขึ้นแห่งอาสวะ" ดังนี้ แต่ปริยาย (คือเหตุโดยอ้อม) ซึ่งเป็นมูลเหตุ (ใหกล่าวได้ว่าอวิชชาเป็นตัวมูลเหตุก็มีอยู่) ถามว่า ก็ปริยายนั้นคืออะไร ? แก้ว่า คือความที่อวิชชาเป็นสีสะ (เป็นยอดเหตุ) ในวัฏฏกถา (คือพระธรรมเทศนาด้วยว่าวัฏฏะ) จริงอยู่ พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อตรัสวัฏฏกถาย่อมตรัสโดยทรงยกธรรม 2 ประการเป็นสีสะ คืออวิชชาบ้าง ดังที่ตรัสว่า "ดูกรภิกษุทั้งหลาย เบื้องต้นเบื้องปลายแห่งอวิชชาไม่ปรากฏ หากใคร ๆ กล่าวว่า ก่อนนี้ อวิชชาไม่มี ดังที่ตรัสว่า "ดูกรภิกษุทั้งหลาย เบื้องต้นเบื้องปลายแห่งอวิชชาไม่ปรากฏ หากใคร ๆกล่าวว่า ก่อนนี้ อวิชชาไม่มี มาภายหลังมันจึงเกิด ดังนี้ไซร้ แต่ที่แท้อวิชชามีสิ่งนี้ ๆ เป็นปัจจัยก็ปรากฏอยู่" ฉะนี้ ภวตัณหาบ้าง ดังที่ตรัสว่า "ดูกรภิกษุทั้งหลาย เบื้องต้นเบื้องปลายแห่งภวตัณหาไม่ปรากฏ หากใคร ๆ กล่าวว่า ก่อนนี้ภวตัณหาไม่มี มาภายหลังมันจึงเกิดดังนี้ไซร้ แต่ที่แท้ภวตัณหามีสิ่งนี้ ๆ เป็นปัจจัยก็ปรากฏอยู่" ฉะนี้

ถามว่า ก็เพราะเหตุอะไร พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อตรัสวัฏฏกถา จึงตรัสโดยยกธรรม 2ประการนี้เป็นสีสะ ? แก้ว่า เพราะธรรม 2 ประการนี้ เป็นเหตุพิเศษของกรรมที่เป็นสุคติคามีและทุคติคามี จริงอยู่ อวิชชาเป็นเหตุพิเศษของกรรมที่เป็นทุคติคามี เพระอะไร เพราะ

(หน้าที่ 141)

ปุถุชนผู้ถูกอวิชชาครอบงำแล้ว ย่อมริทำกรรมที่เป็นทุคติคามีเป็นอเนกประการ มีปาณาติบาตเป็นต้น ซึ่งทั้งไม่มี (อะไร) ที่น่าพอใจ เพราะเร่าร้อนด้วยกิเลส ทั้งนำมาซึ่งอนัตถะแก่ตนเอง เพราะทำให้ตกไปสู่ทุคติเหมือนโคที่เขาจะฆ่า ซึ่งถูกความเหนื่อยหอบเพราะลนด้วยไฟและถูกทุบด้วยไม้ค้อนครอบงำ ย่อมรนดื่มน้ำร้อน (ที่เขาตั้งให้) ซึ่งทั้งไม่อร่อยทั้งนำมาซึ่งความพินาศแก่ตน (ทั้งนี้ก็) เพราะกระสับกระส่ายอยู่ด้วยความเหนื่อยหอบนั้น ฉะนั้น

ส่วนภวตัณหาเป็นเหตุพิเศษของกรรมที่เป็นสุคติคามีเพราะอะไร เพราะปุถุชนที่ภวตัณหาครอบงำแล้ว ย่อมพยายามทำกรรมอันเป็นสุคติคามีเป็นอเนกประการ มีเว้นจากปาณาติบาตเป็นต้น ซึ่งเป็นกรรมมีคุณน่าชื่นใจ เพราะปราศจากความเร่าร้อนด้วยกิเลส และเป็นกรรมที่บรรเทาเสียซึ่งความทุรนทุรายด้วยทุกข์ในทุคติของตน เพราะยังทำให้ถึงสุคติ ดุจโคมีอาการดังกล่าวแล้วนั้น (ไม่ยอมดื่มน้ำร้อน) พยายาม (หา) ดื่มน้ำเย็นซึ่งมีรสอร่อยและบรรเทาความเหนื่อยหอบของตนได้ด้วย (ทั้งนี้ก็) เพราะความกระหายในน้ำเย็น ฉะนั้น

แต่ในธรรม (ทั้งสอง) ทีเป็นสีสะในวัฏฏกถานั้น ในบางสูตรพระผู้มีพระภาคเจ้าก็ทรงแสดง (ปฏิจจสมุปบาท) เทศนา ยกธรรมข้อเดียวเป็นมูล นี่เช่นอย่างไร เช่นว่า "ภิกษุทั้งหลาย สังขารทั้งหลายมีอวิชชาเป็นสาเหตุ วิญาณมีสังขารเป็นสาเหตุ" ดังนี้เป็นต้น นัยเดียวกันเช่นว่า "ดูกรภิกษุทั้งหลาย ตัณหาย่อมงอกงามแก่บุคคลที่เห็นแก่ส่วนที่น่าพอใจในธรรมทั้งหลาย อันเป็นที่ตั้งแห่งอุปาทาน อุปาทานมีขึ้นเพราะปัจจัยคือตัณหา" ดังนี้เป็นอาทิ ในบางสูตรก็ทรงแสดง (ปฏิจจสมุปบาท) เทศนายกธรรมทั้งสองข้อเป็นมูลก็มี นี่เช่นอย่างไรเช่นว่า "ดูกรภิกษุทั้งหลาย กายอันนี้ของคนเขลาผู้มีอวิชชาเป็นเครื่องกั้น ประกอบไปด้วยตัณหาเป็นไปแล้ว (คือเกิดขึ้น) ด้วยเหตุฉะนี้ กายดังกล่าวนี้ด้วย นามรูปกายนอกด้วย ทั้งสองนั่นเป็นทวยะ (คือเป็นคู่กันอย่างนี้ เพราะอาศัยทวยธรรม คืออายตนะ 6 นั้นแล ผัสสะก็เกิดขึ้น คนเขลาถูกธรรมมีผัสสะเป็นต้นเล่า กระทบเอาแล้ว ย่อมเสวยสุขและทุกข์" ดังนี้เป็นอาทิ

ในเทศนาเหล่านั้น เทศนาว่า "อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา สังขารทั้งหลายมีเพราะปัจจัยคืออวิชชา" เป็นต้นนี้ เฉพาะในที่นี้พึงทราบว่าเป็นเทศนาที่เป็นธรรมข้อเดียวเป็นมูล โดย (ยก) อวิชชา (เป็นสีสะ)

วินิจฉัยโดยประเภทแห่งเทศนาในบาลีปฏิจจสมุปบาทนี้ บัณฑิตพึงทราบดังกล่าวมาฉะนี้ เป็นอันดับแรก

(หน้าที่ 142)

คำว่า "โดยอรรถ (สภาวะ)" คือ โดยความ (แปล) แห่งบททั้งหลาย มีบทว่า อวิชชา เป็นต้น อรรถนี้อย่างไรบ้าง

อรรถแห่งบทอวิชชาปัจจยา

อวิชชา

1. อกุศลธรรมมีกายทุจริตเป็นต้น ชื่อว่า อวินทิยะ แปลว่า ไม่ควรได้ เพราะอรรถว่าไม่ควรบำเพ็ญ ธรรมชาติใดย่อมได้อวินทิยะนั้น เหตุนั้นธรรมชาตินั้นจึงชื่อว่า อวิชชา (ได้สิ่งที่ไม่ควรได้)

2. กุศลธรรมมีกายสุจริตเป็นต้น ชื่อว่า วินทิยะ (แปลว่าควรได้) เพราะอรรถตรงกันข้าม (คือควรบำเพ็ญ) ธรรมชาติใดย่อมไม่ได้ ซึ่งวินทิยะนั้น เหตุนั้นธรรมชาติจึงชื่อว่า อวิชชา (ไม่ได้สิ่งที่ควรได้)

3. ธรรมชาติใดทำอรรถคือความเป็นกองแห่งขันธ์ทั้งหลายมิให้ปรากฏ ทำอรรถคือความเป็นเครื่องต่อแห่งอายตนะทั้งหลายมิให้ปรากฏ ทำอรรถคือความว่างเปล่าแห่งธาตุทั้งหลายมิให้ปรากฏ ทำอรรถคือความเป็นใหญ่แห่งอินทรีย์ทั้งหลายมิให้ปรากฏ ทำอรรถคือความจริงแท้แห่งสัจจะทั้งหลายมิให้ปรากฏ เหตุนี้ ธรรมชาตินั้น จึงชื่อว่า อวิชชา (ทำอรรถแห่งขันธ์เป็นต้นมิให้ปรากฏ)

4. ธรรมชาติใดทำอรรถ 4 อย่าง (ในอริยสัจ 4) ที่กล่าวโดยอรรถ คือบีบคั้นเป็นต้นแห่งสัจจะมีทุกขสัจเป็นอาทิมิให้ปรากฏ เหตุนั้น ธรรมชาตินั้นจึงชื่อว่า อวิชชา (ทำอรรถแห่งอริยสัจมิให้ปรากฏ)

5. ธรรมชาติใดยังสัตว์ทั้งหลายให้แล่นไปในกำเนิด คติ ภพ วิญาณฐิติ และสัตตาวาสทั้งปวง ในสงสารอันปราศจากที่สิ้นสุด เหตุนั้น ธรรมชาตินั้นจึงชื่อว่า อวิชชา (ยังสัตว์ให้แล่นไปในสงสารอันปราศจากที่สิ้นสุด)

(หน้าที่ 143)

6. ธรรมชาติใดย่อมแล่นไปในบัญญัติธรรมทั้งหลายมีหญิงและชายเป็นต้น อันไม่มีอยู่โดยปรมัตถ์ ไม่แล่นไปในบัญญัติธรรมมีขันธ์เป็นอาทิ แม้มีอยู่โดยปรมัตถ์ เหตุนั้น ธรรมชาตินั้นจึงชื่อว่า อวิชชา (แล่นไปในอวิชชมานบัญญัติ หรือไม่แล่นไปในอวิชชมานบัญญัติ)

7. อีกนัยหนึ่ง ธรรมชาตินั้นชื่อว่า อวิชชา เพราะปกปิดเสียซึ่งวัตถุและอารมณ์แห่งวิญญาณมีจักขุวิญญาณเป็นต้น และซึ่งธรรมทั้งหลายทั้งที่เป็นปฏิจจสมุปบาท (คือปัจจัย) และที่เป็นปฏิจจสมุปปันนธรรม (คือผล) (ดังนี้) ก็ได้ (โดยสภาวะ)

ปัจจัย

ผลอาศัยธรรมใดไป ธรรมนั้นชื่อว่า ปัจจัย (แปลว่า ธรรมเป็นที่อาศัยไปแห่งผล) ศัพท์ว่า "ปฏิจจะ อาศัย" หมายความว่าไม่เว้น ไม่ปฏิเสธ ศัพท์ว่า "เอติ – ไป" หมายความว่าเกิดขึ้นและเป็นไป อีกอย่างหนึ่ง อรรถว่าอุปการกะ – ผู้อุดหนุน เป็นอรรถแห่ง ปัจจย ศัพท์

อวิชชาด้วย อวิชชานั้นเป็นปัจจัยด้วย เหตุนั้นจึงชื่อว่า อวิชชาปัจจยา (แปลว่า อวิชชา เป็นปัจจัย) บทว่า อวิชฺชาปจฺจยา แปลว่า เพราะอวิชชาเป็นปัจจัยนั้น

สังขาร

ธรรมทั้งหลายใดมุ่งแต่ปรุงแต่ง (สิ่งต่างๆ) ให้เป็น (อย่าง) สังขตะขึ้น เหตุนั้น ธรรมทั้งหลายนั้นจึงชื่อว่า สังขาร (แปลว่า ธรรมผู้ปรุงแต่ง) แต่ว่าสังขารมี 2 อย่างคือ สังขารที่มีอวิชชาเป็นปัจจัย 1 สังขารที่มาโดยสังขารศัพท์ 1

ในสังขาร 2 อย่างนั้น สังขารเหล่านี้คือ ปุญญาภิสังขาร อปุญญาภิสังขาร และอเนญชาภิสังขาร เป็น 3 (กับ) กายสังขาร วจีสังขาร และจิตตสังขาร (อีก) 3 (รวม) เป็น 6 จัดเป็นอวิชชาปัจจยสังขาร อวิชชาปัจจยสังขารทั้งหมดนั้น ก็ได้แก่กุศลเจตนาและอกุศลเจตนาฝ่ายโลกิยะนั่นเอง ส่วนสังขาร 4 นี้ คือ สังขตสังขาร (สังขารคือสิ่งที่ปัจจัยของตน ๆ แต่งขึ้น) อภิสังขตสังขาร (สังขารคือสิ่งที่กรรมแต่งขึ้น) อภิสังขรณกสังขาร (สังขารคือตัวกรรม

(หน้าที่ 144)

ผู้เป็นเจ้าหน้าที่แต่ง) ปโยคาภิสังขาร (สังขารคือความเพียรพยายาม) จัดเป็นสังขารที่มาโดยสังขารศัพท์ ในสังขาร 4 นั้น ธรรมที่มีปัจจัยทั้งปวงที่กล่าวไว้ในพระบาลีทั้งหลาย มีคำว่า "อนิจฺจา วต สงฺขารา สังขารทั้งหลายไม่เที่ยงหนอ" เป็นต้น ชื่อว่า สังขตสังขาร อภิสังขตสังขารกล่าวไว้ในอรรถาทั้งหลายว่า "รูปธรรมและอรูปธรรมทั้งหลายที่เกิดแต่กรรม เป็นไปในไตรภูมิ ชื่อว่าอภิสังขตสังขาร" ดังนี้ แม้อภิสังขตสังขารนั้นก็ถึงความสงเคราะห์ลง (ในสังขตสังขารที่กล่าวใน) บาลีว่า "อนิจฺจา วต สงฺขารา" นี้เหมือนกัน แต่อาคตสถานแห่งอภิสังขตสังขารนั้นมิได้ปรากฏ (ในพระบาลี) โดยเฉพาะ ส่วนกุศลเจตนาและอกุศลเจตนา อันเป็นไปในไตรภูมิ เรียกว่า อภิสังขรณกสังขาร อาคตสถานแห่งอภิสังขรณกสังขารนั้นปรากฏในพระบาลีทั้งหลายมีพระบาลีว่า "ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุรุษบุคคลนี้ตกอยู่ในอวิชชาย่อมสร้างสุงขารที่เป็นบุญบ้าง…" ดังนี้เป็นต้น ส่วนความเพียรทางกายและทางจิต เรียกว่า ปโยคาภิสังขาร ปโยคาภิสังขารนั้นมาในบาลีทั้งหลายว่า "ความดำเนินไปในอภิสังขาร (คือกำลังความเพียร) มีเพียงใด เขาก็ไปได้เพียงนั้นแล้วก็หยุดราวกะเกวียนเพลาหักฉะนั้น" ดังนี้เป็นต้น

อนึ่ง สังขารที่มาโดยสังขารศัพท์ ใช่มีแต่สังขาร 4 นั่นเท่านั้นก็หามิได้ สังขารที่มาโดยสังขารศัพท์อื่น ๆ อีกก็มีเป็นอเนกโดยนัย (พระบาลี) ว่า "ดูกรอาวุโส วิสาขะ เมื่อภิกษุเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธ วจีสังขารดับก่อน แต่นั้นกายสังขารดับ ต่อนั้นจิตตสังขารจึงดับ" ดังนี้เป็นต้น ในสังขารทั้งหลายนั้น สังขารที่จะไม่พึงถึงความสงเคราะห์ในสังขตสังขารหามีไม่

อรรถแห่งศัพท์มีวิญญาณเป็นต้น

อธิบายในบาลีทั้งหลายมีคำว่า "สงฺขารปจฺจยา วิญญาณํ วิญญาณมีเพราะปัจจัยคือสังขาร" เป็นต้น ต่อนี้ไป พึงทราบโดยนัยที่กล่าวแล้วเถิด ส่วนในคำที่ยังมิได้อธิบาย พึงทราบดังต่อไปนี้

ธรรมชาติที่ชื่อว่า วิญญาณ เพราะรู้ (อารมณ์) ต่าง ๆ ชื่อว่า นาม เพราะน้อมไป (สู่อารมณ์) ชื่อว่า รูป เพราะ (รู้จัก) สลาย ชื่อว่า อายตนะ เพราะแผ่ไปในอายะ (คือขยายตัว) และเพราะนำให้อายตนะ (คือต่อออกไป) สภาพที่ชื่อว่า ผัสสะ เพราะถูกต้องกันเข้า (แห่งอายตนะภายในกับอายตนะภายนอก) ธรรมชาติที่ชื่อว่าเวทนา เพราะรู้ (รสอารมณ์) ชื่อว่า ตัณหา

(หน้าที่ 145)

เพราะกระหาย (อารมณ์) ชื่อว่า อุปาทาน เพราะถือมั่น สภาพอันชื่อว่า ภพ เพราะเป็นขึ้น หรือเพราะทำให้เป็นขึ้น ความเกิดชื่อว่า ชาติ ความแก่ ชื่อว่า ชรา ธรรมชาติอันชื่อว่า มรณะ เพราะเป็นเหตุตาย (แห่งสัตว์) ความเศร้า ชื่อว่า โศก ความคร่ำครวญชื่อว่า ปริเทวะ ธรรมชาติที่ชื่อว่า ทุกขะ เพราะขุดอยู่สองตอน โดย (ขุดตอน) เกิดขึ้น และ (ตอน) ตั้งอยู่ก็ได้ ความเป็นผู้เสียใจชื่อว่า โทมนัส ความตรอมใจอย่างหนักชื่อว่า อุปายาส

คำว่า "สมฺภวนฺติ – มี" ได้แก่ เกิดขึ้น อนึ่ง บัณฑิตอย่าพึงทำโยชนา (ประกอบ) สมฺภวนฺติ ศัพท์ เข้ากับบททั้งหลายมีโสกะเป็นต้นไปแต่เพียงเท่านั้น ที่ถูกต้องทำโยชนา สมฺภวนฺติ ศัพท์เข้ากับบททั้งปวง เพราะว่า เมื่อกล่าวโดยประการนอกนี้ (คือเมื่อไม่ประกอบ สมฺภวนฺติ ศัพท์) ว่า "อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา" (เฉยๆ) ความก็จะไม่ปรากฏว่า สังขารทั้งหลายทำอะไร (คือไม่มีบทกิริยา) แต่ครั้นมีประกอบศัพท์ว่า สมฺภวนฺติ เข้า ย่อมเป็นอันทำความกำหนดได้ทั้งปัจจยธรรมทั้งปัจจุบันธรรมว่า "อวิชฺชา จ สา ปจฺจโย จาติ อวิชฺชาปจฺจโย ตสฺมา อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา สมฺภวนฺติ อวิชชาด้วย อวิชชานั้นเป็นปัจจัยด้วย เหตุนั้น จึงชื่อว่าอวิชชาปัจจย สังขารทั้งหลายย่อมเกิดขึ้นเพราะอวิชชาเป็นปัจจัยนั้น" ดังนี้ ในบททั้งปวงก็นัยนี้

คำว่า "เอวํ" เป็นคำชี้นัยที่แสดงมาแล้ว ด้วยคำ เอวํ นั้น แสดงว่า ปัจจุบันธรรมทั้งหลายเกิดขึ้น เพราะปัจจยธรรมมีอวิชชาเป็นต้นนั่นเองเป็นเหตุ หาใช่เกิดขึ้นเพราะพระอิศวร บันดาลเป็นต้นไม่ คำว่า "เอตสฺส –นั่น" คือตามที่กล่าวมา คำว่า "เกวลสฺส" แปลว่าไม่ (มีสุข) เจือปน หรือว่าทั้งมวล คำว่า "ทุกฺขกฺขนฺธสฺส" แปลว่า กองทุกข์ คือไม่ใช่สัตว์ ไม่ใชของสุขของงามเป็นต้น คำว่า "สมุทโย" แปลว่า ความเกิดขึ้น คำว่า โหติ แปลว่าย่อมมี

วินิจฉัยโดยอรรถในบาลีปฏิจจสมุปบาทนี้ บัณฑิตพึงทราบดังพรรณนามาฉะนี้

คำว่า "โดยลักษณะเป็นต้น (ลักขณาทิจจตุกกะ)" คือโดยลักษณะเป็นต้น แห่งบทมีอวิชชาเป็นอาทิ ลักษณะเป็นต้นนี้อย่างไรบ้าง ?

(หน้าที่ 146)

อวิชชา

  1. ลักษณะ คือ ไม่รู้(ไม่รู้เหตุผลแบบปฏิจจสมุปบาท 12 เป็นต้น)
  2. (กิจ)รส คือ ทำให้หลง(หลงเหตุผลแบบปฏิจจสมุปบาท 12 เป็นต้น1))
  3. ปัจจุปัฏฐาน คือ ปกปิด (เหตุผลแบบปฏิจจสมุปบาท 12 เป็นต้น)
  4. ปทัฏฐาน คือ อาสวะ (กามาสวะ ภวาสวะ อวิชชาสวะ)

สังขาร มีการปรุงแต่งเป็นลักษณะ มีความพยายาม (เพื่อก่อปฏิสนธิ) เป็นรส มีเจตนาเป็นปัจจุปัฏฐาน มีอวิชชาเป็นปทัฏฐาน

วิญญาณ มีความรู้พิเศษเป็นลักษณะ มีความเป็นหัวหน้า (แห่งนามรูป) เป็นรส มีปฏิสนธิเป็นปัจจุปัฏฐาน มีสังขารเป็นปทัฏฐานหรือว่า มีวัตถุอารมณ์เป็นปทัฏฐาน

นาม มีความน้อมไป (สู่อารมณ์) เป็นลักษณะ มีสัมปโยค (ความประกอบกันและกันไว้) เป็นรส มีความไม่แยกกันเป็นปัจจุปัฏฐาน มีวิญญาณเป็นปทัฏฐาน

รูป มีความ (รู้จัก) สลายเป็นลักษณะ มีความกระจายตัวเป็นรส มีความอัพยากฤตเป็นปัจจุปัฏฐาน มีวิญญาณเป็นปทัฏฐาน

สฬายตนะ มีความติดต่อเป็นลักษณะ มีการเห็นเป็นต้นเป็นรส มีความเป็นวัตถุและเป็นทวารเป็นปัจจุปัฏฐาน มีนามรูปเป็นปทัฏฐาน

ผัสสะ มีความถูกต้องเป็นลักษณะ มีการกระทบเข้าเป็นรส มีความประจวบกัน แห่งทวารอารมณ์และวิญญาณ เป็นปทัฏฐาน มีสฬายตนะเป็นปทัฏฐาน

เวทนา มีการประสบ (อารมณ์) เป็นลักษณะ มีการเสวยอารมณ์เป็นรส มีสุขและทุกข์เป็นปัจจุปัฏฐาน มีผัสสะเป็นปทัฏฐาน

ตัณหา มีความเป็นเหตุ (คือเป็นทุกขสมุทัย) เป็นลักษณะมีความมุ่งยินดี (ในอารมณืนั้นๆ) เป็นกิจ มีความไม่อิ่ม (ในอารมณ์) เป็นปัจจุปัฏฐาน มีเวทนาเป็นปทัฏฐาน

(หน้าที่ 147)

อุปาทาน มีความถือไว้เป็นลักษณะ มีความไม่ปล่อยเป็นกิจ มีความเห็นด้วยอำนาจความเหนียวแน่นแห่งตัณหาและปัจจุปัฏฐาน มีตัณหาเป็นปทัฏฐาน

ภพ มีกรรมและผลของกรรมเป็นลักษณะ มีความได้ประสบความมีความเป็นกิจ มีกุศลอกุศลและอัพยากฤตเป็นปัจจุปัฏฐาน มีอุปาทานเป็นปทัฏฐาน

ลักษณะเป็นต้นแห่งชาติเป็นอาทิ พึงทราบโดยนัยที่กล่าวแล้วในสัจจนิทเทสนั้นเทอญ

วินิจฉัยโดยลักษณะเป็นต้นในบาลีปฏิจจสมุปบาทนี้ พึงทราบดังกล่าวมาฉะนี้

ในคำว่า โดยหมวดต่าง ๆ มีหมวดหนึ่งเป็นต้น นี้มีวินิจฉัยว่า อวิชชา มีอย่างเดียว โดยภาวะคือความไม่รู้หรือความไม่เห็น หรือความหลงเป็นต้น มี 2 อย่าง โดยความไม่ปฏิบัติและความปฏิบัติผิด อนึ่ง มี 2 โดยเป็นสสังขาร มี 3 อย่าง โดยสัมปโยคกับเวทนา 3 มี 4 อย่าง โดยเป็นความไม่ตรัสรู้สัจจะ 4 มี 5 อย่าง โดยปกปิดเสียซึ่งโทษในคติ 5 ส่วนความที่ตัณหามี 6 อย่าง ในองค์ปกิจจสมุปบาทที่เป็นอรูปธรรมทั้งสิ้น พึงทราบโดย (เป็นไปใน) ทวาร (6) และอารมณ์(6)

สังขาร มีอย่างเดียว โดยเป็นสาสวธรรม เป็นวิปากธัมมธรรม (ธรรมมีวิบากเป็นธรรมดา) เป็นต้น มี 2 อย่าง โดยเป็นกุศลและอกุศล อนึ่ง มี 2 โดยเป็นปริตตะ มหัคคตะ เป็นหีนะ มัชฌิมะ เป็นมิจฉัตตะ สัมมัตตะ เป็นนิยตะ อนิยตะ มี 3 อย่าง โดยความเป็นอภิสังขาร 3 มีปุญญาภิสังขารเป็นต้น มี 4 อย่าง โดยให้เป็นไปในกำเนิด 4 มี 5 อย่าง โดยยังสัตว์ให้ไปสู่สุคติ 5

วิญญาณ มีอย่างเดียว โดยเป็นโลกียวิบากเป็นต้น มี 2 อย่าง โดยเป็นสเหตุกะและอเหตุกะเป็นต้น มี 3 อย่าง โดยนับเนื่องในภพ 3 โดยสัมปโยคกับเวทนา ภ และโดยเป็นอเหตุกะ ทุเหตุกะ และติเหตุกะ มี 4 อย่าง และ 5 อย่าง โดยกำเนิด (4) และคติ (5)

นามรูป มีอย่างเดียว โดยเป็นวิญญาณสันนิสัย (ที่อาศัยแห่งวิญญาณ) และโดยเป็นกัมมปัจจัย (ปัจจัยของกรรม) มี 2 อย่าง โดยเป็นสารัมมณะ (มีอารมณ์ –นาม) และอนารัมมณะ (ไม่มีอารมณ์ –รูป) มี 3 อย่าง โดยกาลมีอดีตเป็นต้น มี 4 และ 5 อย่าง โดยกำเนิดและคติ

(หน้าที่ 148)

สฬายตนะ มีอย่างเดียว โดยเป็นทีเกิดและโดยเป็นที่ประชุม (แห่งวิญญาณและธรรมที่สัมปยุตกับวิญญาณนั้น) มี 2 อย่าง โดยเป็นภูตปสาท (ส่วนที่ผ่องใสแห่งภูตรูป) และเป็นเครื่องรู้พิเศษมี 3 อย่าง โดยเป็นสัมปัตตโคจร (รับได้แต่อารมณ์ที่มาถึงตัว) อสัมปัตตโคจร (รับอารมณ์ที่ไม่มาถึงตัวได้) และโนภยโคจร (รับอารมณ์ไม่ใช่ทั้งหลายอย่างนั้น) มี 4 อย่างโดยเนื่องด้วยกำเนิดและคติ"

แม้ความมีอย่างต่าง ๆ มีอย่างเดียวเป็นต้นแห่งองค์ที่เหลือมีผัสสะเป็นอาทิ ก็พึงทราบโดยนัย (ที่กล่าว) นี้เทอญ

วินิจฉัยโดยอย่างต่าง ๆ มีอย่างเดียวเป็นต้น ในบาลีปฏิจจสมุปบาทนี้ พึงทราบดังกล่าวมาฉะนี้ประการ 1

ข้อว่า "โดยหลักการบัญญัติองค์ 12" มีวินิจฉัยว่า ก็แลในปฏิจจสมุปบาทธรรมทั้งหลายนี้ ธรรมมีโสกะเป็นต้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเพื่อแสดงความไม่ขาดตอนแห่งภวจักร (วงล้อแห่งภพ) เพราะธรรมมีโสกะเป็นต้นนั้น ย่อมมีแก่คนเขลาผู้ถูกชราและมรณะกระทบเอา ดังที่ตรัสไว้ว่า "ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปุถุชนผู้มิได้สดับ เป็นผู้ถูกทุกขเวทนาทางกายต้องเอาแล้ว ย่อมเศร้าโศกลำเค็ญคร่ำครวญทุบอกร่ำไห้ ถึงซึ่งความฟั่นเฟือนไป" เป็นต้น และด้วยพระพุทธพจน์ว่า "ความหมุนไปแห่งธรรมทั้งหลายมีโสกะเป็นต้นนั้น ยังมีอยู่ตราบใดความหมุนไปแห่งอวิชชาก็ยังมีอยู่ตราบนั้น" ดังนี้ ภวจักร ก็เป็นอันเชื่อมเข้ากับบทว่า อวิชชาปจจยา สงขารา อีกเล่า เพราะเหตุนั้น ธรรม 12 เท่านั้น โดยนำสังเขปธรรมมีโสกะเป็นต้นนั้นแหละเข้าเป็นอันเดียวกันกับชรามรณะเสียพึงทราบว่าเป็นองค์แห่งปฏิจจสมุปบาท

วินิจฉัยโดยกำหนดองค์ทั้งหลายในบาลีปฏิจจสมุปบาทนี้ บัณฑิตพึงทราบดังกล่าวมาฉะนี้

นี่เป็นเพียงสังเขปกถาในปฏิจจสมุปบาทธรรมนี้

วินิจฉัยปฏิจจสมุปบาทอย่างละเอียด

ส่วนความต่อไปฉะนี้เป็นวิตถารนัย

(หน้าที่ 149)

แก้บทอวิชชา

โดยปริยาย (ทาง) พระสูตร ความไม่รู้ในฐานะ 4 มีทุกข์เป็นต้นชื่อว่าอวิชชา โดยปริยาย (ทาง) พระอภิธรรม ความไม่รู้ในฐานะ 8 กับปุพพันตะเป็นต้น ดังที่ท่านกล่าวไว้ว่า "ในธรรมเหล่านั้น อวิชชา เป็นไฉน ? ความไม่รู้ในทุกข์นิโรธคามินีปฏิปทา ความไม่รู้ในปุพพันตะ (เงื่อนต้น) ความไม่รู้ในอปรันตะ (เงื่อนปลาย) ความไม่รู้ในปุพพันตาปรันตะ (ทั้งเงื่อนต้นทั้งเงื่อนปลาย) ความไม่รู้ในธรรมทั้งหลายทั้งที่เป็นอิทัปปัจจยตา (คือกลุ่มเหตุ) และปฏิจจสมุปปันนธรรม (กลุ่มผล) นี่เรียกว่าอวิชชา" ดังนี้

ในฐานะเหล่านั้น ยกเว้นสัจจะ 2 (คือนิโรธและมรรค) ที่เป็นโลกุตตระเสีย อวิชชาย่อมเกิดขึ้น ในฐานะที่เหลือแม้โดยทำให้เป็นอารมณ์ได้ก็จริง (แต่) แม้เป็นอย่างนั้น ในบาลีนี้ท่านก็ประสงค์เอา โดยว่าเป็นเครื่องปิดบังเท่านั้นเอง จริงอยู่ อวิชชานั้นที่เกิดขึ้นแล้วย่อมปิดบังทุกขสัจตั้งอยู่ไม่รู้แจ้ง ซึ่งลักษณะอันเป็นรส (คือสภาวะ) ประจำตนตามเป็นจริงได้ อย่างเดียวกันย่อมปิดบังสมุทยสัจ นิโรธสัจ มรรคสัจ ขันธบัญจกะส่วนอดีตที่รับว่าเงื่อนต้นขันธปัญจกะส่วนอนาคตที่นับว่าเงื่อนปลาย ขันธปัญจกะทั้ง 2 ส่วนนั้นที่นับว่าทั้งเงื่อนต้นและเงื่อนปลาย อิทัปปัจจยตาและปฏิจจสมุปปันนธรรมทั้งหลาย ที่นับว่า อิทัปปัจจยตา ปฏิจจสมุปปันนธรรมด้วยตั้งอยู่ มิให้รู้แจ้งซึ่งลักษณะอันเป็นกิจ (คือสภาวะ) ประจำตนตามเป็นจริงในทุกข์เป็นต้นนั้นว่า "นี่อวิชชา นี่สังขาร" ดังนี้เป็นต้น เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า (อวิชชา คือ) ความไม่รู้ในทุกข์ ฯลฯ ความไม่รู้ในอิทัปปัจจยตา และปฏิจจสมุปปันนธรรมทั้งหลาย"

แก้บทสังขาร

บทว่า "สังขารทั้งหลาย" ได้แก่ สังขาร 6 ที่กล่าวโดยสังเขปไว้ในตอนก่อนดังนี้ว่า "สังขาร 3 มีบุญเป็นต้น (และ) สังขาร 3 มีกายสังขารเป็นต้น"

ส่วนว่าโดยพิสดาร ในสังขารเหล่านี้ สังขารทั้ง 3 ได้แก่เจตนา 29 คือ ปุญญาภิสังขาร ได้แก่เจตนา 13 คือ เจตนาเป็นกามาวจรกุศล 8 อันเป็นไปด้วยอำนาจกุศลมีทาน ศีลเป็นต้น และเจตนาเป็นรูปาวจรกุศล 5 อันเป็นไปด้วยอำนาจอย่างเดียว

(หน้าที่ 150)

อปุญญาภิสังขาร ได้แก่เจตนาที่เป็นอกุศล 12 อันเป็นไปด้วยอำนาจอกุศลมีปาณาติบาตเป็นต้น อเนญชาภิสังขาร ได้แก่เจตนาที่เป็นอรูปาวจรกุศล 4 อันเป็นไปด้วยอำนาจภาวนาเหมือนกัน

ส่วนสังขารอีก 3 คือกายสัญเจตนา (ความจงใจแสดงออกทางกาย) เป็นกายสังขาร วจีสัญเจตนา (ความจงใจแสดงออกทางใจ) เป็นวจีสังขาร มโนสัญเจตนา เป็นจิตตสังขารติกะนี้ ท่านกล่าวเพื่อแสดงความเป็นไปแห่งอภิสังขาร 3 มีปุญญาภิสังขารเป็นต้น ทางทวาร ในขณะพยายามทำกรรม จริงอยู่ เจตนา 20 ถ้วน คือกามาวจรกุศลเจตนา 8 อกุศลเจตนา 12 อันยังกายวิญญัติให้ตั้งขึ้นเป็นไปทางกายทวาร ชื่อว่ากายสังขาร เจตนาเหล่านั้นแหละ ที่ยังวจีวิญญัติให้ตั้งขึ้นเป็นไปทางวจีทวาร ชื่อว่า วจีสังขาร

แต่อภิญญาเจตนา (เจตนาในอภิญญา) ไม่เป็นปัจจัยแก่วิญญาณองค์ต่อไป เพราะฉะนั้น ท่านจึงไม่ถือเอาในคำว่า กายสังขาร วจีสังขารนี้ อภิญญาเจตนาไม่เป็นปัจจัยแห่งวิญญาณ ฉันใด แม้อุทธัจจเจตนาก็ไม่เป็นฉันนั้น เพราะเหตุนั้น ถึงอุทธัจจเจตนานั้นก็ต้องคัดออกในความเป็นปัจจัยแห่งวิญญาณ แต่เจตนาทั้งปวงนั่นก็คงเป็นธรรมมีอวิชชาเป็นปัจจัย (เหมือนกัน)

ส่วนเจตนา 29 แม้ทั้งหมด ที่เกิดขึ้นในมโนทวาร (โดย) ไม่ยังวิญญัติทั้งสองให้ตั้งขึ้นเป็นจิตตสังขารแล

ด้วยประการดังนี้ ติกะนี้ก็เข้าไปสู่ติกะก่อน (คือผนวกอยู่กับติกะก่อน) นั่นเอง เพราะฉะนั้น ว่าโดยใจความแล้ว ความที่อวิชชาเป็นปัจจัย (แห่งสังขาร) ก็พึงทราบโดยที่เป็นปัจจัย แห่งอภิสังขาร 3 มี ปุญญาภิสังขารเป็นต้นนั่นแล

ในข้อนั้น หากมีปัญหาว่า "ก็ข้อนี้จะพึงทราบได้อย่างไรว่า สังขารทั้งหลายนี้เป็นธรรมมีอวิชชาเป็นปัจจัย" คำแก้พึงมีว่า "ทราบได้โดยที่เมื่ออวิชชามี มันจึงมี" แท้จริง ความไม่รู้ในฐานะทั้งหลายมีทุกข์เป็นต้นที่เรียกว่าอวิชชา ซึ่งบุคคลใดยังละไม่ได้ บุคคลนั้น เพราะความไม่รู้ในทุกข์และในฐานะนอกนี้มีเงื่อนต้นเป็นอาทิ จึงถือเอาสังสารทุกข์เป็นสำคัญว่าเป็นสุข แล้วก็อสังขารทั้ง 3 อย่าง ซึ่งเป็นเหตุแห่งสังสารทุกข์นั่นเอง เพราะไม่รู้ในสมุทัยจึงสำคัญเห็นสังขารทั้งหลายมีอันตัณหาเป็นเครื่องประดับ ซึ่งแม้เป็นเหตุแห่งทุกข์ โดยว่าเป็น

(หน้าที่ 151)

เหตุแห่งสุขไป ก็ก่อสังขารทั้ง 3 อย่างขึ้น อนึ่ง เพราะไม่รู้ในนิโรธและในมรรค จึงเป็นผู้มีความสำคัญในคติวิเศษ (มีพรหมโลกเป็นต้น) ซึ่งแม้มิใช่เป็นที่ดับทุกข์ว่าเป็นที่ดับทุกข์ไปเป็นผู้มีความสำคัญในพาหิรมรรคมี (บูชา) ยัญและ (บำเพ็ญ) อมรตบะเป็นต้น ซึ่งแม้มิใช่ทางแห่งความดับทุกข์ ว่าเป็นทางดับทุกข์ไป เมื่อปรารถนาเอาความดับทุกข์ ก็ก่อสังขารทั้ง 3 อย่างขึ้นทางมุขพาหิรมรรคมียัญและอมรตบะเป็นต้น อีกประการหนึ่ง บุคคลนั้นเพราะความที่ละอวิชชาในสัจจะ 4 ยังไม่ได้นั้น ก็ไม่รู้ทุกข์กล่าวคือผลแห่งบุญ ซึ่งแม้แทรกซ้อนด้วยอาทีนพโทษเป็นอเนก มีชาติ ชรา โรค และมรณะเป็นต้น อย่างวิเศษ โดยว่าเป็นทุกข์ได้ จึงก่อปัญยาภิสังขารอันต่างโดยเป็นกายภิสังขาร (บ้าง) วจีสังขาร (บ้าง) จิตตสังขาร (บ้าง) เพื่อได้ผลแห่งบุญนั้น ดังบุคคลผู้ปรารถนาเทพอัปสร ริโจนหน้าผา (ตาย) มิเช่นนั้นก็ไม่เห็นความที่ผลแห่งบุญนั้น ซึ่งแม้สมมติกันว่าเป็นสุข เป็นวิปริณามทุกข์ อันจะก่อให้เกิดความร้อนใจใหญ่ในที่สุด (เมื่อหมดบุญ) และ (ไม่เห็น) ความที่ผลแห่งบุญนั้น (แม้มีคุณน่ายินดีก็) มีคุณ น่ายินดีเป็นส่วนน้อย จึงก่อปุญญาภิสังขารมีประการดังกล่าวแล้วนั่น อันเป็นปัจจัยแห่งวิปริณามทุกข์นั่นเอง ดังแมลงเม่าบินเข้าตอมเปลวไฟ และดังสัตว์ที่ตระกามหยาดน้ำผึ้ง ริเข้าเลียดมศัตราที่น้ำผึ้งติดฉะนั้น อนึ่ง ไม่เห็นโทษในโลกียวิสัย มีการเสพกามเป็นต้นพร้อมทั้งผลของมัน เพราะสำคัญว่าเป็นสุข และเพราะถูกกิเลสครอบงำด้วย จึงก่ออปุญญาภิสังขาร อันเป็นไปในทวารทั้ง 3 ขึ้นก็ได้ ดังเด็กอ่อนริเล่นคูถ และดังคนอยากตายริกินยาพิษฉะนั้น อนึ่งเล่า ไม่รู้ความที่สังขารแม้ในฝ่ายอรูปวิบากก็เป็นวิปริณามทุกข์ จึงก่ออเนญชาภิสังขารซึ่งเป็นจิตตสังขารขึ้น ด้วยวิปลาสไปว่าเป็นของเที่ยงเป็นต้น ดังคนหลงทิศริอ่านเดินทางมุ่งหน้าไปสู่เมืองปีศาจฉะนั้น

เพราะเหตุที่สังขารมีเพราะอวิชชามีเพราะเท่านั้น หามีโดย (อวิชชา) ไม่มีไม่ ดังกล่าวมาฉะนี้ บัณฑิตจึงรู้ข้อที่ว่า "สังขารทั้งหลายนี้เป็นธรรมมีอวิชชาเป็นปัจจัย" นั่นได้แล จริงอยู่ ข้อนี้แม้พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ได้ตรัสไว้ว่า "ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ไม่ฉลาดตกอยู่ในอวิชชา ย่อมปรุงแต่งอภิญญาภิสังขารบ้าง ย่อมปรุงแต่งอเนญชาภิสังขารบ้าง ดูกรภิกษุทั้งหลาย ต่อเมื่อใดอวิชชา ภิกษุละได้แล้ว วิชชาเกิดขึ้นแล้ว เมื่อนั้น ภิกษุนั้น เพราะความสำรอกออกไปแห่งอวิชชา เพราะความเกิดขึ้นแห่งวิชชา ย่อมไม่ปรุงแต่งภิญญาภิสังขารเลย" ดังนี้เป็นต้น

(หน้าที่ 152)

ในบทว่าอวิชชานี้ ข้าพเจ้าทั้งหลายขอพัก ข้อว่า "อวิชชาเป็นปัจจัยแห่งสังขารทั้งหลาย" นี้ไว้ก่อน ด้วยข้อนี้ควรจะกล่าว (ต่อไป) คือ (ปัญหา) ว่า "อวิชชาเป็นปัจจัยแห่งสังขาร เหล่าไหน อย่างไร" ในความที่อวิชชาเป็นปัจจัยอย่างไรบ้างนั้น ท่านกล่าวไว้ในต่อไปนี้

ก็แลปัจจัย 24 พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ คือ

เหตุปัจจัย อารัมมณปัจจัย อธิปติปัจจัย อนันตรปัจจัย สมนันตรปัจจัย สหชาติปัจจัย อัญญมัญญปัจจัย นิสสยปัจจัย อุปนิสสยปัจจัย ปุเรชาติปัจจัย อาเสวนปัจจัย กัมมปัจจัย วิปากปัจจัย อาหารปัจจัย อินทรียปัจจัย ฌานปัจจัย มัคคปัจจัย สัมปยุตตปัจจัย วิปปยุตตปัจจัย อัตถิปัจจัย นัตถิปัจจัย วิคตปัจจัย อวิคตปัจจัย

แก้เหตุปัจจัย

ในอุเทศบทเหล่านั้น ธรรมที่ได้ชื่อว่าเหตุปัจจัย เพราะธรรมนั้นเป็นเหตุด้วย เป็นปัจจัยด้วย คือ เป็นปัจจัยโดยเป็นเหตุ อธิบายว่า เป็นปัจจัยโดยความเป็นเหตุ นัยแม้ในอุเทศบทอื่น มีอารัมมณปัจจัยเป็นต้น ก็นัยเดียวกันนี้

แก้ศัพท์เหตุ

ในบทว่า "เหตุปัจจัย" นั้น คำว่า "เหตุ" เป็นคำเรียก วจนาวยวะ (อวัยวะแห่งคำ คือถ้อยคำที่ให้รู้ในแต่ละคำ) และการณะ (สิ่งที่ก่อผล) มูละ (สิ่งที่เป็นรากเง่า) ก็วจนาวยวะเรียกว่าเหตุในทางโลก เช่นในคำว่า "ปฏิญญาเหตุ – ปฏิญญา" แต่ในทางพระศาสนาการณะ เรียกว่าเหตุ เช่นในคำว่า "เย ธมมา เหตุปปภวา – ธรรมทั้งหลายใดมีเหตุ (คือการณะ) เป็นแดนเกิด" มูละ ก็เรียกว่าเหตุ เช่นในคำว่า "ตโย กุสลเหตู ตโย อกุสลเหตู – เหตุ (คือมูล) แห่งกุศล 3 เหตุ (คือมูล) แห่งอกุศล 3" มูลนั้น (แหละ) ประสงค์เอา (ว่าเหตุ) ในที่นี้

(หน้าที่ 153)

แก้ศัพท์ปัจจัย

ส่วนความ (ต่อไป) นี้ เป็นความหมายแห่งคำในคำว่า "ปัจจัย" นี้ ธรรม (ที่เป็นผล) อาศัยไปแต่ธรรม (ที่เป็นเหตุ) นั่น หมายความว่าไม่ปฏิเสธธรรม (ที่เป็นเหตุ) นั้นเป็นไป เหตุนี้ธรรม (ที่เป็นเหตุ) นั้นจึงชื่อว่าปัจจัย มีคำอธิบายว่า อันธรร (ที่เป็นผล) ไปอาศัย คือไม่ปฏิเสธซึ่งธรรม (ที่เป็นเหตุ) ใดตั้งอยู่หรือว่าเดขึ้นก็ดี ธรรม (ที่เป็นเหตุ) นั้นชื่อว่าเป็นปัจจัยแห่งธรรม (ที่เป็นผล) นั้น แต่ (เมื่อว่า) โดยลักษณะ ปัจจัยคือความอุดหนุนเป็นลักษณะ ด้วยว่าธรรม (ที่เป็นเหตุ) ใดเป็นสภาพอุดหนุนเพื่อความตั้งอยู่หรือเพื่อความเกิดขึ้นแห่งธรรม (ที่เป็นผล) ใด ธรรม (ที่เป็นเหตุ) นั้น ท่านเรียกว่าเป็นปัจจัยแห่งธรรม (ที่เป็นผล) นั้น

คำว่า "ปัจจัย เหตุ การณะ นิทานะ สัมภวะ ปภวะ" เป็นต้น โดยความก็อันเดียวกันต่างกันแต่พยัญชนะ

ธรรมชื่อว่าเหตุ เพราะอรรถว่าเป็นมูล" ชื่อว่าปัจจัย เพราะอรรถว่าเป็นสภาพอุดหนุนดังกล่าวมาฉะนี้ เพราะเหตุนั้น เมื่อว่าโดยสังเขป ธรรมผู้อุดหนุนโดยความหมายว่าเป็นมูลชื่อว่าเหตุปัจจัย

อธิบายของอาจารย์ทั้งหลายว่า "เหตุปัจจัยนั้นเป็นสภาพยังความเป็นกุศลเป็นต้นให้สำเร็จแก่ (สัมปยุต) ธรรมทั้งหลายมีกุศลธรรมเป็นอาทิ ดังพืชทั้งหลายมีพืชข้าวสาลีเป็นต้นยัง (ความเป็น) ธัญญชาติ มีข้าวสาลีเป็นอาทิให้สำเร็จ และดังสีของมณีเป็นต้นยังแสงของมณีเป็นอาทิให้สำเร็จ ฉะนั้น" ก็เมื่อเป็นอย่างนั้น ความเป็นเหตุปัจจัยก็ไม่สำเร็จไปถึงในรูปทั้งหลายที่มีเหตุนั้นเป็นสมุฏฐาน (ด้วยนะซิ) เพราะว่า เหตุปัจจัยนั้นหายังความเป็นกุศลเป็นต้น ให้สำเร็จแก่รูปเหล่านั้นไม่ แต่ก็มิใช่ไม่เป็นปัจจัย สมพระบาลีว่า "เหตุเป็นปัจจัยโดยเป็นเหตุ ปัจจัยแห่งธรรมทั้งหลายที่สัมปยุติกับเหตุ และแห่งรูปทั้งหลายที่มีเหตุนั้นเป็นสมุฏฐาน" ดังนี้ อนึ่ง สำหรับอเหตุกจิตทั้งหลาย ความเป็นอัพยากฤต เว้นเหตุนั่นเสียก็สำเร็จได้ (เพราะอัพยากฤตเป็นอเหตุกะ) แม้สำหรับเหตุกจิตทั้งหลายเล่า ความเป็นกุศลเป็นต้นก็เนื่องด้วยโยนิโสมนสิการเป็นต้น มิใช่เนื่องด้วยสัมปยุตเหตุ (เหตุ ผู้สัมปยุต) และหากว่าความเป็นกุศลเป็นต้น พึงมีโดยสภาวะแท้ในสัมปยุตเหตุทั้งหลายไซร้ ในสัมปยุตธรรมทั้งหลาย

(หน้าที่ 154)

อโลภะ ซึ่งเนื่องด้วยเหตุ ก็พึงเป็นกุศลบ้าง เป็นอัพยากฤตบ้าง แต่เพราะเหตุที่เป็นได้ทั้งสองอย่าง ในสัมปยุตธรรมทั้งหลาย หาความเป็นกุศลเป็นต้น (ที่เนื่องด้วยเหตุ มิใช่เป็นโดยสภาวะ) ได้ฉันใด แม้ในเหตุทั้งหลาย ก็พึงหาเป็นกุศลเป็นต้น (ที่เนื่องด้วยธรรมอื่น มิใช่เป็นโดยสภาวะ) ได้ฉันนั้น

แต่อันที่จริง เมื่ออรรถว่าเป็นมูลแห่งเหตุทั้งหลาย บัณฑิตไม่ถือเอาโดยว่า เป็นเหตุยังความเป็นกุศลเป็นต้นให้สำเร็จ (แต่) ถือเอาโดยว่าเป็นเหตุยังความตั้งมั่นด้วยดี (แห่งธรรมทั้งหลาย) ให้สำเร็จ ก็ไม่ผิดอะไรเลย แท้จริง ธรรมทั้งหลายที่ได้เหตุปัจจัยแล้ว ย่อมเป็นธรรมมั่นคงตั้งลงด้วยดี ดังนั้นต้นไม้ทั้งหลายที่มีรากงอกงามแล้วก็ตั้งอยู่ด้วยดีฉะนั้น (ส่วน) อเหตุกธรรมทั้งหลายเป็นธรรมไม่ตั้งมั่นด้วยดี ดุจสาหร่ายทั้งหลายมีสาหร่ายชนิดติลพีชกะ (สาหร่ายเมล็ดงา) เป็นต้น ฉะนั้น เหตุปัจจัยเป็นธรรมอุดหนุน โดยความหมายว่าเป็นมูล ดังนี้ เพราะเหตุนั้น ธรรมผู้อุดหนุนโดยยังความตั้งมั่นด้วยดี (แห่งสัมปยุตธรรม) ให้สำเร็จบัณฑิตพึงทราบว่าชื่อเหตุปัจจัย

แก้อารัมมณปัจจัย

ในอุเทศบทต่อแต่นั้นไป ธรรมผู้อุดหนุนโดยความเป็นอารมณ์ ชื่อว่า อารัมมณปัจจัย ธรรมอะไร ๆ จะไม่เป็นอารัมมณปัจจัยนั้นไม่มี เพราะคำนิทเทสแม้ท่านจะขึ้นต้นว่า "รูปายตนะเป็นปัจจัยโดยเป็นอารัมมณปัจจัยแห่งจักขุวิญญาณธาตุ" ดังนี้เป็นต้น แต่ก็ลงท้ายว่า "ธรรมทั้งหลายใดๆ เป็นจิตเจตสิกธรรม ปรารภธรรมใด ๆ เกิดขึ้น ธรรมทั้งหลาย (ที่ถูกปรารภ) นั้น ๆ ย่อมเป็นปัจจัยโดยเป็นอารัมมณปัจจัยแห่งธรรม (ที่เกิดขึ้น) นั้น ๆ" ฉะนี้ เปรียบเหมือนคนกำลังน้อยได้ยึดท่อนไม้หรือเชือกนั่นแหละ จึงลุกขึ้นและยืนอยู่ได้ฉันใด จิตและเจตสิกธรรมทั้งหลายก็ฉันนั้น ปรารภอารมณ์มีรูปเป็นต้นเข้านั่นแหละจึงเกิดขึ้นและตั้งอยู่ได้เพราะเหตุนั้น ธรรมทั้งหลายอันเป็นอารมณ์แห่งจิตเจตสิกทั้งหลายทั้งปวง บัณฑิตพึงทราบว่าชื่อว่าอารัมมณปัจจัย

(แก้อธิปติปัจจัย)

ธรรมผู้อุดหนุนโดยความเป็นใหญ่ ชื่อว่า อธิปติปัจจัย อธิปติปัจจัยนั้นมี 2 อย่าง ด้วยอำนาจแห่งสหชาตธรรมและอารมณ์ ใน 2 อย่างนั้น ธรรม 4 ประการ กล่าวคือ ฉันทะ

(หน้าที่ 155)

วิริยะ จิตตะ วิมังสา พึงทราบว่าชื่อว่าสหชาตาธิปติปัจจัย (เป็นอธิปติปัจจัยแห่งสหชาตธรรม) โดยบาลีว่า ฉันทาธิบดีเป็นปัจจัย โดยอธิปติปัจจัยแห่งธรรมทั้งหลายที่สัมปยุตกับฉันทะและแห่งรูปทั้งหลายที่มีฉันทะนั้นเป็นสมุฏฐาน" ดังนี้เป็นต้น แต่ว่าธรรมทั้ง 4 นั้นมิได้เป็นอธิบดีร่วมกัน จริงอยู่ในขณะใด จิตทำฉันทะให้เป็นธุระ ทำฉันทะให้เป็นใหญ่เป็นไป ในขณะนั้นก็ฉันทะอย่างเดียวเป็นอธิบดี นอกนี้มิได้เป็น ในธรรมที่เหลือ (อีก 3) ก็นัยนี้ ส่วนอรูปธรรมทั้งหลายธรรมใดให้เป็นที่หนัก (คือเป็นที่หน่วง) เป็นไป ธรรมนั้นเป็นอารัมมณาธิบดีแห่งอรูปธรรมทั้งหลายนั้น เหตุนั้น ท่านจึงกล่าวคำนิทเทสไว้ว่า "ธรรมทั้งหลายใด ๆ เป็นจิตเจตสิกธรรม ทำ (อารมณ์) ธรรมใด ๆ ให้เป็นที่หนักเกิดขึ้น ธรรม (อารมณ์) ทั้งหลายนั้น ๆ เป็นปัจจัยโดยเป็นอธิปติปัจจัยแห่งธรรม (จิตเจตสิก) ทั้งหลายนั้น ๆ" ดังนี้

แก้อนันตรปัจจัย สมนันตรปัจจัย

ธรรมผู้อุดหนุนโดยความเป็นธรรมระหว่าง (คั่น) ชื่อ อนันตรปัจจัย ธรรมผู้อุดหนุนโดยความเป็นธรรมใกล้ที่สุด ชื่อว่า สมนันตรปัจจัย ก็แลอาจารย์ทั้งหลายอธิบายปัจจัยคู่นี้ไว้มากประการ แต่ความ (ต่อไป) นี้เป็นแก่นสารปัจจัยคู่นี้

ก็จิตนิยม (ทางของจิต) เป็นต้นว่า มโนธาตุมีในลำดับแห่งจักขุวิญญาณ มโนวิญญาณแห่งธาตุ" ดังนี้นั้นใด จิตนิยมนั้นย่อมสำเร็จด้วยอำนาจแห่งจิตดวงก่อนๆเท่านั้น หาสำเร็จโดยประการอื่นไม่ เหตุใด เพราะเหตุนั้น ธรรมผู้สามารถในอันยังจิตตุปบาทที่ควรคู่กันให้เกิดขึ้นในลำดับแห่งตนๆ ชื่อว่าอนันตรปัจจัย เพราะฉะนั้นแลท่านจึงกล่าวว่า "บทว่า อนันตรปัจจัย ความว่า จักขุวิญญาณธาตุและธรรมทั้งหลายที่สัมปยุตกับจักขุวิญญาณธาตุนั้น เป็นปัจจัยโดยเป็นอนันตรปัจจัยแห่งมโนธาตุและแห่งธรรมทั้งหลายอันสัมปยุตกับมโนธาตุนั้น" ดังนี้เป็นต้น อนันตรปัจจัยอันใด สมนันตรปัจจัยก็อันนั้นแหละ แท้จริง ความต่างกันในปัจจัยคู่นี้เป็นเพียงพยัญชนะเท่านั้น ดุจความต่างเพียงพยัญชนะในศัพท์อุปจยะ (เติบขึ้น) กับ สันตติ (สืบต่อ) และในศัพท์คู่คือ อธิวจนะ (คำเรียก) กับ นิรุตติ (คำกล่าว) ฉะนั้น แต่ความต่างโดยอรรถหามีไม่

(หน้าที่ 156)

ส่วนมติของอาจารย์ทั้งหลายว่า "ธรรมชื่อว่าอนันตรปัจจัยเพราะความเป็นธรรมไม่มีระหว่างโดยอรรถ (คือไม่มีความอื่นคั้น) ชื่อว่าสมนันตรปัจจัยเพราะความเป็นธรรมไม่มีระหว่างโดยกาล (คือไม่มีกาลคั่น)" ดังนี้ มตินั้นผิดจากบาลีว่า "เมื่อพระโยคาวจรออกจากนิโรธ เนวสัญญายตนกุศลย่อมเป็นปัจจัยโดยเป็นสมนันตรปัจจัยแห่งผลสมาบัติ" ดังนี้เป็นต้น

ในความที่ธรรมเป็นสมนันตรปัจจัย เพราะความเป็นธรรมไม่มีระหว่างโดยกาลนั้น อาจารย์ทั้งหลายกล่าวแม้คำใดว่า "ความมีธรรมนั้นเป็นธรรมสามารถในอันยังธรรมทั้งหลายให้ตั้งขึ้นมิได้เสื่อมไป แต่เพราะกำลังแห่งภาวนากั้นไว้ ธรรมทั้งหลายที่เป็นสมนันตระจึงยังเกิดขึ้นไม่ได้" ดังนี้ แม้คำนั้นก็ยังความไม่มีแห่งความเป็นกาลานันตระ (ไม่มีระหว่างโดยกาล) นั่นเองให้สำเร็จ (คือพิสูจน์ให้เห็นว่าความเป็นกาลานันตระไม่มีนั่นเอง) เพราะความเป็นกาลานันตระในธรรมนั้นไม่มีด้วยกำลังแห่งภาวนา เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าทั้งหลายจึงคงยังคงยืนยันข้อนั้นแหละ (คือกาลานันตระข้อนั้นแหละ (คือกาลานันตระไม่มี) ก็เหตุใดความเป็นกาลานันตระไม่มี เพราะเหตุนั้น ความที่ธรรมนั้นเป็นสมนันตรปัจจัยก็ใช้ไม่ได้ด้วย ด้วยว่าความเห็นของท่านทั้งหลายว่า "ธรรมชื่อว่าเป็นสมนันตรปัจจัยแห่งธรรมทั้งหลายนั้นเพราะความเป็นธรรมไม่มีระหว่างโดยกาล" (เช่นนั้นนี่)

เพราะฉะนั้น ท่านทั้งหลายอย่าทำความยึดมั่น (ความเห็น) ไปเลย พึงเชื่อเถิด (ว่า) ความต่างกับปัจจัยคู่นี้ ก็เพียงแต่พยัญชนะเท่านั้น หาต่างกันโดยอรรถไม่ มีต่างกันโดยพยัญชนะอย่างไร ? ต่างกันเท่านี้คือ

ระหว่างแห่งธรรมเหล่านั้นไม่มี เหตุนั้น ธรรมเหล่านั้นจึงชื่อว่า อนันตระ (ไม่มีระหว่าง)ธรรมเหล่านั้นชื่อว่าอนันตระอย่างดี เพราะไม่มีหยุดชะงัก เหตุนั้น ธรรมเหล่านั้นจึงชื่อว่า สมนันตระ (ไม่มีระหว่างยินดี)

แก้สหชาตปัจจัย

ธรรมที่ผู้อุดหนุนโดยความเป็นธรรมที่เมื่อเกิดขึ้น ก็ยังธรรมอื่นให้เกิดขึ้นพร้อมกันด้วย ชื่อว่า สหชาตปัจจัย ดุจประทีปเป็นปัจจัยโดยยังแสงสว่างให้เกิดขึ้นพร้อมกันฉะนั้น

(หน้าที่ 157)

สหชาตปัจจัยนั้นเป็น 6 อย่าง ด้วยอำนาจแห่งอรูปขันธ์เป็นต้น ดังบาลีว่า "ขันธ์ 4 ที่ไม่มีรูปเป็นสหชาตปัจจัยซึ่งกันและกัน มหาภูต 4 เป็นปัจจัยโดยเป็นสหชาตปัจจัยซึ่งกันและกันนามและรูปในขณะก้าวลง (สู่ครรภ์) เป็นปัจจัยโดยเป็นสหชาตปัจจัยซึ่งกันและกัน จิตและเจตสิกธรรมทั้งหลายเป็นปัจจัยโดยเป็นสหชาตปัจจัยแห่งรูปทั้งหลายที่มีจิตเป็นสมุฏฐานมหาภูตทั้งหลายเป็นปัจจัยโดยเป็นสหชาตปัจจัยแห่งอุปาทายรูปทั้งหลาย ธรรมมีรูปทั้งหลายบางเหล่าเป็นปัจจัยโดยเป็นสหชาตปัจจัยแห่งธรรมที่ไม่มีรูปทั้งหลายในกาลบางครั้ง บางครั้งเป็นปัจจัยมิใช่โดยเป็นสหชาตปัจจัย" คำหลัง (คือธรรมมีรูป) นี้ท่านกล่าวหมายเอาหทยวัตถุอย่างเดียว

แก้อัญญมัญญปัจจัย

ธรรมผู้อุดหนุนโดยความที่ยังกันและกันให้เกิดและสนับสนุนซึ่งกันและกัน ชื่อว่า อัญญมัญญปัจจัย ดุจไม้สามท่อน (ตั้งพิงกันอยู่) ค้ำกันและกันไว้ฉะนั้น อัญญมัญญปัจจัยนั้นเป็น 3 อย่างด้วยอำนาจรูปขันธ์เป็นต้น ดังบาลีว่า "ขันธ์ 4 ที่ไม่มีรูปเป็นปัจจัยโดย เป็นอัญญมัญญปัจจัย มหาภูต 4 ฯลฯ นามและรูปในขณะก้าวลง (สู่ครรภ์) เป็นปัจจัยโดย เป็นอัญญมัญญปัจจัย"

แก้นิสสยปัจจัย

ธรรมผู้อุดหนุนโดยอาการเป็นที่ตั้งและโดยอาการเป็นที่อาศัย ชื่อว่า นิสสยปัจจัย ดุจแผ่นดิและแผ่นผ้าเป็นต้นเป็นที่ตั้งและเป็นที่อาศัยแห่งต้นไม้นั้นและแห่งจิตกรรมเป็นอาทิฉะนั้น นิสสยปัจจัยนั้นพึงทราบตามนัยความที่กล่าวในสหชาตปัจจัยนั้นแหละว่า "ขันธ์ 4 ที่ไม่มีรูปเป็นปัจจัยโดยเป็นนิสสยปัจจัยซึ่งกันและกัน" ดังนี้เป็นต้นเถิด แต่โกฏฐาส (ส่วน) ที่ 6 ในปัจจัยนี้ ท่านจำแนกไว้ดังนี้ว่า "จักขายตนะเป็นปัจจัยโดยเป็นนิสสยปัจจัยแห่งจักขุวิญญาณธาตุ ฯลฯ โสตายตนะ ฆานายตนะ ชิวหายตนะ กายายตนะเป็นปัจจัยโดยเป็น นิสสยปัจจัยแห่งกายวิญญาณธาตุและแห่งธรรมทั้งหลายที่สัมปยุตกับกายวิญญาณธาตุนั้นมโนธาตุและวิญญาณธาตุอาศัยรูปใดเป็นไป รูปนั้นเป็นปัจจัยโดยเป็นนิสสยปัจจัยแห่งมโนธาตุ มโนวิญญาณธาตุและแห่งธรรมทั้งหลายที่สัมปยุตกับมโนวิญญาณธาตุนั้น

(หน้าที่ 158)

แก้อุปนิสสยปัจจัย

ส่วนในบทว่า อุปนิสสยปัจจัย นี้ พึงทราบความหมายแห่งคำนี้ก่อน ธรรมอันผลแห่งตนอาศัย คือไม่ปฏิเสธ โดยที่มีความเป็นไปเนื่องด้วยธรรม (ที่เป็นเหตุ) นั้น เพราะเหตุนั้น ธรรม (ที่เป็นเหตุ) นั้นจึงชื่อว่า นิสสยะ (เป็นที่อันผลแห่งตนอาศัย) (อุป – ศัพท์ในบทว่าอุปนิสสยะนั้นมีอรรถว่า "ยิ่ง" ว่า "นัก") เหมือนอย่างว่า ความคับแค้นใจนัก ชื่อว่าอุปายาส ฉันใด ธรรมเป็นที่อันผลแห่งตนอาศัยยิ่งนักก็ชื่อว่าอุปนิสสยะ ฉันนั้น คำว่า อุปนิสสยะ นั่นเป็นชื่อแห่งเหตุอันมีกำลัง (เหตุอันเรี่ยวแรง) เพราะเหตุนั้น ธรรมผู้อุดหนุนโดยความเป็นเหตุมีกำลังพึงทราบว่าชื่อว่า อุปนิสสยปัจจัย

อุปนิสสยปัจจัยนั้นเป็น 3 อย่าง คือ อารัมมณูปนิสสยะ อนันตรูปนิสสยะ และปกตูปนิสสยะ

อารัมมณูปนิสสยะ

ในอุปนิสสยปัจจัย 3 นั้น อันดับแรก อารัมมณูอนิสสยะ ท่านจำแนกไว้ (โดย) ไม่ทำความต่างกับอารัมมณาธิบดี (ความมีอารมณ์เป็นใหญ่) เลย โดยนัยว่า "การกบุคคลให้ทาน สมาทานศีล ทำอุโบสถกรรมแล้ว ปัจจเวกขณะถึงกุศลกรรมที่กล่าวนั้น (โดย) ทำ (กุศลกรรมนั้น) ให้เป็นที่หนัก (คือเป็นใหญ่เป็นสำคัญ) ปัจจเวกขณะ (องค์) ฌาน (โดย) ทำ (ฌานนั้น) ให้เป็นที่หนัก พระเสกขบุคคลทั้งหลาย ปัจจเวกขณโคตรภู (โดย) ทำ (โคตรภูนั้น) ให้เป็ที่หนัก ปัจจเวกขณะโวทาน (ความผ่องแผ้วแห่งจิต) (โดย) ทำ (โวทานนั้น) ให้เป็นที่หนักพระเสกขะบุคคลทั้งหลายออกจากมรรค (ภวังค์) แล้ว ปัจจเวกขณะมรรค (โดย) ทำ (มรรคนั้น) ให็เป็นที่หนัก" ดังนี้เป็นอาทิ ในอารมณ์เหล่านั้น จิตและเจตสิกทั้งหลายทำอารมณ์ใดให้เป็นที่หนักเกิดขึ้น อารมณ์นั้นโดยนิยมก็นับเป็นอารมณ์มีกำลังในบรรดาอารมณ์เหล่านั้น ด้วยประการดังกล่าวมานี้ ความต่างกันแห่งอารมณ์เหล่านั้น พึงทราบดังนี้ว่า นับว่าเป็นอารัมมณาธิบดี โดยหมายว่าเป็นเพียงอารมณ์ที่พึงทำให้เป็นที่หนัก นับว่าเป็นอารัมมณูปนิสสยะโดยหมายว่าเป็นอารมณ์ที่เป็นเหตุมีกำลัง

(หน้าที่ 159)

อนันตรูปนิสสยะ

แม้อนันตรูปนิสสยะ ท่านก็จำแนกไว้โดยไม่ทำความต่างกับอนันตรปัจจัยเหมือนกันโดยนัยว่า "ขันธ์ทั้งหลายที่เป็นกุศลที่เกิดก่อน ๆ ย่อมเป็นปัจจัยโดยเป็นอุปนิสสยะปัจจัยแก่ขันธ์ทั้งหลายที่เป็นกุศลซึ่งเกิดหลัง ๆ" ดังนี้เป็นต้น แต่ในมาติกานิกเขป ความแปลกกันใน นิกเขปแห่งจิตและเจตสิก (ที่เป็นอนันตรปัจจัยและอนันตรูปนิสสยปัจจัย) เหล่านั้นมีอยู่เพราะอนันตรปัจจันมาโดยนัยว่า "จักขุวิญญาณธาตุและธรรมทั้งหลายที่สัมปยุตกับจักขุวิญญาณธาตุนั้น เป็นปัจจัยโดยเป็นอนันตรปัจจัยแห่งมโนธาตุและแห่งธรรมทั้งหลายที่สัมปยุตกับมโนธาตุนั้น" ดังนี้เป็นต้น (ส่วน) อุปนิสสยะมาโดยนัยว่า "ธรรมทั้งหลายที่เป็นกุศลซึ่งเกิดก่อน ๆ ย่อมเป็นปัจจัยโดยเป็นอุปนิสสยปัจจัยแก่ธรรมทั้งหลายที่เป็นกุศลซ่งเกิดหลัง ๆ" ดังนี้เป็นอาทิ

แม้ความแปลกกันในนิกเขปนั้นโดยใจความก็ถึงซึ่งความเป็นอันเดียวกันนั่นแล ถึงเป็นอย่างนั้น (ความแปลกกันก็มีอยู่คือ) ความเป็นอนันตรปัจจัย พึงทราบโดยความเป็นธรรมสามารถในอันยังจิตตุปบาทที่ควรแก่ลำดับของตน ๆ ให้เป็นไป (ส่วน) ความเป็นอนันตรรูปนิสสยะ พึงทราบโดยความที่จิตดวงก่อนเป็นเหตุมีกำลังในอันยังจิตดวงหลังให้เกิดขึ้น เราะในควรท้งหลายมีเหตุปัจจยธรรมเป็นต้นเกิดขึ้นไม่ได้ฉะนั้น เพราะเหตุนั้น อนันตรูปนิสสยะ จึงเป็นปัจจัยมีกำลังด้วยประการดังกล่าวมานี้ ความต่างกันแห่งธรรม 2 อย่างนั้นบัณฑิตพึงทราบดังนี้เถิดว่า "ธรรมเป็นอนันตรปัจจัยด้วยอำนาจแห่งธรรม (สามารถ) ยังจิตอันควรแก่ลำดับของตน ๆ ให้เกิดขึ้นเป็นอนันตรรูปนิสสยะด้วยอำนาจแห่งความเป็นเหตุมีกำลัง"

ปกตูปนิสสยะ

ส่วนปกตูปนิสสยะ พึงทราบ (ดังต่อไปนี้) ว่า อุปนิสสยะที่ทำขึ้นอย่างดี ชื่อว่า ปกตูปนิสสยะ ปัจจยธรรมที่บุคคลสร้างขึ้นในสันดานของตนก็ดี ปัจจัยภายนอกมีฤดูและโภชนะเป็นต้น ที่บุคคลเสพด้วยอำนาจศรัทธาและศีลเป็นต้นก็ดี ชื่อว่า ปกตะ (ทำขึ้นอย่างดี)

อีกนัยหนึ่ง อุปนิสสยะ โดยปกติ (คือโดยสภาวะของตน) นั่นเอง ชื่อว่าปกตูปนิสสยะ หมายความว่าไม่เจือปนด้วยอารัมมณูปนิสสยะและอนันตรูปนิสสยะ

(หน้าที่ 160)

ประเภทโดยอเนกประการแห่งปกตูปนิสสยะนั้น พึงทราบโดยนัยว่า "ปกตูปนิสสยะคือ บุคคลอาศัยยิ่งนักซึ่งศรัทธาแล้ว ให้ทาน สมาทานศีล ทำอุโบสถกรรม ยังฌานให้เกิดขึ้น ยังวิปัสสนาให้เกิดขึ้น ยังมรรคให้เกิดขึ้น ยังอภิญญาให้เกิดขึ้น อาศัยยิ่งนักซึ่งศีล สุตะ จาคะ ปัญญาแล้ว ให้ทาน ฯลฯ ยังสมาบัติให้เกิดขึ้น ศรัทธา ศีล สุตะ จาคะ ปัญญา เป็นปัจจัยโดยอุปนิสสยปัจจัยแห่งศรัทธา ศีล สุตะ จาคะ ปัญญา ดังนี้เป็นต้น

ธรรมทั้งหลายมีศรัทธาเป็นต้นนี้ อันบุคคลทำขึ้นอย่างดีโดยเป็นอุปนิสสยะ ด้วยความหมายว่าเป็นเหตุมีกำลังด้วยดังกล่าวมาฉะนี้ เหตุนั้นจึงได้ชื่อว่าปกตูปนิสสยะ

ปุเรชาตปัจจัย

ธรรมผู้อุดหนุนโดยความเป็นสภาพเกิดขึ้นก่อนแล้วเป็นไปอยู่ ชื่อว่า ปุเรชาตปัจจัย ปุเรชาตปัจจัยนั้นมี 11 อย่าง โดยเป็นวัตถุและอารมณ์ในปัญจทวาร (เป็น 10) และหทยวัตถุ (รวมเป็น 11) ดังบาลีว่า "จักขายตนะเป็นปัจจัยโดยเป็นปุเรชาตปัจจัยแห่งจักขุวิญญาณธาตุและแก่ธรรมทั้งหลายอันสัมปยุตกับจักขุวิญญาณธาตุนั้น โสตายตนะ ฆานายตนะ ชิวหายตนะ กายายตนะเป็นปัจจัยโดยเป็นปุเรชาตปัจจัยแห่งกายวิญญาณธาตุและแก่ธรรมทั้งหลายอันสัมปยุตกับกายวิญญาณธาตุนั้น รูปายตนะเป็นปัจจัยโดยเนปุเรชาตปัจจัย แก่จักขุวิญญาณธาตุ และแห่งธรรมทั้งหลายอันสัมปยุตกับจักขุวิญญาณธาตุนั้น สัททายตนะ คันธายตนะ รสายตนะ โผฏฐัพพายตนะ เป็นปัจจัยโดยเป็นปุเรชาตปัจจัยแห่งกายวิญญาณธาตุและแก่ธรรมทั้งหลายอันสัมปยุตกับกายวิญญาณธาตุนั้น รูปายตนะ สัททายตนะ คันธายตนะ รสายตนะ โผฏฐัพพายตนะ เป็นปัจจัยโดยเป็นปุเรชาตปัจจัยแก่มโนธาตุมโนธาตุและมโนวิญญาณธาตุอาศัยรูปใดเป็นไป รูปนั้น (คือหทยวัตถุ) เป็นปัจจัยโดยเป็นปุเรชาตปัจจัยแห่งมโนธาตุและแห่งธรรมทั้งหลายอันสัมปยุตกับมโนธาตุนั้น (คือในปวัตติกาล) ไม่เป็นปัจจัย โดยเป็นปุเรชาตปัจจัยในบางคราว (คือในจุติกาลและปฏิสนธิกาล)

ปัจฉาชาตปัจจัย

อรูปธรรมผู้อุดหนุนโดยความเป็นธรรมค้ำจูนรูปธรรมทั้งหลายที่เกิดก่อนไว้ชื่อว่า ปัจฉาชาตปัจจัย ดังเจตนาคือความหวังในอาหารค้ำจูนสรีระของลูกแร้งทั้งหลายไว้ฉะนี้ เหตุนั้น ท่านจึงกล่าวไว้ว่า "จิตและเจตสิกธรรมทั้งหลายอันเกิดภายหลัง เป็นปัจจัยโดยเป็นปัจฉาชาตปัจจัยแห่งกายนี้ ที่เกิดก่อน"

(หน้าที่ 161)

อาเสวนปัจจัย

ธรรมผู้อุดหนุนโดยความหมายคืออาเสวนะ (เสพมากคือประพฤติจนคุ้น) เพื่อความคล่องแคล่วและมีกำลังแห่งอนันตรธรรม (ธรรมเป็นลำดับ) ทั้งหลาย ชื่อว่า อาเสวนะปัจจัย ดุจอภิโยค (ความประกอบยิ่งคือความพากเพียร) ที่เกิดก่อน ๆ ในการเรียนคัมภีร์เป็นต้น (เพื่อความคล่องแคล่วในการเรียนคัมภีร์ตอนหลัง ๆ) ฉะนั้น อาเสวนะปัจจัยนั้น เป็น 3 อย่าง ด้วยอำนาจแห่งชวนะที่เป็นกุศลและกิริยา ดังบาลีว่า "กุศลธรรมทั้งหลายที่เกิดก่อน ๆเป็นปัจจัยโดยเป็นอาเสวนปัจจัยแห่งกุศลธรรมทั้งหลายที่เกิดหลัง ๆ อกุศลธรรมทั้งหลายที่เกิดก่อน ๆเป็นปัจจัยโดยอาเสวนปัจจัยแห่งอกุศลธรรมทั้งหลายที่เกิดหลัง ๆ กิริยาอัพยากตธรรมทั้งหลายที่เกิดก่อน ๆ เป็นปัจจัย โดยเป็นอาเสวนปัจจัยแห่งกิริยาอัพยากตธรรมทั้งหลายที่เกิดหลัง ๆ"

กัมมปัจจัย

ธรรมผู้อุดหนุนโดยความเป็นการกระทำที่ได้แก่จิตตปโยคะ (ความประกอบทางจิตคือเจตนา) ชื่อว่า กัมมปัจจัย กัมมปัจจัยนั้น เป็น 2 ด้วยอำนาจแห่งกุศลเจตนาและอกุศลเจตนาอันเป็นไปในขณะต่าง ๆ และแห่งเจตนาทั้งปวงที่เป็นสหชาตะ ดังบาลีว่า "กุศลกรรมและอกุศลกรรมเป็นปัจจัยโดยเป็นกัมมปัจจัยแห่งวิบากขันธ์ทั้งหลายและแห่งกฏัตตารูป (รูปที่เกิดแต่กรรม) ทั้งหลายด้วย สหชาตเจตนาเป็นปัจจัยโดยเป็นกัมมปัจจัยแห่งธรรมทั้งหลายที่สัมปยุตกับเจตนาและแห่งรูปทั้งหลายที่มีเจตนานั้นเป็นสมุฏฐานด้วย

วิปากปัจจัย

วิบากธรรมผู้อุดหนุนโดยความเป็นธรรมสงบ (คือว่ากรรมทำมาเสร็จแล้ว หรือว่าละเอียดเพราะรู้ยาก) ไม่มีอุตสาหะ (คือไม่ต้องทำอะไรอีก) เพื่อความเป็นสภาพสงบ ไม่มีอุตสาหะ (คือต้องเป็นอย่างนั้น ไม่มีทางบ่ายเบี่ยง) ชื่อว่า วิปากปัจจัย วิบากธรรมนั้นย่อมเป็นปัจจัยแห่งรูปทั้งหลายที่มีจิตเป็นสมุฏฐานเป็นปวัติกาลและแห่งปฏัตตารูปทั้งหลาย ในปฏิสนธิกาลและแห่งสัมปยุตตธรรมทั้งหลายในกาลทั้งปวงด้วย ดังบาลีว่า "ขันธ์ 1 ที่เป็นวิบากอัพยากฤตเป็นปัจจัยโดยเป็นวิปากปัจจัยแห่งขัน 3 และแห่งรูปทั้งหลายที่มีจิตเป็น

(หน้าที่ 162)

สมุฏฐาน ฯลฯ ขันธ์ 1 ที่เป็นวิบากอัพยากฤตเป็นปัจจัยโดยเป็นวิปากปัจจัยแห่งขันธ์ 3 และแห่งกฏัตตารูปทั้งหลายในปฏิสนธิขณะ ขันธ์ 3เป็นปัจจัยโดยวิปากปัจจัยแห่งขันธ์ 1 ขันธ์ 2 เป็นปัจจัยโดยวิปากปัจจัยแห่งขันธ์ 2 และแห่งกฏัตต่รูปทั้งหลาย ขันธ์ทั้งหลาย เป็นปัจจัโดยเป็นวิปากปัจจัยแห่งวัตถุ (คือหทยวัตถุ)

อาหารปัจจัย

อาหาร 4 ผู้อุดหนุนโดยความคือเป็นผู้ค้ำจุนรูปและอรูปทั้งหลายไว้ชื่อว่า อาหารปัจจัย ดังบาลีว่า "กพฬิงการาหารเป็นปัจจัยโดยเป็นอาหารปัจจัยแห่งกายนี้ อาหารทั้งหลายที่เป็นอรูป (คือผัสสะ มโนสัญเจตนาและวิญญาณ) เป็นปัจจัยโดยอาหารปัจจัยแห่งสัมปยุตธรรมทั้งหลายและแห่งรูปทั้งหลายอันมีอรูปาหาร (ทั้ง 3) นั้นเป็นสมุฏฐาน แต่ในปัญหาวาระกล่าวไว้ว่า "ในปฏิสนธิขณะ อาหารทั้งหลายที่เป็นวิบากอัพยากฤตเป็นปัจจัยโดยเป็นวิปากปัจจัยแห่งขันธ์ทั้งหลายอันสัมปยุตกับอาหารนั้นและแห่งกฏัตตารูปทั้งหลายด้วย" ดังนี้อีกด้วย

อินทรียปัจจัย

อินทรีย์ 20 เว้นอิตถินทรีย์และปุริถินทรีย์ ผู้อุดหนุนโดยความเป็นใหญ่ ชื่อว่า อินทรียปัจจัย ก็แลในอินทรีย์ 20 นั้น อินทรีย์ 5 มีจักขุนทรีย์เป็นต้น เป็นปัจจัยแห่งอรูปธรรมทั้งหลายอย่างเดียว อินทรีย์ที่เหลือ (15) เป็นปัจจัยทั้งแห่งรูปธรรมและอรูปธรรมดังบาลีว่า "จักขุนทรีย์เป็นปัจจัยโดยเป็นอินทรีย์ปัจจัยแห่งจักขุวิญญาณธาตุ และแห่งธรรมทั้งหลายอันสัมปยุตกับจักขุวิญญาณธาตุนั้น ฯลฯ โสตินทรีย์ ฆานินทรีย์ ชิวหินทรีย์ กายินทรีย์ เป็นปัจจัยโดยเป็นอินทรียปัจจัยแห่งกายวิญญาณธาตุและแห่งธรรมทั้งหลาย อันสัมปยุตกับกายวิญญาณธาตุนั้น รูปชีวิตินทรีย์เป็นปัจจัยโดยเป็นอินทรียปัจจัยแห่งกฏัตตารูปทั้งหลาย อินทรีย์ทั้งหลายที่เป็นอรูป (14) เป็นปัจจัยโดยเป็นอินทรียปัจจัยแห่งสัมปยุตธรรม ทั้งหลายและแห่งรูปทั้งหลายที่มีอรูปินทรีย์นั้นเป็นสมุฏฐานด้วย" แต่ในปัญหาวาระ กล่าวไว้ว่า "ในปฏิสนธิขณะ อินทรีย์ทั้งหลายที่เป็นวิบากอัพยากฤตเป็นปัจจัย โดยเป็นอินทรียปัจจัยแห่งสัมปยุตขันธ์ทั้งหลายและแห่งกฏัตตารูปทั้งหลาย" ดังนี้อีกด้วย

(หน้าที่ 163)

ฌานปัจจัย

องค์ฌาน 7 (คือวิตก วิจาร ปีติ เอกัคคตา โสมนัส โทมนัส อุเบกขา) อันต่างโดยเป็น กุศลฌานเป็นต้นทั้งปวง ยกเว้นเวทนา 2 คือ สุข – ทุกข์ในทวีปัญจวิญญาณ ผู้อุดหนุนโดยความคือเข้าไปเพ่ง (อารมณ์เป็นลักษณะ) ชื่อว่าฌานปัจจัย ดังบาลีว่า "องค์ฌานทั้งหลาย เป็นปัจจัยโดยฌานปัจจัยแห่งธรรมทั้งหลายที่สัมปยุตกับฌานและแห่งรูปทั้งหลายที่มีฌานนั้นเป็นสมุฏฐานด้วย" แต่ในปัญหาวาระกล่าวไว้ว่า "ในปฏิสนธิขณะ องค์ฌานทั้งหลายอันเป็นวิบากอัพยากฤตเป็นปัจจัยโดยเป็นฌานปัจจัยแห่งสัมปยุตขันธ์ทั้งหลายและแห่งกฏัตตารูปทั้งหลายด้วย" ดังนี้อีกบ้าง

มัคคปัจจัย

องค์มรรค 12 อันต่างโดยกุศลมรรค (คือเป็นสัมมัตตะ) เป็นต้น ผู้อุดหนุนโดยความคือนำออกไปจากสิ่งใดก็แล้วแต่ (คือจากผิดหรือชอบก็แล้วแต่มรรค) ชื่อว่า มัคคปัจจัย ดังบาลีว่า "องค์มรรคทั้งหลายเป็นปัจจัยโดยเป็นมรรคปัจจัยแห่งธรรมทั้งหลาย ที่สัมปยุตกับมรรคและแห่งรูปทั้งหลายที่มีมรรคนั้นเป็นสมุฏฐานด้วย" แต่ในปัญหาวาระกล่าวไว้ว่า "ในปฏิสนธิขณะ องค์มรรคทั้งหลายอันเป็นวิบากอัพยากฤตเป็นปัจจัยโดยเป็นมัคคปัจจัยแห่งสัมปยุตขันธ์ทั้งหลายและกฏัตตารูปทั้งหลายด้วย" ดังนี้อีกบ้าง

แต่ว่าฌานปัจจัยและมัคคปัจจัยทั้ง 2 นี้ พึงทราบว่า ย่อมไม่มีในทวิปัญจวิญญาณและอเหตุกจิตทั้งหลาย

สัมมปยุตตปัจจัย

อรูปธรรมทั้งหลายผู้อุดหนุนโดยความเป็นธรรมประกอบกันกล่าวคือมีวัตถุเดียวกัน มีอารมณ์เดียวกันและเกิดด้วยกัน ดับด้วยกัน ชื่อว่า สัมปยุตตปัจจัย ดังบาลีว่า "ขันธ์ 4 ที่ไม่มีรูปเป็นปัจจัย โดยสัมปยุตปัจจัยซึ่งกันและกัน"

(วิปปยุตตปัจจัย)

รูปธรรมทั้งหลายผู้อุดหนุนโดยไม่เข้าถึง (คือไม่เกี่ยวกับ) ความเป็นธรรมมีวัตถุเดียวกันเป็นต้นว่า วิปปยุตตปัจจัย แห่งอรูปธรรมทั้งหลาย แม้อรูปธรรมทั้งหลายเล่า ก็เป็น

(หน้าที่ 164)

วิปปยุตตปัจจัยแห่งรูปธรรมทั้งหลาย (เหมือนกัน) วิปปยุตตปัจจัยนั้นเป็น 3 โดยแยกเป็นสหชาตะ (เกิดพร้อมกัน) ปัจฉาชาตะ (เกิดทีหลัง) และปุเรชาตะ (เกิดก่อน) สมดังบาลีว่า "กุศลขันธ์ทั้งหลายที่เป็นสหชาตะ เป็นปัจจัยโดยเป็นวิปปยุตตปัจจัยแห่งรูปทั้งหลายที่มีจิตเป็นสมุฏฐาน กุศลขันธ์ทั้งหลายที่เป็นปัจฉาชาตะ เป็นปัจจัยโดยเป็นวิปปยุตตปัจจัยแห่งกายนี้ซึ่งเป็นปุเรชาตะ" แต่ในสหชาตวิภังค์แห่งบทอัพยากฤตกล่าวไว้ว่า "ในปฏสนธิขณะขันธ์ทั้งหลายที่เป็นวิบากอัพยากฤตเป็นปัจจัยโดยเป็นวิปปยุตตปัจจัยแห่งกฏัตตารูปทั้งหลาย ขันธ์ทั้หลายเป็นปัจจัยโดยเป็นวิปปยุตตปัจจัยแห่ง (หทัย) วัตถุ (หทย) วัตถุเป็นปัจจัยโดยเป็นวิปปยุตตปัจจัยแห่งขันธ์ทั้งหลาย" ดังนี้บ้าง ส่วนที่เป็นปุเรชาตะ พึงทราบด้วยอำนาจแห่งวัตถุมีจักขุนทรีย์เป็นต้นเท่านั้น ดังบาลีว่า "จักขายตนะที่เป็นปุเรชาตะ เป็นปัจจัยโดยเป็นวิปปยุตตปัจจัยแห่งจักขุวิญญาณ ฯลฯ กายายตนะที่เป็นปุเรชาตะเป็นปัจจัยโดยเป็นวิปปยุตตปัจจัยแห่งกายวิญญาณ (หทย) วัตถุเป็นปัจจัยโดยเป็นวิปปยุตตปัจจัยแห่งขันธ์ทั้งหลายที่เป็นอัพยากฤต ที่เป็นกิริยาอัพยากฤต ฯลฯ วัตถุเป็นปัจจัยโดยเป็นวิปปยุตตปัจจัยแห่งกุศลขันธ์ทั้งหลาย ฯลฯ วัตถุเป็นปัจจัยโดยเป็นวิปปยุตตปัจจัยแห่งอกุศลขันธ์ทั้งหลาย

อัตถิปัจจัย

ธรรมผู้อุดหนุนโดยความเป็นธรรมค้ำจุนธรรมที่เป็นเช่นเดียวกันด้วยความที่มีอยู่อันมีลักษณะเป็นปัจจุบัน ชื่อว่า อัตถิปัจจัย มาติกาแห่งอัตถิปัจจัยนั้นท่านวางไว้ 7 ประการด้วยอำนาจแห่งอรูปขันธ์ มหาภูต นามรูป จิต เจตสิก มหาภูตรูป อายตนะและวัตถุ ดังบาลีว่า "ขันธ์ 4 ที่ไม่มีรูปเป็นปัจจัยโดยเป็นอัตถิปัจจัยซึ่งกันและกัน มหาภูต (คือธาตุ) 4 เป็นอัตถิปัจจัยซึ่งกันและกัน นามรูปเป็นอัตถิปัจจัยซึ่งกันและกันโอกกันติขณะ (ขณะลงสู่ครรภ์) จิตและเจตสิกธรรมทั้งหลายเป็นอัตถิปัจจัยแห่งรูปทั้งหลายที่มีจิตเป็นสมุฏฐานมหาภูตรูปเป็นอัตถิปัจจัยแห่งอุปาทายรูป จักขายตนะเป็นอัตถิปัจจัยแห่งจักขุวิญญาณธาตุ ฯลฯ รูปายตนะ ฯลฯ โผฏฐัพพายตนะเป็นอัตถิปัจจัยแห่งกายวิญญาณธาตุและแห่งธรรมทั้งหลายที่สังปยุตกับกาบวิญญาณธาตุนั้น รูปายตนะ ฯลฯ โผฏฐัพพายตนะเป็นอัตปัจจัย

(หน้าที่ 165)

แห่งมโนธาตุและธรรมทั้งหลายที่สัมปยุตกับมโนธาตุนั้น มโนธาตุและมโนวิญญาณธาตุอาศัยรูป (คือหทยวัตถุ) ใดเป็นไป รูปนั้นเป็นอัตถิปัจจัยแห่งมโนธาตุและมโนวิญญาณธาตุและแห่งธรรมทั้งหลายที่สัมปยุตกับมโนวิญญาณธาตุนั้น" แต่ในปัญหาวาระวางมาติกาเพิ่มไใอีกคือ "สหชาตะ ปุเรชาตะ ปัจฉาชาตะ อาหาร อินทรีย์" แล้วทำนิทเทส (คืออธิบาย) ในสหชาตะก่อนโดยนัยว่า "ขันธ์ 1 เป็นอัตถิปัจจัยแห่งขันธ์ 3 และแห่งรูปอันมีขันธ์ 3 นั้นเป็นสมุฏฐาน" ดังนี้เป็นต้น ส่วนในปุเรชาตะ ทำนิทเทสด้วยอำนาจแห่งอายตนะมีจักษุเป็นต้น ซึ่งเป็นปุเรชาตธรรมในปัจฉาชาตะทำนิทเทสด้วยอำนาจแห่งกายนี้อันเป็นปุเรชาตะเป็นปัจจัยแห่งจิตและเจตสิกทั้งหลายอันเป็นปัจฉาชาตะ ในอาหารและอินทรีย์ ทำนิทเทสฉะนี้ว่า "กพฬิงการาหาร เป็นอัตถิปัจจัยแห่งกายนี้ รูปชีวิตินทรีย์เป็นอัตถิปัจจัยแห่งกฏัตตารูปทั้งหลาย" ดังนี้

นัตถิปัจจัย

อรูปธรรมทั้งหลายที่ดับไปเร็ว ผู้อุดหนุนโดยให้โอกาสเพื่อความเป็นไปแห่งอรูปธรรมทั้งหลายที่เกิดขึ้นในลำดับแห่งตนชื่อว่า นัตถิปัจจัย ดังบาลีว่า "จิตและเจตสิกธรรมทั้งหลายที่ดับไปเร็วเป็นนัตถิปัจจัยแห่งจิตและเจตสิกธรรมทั้งหลายซึ่งเป็นปัจจุบัน

วิคตปัจจัย

นัตถิปัจจยธรรมเหล่านั้นแหละชื่อว่า วิคตปัจจัย เพราะเป็นธรรมผู้อุดหนุนโดยความเป็นธรรมที่ปราศจากไปแล้ว (คือไม่มีแล้ว) ดังบาลีว่า "จิตและเจตสิกธรรมทั้งหลายที่ดับไปเร็วเป็นวิคตปัจจัยแห่งจิจและเจตสิกธรรมทั้งหลายนี่เป็นปัจจุบัน"

อวิคตปัจจัย

อนึ่ง อัตถิปัจจยธรรมทั้งหลายนั่นแหละพึงทราบว่า ชื่อว่า อวิคตปัจจัย เพราะเป็นธรรมผู้อุดหนุนโดยความเป็นธรรมที่ยังไม่ปราศไป (คือยังมีอยู่)

ก็แลทุกะนี้ (คือปัจจัยคู่นี้) ตรัสด้วยเทศนาวิลาส (ความงดงามแห่งเทศนา) หรือด้วยอำนาจแห่งเวไนยที่จะพึงฝึกสอนได้ด้วยเทศนาวิธีนี้ ดุจเหตุวิปปยุตตทุกะ แม้ตรัสอเหตุกะแล้วก็ยังตรัส (อีก) ฉะนั้นแล

(หน้าที่ 166)

ในปัจจัย 24 ที่กล่าวมานี้ อวิชชานี้นับเป็นปัจจัยแห่ง อภิสังขารคือบุญทั้งหลาย โดยประการ 2 แต่มันเป็นปัจจัยแห่งอภิสังขารข้อถัดไป (คืออปุญญาภิสังขาร) โดยหลายประการ เป็นปัจจัยแห่งอภิสังขารข้อสุดท้าย (คืออเนญชาภิสังขาร) โดยประการเดียวแล

ในคำเหล่านั้น คำว่า "เป็นปัจจัยแห่งอภิสังขารคือบุญทั้งหลายโดยประการ 2" คำว่า อวิชชาเป็นปัจจัย (แห่งปุญญาภิสังขาร) โดยประการ 2 คือโดยเป็นอาระมมณปัจจัย 1 โดยเป็นอุปนิสสยปัจจัย 1 อธิบายว่า อวิชชานั้นเป็นปัจจัยโดยเป็นอารัมณปัจจัยแห่งปุญญาภิสังขารทั้งหลายฝ่ายกามาวจร ในกาลที่พิจารณาอวิชชา โดยความสิ้นไปเสื่อมไป เป็นอารัมมณปัจจัย แห่งปุญญาภิสังขารฝ่ายรูปาวจร ในกาลที่รู้จิตเป็นไปกับโมหะ (ทั้งของตนและคนอื่น) ด้วยอภิญญาจิต (มีเจโตปริยญาณเป็นต้น) แต่ว่าเมื่อบุคคลบำเพ็ญ บุญกิริยาวัตถุฝ่ายกามาวจรทั้งหลายมีทานเป็นต้นก็ดี ยังรูปาวจรญาณทั้งหลายให้เกิดขึ้นก็ดี เพื่อประโยชน์แก่การก้าวล่วงเสียซึ่งอวิชชามันก็เป็นปัจจัยโดยเป็นอุปนิสสยปัจจัยแห่งปุญญาภิสังขารทั้งสองนั้น เมื่อบุคคลปรารถนาสมบัติในกามภพและรูปภพแล้วทำบุญ (ทั้งสอง) นั้นแหละอยู่ เพราะหลงไปด้วยความไม่รู้ ก็อย่างนั้น (คืออวิชชานั้นเป็นอุปนิสสยปัจจัยแห่งปุญญาภิสังขารทั้งสองนั้นเช่นเดียวกัน)

คำว่า "แต่มันเป็นปัจจัยแห่งอภิสังขารข้อถัดไปโดยหลายประการ" ความว่า อวิชชาย่อมเป็นปัจจัยแห่งอปุญญาภิสังขารทั้งหลายโดยหลายประการ ปุจฉาว่า เป็นอย่างไร ? วิสัชชนาว่า ก็อวิชชานั่นย่อมเป็นปัจจัย (แห่งอปุญญาภิสังขาร) โดยหลายประการคือ ในกาลที่ราคะเป็นต้น ปรารภอวิชชาเกิดขึ้นมันก็เป็นปัจจัยโดยเป็นอารัมมณปัจจัย ในกาลที่ทำอวิชชาให้เป็นที่หนัก (คือน้ำหนักอยู่ที่อวิชชา) (เกิดความ) พอใจขึ้น มันก็เป็นปัจจัยโดยเป็นอารัมมณูธิบดีและอารัมมณูปนิสสยะ เมื่อบุคคลผู้หลงไปด้วยความไม่รู้ไม่เห็นโทษ (ในบาป) ทำบาปทั้งหลายมีปาณาติปาตเป็นต้นเข้า มันก็เป็นอุปนิสสยปัจจัย มันเป็นอนันตระ….

(หน้าที่ 167)

สมนันตระ อนันตระรูปนิสสยะ อาเสวนะ นัตถิและวิคตปัจจัยแห่งชวนจิตมีชวนะดวงที่ 2 เป็นต้นไป เมื่อบุคคลทำอกุศลทุกอย่างมันก็เป็นเหตุ สหชาตะ อัญญะมัญญะ นิสสยะ สัมปยุตตะ อัตถิและอวิคตปัจจัย

คำว่า "นับว่าเป็นปัจจัยแห่งอภิสังขารข้อสุดท้ายโดยประการเดียว" คืออวิชชานับว่าเป็นปัจจัยโดยประการเดียว คือโดยเป็นอุปนิสสยปัจจัยเท่านั้นแห่งอเนญชาภิสังขารทั้งหลาย ก็แลความที่มันเป็นอุปนิสสยปัจจัยนั้น พึงทราบโดยนัยที่กล่าวแล้วในปุญญาภิสังขารนั่นเถิด

ในบทว่า "สังขารทั้งหลายย่อมมีเพราะปัจจัยเป็นอวิชชา" นี้ โจทกาจารย์กล่าว (ทัก) ว่า "ก็อวิชชานี้อย่างเดียวเท่านั้นเป็นปัจจัยแห่งสังขารทั้งหลายหรือ หรือว่าเป็นปัจจัยอื่น ๆ อีกก็มี ? พระอาจารย์กล่าวเฉลยว่า "ก็ในข้อนี้จะพึงกล่าวว่ากันอย่างไร (ดี) เล่า ผิว่าอวิชชาอย่างเดียว (เป็นปัจจัย) ไซร้ ก็ต้องเป็นพวกเอกการณวาทะ (กล่าวว่ามีเหตุอันเดียว) ซึ่งไม่ถูกต้องหากว่า ปัจจัยอื่น ๆ อีกก็มีไซร้ เอกการณนิทเทส (คำบาลีที่แสดงเหตุไว้อันเดียว ว่า "อวิชชาปจจยา สงขารา - สังขารทั้งหลายมีเพราะปัจจัยคืออวิชชา" ก็ไม่เกิดประโยชน์พระอาจารย์กล่าวต่อไปว่า "(แต่อันที่จริง) เอกการณนิทเทสนั้นจะไม่เกิดประโยชน์หามิได้เพราะอะไร เพราะ

เอกผล (เกิด) แต่เอกเหตุไม่มี แม้อเนกผล (เกิด)แต่เอกผลก็ไม่มี เอกผลเล่า (เกิด) แต่อเนกเหตุก็ไม่มีแต่อรรถ (คือประโยชน์) ในการแสดงเอกเหตุเอกผล มีอยู่

จริงอยู่ ผลอย่างเดียว (เกิด) แต่เหตุอันเดียวไม่มีสักอย่าง ในปัจจยาการนี้ ผลหลายอย่าง (เกิด) แต่เหตุอันเดียวก็ไม่มี ผลอย่างเดียว (เกิด) แต่เหตุหลายอันเล่าก็ไม่มี แต่ว่า ผลหลายอย่าง (เกิด) แต่เหตุหลายอันนั่นมี จริงอย่างนั้นผลหลายอย่างได้แก่รูป กลิ่น รส เป็นต้นและหน่อ (ไม้) นั่นเกิดขึ้นแต่เหตุหลายอัน กล่าวคือ ฤดู ดิน พืช (พันธ์) และน้ำปรากฏอยู่ แต่การแสดงเหตุอันเดียวและผลอย่างเดียวที่มีพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทำไว้ว่า "อวิชชาปจจยา

(หน้าที่ 168)

สงขารา สงขารปจจยา วิญญาณํ" นั้นใด ในการแสดงเหตุอันเดียวและผลอย่างเดียวนั้นอรรถมีอยู่ คือประโยชน์มีอยู่ แท้จริง พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงเอกเหตุบ้าง เอกผลบ้างเหมือนกัน โดยควรแก่พระเทศวิลาศและแก่ (อัชฌาสัยของ) เวไนยสัตว์ทั้งหลายบ้างในบางบท เพราะเป็นเหตุและผลประธาน บางบทเพราะเป็นเหตุปรากฏ (เห็นเด่นชัด) บางบทเพราะเป็นเหตุอสาธารณะ (เฉพาะ) ขยายความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเอกเหตุและเอกผลด้วย เพราะความเป็นเหตุประธานและผลประธานเช่นในบทว่า "ผสสปจจยา เวทนา" เหตุว่าผัสสะเป็นประธานแห่งเวทนา ตรัสเอกเหตุเพราะความปรากฏเช่นในคำว่า "เสมหสมุฏฐานา อาพาธา - อาพาธทั้งหลายที่มีเสมหะเป็นสมุฏฐาน" เพราะว่าในอาพาธนี้เสมหะเป็นเหตุที่ปรากฏ เหตุอื่นมีกรรมเป็นต้นไม่ปรากฏ ตรัสเอกเหตุเพราะความเป็นเหตุ อสาธารณะ เช่นในข้อว่า "เย เกจิ ภิกขเว อกุสลา ธมมา สพเพ เต อโยนิโส มนสิการมูลกา ดูกรภิกษุทั้งหลาย อกุศลธรรมทั้งหลายเหล่าใดเหล่าหนึ่ง (บรรดามี) อกุศลธรรมทั้งหลายนั้นล้วนมีอโยนิโสมนสิการเป็นมูล" เพราะอโยนิโสมนสิการเป็นเหตุ อสาธารณะ เหตุอื่น ๆ มีวัตถุและอารมณ์เป็นต้นเป็นเหตุสาธารณะแก่อกุศลทั้งหลายแล

เพราะเหตุนั้น ในปัจจยาการนี้ อวิชชานี่ แม้เมื่ออเหตุแห่งสังขารทั้งหลายอื่นมีวัตถุอารมณ์และสหชาตธรรมเป็นต้นมีอยู่ ก็พึงทราบเถิดว่าพระผู้มีพระภาคเจ้าแสดง โดยความเป็นเหตุแห่งสังขารทั้งหลาย เพราะความที่อวิชชานั้นเป็นสังขารเหตุที่เป็นประธานแห่งสังขารเหตุอื่น ๆ มีตัณหาเป็นต้น โดยพระบาลีว่า "ตัณหาย่อมพอกพูนแก่บุคคลผู้คอยดูแต่ส่วนที่น่ายินดี (ในสังโยชนียธรรม)" เป็นต้น และโดยพระบาลีว่า "ความเกิดขึ้นแห่งอาสวะย่อมมีเพราะความเกิดขึ้นแห่งอวิชชา" เพราะเป็นเหตุปรากฏและเพราะเป็นเหตุอสาธารณะด้วย โดยพระบาลีว่า "ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้โง่เขลาตกอยู่ในอวิชชาย่อมสร้างปุญญาภิสังขารขึ้นบ้าง…" เป็นต้น ก็แลประโยชน์ในการทรงแสดงเอกเหตุเอกผลในบททั้งปวงพึงทราบโดยคำเฉลยการทรงแสดงเอกเหตุเอกผล (ที่กล่าวมานั่นเทอญ)

(อวิชชาเป็นเหตุแห่งสังขารฝ่ายดี)

ในบท อวิชชาปจจยา สงขารา นี้ โจทกาจารย์กล่าวทัก (อีกประเด็นหนึ่ง) ว่า "ถึงเป็นอย่างกล่าวมานั้น (แต่) การที่อวิชชาซึ่งเป็นสิ่งมีโทษ มีผลอันไม่น่าปรารถนาโดยส่วนเดียว

(หน้าที่ 169)

มาเป็นปัจจัยแห่งปุญญาภิสังขารและอเนญชาภิสังขาร (ซึ่งมีผลน่าปรารถนา) จะใช้ได้ไฉน ? เพราะว่าอ้อยจะเกิดจากพืชสะเดาหาได้ไม่" พึงเฉลยว่า "ไฉนจักใช้ไม่ได้เล่า เพราะในโลกนี้

ปัจจัยแห่ง (สภาว) ธรรมทั้งหลายที่ผิดกัน (กับผล)ก็ดี ไม่ผิดกันก็ดี ที่เหมือนกันและไม่เหมือนกัน (กับผล)ก็เช่นกัน ย่อมเป็นเหตุสำเร็จ (คือให้เกิดผล) ได้ แต่ธรรมเหล่านั้น มิได้เป็นวิบาก (แห่งปัจจัยเหล่านั้น) เลย

จริงอยู่ ปัจจัยที่ผิดกันโดยฐาน (ตำแหน่งที่และเวลา) สภาวะและกิจเป็นต้นแก่ (สภาว) ธรรมทั้งหลายก็ดี ไม่ผิดกันก็ดี ย่อมเป็นเหตุสำเร็จได้ในโลก ด้วยว่า จิตดวงก่อน ย่อมเป็นปัจจัยที่ผิดกันโดยฐานแห่งจิตดวงหลังได้ และการศึกษามีศึกษาเป็นต้นก่อน ย่อมเป็นปัจจัยที่ผิดกันโดยฐานะแห่งการทำงานมีประกอบศิลปะเป็นต้นอันเป็นไปในภายหลังก็ได้ กรรมเป็นปัจจัยที่ผิดกันโดยสภาวะแห่งรูปได้ และนมสดเป็นต้นเป็นปัจจัยที่ผิดกันโดยสภาวะแห่งรูปได้ และนมสดเป็นต้นเป็นปัจจัยที่ผิดกันโดยสภาวะแห่งนมส้มก็ได้ แสงสว่างเป็นปัจจัยที่ผิดกันโดยกิจแห่งจักขุวิญญาณได้ แสงสว่างเป็นปัจจัยที่ผิดกันโดยกิจแห่งจักขุวิญญาณได้ และนำอ้อยงบเป็นต้นเป็นปัจจัยที่ผิดกันโดยกิจแห่งน้ำดอง (คือน้ำเมา) เป็นต้นก็ได้ ส่วนจักขุและรูปเป็นต้นเป็นปัจจัยที่ไม่ผิดกันโดยฐานแห่งจักขุวิญญาณเป็นต้น ชวนจิตดวงก่อนเป็นต้นเป็นปัจจัยที่ไม่ผิดกันโดยสภาวะและไม่ผิดกันโดยกิจแห่งชวนจิตดวงหลังเป็นต้น

อนึ่ง ปัจจัยที่ผิดกันและไม่ผิดกัน (กับผล) เป็นเหตุสำเร็จได้ฉันใด แม้ปัจจัยที่เหมือนกันและไม่เหมือนกัน (กับผล) ก็เป็นเหตุสำเร็จได้ฉันนั้น จริงอยู่ รูปกล่าวคือฤดูและอาหาร ซึ่งเหมือนกันนั่นเองเป็นปัจจัยแห่งรูป พืชข้าวสาลีเป็นต้น ซึ่งเหมือนกันนั่นแลเป็นปัจจัยแห่งเมล็ดข้าวสาลีเป็นต้น รูปซึ่งแม้ไม่มีเหมือนกัน แต่เป็นปัจจัยแห่งอรูปได้ อรูปเล่าก็เป็นปัจจัยแห่งรูปได้ และขนโค ขนแกะ เขาแกะ เขาสัตว์ นมส้ม งา แป้งเป็นต้นซึ่งไม่เหมือนกันก็เป็นปัจจัยแห่งหญ้าแพรกและตระไคร้เป็นต้นได้ แต่ปัจจยธรรมเหล่านั้นเป็นปัจจัยที่ผิดกันไม่ผิดกันและเหมือนกัน ไม่เหมือนกัน (ก็ดี) แห่งธรรมเหล่าใด ธรรมเหล่านั้นก็มิได้เป็นวิบากแห่ง (ปัจจัย) ธรรมเหล่านั้นเลย

ด้วยประการดังนี้ อวิชชานี่ แม้ว่าโดยวิบาก เป็นสิ่งที่มีผลไม่น่าปรารถนาโดยส่วนเดียว และด้วยว่าเป็นสภาวะก็เป็นสิ่งมีโทษ (แต่ก็) พึงทราบเถิดว่า มันเป็นปัจจัยแก่สังขารมีปุญญาภิ

(หน้าที่ 170)

สังขารเป็นต้นทั้งหมดได้ ด้วยสามารถเป็นปัจจัยที่ผิดกัน และไม่ผิดกันโดยฐานะ กิจสภาวะและด้วยสามารถเป็นปัจจัยทีเหมือนกันตามควร ก็แลความที่มันเป็นปัจจัยนั้น ได้กล่าวแล้วโดยนัยว่า "ความไม่รู้ที่นับว่าอวิชชาในทุกข์เป็นต้น บุคคลใดยังละไม่ได้แล้ว บุคคลนั้นเพราะความไม่รู้ในทุกข์ก่อนและและในวัตถุแห่งอวิชชาทั้งหลายมีขันธปัญจกะส่วนอดีตเป็นต้น จึงยึดเอาสังขารทุกข์ไว้โดยสำคัญว่า เป็นสุขแล้วย่อมริ (ทำ) สังขารทั้ง 3 อย่างอันเป็นเหตุแห่งสังสารทุกข์นั้นขึ้น" ดังนี้เป็นต้นนั่นแล

(ต่อไป) นี้เป็นปริยายอื่นอีกปริยายหนึ่งว่า

บุคคลใดหลงใน (เรื่อง)จุติ และอุปาต (เรื่องสงสาร)ในลักษณะแห่งสังขารทั้งหลายและในปฏิจจสมุปปันนธรรมทั้งหลาย บุคคลนั้นย่อมสร้างสังขารทั้ง 3 นั้นขึ้น(ทั้งนี้ก็) เพราะเหตุที่อวิชชานี่เป็นปัจจัยแก่สังขารทั้ง 3 นั้น

หากมีคำถามว่า "ก็ไฉน บุคคลใดหลงในธรรมเหล่านั้น บุคคลนั้จึงทำสังขารทั้งสามนั้นขึ้น" ดังนี้ไซร้ คำแก้พึงมี่ว่า "อันดับแรกบุคคลผู้หลงใน (เรื่อง) จุติ ไม่ถือเอาจุติ (โดยความความจริง) ว่า "ความแตกแห่งขันธ์ทั้งหลายในภพทั้งปวง ชื่อว่ามรณะ (แต่) กำหนดใจไปว่า "สัตว์ตาย ความตายก็คือความก้าวไป (คือเคลือนไป) สู่ร่างอื่นแห่งสัตว์" ดังนี้เป็นต้น

ผู้หลงในอุปบาต ไม่ถือเอาอุปบาต (โดยความจริง) ว่า "ความปรากฏขึ้นแห่งขันธ์ทั้งหลายในภพทั้งปวง ชื่อว่าชาติ" (แต่) กำหนดใจไปว่า "สัตว์เกิดขึ้น ความเกิดคือความปรากฏขึ้นแห่งร่างใหม่ของสัตว์" ดังนี้เป็นต้น

ผู้หลงในสงสาร ไม่ถือเอาสงสารอย่างท่านพรรณนาไว้ดังนี้ว่า

"ความสืบเนื่องกันแห่งขันธ์ธาตุ และอายตนะทั้งหลายเป็นไปอยู่ไม่ขาดสาย เรียกว่าสงสาร"

(แต่) กำหนดใจไปว่า "สัตว์ผู้นี้ไปจากโลกอื่นจากโลกนี้ มาสู่โลกนี้จากโลกอื่น" ดังนี้เป็นต้น

ผู้หลงในลักษณะแห่งสังขารทั้งหลาย ไม่ถือเอาสภาวะลักษณะ (มีรู้จักเสื่อมเป็นต้น) และสามัญญลักษณะ (มีไม่เที่ยงเป็นต้น) แห่งสังขารทั้งหลาย (แต่) กำหนดใจเอาสังขารทั้งหลาย

(หน้าที่ 171)

โดยความเป็นตน โดยความเป็นของตน โดยความเป็นของยั่งยืน โดยความเป็นของงามและโดยความเป็นความสุข

ผู้หลงในปฏิจจสมุปปันนธรรมทั้งหลาย ไม่ถือความหมุนไปแห่งปัจจุบันธรรมทั้งหลาย มีสังขารเป็นต้น เพราะปัจจยธรรมมีอวิชชาเป็นอาทิ (แต่) กำหนดใจไปว่า "อัตตาย่อมรู้บ้างไม่รู้บ้าง อัตตานั่นแลทำ (เอง) และใช้ (ผู้อื่น) ให้ทำด้วย ในปฏิสนธิก็อัตตานั่นแลเกิดขึ้น ผู้บันดาลมีอณุและพระอิศวรเป็นต้นจัดแจงร่างให้อัตตานั้นโดย (แต่งให้) เป็นกลละเป็นต้น (จน) ทำอินทรีทั้งหลายให้ครบครัน อัตตานั้นมีอินทรีย์ครบครันแล้วจึงสัมผัสได้ รู้ (อารมณ์) ได้ อยากเป็น ยึดถือเป็น พยายามเป็น อัตตานั้นย่อมมีในภพอื่นอีก" ดังนี้บ้าง ว่า "สัตว์ทั้งปวงแปรเปลี่ยนไปตามวาระ คือความเป็นไปตามโชคเคราะห์" ดังนี้บ้าง

บุคคลนั้นอันอวิชชาทำให้เป็นคนบอดแล้วกำหนดใจไปอย่างนั้นอยู่ ก็ย่อมก่อสังขารเป็นบุญบ้าง ไม่เป็นบุญบ้าง เป็นอเนสังขารเป็นปัจจัยแห่งวิญญาณญชาบ้างขึ้น เปรียบเหมือนคนตาบอดเที่ยวไปบนแผ่นดิน ก็ย่อมเดินไปถูกทางบ้าง ผิดทางบ้าง ที่ดอนบ้าง ที่ลุ่มบ้าง ที่ราบบ้าง ที่ขรุขระบ้าง ฉะนั้น เพราะเหตุนั้น พระอาจารย์จึงกล่าวคำเป็นคาถานี้ไว้ (ความ) ว่า

เปรียบเหมือนคนตาบอดแต่กำเนิด ไม่มีคนจูงบางที่ก็เดินไปตามทาง บางทีก็เดินไปนอกทางบ้าง ฉันใดก็ดี คนเขลาผู้ท่องเที่ยวอยู่ในสงสารไม่มีผู้ชักนำ บางคราวก็ทำบุญ บางคราวก็ทำกรรมที่ไม่ใช่บุญบ้าง ฉันนั้นต่อเมื่อใดเขาจักรู้ธรรมแล้วตรัสรู้สัจจะได้ เมื่อนั้นเพราะอวิชชาสงบไป เขาจึงจักเป็นอุปสันตบุคคลไปได้ นี่เป็นวิตถารกถาในบทว่า อวิชชาปจจยา สงขารา

(ต่อไปนี้เป็น) วิตถารในบท สงขารปจจยา วิญญาณํ

คำว่า วิญญาณ ได้แก่ วิญญาณ 6 มีจักขุวิญญาณเป็นต้น ในวิญญาณ 6 นั้น จักขุวิญญาณ มี 2 อย่าง คือ จิกขุวิญญาณที่เป็นกุศลวิบากและที่เป็นอกุศลวิบาก โสตวิญญาณ

(หน้าที่ 172)

ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ ก็อย่างนั้น มโนวิญญาณมี 22 คือ มโนธาตุ 2 ที่เป็นกุศลวิบากและอกุศลวิบาก มโนวิญญาณธาตุที่เป็นอเหตุกะ 3 กามาวจรวิปากจิตเป็นสเหตุกะ 8 รูปาวจรจิต 5 อรูปาวจรจิต 4 ดังนี้ จึงเป็นอันรวมวิปากวิญญาณฝ่ายโลกิยะทางวิญญาณ 6 นี้ ทั้งหมดด้วยกันได้ 32 ส่วนวิญญาณฝ่ายโลกุตตระทั้งหลายใช้ไม่ได้ในกถาว่าด้วยวัฏฏะ เพราะฉะนั้นจึงไม่ถือเอา

ในบทว่า วิญญาณมีเพราะปัจจัยคือสังขาร นั้น หากมีคำถามว่า "ก็ข้อนี้จะพึงทราบได้อย่างไรว่า วิญญาณมีประการดังกล่าวมานี้ ย่อมมีเพราะปัจจัยคือสังขาร" แก้ว่า "ทราบได้เพราะเมื่อไม่มีกรรมที่ก่อไว้ วิบากก็ไม่มี" แท้จริง วิญญาณนั่นเป็นวิบาก อันวิบากในเมื่อไม่มีกรรมที่ก่อไว้ ย่อมไม่เกิดขึ้น ผิว่า มันจะพึงเกิดขึ้นได้ โดยไม่อาศัยกรรมไซร้ วิปากวิญญาณทุกอย่างก็จะพึงเกิดขึ้นแก่สัตว์ทุกจำพวกได้ (นะซิ) แต่มันไม่เกิดดอก (ในเมื่อไม่มีกรรมที่ก่อไว้)" เพราะเหตุนั้น จึงทราบข้อว่า วิญญาณนี้ย่อมมีเพราะปัจจัยคือสังขารนั้นได้

หากมีถามว่า "วิญญาณไหนย่อมมีเพราะปัจจัยคือสังขารไหน" ดังนี้ไซร้ พึงตอบว่า "อันดับแรกวิญญาณ 16 ดวง คือวิญญาณมีจัขุวิญญาณเป้นต้นที่เป็นปุศลวิบาก 5 ในมโนวิญญาณ มโนธาตุ 1 มโนวิญญาณธาตุ 2 กามาวจรวิปากวิญญาณ 8 ย่อมมีเพราะปัจจัยคือปุญญาภิสังขารฝ่ายกามาวจร ดังบาลีว่า "เพราะกรรมที่เป็นกุศลฝ่ายกามางจร อันบุคคลทำไว้แล้วก่อไว้แล้ว จักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆทตวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ ที่เป็นวิบาก จึงเกิดขึ้น มโนธาตุที่เป็นวิบากจึงเกิดขึ้น มโนวิญญาณธาตุที่เป็นโสมนัสสหรคตจึงเกิดขึ้น มโนวิญญาณธาตุที่เป็นอุเปกขาสหรคตจึงเกิดขึ้น มโนวิญญาณธาตุที่เป็นโสมนัสสสหรคตญาณสัมปยุต ที่เป็นโสมนันสสหรคต ญาณสัมปยุต เกิดพร้อมกับ สังขารที่เป็นโสมนัสสหรคต ญาณวิปยุตเกิดขึ้นพร้อมกันสังขารที่เป็นโสมนันสสหรคตญาณวิปยุต เกิดพร้อมสังขาร ที่เป็นอุเปกขาสหรคต ญาณสัมปยุต ที่เป็นอุเปกขาสหรคต ญาณสัมปยุตกับสังขารที่เป็นอุเปกขาสหรคต ญาณวิปปยุตที่เป็นอุเปกขาสหรคต ญาณวิปปยุตกับสังขาร ดังนี้

ส่วนรูปาวจรวิปากวิญญาณ 5 ดวง มีเพราะปัจจัยคือปุญญาภิสังขารฝ่ายรูปาวจร ดังบาลีว่า "เพราะกรรมที่เป็นฝ่ายกุศลฝ่ายรูปาวจรนั้นนั่นแล อันบุคคลทำไว้แล้วก่อไว้แล้ว

(หน้าที่ 173)

โยคาวจรบุคคล สงัดจากกามทั้งหลาย ฯลฯ เข้าถึงปฐมฌาน ฯลฯ ปัญจมฌาฯอัเป็นวิบากอยู่" ดังนี้

(รวม) วิญญาณ 21 ดวง ย่อมมีเพราะปัจจัยคือปุญญาภิสังขาร ฉะนี้

ส่วนวิญญาณ 7 ดวง ดังนี้คือ วิญญาณมีจักขุวิญญาณเป็นต้นที่เป็นอกุศลวิบาก 5 มโนธาตุ 1 มโนวิญญาณธาตุ 1 ย่อมมีเพราะปัจจัยคืออปุญญาภิสังขาร ดังบาลีว่า "เพราะกรรมเป็นอกุศล อันบุคคลทำไว้แล้วก่อไว้แล้ว จักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณอันเป็นวิบากจึงเกิดขึ้น มโนธาตุที่เป็นวิบาก มโนวิญญาณธาตุ ที่เป็นวิบากจึงเกิดขึ้น" ดังนี้

ส่วนวิญญาณ 4 ดวง ดังนี้คือ วิญญาณที่เป้นอรูปวิบาก 4 ย่อมมีเพราะปัจจัยคืออเนญชาภิสังขาร ดังบาลีว่า "เพราะกรรมที่เป็นกุศลฝ่ายอรูปาวจรนั้นนั่นแลอันบุคคลทำไว้แล้ว ก่อไว้แล้ว เพราะก้าวล่วงรูปสัญญาทั้งหลายเสียได้โดยประการทั้งปวงจึงเข้าถึงวิญญาณอันสหรคตด้วยอากาสานัญญจายตนสัญญา วิญญาณนัญจายตนะสัญญา อากิญจัญญายตนสัญญา เนวสัญญานาสัญญายตนสัญญา ซึ่งเป็นวิบากอยู่ เพราะละสุขและทุกข์ได้จึงเข้าจตุตถฌานอยู่" ดังนี้

ความเป็นไปแห่งวิญญาณ

วิญญาณใด ย่อมมีเพราปัจจัยสังขารใดแล้ว บัดนี้ พึงทราบปวัตติ (ความเป็นไปเรื่องราว) แห่งวิญญาณนั้นดัง (ต่อไป) นี้

วิญญาณทั้งปวงนี้แหละ ย่อมเป็นไปโดยส่วน 2 ด้วยอำนาจแห่งปวัตติ (ความเป็นไปส่วนต่อแต่ปฏิสนธิไป) และ (ส่วนตอน) ปฏิสนธิ ใน 2 ส่วนนั้น วิญญาณ 13 ดวงนี้ คือปัญจวิญญาณ 2 (เป็น 10) มโนธาตุ 2 อเหตุกมโนวิญญาณธาตุที่เป็นโสมนัสสสหรคต (1) ย่อมเป็นไปในส่วนปวัตติในปัญจโวการภพเท่านั้น วิญญาณที่เหลือ 19 ดวงเป็นไปทั้งในส่วนปวัตติทั้งในส่วนปฏิสนธิตามสมควรใน 3 ภพ (คือปัญจวโรการภพ จตุโวการภพ และเอกโวการภพ)

ปุจฉาว่าอย่างไร ?

(หน้าที่ 174)

ส่วนปวัตติ

วิสัชชนาว่า ในอรรถกถามัชฌิมนิกายกล่าวไว้ว่า "อันดับแรกวิญญาณ 5 มีจักขุวิญญาณเป็นต้นฝ่ายกุศลวิบาก ปรารภอารมณ์มีรูปเป็นต้น ที่มาปรากฏทางทวารมีจักขุทวารเป็นต้น ของบุคคลผู้เกิดมาด้วยกุศลวิบาก หรือด้วยอกุศลวิบากก็ตาม ที่มีอินทรีย์เข้าถึงความแก่กล้าแล้วตามลำดับเป็นอิฏฐารมณ์ก็ตาม อิฏฐมัชฌัตตารมณ์ก็ตาม อาศัยประสาทมีจักษุประสาทเป็นอาทิ ก็ยังกิจคือการเห็น การได้ยิน การดม การลิ้ม การสัมผัสให้สำเร็จเป็นไป วิญญาณ 5 ฝ่ายอกุศลวิบากก็เป็นอย่างนั้น เป็นแต่อารมณ์ของอกุศลวิปากวิญญาณเหล่านั้น เป็นอนิฏฐารมณ์หรืออนิฏฐมัฌัตตารมณ์สิ้นเชิง (เท่า) นี้เองเป็นความแปลกกัน จริงอยู่ วิญญาณทั้ง 10 นั่นก็มีทวาร อารมณ์ วัตถุและฐานคงตัวและมีกิจตายตัวอยู่เท่านี้เอง ต่อนั้นมโนธาตุที่เป็นกุศลวิบากในลำดับแห่งวิญญาณทั้งหลายมีจักขุวิญญาณเป็นต้นที่เป็นกุศลวิบาก ปรารภอารมณ์ของวิญญาณเหล่านั้นนั่นแหละ อาศัยหทยวัตถุก็ยังสัมปฏิจฉนกิจให้สำเร็จเป็นไปมโนธาตุฝ่านอกุศลวิบากในลำดับแห่งอกุศลวิปากวิญญาณทั้งหลายก็เป็นไปอย่างนั้น ก็แต่ว่ามโนธาตุคู่นี้มีทวารและอารมณ์ไม่แน่ แต่มีวัตถุและฐานคงตัวและกิจก็ตายตัว ส่วนอเหตุกะมโนวิญญาณธาตุที่เป็นโมนัสสสหรคตในลำดับแห่งกุศลวิบากมโนธาตุก็ปรารภอารมณ์แห่งกุศลวิบากมโนธาตุนั้นแหละอาศัยหทยวัตถุ ยังสันตีรณกิจให้สำเร็จ ตัดวิถีภวังค์ในที่สุด แห่งชวนะที่สัมปยุตด้วยโลภโดยมากแห่งเหล่าสัตว์จำพวกกามาวจร ในเมื่ออารมณ์นั้นเป็น อารมณ์มีกำลังในทวารทั้ง 6 เป็นไปวาระเดียวบ้างสองวาระบ้าง ด้วยอำนาจแห่งตทารัมมณะในอารมณ์ที่ชวนะยึดไว้" ดังนี้ แต่ในอรรถกถาพระอภิธรรม วารจิตในตทารัมมณะมาเป็น 2 (วาระเดียวไม่มี) ก็แลจิตดวงนี้มี 2 ชื่อ คือ ชื่อว่าตทารัมมณะ และชื่อว่าปิฏฐิภวังค์ (มีภวังค์แอบหลัง) และเป็นจิตมีทวารและอารมณ์ไม่แน่ แต่มีวัตถุคงตัว มีฐานและกิจก็ไม่ตายตัวแล

วิญญาณ 13 ดวง พึงทราบว่า เป็นไปในส่วนปวัตติในปัญจิโวการภพเท่านั้น ดังกล่าวมาฉะนี้ก่อน

ในวิญญาณ 19 ที่เหลือเล่า วิญญาณอะไร ๆ ไม่เป็นไปโดยปฏิสนธิ (กิจ) อันควรแก่ตนก็หามิได้ แต่ในส่วนปวัตติ อันดับแรกอเหตุกมโนวิญญาณธาตุอันเป็นกุศลวิบากและอกุศลวิบากทั้ง 2 ยังกิจ 4 ให้สำเร็จ คือ ยังสันตีรณกิจในลำดับแห่งกุศลอกุศลวิบากมโนธาตุ

(หน้าที่ 175)

ในปัญจทวารให้สำเร็จ ยังตทารัมมณกิจในทวาร 6 โดยนัยที่กล่าวในตอนเบื้องหน้าแต่ปฏิสนธิที่ตนให้แล้วให้สำเร็จ และยังจุติกิจในบั้นปลายให้สำเร็จ เป็นวิญญาณธาตุที่มีวัตถุคงตัว แต่มีทวาร อารมณ์ ฐานและกิจไม่คงตัวเป็นไป สเหตุกจิตฝ่ายกามาวจร 8 ยังกิจ) ให้สำเร็จ คือยังตทารัมมณกิจในทวาร 6 โดยนัยที่กล่าวแล้วนั่นแหละให้สำเร็จ เมื่อจิตตุปบาทที่เข้าไปตัดภวังค์ไม่มี ก็ยังภวังคกิจเบื้องหน้าแต่ปฏิสนธิที่ตนให้แล้วเป็นให้สำเร็จและยังจุติกิจในบั้นปลายให้สำเร็จ เป็นจิตมีวัตถุคงตัว แต่ทวาร อารมณ์ ฐานและกิจไม่คงตัวเป็นไป รูปาวจรวิญญาณ 5 และอรูปาวจร 4 ยังกิจ 2 ให้สำเร็จ คือเมื่อจิตตุปบาทที่เข้าไปตัดภวังค์ไม่มี ก็ยังภวังค์กิจเบื้องหน้าแต่ปฏิสนธิที่ตนให้แล้วเป็นไปให้สำเร็จและยังจุติกิจในบั้นปลายให้สำเร็จเป็นไป ในจิต 2 ประเภทนั้น รูปาวจรจิตทั้งหลายมีวัตถุทวารและอารมณ์คงตัว แต่ฐานและกิจไม่คงตัว ส่วนอรูปาวจรจิตทั้งหลาย มีวัตถุคงตัว อารมณ์คงตัว แต่ฐานและกิจไม่คงตัวเป็นไปแล

วิญญาณทั้ง 32 ดวง ย่อมเป็นไปเพราะสังขารเป็นปัจจัย ในส่วนปวัตติ ดังกลาวมาฉะนี้ก่อน

สังขารนั้น ๆเป็นปัจจัยโดยกัมมปัจจัยและเป็นอุปนิสสยปัจจัยแก่วิปากวิญญาณ 32 ดวงนั้นในปวัตตินั้น

ส่วนปฏิสนธิ

ส่วนคำใดที่ข้าพเจ้ากล่าวไว้ว่า "ในวิญญาณ 19 ที่เหลือเล่า วิญญาณอะไร ๆ ไม่เป็นไปโดยปฏิสนธิ (กิจ) อันควรแก่ตนก็หามิได้" คำนั้นยังรู้ได้ยากเพราะเป็นคำสังเขปนัก เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าจะกล่าวเพื่อแสดงวิตถารนัยแห่งปฏิสนธิวิญญาณนั้น (ต่อไป) โดยตั้งปัญหาว่า

(1) ปฏิสนธิมีกี่อย่าง ?

(2) ปฏิสนธิจิตมีเท่าไร ?

(3) ปฏิสนธิย่อมมีในภพไหนด้วยจิตอะไร ?

(4) อะไรเป็นอารมณ์ของปฏิสนธิ ?

(หน้าที่ 176)

คำตอบมีว่า

(1) ปฏิสนธิมี 20 ทั้งปฏิสนธิของอสัญญีสัตว์ (คือโดยปฏิสนธิจิตก็มีเพียง 19 แต่นับปฏิสนธิของพวกอสัญญีเข้าด้วยจึงเป็น 20)

(2) ปฏิสนธิจิตมี 19 ประการดังกล่าวมาแล้วนั่นแหละ

(3) ในปฏิสนธิจิต 19 นั้น ปฏิสนธิในอบายทั้งหลายย่อมมีด้วยอเหตุกมโนวิญญาณธาตุที่เป็นอกุศลวิบาก ปฏิสนธิแห่งพวกคนบอดแต่กำเนิด คนหนวกแต่กำเนิด คนบ้าแต่กำเนิด คนใบ้แต่กำเนิด และคนกระเทยทั้งหลายในมนุษย์โลก ย่อมมีด้วยอเหตุกมโนวิญญาณธาตุที่เป็นกุศลวิบากปฏิสนธิ แห่งเหล่าสัตว์ผู้มีบุญในพวกเทพชั้นกามาวจรก็ดี ในพวกมนุษย์ก็ดี ย่อมมีด้วยสเหตุกามาวจรวิปากจิต 8 ปฏิสนธิในโลกรูปพรหม ย่อมมีด้วยรูปาวจรวิบาก 5 ปฏิสนธิในโลกอรูปพรหมย่อมมีด้วยอรูปาวจรวิปากจิต 4 ก็แล ปฏิสนธิย่อมมีในภพไรด้วยจิตไรดังกล่าวมาฉะนี้ ปฏิสนธินั้นแล ชื่อว่าปฏิสนธิอันควรแก่วิญญาณนั้น

(4) ส่วนอารมณ์ของปฏิสนธิ มี 3 คือ อตีตารมณ์ ปัจจุปันนารมณ์ และนวัตตัพพารมณ์ (คือ อารมณ์ที่ไม่ควรจะกล่าวได้ว่าเป็นอดีตหรือปัจจุบัน)(แต่) ปฏิสนธิของพวกอสัญญีเป็นอนารมณ์ (คือไม่มีอารมณ์) แล

ในอารมณ์ 3 นั้น อารมณ์ของปฏิสนธิแห่งสัตว์ชั้นวิญญาณนัญจายตนะและชั้นเนวสัญญาสัญญายตนะ เป็นอตีตารมณ์อย่างเดียว แห่งสัตว์ชั้นกามาวจร 10 เป็นอตีตารมณ์บ้าง เป็นปัจจุปปันนารมณ์บ้าง แห่งสัตว์ที่เหลือเป็นนวัตตัพพารมณ์แท้

อนึ่ง ปฏิสนธิที่เป็นไปในอารมณ์ 3 อยู่ดังนี้ ก็ย่อมเป็นไปในลำดับแห่งจุติจิต ซึ่งมีอารมณ์เป็นอตีตารมณ์บ้าง เป็นนวัตตัพพารมณ์บ้างเท่านนั้น เพราะธรรมดาว่าจุติจิตเป็นปัจจุปปันนารมณ์หามีไม่ เหตุใด เพราะเหตุนั้น บัณฑิตจึงควรทราบอาการเป็นไปแห่งปฏิสนธิอันมีอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่งในอารมณ์ 3 ในอันดับแห่งจุติ ซึ่งมีอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่งในอารมณ์ 2 ด้วยอำนาจแห่งสุคติและทุคติ (ต่อไป) ข้อนี้เป็นฉันใด

(หน้าที่ 177)

อันดับแรก บาปกรรมตามที่ตนสะสมไว้บ้าง กรรมนิมิตบ้าง ย่อมมาสู่คลองในมโนทวาร ของบุคคลผู้ตั้งอยู่ในสุคติชั้นกามาวจร (แต่) เป็นคนมีบาปกรรม ซึ่ง (เจ็บหนัก) นอนอยู่บนเตียงมรณะ (ทั้งนี้) โดยบาลีว่า "ในสมัยนั้น กรรมทั้งหลาย (ที่ตนทำไว้ก่อน) นั้น ย่อมเกาะอยู่ (ในจิต) ของบุคคล (ผู้ใกล้ตาย) นั้น" ดังนี้เป็นต้น จตุจิตทำอารมณ์แห่งภวังค์ ให้เป็นอารมณ์เกิดขึ้นในลำดับแห่งชวนวิถีอันปรารภกรรมหรือกรรมนิมิตนั้นเกิดขึ้น มีตทารัมมณะเป็นสุดท้าย ครั้นจุติจิตนั้นดับแล้ว ปฏิสนธิจิตอันกำลังแห่งกิเลสที่ยังตัดไม่ได้ชักนำถลำเข้าไปทางทุคติ ก็ปรากฏกรรมหรือกรรมนิมิตที่มาปรากฏ (มโนทวาร) นั้นและเกิดขึ้น นี่เป็นปฏิสนธิ มีอารมณ์เป็นอดีต (เกิด) ในลำดับแห่งจุติซึ่งมีอารมณ์เป็นอดีต (ด้วยกัน)

ในมรณสมัย (เวลาใกล้จะตาย) ทุคตินิมิตมีวรรณรูปแห่งเปลวเพลิงเป็นต้น ในทุคติทั้งหลายมีนรกเป็นอาทิ ย่อมมาปรากฏในมโนทวารของบุคคลผู้มีบาปกรรมอีกคนหนึ่ง ด้วยอำนาจแห่งกรรมมีประการดังกล่าวแล้ว ครั้นภวังคจิตเกิดขึ้นแล้วดับไป 2 วาระ วิถีจิต 3 ดวง คือ อาวัชชนะ 1 ชวนะ (เพียง) 5 เพราะเป็นจิตมีกำลังอ่อนด้วยความที่มรณะใกล้เข้ามา ตทารัมมณะ 2 ปรารภอารมณ์นั้นเกิดขึ้นแก่บุคคลนั้น ต่อนั้นจุติจิต 1 ดวงทำอารมณ์ของภวังค์ให้เป็นอารมณ์เกิดขึ้น ก็และขณะจิต 15 คือ ภวังค์ 2 อาวัชชนะ (1) ทัสสนะ (เห็น 1) สัมปฏิจฉนะ (1) สันตีรณะ (1) โวฏฐัพพนะ (1) ชวนะ 5 ตทารัมมณะ 2 จุติจิต 1 เพียงนั้นนับว่าเป็นอดีต ลำดับนั้น ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้นในอารมณ์นั้นนั่นแหละ ซึ่งมีอายุชั่วขณะจิต 1 ที่เหลือ แม้ปฏิสนธินี้เป็นปฏิสนธิมีอารมณ์เป็นปัจจุบัน (เกิด) ในลำดับแห่งจุติซึ่งมีอารมณ์เป็นอดีต

นี่เป็นอาการเป็นไปแห่งทุคติปฏิสนธิ อันมีอารมณ์เป็นอดีตบ้าง ปัจจุบันบ้าง (เกิด) ในลำดับแห่งสุคติจุติ ซึ่งมีอารมณ์เป็นอดีตเท่านี้ก่อน

สำหรับผู้ตั้งอยู่ในทุคติ (แต่) มีกรรมอันไม่มีโทษได้สั่งสมไว้คำทั้งปวงบัณฑิตก็พึงทราบโดยนัยก่อนนั้นแล โดยบรรจุคำฝ่ายขาวลง (แทน) ในคำฝ่ายดำ เช่นว่า "กรรมไม่มีโทษนั้นบ้าง กรรมนิมิตบ้าง ย่อมมาปรากฏในมโนทวารเป็นต้นตามนัยก่อนเกิด นี่เป็นอาการเป็นไปแห่งสุคติ และปฏิสนธิอันมีอารมณ์เป็นอดีตและปัจจุบัน (เกิด) ในลำดับแห่งทุคติจุติ ซึ่งมีอารมณ์เป็นอดีต

(หน้าที่ 178)

ข้างฝ่ายผู้ตั้งอยู่ในสุคติมีกรรมอันไม่มีโทษได้สั่งสมไว้ (เจ็บหนัก) นอนอยู่บนเตียงมรณกรรมไม่มีโทษตามที่ได้สั่งสมไว้บ้าง กรรมนิมิตบ้าง ย่อมมาปรากฏในมโนทวาร (ทั้งนี้) โดยพระบาลี (กล่าวไว้) ว่า "ในสมัยนั้นอนวัชชกรรมทั้งหลาย (ที่ตนสั่งสมไว้ก่อน)นั้นย่อมเกาะอยู่ (ในจิต) ของบุคคล (ผู้ใกล้ตาย) นั้น "ดังนี้เป็นต้น ก็แต่ว่าข้อที่ไม่กำหนดแน่งว่าอนวัชชกรรมหรือกรรมนิมิตจะมาปรากฏทางมโนทวารนั้น สำหรับผู้สั่งสมอนวัชชกรรมฝ่ายกามาวจรไว้เท่านั้น ส่วนผู้สั่งสมมหัคคตกรรมไว้ มีแต่กรรนิมิตอย่างเดียวมาปรากฏทาง (มโนทวาร) จุติจิตทำอารมณืแห่งภวัง5ให้เป็นอารมณ์เกิดขึ้นในลำดับแห่งชวนวิถีมีตทารัมมณะเป็นสุดท้ายหรือชวนวิถีล้วน (ไม่มีตทารัมมณะ) ซึ่งปรารภกรรมหรือกรรมนิมิตนั้นเกิดขึ้น ครั้นจุติจิตนั้นดับไปแล้ว ปฏิสนธิจิตอันกำลังแห่งกิเลสที่ยังตัดไม่ได้ชักนำเข้าไปทางสุคติ ก็ปรารภกรรมหรือกรรมนิมิตที่ปรากฏทาง (มโนทวาร) นั้นแลเกิดขึ้น นี่เป็นปฏิสนธิเป็นอตีตารมณ์บ้าง เป็นนวัตตัพพารมณ์บ้าง (เกิด) ในลำดับแห่งจุติซึ่งเป็นอารมณ์

บุคคลมีอนวัชชกรรมได้สั่งสมไว้อีกผู้หนึ่ง ในมรณะสมัย มีสุคตินิมิตได้แก่วรรณรูปแห่งท้องมารดาในมนุษย์โลกบ้าง ได้แก่วรรณรูปแห่งอุทยาน วิมานและกัลปพฤกษ์เป็นต้นในเทวโลกบ้างมาปรากฏในมโนทวาร ด้วยอำนาจแห่งอนวัชชกรรมกามาวจร ปฏิสนธิเกิดแก่บุคคลนั้นในลำดับแห่งจุติจิตตามลำดับจิตที่แสดงมาแล้วใน (ตอนว่าด้วย) ทุคตินิมิตนั่นแลนี้เป็นปฏิสนธิที่เป็นปัจจุบันอารมณ์ (เกิด) ในลำดับแห่งจุติซึ่งเป็นอตีตารมณ์

อีกผู้หนึ่ง ในมรณสมัย พวกญาติบอกว่า "นี่แนะพ่อ พุทธบูชาเราทำเพื่อประโยชฯแก่ท่าน ทานจงยังจิตให้เลื่อมใสเถิด" แล้วนำรูปารมณ์โดยเป็นเครื่องบูชามีช่อดอกไม้และธงไชยธงแผ่นผ้าเป็นต้นบ้าง สัททารมณ์โดยเป็นการฟังธรรมและการบูชาด้วยเสียงดนตรีเป็นต้นบ้าง คันธารมณ์โดยเป็นกลิ่นธูปและเครื่องอบเป็นต้นบ้าง รสารมณ์โดยเป็นเครื่องลิ้มมีน้ำผึ้งและน้ำอ้อยเป็นต้น (โย) บอกว่า "แน่ะพ่อ เชิญท่านชิมนี่ดู เป็นไทยธรรม ที่เราจะพึงให้เพื่อประโยชน์แก่ท่าน" ดังนี้บ้าง โผฏฐัพพารมณ์ โดยเป็นผ้ามีผ้าเมืองจีนและผ้าเมืองแขกเป็นต้น (โดย) บอกว่า "แน่ะพ่อ เชิญแตะนี่ดู เป็นไทยธรรมที่เราจะพึงให้เพื่อประโยชน์แก่ท่าน" ดังนี้บ้าง (น้อม) เข้าไปให้ด้วยความที่มรณะใกล้เข้ามาและตทารัมมณะ 2 เกิดขึ้นแก่บุคคลนั้นในที่สุดแห่งโผฏฐัพพะที่เกิดขึ้นตามลำดับในอารมณ์มีรูปเป็นต้น ที่มาปรากฏทางทวารนั้น ต่อนั้นจุติจิตดวงที่ 1 ทำอารมณ์แห่งภวังค์ให้เป็นอารมณ์เกิดขึ้น ใน

(หน้าที่ 179)

ที่สุดแห่งจุติจิตนั้น ปฏิสนธิจิตก็เกิดขึ้นในอารมณ์นั้นแหละ ซึ่งตั้งอยู่ชั่วขณะจิตเดียว แม้ปฏิสนธินี้ก็เป็นปฏิสนธิเป็นปัจจุบันในอารมณ์ (เกิด) ในลำดับแห่งจุติซึ่งเป็นอตีตารมณ์

ส่วนอีกผู้หนึ่งสถิตอยู่ในสุคติสำหรับบุคคลผู้ได้มหัคตวิบากด้วยอำนาจฌานมีปฐวีปสิณฌานเป็นอาทิ ในมรณสมัย กามาวจรกุศลกรรม กรรมนิมิต คตินิมิตอย่างใดอย่างหนึ่งบ้าง นิมิตเป็นปฐวีกสิณเป็นต้นหรือ มหัคคตจิต มาปรากฏในมโนทวาร หรือมิฉะนั้นอารมณืประณีตอันเป็นเหตุเกิดกุศลมาปรากฏในจักขุทวารหรือโสตทวารอันใดอันหนึ่ง ชวนะ (เพียง) 5 เพราะเป็นจิตมีกำลังอ่อนด้วยความที่มรณะใกล้เข้ามาเกิดขึ้นแก่บุคคลผู้นั้น ในที่สุดแห่งโผฏฐัพพะที่เกิดขึ้นตามลำดับ เพราะตทารัมมณะย่อมไม่มีแก่บุคคลผู้เข้าถึงคติมหรคตทั้งหลาย เหตุนั้น จุติจิตดวง 1 จึงทำอารมณ์แห่งภวังค์ให้เป็นอารมณ์เกิดขึ้นในลำดับแห่งชวนะนั่นเอง ในที่สุดจุติจิตนั้น ปฏิสนธิจิตนั้นมีอารมณ์ตามที่เข้ามาปรากฏอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นอารมณ์หยั่งเข่าในสุคติเป็นกามาวจรหรือมหัคคตะ สถานใดสถานหนึ่งแล้วก็เกิดขึ้น

นี่เป็นปฏิสนธิเป็นอตีตารมณื ปัจจุบันอารมณ์ และนวัตตัพพารมณ์ (เกิด) ในลำดับแห่งสุคติจุติซึ่งเป็นนวัตตัพพารมณ์ แม้ปฏิสนธิเป็นอตีตารมณ์ นวัตตัพพารมณ์ ปัจจุบันอารมณ์ (เกิด) ในลำดับแห่งสุคติจุติซึ่งเป็นอตาตารมณ์ นวัตตัพพารมณ์

ฝ่ายผู้มีบาปกรรมอยู่ในทุคติ (ในมรณสมัย) ย่อมมีกรรม (ที่ทำไว้) นั้นบ้าง กรรมนิมิตบ้าง คตินิมิตบ้าง มาปรากฏในมโนทวาร หรือมิฉะนั้นอารมณ์ที่เป็นอารมณ์ที่เป็นเหตุเกิดอกุศลมาปรากฏในปัญจทวาร โดยนัยที่กล่าวแล้วนั่นแล ต่อนั้น ในที่สุดแห่งจุติตามลำดับ ปฏิสนธิจิตมีอารมณ์เหล่านั้นอย่างใดอย่างหนึ่งเป้นอารมณ์ ตกไปทางทุคติก็เกิดขึ้นแก่เขา นี่เป็นอาการเป็นไปแห่งปฏิสนธิที่เป็นอตีตารมณ์ ปัจจุบันอารมณ์ (เกิด) ในลำดับแห่งทุคติจุติซึ่งเป็นอตีตารมณ์แล

ปฏิสนธิวิญญาณ

ความเป็นไปด้วยอำนาจปฏิสนธิแห่งวิญญาณทั้ง 19 ดวงเป็นอันแสดงเพียงเท่านี้

วิญญาณทั้งสิ้นนี้นั้นปฏิสนธิวิญญาณ เมื่อเป็นไปในปฏิสนธิดังกล่าวมานั้น ย่อมเป็นไปด้วยกรรม 2 แผนกและมีประเภทต่าง ๆ เช่นประเภท 2 เป็นต้น โดยประเภททั้งหลาย มีประเภทผสมเป็นอาทิ

(หน้าที่ 180)

ขยายความ

แท้จริง วิปากวิญญาณทั้ง 9 ดวงนี้ เมื่อเป็นไปในปฏิสนธิย่อมเป็นไปด้วยกรรม 2 แผนกด้วยกัน ด้วยว่า ชนกกรรมย่อมเป็นปัจจัย โดยเป็นกรรมปัจจัยอันเป็นไปในขณะต่างๆกัน 1 โดยเป็นอุปนิสสยปัจจัย 1 แก่วิปากวิญญาณนั้นตามที่เป็นของตน สมคำบาลีว่า "กุศลกรรมและอกุศลกรรมเป็นปัจจัยโดยเป็นอุปนิสสยปัจจัยแก่วิบาก" ดังนี้

อนึ่ง พึงทราบประเภทมีประเภท 2 เป็นต้น โดยประเภททั้งหลายมีประเภทผสมกันเป็นอาทิ วิปากวิญญาณนี้แม้เป็นไปอยู่อย่างเดียวด้วยอำนาจปฏิสนธิ (แต่) เป็น 2 โดยแยกเป็นประเภทผสมกับรูปและประเภทไม่ผสมกับรูป เป็น 3 โดยแยกเป็นกามภพ รูปภพ อรูปภพ เป็น 4 โดยกำเนิดอณฑชะ ชลาพุชะ สังเสทชะ โอปปาติกะ เป็น 5 โดยคติเป็น 7 ฝดดยวิญญาณฐิติ เป็น 9 โดยสัตตวาส

วิญญาณผสม

ในวิญญาณผสมและไม่ผสมนั้น วิญญาณผสมเป็น 2 โดยต่างแห่งภาวะ และในภาวะประเภทนั้นเล่าวิญญาณ ที่มีภาวะก็เป็น 2 (รูปกลาป) ทสกะ 2 หรือ 3 บ้างเป็นอย่างต่ำ ย่อมเกิดพร้อมกับวิญญาณประเภทต้น (คือ วิญญาณผสม)

ขยายความ

ข้อว่า วิญญาณผสมเป็น 2 โดยต่างแห่งภาวะ นั้น ความว่า ก็ในวิญญาณผสมและไม่ผสมนี้ ปฏิสนธิกับวิญญาณที่ผสมกับรูปนั้นใดเกิดขึ้น (ในภพ) เว้นแต่อรูปภพ ปฏิสนธิวิญญาณผสมนั้นย่อมมีเป็น 2 คือมีภาวะ (1) ไม่มีภาวะ (1) เพราะเกิดขึ้นเว้นจากภาวะกล่าวคืออิตถินทรีย์ในรูปภพ เว้นแต่ปฏิสนธิของคนกะเทยโดยกำเนิด

(หน้าที่ 181)

ข้อว่า และในภาวะประเภทนั้นเล่า วิญญาณที่มีภาวะก็เป็น 2 อธิบายและแม้ในภาวะประเภทนั้นเล่า ปฏิสนธิใดมีภาวะ ปฏิสนธิวิญญาณนั้นก็เป็น 2 เหมือนกัน เพราะเกิดขึ้นพร้อมกับอิตถีภาวะ หรือปุริสภาวะอย่างใดอย่างหนึ่ง

ข้อว่า (รูปกลาป) 2 หรือ 3 เป็นอย่างต่ำ ย่อมเกิดพร้อมกับวิญญาณประเภทต้น มีอรรถาธิบายว่า ก็ (รูปกลาป) ทสกะ 2 โดยเป็นวัตถุทสกะและกายทสกะ หรือทสกะ 3 โดยเป็นวัตถุทสกะ กายทสกะและภาวทสกะบ้างเป็นอย่างต่ำ ย่อมเกิดขึ้นพร้อมกับ ปฏิสนธิวิญญาณที่ผสมกับรูป อันเป็นประเภทต้น ใน 2 ประเภท คือผสม (และ) ไม่ผสมนั้นรูป (กลาป) ลดลงไปยิ่งกว่านี้ไม่มี

ก็แลปฏิสนธิวิญญาณที่มีปริมาณรูปกลาปอย่างต่ำดังกล่าวนี้นั้น เมื่อเกิดขึ้นย่อมเกิดเป็นสิ่งที่ได้ชื่อว่า "กลละ" อันมีประมาณเท่า (หยด) หัวเนยใสที่ใช้ขนแกะเส้นหนึ่ง (จุ่ม) ยกขึ้นในกำเนิด 2 ที่มีชื่อว่า อัณฑะชะและชลาพุชะ ในกำเนิดและคติเหล่านั้น บัณฑิตพึงทราบความมีขึ้นแห่งกำเนิดทั้งหลายที่แตกต่างกันด้วยอำนาจแห่งคติ (ดังต่อไปนี้)

กำเนิด

ก็ในกำเนิดทั้งหลายนั้น กำเนิด 3 ข้างต้น ย่อม

ไม่มีในนรกและในพวกเทพ เว้นภุมเทพ กำเนิดทั้ง 4

ย่อมมีในคติ 3

ขยายความ

ในบทเหล่านั้นด้วย จ ศัพท์ในบทว่า "เทเวสุ จ" กำเนิด 3 ข้างต้นพึงทราบว่า ไม่มีในนรกและในพวกเทพเว้นภุมเทพฉันใด ก็ย่อมไม่มีในพวกนิชฌามตัณหิกเปรตด้วยฉันนั้น เพราะพวกนิชฌามตัณหิกเปรตนั้น ก็เป็นโอปปาติกะเหมือนกัน ส่วนในคติ 3 ที่เหลืออันได้แก่ดิรัจฉาน เปรตวิสัย มนุษย์ในพวกภุมเทพที่เว้นไว้ก่อนด้วย ย่อมมีกำเนิด (ครบ) ทั้ง 4

(หน้าที่ 182)

รูปกลาป

ในคติและกำเนิดเหล่านั้น รูป 30 และ 9 ย่อมกำเนิด

ในพวกรูปพรหม อนึ่ง โดยกำหนดอย่างสูง รูป 70 ย่อม

เกิดในสัตว์จำพวกที่เกิดในกำเนิดสังเสชะอุปปาตะ

อีกอย่างหนึ่ง โดยกำเนิดอย่างต่ำ รูป 30 ย่อมเกิด

ขยายความ

อันดับแรก รูป 30 และ 9 ด้วยอำนาจแห่งกลาป 4 คือจักขุทสกะ โสตทสกะ วัตถุทสกะและชีวิตนวกะ ย่อมเกิดขึ้นพร้อมกับปฏิสนธิวิญญาณ ในเหล่าสัตว์ผู้กำเนิดเป็นโอปปาติกะในจำพวกรูปพรหม ส่วนว่าโดยกำหนดอย่างสูง รูป 70 ด้วยอำนาจแห่ง (กลาป 7 คือ) จักขุทสกะ โสตทสกะ ฆานทสกะ ชิวหาทสกะ กายทสกะ วัตถุทสกะ และภาวทสกะ ย่อมเกิดขึ้นพร้อมด้วยปฏิสนธิวิญญาณ ในเหล่าสัตว์ที่เกิดในกำเนิดสังเสทชะและโอปปาติกะจำพวกอื่นเว้นจำพวกรูปพรหม อนึ่ง รูปทั้ง 70 นั้นย่อมเกิดขึ้นในจำพวกเทพเป็นนิตย์

ในทสกะเหล่านั้นร กลุ่มรูปมีปริมาณรูป 10 นี้ คือ สี กลิ่น รส โอชา อีกธาตุ 4 จักขุประสาท และชีวิต ชื่อว่าจักขุทสกะ (10 ทั้งจักษุ) ทสกะที่เหลือก็พึงทราบโดยนัยดังนี้

ส่วนว่าโดยอย่างต่ำ รูป 30 ด้วยอำนาจแห่ง (กลาป 3 คือ) ชิวหาทสกะ กายทสกะ และวัตถุทสกะ ย่อมเกิดขึ้นแก่คนตาบอดแต่กำเนิด คนหูหนวกแต่กำเนิด คนจมูกด้วน (ไม่มีฆานประสาท) แต่กำเนิดและคนกะเทยแต่กำเนิด อนึ่ง พึงทราบการกำหนด (รูปกลาป) ในระหว่างปริมาณรูปอย่างอย่างต่ำ (คือในระหว่างรูป 70 และ 30) ตามควรเถิด

จุติปฏิสนธิแปลก ๆ

ครั้นทราบอย่างนี้แล้วพึงกำหนดรู้ความแปลกแห่ง

ความแตกต่างและไม่แตกต่างแห่งจุติและปฏิสนธิ โดย

ขันธ์ อารมณ์ คติ เหตุ เวทนา ปีติ วิตกและวิจาร (ต่อไป) อีก

(หน้าที่ 183)

ขยายความ

ความแห่งคาถานั้นว่า "ก็ปฏิสนธิ 2 อย่างโดยเป็นปฏิสนธิ 2ผสมและปฏิสนธิไม่ผสมนั้นใด และจุติอันมีในลำดับที่เป็นอดีตแห่งปฏิสนธินั้นใด พึงทราบความแปลกแห่งความแตกต่างและไม่แตกต่างแห่งปฏิสนธิและจุตินั้น โดยขันธ์เป็นต้นเหล่านี้" แปลกอย่างไร ? ก็บางทีปฏิสนธิอันมีขันธ์ 4 ไม่แตกต่างกัน (กับจุติ) แม้โดยอารมณ์ มีขึ้นในลำดับแห่งอรูปจุติที่มีขันธ์ 4 (เหมือนกัน) ก็มี บางทีปฏิสนธิมีอารมณ์เป็นมหัคคตะและเป็นภายใน มีขึ้นในลำดับแห่งจุติที่มีอารมณ์ไม่เป็นมหัคคตะและเป็นภายนอกก็มี นี่เป็นนัยในพวกรูปภูมิเท่านั้นก่อน

อนึ่ง บางทีกามาวจรปฏิสนธิอันมีขันธ์ (ครบ) 5 มีในลำดับแห่งอรูปจุติที่มีขันธ์ 4 (คือจุติจากอรูปภูมิมาปฏิสนธิในกามาวจรภูมิ) ก็มี บางทีอรูปปฏิสนธิที่มีขันธ์ 4 มีในลำดับแห่งกามาวจรจุติอันมีขันธ์ 5 บ้าง แห่งรูปาวจรขันธ์บ้าง (คือจุติจากกามาวจรภูมิบ้าง รูปาวจรภูมิบ้าง ไปปฏิสนธิในอรูปภูมิ) ก็มี อย่างนี้เป็นปฏิสนธิ มีอารมณ์เป็นปัจจุบัน มีในลำดับจุติมีอารมณ์เป็นอดีต

ทุคติปฏิสนธิบางอย่าง มีในลำดับแห่งสุคติจุติบางอย่าง (เช่นคนบางคนตายไปเกิดเป็นสัตว์บางชนิด) ก็มี สเหตุกปฏิสนธิมีในลำดับแห่งอเหตุกจุติ ติเหตุกปฏิสนธิมีในลำดับแห่งทุเหตุกจุติก็มี ปฏิสนธิเป็นโสมนัสสหรคตมีในลำดับแห่งจุติเป็นอุเปกขาสหรคตก็มี ปฏิสนธิประกอบด้วยปีติมีในลำดับแห่งจุติที่ไม่ประกอบด้วยปีติก็มี ปฏิสนธิมีวิตกมีในลำดับแห่งจุติที่ไม่มีวิตก ปฏิสนธิมีวิจารมีในลำดับแห่งจุติไม่มีวิจาร ปฏิสนธิที่มีทั้งวิตกและวิจาร ปฏิสนธิที่มีทั้งวิตกวิจารมีในลำดับแห่งจุติที่ไม่มีทั้งวิตกและวิจารก็มีแล

อนึ่ง พึงประกอบ (คำ) เข้าตามที่ควรประกอบได้โดยคำตรงกันข้ามแห่งบทนั้น ๆ เถิด

โดยปรมัตถ์

อันว่าวิญญาณที่ได้ปัจจัยดังกล่าวมาฉะนี้ นั่นก็

เป็นแต่ ธรรมเข้าถึงภพอื่น ความเคลื่อนมาแต่ภพนั้น

ของมันก็ไม่มี (แต่ว่า) เว้นเหตุแต่ภพนั้นเสียก็ไม่มี

(หน้าที่ 184)

(ขยายความ)

ก็วิญญาณที่ได้ปัจจัยดังกล่าวมาฉะนี้ นั่นก็เป็นแต่เพียงรูปธรรมและอรูปธรรม เมื่อเกิดขึ้นก็ (มีโวหาร) เรียกว่า เข้าถึงภพอื่น มิใช่สัตว์ มิใช่ชีวะ อีกทั้งความเคลื่อนจากอดีตภพมาในภพนี้ของมัน ก็ไม่มี แต่ว่าเว้นเหตุแต่อดีตภพนั้นเสีย ความปรากฏในภพนี้ของมันก็ไม่มี

ข้าพเจ้าทั้งหลายจักประกาศความเป็นไปแห่งวิญญาณดังกล่าวนี้นั้น โดยทางสืบปฏิสนธิ จากจุติแห่งมนุษย์ซึ่งเห็นได้ชัด

ก็ในอดีตภพ เมื่อบุคคลผู้จวนจะตายเพราความสิ้นไปเอง หรือเพราะการกระทำ (ร้าย) ก็ตาม ไม่อาจทนความรุมเอาแห่งศัสตราคือมารณัตติกเวทนา (ความเจ็บชนิดถึงตาย)ทั้งหลายซึ่งเชือดเฉือนเส้นเอ็นทั่วอวัยวะใหญ่น้อยเหลือที่จะทน ครั้รนร่างกายซูบซีดไปโดยลำดับดุจใบตาลสดที่เขาวางไว้ในแดดค่อยเหี่ยวแห้งไปฉะนั้น ครั้นอินทรีย์ทั้งหลายมีจักขุเป็นต้นดับกายินทรีย์ มนินทรีย์ มนินทรีย์และชีวิตินทรีย์คง (เหลือ) อยู่แต่ในหทยวัตถุ วิญญาณซึ่งอาศัยหทยวัตถุ (ท่า) ที่เหลืออยู่ในขณะนั้น ก็ปรารภเอาในครุกรรม (กรรมหนัก) สมาเสวิตกกรรม (กรรมที่ทำเนื่อง ๆ) อาสันนกรรม (กรรมที่ทำเมื่อใกล้ตาย) ปุพเพกตกรรม (กรรมที่ทำไว้แต่ปางก่อน) อย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งได้แก่สังขารอันได้ปัจจัยที่เหลือ (มีอวิชชาเป็นต้น แล้วหรือปรารภเอา) วิสัย (คือวรรณรูปารมณ์) ซึ่งได้แก่กรรมนิมิต คตินิมิตอันเข้าไปปรากฏแก่วิญญาณนั้นเป็นไปตัณหาในวิสัยนั้นอันมีโทษที่อวิชชาปกปิดไว้ เพราะยังละตัณหาอวิชชาไม่ได้ ก็ชักเอาวิญญาณที่เป็นไปอยู่อย่างนี้นั้นไป สังขาร (คือเจตนา) ที่เกิดร่วมกันก็ (ช่วย) ชัด (วิญญาณนั้น) ไปวิญญาณที่ถูกตัณหาซัดไป ถูกสังขารทั้งหลายซัดไปด้วยอำนาจแห่งสันตติอยู่นั้น ก็ละทิ้งที่อาศัย (คือหทัยวัตถุ) เดิมด้วย ไดที่อาศัยใหม่อันกรรมสร้างขึ้นบ้าง ไม่ได้บ้าง เป็นไปด้วยปัจจัยทั้งหลายมีอารมณ์เป็นต้นเท่านั้นด้วย ดุจคนหน่วงเชือกซึ่งผูกต้นไม้ที่ฝั่งในไว้ข้ามคลองไปฉะนั้นแล

ก็แล ในวิญญาณที่เป็นไปนี้ วิญญาณดวงก่อนเรียกว่าจุติวิญญาณเพราะเคลื่อนไปดวงหลังเรียกว่าปฏิสนธิวิญญาณ เพราะสืบต่อมาแต่เบื้องต้นแห่งภพอื่น อันว่าวิญญาณนี้นั้น บัณฑิตพึงทราบเถิดว่า มันมา ณ ภพนี้จากภพก่อนหามิได้ อีกทั้งเว้นเหตุมีกรรม สังขารตัณหาผู้ซักและวิสัยเป็นต้นจากภพก่อนนั้นเสีย มันก็ปรากฏมีขึ้นหาได้ไม่

(หน้าที่ 185)

อุปมาเทียบเคียงจุติปฏิสนธิ

ธรรมทั้งหลายมีเสียงสะท้อนเป็นต้น พึงเป็น

อุปมาในข้อนี้ได้ อนึ่ง เพราะความเนื่องกันในสันดาน

(คือการสืบต่อ) ความเป็นอันเดียวกันจึงไม่มี ทั้งความ

ต่างกันก็ไม่มีด้วย

ขยายความ

แท้จริง ธรรมทั้งหลายมีประการคือเสียงสะท้อน ประทีป ตราและรูปสะท้อน (คือเงา) พึงเป็นอุปมาในข้อนี้ คือ

ในความที่วิญญาณภพก่อนมิได้มายังภพนี้ และในความเกิดขึ้นด้วยเหตุที่เนื่องมาแต่ภพอดีตแห่งวิญญาณนั้น เหมือนอย่างว่าเสียงสะท้อน ประทีป ตรา และเงาย่อมมีเสียงเป็นต้นเป็นเหตุจึงมี เว้นเสียงเป็นต้นเสีย ก็หาไปมิได้ฉันใด จิตนี่ก็ฉันนั้นเหมือนกัน อนึ่ง ในข้อนี้ เพราะเนื่องในความสันดาน (คือการสืบต่อ) ความเป็นอันเดียวกันจึงไม่มี ทั้งความต่างกันก็ไม่มีด้วย จริงอยู่ ผิว่าความเนื่องกันในสันดาน (คือการสืบต่อ) ความเป็นอันเดียวกันจึงมี ทั้งความต่างกันก็ไม่มี ด้วย จริงอยู่ ผิว่าเมื่อความเนื่องกันในสันดาน (คือการสืบต่อ) มีอยู่ ความเป็นอันเดียวกันอย่างเด็ดขาดจะพึงมีไซร้ นมส้มก็ไม่ใช่เป็นสิ่งเกิดมาแต่นมสดนะซิ แม้ความต่างกันอย่างเด็ดขาดจะพึงมีเล่า นมส้มก็ไม่ใช่เป็นสิ่งอาศัยนมสดนะซิ

นัยการประกอบความในสิ่งที่เป็นเหตุและที่เกิดแต่เหตุ (คือผล) ทั้งปวง ก็นัยนี้ เพราะเมื่อเป็นอย่างนั้น (คือเมื่อถือว่าเหตุกับผลเป็นอันเดียวกันหรือต่างกันเป็นคนละอันเด็ดขาดไปอย่างใดอย่างหนึ่งเช่นนั้น) การลบล้างโวหารของโลกทั้งปวงก็จะมีขึ้น แต่การลบล้างโวหารของโลกนั้น บัณฑิตไม่ปรารถนา เพราะเหตุนั้น ความเป็นอันเดียวกันหรือว่าความต่างกันเด็ดขาดในสิ่งที่เป็นเหตุและผลอันเนื่องกันในสันดานทั้งหลายนี่ บัณฑิตจึงไม่ควรข้องแวะ (คืออย่าใส่ใจ) แล

คำท้วง

ในข้อนี้ (มี) โจทกาจารย์ (ผู้ท้วง) กล่าวว่า "เมื่อเป็นความปรากฏ (เกิดขึ้นแห่งวิญญาณ) โดยมิได้เลื่อนมา (แต่ภพก่อน) อย่างนั้น เพราะขันธ์ทั้งหลายที่มีอยู่ในอัตภาพมนุษย์นี้ดับไป

(หน้าที่ 186)

และเพราะกรรมที่เป็นปัจจัยแห่งผลไม่ไปในที่เกิดขึ้นแห่งผลนั้น ผลนั้นก็มิ (ไป) มีแก่ผู้อื่นและแต่กรรมอื่นหรือ อนึ่ง เมื่อผู้เสวย (ผล) ไม่มี ผลนั้นก็พึงมีแก่ใครเล่า เพราะเหตุนั้นวิธาน (คือกฏเกณฑ์) อันนี้ไม่ดีดอก"

ในคำท้วงนั้น ข้าพเจ้าจะเฉลยต่อไปนี้

สันดาน

ผล (แห่งกรรม) ที่มีในสันดาน (คือการสืบต่อกันอัน

หนึ่ง) หา (ไป) มีแก่ผู้อื่นไม่ และหามีแต่กรรมอื่นไม่

อภิสังขาร (สภาพที่ปรุงแต่ง) แห่งพืชทั้งหลาย เป็น

สาธกแห่งความข้อนี้ได้

ขยายความ

แท้จริง ผล (แห่งกรรม) เมื่อเกิดขึ้นในสันดานอันหนึ่ง (ถึงแม้) เพราะความเป็นอันเดียวกันและความต่างกันเด็ดขาดอันหนึ่งนั้นปฏิสนธิ ก็หา (กลาย) เป็นว่า (ไป) เกิดแก่ผู้อื่น หรือเป็นว่าเกิดแต่กรรมอื่น (ไป) ไม่ ก็อภิสังขาร (สภาพที่ปรุงแต่ง) แห่งพืชทั้งหลายเป็นสาธกความแห่งคำนี้ได้ จริงอยู่ เมื่ออภิสังขารทั้งหลายแห่งพืชทั้งหลายมีพืชมะม่วงเป็นต้น อันธรรมชาติทำให้แล้ว ผลต่าง ๆ เมื่อเกิดขึ้นในกาลอื่น (ภายหลัง) เพราะได้ปัจจัยในสันดานแห่งพืชนั้น ก็หาเกิดขึ้นแก่พืชอื่น ๆ ไม่ ทั้งหาใช่เกิดเพราะปัจจัยคืออภิสังขารอื่นไม่ แต่ว่าพืชเหล่านั้นหรืออภิสังขารทั้งหลาย ก็หา (ไป) ถึงที่เกิดผลไม่ ข้ออุปไมยบัณฑิตก็พึงทราบฉันนั้น

อนึ่ง ความข้อนี้พึงทราบแม้โดยวิทยา ศิลปะ และโอสถเป็นต้นที่บุคคลป้อนเข้าไปในสรีระของเด็กแล้ว (ในอดีต) ให้ผลในสรีระที่เติบโตขึ้นเป็นต้น ในกาลภายหลัง ก็ได้

แม้คำใดที่โจทกาจารย์กล่าวว่า "อนึ่ง เมื่อผู้เสวย (ผล) ไม่มี ผลนั้นจะพึงมีแก่ใครเล่า" ดังนี้ ข้าพเจ้าจะเฉลยในคำนั้น (ต่อไป)

(หน้าที่ 187)

ผู้เสวย

 สมมติว่า  "มีผู้เสวย"  ที่บัญญัติขึ้นโดยอาศัยความเกิดขึ้นแห่งผล  อุปมาเหมือนสมมติว่า "ต้นไม้ให้ผล"  ที่บัญญัติขึ้นโดยอาศัยความเกิดขึ้นแห่งผลของต้นไม้ ฉะนี้

ขยายความ

อุปมาดั่งที่เรียกว่า "ต้นไม้ให้ผลอยู่" หรือ "ต้นไม้ให้ผลแล้ว" ก็บัญญัติขึ้นอาศัยความเกิดขึ้นแห่งผล ซึ่งผลนั้นก็เป็นส่วนหนึ่งแห่งธรรมทั้งหลายที่สมมติเรียกกันว่า "ต้นไม้" นั่นเอง ฉันใด, อุปไมยก็ฉันนั้น จะเรียกว่า "เทวดาหรือมนุษย์เสวย(วิบากเวทนา)" หรือ "เทวดาหรือมนุษย์มีความสุข" หรือ "เทวดาหรือมนุษย์มีความทุกข์" ทั้งหมดล้วนแต่บัญญัติโดยอาศัยความเกิดขึ้นแห่งผลคือสุขทุกข์ที่เข้าไปเสวย(อารมณ์) ซึ่งเวทนาขันธ์นั้นก็เป็นส่วนหนึ่งแห่งขันธ์ทั้งหลายที่สมมติเรียกว่า "เทวดาและมนุษย์" นั่นเอง

เพราะเหตุนั้น ในเรื่อง "ผู้เสวย" นี้ จึงไม่มีสภาวะใดเลย ที่จะได้ชื่อว่า "ผู้เสวยอื่น" (นอกจากเวทนาขันธ์).

แม้โจทกาจารย์ผู้ใดกล่าวว่า "ก็ถ้าสมมุติว่าผู้เสวยแท้จริงเป็นเพียงเวทนาขันธ์ (ปรมัตถะ) อย่างนั้น สังขารเหล่านั้น เมื่อกำลังมีอยู่ (วิชชมานะ) จึงเป็นปัจจัยแห่งผลหรือ? หรือว่าไม่ได้กำลังมีอยู่ (อวิชชมานะ) ก็เป็นปัจจัยแห่งผลได้เล่า? ก็ถ้ากำลังมีอยู่จึงเป็นปัจจัยได้ไซร้ วิบากของมันก็จะพึงมีแต่ในปวัตติขณะ (คือในขณะที่สังขารเป็นไปอยู่) เท่านั้น? ถ้าแม้นไม่จำเป็นต้องกำลังมีอยู่มันก็เป็นปัจจัยได้เล่า มันก็จะพึงนำผลมาให้ได้เป็นนิตย์ไป ทั้งในขณะก่อนปวัตติ (คือในขณะทำกรรม) ทั้งภายหลังปวัตติ (คือเมื่อให้ผลสำเร็จแล้ว) ละซิ?" ดังนี้ โจทกาจารย์ผู้นั้นพึงได้รับเฉลยดังนี้

เพราะความที่ได้ให้ผลแล้ว สังขารทั้งหลายนั้นจึงชื่อว่าเป็น เป็นปัจจัย  (แห่งผล),  แต่สังขารนั้นไม่ได้นำผลมาให้เป็นนิตย์  
กิริยามีการรับประกันเป็นต้น  พึงทราบว่า  เป็นอุปมาในข้อนั้นได้

(หน้าที่ 188)

ขยายความ

แท้จริง สังขารทั้งหลายเป็นปัจจัยแห่งผลของตน เพราะเคยทำกรรมไว้แล้วเท่านั้น, สังขารไม่ได้เป็นปัจจัยแห่งผลของตน เพียงเพราะมันกำลังมีอยู่หรือมันไม่ได้กำลังมีอยู่ ดังบาลีว่า "เพราะกามาวจรกุสลกรรมเคยทำไว้แล้ว เคยสั่งสมไว้แล้ว วิบากจักขุวิญญาณจึงเกิดขึ้นได้" ดังนี้เป็นต้น. และเมื่อสังขารเป็นปัจจัยแห่งผลของตนตามสมควรแล้ว ก็จะไม่เป็นปัจจัยนำผลมาให้อีก เพราะเป็นวิบากชาติ. พึงทราบกิริยามีการรับประกันเป็นต้นไว้เป็นอุปมาในการอธิบายความข้อนั้นดังนี้ เหมือนอย่างทางโลก คนผู้ใดรับสิ่งของมาเพื่อประกันสิ่งของอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือรับของแลกเปลี่ยนมา หรือรับเงินกู้มาก็ตาม ก็เพียงแต่การทำกิริยา(รับประกัน,รับของแลกเปลี่ยน,รับเงินกู้)นั้นแห่งคนผู้นั้นเท่านั้น ที่เป็นปัจจัยในคืนเบี้ยประกัน เป็นต้น (ในการให้ของแลกกลับ,ในการคืนเงินต้น) ไม่เกี่ยวกับว่าจะกำลังทำกิริยาอยู่ หรือ ไม่ได้ทำกิริยาอยู่ และเขาก็ไม่ใช่คนที่ต้องคืนเบี้ยประกัน เป็นต้น (ให้ของแลกกลับ,คืนเงินต้น) หลังจากเขาคืนเบี้ยประกัน เป็นต้น ไปแล้วด้วย เพราะอะไร เพราะการคืนเบี้ยประกัน เป็นต้น เขาได้ทำไปแล้ว ฉันใด, แม้สังขารทั้งหลายก็เป็นปัจจัยแห่งผลของตน เพราะเคยทำกรรมไว้แล้วเท่านั้น และหลังจากให้ผลตามควรไปแล้ว มันก็ไม่เป็นปัจจัยนำผลมาให้อีกต่อไป ฉันนั้นแล

ความเป็นไปแห่งปฏิสนธิวิญญาณอันเป็นไปทั้งสองส่วน โดยเป็นวิญญาณผสมและไม่ผสม เพราะปัจจัยคือสังขารเป็นอันแสดงแล้วด้วยนิทเทสกถาเพียงเท่านี้

บัดนี้ เพื่อกำจัดเสียซึ่งความเลือนหลงในวิปากวิญญาณ 32 ทั้งหมดนั่น

บัณฑิตพึงเข้าใจสังขารทั้งหลายนั่น (ว่า) เป็น

ปัจจัยแห่งวิปากวิญญาณเหล่าไรและอย่างไร ในแหล่ง

เกิดทั้งหลายมีภพเป็นต้น ด้วยอำนาจ (คือหลักบังคับ)

แห่งปฏิสนธิและปวัตติ

ขยายความ

ความในคาถานั้นว่า แหล่งเกิดเหล่านี้คือ ภพ 3 กำเนิด 4 คติ 5 วิญญาณฐิติ 7 สัตตาวาส 9 ชื่อว่าแหล่งเกิดภพเป็นต้น สังขารทั้งหลายนั้น ย่อมเป็นปัจจัยแห่งวิปากวิญญาณ

(หน้าที่ 189)

เหล่าไรใน (ตอน) ปฏิสนธิและปวัตติกาล ในแหล่งเกิดทั้งหลายมีภพเป็นต้นเหล่านั้น แลมันเป็นปัจจัยด้วยประการใด บัณฑิตพึงทราบด้วยประการนั้นเถิด

พรรณนาความ

ในสังขารทั้งหลายนั้น พรรณนาปุญญาภิสังขารก่อน

ปุญญาภิสังขารประเภท (กุศล) เจตนา 8 ฝ่ายกามาวจร (ว่า) โดยไม่แยก (ประเภท) กัน ย่อมเป็นปัจจัยโดยส่วนสอง คือโดยเป็นกรรมปัจจัยในขณะต่าง ๆ ด้วย โดยเป็นอุปนิสสยปัจจัยด้วย แห่งวิปากวิญญาณ 9 ในสุคติกามภพ ในปฏิสนธิ (กาล) ปุญญาภิสังขารประเภทกุศลเจตนา 5 ฝ่ายรูปาวจร เป็นปัจจัยแก่วิปากวิญญาณ 5 แม้ในรูปภพเฉพาะในปฏิสนธิ อนึ่ง ปุญญาภิสังขารฝ่ายกามาวจรมีประเภทดังกล่าว เป็นปัจจัยโดยส่วนสองตามนัยที่กล่าวนั่นแล แห่งวิปากวิญญาณกามภูมิ 7 เว้นอเหตุกมโนวิญญาณธาตุที่สหรคตกับอุเบกขาในสุคติกามภพในปวัตติกาลไม่เป็นปัจจัยในปฏิสนธิ ปุญญาภิสังขารประเภทที่กล่าวนั้นแหละเป็นปัจจัยโดยส่วนสองอย่างนั้นเหมือนกันแห่งวิปากวิญญาณ 5 ในรูปภพ ในปวัตติกาล ไม่เป็นปัจจัยในปฏิสนธิ

ส่วนในทุคติกามภพ ปุญญาภิสังขารฝ่ายกามาวจรที่กล่าวนั้นเป็นปัจจัยโดยส่วนสองอย่างนั้นเหมือนกันแห่งวิปากวิญญาณกามภูมิทั้ง 8 ในปวัตติกาลได้ (แต่) ไม่เป็นปัจจัยในปฏิสนธิ ในทุคติกามภพนั้นในนรก ปุญญาภิสังขารฝ่ายกามาวจรนั้นก็เป็นปัจจัยในการประสบ อิฏฐารมณ์ได้ในคราวต่าง ๆเช่นคราวจาริก (เยี่ยม) นรกในพระมหาโมคคัลลานเถระเป็นต้น อนึ่ง อิฏฐารมณ์ย่อมมีได้ในพวกสัตว์ดิรัจฉานและในพวกเปรตที่มีฤทธ์มากด้วยเหมือนกัน ปุญญาภิสังขารฝ่ายกามาวจรนั้นแหละเป็นปัจจัยโดยส่วนสองอย่างนั้นเหมือนกันแห่งวิญญาณ ที่เป็นกุศลวิบากทั้ง 16 ในสุคติกามภพ ทั้งในปวัตติกาลทั้งในปฏิสนธิ แต่ (ว่า) โดยไม่แยกกัน (คือรวมกามาวจรและรูปาวจรเข้าด้วยกัน) ปุญญาภิสังขารเป็นปัจจัยโดยส่วนสองอย่างนั้นเหมือนกันแห่งวิปากวิญญาณ 10 ในรูปภพทั้งในปวัตติกาลและในปฏิสนธิด้วย

อปุญญาภิสังขารประเภทอกุศลเจตนา 12 เป็นปัจจัยโดยส่วนสองอย่างนั้นนั่นแลแห่งวิญญาณดวง 1 (คือปฏิสนธิวิญญาณ) ในทุคติกามภพ ในปฏิสนธิไม่เป็นไปในปวัตติกาล เป็น

(หน้าที่ 190)

ปัจจัยแก่อกุศลวิปากวิญญาณ 6 ในปวัตติกาล ไม่เป็นปฏสนธิ เป็นปัจจัยแก่อกุศลวิปากวิญญาณทั้ง 7 ทั้งในปวัตตกาลและในปฏิสนธิ ส่วนในสุคติกามภพ อปุญญาภิสังขารก็เป็นปัจจัยโดยส่วนสองอย่างนั่นแหละแก่อกุศลวิปากวิญญาณทั้ง 7 นั้นเป็นปวัตติกาลได้เหมือนกัน (แต่) ไม่เป็นในปฏิสนธิ ในรูปภพมันก็เป็นปัจจัยโดยส่วนสองอย่างนั่นแหละ แห่งวิปากวิญญาณ 4 ในปวัตติกาล (แต่) ไม่เป็นปฏิสนธิ ก็ว่าความที่อปุญญาภิสังขารเป็นปัจจัยในรูปภพนั้น เป็นโดยเห็นรูปที่ไม่น่าปรารถภนาและได้ยินเสียงที่ไม่น่าปรารถนาในกามาวจรภพ แ เพราะว่าในพรหมโลก อันสิ่งที่ไม่น่าปรารถนาทั้งหลายมารูปที่ไม่น่าปรารถนาเป็นต้นหามีไม่ แม้ในกามาวจรเทวโลกก็อย่างนั้น

ส่วนในอเนญชาภิสังขารเป็นปัจจัยโดยส่วนสองอย่างนั้นเหมือนกันแห่งวิปากวิญญาณ 4 ในอรูปภพ ทั้งในปวัตติกาลและปฏิสนธิกาล

สังขารเหล่านั้นเป็นปัจจัยแก่วิปากวิญญาณเหล่าใด ด้วยอำนาจแห่งปฏิสนธิและปวัตติในภพทั้งหลาย และมันเป็นปัจจัยด้วยประการใด พึงทราบด้วยประการนั้นดังกล่าวมาฉะนี้ก่อน

แม้ในกำเนิดเป็นต้น ก็พึงทราบโดยนัยนั้นเหมือนกัน (ต่อไป) นี้เป็นคำชี้แจงข้อสำคัญในกำเนิดเป็นต้นนั้นต่อไป

ก็เพราะว่าสังขารทั้งหลายนั้น อันดับแรก ปุญญาภิสังขารให้ปฏิสนธิในภพ 2 (คือกามภพและรูปภพ) แล้วยังวิบากของตนให้เกิด (อย่างใด) ก็ปฏิสนธิในกำเนิด 4 มีอัณฑชะเป็นต้น ในคติ 2 กล่าวคือเทวดาและมนุษย์ ในวิญญาณฐิติ 4 ได้แก่นานัตตกายนานัตตสัญญี (สัตว์เหล่าหนึ่งมีกายต่างกัน มีสัญญาต่างกัน) นานัตตกายเอกัตตสัญญี (สัตว์เหล่าหนึ่งมีกายต่างกันมีแต่สัญญาอย่างเดียวกัน) เอกัตตกายนานัตสัญญี (สัตว์เหล่าหนึ่งมีกายอย่างเดียวกันแต่มีสัญญาต่างกัน) เอกัตตกายเอกัตตสัญญี (สัตว์เหล่าหนึ่งมีกายเดียวกันมีสัญญาอย่างเดียวกัน) และในสัตตาวาสเพียง 4 เพราะในอสัญญีสัตตาวาสปุญญาภิสังขารนั้นปรุงแต่งแต่รูปอย่างเดียวเท่านั้น แล้วยังวิบากของตนทั้งปวงให้เกิดอย่างเดียวกันนั้น เพราะเหตุนั้น ปุญญาภิสังขารนั้นจึงเป็นปัจจัยโดยนัยที่กล่าวแล้ว (คือเป็นนานาขณิกกัมมปัจจัยและอุปนิสสยปัจจัย) นั่นแลแห่งวิปากวิญญาณ 21 ในภพ 2 กำเนิด 4 คติ 2 วิญญาณฐิติ 4 และสัตตาวาส 4 เหล่านั้น ทั้งในปฏิสนธิและในปวัตติกาลตามที่มันเป็น

(หน้าที่ 191)

ส่วนอปุญญาภิสังขารให้ผลโดย (ให้) ปฏิสนธิในกามภพ ภพเดียวกันเท่านั้น ในกำเนิด 4 นอกนั้นก็ในคติ 3 ในวิญญาณฐิติเดียว คืออานัตตกายเอกัตตสัญญี และในสัตตาวาสก็เช่นนั้นเหมือนกัน เหตุใด เพราะเหตุนั้น อปุญญาภิสังขารนั่นจึงเป็นปัจจัยโดยนัยที่กล่าวแล้วนั่นเหมือนกันแห่งวิปากวิญญาณ 7 ในภพเดียว ในกำเนิด 4 ในคติ 3 ในวิญญาณฐิติเดียว และในสัตตาวาสเดียว ทั้งในปฏิสนธิและในปวัตติกาล

ส่วนอเนญชาภิสังขารให้ผลโดย (ให้) ปฏิสนธิในอรูปภพ ภพเดียวเท่านั้น ในกำเนิดโอปปาติกะกำเนิดเดียว ในเทวคติคติเดียว ในวิญญาณฐิติ 3 มีชั้นอากาสานัญจายตนะเป็นต้น เหตุใด เพราะเหตุนั้น อเนญชาภิสังขารนั่นจึงเป็นปัจจัยโดยนัยที่กล่าวแล้วเหมือนกันแห่งวิญญาณ 4 ในภพเดียว กำเนิดเดียว คติเดียว วิญญาณิติ 3 สัตตาวาส 4 ทั้งในปฏิสนธิและในปวัตติกาลแล

บัณฑิตพึงเข้าใจสังขารทั้งหลายนั่น (ว่า) เป็น

ปัจจัยแก่วิปากวิญญาณเหล่าไรและอย่างไร ในแหล่ง

เกิดทั้งหลาย มีภพเป็นต้น ด้วยอำนาจ (คือหลักบังคับ)

แห่งปฏิสนธิและปวัตติโดยนัยดังกล่าวมาฉะนี้ เทอญ

นี่เป็นกถาอย่างพิสดารในบทว่า สงขารปจจยา วิญญาณํ

ในบทว่า วิญญาณปจจยา นามรูปํ บัณฑิตพึง

ทราบวินิจฉัย โดยวิภาคแห่งรูปนามทั้งหลาย โดยความ

เป็นไป (แห่งนามรูป) ในแหล่งทั้งหลายมีภพเป็นต้น

โดยสงเคราะห์ (ย่อเข้า) โดยปัจจยนัย

วินิจฉัยโดยวิภาค

ก็ในข้อว่า "โดยวิภาคแห่งนามรูปทั้งหลาย" นั้น มีวินิจฉัยว่า ขันธ์ 3 มีเวทนาเป็นต้น ชื่อว่า นาม เพราะน้อมไปมุ่งหน้าต่ออารมณ์ มหาภูต 4 และอุปาทายรูป (รูปอาศัย) แห่งมหาภูต 4 ชื่อว่า รูปวิภาค (คือประเภท) แห่งนามรูปทั้งหลายนั้น ได้กล่าวไว้ในขันธนิทเทสแล้วแล

วินิจฉัยในบทว่า วิญญาณปจจยา นามรูปํ นั้น โดยวิภาคแห่งนามรูปทั้งหลาย พึงทราบ ดังกล่าวมาฉะนี้ เป็นอันดับแรก

(หน้าที่ 192)

วินิจฉัยโดยความเป็นไป

ส่วนในข้อว่า "โดยความเป็นไป (แห่งนามรูป) ในแหล่งทั้งหลายมีภพเป็นต้น" นี้มีวินิจฉัยว่า นาม ย่อมเป็นไปในภพกำเนิด คติ วิญญาณฐิติทั้งปวงและในสัตตาวาสที่เหลือเว้นสัตตาวาสหนึ่ง (คืออสัญญสัตตาวาส) รูป ย่อมเป็นไปในภพ 2 กำเนิด 4 ในคติ 5 ในวิญญาณฐิติ 4 ข้างต้น ในสัตตาวาส 5 ข้างต้น (รวมอสัญญสัตตาวาสด้วย) ก็แลเมื่อนามรูปนั่นเป็นไปอยู่อย่างนั้น เหตุที่ในปฏิสนธิขณะแห่งเหล่าสัตว์คัพภไสยกะกำเนิดที่ยังไม่แสดงภาวะ (เพศ) และแห่งเหล่าสัตว์อัณฑชะกำเนิดที่ยังไม่แสดงภาวะ สันตติสีสะ (คือรูปกลาปซึ่งเป็นต้นเป็นมูลแห่งการสืบต่อ) 2 โดยเป็นรูปด้วยอำนาจแห่งวัตถุทสกะ (หมวดรูป 10 ทั้งหทัย) และกายทสกะ (หมวดรูป 10 ทั้งกายประสาท) กับอรูปขันธ์ 3 ย่อมเกิดปรากฏขึ้นเหตุนั้น โดยกระจายรูปเหล่านั้นออกไป (ก็) ธรรม 23 คือ (รูป) ธรรม 20 โดยเป็นรูปรูป (คือรูปที่สำเร็จแล้ว) กับอรูปขันธ์ 3 นั่น (แหละ) บัณฑิตพึงทราบว่าชื่อว่า นามรูป เกิดมีเพราะปัจจัยคือวิญญาณ แต่โดยถือเอาแต่รูปที่ยังไม่ได้ถือ (คือถือเอาแต่ที่ไม่ซ้ำกัน) ชักรูปธรรม 9 จากสันตติสีสะหนึ่งออกเสียก็ (เหลือ) 14 เพิ่มภาวทสกะ (หมวดรูป 10 ทั้งภาวะ) สำหรับสัตว์ที่มีภาวะ (แล้ว) เข้าก็เป็น 33 หนึ่ง โดยถือเอาแต่ที่ยังไม่ถือเอา ชักรูปธรรม 18 จากสันตติสีสะ 2 หมวดออกเสียอีกก็ (เหลือ) 15 (ชื่อว่า วิญญาณปจจยา นามรูปํ สำหรับสัตว์ 2 กำเนิดนั้น)

ส่วนในเหล่าสัตว์โอปปาติกะกำเนิด เหตุที่ในปฏิสนธิขณะแห่งรูปพรหมมีจำพวกพรหมกายิกะเป็นต้น สันตติสีสะ 4 โดยเป็นรูปด้วยอำนาจแห่งจักขุทสกะ โสตทสกะ วัตถุทสกะและชิวิตินทรียนวกะอรูปขันธ์ 3 ย่อมปรากฏ เหตุนั้น โดยกระจายรูปของรูปพรหมเหล่านั้นออกไป (ก็) ธรรม 42 คือ (รูป) ธรรม 39 โดยเป็นรูปรูป กับอรูปขันธ์ 3 นั่นบัณฑิตพึงทราบว่า ชื่อว่า นามรูป อันมีเพราะปัจจัยคือวิญญาณ แต่โดยถือเอาที่ยังไม่ได้ถือเอา ชัก (รูป) ธรรม 27 (ที่ซ้ำกัน) จากสันตติสีสะ 3 หมวดออกเสีย ก็ (เหลือ) 15

ส่วนในกามภพ เหตุที่ในปฏิสนธิขณะแห่งเหล่าสัตว์โอปปาติกะกำเนิดที่เหลือก็ดี แห่งเหล่าสัตว์สังเสทชะกำเนิดก็ดี ที่มีภาวะและอายตนะครบ สันตติสีสะ 7 โดยเป็นรูปและอรูปขันธ์ 3 ย่อมปรากฏ เหตุนั้น โดยกระจายรูปเหล่านั้นออกไป (ก็) ธรรม73 คือ (รูป)

(หน้าที่ 193)

ธรรม 70 โดยเป็นรูปรูปกับอรูปขันธ์ 3 นั่นเป็นบัณฑิตพึงทราบว่า ชื่อว่า นามรูป อันมีเพราะปัจจัยคือวิญญาณ แต่โดยถือเอาแต่ที่ยังไม่ได้ถือเอาชัก (รูป) ธรรม 54 (ที่ซ้ำกัน) จากรูปสันตติสีสะ 6 หมวดออกเสีย ก็ (เหลือ) 19 นี่เป็นการนับอย่างสูง ส่วนอย่างต่ำ การนับนามรูปอันมีเพราะปัจจัยคือวิญญาณในปฏิสนธิแห่งเหล่าสัตว์ผู้มีรูปสันตติสีสะนั้น ๆ วิกล (บกพร่อง) ก็พึงทราบโดยลดย่นลงบ้าง ขยายออกบ้าง ตามเกณฑ์ของสันตติสีสะนั้น ๆเถิด

ส่วนในปฏิสนธิแห่งอรูปพรหมทั้งหลาย ก็ปรากฏแต่อรูปขันธ์ 3 (ไม่มีรูป) ในปฏิสนธิแห่งเหล่าอสัญญีพรหม ปรากฏแต่ชีวิตินทรียนวกะเป็นรูปเท่านั้นแล นี่เป็นนัยในปฏิสนธิก่อน

ส่วนในปวัตติกาล สุทธัฏฐกรูป (กลุ่มรูป 8 ล้วน คืออวินิพโภครูป) อันมีฤดูเป็นสมุฏฐานโดยฤดู (คือเตโชธาตุ) ที่เป็นไปพร้อมกับปฏิสนธิจิต ย่อมปรากฏขึ้นในฐิติขณะแห่งปฏิสนธิจิต ในทุกแหล่งที่เป็นไปแห่งรูป แต่ (ตัว) ปฏิสนธิจิตหายังรูปให้ตั้งขึ้นได้ไม่ แท้จริงปฏิสนธิจิตนั้นไม่อาจยังรูปให้ตั้งขึ้นได้ เพราะเป็นจิตมีกำลังน้อย เหตุที่ (หทัย) วัตถุ (เพิ่งเกิด) ยังมีกำลังอ่อน เปรียบเหมือนคนตกเหวไมาสามารถเป็นที่อาศัยแห่งคนอื่นได้ฉะนั้น จำเดิมแต่ภวังคจิตดวงแรกต่อแต่ปฏิสนธิจิตไป สุทธัฏฐกรูปที่มีจิตเป็นสมุฏฐานจึงปรากฏขึ้นถึงกาลที่เสียงปรากฏ (คือถึงคราวจะเกิดเสียงได้) สัททนวกะ (กลุ่มรูป 9 ทั้งเสียง) จึงปรากฏขึ้นแต่ฤดูอันเป็นไปต่อแต่ปฏิสนธิขณะนั่นแลและแต่จิตด้วย ส่วนสัตว์เหล่าใดเป็นคัพภไสยกสัตว์ อาศัยกวฬิงการาหารเป็นอยู่ สุทธัฏฐกรูปอันมีอาหารเป็นสมุฏฐาน ย่อมปรากฏในสรีระของสัตว์เหล่านั้น ซึ่งอาหารที่มารดากลืนกินลงไป ซึมซาบเข้าไป ตามบาลีว่า

"ก็สัตว์ผู้กำบังตัวอยู่ในท้องมารดา มารดา

ของเขา บริโภคโภชนะอันใด เป็นข้าวก็ดี น้ำก็ดี (ลงไป)

เขายังชีพให้เป็นไปในท้องมารดานั้นด้วยโภชนะนั้น" ดังนี้

สำหรับโอปาติกะสัตว์ทั้งหลาย สุทธัฏฐกรูปอันมีอาหารเป็นสมุฏฐาน ย่อมปรากฏในกาลที่กลืนเขฬะที่อยู่ในปากของตนไปเป็นครั้งแรก เพราะฉะนั้น โดยรวมกันเข้า ธรรม 99 คือรูป 96 อย่างได้แก่ รูป 26 ด้วยอำนาจแห่งสุทธัฏฐกรูปมีอาหารเป็นสมุฏฐาน (8) และแห่งนวกรูป 2 อย่างสูง อันมีฤดูและจิตเป็นสมุฏฐาน (18) และรูป 70 อย่างที่มีกรรมเป็น

(หน้าที่ 194)

สมฏฐาน อันเกิดขึ้น 3 วาระในขณะจิตหนึ่ง ๆ ซึ่งกล่าวมาก่อนแล้วกับอรูปขันธ์ 3 (รวมเป็น 99) หรือว่าเหตุที่เสียงเป็นสิ่งไม่แน่นอน เพราะปรากฏในบางคราวเท่านั้น เหตุนั้นชักเสียงทั้ง 2 อย่าง (คือที่เป็นอุตุสมุฏฐานและจิตตสมุฏฐาน) นั้นออกเสีย ธรรมจำนวนนี้ก็เป็น 97 บัณฑิตพึงทราบว่า ชื่อว่า นามรูป อันมีเพราะปัจจัยคือวิญญาณแห่งสัตว์ทั้งปวงตามที่มันเป็น ด้วยว่าเมื่อสัตว์สังขารเป็นปัจจัยแห่งวิญญาณทั้งปวงนั้น แม้หลับไป แม้มัวเมา แม้กินอยู่ แม้ดื่มอยู่ ธรรมอันมีวิญญาณเป็นปัจจัยเหล่นั้นก็คงเป็นไปทั้งกลางวันและกลางคืน ก็แลความที่ธรรมเหล่านั้นมีวิญญาณเป็นปัจจัยนั้น ข้าพเจ้าทั้งหลายจักพรรณนาข้างหน้า

ส่วนว่ามนรูปเหล่านั้น กัมมชรูป (รูปเกิดแก่กรรม มีกรรมเป็นสมุฏฐาน) นั้นใดกัมมชรูปนั้นแม้ตั้งขึ้นก่อนเพื่อนในภพ กำเนิด คติ (วิญญาณ) ฐิติ และสัตตาวาสทั้งหลาย (แต่หาก) รูป 3 สมุฏฐาน (คือ ฤดู จิต อาหาร) ไม่ช่วยอุปถัมภ์แล้ว ก็หาอาจตั้งอยู่ทนไม่ แม้รูป 3 สมฏฐานเล่า (หาก) กัมชรูปนั้นไม่อุปถัมภ์ก็ไม่อาจตั้งอยู่ได้นาน (เหมือนกัน) ที่แท้นั้นรูปทั้ง 4 สมุฏฐานนั้นต่างอุปถัมภ์กันและกันไว้นั่นแล จึงไม่ตกไปเสีย ตั้งอยู่ได้ปี 1 ก็มี 2 ปีก็มี ฯลฯ ถึง 100 ปีก็มี เป็นไปตราบเท่าสิ้นอายุหรือสิ้นบุญแห่งสัตว์เหล่านั้น ดังกลุ่มไม้อ้อ ที่รากยึดไว้ทั้ง 4 ทิศ แม้ถูกลมตีก็ตั้งอยู่ได้ และดังพวกคนเรือแตกที่ได้ที่พึ่งที่ไหนสักแห่งในมหาสมุทรแล้ว แม้ถูกกำลังคลื่นตีก็ทรงอยู่ได้ฉะนั้นแล

การวินิจฉัยในบท วิญญาณปจจยา นามรูปํ นี้ โดยความเป็นไปในแหล่งทั้งหลายมีภพเป็นต้น บัณฑิตพึงทราบดังกล่าวมาฉะนี้ ประการหนึ่ง

วินิจฉัยโดยสงเคราะห์

ส่วนในข้อ "โดยสงเคราะห์" นั้นมีวินิจฉัยว่า นามอันมีเพราะปัจจัยคือวิญญาณอย่างเดียว ทั้งในปวัตติกาลและปฏิสนธิกาล ในอรูปภพ และ (เฉพาะ) ในปวัตติกาล ในปัญจโวการภพอันใดก็ดี รูปอันมีเพราะปัจจัยคือวิญญาณอย่างเดียวในทุกกาลในพวกอสัญญสัตว์และ (เฉพาะ) ในปวัตติกาลในปัญจโวการภพอันใดก็ดี นามและรูปทั้งปวงนั้น บัณฑิตพึงสงเคราะห์เข้าโดยเอกเทสสรูเปกเสสนัย (นัยที่แสดงโดยการคงศัพท์ที่มีรูปเหมือนกันเพียงบางส่วนให้เหลือไว้เพียงศัพท์เดียว) ดังนี้ว่า "นามด้วย รูปด้วย ทั้งนามและรูปด้วย ชื่อว่า นามรูป" แล้วพึงทราบเถิดว่า นามรูปนั้นชื่อว่านามรูปอันมีเพราะปัจจัยคือวิญญาณ

(หน้าที่ 195)

หากมีคำท้วงว่า "คำวินิจฉัยนี้ไม่ชอบ เพราะในพวกอสัญยสัตว์ ไม่มีวิญญาณ" ดังนี้ไซร้ คำแก้พึงมีว่า "ไม่ชอบหามิได้ (เพราะเหตุดังต่อไปนี้)

คาถาสังเขป

วิญญาณทีเป็นเหตุแห่งนามรูปนี้ใด วิญญาณนั้น

ปราชญ์ทราบกันว่ามี 2 ส่วน คือ วิปากวิญญาณ

(วิญญาณที่เป็นวิบาก และเป็นอวิปากวิญญาณ (วิญญาณ

ที่ไม่ใช่วิบาก) เพราะเหตุที่วิญญาณมี 2 ส่วน (ดังนี้)

คำวินิจฉัยนี้จึงชอบแท้

ขยายความ

จริงอยู่ วิญญาณใดเป็นเหตุแห่งนามรูป วิญญาณนั้นปราชญ์ทราบกันว่า มี 2 ส่วนโดยแยกเป็นวิปากวิญญาณ และอวิปากวิญญาณ ในพวกอสัญญีสัตว์ ก็วิญญาณนี้เองเป็นรูปอันมีเพราะปัจจัยคืออภิสังขารวิญญาณที่เป็นไปในปัญจโวการภพ เพราะเป็นรูปที่มีกรรมเป็นสมุฏฐาน (เช่นกัน) เพราะฉะนั้น คำวินิจฉัยนี้จึงชอบแล้ว

วินิจฉัยในบทว่า วิญญาณปจจยา นามรูปํ นี้โดยสังเคราะห์เข้า บัณฑิตพึงทราบดังกล่าวมาฉะนี้ ประการหนึ่ง

โดยปัจจยนัย

ส่วนในข้อว่า "โดยปัจจนัย" นั้น มีวินิจฉัยว่า

วิปากวิญญาณเป็นปัจจัยแก่นาม 9 อย่างแห่ง

วัตถุรูป (คือ หทัย) ก็ 9 อย่าง แห่งรูปที่เหลือ 8 อย่าง

อภิสังขาร – วิญญาณเป็นปัจจัยแก่รูปอย่างเดียว ส่วน

วิญญาณ นอกนั้นเป็นปัจจัยแก่นามรูปนั้น ๆ ตามควร

(หน้าที่ 196)

ขยายความ

จริงอยู่ นามที่นับว่าเป็นวิบากในปฏิสนธิกาลหรือในปวัตติกาลก็ดีนั้นใด วิปากวิญญาณที่เป็นไปในปฏิสนธิกาลบ้าง อื่นบ้าง ย่อมเป็นปัจจัย 9 อย่าง โดยเป็นสหชาติปัจจัยอัญญมัญญปัจจัย นิสสยปัจจัย สัมปยุตตปัจจัย วิปากปัจจัย อาหารปัจจัย อินทรียปัจจัย และอวิคตปัจจัยแห่งนามนั้น อันผสมกับรูปหรือมิได้ผสมก็ตาม เป็นปัจจัย 9 อย่าง โดยเป็นสหชาตะ อัญญมัญญะ นิสสยะ วิปากะ อาหาระ อินทรียะ วิปปยุตตะ อัตถิ และอวิคตปัจจัย แห่งรูปวัตถุในปฏิสนธิกาล แต่เป็นปัจจัยโดยปัจจัยใน 9 นี้ ชักอัญยมัญญปัจจัยออกเสียเหลือ 8 แห่งรูปที่เหลือเว้นวัตถุรูป ส่วนอภิสังขารวิญญาณเป็นปัจจัยอย่างเดียว โดยเป็นอุปนิสสยปัจจัยเท่านั้น แห่งรูปอสัญญีสัตว์บ้าง แห่งกรรมชรูปในปัญจโวการภพบ้าง (ทั้งนี้) โดยปริยายทางพระสูตร วิญญาณที่เหลือทั้งหมดนับแต่ภวังค์ดวงแรก พึงทราบว่าย่อมเป็นปัจจัยแก่นามรูปนั้น ๆ ตามควร อันจะแสดงปัจจยนัยแห่งนามรูปนั้นโดยพิสดาร ก็จำต้องขยายปัฏฐานกถาทั้งหมด (คัมภีร์) เพราะเหตุนี้ ข้าพเจ้าจึงไม่ริวิตถารนัยนั้น

ในความที่วิญญาณเป็นปัจจัยแก่นามรูปนั้น หากมีคำถามว่าก็ข้อที่ว่านามรูปในปฏิสนธิย่อมมีเพราะปัจจัยคือวิญญาณ นั่นจะพึงทราบได้อย่างไร ? ดังนี้ พึงแก้ว่า "ทราบได้โดยพระสูตรและโดยยุติ (คือข้ออนุมานที่ชอบด้วยเหตุ)

จริงอยู่ ในพระสูตร ความที่นามธรรมทั้งหลายมีเวทนาเป็นต้นมีวิญญาณเป็นปัจจัยส่วนมาก เป็นอันสำเร็จได้โดยนัยในพระสูตรเช่นว่า "จิตตานุปริวตติโน ธมมา ธรรมทั้งหลายย่อมหมุนเวียนไปตามจิต" ดังนี้เป็นอาทิ ก็ว่าโดยส่วนยุติ

คาถาสังเขป

วิญญาณเป็นปัจจัยแก่รูปแม้ที่ (มอง) ไม่เห็น

ย่อมสำเร็จได้ด้วยจิตตชรูปที่ (มอง) เห็นได้ในโลกนี้

ขยายความ

ความว่า โดยนัยที่ว่า "เมื่อจิตผ่องใสหรือไม่ผ่องใส รูปอันเป็นไปตามจิตนั้น เมื่อเกิดขึ้นเป็นรูปที่ (มอง) เห็นได้ และการอนุมานถึงรูปที่ (มอง) ไม่เห็น ก็มิได้โดยรูปที่ (มอง)

(หน้าที่ 197)

เห็น" ดังนี้ ข้อว่า "วิญญาณเป็นปัจจัยปฏิสนธิรูปที่แม้ (มอง) ไม่เห็น" นั่นจึงทราบได้โดยจิตตชรูปที่ (มอง) เห็นได้ในโลกนี้ จริงอยู่ ความที่แม้รูปที่มีกรรมเป็นสมุฏฐาน ก็มีวิญญาณ เป็นปัจจัยได้ดังรูปที่มีจิตเป็นสมุฏฐานมาในคัมภีร์ปัฏฐานแล

วินิจฉัยในบทว่า วิญญาณปจจยา นามรูปํ นี้ โดยปัจจยนัย บัณฑิตพึงทราบดังกล่าวมาฉะนี้ประการหนึ่ง แล

นี่เป็นกถาอย่างพิสดารในบทว่า วิญญาณปจจยา นามรูปํ

ในบทว่า นามรูปปจจยา สฬายตนํ

นามได้แก่ขันธ์ 3 รูป ได้แก่รูปมีภูตรูป และวัตถุ – รูป

(หทยวัตถุ) เป็นต้น นามรูปนั้นอันทำให้เป็นเอกเสสเช่นนั้น

เหมือนกัน

ขยายความ

ความว่า นามรูปอันเป็นปัจจัยแก่สฬายตนะนั้นใด ในนามรูปนั้น พึงทราบว่า ขันธ์ 3 มีเวทนาเป็นต้น ชื่อว่านาม ส่วนรูปเป็นของเนื่องด้วยสิ่งที่มีสันตติ โดยเฉพาะได้แก่รูปมีภูตรูปและวัตถุรูปเป็นต้น อย่างนี้คือ ภูตรูป 4 วัตถุรูป 6 ชีวิตินทรียรูป (1) ก็แลนามรูปนั้นอันทำให้เป็นเอกเสสว่า "นามด้วย รูปด้วย ทั้งนามและรูปด้วย ชื่อว่า นามรูป" ดังนี้ พึงทราบว่า ย่อมเป็นปัจจัยแก่สฬายตนะอันทำให้เป็นเอกเสสเหมือนกันดังนี้ว่า "ฉัฏฐายตนะ (อายตนะที่ 6) ด้วย สฬายตนะ (อายตนะ 6) ด้วย ชื่อว่า สฬายตนะ ถามว่า เพราะเหตุไร (จึงทำเอกเสสอย่างนั้น) ตอบว่า เพราะในอรูปภพ นามอย่างเดียวเป็นปัจจัย และนามนั้นก็เป็นปัจจัยแก่อายตนะที่ 6 เท่านั้น หาเป็นปัจจัยแก่อายตนะอื่นไม่ สมคำในวิภังค์ว่า "นามปจจยา ฉฏฐสยตนํ อายตนะที่ 6 ย่อมมีเพราะปัจจัยคือนาม" ดังนี้

(หน้าที่ 198)

ในบท (นี้) นั้น หากมีคำถามว่า ก็ข้อที่ว่า "นามรูปเป็นปัจจัยแก่สฬายตนะ" นั่นจะพึงทราบได้อย่างไร ? คำแก้พึงมีว่า "ทราบได้โดยที่มันมีในเมื่อนามรูปมี" จริงอยู่ เพราะมรนาม และรูปนั้น ๆ อายตนะนั้น ๆ จึงมี มันหามีโดยประการอื่นไม่ ก็แลความที่อายตนะมีเพราะนามรูปนั้นมีนั้น จักมีแจ้งในปัจจยนัยที่เดียว (ต่อไปนี้)

เพราะฉะนั้น ในปฏิสนธิกาล หรือในปวัตติกาลก็ดี

นามใดและรูปใด เป็นปัจจัยแก่อายตนะใด และเป็น

ปัจจัยโดยประการใด ปราชญ์พึงนำพาโดยประการนั้น

เทอญ

(ต่อไป) นี้เป็นคำขยายความในคาถา (ปัจจัยนัย) นั้น

คาถาสังเขป

นามเป็นปัจจัยในอรูปภพ

ความว่า ในอรูปภพ นามอย่างเดียวเป็นปัจจัย 7

อย่าง (และ) 6 อย่าง ในปฏิสนธิกาลและปวัตติกาล นั่น

(ว่า) โดยอย่างต่ำ

เป็นอย่างไร ? (ว่า) ในปฏิสนธิกาลก่อน โดยอย่างต่ำ นามย่อมเป็นปัจจัยแก่ฉัฏฐายตนะ 7 อย่าง โดยเป็นสหชาตะ อัญญมัญญะ นิสสยะ สัมปยุตตะ วิปากะ อัตถิ และ อวิคตปัจจัย อนึ่ง ในปฏิสนธิกาลนี้ นามเป็นปัจจัยโดยประการอื่นบ้างมีดังนี้ คือ นามบางอย่างเป็นปัจจัยโดยเหตุปัจจัย บางอย่างเป็นปัจจัยด้วยอาหารปัจจัย ส่วนอย่างสูงและอย่างต่ำพึงทราบโดยอำนาจเหตุปัจจัยเป็นต้นนั้น แม้ในปวัตติกาล นามที่เป็นวิบากก็เป็น ปัจจัยโดยนัยที่กล่าวแล้วเหมือนกัน แต่ในปัจจัยมีประการดังกล่าวโดยอย่างต่ำ (นั้น) นามนอกนี้ (คือนามที่ไม่ใช่วิบาก) ย่อมเป็นปัจจัยโดยปัจจัย 6 ยกเว้นวิปากปัจจัย อนึ่ง ในปวัตติกาลนี้ อวิปากนามเป็นปัจจัยโดยประการอื่นบ้างก็มีดังนี้ คือนามบางอย่างเป็นปัจจัย โดยเหตุปัจจัย บางอย่างเป็นปัจจัยโดยอาหารปัจจัย ส่วนอย่างสูงและอย่างต่ำพึงทราบโดยอำนาจแห่งปัจจัยเป็นต้นนั้น

(หน้าที่ 199)

คาถาสังเขป

นามเป็นปัจจัยในภพอื่น

แม้ในภพนี้ นามก็เป็นปัจจัยแก่อายตนะที่ 6 ใน

ปฏิสนธิอย่างนั้น (คือ 7 อย่าง) เหมือนกัน (แต่) มัน

เป็นปัจจัยแห่งอายตนะนอกนี้ โดยอาการ 6

ขยายความ

ความว่า แม้ในภพอื่นนอกจากอรูปภพ คือในปัญจโวการภพ วิปากนามนั้นเป็นสหาย (คือร่วมกับ) หทยวัตถุเป็นปัจจัยแก่อายตนะที่ 6 คือมนายตนะ อย่างต่ำก็ 7 อย่างเช่นที่กล่าวใน (ตอน) อรูปภพเหมือนกัน แต่มันเป็นสหาย (คือร่วมกับ) มหาภูต 4 เป็นปัจจัยแก่อายตนะ 5 นอกนี้เป็นจักขายตนะเป็นต้น โดยอาการ 6 โดยเป็นสหชาตะ นิสสยะ วิปากะ วิปปยุตตะ อัตถิ และอวิคตปัจจัย อนึ่งในปฏิสนธิกาลนี้ วิปากนาม เป็นปัจจัยโดยประการอื่นบ้าง ก็มีดังนี้คือ นามบางอย่างเป็นปัจจัยโดยเหตุปัจจัย บางอย่างเป็นปัจจัยโดยอาหารปัจจัย ส่วนอย่างสูงและอย่างต่ำ พึงทราบโดยอำนาจแห่งเหตุปัจจัยเป็นต้นนั้น

คาถาสังเขป

นามเป็นปัจจัยแก่ฉัฏฐายตนะ

แม้ในปวัตติกาล วิปากนามก็เป็นปัจจัยแก่อายตนะ

ที่ 6 อันเป็นวิบากอย่างนั้น (คือ 7 อย่าง) (ส่วน)

อวิปากนาม เป็นปัจจัยแก่อายตนะที่ 6 ที่มิใช่วิบาก 6 อย่าง

ขยายความ

ความว่า แม้ในปวัตติกาลในปัญจโวการภพ วิบากก็เป็นปัจจัยแก่อายตนะที่ 6 ที่เป็นวิบาก อย่างต่ำก็ 7 อย่างดังในปฏิสนธิกาลเช่นกัน ส่วนอวิปากนามเป็นปัจจัยแก่อายตนะที่ 6

(หน้าที่ 200)

ที่มิใช่วิบาก อย่างต่ำ 6 อย่างเท่านั้น โดยชักวิปากปัจจัยออกเสียจากปัจจัย 7 นั้น ส่วนอย่างสูงและอย่างต่ำในปัจจัยตอนนี้ ก็พึงทราบโดยนัยที่กล่าวแล้วนั่นแล

คาถาสังเขป

นามเป็นปัจจัยแก่อายตนะที่เหลือ

ในปวัตติกาลนั้นแหละ วิปากนามเป็นปัจจัยแก่

อายตนะ 5 ที่เหลือ 4 อย่าง แม้อวิปากนาม ท่านก็

ประกาศไว้เหมือนอย่างนั้น

ขยายความ

ความว่า ในปวัตติการนั้นั่นแหละ วิปากนามที่เป็นวัตถุแห่งประสาทมีจักขุประสาทเป็นต้นก็ดี นอกนั้นก็ดี ย่อมเป็นปัจจัย 4 อย่างแห่งอายตนะที่เหลือ 5 มีจักขายตนะเป็นอาทิ โดยเป็นปัจฉาชาตะ วิปปยุตตะ อัตถิ และอวิคตปัจจัย ก็แลวิปากนามเป็นปัจจัยอย่างใด แม้อวิปากนาม ท่านก็ประกาศไว้ (ว่าเป็นปัจจัย) อย่างนั้นเหมือนกัน เพราะเหตุนั้น พึงทราบว่า นามแม้แตกต่างกันโดยเป็นกุศลเป็นต้น ก็เป็นปัจจัยแก่อายตนะ 5 นั้น 4 อย่าง

นามอย่างเดียวเป็นปัจจัยแก่อายตนะใด และเป็นปัจจัยด้วยประการใด ๆ ในปฏิสนธิกาล หรือในปวัตติกาลก็ดี บัณฑิตพึงทราบโดยประการนั้น ดังกล่าวมาฉะนี้ เป็นอันดับแรก

คาถาสังเขป

รูปนามเป็นปัจจัยแก่อายตนะในขันธภพ

ส่วนรูปไม่เป็นปัจจัยแก่อายตนะ แม้อย่างเดียว

ในอรูปภพนั้น แต่ในปัญจขันธภพ ในปฏิสนธิทางรูป

วัตถุรูปเป็นปัจจัยแก่ฉัฏฐายตนะ 6 อย่าง ภูตรูปทั้งหลาย

เป็นปัจจัยแก่อายตนะ 5 โดยไม่แปลกกัน 4 อย่าง

(หน้าที่ 201)

ขยายความ

ความว่า ในปฏิสนธิทางรูป วัตถุรูปย่อมเป็นปัจจัยแก่อายตนะที่ 6 คือมนายตนะ 6 อย่าง โดยเป็น สหชาตะ อัญญมัญญะ นิสสย วิปปยุตตะ อัตถิ และอวิคตปัจจัย ส่วนภูตรูป 4 เป็นปัจจัย 4 อย่างแก่อายตนะทั้ง 5 มีจักขายตนะเป็นต้น สุดแต่อายตนะไหนจะเกิดขึ้น โดยเป็นสหชาตะ นิสสยะ อัตถิ และอวิคตปัจจัย ทั้งในปฏิสนธิกาลและในปวัตติกาลโดยไม่แปลกกัน

ชีวิตรูปและอาหารรูป เป็นปัจจัยแก่อายตนะ 5

นั้น (ฝ่ายละ) 3 อย่าง ในปวัตติกาล อายตนะ 5 นั้น

เล่าก็เป็นปัจจัยแก่ฉัฏฐายตนะ 6 อย่าง วัตถุรูปก็เป็น

ปัจจัยแก่ฉัฏฐายตนะนั้นเหมือนกัน 5 อย่าง

ส่วนรูปชีวิตเป็นปัจจัย 3 อย่าง โดยเป็นอัตถิ อวิคตะ และอินทรียปัจจัยแก่อายตนะ 5 นั้น มีจักขายตนะเป็นต้น ในปฏิสนธิกาลด้วย และอาหารก็เป็นปัจจัย 3 อย่างโดยเป็นอัตถิ อวิคตะ และอาหารปัจจัย แต่อาหารนั้นย่อมเป็นปัจจัยแต่ในกายที่ซาบ (รส) อาหาร ได้ของสัตว์เหล่าที่อาศัยอาหารเป็นอยู่ในปวัตติกาลเท่านั้น หาเป็นปัจจัยในปฏิสนธิกาลไม่ ส่วนอายตนะ 5 มีจักขายตนะเป็นต้นนั้น เป็นปัจจัยแก่ฉัฏฐายตนะ คือมนายตนะ อันได้แก่จักขุ โสตะ ฆานะ ชิวหา กายวิญญาณ 6 อย่าง โดยเป็นนิสสยะ ปุเรชาตะ อินทรียะ วิปปยุตตะ อัตถิ และอวิคตปัจจัย ในปวัตติกาล ไม่เป็นไปในปฏิสนธิกาล อนึ่ง วัตถุรูปเป็นปัจจัยแก่ มนายตนะนั้นแหละเว้นวิญญาณ 5 คือมนายตนะที่เหลือ (ได้แก่มโนวิญญาณ) 5 อย่างใดเป็น นิสสยะ ปุเรชาตะ วิปปยุตตะ อัตถิ และอวิคตปัจจัย เฉพาะในปวัตติกาล ไม่เป็นในปฏิสนธิกาล

รูปอย่างเดียวเป็นปัจจัยแก่อายตนะใด ๆ ในปฏิสนธิกาลหรือในปวัตติกาลก็ดี และรูปนั้นเป็นปัจจัยโดยประการใด บัณฑิตพึงทราบโดยประการนั้น ดังกล่าวมาฉะนี้

คาถาสรุปปัจจัยของรูปนาม

ก็นามและรูปทั้งสองใด เป็นปัจจัยแก่อายตนะไร

และเป็นโดยประการไร แม้นามและรูปนั้น ปราชญ์ก็พึง

ทราบโดยประการทั้งปวงเถิด

(หน้าที่ 202)

ข้อนี้เช่นอย่างไร ? เช่นว่า "(ชั้นแรกว่า) ในปฏิสนธิก่อน นามและรูปกล่าวคือ ขันธ์ 3 และวัตถุรูป ย่อมเป็นปัจจัยโดยเป็นสหชาตะ อัญญมัญญะ นิสสยะ วิปากะ สัมปยุตตะ วิปปยุตตะ อัตถิ และอวิคตปัจจัยเป็นต้น แก่ฉัฏฐายตนะในปัญจวโรการภพ" ดังนี้เป็นต้น นี่เป็นเพียงมุข (หนึ่ง) ในข้อนี้ แต่ปราชญ์อาจประกอบความได้ทุกอย่างพิสดารในข้อนี้แล

นี่เป็นกถาอย่างพิสดารในบทว่า นามรูปปจจยา สฬายตนํ

โดยสังเขป ผัสสะก็มี 6 เท่านั้น มีจักขุสัมผัส

เป็นต้น (แต่) โดยพิสดาร มีถึง 32 ดุจวิญญาณ

ขยายความ

ความว่า โดยสังเขป ผัสสะ ในบทว่า สฬายตนะปจจยา ผสโส ก็มี 6 เท่านั้นมีจักขุสัมผัสเป็นต้นเหล่านี้ คือ จักขุสัมผัส โสตสัมผัส ฆานสัมผัส ชิวหาสัมผัส กายสัมผัส มโนสัมผัส แต่ว่าโดยพิสดาร ผัสสะมีจักขุสัมผัสเป็นต้นทั้งหมด มีถึง 32 ดุจวิญญาณที่กล่าวแล้วซึ่งมีเพราะสังขารปัจจัย ดังนี้ คือ ผัสสะ 10 คือ เป็นกุศลวิบาก 5 และผัสสะ 22 อันสัมปยุติกับวิปากวิญญาณฝ่ายโลกิยะ 32 ที่เหลือ

คาถาสังเขป

วาทะของอาจารย์

ก็แล สฬายตนะอันเป็นปัจจัยแก่ผัสสะทั้ง 22 อย่างนั้นใด

ในสฬายตนะนั้น อาจารย์ผู้มีปัญญาทั้งหลาย

ปรารถนาเอาสฬายตนะภายในมีจักษุเป็นต้นกับฉัฏฐาย

ตนะบ้าง ปรารถนาเอาสฬายตนะกัยอายตนะภายนอก

6 บ้าง

(หน้าที่ 203)

ขยายความ

ในอาจารย์ทั้งหลายนั้น อันดับแรก อาจารย์เหล่าใดชี้เอาธรรมที่เนื่องด้วยสิ่งที่มีสันตติ ประจำตัวที่เป็นทั้งปัจจยธรรมและเป็นปัจจุบันธรรมด้วยทีเดียว ด้วยความว่า นี่เป็นการกล่าวถึงความเป็นไปแห่งสิ่งที่เป็นอุปาทินนกะ อาจารย์เหล่านั้นย่อมปรารถนาเอาว่า สฬายตนะภายในมีจักขุเป็นต้นกับฉัฏฐายตนะ โดยทำเอกเทสสรูเปกเสสว่า "ฉัฏฐายตนะในอรูปภพโดยทำนองบาลีว่า ฉฏฐายตนปจจยา ผสโส ผัสสะมีเพราะปัจจัยคือฉัฏฐายตนะ" ฉะนี้ด้วยสฬายตนะในภพอื่นโดยสัพพสังคหะ (รวมเข้าด้วยกันทั้งหมด) ด้วยเป็นปัจจัยแก่ผัสสะ ดังนี้อันที่จริง คำดังว่านั้นก็เท่ากับ (วิเคราะห์เอกเสส) ว่า "ฉฏฐายตนญจ สฬายตนญจสฬายตนํ ฉัฏฐายตนะ (อายตนะที่ 6) ด้วย สฬายตนะ (อาตนะ6) ด้วย ชื่อว่าสฬายตนะนั่นเอง

ส่วนอาจารย์เหล่าใดชี้เอาธรรมที่เนื่องด้วยสิ่งที่เป็นเอกสันตติ (สันตติอันเดียว) ซึ่งเป็นปัจจุบันธรรมเท่านั้น แต่แสดงปัจจยธรรมเป็นพวกภินนสันตาน (คือมีสันตติแตกต่างกันไม่เนื่องกัน) อาจารย์เหล่านั้น อายตนะใด ๆ เป็นปัจจัยแก่ผัสสะได้ จะแสดงเอาอายตนะนั้น ๆ ทั้งหมด จึงกำหนดเอาอายตนะภายนอก ด้วยปรารถนาว่า "อายตนะภายในกับฉัฏฐายตนะนั้นแหละ พร้อมทั้งอายตนะภายนอกมีรูปาตนะเป็นต้นด้วย ชื่อว่าสฬายตนะ" ดังนี้ ที่จริงแม้คำที่ว่านั้น เมื่อทำมันให้เป็นเอกเสสเสียว่า "ฉฏฐายตนญจ สฬายตนญจ สฬายตนํ" ฉัฏฐายตนะด้วย สฬายตนะด้วย ชื่อว่าสฬายตนะ" ฉะนี้

แก้ปัญหาว่าผัสสะอันเดียวเกิดแต่อายตนะทุกอย่างไม่ได้ ฯลฯ ก็เรียกว่า สฬายตนะเหมือนกัน

ในข้อนี้ (มี) ผู้ท้วงกล่าวว่า "ผัสสะอันเดียวหาเกิดแต่อายตนะทุกอย่างได้ไม่ ทั้งผัสสะทุกอย่างก็หาเกิดแต่อายตนะอันเดียวได้ไม่ แต่ผัสสะในปาฐะว่า "สฬายตนะปจจยา ผสโส" นี้ ตรัสไว้แต่อันเดียว ไฉนจึงตรัสผัสสะนั้นแต่อันเดียวเล่า ?

นี่เป็นคำแก้ในข้อนั้น คือที่ว่า ผัสสะอันเดียวเกิดแต่อายตนะทุกอย่างไม่ได้ หรือว่า ผัสสะทุกอย่างเกิดแต่อายตนะอันเดียวก็ไม่ได้ นั่นจริง แต่ว่าผัสสะอันเดียวย่อมเกิดแต่อายตนะหลายอย่างได้ เช่นจักขุสัมผัสย่อมเกิดแต่จักขายตนะ (กับ) แต่รูปายตนะ แต่

(หน้าที่ 204)

มนายตนะกล่าวคือจักขุวิญญาณ และแต่ธรรมายตนะอันเป็นสัมปยุตตธรรมที่เหลือ (รวมกัน) เป็นอาทิ บัณฑิตพึงประกอบความตามควรในผัสสะ (ข้ออื่น) ทุกข้อดังตัวอย่างที่กล่าวนี้เถิด ก็เพราะเหตุนั้นแหละ

พระตถาคตเจ้าจึงทรงแสดงโดยเอกวจนนิทเทส

เพื่อส่องความว่า ผัสสะแม้อันเดียว มีอาตนะหลาย

อย่างเป็นแดนเกิดได้

คำว่า "โดยเอกวจนนิทเทส" เป็นต้น ความว่า พระตถาคตเจ้าทรงแสดงพระพุทธาธิบายว่า "ผัสสะอันเดียว ย่อมมีเพราะอายตนะหลายอย่างได้" โดยแสดงออกด้วยคำเป็นเอกพจน์นี้ว่า สฬายตนปจจยา ผสโส

ส่วนว่า ในอายตนะทั้งหลาย

บัณฑิตพึงชี้แจงอายตนะ 5 ในความเป็นปัจจัย

แก่ผัสสะนั้น 6 อย่าง พึงชี้แจงอายตนะ 1 ถัดอายตนะ 5

นั้นไป ในความเป็นปัจจัยแก่ผัสสะนั้น 9 อย่าง พึงชี้แจง

อายตนะภายนอก 6 ในความเป็นปัจจัยแก่ผัสสะนั้น

ตามที่มันเป็น

(ต่อไป) นี้เป็นคำชี้แจงในความที่อายตนะเป็นปัจจัยแก่ผัสสะนั้น

อันดับแรก อายตนะ (ภายใน) 5 มีจักขายตนะเป็นต้น เป็นปัจจัย 6 อย่าง โดยเป็นนิสสยะ ปุเรชาตะ อินทรียะ วิปปยุตตะ อัตถิ และอวิคตปัจจัยแก่ผัสสะ 5 อย่าง โดยแยกเป็นจักขุสัมผัสเป็นต้น อายตนะ 1 ถัดอายตนะ 5 นั้นไปคือมนายตนะอันเป็นวิบาก เป็นปัจจัย 9 อย่าง โดยเป็นสหชาตะ อัญญมัญญะ นิสสยะ วิปากะ อาหาระ อินทรียะ สัมปยุตตะ อัตถิ และอวิคตปัจจัยแห่งมโนสัมผัสที่เป็นวิบากหลายประเภท ส่วนอายตนะภายนอกทั้งหลาย รูปายตนะเป็นปัจจัย 4 อย่างโดยอารัมมณะ ปุเรชาตะ อัตถิ และอวิคตปัจจัยแก่จักขุสัมผัส อายตนะที่เหลือมีสัททายตนะเป็นต้น ก็เป็นปัจจัยแก่ผัสสะที่เหลือมีโสตสัมผัสเป็นอาทิ โดยนัยเดียวกันนั้น แต่สำหรับมโนสัมผัสมีอายตนะเหล่านั้นด้วยธรรมมารมณ์ด้วยเป็นปัจจัย โดยเป็นปัจจยนัยเดียวกันนั้น และโดยเพียงแต่เป็นอารัมมณะปัจจัยเท่านั้นด้วย บัณฑิตพึงชี้แจง

(หน้าที่ 205)

อายตนะภายนอก 6 ในความเป็นปัจจัยแก่ผัสสะนั้นตามที่มันเป็น (มีเป็นอารัมมณปัจจัยเป็นต้น) โดยนัยดังกล่าวมาฉะนี้แล

นี่เป็นกถาอย่างพิสดารในบทว่า สฬายตนะปจจยา ผสโส

ในบทว่า ผสสปจจยา เวทนา

เวทนากล่าวโดยทวารก็มี 6 มีจักขุสัมผัสสชา

เวทนา เป็นต้น เท่านั้น (แต่) โดยประเภททราบกันว่า

มีถึง 89

ขยายความ

จริงอยู่ ในวิภังค์แห่งบทนี้ กล่าวเวทนาไว้ 6 ตามทวารเท่านั้นดังนี้ คือ จักขุสัมผัสสชา เวทนา โสต – กาย – มโนสัมผัสสชาเวทนา แต่โดยประเภท ทราบกันว่ามันมีถึง 89 เพราะความที่มันสัมปยุติกับจิต 89 ดวง

แต่ในเวทนาเหล่านั้น เวทนา 32 ที่ประกอบกับ

วิปากจิต เท่านั้น ท่านกล่าวว่า เป็นเวทนาที่ประสงค์เอา

ในบทนี้

ปัจจยนัย

ในเวทนา (ที่ประสงค์เอา) เหล่านั้น ผัสสะเป็น

ปัจจัยแก่เวทนา 5 ในปัญจทวาร 8 อย่าง เป็นปัจจัยแก่

เวทนาที่เหลืออย่างเดียว แม้ในมโนทวารก็เป็นอย่างเดียว

ขยายความ

ความว่า ในเวทนาเหล่านั้น ผัสสะมีจักขุสัมผัสเป็นต้นเป็นปัจจัย 8 อย่าง โดยเป็น สหชาตะ อัญญมัญญ นิสสยะ วิปากะ อาหาระ สัมปยุตตะ อัตถิ และอวิคตปัจจัย แก่เวทนา 5

(หน้าที่ 206)

อันมีจักขุประสาทเป็นต้นเป็นวัตถุ (ที่ตั้ง) ในปัญจทวาร แต่ผัสสะมีจักขุสัมผัสเป็นต้นนั้นเป็นปัจจัยอย่างเดียว โดยอุปนิสสยปัจจัยเท่านั้นแก่เวทนาที่เหลือคือเวทนาที่เป็นกามาวจรวิบากอันเป็นไปด้วยอำนาจสัมปฏิจฉันนจิต และตทารัมมณจิตในทวารหนึ่ง ๆ

ข้อว่า "แม้ในมโนทวารมันก็เป็นอย่างนั้น" ความว่า แม้ในมโนทวาร ผัสสะกล่าวคือมโนสัมผัสที่เกิดร่วมกันนั้นก็เป็นปัจจัย 8 อย่าง เช่นนั้นเหมือนกัน แก่เวทนาที่เป็นกามาวจรวิบากอันเป็นไปด้วยอำนาจตทารัมมณจิต และแม้แก่เวทนาเตภูมิกวิบากอันเป็นไปด้วยอำนาจปฏิสนธิจิตและภวังคจุติจิต ส่วนกามาวจรเวทนาทั้งหลายที่เป็นไปด้วยอำนาจ ตทารัมมณจิตในมโนทวารนั้นใด มโนสัมผัสอันสัมปยุตกับมโนทวาราวัชชนจิตเป็นปัจจัยแก่เวทนาเหล่านั้นแต่อย่างเดียว โดยอุปนิสสยปัจจัยเท่านั้น

นี่เป็นกถาอย่างพิสดารบทว่า ผสฺสปจฺจยา เวทนา

ตัณหา 6 โดยแยกเป็นรูปตัณหาเป็นต้น ทรง

แสดงในบทนี้ ในตัณหาเหล่านั้น ตัณหาข้อหนึ่ง ๆ

ทราบกันว่าเป็นอย่างละ 3 ตามอาการที่เป็นไป

ขยายความ

จริงอยู่ ในบทนี้ ในวิภังค์ท่านแสดงตัณหา 6 โดยใช้ชื่อตามอารมณ์ว่า รูปตัณหา สัททตัณหา คันธตัณหา รสตัณหา โผฏฐัพพตัณหา ธัมมตัณหา ดุจบุตรที่ถูกแสดงโดยใช้ชื่อตามบิดาว่า เศรษฐีบุตร พราหมณบุตร เป็นต้นฉะนี้ อนึ่ง ในตัณหาเหล่านั้นข้อหนึ่ง ๆทราบกันว่าเป็นอย่างละ 3 ตามอาการที่เป็นไป ดังนี้คือ กามตัณหา ภวตัณหา และ วิภวตัณหา

ก็รูปตัณหานั่นแล เมื่อใด (มัน) ยินดีรูปารมณ์ที่มาปรากฏแก่จักษุ ด้วยอำนาจความพอใจทางกามเป็นไป เมื่อนั้น (มัน) ก็ได้ชื่อว่าเป็นกามตัณหา เมื่อใดมันเป็นไปกับสัสสตทิฏฐิอันเป็นไปโดยเห็นว่า อารมณ์นั้นเป็นของเที่ยงยั่งยืน เมื่อนั้น มันก็ได้ชื่อว่าเป็น ภวตัณหา ด้วยว่า ราคะที่สหรคตกับสัสสตทิฏฐิ ท่านเรียกว่าภวตัณหา ส่วนว่าเมื่อใด มันเป็นไปกับอุจเฉททิฏฐิอันเป็นไปโดยเห็นว่า อารมณ์อันนั้นแหละจะขาดสูญไป เมื่อนั้น มันก็ได้

(หน้าที่ 207)

ชื่อว่าเป็นวิภวตัณหา ด้วยว่า ราคะที่สหรคตกับอุจเฉททิฏฐิ ท่านเรียกว่าวิภวตัณหา แม้ในตัณหาที่เหลือมีสัททตัณหาเป็นตันก็นัยนี้ เพราะเหตุนั้น มันจึงเป็น ตัณหา 18 อันเป็นไปในรูปารมณ์เป็นต้นที่เป็นภายใน 18 ที่เป็นภายนอก 18 เพราะฉะนั้น จึงเป็น ตัณหา 36 โดยประการดังนี้ มันเป็นอดีต 36 เป็นปัจจุบัน 36 ดังนั้นมันจึงเป็น ตัณหา 108 ตัณหา เหล่านั้นบัณฑิตพึงทราบว่า เมื่อย่อมันเข้าอีกมันก็คงเป็นตัณหา 6 ด้วยอำนาจแห่งอารมณ์มีรูปเป็นต้นหรือเป็นตัณหา 3 โดยเป็นประเภทกามตัณหาเป็นอาทิเท่านั้นเอง

ก็เพราะว่าสัตว์ทั้งหลายนี้พอใจเวทนาอันเกิดขึ้นด้วยอำนาจอารมณ์มีรูปเป็นต้น จึงทำสักการะ (รางวัล) ใหญ่แก่จิตรกร (ช่างเขียน) คนธรรพ์ (นักดนตรีและขับร้อง) คันธิก (ช่างปรุงเครื่องหอม) สูท (พ่อครัว) ตันตวาย (ช่างทอผ้า) และรสายนวิธายกแพทย์ (แพทย์ผู้แต่งยาตามตำรับรสายนเวท) เป็นอาทิ ซึ่งผู้ให้เป็นอารมณ์มีรูปเป็นต้น ก็ด้วยความรักและเวทนาดุจบิดาพอใจบุตร (ของตน) แล้วทำสักการะใหญ่แก่แม่นม ก็ด้วยความรักในบุตรฉะนั้น เหตุฉะนั้น ตัณหาทั้งปวงนั่น บัณฑิตพึงทราบเถิดว่า เป็นตัณหา มีเพราะปัจจัยคือเวทนา

ก็เพราะสุขเวทนาที่เป็นวิบากอย่างเดียวเท่านั้น

ท่านประสงค์เอาในบทนี้ เหตุนั้น สุขเวทนานั้น จึงเป็น

ปัจจัยแก่ตัณหาประการเดียวเหมือนกัน

คำว่า (เป็นปัจจัย) ประการเดียว คือเป็นปัจจัยโดยเป็นอุปนิสสยปัจจัยเท่านั้น หรือเพราะว่า

ผู้มีทุกข์ย่อมปรารถนาความสุข ผู้มีสุขเล่า ก็

ปรารถนา ความสุขยิ่งขึ้นไป ส่วนอุเบกขาเวทนา เพราะ

เป็นเวทนา ละเอียด ท่านก็กล่าวว่าเป็นสุขเหมือนกัน

เหตุนั้น เวทนาจึงเป็นปัจจัยแก่ตัณหาได้ทั้ง 3 แต่เพราะ

ว่า ตัณหาซึ่งพระมหาฤษีเจ้าตรัสไว้ในบทว่า เวทนา

ปจจยา ตณหา นั้น แม้มีเวทนาเป็นปัจจัย (แต่) เว้น

อนุสัยเสีย มันก็ไม่มี เพราะฉะนั้น มันจึงไม่มีแก่

พราหมณ์ (คือ สมณะ) ผู้อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว

นี่เป็นกถาอย่างพิสดารในบทว่า เวทนาปจฺจยา ตณฺหา

(หน้าที่ 208)

ในคำว่า ตณฺหาปจฺจยา อุปาทานํ

อุปาทานมี 4 บัณฑิตพึงอธิบายอุปาทาน 4 นั้น

โดย อรรถวิภาค (จำแนกความ) โดยสังเขป และโดย

พิสดารแห่งธรรมและโดยลำดับ

นี่เป็นอธิบายในอุปาทานนั้น คือ ในคาถานี้ ชั้นแรก ว่าด้วยอุปาทานมี 4 นี้ คือ กามุปาทาน ทิฏฐปาทาน สีลัพพตุปาทาน อัตตวาทุปาทาน

(ต่อไป) นี้เป็นอรรถวิภาคแห่งอุปาทานเหล่านั้น

อรรถแห่งกามุปาทาน

(อรรถว่า) บุคคลย่อมถือมั่นซึ่งกามที่ได้แก่วัตถุ เหตุนั้นจึงชื่อว่า กามุปาทาน (แปลว่า ความถือมั่นกามแห่งบุคคล) ดังนี้บ้าง

(อรรถว่า) กาม (คือกิเลส) ด้วย กาม (คือกิเลส) นั้นเป็นธรรมชาติผู้ถือมั่นด้วยเหตุนั้น จึงชื่อว่า กามุปาทาน (แปลว่า กามผู้ถือมั่น) ดังนี้บ้าง

อรรถแห่งอุปาทานศัพท์

คำว่า อุปาทาน แปลว่า ถือมั่น (คือยึดไว้) เพราะอุป – ศัพท์ในที่นี้มี ทัฬห –ศัพท์ (มั่นแข่งขัน รุนแรงยิ่งนัก) เป็นอรรถ ดังอุป – ศัพท์ในคำว่าอุปายาส (ลำบากใจยิ่งนัก คือคับแค้น) และ คำว่าอุปกัฏฐะ (ชักมาใกล้นัก คือจวนเจียน) เป็นต้น

อรรถแห่งทิฏฐปาทาน

นัดเดียวกัน (คืออุปาทาน – ศัพท์มีอรรถว่า ถือมั่น ยึดไว้ เช่นเดียวกัน) คือ (อรรถว่า) ทิฏฐิด้วย ทิฏฐินั้นเป็นธรรมชาติถือมั่นด้วย เหตุนั้นจึงชื่อว่า ทอิฏฐุปาทาน (แปลว่า ทิฏฐิอันยึดไว้) อีกอรรถหนึ่งว่า ทิฏฐิย่อมถือมั่นทิฏฐิ เหตุนั้น จึงชื่อว่า ทิฏฐุปาทาน (แปลว่า ทิฏฐิยึดทิฏฐิ) ด้วยว่า อุตตรทิฏฐิ (ความเห็นชั้นหลังมา) ย่อมยึดปุริมทิฏฐิ (ความเห็นที่มีมาก่อน) ในความเห็นผิดทั้งหลาย มีเห็นว่า อัตตาเที่ยง และโลกเที่ยงเป็นต้น

(หน้าที่ 209)

อรรถแห่งสีลัพพตุปาทาน

นัยเดียวกัน คือ (อรรถว่า) บุคคลย่อมถือมั่นศีลพรต เหตุนั้น จึงชื่อว่า สีลัพพตุปาทาน (แปลว่า ความถือมั่นศีลพรตแห่งบุคคล) ดังนี้บ้าง (อรรถว่า) ศีลพรตด้วย ศีลพรตนั้นเป็นธรรมชาติถือมั่นด้วย เหตุนั้น จึงชื่อว่า สีลัพพตุปาทาน (แปลว่า ศีลพรตอันถือมั่น) ดังนี้บ้างด้วย ศีลพรตต่าง ๆ มีโคศีลและโคพรตเป็นต้น เป็นอุปาทานอยู่ในตัวมันเอง เพราะยึดมั่นว่า ความบริสุทธิ์จักมีด้วยศีลพรตอย่างนั้น

อรรถแห่งอัตตวาทุปาทาน

นัยเดียวกัน บุคคลทั้งหลาย ย่อมกล่าวเพราะสิ่งนั้น (เป็นเหตุ) เหตุนั้นสิ่งนั้นจึงชื่อว่า วาทะ (แปลว่า สิ่งเป็นเหตุกล่าว)

สัตว์ทั้งหลายถือมั่น แม้เพราะสิ่งนั้น (เป็นเหตุ) เหตุนั้น สิ่งนั้นจึงชื่อว่า อุปาทาน (แปลว่า สิ่งเป็นเหตุถือมั่น)

ถามว่า บุคคลทั้งหลาย ย่อมกล่าวก็ดี ย่อมถือมั่นก็ดี ซึ่งอะไร ? ตอบว่า ซึ่งอัตตา

สิ่งเป็นเหตุกล่าวเป็นเหตุถือมั่นซึ่งอัตตา ชื่อว่า อัตตวาทุปาทาน

อีกอรรถหนึ่ง บุคคลทั้งหลาย ย่อมถือมั่นเอาเพียงคำว่าอัตตาเท่านั้นเองว่าเป็นอัตตาเพราะสิ่งนั้น (เป็นเหตุ) เหตุนั้น สิ่งนั้นจึงชื่อว่า อัตตวาทุปาทาน (แปลว่า สิ่งเป็นเหตุถือมั่นเพียงคำว่าอัตตา)

นี่เป็นอรรถวิภาคแห่งอุปาทานเหล่านั้น เป็นอันดับแรก

โดยสังเขปและโดยพิสดาร

ส่วนในข้อสังเขปและพิสดารแห่งธรรม (นั้น) โดยสังเขป อันดับแรก ตัณหาทัฬหัตตะ (ความเหนียวแน่นแห่งตัณหา) เรียกว่า กามุปาทาน เพราะมาในบาลี "ในอุปาทาน 4 นั้น กามุปาทานเป็นไฉน ท กามฉันทะ (ความพอใจด้วยอำนาจกิเลสกาม) ในกาม (คุณ) ทั้งหลายอันใด กามราคะ (ความกำหนัดด้วยอำนาจกิเลสกาม) ในกาม (คุณ) ทั้งหลาย อันใด

(หน้าที่ 210)

กามนันทิ (ความยินดีด้วยอำนาจกิเลสกาม) ในกาม (คุณ) ทั้งหลาย อันใด กามตัณหา (ความอยากด้วยอำนาจกิเลสกาม) ในกาม (คุณ)ทั้งหลาย อันใด กามเสนหะ (ความรักด้วยอำนาจกิเลสกาม) ในกาม (คุณ) ทั้งหลาย อันใด กามปริฬาหะ (ความรุ่มร้อนด้วยอำนาจกิเลสกาม) ในกาม (คุณ) ทั้งหลาย อันใด กามมุจฉา (ความสยบอยู่ด้วยอำนาจกิเลสกาม) ในกาม (คุณ) ทั้งหลายอันใด กามัชโฌสานะ (ความพอใจอยู่ด้วยอำนาจกาม) ในกาม (คุณ) ทั้งหลาย อันใด อันนี้เรียกว่า กามุปาทาน"

อุตตรตัณหา (ตัณหาที่เกิดทีหลังต่อ ๆ มา) อันเกิดเป็นโทษหนาแน่นขึ้น เพราะมี ปุริมตัณหา (ตัณหาที่เกิดก่อน ๆ) เป็นอุปนิสสยปัจจัยนั่นเอง ชื่อว่า ตัณหาทัฬหัตตะ

แต่อาจารย์บางเหล่ากล่าวว่า "ความปรารถนาอารมณ์ที่ยังไม่มาถึงเป็นตัณหา อุปมาดังการยื้อมือของโจร (ควานหาสิ่งของ) ในที่มืดฉะนั้น ความยึดเอาอารมณ์ที่มาถึงเข้าไว้เป็นอุปาทาน อุปมาดังการคว้าเอาสิ่งของ (ที่ควานเจอเข้า) ของโจรนั่นแหละ อันธรรม (ทั้งสอง) นั้นเป็นปฏิปักษ์ต่ออัปปิจฉตาและสันตุฏฐิตา (คนละอย่าง) อนึ่ง เป็นมูลแห่งปริเยสมทุกข์ (ทุกข์เพราะการแสวงหา) และอรักขทุก์ (ทุกข์เพราะการรักษา)" (คนละอย่างเหมือนกัน)

ส่วนอุปทาน 3 ที่เหลือ โดยสังเขปก้เป็นเพียงทิฏฐิ (อย่างหนึ่ง ๆ) เท่านั้น

ส่วนว่าโดยพิสดาร ควมหนาแน่นเหนียวแห่งตัณหาในอารมณ์ทั้งหลายมีรูปเป็นต้นอันมีประเภทตั้ง 108 ที่กล่าวมาก่อน (นั่น) เป็นกามุปาทาน มิจฉาทิฏฐิวัตถุ 10 เป็นทิฏฐุปาทานดังบาลีว่า "ในอุปาทานเหล่านั้น ทิฏฐุปาทานเป็นอย่างไร ? ความเห็น ฯลฯ ความถือวิปลาสเช่นนี้ว่า "การให้ (เป็นทาน) ไม่มี (ผลวิบาก) การ (ให้เป็นการ) บูชาไม่มี (ผลวิบาก) ฯลฯ สมณพราหมณ์ทั้งหลายผู้ดำเนินชอบปฏิบัติชอบ ผู้ซึ่งทำให้แจ้งซึ่งโลกนี้และโลกอื่นด้วยอภิญญาเองแล้ว (ประกาศ) ให้รู้ทั่วกันไม่มีในโลก" ดังนี้อันใด อันนี้เรียกว่าทิฏฐุปาทาน"

ส่วนความยึดมั่นว่า "ความบริสุทธิ์มีได้ด้วยศีลและพรตทั้งหลายเป็นสีลัพพตุปาทาน ดังบาลีว่า "ในอุปาทานเหล่านั้น สีลัพพตุปาทานเป็นอย่างไร ? ความเห็น ฯลฯ ความถือวิปลาสเช่นนี้ว่า "ความบริสุทธิ์มีได้ด้วยศีล ความบริสุทธิ์มีได้ด้วยพรต ความบริสุทธิ์มีได้ด้วยศีลและพรต" ดังนี้อันใด อันนี้เรียกว่า สีลัพพตุปาทาน"

(หน้าที่ 211)

สักกายทิฏฐิมีวัตถุ 20 เป็นอัตวาทุปาทาน ดังบาลีว่า "ในอุปาทานเหล่านั้น อัตตวาทุปาทานเป็นอย่างไร ? ปุถุชนผู้มิได้สดับในโลกนี้ ฯลฯ มิได้รับแนะนำในธรรมของสัตบุรุษย่อมเห็นรูปโดยความเป็นตน ฯลฯ ความเห็น ฯลฯ ความถือวิปลาสเช่นนี้อันใด อันนี้เรียกว่า อัตตวาทุปาทาน"

นี้เป็นความสังเขปและความพิสดารแห่งธรรมในอุปาทานนั้น

โดยลำดับ

ส่วนในข้อว่า "โดยลำดับ" นั้น มีพรรณนาว่า ลำดับมี 3 อย่าง คือ ลำดับความเกิดขึ้น 1 ลำดับการละ 1 ลำดับการแสดง 1

ในลำดับ 3 อย่างนั้น เพราะไม่มาว่า "ความเกิดขึ้นแห่งสิ่งนี้มีก่อนเพื่อน ในสงสารอันไม่มีใครรู้เบื่องต้นเบื้องปลาย" ดังนี้ ลำดับความเกิดขึ้นแห่งกิเลสทั้งหลาย ท่านจึงไม่กล่าวไว้โดยตรง แต่โดยอ้อมพึงกล่าวว่า อัตตวาทุปาทานเกิดก่อนเพื่อน ต่อนั้น ทิฏฐุปาทาน สีลัพพตุปาทานและกามุปาทานจึงเกิด (โดยลำดับ) โดยอธิบายดังนี้ คือโดยมาก ในภพอันหนึ่ง (อัตตวาทุปาทานคือความถือมั่นว่าเที่ยงหรือว่าขาดสูญ) อันมีความถืออัตตาเป็นเบื้องหน้า (เกิดขึ้นก่อน) ข้อนั้น สีลัพพตุปาทานอันมีความบริสุทธิ์แห่งอัตตาเป็นข้อมุ่งหมาย (จึงเกิดขึ้น) แก่บุคคลผู้ถือว่าอัตตานี้เที่ยง (แล้ว) กามุปาทาน (จึงเกิดขึ้น) แก่บุคคลผู้ถือว่าอัตตานี้ขาดสูญไม่แยแสต่อปรโลก นี้เป็นลำดับความเกิดขึ้นแห่งอุปาทาน 4 นั้น ในภพอันหนึ่ง

ส่วนลำดับการละ พึงทราบว่า ในอุปาทาน 4 นั้น อุปาทาน 3 มีทิฏฐุปาทานเป็นต้นละได้ก่อน เพราะอุปาทาน 3 นั้น เป็นโทษที่โสดาปัตติมรรคพึงกำจัด กามุปาทานละได้ภายหลัง เพราะกามุปาทานเป็นโทษทีอรหัตตมรรคพึงกำจัด นี่เป็นลำดับการละแห่งอุปาทานทั้งหลายนั้น

ส่วนลำดับการแสดง พึงทราบว่า ในอุปาทาน 4 นั้น กามุปาทานแสดงก่อน เพราะเป็นโทษมีวิสัยใหญ่และเพราะเป็นโทษปรากฏ (เห็นชัด) ด้วย จริงอยู่ กามุปาทานนั้นนับเป็นโทษมีวิสัยใหญ่ เพราะสัมปโยคกับจิตทั้ง 3 ดวง อุปาทานนอกนี้ นับเป็นโทษมีวิสัยน้อย เพราะสัมปโยคกับจิต (เพียง) 4 ดวง อนึ่ง กามุปาทานนับว่าเป็นโทษปรากฏแก่หมู่สัตว์เพราะความที่หมู่สัตว์เป็นผู้ยินดีในอาลัยโดยมาก อุปาทานนอกนี้ไม่ปรากฏ ผู้มีกามุปาทานย่อมเป็นผู้มาก

(หน้าที่ 212)

ไปด้วยการทำมงคลมีโกตุหลมงคล (การทำมงคลที่ให้เป็นการครึกครึ้น) เป็นต้น เพื่อ (ให้) ได้ (วัตถุ) กามทั้งหลายโดยง่าย ความเป็นผู้มากด้วยการทำมงคลมีโกตุหลมงคลเป็นต้น ของบุคคลผู้มีกามุปาทานนั้นเป็นสัสสตทิฏฐิ เพราะฉะนั้น ทิฏฐุปาทานจึงแสดงในลำดับกามุปาทานนั้น ทิฏฐุปาทานนั้นเมื่อแตกออก ก็เป็นสองอย่าง โดยเป็นสีลัพพตุปาทาน และอัตตวาทุปาทาน ในสองอย่างนั้น สีลัพพตุปาทานแสดงก่อน เหตุว่าเป็นโทษหยาบ เพราะแม้เห็นกิริยาโคหรือกิริยาสุนัขก็ตาม ที่คนมีสีลัพพตุปาทานแสดงไว้สุดท้าย เพราะเป็นโทษละเอียด นี้เป็นลำดับการแสดงแห่งอุปาทาน 4 นั้น

คาถาสังเขปปัจจัย

ก็ในอุปาทานทั้งหลายนี้ ตัณหาเป็นปัจจัยอย่าง

เดียวแก่ อุปาทานข้อหน้าเพื่อน มันเป็นปัจจัย 7 อย่าง

บ้าง 8 อย่างบ้างก็มี แก่อุปาทาน 3 ที่เหลือ

ขยายความ

ก็แล ในอุปาทานทั้งหลายนี้ คือในอุปาทาน 4 ที่แสดงมาดังนี้ กามตัณหาเป็นปัจจัยอย่างเดียว โดยเป็นอุปนิสสยปัจจัยเท่านั้น แก่อุปาทานข้อหน้าเพื่อน คือ กามุปาทาน เพราะเกิดขึ้นในอารมณ์ทั้งหลายที่ตัณหายินดีโดยเฉพาะ แต่มันเป็นปัจจัย 7 อย่าง กับทั้งอุปนิสสยปัจจัยบ้างก็มี แก่อุปาทาน 3 ที่เหลือ แต่ว่าเมื่อใดมันเป็นปัจจัยโดยเป็นอุปนิสสยปัจจัย เมื่อนั้นมันก็เป็นอสหชาตะ (คือไม่เป็นสหชาต) ด้วยแล

นี่เป็นกถาอย่างพิสดารในบทว่า ตณฺหาปจฺจยา อุปาทานํ

พึงทราบวินิจฉัยโดยอรรถ คือความแห่งคำ 1 โดยธรรม (คือความหมายของธรรม) 1 โดยสาตกะ (คือข้อที่ยังมีประโยชน์ที่จะกล่าวซ้ำ) 1 โดยเภทะ (คือแบ่งออก) และโดยสังคหะ (คือรวมเข้า) 1 โดยสิ่งไรเป็นปัจจัยแก่สิ่งไร 1

(หน้าที่ 213)

วินิจฉัยโดยอรรถ

วินิจฉัยโดยอรรถในบทนั้นว่า ธรรมใดย่อมเป็นเหตุนั้น ธรรมนั้น จึงชื่อว่า ภพ (แปลว่าธรรมที่เป็นขึ้น) ภพนั้นมี 2 ประเภท คือ กรรมภพ 1 อุปัตติภพ 1 ดังบาลีว่า "ภพมีโดยส่วน 2 คือกรรมภพ 1 อุปปัตติภพ 1 ดังนี้

ในภพ 2นั้น ภพคือกรรม ชื่อว่า กรรมภพ นัยเดียวกัน ภพคือความเข้าถึง ชื่อว่า อุปปัตติภพ ก็แล ในกรรและอุปปัตตินี้ อุปปัตติจัดเป็นภพ เพราะเป็น (คือเกิด) ขึ้น ส่วนกรรมพึงทราบว่า จัดเป็นภพโดยผลโวหาร (คือกล่าวเล็งถึงผล) เพราะกรรมนั้นเป็นเหตุแห่งภพ ดังความเกิดขึ้นแห่งพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ตรัสว่าเป็นสุขเพราะเป็นเหตุแห่งความสุขฉะนั้น

วินิจฉัยโดยอรรถในบทนี้ พึงทราบโดยประการที่กล่าวมาฉะนี้ เป็นอันดับแรก

วินิจฉัยโดยธรรม

กรรมภพ

ส่วนวินิจฉัยโดยธรรม พึงทราบว่า อันดับแรก กรรมภพโดยสังเขป ก็ได้แก่เจตนาและธรรมทั้งหลายที่นับเป็นกรรมมีอภิชฌาเป็นต้น อันสัมปยุตกับเจตนานั่นเอง ดังบาลีว่า "ในภพ 2 นั้น กรรมภพเป้นไฉน ปุญญาภิสังขาร อปุญญาภิสังขาร อเนญชาภิสังขาร เป็นปริตตภูม (คือภูมิกาม) เป็นมหาภูมิ (คือ ภูมิมหัคคตะ) ก็ดี นี้เรียกว่า กรรมภพ อนึ่ง กรรมที่เป็นภวคามี (ยังสัตว์ให้ไปสู่ภพ) ทั้งปวง ก็เรียกกรรมภพ

ก็แลในกรรมนี้ เจตนา 13 ดวง ชื่อว่าปุญญาภิสังขาร เจตนา 12 ดวง ชื่อว่า อปุญญาภิสังขาร เจตนา 4 ดวง ชื่อว่าอเนญชาภิสังขาร โดยประการดังนี้ ความที่เจตนาเหล่านั้นแหละมีวิบากน้อยและมาก เป็นอันกล่าวด้วยคำว่า "เป็นปริตตภูมิก็ดี เป็นมหาภูมิก็ดี" นั่นส่วนธรรมทั้งหลายมีอภิชฌาเป็นต้นที่สังปยุตกับเจตนา เป็นอันกล่าวด้วยคำว่า "อนึ่ง กรรมที่เป็นภวคามีทั้งปวง"นี่

(หน้าที่ 214)

อุปปัตติภพ

ส่วนอุปัตติภพ โดยสังเขปก็ได้แก่ขันธ์ทั้งหลายที่เกิดเพราะกรรมโดยเฉพาะ (ว่า) โดยประเภทมี 9 อย่าง ดังบาลีว่า "ในภพ 2 นั้น อุปปัตติภพเป็นไฉน กามภพ รูปภพ อรูปภพ สัญญาภพ อสัญญาภพ เนวสัญญานาสัญญาภพ เอกโวการภพ จตุโวการภพ ปัญจโวการภพ นี่เรียกว่า อุปปัตติภพ"

ในภพเหล่านั้น ภพที่นับว่ากาม ชื่อว่ากามภพ (ความหมาย) ในรูปภพและอรูปภพ ก็นัยนี้ (คือว่า รูปภพ ก็แปลว่า ภพที่นับว่ารูป อรูปภพ แปลว่า ภพที่นับว่าอรูป)

ภพของสัตว์ทั้งหลายผู้มีสัญญา ชื่อว่าสัญญาภพ นัยหนึ่ง สัญญามีอยู่ในภพนั้น เหตุนั้นภพนั้นจึงชื่อว่าสัญญาภพ (แปล่า ภพที่มีสัญญา) อสัญญาภพ พึงทราบโดยนัยตรงกันข้าม

ธรรมชาติที่เป็นเนวสัญญานาสัญญา (มีสัญญาก็มิใช่ ไม่มีสัญญาก็มิใช่) เพราะไม่มีสัญญาหยาบและเพราะมีแต่สัญญาละเอียด มีอยู่ในภพนั้น เหตุนั้น ภพนั้นจึงชื่อว่า เนวสัญญานาสัญญาภพ

ภพที่เต็มไปด้วยรูปขันธ์อย่างเดียว ชื่อว่าเอกโวการภพ นัยหนึ่ง โวการะ (คือขันธ์) ของภพนั้นมีอย่างเดียว เหตุนั้น ภพนั้น จึงชื่อว่าเอกโวการภพ (แปลว่าภพนั้นมีขันธ์เดียว) ความหมาย) ในจตุโวการภพและปัญจโวการภพก็นัยนี้ (คือจตุโวการภพ ก็แปลว่า ภพมีขันธ์ 4 ปัญจโวการภพ แปลว่า ภพมีขันธ์ 5)

ในภพเหล่านั้น กามภพ ได้แก่อุปาทินนขันธ์ (ขันธ์มีใจครอง) 5 รูปภพ ก็อย่างนั้น อรูปภพได้แก่ อุปาทินนขันธ์ 4 สัญญาภพได้แก่อุปาทินนขันธ์ ค อสัญญาภพ ได้แก่ อุปาทินนขันธ์ 1 เนวสัญญานาสัญญาภพ ได้แก่อุปาทินนขันธ์ 4 ภพ 3 มีเอกโวการภพเป็นต้น ก็ได้แก่ขันธ์ 4 และขันธ์ 5 โดยเป็นอุปาทินนขันธ์

วินิจฉัยโดยธรรมในบทนี้ พึงทราบโดยนัยดังกล่าวมาฉะนี้ประการ 1

วินิจฉัยโดยสาตถะ

ข้อว่า "โดยสาตถะ" มีวินิจฉัยว่า ก็แลอภิสังขารทั้งหลายมีปุญญาภิสังขารเป็นต้นนั่นแหละ แม้กล่าวมาแล้วในตอนแก้สังขารดังที่กล่าวมาตอนแก้ภพ (นี้) เหมือนกันก็จริง แม้

(หน้าที่ 215)

เมื่อเป็นเช่นนั้นอภิสังขาร ตอนก่อน ท่านกล่าวโดยเป็นอดีตกรรม เพราะเป็นปัจจัยแก่ปฏิสนธิในภพนี้ (แต่) อภิสังขารตอนนี้กล่าวโดยเป็นปัจจุบันนกรรมเพราะเป็นปัจจัยแก่ปฏิสนธิในกาลต่อไป เพราะฉะนั้น การกล่าว (ถึงอภิสังขาร) ซ้ำจึงยังมีประโยชน์แท้ หรือ (อีกตัวอย่างหนึ่ง) ในตอนก่อน เจตนาเท่านั้นท่านกล่าวว่าเป็นสังขาร โดยนัยว่า "ในอภิสังขาร 3 นั้นปุญญาภิสังขารเป็นไฉน เจตนาเป็นกุศลกามาวจร (นี้เรียกว่าปุญญาภิสังขาร) ดังนี้เป็นต้นแต่ในตอนนี้ แม้ธรรมทั้งหลายที่สัมปยุตกับเจตนา ท่านก็กล่าวด้วยคำว่า "แม้กรรมที่เป็นภวคามีทั้งปวง (ก็ชื่อว่ากรรมภพ)" ดังนี้ อนึ่ง ที่ก่อนกรรมที่เป็นปัจจัยแก่วิญญาณเท่านั้นท่านกล่าวว่าเป็นสังขาร มาที่นี้ แม้กรรมที่ยังสัตว์ให้เกิดในอสัญญาภพ ท่านก็กล่าวด้วย จะกล่าวมากไปทำไมมี ในบทว่า "อวิชชาปจจยา ภโว" ท่านกล่าวธรรมทั้งที่เป็นกุศลทั้งที่เป็นอกุศลทั้งที่เป็นอัพยากฤต ก็เพราะ (ในตอนนี้) สังเคราะห์เอาอุปปัตติภพเข้าด้วย เพราะฉะนั้นการกล่าวซ้ำนี้ จึงยังมีประโยชน์แท้

วินิจฉัยโดยสาตถะในบทนี้ พึงทราบโดยนัยดังกล่าวมาฉะนี้ อีกประการหนึ่ง

วินิจฉัยโดยแบ่งออกและรวมเข้า

ข้อว่า "โดยเภทะและสังคหะ" คือโดยแบ่งออกและโดยย่อเข้าซึ่งภพอันมีเพราะปัจจัยคืออุปาทาน

โดยแบ่งออก

ความว่า กรรมที่ยังสัตว์ให้เกิดในกามภพ ซึ่งมีเพราะปัจจัยคือกามุปาทานใด อันสัตว์ทำเข้า ธรรมคือกรรมนั้นชื่อว่ากรรมภพ ขันธ์ทั้งหลายที่เกิดขึ้นเพราะกรรมนั้นโดยเฉพาะ ชื่อว่า อุปปัตติภพ ในรูปภพและอรูปภพก็นัยนี้

โดยนัยดังนี้ กามภพทั้งสัญญาภพ และปัญจโวการที่อยู่ภายใน (คือรวมอยู่ในกามภพ) เป็น 2 รูปภพ ทั้งสัญญาภพ อสัญญาภพ เอกโวการภพและปัญจโวการภพ ที่อยู่ภายใน เป็น 2 อรูปภพทั้งสัญญาภพ เนวสัญญานาสัญญาภพและจตุโวการภพ ที่อยู่ภายในเป็น 2 ดังนี้ ภพจึงเป็น 6 พร้อมทั้งภพที่อยู่ภายใน อันมีเพราะปัจจัยคือกามุปาทาน ก็แล ภพที่มีเพราะปัจจัยคือกามุปาทาน เป็น 6 พร้อมทั้งภพที่อยู่ภายในฉันใด" แม้ภพที่มีเพราะปัจจัย คืออุปาทานที่เหลือก็เป็นอย่างละ 6 ฉันนั้นแล

(หน้าที่ 216)

ด้วยประการดังนี้ โดยแบ่งออก ภพที่มีเพราะปัจจัยคืออุปาทานจึงเป็น 24 พร้อมทั้งภพที่อยู่ภายใน

โดยรวมเข้า

ส่วนว่าโดยรวมเข้า มีวินิจฉัยว่า รวมกามภพและอุปปัตติภพที่อยู่ภายใน รูปภพและอรูปภพก็รวมเข้าอย่างนั้น ดังนี้จึงเป็นภพ 3 อันมีเพราะปัจจัยคืออุปาทาน จึงเป็น 12 พร้อมทั้งภพที่อยู่ภายใน

อีกนัยหนึ่ง กรรมที่มีผลเป็นกามภพ จัดเป็นกามภพอันมีเพราะปัจจัยคืออุปาทานโดยไม่แปลกกัน (คือไม่แยกประเภทอุปาทาน) ขันธ์ทั้งหลายที่เกิดเพราะกรรมนั้นโดยเฉพาะจัดเป็นอุปปัตติภพ ในรูปภพและอรูปภพก็นัยนี้ ด้วยประการฉะนี้ โดยรวมเข้าปริยายหนึ่ง ภพอันมีเพราะปัจจัยคืออุปาทานจึงเป็น 6 คือกามภพ 2 รูปภพ 2 อรูปภพ 2 พร้อมทั้งภพที่อยู่ภายใน

หรือว่าไม่แตะต้องการแยกเป็นกรรมและอุปปัตติภพเสีย ภพก็คงเป็น 3 โดยกามภพเป็นต้น พร้อมทั้งภพที่อยู่ภายใน

อนึ่งเล่า ไม่แตะต้องการแยกเป็นภพ 3 มีการภพเป็นต้นเสียภพก็เป็น 2 โดยเป็นกรรมภพและอุปปัตติภพ

ไม่แตะต้องการแยกเป็นกรรมภพและอุปปัตติภพเสียอีกเล่า ภพก็คงเป็น 1 เท่านั้น โดยเป็นภพ (เอกพจน์) ตามบทว่า อุปาทานปจฺจยา ภโว แล

วินิจฉัยโดยแยกออกและรวมเข้าซึ่งภพอันมีอุปาทานเป็นปัจจัยในบทนี้ พึงทารบดังกล่าวมาฉะนี้ประการ 1

วินิจฉัยโดยสิ่งไรเป็นของสิ่งไร

ข้อว่า "ยํ ยสฺส ปจฺจโย จ" ความว่า อนึ่ง ในบทว่า อุปาทานปจจยา ภโว อุปาทานไรเป็นปัจจัยแก่ภพไร บัณฑิตพึงทราบวินิจฉัยโดยประการที่สิ่งไรเป็นปัจจัยแก่สิ่งไรนั้นด้วย ถามว่า ก็ในบทนี้ สิ่งไรเป็นปัจจัยแก่สิ่งไรเล่า ?

(หน้าที่ 217)

ตอบว่า ทุกสิ่งที่เป็นปัจจัยแก่ทุกสิ่งแหละ

จริงอยู่ ปุถุชนเปรียบเหมือนคนบ้า เขาหาวิจารว่า สิ่งนี้ควร สิ่งนั้นไม่ควร ไม่ปรารถนาภพทุกภพด้วยอำนาจอุปาทานทุกข้อ แล้วทำกรรมทุกอย่างทีเดียว เพราะฉะนั้น อาจารย์บางเหล่ากล่าวคำใดว่า "รูปภพ อรูปภพย่อมไม่มีเพราะสีลัพพตุปาทาน" ดังนี้ คำนั้นจึงไม่ควรถือเอา แต่ควรถือว่า "ภพทั้งปวงย่อมมีได้เพราะอุปาทานทั้งปวง" ข้อนี้มีอย่างไร ?

อุปาทานเป็นปัจจัยแก่กามภพ

บุคคลบางคนในโลกนี้ คิดไปด้วยอำนาจการได้ยินสืบกันมาบ้าง ตามแบบอย่างที่ได้เห็นบ้างว่า "อันกามทั้งหลายนั้น ก็สมบูรณ์แต่ในตระกูลขัตติยมหาศาลเป็นต้นในมนุษยโลกและในกามาวจรเทวโลก 6 ชั้นเท่านั้น" ดังนี้แล้ว ถูกอสัปปุริสธรรมมีการฟังเรื่องอสัทธรรมเป็นต้น กล่อม (สงสัย) ใจเข้าสำคัญไปว่ากามทั้งหลายจะสำเร็จได้ด้วยการกระทำ (อย่าง) นี้ (คืออย่างที่ได้ยิน) เลยกระทำทุจริตมีกายทุจริตเป็นต้นไปตามอำนาจแห่งกามุปาทานเข้าก็ไดเพื่อ (ให้) ได้กามทั้งหลายนั้น เพราะทุจริตเต็มเข้า เขาก็ไปเกิดในอบายหรือมิฉะนั้น เมื่อปรารถนากามทั้งหลายที่ประสบเข้าหรือจะคุ้มครองกามทั้งหลายที่ได้มาก็ตาม ทำทุจริตมีกายทุจริตเป็นต้นเข้าด้วยอำนาจแห่งอุปาทาน (ก็ได้) เพราะทุจริตเต็มเข้าเขาก็ไปเกิดในอบาย

กรรมที่เป็นเหตุแห่งความอุบัติในอบายนั้นเป็นกรรมภพ ขันธ์ทั้งหลายที่เกิดเพราะกรรมนั้นก็เป็นอุปปัตติภพของบุคคลนั้น ส่วนสัญญาภพและปัญจโวการภพก็รวมอยู่ในนั้นนั่นเอง

ฝ่ายบุคคลอีกคนหนึ่งเป็นผู้มีความรู้เพิ่มพูนขึ้นด้วยสัปปุริสธรรมทั้งหลายมีการได้ฟังสัทธรรมเป็นต้นแล้ว สำคัญว่ากามทั้งหลายจะสำเร็จได้ด้วยการกระทำ (อย่างนี้) ก็กระทำสุจริตมีกายสุจริตเป็นต้น ด้วยอำนาจกามุปาทาน เพราะสุจริตเปี่ยมเข้า เขาก็ไปเกิดในหมู่เทพบ้าง ในหมู่มนุษย์บ้าง

กรรมอันเป็นเหตุแห่งความอุบัติในหมู่เทพและมนุษย์นั้นเป็นกรรมภพ ขันธ์ทั้งหลายที่เกิดเพราะกรรมนั้นเป็นอุปปัตติภพของบุคคลนั้น ส่วนสัญญาภพและปัญจโวการภพก็รวมอยู่ในนั้นเหมือนกัน

(หน้าที่ 218)

กามุปาทานเป็นปัจจัยแก่กรรมภพอันมีแตกต่างกัน (หลายประเภท เช่น สุคติ ทุคติ) พร้อมทั้งภพที่อยู่ภายใน ดังนี้

กามุปาทานเป็นปัจจัยแก่รูปภพและอรูปภพ

บุคคลอีกคนหนึ่งได้ฟังหรือคาดคะเนเอาก็ตามว่า กามทั้งหลายในรูปภพและอรูปภพสมบูรณ์ ว่ากามในกามภพนั้นก็ทำรูปสมาบัติและอรูปสมาบัติให้เกิดขึ้นด้วยอำนาจกามุปาทานนั่นเอง แล้วก็ไปเกิดในโลกรูปพรหมและอรูปพรหมด้วยกำลังแห่งสมาบัติ

กรรมอันเป็นเหตุแห่งความอุบัติในพรหมโลกนั้น เป็นกรรมภพ ขันธ์ทั้งหลายที่เกิดเพราะกรรมนั้นเป็นอุปปัตติภพของบุคคลนั้น ส่วนสัญญาภพ อสัญญาภพ เนวสัญญานาสัญญาภพ เอกโวการภพ จตุโวการภพและปัญจโวการภพ ก็รวมอยู่ในนั้นแหละ

กามุปาทานเป็นปัจจัยแก่รูปภพและอรูปภพอันมีแตกต่างกัน (หลายประเภท) พร้อมทั้งภพที่อยู่ภายในก็ได้ดังนี้

ทิฏฐุปาทานเป็นปัจจัยแก่ภพทั้ง 3

บุคคลอีกผู้หนึ่งเห็นไปว่า "อันอัตตภาพนี้ เมื่อภพแห่งกามาวจรสมบัติ หรือรูปภพอรูปภพอย่างใดอย่างหนึ่งก็ตามขาดแล้วก็เป็นอันขาดสูญ" ดังนี้แล้วยึดถืออุจเฉททิฏฐิ แล้วก็ทำกรรมที่ไปกันได้กับทิฏฐินั้น

กรรมนั้นเป็นกรรมภพ ขันธ์ทั้งหลายที่เกิดเพราะกรรมนั้นก็เป็นอุปัตติภพของบุคคลนั้น ส่วนภพทั้งหลายมีสัญญาภพเป็นต้นก็รวมอยู่ในนั้นแหละ

ทิฏฐุปาทานเป็นปัจจัยแกภพทั้ง 3 คือทั้งกามภพ รูปภพและอรูปภพอันมีแตกต่างกัน (หลายประเภท) พร้อมทั้งภพที่อยู่ภายในก็ได้ดังนี้

อัตตวาทุปาทานเป็นปัจจัยแก่ภพทั้งหลาย

บุคคลอีกผู้หนึ่ง เห็นว่า "อันอัตตภาพนี้ ย่อมจะมีความสุขปราศจากความเร่าร้อนอยู่ในภพแห่งกามาวจรสมบัติ หรือในรูปภพและอรูปภพแห่งใดแห่งหนึ่งก็ได้ ดังนี้แล้วก็ทำกรรมที่ไปกันได้กับความเห็นนั้นด้วย (อำนาจ) อัตตาวาทุปาทาน

(หน้าที่ 219)

กรรมนั้นเป็นกรรมภพ ขันธ์ทั้งหลายที่เกิดเพราะกรรมนั้นก็เป็นอุปัตติภพของบุคคลนั้น ส่วนสัญญาภพเป็นต้นก็รวมอยู่ในนั้นแหละ

อัตตวาอุปาทานเป็นปัจจัยแก่ภพทั้งหลาย 3 อันมีแตกต่างกัน (หลายประเภท) พร้อมทั้งที่อยู่ภายในดังนี้

สีลัพพตุปาทานเป็นปัจจัยแกภพทั้ง 3

บุคคลผู้หนึ่งเห็นว่า "อันความสุขย่อมถึงซึ่งความเต็มเปี่ยมแก่บุคคลผู้ทำศีลพรตนี้ให้บริบูรณ์ ในภพแห่งกามาวจรสมบัติก็ตาม ในรูปภพและอรูปภพแห่งใดแห่งหนึ่งก็ตาม" ดังนี้แล้ว ก็ทำกรรมที่ไปกันได้กับความเห็นนั้นด้วยอำนาจสีลัพพตุปาทาน

กรรมนั้นเป็นกรรมภพ ขันธ์ทั้งหลายที่เกิดเพราะกรรมนั้นก็เป็นอุปปัตติภพของบุคคลนั้น ส่วนสัญญาภพเป็นต้นก็รวมอยู่ในนั้นเหมือนกัน

แม้สีลัพพตุปาทานก็เป็นปัจจัยแก่ภพทั้ง 3 อันมีแตกต่างกัน (หลายประเภท) พร้อมทั้งภพที่อยู่ภายในได้ดังนี้แล

วินิจฉัยโดยประการที่สิ่งไรเป็นปัจจัยแก่สิ่งไร ในบทนี้ พึงทราบดังกล่าวมาฉะนี้

หากมีคำถามว่า "ก็ในบทนี้ อุปาทานอะไรเป็นปัจจัยแก่ภพอะไรอย่างไร" ดังนี้ไซร้คำแก้พึงมีว่า

คาถาสังเขปปัจจยนัย

บัณฑิตพึงทราบเถิดว่า อุปาทานเป็นอุปนิสสย

ปัจจัยแก่รูปภพและอรูปภพ อนึ่ง มันเป็นปัจจัยแก่

กามภพ โดยปัจจัยทั้งหลายมีสหชาติปัจจัยเป็นอาทิ

ขยายความ

ขยายความว่า อุปาทานทั้ง 4 อย่างนั้น เป็นปัจจัยประเภทเดียว โดยอุปนิสสยปัจจัยเท่านั้นแก่รูปภพและอรูปภพ คือแก่กรรมเฉพาะที่เป็นกุศลในกรรมภพ อันนับเนื่องใน

(หน้าที่ 220)

กามภพและแก่อุปปัตติภพด้วย (ส่วน) ในกามภพมันเป็นปัจจัยโดยสหชาตปัจจัยเป็นต้นซึ่งแยกออกเป็นสหชาตะ อัญญมัญญะ นิสสยะ สัมปยุตตะ อัตถิ อวิคตะและเหตุปัจจัยแก่อกุศลกรรมภพ อันสัมปยุตกับตน แต่เป็นปัจจัยโดยอุปนิสสยปัจจัยอย่างเดียว แก่กรรมภพที่เป็นวิปปยุต

นี่เป็นกถาอย่างพิสดารในบทว่า อุปาทานปจฺจยา ภโว

ในบททั้งหลายมีบทว่า ภวปจจยา ชาติ เป็นอาทิ การมีวินิจฉัยคำมีคำว่า ชาติ เป็นต้น พึงทราบโดยนัยที่กล่าวแล้วในสัจจนิทเทสเถิด ส่วนคำว่า ภโว ในบทนี้หมายเอากรรมภพอย่างเดียว เพราะกรรมภพนั้นเป็นปัจจัแก่ชาต อุปปัตติภพหาเป็นปัจจัยไม่ ก็แลกรรมภพนั้นเป็นปัจจัย 2 อย่าง โดยเป็นกัมมปัจจัยและอุปนิสสยปัจจัยเท่านั้นแล

หากคำถามจะพึงกล่าวว่า "ก็ข้อที่ว่า ภพเป็นปัจจัยแก่ชาตินั่นจะพึงทราบได้อย่างไร" ดังนี้ไซร้ คำตอบพึงมีว่า "พึงทราบได้โดยที่แม้เมื่อปัจจัยภายนอกมีเสมอกัน ก็ปรากฏความแปลกกันมีความเป็นผู้ทรามและเป็นผู้ประณีตเป็นต้นได้ จริงอยู่ แม้ความเสมอกันแห่งปัจจัยภายนอกทั้งหลายมรสุกกโลหิต (เลือดขาว) ของชนกชนนี และอาหารเป็นต้นมีอยู่ ความแปลก กันมีความเป็นผู้ทรามและเป็นผู้ประณีตเป็นต้นของสัตว์ทั้งหลาย แม้เป็นลูกแฝดก็เห็นได้อยู่อันความแปลกกันแห่งสัตว์ทั้งหลายนั้นมิใช่ไม่มีเหตุ เพราะไม่มีไปทุกเมื่อและทุกคน มิใช่มีเหตุอื่นไปจากกรรมภพ เพราะไม่มีเหตุอย่างอื่นในสันดานเฉพาะของสัตว์ทั้งหลายผู้เกิดมาเพราะกรรมภพนั้น เหตุฉะนั้นมันจึงมีกรรมเป็นเหตุแท้ เพราะกรรมเป็นเหตุแห่งความ แปลกกันมีความเป็นผู้ทรามและเป็นผู้ประณีตเป็นต้น เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า "กรรมย่อมจำแนกสัตว์ทั้งหลาย นี่คืออะไร คือย่อมจำแนกโดยความเป็นผู้ทรามและเป็นผู้ประณีต" ดังนี้ เหตุนั้นข้อที่ว่า "ภพเป็นปัจจัยแก่ชาติ" นั่นจึงควรทราบได้ (โดยนัยดังกล่าวมาฉะนี้)

ก็แล เหตุใด เมื่อชาติไม่มีอยู่ ขึ้นชื่อว่าชราและมรณะ หรือ ธรรมทั้งหลายมีโสกะเป็นต้นก็ย่อมไม่มี แต่เมื่อชาติมีอยู่ ชรามรณะและธรรมทั้งหลายมีโสกะเป็นต้นที่เนื่องกับ

(หน้าที่ 221)

ความแก่ ความตาย (ของตน) ก็ย่อมมีแก่คนเหล่านั้นผู้ถูกทุกขธรรมกล่าวคือชรามรณะต้องเอาบ้าง ที่ไม่เนื่อง (กับความแก่ความตายของตน) ก็ย่อมมีแก่คนเหล่านั้นผู้ถูกทุกขธรรมนั้น ๆ (มีญาติตายเป็นต้น) กระทบเอาบ้าง เพราะเหตุนั้น แม้ชาตินี่ก็พึงทราบว่า เป็นปัจจัยแก่ชรามรณะและแก่ธรรมทั้งหลายมีโสกะเป็นต้นด้วย อันชาตินั้นเป็นปัจจัยอย่างเดียวโดยเป็นปัจจัยยอด คืออุปนิสสยปัจจัยเท่านั้นแล

นี่เป็นกถาอย่างพิสดารในบททั้งหลายมีบทว่า ภวปจจยา ชาติ เป็นต้น

ภวจักร – ล้อแห่งภพ

ก็เหตุใด ในปฏิจจสมุปบาทเทศนานี้ ปกิณณกธรรมมีโลกเป็นต้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ในเบื้องปลาย เหตุนั้น อวิชชาที่ตรัสไว้ในเบื้องต้นแห่งภวจักรนั่นว่า "อวิชชาปจจยา สงขารา" ดังนี้ อวิชชานั้นก็เป็นไป (คือมีได้) เพราะโสกะเป็นต้น (นั่นเอง)

อันว่าภวจักรนี้ บัณฑิต พึงทราบว่า มีเบื้องต้น ไม่

ปรากฏ ปราศจากบุคคลผู้สร้างและบุคคลผู้เสวย (ผล)

ว่างเปล่าโดยสุญญตา 12 ประการ ย่อมหมุนไปเสมอ

เป็นเนืองนิตย์ (จนกว่าจะบรรลุพระอรหันต์)

หากมีคำปุจฉาว่า "ก็ในปฏิจจสมุปบาทเทศนานี้ อวิชชามีได้เพราะโสกะเป็นต้นอย่างไรภวจักรนี้มีเบื้องต้นไม่ปรากฏอย่างไร ปราศจากบุคคลผู้สร้างและบุคคลผู้เสวย (ผล) อย่างไรว่างเปล่าโดยสุญญตา 12 ประการอย่างไร" ดังนี้ไซร้

อวิชชามีเพราะโสกะเป็นต้นได้

คำว่าวิสัชชนาพึงมีว่า "ก็ในปฏิจจสมุปบาทธรรมทั้งหลายนี้ โสกะ ทุกขะ โทมนัส อุปายาส ย่อมมีแก่บุคคลผู้ยังไม่พรากจากอวิชชา อันปริเทวะเล่าก็ย่อมมีแก่บุคคลผู้หลงเพราะเหตุนั้นประการแรก เมื่อธรรมมีโสกะเป็นต้นเหล่านั้น เป็นไปแล้วอวิชชาก็เป็นอันมีอยู่เอง

(หน้าที่ 222)

อีกประการหนึ่งพระมีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า "ความเกิดขึ้นแห่งอวิชชาย่อมมีความเกิดขึ้นแห่งอาสวะดังนี้ ก็แล ธรรมทั้งหลาย มีโสกะเป็นต้นนั่น ก็ย่อมมีเพราะความเกิดขึ้นแห่งอาสวะ ข้อนี้มีอย่างไร ? อันดับแรก ในกรณีที่พลัดพรากจากวัตถุกาม โสกะก็เป็นอันเกิดขึ้นเพราะกามาสวะ ดังพระบาลีว่า

ตสฺส เจ กามยานสฺส ฯเปฯ สลลฺวิทฺโธว รุปฺปติ

หากว่า เมื่อชนผู้นั้นเกิดความพอใจรักใคร่กาม

เหล่าใดอยู่ กามเหล่านั้นมาพรากไปเสียไซร้ เขาย่อม

โศกาดุจถูก ลูกศรเสียบ

และดังพระบาลีว่า "กามโต ชายตี โสโก ความโศกย่อมเกิดแต่กาม" ดังนี้

ธรรมทั้งหลายมีโสกะเป็นต้นทั้งปวงนั่น ย่อมเป็นธรรมเกิดขึ้นเพราะทิฏฐาสวะด้วย ดังบาลีว่า "ตสส อหํ รูปํ ฯเปฯ โทมนสสปายาสา โสกะ ปริเทวะ ทุกขะ โทมนัสและอุปายาส ย่อมเกิดขึ้นแก่บุคคลนั้น ผู้ยืนกราน (ด้วยทิฏฐิ) ว่า เราเป็นรูป รูปเป็นของเรา" เพราะความที่รูปแปรผันและเปลี่ยนแปรไป" ดังนี้เป็นต้น

อนึ่ง ธรรมเหล่านั้นเกิดขึ้นเพราะความเกิดขึ้นแห่งทิฏฐาสวะได้ฉันใด ก็ย่อมเกิดขึ้นเพราะความเกิดขึ้นแห่งภวาสวะก็ได้ฉันนั้นดังพระบาลีว่า "แม้เทวดาเหล่านั้นใดผู้มีอายุยืนผิวพรรณงาม มากไปด้วยความสุข สถิตอยู่ในวิมานอันสูงตลอดกาลยาวนาน แม้เทวดาเหล่านั้น ได้ฟังธรรมเทศนาของตถาคตแล้วยังต้อง (คือรู้จัก) กลัวสะดุ้งใจ สลดใจ" (ธรรมเหล่านั้นเกิดแก่เทวดาทั้งหลาย เพราะความเกิดขึ้นแห่งสภาสวะ) ดังความโศกเป็นต้นเกิดแก่เทวดาทั้งหลายผู้ถูกมรณภัยคุกคาม เพราะเห็นปุพพนิมิต 5 ฉะนั้น

อนึ่ง ธรรมเหล่านั้นเกิดเพราะความเกิดขึ้นแห่งสภาวะได้ฉันใด ก็ย่อมเกิดเพราะความเกิดขึ้นแห่งอวิชชาสวะก็ได้ฉันนั้น ดังพระบาลีว่า "ดูกรภิกษุทั้งหลาย คนเขลานั้นนั่นแลย่อมได้เสวยทุกข์โทมนัส 3 ประการในทิฏฐธรรมนี่แหละ" ดังนี้เป็นต้น

เพราะเหตุที่ธรรมเหล่านั้นย่อมมีเพราะความเกิดขึ้นแห่งอาสวะดังกล่าวมาฉะนี้ ธรรมเหล่านั้น เมื่อมีขึ้นจึงยังอาสวะอันเป็นเหตุแห่งอวิชชาให้มีด้วย และครั้นอาสวะทั้งหลายมีแล้วแม้อวิชชาก็เป็นอันมีด้วยแท้ เพราะเมื่อปัจจัยมีธรรมที่เกิดแต่ปัจจัยก็ดี (ต้อง) มีแล

(หน้าที่ 223)

ในปฏิจจสมุปบาทเทศนานี้ อวิชชาบัณฑิตพึงทราบว่าย่อมมีได้ เพราะธรรมทั้งหลายมีโสกะเป็นต้น โดยนัยดังกล่าวมานี้ เป็นประการแรก

ภวจักรมีเบื้องต้นไม่ปรากฏ

ประการต่อไป เพราะความที่เมื่อปัจจัยมี ธรรมที่เกิดแต่ปัจจัย (ต้อง) มีดังนี้ ครั้นอวิชชามีขึ้นแล้ว ความจบสิ้นก็ไม่มี เพราะความสืบต่อกันแห่งเหตุและผลคือสังขารทั้งหลายก็มีข้นเพราะปัจจัยคืออวิชชาอีก วิญญาณก็มีขึ้นเพราะปัจจัยคือสังขารอีกอย่างนี้เป็นต้น เหตุใด เหตุนั้น ภวจักรมีองค์ 12 อันหมุนไปด้วยอำนาจความสัมพันธ์กันแห่งเหตุและผลนั้น จึงเป็นอันสำเร็จ (คือเป็นได้) ว่า "มีเบื้องต้นไม่ปรากฏ"

หากคำท้วงพึงมีว่า "เมื่อเป็นเช่นนั้น (คือเมื่อไม่มีอะไรเป็นตัวตนเช่นนั้น) การกล่าวความที่ภวจักรมีเบื้องต้นว่า "อวิชชาปจจยา สงขารา" นี่ก็ผิด (นะซิ) ดังนี้ไซร้ พึงแก้ว่า นี่ไม่ใช่การกล่าวความที่ภวจักรมีเบื้องต้นดอก แต่นั่นเป็นการกล่าวธรรมที่เป็นตัวประธาน (ต่างหาก) ด้วยว่าอวิชชาเป็นประธานแห่งวัฏฏะ 3 จริงอยู่เพราะยึดอวิชชาไว้กิเลสวัฏที่เหลือและวัฏอีก 2 มีกรรมวัฏเป็นต้นก็พันเอาคนเขลาเข้าด้วย ดุจเพราะจับหัวงูไว้ลำตัวงูที่เหลือก็พันเอาแขน (คนจับ) เข้าฉะนั้น แต่เมื่อตัดอวิชชาขาดเสร็จแล้ว ความพ้นจากธรรมเหล่านั้นก้มีขึ้น ดุจเมื่อตัดหัวงูสำเร็จแล้ว ความพ้นจากความเป็นแขนที่ถูกงูพันก็มีขึ้นฉะนั้น ดังพระบาลีว่า "ความดับแห่งสังขารย่อมมี เพราะความดับโดยสำรอกออกอย่างไม่เหลือแห่งอวิชชานั่นแล" ดังนี้เป็นต้น

นี่เป็นการกล่าวธรรมอันเป็นตัวประธาน ที่เมื่อบุคคลยึดอยู่ ย่อมเป็นผู้ถูกผูกพัน เมื่อปล่อยเสีย ความพ้นย่อมมี มิใช่กล่าวความที่ภวจักรมีเบื้องต้นดังนี้แล

ภวจักรนี้ บัณฑิตพึงทราบว่า มีเบื้องต้นไม่ปรากฏ ดังกล่าวมาฉะนี้

ภวจักรปราศจากผู้สร้างผู้เสวย

ภวจักรนี้นั้น เพราะเหตุที่ความหมุนไปแห่งธรรมทั้งหลายมีสังขารเป็นอาทิ ย่อมมีเพราะเหตุทั้งหลายมีอวิชชาเป็นต้น จึงว่างเว้นจากผู้สร้างสังสาระคือพรหมเป็นต้น ซึ่งกำหนดเอา(เอง) อย่างนี้ว่า "พรหมา พระพรหม มหาพรหมา ท้าวมหาพรหม

(หน้าที่ 224)

เสฏโฐ ท่านผู้เป็นใหญ่ สชชิตา ท่านผู้บันดาล" อื่นไปจากเหตุมีอวิชชาเป็นต้นนั้นก็ดีจากผู้เสวยสุขและทุกข์คืออัตตาซึ่งกำหนดกันเกา (เอง) อย่างนี้ว่า "ก็แลอัตตาของเรานี้นั้นแลเป็น วโท ผูกล่าว เวเทยโย ผู้เสวย" ฉะนี้ก็ดี

ภวจักร บัณฑิตพึงทราบว่าปราศจากผู้สร้างและผู้เสวย ดังกล่าวมานี้

ภวจักรว่างเปล่าโดยสุญญตา 12 ประการ

อีกประการหนึ่ง ในปฏิจจปมุปบาทธรรมเหล่านี้ อวิชชาชื่อว่าว่างจากความยั่งยืน เพราะมีความเกิดขึ้นเพราะมีความเลื่อมใสไปเป็นธรรมดา 1 (ว่าง) จากความงาม เพราะเป้นสังกิเลสสิกธรรม เหตุเป้นธรรมเศร้าหมอง 1 (ว่าง) จากความเป็นสุข เพราะถูกความเกิดและความเสื่อมไปบีบคั้น 1 (ว่าง) จากความเป็นอัตตา คือที่ (หมายความว่า) เป็นสิ่งบังคับได้ เพราะมีความเป็นไปเนื่องด้วยปัจจัย 1 แม้องค์ทั้งหลายมีสังขารเป็นต้นก้อย่างนั้น เหตุใด นัยหนึ่ง อวิชชา มิใช่ตน มิใช่ของตน มิใช่มีในตน แม้องค์ทั้งหลาย มีสังขารเป็นต้นก้อย่างนั้น เหตุใด เหตุนั้น ภวจักนั่น บัณฑิตพึงทราบเถิดว่า ว่างเปล่าโดยสุญญตา 1- ประการ (โดยนัยดังกล่าวมา)

มูลและกาลแห่งภวจักร

ก็แลครั้นทราบอย่างนี้แล พึงทราบอีกว่า

คาถาสังเขปมูลและกาล

อวิชชาและตัณหาเป็นมูลแห่งภวจักรนั้น กาล

ของมันมี 3 มีอดีตกาลเป็นต้น องค์ในกาล 3 นั้นโดย

สรุปก็เป็น 2 เป็น 8 และเป็น 2 เท่านั้นเอง

ขยายความ

ความว่า ธรรม 2 คืออวิชชาและตัณหา พึงทราบว่าเป็นมูลแห่งภวจักรนั้นนั่นแลภวจักรนั้นเล่า ก็จัดเป็น 2 ส่วน คือที่มีอวิชชาเป็นมูลมีเวทนาเป็นที่สุด (เป็นภวจักร 1) เพราะนำ (ปัจจุบันผล) มาแต่ส่วนเบื้องต้น (คือส่วนอดีต) ที่มีตัณหาเป็นมูลมีชรามรณะเป็นที่สุด

(หน้าที่ 225)

(เป็นภวจักร 1) เพราะต่อกับ (ผล) ส่วนเบื้องปลาย (คืออนาคต) ในภวจักร 2 ส่วนนั้นภวจักรส่วนแรกกล่าวด้วยอำนาจบุคคลทิฏฐิจริต ส่วนหลังกล่าวด้วยอำนาจบุคคลตัณหาจริตด้วยว่าอวิชชาเป็นสังขารนายิกา (ผู้นำไปในสังสาร) สำหรับบุคคลทิฏฐิจริตทั้งหลาย ตัณหาเป็นสังสารนายิกาสำหรับบุคคลตัณหาจริตทั้งหลาย นัยหนึ่งภวจักรที่ 1 กล่าวเพื่อถอนอุจเฉททิฏฐิ เพราะประกาศความไม่ขาดสูญแห่งเหตุทั้งหลายโดยความเกิดขึ้นมาแล้วทั้งหลายนัยหนึ่ง ภวจักรกล่าวด้วยอำนาจคัพภเสยยกสัตว์เพราะแสดงความหมุนไปแห่งธรรมตามลำดับ ภวจักรหลังกล่าวด้วยอำนาจโอปปาติกสัตว์ เพราะแสดงความเกิดขึ้นพร้อมกัน (แห่งอุปปัตติภพและขันธ์)

ส่วนกาลของภวจักรนั้นมี 3 คือ อดีต ปัจจุบันและอนาคต ในกาล 3 นั้น ว่าโดยที่มาในบาลีโดยรูป องค์ 2 คืออวิชชาและสังขาร พึงทราบว่าเป็นอดีตกาล องค์ 8 มีวิญญาณ เป็นต้นมีภพเป็นที่สุด พึงทราบว่าเป็นปัจจุบันกาล องค์ 2 คือชาติและชรามรณะ พึงทราบว่าเป็นอนาคตกาล

สนธิ 3 สังคหะ 4 อาการ 20 วัฏฏะ 3 แห่งภวจักร

พึงทราบแม้ดังนี้อีกว่า

ภวจักรนั่นสนธิ (เงื่อนต่อ) 3 มีคำว่าเหตุและผล

ผลเหตุเป็นบทหน้าและมีสังคหะ (คือสังเขป) 4 ประเภท

มีซี่กำคืออาการ 20 มีวัฏฏะ (วงกลม) 3 ย่อมหมุนไป

ไม่หยุด (จนกว่าจะถึงอรหัตตมรรค)

ขยายความ

สนธิ 3

ในสนธิ 3นั้น เงื่อนอันหนึ่งในระหว่างสังขารกับปฏิสนธิวิญญาณ ชื่อว่า เหตุผลสนธิ (ต่อเหตุกับผล) เงื่อนอันหนึ่งในระหว่างเวทนากับตัณหา ชื่อว่า ผลเหตุสนธิ (ต่อผลกับเหตุ) เงื่อนอันหนึ่งในระหว่างภพกับชาติ ชื่อว่า เหตุผลสนธิ (ต่อเหตุกับผล) ภวจักรนี้บัณฑิตพึงทราบว่า มีสนธิ 3 มีอำนาจเหตุผลและเหตุเป็นบทหน้าอย่างนี้แล

(หน้าที่ 226)

สังคหะ 4

ส่วนสังคหะแห่งภวจักรนั้น กำหนดด้วยองค์ต้นกับปลายแห่งสนธิทั้งหลายเป็น 4 คืออย่างไรบ้าง คืออวิชชาและสังขารเป็นสังคหะที่ 1 วิญญาณ นามรูป สฬายตนะ ผัสสะ เวทนา เป็นสังคหะที่ 2 ตัณหา อุปาทาน ภพเป็นสังคหะที่ 3 ชาติชรามรณะเป็นสังคหะที่ 4 ภวจักรนี้บัณฑิตพึงทราบว่ามีสังคหะ 4 ประเภท ดังนี้แล

อาการ 20

อนึ่ง ภวจักรนี้ บัณฑิตพึงทราบว่ามีอาการ 20 โดยซี่กำกล่าวคืออาการ 20 นั่นคือ

คาถาสังเขปอาการ 20

เหตุในกาลล่วงแล้ว 5 ผลในกาลบัดนี้ 5 เหตุ

ในกาลบัดนี้ 5 ผลในกาลต่อไป 5

ขยายความ

อดีตเหตุ 5

ใน 4 ข้อนั้น ข้อว่า "เหตุในกาลล่วงแล้ว 5" ขยายความว่า ชั้นแรก (อดีตเหตุนั้น) ก็กล่าวเอาธรรม 2 ประการ คืออวิชชากับสังขารนี้เท่านั้น แต่เพราะคนไม่รู้ย่อมทะเยอทะยาน คนทะเยอทะยานย่อมถือมั่น เพราะความถือมั่นของเขาเป็นปัจจัย ภพก็มีขึ้น เพราะฉะนั้น แม้ตัณหา อุปาทานและภพ ก็จึงถูกรวมเข้าด้วย เหตุนั้นพระธรรมเสนาบดีสารีบุตรจึงกล่าวไว้ว่า "ความหลงในปุริมกรรมภพเป็นอวิชชา เจตนาอันประมวลไว้ในปุริมกรรมภพเป็นสังขาร ความใคร่ในปุริมกรรมภพเป็นตัณหา ความข้องแวะในปุริมกรรมภพเป็นอุปาทาน เจตนาในปุริมกรรมภพเป็นภพ ผลธรรม 5 ประการดังกล่าวนี้ ในปุริมกรรมภพ ย่อมเป็นปัจจัยแก่ ปฏิสนธิในภพนี้"

อรรถ (แห่งบาลีนั้น) พึงทราบดังนี้ว่า ในบทเหล่านั้น บทว่า "ในปุริมกรรมภพ" คือในกรรมภพที่มีมาก่อน หมายความว่า ในกรรมภพที่ได้ทำมาในชาติที่ล่วงแล้ว

(หน้าที่ 227)

คำว่า "ความหลงเป็นอวิชชา" ความว่า ความหลงในธรรมเกป็นที่ตั้งแห่งความหลงทั้งหลายมีทุกข์เป็นต้นในกาลนั้นอันใด บุคคลผู้หลงแล้วทำกรรมด้วยความหลงอันใด ความหลงอันนั้นเป้นอวิชชา

คำว่า "เจตนาอันประมวลไว้เป็นสังขาร" ไดแก่เจตนาดวงแรกๆ ของบุคคลผู้ทำกรรมนั้น ดังเช่นเจตนาดวงแรกๆ ที่เปิดขึ้นแก่ทายกผู้ยังจิตให้เกิดขึ้นว่าเราจักให้ทาน แล้วตระเตรียมเครื่องอุปกรณ์แห่งทานทั้งหลายอยู่เดือนหนึ่งก็ดี ปีหนึ่งก็ดี ส่วนเจตนาของทายกนั้นผุ้วางทักษิณลงในมือของปฏิคาหกทั้งหลาย เรียกว่าภพ นัยหนึ่งเจตนาในชวนะ 6 ที่เป็นจิตมีอาวัชชนะเดียว ชื่อว่าเจตนาอันประมวลไว้ นับเป้นสังขาร เจตนาในชวนะที่ 7 เป็นภพ หรือมิฉะนั้น เจตนาทุกดวงเป็นภพ ธรรมทั้งหลายที่สัมปยุต (กับเจตนาเหล่านั้น) ชื่อว่า เจตนาอันประมวลไว้เป็นสังขาร

คำว่า "ความใคร่เป็นตัณหา" ความว่า เมื่อบุคคลทำกรรมอยู่ ความใคร่คือความ ปรารถนาในอุปปัตติภพ อันเป็นผลของกรรมนั้นอันใดความใคร่อันนั้นชื่อว่าตัณหา

คำว่า "ความข้องแวะเป็นอุปาทาน" ความว่า การที่ทำกรรมอันเป็นปัจจัยแก่กรรมภพนี้แล้วข้องแวะคือถือเอายึดเอาอันเป็นไปโดยนัยว่า "เราจัก (ไปเกิด) เสพกามทั้งหลายในที่ชื่อโน้น (หรือว่า) เราจักขาดสูญ (คือไม่เกิด)" ดังนี้เป็นต้นอันใด ความข้องแวะอันนี้ชื่อว่า อุปาทาน

คำว่า "เจตนาเป็นภพ" คือเจตนาที่กล่าวแล้วในที่สุดแห่งเจตนาอันประมวลไว้เป็นภพ

ปัจจุบันผล

ข้อว่า "ผลในกาลบัดนี้ 5" ได้แก่ องค์มีวิญญาณเป็นต้นมีเวทนาเป็นที่สุดอันมาในบาลีนั่นเอง ดังบาลีว่า "ปฏิสนธิในปัจจุบันภพนี้เป็นวิญญาณ ความก้าวลง (ในครรภ์) ในปัจจุบันภพนี้เป็นผัสสะ ความเสวย (วิบาก) ในปัจจุบันภพนี้ เป็นเวทนา ธรรม 5 ประการดังกล่าวนี้มีในอุปปัตติภพนี้ เพราะกรรมที่ทำไว้ในภพก่อนเป็นปัจจัย"

(หน้าที่ 228)

อรรถ (แห่งบาลีนั้น) พึงทราบดังนี้ว่า ในคำเหล่านั้น คำว่า ปฏิสนธิเป็นวิญญาณ หมายความว่าสิ่งใดท่านเรียกว่าปฏิสนธิ เพราะเกิดขึ้นด้วยอำนาจการเชื่อมต่อภพอื่น (กับปัจจุบันภพนี้) สิ่งนั้นเป็นวิญญาณ

คำว่า "ความก้าวลงเป็นนามรูป" ความว่าความก้าวลงสู่รูปธรรมและอรูปธรรมในครรภ์ ราวกะว่ามา (แต่ที่อื่น) แล้วเข้าไป (ในครรภ์) อันใด อันนี้เป็นนามรูป

คำว่า "ประสาทเป็นอายตนะ" นี่ท่านกล่าวด้วยอำนาจอายตนะ 5 มีจักขายตนะเป็นต้น

คำว่า "ความเสวยเป็นเวทนา" ความว่า ความเสวยวิบากอันเกิดขึ้นร่วมกับ ปฏิสนธิวิญญาณ ก็ดี กับผัสสะที่มีสฬายตนะเป็นปัจจัย ก็ดี ความเสวยวิบากนั้นเป็นเวทนา

ปัจจุบันเหตุ 5

ข้อว่า "เหตุในกาลบัดนี้ 5" ได้แก่ ปัจจยธรรมมีตัณหาที่มาในบาลี ก็ตัณหาอุปาทานและภพ แต่เมื่อภพถูกถือเอาแล้ว สังขารอันเป็นบุพภาคของภพนั้น หรือว่าที่สัมปยุตกับภพนั้น ก็เป็นอันถือเอาด้วยและด้วยการถือเอาตัณหาอุปาทาน อวิชชาอันสัมปยุตกับตัณหาอุปาทานนั้น หรือว่าที่ทำเป็นเหตุทำกรรแห่งคนหลงก็เป็นอันถือเอาด้วยดังนี้แหละ ปัจจุบันเหตุจึงเป็น 5 เหตุนั้นพระสารีบุตรจึงกล่าวว่า "เพราะความที่อายตนะทั้งหลายงอมแล้วในภพนี้ ความหลงเป้นอวิชชา เจตนาอันพยายามเป็นสังขาร ความใครเป็นตัณหา ความข้องแวะเป็นอุปาทาน เจตนาเป็นภพธรรม 5 ประการดังกล่าวนี้ในกรรมนี้ ย่อมเป็นปัจจัยแก่ปฏิสนธิในภพต่อไป

ในคำเหล่านั้น คำว่า "เพราะความที่อายตนะทั้งหลายงอมแล้วในภพนี้" ท่านแสดงความลุ่มหลงในเวลาทำกรรมแห่งบุคคลผู้มีอายตนะงอมแล้ว คำที่เหลือมีเนื้อความชัดเจนแล้ว

อนาคตผล 5

ข้อว่า "ผลในกาลต่อไป 5" ได้แก่ องค์ 5 มีวิญญาณเป็นต้น ธรรม 5 นั้น ท่านกล่าวโดยถือเอาว่า เป็นชาติ ส่วนชรามรณะก็คือชรามรณะแห่งธรรมเหล่านั้นนั่นเอง เหตุนั้น

(หน้าที่ 229)

พระสารีบุตรจึงกล่าวว่า "ปฏิสนธิในภพต่อไปเป็นวิญญาณ ความก้าวลง (ในครรภ์) ในภพต่อไปเป็นนามรูป ประสาทในภพต่อไปเป็นอายตนะ ภาวะที่กระทบ (อารมณ์) ในภพต่อไปเป็น ผัสสะ ความเสวย (ผล) ในภพต่อไปเป็นเวทนา ธรรม 5 ประการดังกล่าวนี้ มีอุปปัตติภพต่อไป เพราะกรรมที่ทำในภพนี้เป็นปัจจัย"

ภวจักรนี้นี้มีซี่กำคืออาการ 20 ดังกล่าวมาฉะนี้

วัฏฏะ 3

ส่วนในข้อว่า "ภวจักรมีวัฏฏะ 3 หมุนไปไม่หยุด" นี้มีอรรถาธิบายว่า ภวจักรนี้มีวัฏฏะ 3 โดยวัฏฏะ 3 นี้ คือ สังขารและภพเป็นกรรมวัฏ อวิชชาตัณหาและอุปาทานเป็น กิเลสวัฏ วิญญาณ นามรูป สฬายตนะ และเวทนาเป็นวิปากวัฏ พึงทราบเถิดว่า กิเลสวัฏยังไม่ขาดลงตราบใด ก็ชื่อว่า หมุน เพราะเป็นไปรอบแล้วรอบเล่า ชื่อว่าไม่หยุด เพราะมีปัจจัยยังไม่ขาดลงตราบนั้นอยู่นั่นเอง

ความรู้เบ็ดเตล็ดในภวจักร

ภวจักรนั้นอันหมุนอยู่อย่างนั้น บัณฑิตพึงทราบ

โดยว่า (องค์ไหน) เกิดแก่สัจจะ (ไหนและองค์ไหนเป็น

สัจจะอะไร) 1 โดยกิจ 1 โดยเป็นเครื่องกั้น 1 โดย

อุปมาทั้งหลาย 1 โดยต่อความลึก 1 โดยต่างนัย 1

(อีก) ตามควร

ขยายความ

โดยว่าองค์ไหนเกิดแต่สัจจะไหน

ในข้อหาเหล่านั้น เพราะเหตุที่กรรมทั้งที่เป็นกุศลและอกุศล ท่านกล่าวไว้ในสัจจวิภังค์ว่าเป็นสมุทยสัจโดยไม่แปลกกัน ในธรรมทั้งหลาย ในบทว่า อวิชชาปจจยา สงขารา เป็นต้น สังขารอันมีเพราะอวิชชา จึงเป็นทุติยสัจเกิดแต่ทุติยสัจ (ด้วยกัน) วิญญาณอันมีเพราะสังขาร

(หน้าที่ 230)

เป็นปฐมสัจเกิดแก่ทุติยสัจ องค์มีนามรูปเป็นต้นมีเวทนาที่เป็นวิบากเป็นที่สุด อันมีเพราะวิญญาณเป็นต้นเป็นปฐมสัจ เกิดแต่ปฐมสัจ (ด้วยกัน) ตัณหาอันมีเพราะเวทนาเป็นทุติยสัจ เกิดแต่ปฐมสัจ อุปาทานอันมีเพราะตัณหาเป็นทุติยสัจ เกิดแต่ทุติยสัจ (ด้วยกัน) ภพอันมีเพราะอุปาทานเป็นปฐมสัจและทุติยสัจทั้งสองเกิดแต่ทุติยสัจ ชาติอันมีเพราะภพเป็นปฐมสัจเกิดแต่ทุติยสัจ ชรามรณะอันมีเพราะชาติเป็นปฐมสัจ เกิดแต่ปฐมสัจ (ด้วยกัน)

ภวจักรนี้บัณฑิตพึงทราบโดย (ว่าองค์ไหน) เกิดแต่สัจจะ (ไหน) ตามควร โดยนัยดังกล่าวมาฉะนี้ เป็นอันดับแรก

โดยกิจ

อีกข้อหนึ่ง เหตุใดในองค์เหล่านี้ อวิชชาย่อมยังสัตว์ทั้งหลายให้ลุ่มหลงในวัตถุ (คืออารมณ์) ทั้งหลายและเป็นปัจจัยเพื่อความปรากฏขึ้นแห่งสังขารทั้งหลายด้วย นัยเดียวกันนั้นสังขารก็ปรุงแต่งสังขตธรรมและเป็นปัจจัยแก่วิญญาณด้วย ฝ่ายวิญญาณก็รับรู้วัตถุ (คืออารมณ์) และเป็นปัจจัยแก่นามรูปด้วย ข้างนามรูปก็ค้ำจูนกันและกันและเป็นปัจจัยแก่สฬายตนะด้วย สฬายตนะเล่าก็เป็นไปในวิสัยของตน ๆ มีรูปเป็นต้น) และเป็นปัจจัยแก่ผัสสะด้วย ผัสสะเล่าก็สัมผัสอารมณ์ เป็นปัจจัยแก่เวทนาด้วย เวทนาเล่าก็เสวยรสอารมณ์และเป็นปัจจัยแก่ตัณหาด้วย ตัณหาเล่าก็กำหนัดยินดีในธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัดยินดีและเป็นปัจจัยแก่อุปาทานด้วย อุปาทานเล่าก็ถือมั่นในธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความถือมั่นและเป็นปัจจัยแก่ภพด้วย ภพเล่าก็พล่านไปในคติต่าง ๆ และเป็นปัจจัยแก่ชาติด้วย ชาติเล่าก็ยังขันธ์ทั้งหลายให้เกิดและเพราะเป็นไปโดยอาการเกิดขึ้นแห่งขันธ์ทั้งหลายนั้นจึงเป็นปัจจัยแก่ชรามรณะด้วย ชรามรณะเล่าก็ครอบเอาความงอมและความแตกแห่งขันธ์ทั้งหลายไว้ และเป็นปัจจัยเพื่อความเกิดขึ้นในภพอื่น เพราะเป็นที่ตั้ง (คือเป็นเหตุ) แห่งปกิณณกทุกข์มีโสกะเป็นต้น เหตุนั้นภวจักรนี้บัณฑิตพึงทราบแม้โดยกิจคือความเป็นไปโดยหน้าที่ 2 ในบททั้งปวงตามควร

(หน้าที่ 231)

โดยเป็นเครื่องกั้น

อีกข้อหนึ่ง เหตุใด ในบทเหล่านี้ บทว่า "สังขารมีเพราะปัจจัยคืออวิชชา" นี้เป็นเครื่องกั้น (คือปฏิเสธ) ความเห็นว่ามีผู้สร้าง บทว่า "วิญญาณมีเพราะปัจจัยคือสังขาร" เป็นเครื่องกั้นความเห็นว่า อัตตาเคลื่อนที่ได้ บทว่า "นามรูปมีเพราะวิญญาณ" เป็นเครื่องกั้นฆนสัญญา (ความสำคัญว่าเป็นก้อน) เพราะแสดงความแตกได้แห่งวัตถุที่คนเขลากำหนดเอา (เอง) ว่าเป็นอัตตา บทว่า "สฬายตนะมีเพราะปัจจัยคือนามรูป" เป็นต้น เป็นเครื่องกั้นความเห็น (ผิดต่าง ๆ) มีเห็นว่า อัตตาเห็นนี้ ฯลฯ อัตตารู้สึก อัตตาสัมผัส อัตตาเสวย (เวทนา) อัตตาอยาก อัตตาถือมั่น อัตตาเป็น อัตตาเกิด อัตตาแก่ อัตตาตาย ดังนี้เป็นต้น เหตุนั้น ภวจักรนั้น บัณฑิตพึงทราบแม้โดยเป็นเครื่องกั้นความเห็นผิดตามควร

โดยอุปมา

อีกข้อหนึ่ง เหตุใด ในองค์เหล่านี้ อวิชชาอุปมาเหมือนคนบอดเพราะไม่เห้นธรรมทั้งหลายทั้งโดยลักษณะประจำตัว (ของธรรมนั้น ๆ) ทั้งโดยสามัญญลักษณะ สังขารอันมีเพราะปัจจัยคือวิชชา เหมือนการก้าวพลาดของคนตาบอด วิญญาณอันมีเพราะปัจจัยคือสังขารเหมือนการหกล้มของคนก้าวพลาด นามรูปอันมีเพราะปัจจัยคือวิญญาณ เหมือนความเกิดเป็นแผลฝีขึ้นแห่งคนหกล้ม สฬายตนะอันมีเพราะปัจจัยคือนามรูป เหมือนต่อม (หัวฝีอันเกิดขึ้นเพื่อให้) ฝีแตก ผัสสะอันมีเพราะปัจจัยคือสฬายตนะ เหมือน (อะไร) กระทบต่อมฝีเข้าเวทนาอันมีเพราะปัจจัยคือผัสสะ เหมือนความทุกข์ (เจ็บปวด) เกิดแต่การกระทบ ตัณหาอันมีเพราะปัจจัยคือเวทนา เหมือนความปรารถนาจะแก้ทุกข์ อุปาทานอันมีเพราะปัจจัยคือตัณหาเหมือนการควาเอายาแสลงด้วยมุ่งแต่จะแก้ (ทุกข์) ภพอันมีเพราะปัจจัยคืออุปาทาน เหมือนการทายาแสลงที่ตนนับถือ ชาติอันมีเพราะปัจจัยคือภพ เหมือนเกิดเป็นฝีกลายเพราะทายาแสลงเข้า ชรามรณะอันมีเพราะชาติ เหมือนความแตกแห่งฝีเพราะฝีกลาย

หรือนัยหนึ่ง เหตุใด ในองค์เหล่านี้ อวิชชาย่อมครอบงำสัตว์ทั้งหลายไว้ โดยทำให้ไม่ปฏิบัติหรือปฏิบัติผิด เหมือนเฝ้างำดวงตา (ทั้งสองข้าง) ไว้ คนโง่ที่ถูกอวิชชานั้นครอบงำไว้แล้วย่อมห่อตัวไว้ด้วยสังขารทั้งหลายอันนำไปสู่ภพใหม่ เหมือนตัวไหมห่อตัวได้ด้วยส่วน ๆ หนึ่ง

(หน้าที่ 232)

แห่งฝักไหม วิญญาณที่สังขารครอบครองแล้วย่อมได้ที่อาศัยในคติทั้งหลาย เหมือนพระราชกุมารที่ปริณายกปกป้องแล้วย่อมได้ความสนับสนุนในราชสมบัติ วิญญาณย่อมยังนามรูปมากประการให้เกิดในปฏิสนธิเพราะตรึกไปในอารมณ์อันเป็นนิมิตแห่งอุปบัติ (มีกรรมนิมิตเป็นต้น) เหมือนนักเล่นกลทำกลให้เกิดได้หลายประการ สฬายตนะที่ตั้งมั่นอยู่ในนามรูปแล้วย่อมถึงความเจริญงอกงามไพบูลย์ เหมือนพุ่มไม้ในป่าที่ตั้งมั่นอยู่ในพื้นดินดีย่อมถึงความเติบโตงอกงามแผ่กว้าง ผัสสะย่อมเกิดเพราะความกระทบกันแห่งอายตนะ เหมือนไฟเกิดเพราะการสีแห่งไม้สีไฟอันบน เวทนาย่อมเกิดแก่บุคคลผู้ถูกผัสสะกระทบ เหมือนความร้อนเกิดแก่คนที่ไฟถูกเอา ตัณหาย่อมเจริญมากแก่คนที่เสวยเวทนาอยู่ เหมือนความกระหายเพิ่มมากขึ้นแก่คนที่ดื่มน้ำเกลือเข้าไป ผู้ทะเยอทะยาน (ด้วยตัณหา) แล้วย่อมทำความปรารถนาในภพทั้งหลาย เหมือนคนกระหายปรารถนาในน้ำดื่ม การทำความปรารถนานั้นนับเป็นอุปาทานของเขา เขาย่อมมั่นด้วยอุปาทาน เหมือนปลายึดเอาเบ็ดไว้มั่นด้วยความโลภในเหยื่อ เมื่อภพมีอยู่ ชาติก็ย่อมมี เหมือนเมื่อพืชมีอยู่ หน่อก็ย่อมมี ชรามรณะก็ย่อมมีแก่ผู้เกิดมาแล้วแน่แท้ เหมือนการล้มย่อมมีแก่ต้นไม้ที่เกิดขึ้นแล้วเป็นแน่ เหตุนั้น ภวจักรนั้น บัณฑิตพึงทราบแม้โดยอุปมาทั้งหลายดังกล่าวมาฉะนี้ ตามควร

โดยต่างความลึก

อีกข้อหนึ่ง เหตุใดคำบาลีว่า "ดูกรอานนท์ ก็แลปฏิจจสมุปบาทนี้เป็นธรรมลึกด้วย (เค้าที่ปรากฏออกมา) ก็ลึกด้วย" ดังนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสหมายเอาความที่ปฏิจจสมุปบาทนั้นเป็นธรรมลึกทั้งโดยอรรถ (คือผล) ทั้งโดยธรรม (คือเหตุ) ทั้งโดยการแสดง ทั้งโดยปฏิเวธเหตุนั้น ภวจักรนั้น บัณฑิตพึงทราบแม้โดยต่างความลึกตามควร

ลึกโดยผล

ในความลึกเหล่านั้น เหตุใด อรรถคือความที่ชรามรณะเกิดขึ้นเป็นไปพร้อมปัจจัยคือชาติ ชื่อว่าเป็นธรรมลึก เพราะอรรถคือความชรามรณะเป็นไปพร้อมเพราะปัจจัยคือชาติอย่างนี้ว่า "ชรามรณะย่อมมีแต่ชาติหามิได้ และเว้นชาติเสีย มันจะมีเหตุอื่นก็หามิได้ และมันย่อมเป็นไปพร้อมแต่ชาติด้วยประการอย่างนี้" ดังนี้ เป็นธรรมที่รู้ได้ยาก นัยเดียวกันนั้น

(หน้าที่ 233)

อรรถคือความที่ชาติเกิดขึ้นเป็นไปพร้อมเพราะปัจจัยคือภพ ฯลฯอรรถคือความที่สังขารเกิดขึ้นไปพร้อมเพราะปัจจัยคืออวิชชา (ล้วน) เป็นธรรมลึก เหตุนั้น ภวจักรนี้จึงชื่อว่าลึกโดยอรรถแล นี่เป็นความลึกโดยอรรถ (คือผล) ในภวจักรนี้เป็นอันดับแรก แท้จริง ผลที่เกิดแต่เหตุ ท่านเรียกว่าอรรถ ดังบาลีว่า "ความรู้ในผลอันเกิดแก่เหตุ ชื่อว่าอัตถปฏิสัมภิทา"

ลึกโดยเหตุ

ประการหนึ่ง เหตุใด อรรถคือความที่อวิชชาเป็นปัจจัยแก่สังขารทั้งหลาย ชื่อว่าเป็นธรรมลึก เพราะอวิชชาเป็นปัจจัยแก่สังขารนั้น ๆโดยอาการใดและโดยสถานะใด อาการนั้นและสถานะนั้นเป็นกรณีที่รู้ได้ยาก นัยเดียวกันนั้น อรรถคือความทีสังขารเป็นปัจจัยแก่วิญญาณ ฯลฯ อรรถคือความที่ชาติเป็นปัจจัยแก่ชรามรณะ (ล้วน) เป็นธรรมลึก เหตุนั้นภวจักรนี้จึงชื่อว่าลึกโดยธรรม (คือเหตุ) ในภวจักรนี้ แท้จริงคำว่า "ธรรม" เป็นชื่อแห่งเหตุ ดังบาลีว่า "ความรู้ในเหตุ ชื่อว่าธัมมปฏิสัมภิทา"

ลึกโดยการแสดง

ประการหนึ่ง เหตุใด แม้การแสดงปฏิจจสมุปบาทนั้นก็ลึก เพราะเป็นการแสดงที่พึงให้ดำเนินไปโดยเหตุนั้น ๆ โดยประการนั้น ๆ ญาณอื่นแต่พระสัพพัญญุตญาณย่อมไม่ได้ที่ตั้งในปฏิจจสมุปบาทนั้น จริงอย่างนั้น ภวจักรนั่น ในบางสูตรทรงแสดงอนุโลม บางสูตรทรงแสดงโดยปฏิโลม บางสูตรทรงแสดงทั้งโดยอนุโลมและปฏิโลม บางสูตรทรงแสดงตั้งแต่ตอนกลางไปอนุโลมบ้าง บางสูตรทรงแสดงทั้ง 3 สนธิ 4 สังเขป บางสูตรทรงแสดง 2 สนธิ 3 สังเขป บางสูตรทรงแสดงแต่สนธิเดียว 2 สังเขป เหตุนั้น ภวจักรนี้จึงชื่อว่าลึกโดยการแสดงผล นี่เป็นความลึกโดยการแสดง

ลึกโดยปฏิเวธ

ประการหนึ่ง เหตุใด ในปฏิจจสมุปบาทธรรมนี้ สภาวะแห่งธรรมมีอวิชชาเป็นต้นนั้นใด อนึ่ง เพราะสภาวะใดที่พระโยคาวจรแทงตลอดแล้ว ธรรมทั้งหลายมีอวิชชาเป็นต้นก็เป็นอันได้แทงตลอดโดยลักษณะประจำตัว (ของธรรมนั้น ๆ) อย่างถูกต้องด้วย สภาวะนั้นจัดว่าลึกเพราะหยั่งได้ยาก เหตุนั้น ภวจักรนี้จึงชื่อว่าลึกโดยปฏิเวธ

(หน้าที่ 234)

นัยเดียวกันนั้นแล เหตุใด ในปฏิจจสมุปบาทธรรมนี้ อรรถคือความไม่รู้ ความไม่เห็นความไม่แทงตลอดด้วยดีซึ่งสัจจะแห่งอวิชชาก็ลึก อรรถคือความปรุงแต่ง ความพอกพูนขึ้น ความเป็นไปกับราคะ ความแย้งต่อราคะแห่งสังขารทั้งหลายก็ลึก อรรถคือความว่างเปล่าความไม่ขวนขวาย (คือไม่มีความคิด) ความไม่เคลื่อนที่ไป (แต่) ปรากฏโดยปฏิสนธิได้ แห่งวิญญาณก็ลึก อรรถคือความเกิดขึ้นพร้อมกัน ความแยกกัน ความแยกกันไม่ได้ ความน้อมไปได้ ความสลายได้แห่งนามรูปก็ลึก อรรถคือความเป็นอธิบดี ความเป็นโลก ความเป็นทวาร ความเป็นเขต ความเป็นวิสยี (คือเป็นอินทรีย์) แห่งฬายตนะก็ลึก อรรถคือความต้องกันเข้า ความเบียดกันเข้า ความถึงกันเข้า ความประชุมกันเข้าแห่งผัสสะก็ลึก อรรถคือความเสวยรสอารมณ์ ความเป็นสุข เป็นทุกข์ และกลาง ๆ ความเสวยอย่างนิชชีวะ (คือไม่มีอัตตาผู้เสวย) แห่งเวทนาก็ลึก อรรถคือความเพลิดเพลิน ความจอด ความปรารถนา (ที่ไหลรุด) ดุจลำธาร (แผ่คลุม) ดุจเครือเถา (แผ่กว้าง) ดุจแม่น้ำ และไม่รู้จักเต็มดุจทะเลแห่งตัณหาก็ลึก อรรถคือความยึด ความถือ ความจับใจ ความก้าวล่วงยากแห่ง อุปาทานก็ลึก อรรถคือความประมวลไว้ ความปรุงแต่งไว้ และความซัดไปในกำเนิดในคติใน (วิญญาณ) ฐิติ และใน (สัตต) นิวาสแห่งภพก็ลึก อรรถคือความเกิด ความได้กำเนิด ความหยั่งลง (ในครรภ์) ความผลิตขึ้น ความปรากฏขึ้นแห่งชาติก็ลึก อรรถคือความสิ้นไป ความเสื่อมไป ความตกไป ความแปรไปแห่งชรามรณะก็ลึก เหตุนั้น ภวจักรนี้จึงชื่อว่าลึกโดยปฏิเวธแล

นี้เป็นความลึกโดยปฏิเวธในปฏิจจสมุปปาทธรรมนี้

โดยต่างนัย

ประการหนึ่ง เหตุใด ในปฏิจจสมุปปาทธรรมนี้ มีนัยแห่งอรรถอยู่ 4 เอกัตตนัย (นัยแห่งอรรถเป็นอันเดียว) นานัตตนัย (นัยแห่งอรรถต่าง ๆกัน) อัพยาปารนัย (นัยแห่งอรรถว่าไม่มีความขวนขวาย) เอวังธัมมตานัย (นัยแห่งอรรถว่าเป็นธรรมดาอย่างนั้นเอง) เหตุนั้น ภวจักรนั้น บัณฑิตจึงควรทราบแม้โดยความต่างนัยอีกตามควร

(หน้าที่ 235)

เอกัตตนัย

ใน 4 นัยนั้น ความไม่ขาดสายแห่งความสืบต่อดังนี้คือ สังขารมีเพราะปัจจัยคืออวิชชา วิญญาณมีเพราะปัจจัยคือสังขารเป็นต้น ดุจความที่พืชถึงความเป็นต้นไม้เพราะความมีขึ้นแห่งอวัยวะของต้นไม้มีหน่อเป็นต้น (สืบต่อกันมา) ฉะนั้น ชื่อว่าเอกัตตนัย ซึ่งเป็นนัยที่เมื่อ พระโยคาวจรเห็นโดยถูกต้อง ย่อมละอุจเฉททิฏฐิได้ เพราะหยั่งรู้ความไม่ขาดสายแห่งความสืบต่ออันเป็นไปอยู่โดยความสัมพันธ์กันแห่งเหตุและผล เมื่อเห็นผิดไป ย่อมจะยึดมั่น สัสสตทิฏฐิ เพราะถือเอาความไม่ขาดสายแห่งความสืบต่ออันเป็นไปอยู่โดยความสัมพันธ์กันแห่งเหตุและผลว่า เป็นอันเดียวไปเสีย

นานัตตนัย

ส่วนการกำหนดลักษณะของใครของมันแห่งธรรมทั้งหลายมีอวิชชาเป็นต้น ชื่อว่า นานัตตนัย ซึ่งเป็นนัยเมื่อเห็นโดยถูกต้องย่อมละสัสสตทิฏฐิได้ เพราะเห็นความเกิดขึ้นแห่งสิ่งใหม่ ๆ เมื่อเห็นผิดไปย่อมจะยึดมั่นอุจเฉททิฏฐิ เพราะถือเอาเหตุผลอันตกอยู่ในสันดานเดียวกัน (คือมีสันตติเดียวกันดังกล่าวแล้ว) สันดานมาแตกลง (คือตาย) นั่นเองว่าต่างกัน (คือเป็นคนละอัน ไม่สืบต่อกัน) ไปเสีย

อัพยาปารนัย

ความที่อวิชชาไม่มีความขวนขวาย (คือไม่มีความคิดว่า) "สังขารทั้งหลายข้าทำให้เกิดขึ้น" หรือว่าสังขารไม่มีความขวนขวาย (คือไม่มีความคิด) ว่า "วิญญาณเข้าทำให้เกิดขึ้น" ดังนี้เป็นอาทิ ชื่อว่าอัพยาปารนัย ซึ่งเป็นนัยที่เมื่อเห็นโดยถูกต้อง ย่อมละอัตตทิฏฐิ (ความเห็นว่ามีอัตตา) ได้ เพราะหยั่งรู้ความไม่มีผู้สร้าง เมื่อเห็นผิดไปย่อมจะยึดเอาอกิริยทิฏฐิเพราะไม่ถือเอาความเป็นเหตุแห่งธรรมทั้งหลายมีอวิชชาเป็นต้น ซึ่งแม้เมื่อความขวนขวายไม่มี ก็มิได้โดยสภาวะนิยม

เอวังธัมมตานัย

ส่วนนัยว่า "ความเกิดขึ้นแห่งผลมีสังขารเป็นต้น ย่อมมีแต่เหตุมีอวิชชาเป็นต้นเท่านั้น ดุจความเกิดขึ้นแห่งนมส้มเป็นต้น ย่อมมีแต่นมสดเป็นต้นฉะนั้น มิใช่อื่น" (ดัง) นี้ ชื่อว่า

(หน้าที่ 236)

เอวังธัมมตานัย ซึ่งเป็นนัยโดยเมื่อเห็นโดยถูกต้องย่อมละอเหตุกทิฏฐิและอกิริยทิฏฐิได้เพราะหยั่งรู้ผลโดยสมควรแก่ปัจจัย เมื่อเห็นผิดไปย่อมจะยึดมั่นอเหตุกทิฏฐิและนิยตวาทะ เพราะไม่ถือเอาความเป็นไปแห่งผลตามควรแก่ปัจจัยแล้ว ยังถือว่าสิ่งอะไร ๆ มิได้เกิดแต่เหตุอะไร ๆ (ถือว่าสุดแต่โชคเคราะห์ต่างหาก) แล

ภวจักรนี้ บัณฑิตพึงทราบโดยว่า (องค์ไหน) เกิด

แต่สัจจะ (ไหน) 1 โดยกิจ 1 โดยเป็นเครื่องกั้น 1 โดย

อุปมาทั้งหลาย 1 โดยต่างความลึก 1 โดยต่างนัย 1

ตามควรด้วยประการฉะนี้

เพราะเหตุที่บุคคลผู้ยังมิได้ทำลายภวจักร อันหยั่งไม่ถึงเพราะเป็นธรรมลึก อันต่อต้านยากเพราะถือเอาได้โดยนัยต่าง ๆ นี้เสียด้วยดาบคือญาณอันลับดีที่หินอย่างประเสริฐคือสมาธิแล้ว แลล่วงสังสารภัยอันเป็นขั้นอยู่เป็นนิตย์ ดุจอสนีวิจักร (คือสายฟ้า) ไปได้ ไม่มีสักคนแม้ในฝัน จริงอยู่ ข้อนี้แม้พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ได้ตรัสไว้ว่า "ดูกรอานนท์ ก็ปฏิจจสมุปบาทนี้เป็นธรรมลึกด้วย เค้า (ที่ปรากฎออกมา) ก็ลึกด้วยดูกรอานนท์ ก็เพราะไม่เข้าใจไม่รู้ตามธรรมนั่น หมู่สัตว์นี้จึงเกิดเป็นผู้ (ยุ่งเหยิง) ดุจด้ายยุ่ง เกิดเป็นผู้ (ซับซ้อน) ดุจรังนกคุณิ เกิดเป็นผู้ (สับสน) ดุจหญ้ามุงกระต่ายและหญ้าปล้อง ไม่ล่วงอบาย ทุคติ วินิบาตสงสารไปได้" ดังนี้ เพราะเหตุนั้น บัณฑิตผู้ปฏิบัติเพื่อเกื้อกูลและเพื่อความสุขแก่ตนก็ดี แก่ผู้อื่นก็ดี พึงละกิจเศษ ๆ เสียแล้ว

จะได้ความหยั่งลงมั่น ในประเภทปัจจยาการ

อันลึกนี้ ด้วยประการใด ก็พึงเป็นผู้แสดงประกอบ

เนือง ๆ ด้วยประการนั้นเทอญ

ปริเฉทที่ 17 ชื่อปัญญามินิทเทส

ในอธิการแห่งปัญญาภาวนาในปกรณ์วิเสสชื่อวิสุทธิมรรค

อันข้าพเจ้าทำเพื่อประโยชน์แก่ความปราโมทย์แห่งสาธุชน ดังนี้


1)
ผู้เรียบเรียบ: มุสฺสน-ขาดสติ มีกิจรสคือ ทำให้หลงลืมอารมณ์ของกุศล, สมฺโมห-ขาดปัญญา มีกิจรสคือ ทำให้หลงลืมเหตุผล,ในบาลีบางที่ใช้เป็นเววจนะกัน แต่ในเรื่องลักขณาทิจตุกกะนี้ อรรถกถาใช้ต่างกัน เพื่อแยกสภาวธรรม